บท 23
“ขอฟังผมอธิบาย”
เปาโลพูดปกป้องความเชื่อของเขาต่อหน้าฝูงชน ที่โกรธแค้นและสภาแซนเฮดริน
1, 2. ทำไมเปาโลถึงไปที่กรุงเยรูซาเล็ม และเขาจะต้องเจอความยุ่งยากอะไรบ้างที่เมืองนั้น?
เปาโลเดินไปตามถนนแคบ ๆ ที่มีผู้คนพลุกพล่านในกรุงเยรูซาเล็ม เป็นเวลาหลายร้อยปีที่เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของการนมัสการพระยะโฮวาบนโลก นี่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกภูมิใจกับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ และภูมิใจในชาติของตัวเอง เปาโลรู้ว่าคริสเตียนหลายคนในเมืองนี้ยังคงยึดติดอยู่กับวิธีนมัสการพระยะโฮวาแบบที่ทำกันมาในอดีต พวกเขายังช้าอยู่ที่จะปรับเปลี่ยนและนมัสการพระยะโฮวาโดยใช้วิธีใหม่ที่พระองค์สอน ดังนั้น ตอนที่เปาโลอยู่ที่เมืองเอเฟซัส เขาวางแผนที่จะมาเยรูซาเล็มเพื่อช่วยพี่น้องคริสเตียนที่นั่น นอกจากเปาโลจะอยากเอาเงินบริจาคมาส่งมอบให้พี่น้องในกรุงเยรูซาเล็มแล้ว เขายังอยากจะช่วยพี่น้องให้มีความคิดที่ถูกต้องด้วย (กจ. 19:21) เปาโลตั้งใจมาที่กรุงเยรูซาเล็มทั้ง ๆ ที่รู้ว่า การมาที่นี่อาจทำให้เขาได้รับอันตราย
2 เปาโลจะต้องเจอกับอะไรบ้างในกรุงเยรูซาเล็ม? อย่างแรกที่เปาโลต้องเจอก็คือ พี่น้องที่นี่บางคนเชื่อข่าวลือผิด ๆ เกี่ยวกับเขา แต่ยิ่งไปกว่านั้น เปาโลจะต้องเจอความยุ่งยากหลายอย่างจากคนที่ต่อต้านเขา พวกเขาใส่ร้าย ทุบตี และขู่ว่าจะฆ่าเปาโล แต่สิ่งที่เปาโลเจอทั้งหมดนี้ก็ทำให้เขามีโอกาสพูดปกป้องความเชื่อของตัวเอง ตอนที่ต้องรับมือกับเรื่องทั้งหมดนี้ เปาโลแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนถ่อม กล้าหาญ และมีความเชื่อ เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ ให้เรามาดูเรื่องนี้ด้วยกัน
“พวกเขาก็ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า” (กิจการ 21:18-20ก)
3-5. (ก) เปาโลไปเจอกับใครในกรุงเยรูซาเล็ม และพวกเขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง? (ข) เราอาจได้บทเรียนอะไรบ้างจากการประชุมของเปาโลกับพวกผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็ม?
3 หนึ่งวันหลังจากที่พวกเขามาถึงกรุงเยรูซาเล็ม เปาโลกับเพื่อน ๆ ไปหาพี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประชาคม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้พูดถึงอัครสาวกคนอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่ พวกเขาอาจไปทำงานประกาศในส่วนอื่น ๆ ของโลก แต่ถึงอย่างนั้น ยากอบน้องชายของพระเยซูยังคงอยู่ที่นั่น (กท. 2:9) เป็นไปได้ว่า ยากอบทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมตอนที่ “พวกผู้ดูแลทั้งหมดก็อยู่ที่นั่น” พร้อมกับเปาโล—กจ. 21:18
4 เปาโลทักทายผู้ดูแล “แล้วเล่าอย่างละเอียดว่าพระเจ้าได้ทำอะไรบ้างเพื่อคนต่างชาติตอนที่เขาไปประกาศ” (กจ. 21:19) พวกพี่น้องคงได้กำลังใจมากจริง ๆ เมื่อได้ยินประสบการณ์ของเปาโล ทุกวันนี้ เราก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกันตอนที่ได้ยินความก้าวหน้าของงานประกาศในประเทศอื่น ๆ—สภษ. 25:25
5 เมื่อเล่าไปได้สักพัก เปาโลคงจะพูดถึงเงินบริจาคที่เขานำมาจากยุโรป พี่น้องที่นี่คงมีความสุขมากและรู้สึกซาบซึ้งใจที่รู้ว่า พี่น้องคริสเตียนซึ่งอยู่ในที่ห่างไกลเป็นห่วงพวกเขามาก เรารู้ได้ยังไง? คัมภีร์ไบเบิลบอกท่าทีของพวกเขาหลังจากได้ยินเรื่องที่เปาโลเล่าว่า “พวกเขา [ผู้ดูแล] ก็ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า” (กจ. 21:20ก) คล้ายกัน พี่น้องหลายคนในทุกวันนี้ที่ต้องเจอกับภัยพิบัติหรือความเจ็บป่วยร้ายแรง รู้สึกซาบซึ้งใจมากเมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อให้ความช่วยเหลือและพูดให้กำลังใจในเวลาที่พวกเขาต้องการ
หลายคนยังคง “กระตือรือร้นในการทำตามกฎหมายของโมเสส” (กิจการ 21:20ข, 21)
6. พวกผู้ดูแลเล่าปัญหาอะไรให้เปาโลฟัง?
6 ต่อมาพวกผู้ดูแลได้บอกให้เปาโลรู้ว่าพี่น้องในยูเดียรู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาเกี่ยวกับเปาโล พวกผู้ดูแลบอกเปาโลว่า “พี่น้องเปาโล คุณก็รู้ว่ามีชาวยิวหลายพันคนเข้ามาเชื่อ และพวกเขาทุกคนกระตือรือร้นในการทำตามกฎหมายของโมเสส แต่พวกเขาได้ยินข่าวลือว่าคุณสอนคนยิวที่อยู่ในดินแดนของคนต่างชาติให้ทิ้งกฎหมายของโมเสส และบอกพวกเขาว่าไม่ต้องให้ลูก ๆ เข้าสุหนัตและไม่ต้องทำตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมา” a—กจ. 21:20ข, 21
7, 8. (ก) คริสเตียนหลายคนในแคว้นยูเดียมีความคิดอะไรที่ผิด? (ข) การที่พวกเขามีความคิดที่ผิดแบบนั้น แสดงว่าพวกเขาเป็นคริสเตียนที่ไม่ซื่อสัตย์ไหม? ทำไม?
7 ทำไมถึงมีคริสเตียนหลายคนที่ยังยืนกรานว่าต้องทำตามกฎหมายของโมเสส ถึงแม้กฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกไป 20 กว่าปีแล้ว? (คส. 2:14) ในปี ค.ศ. 49 ตอนนั้นพวกอัครสาวกกับพวกผู้ดูแลที่ประชุมกันในกรุงเยรูซาเล็มได้ส่งจดหมายไปถึงประชาคมต่าง ๆ เพื่อชี้แจงว่า คริสเตียน ที่ไม่ใช่ชาวยิวไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตและไม่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายของโมเสส (กจ. 15:23-29) แต่จดหมายนั้นไม่ได้พูดถึงคริสเตียนที่เป็นชาวยิว พวกเขาหลายคนเลยไม่เข้าใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายของโมเสสอีกต่อไป
8 ถึงแม้ว่าคริสเตียนชาวยิวเหล่านี้จะมีความคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่พวกเขาก็เป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ นี่ไม่เหมือนกับการที่คนหนึ่งเคยอยู่ในศาสนาเท็จ และเมื่อเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้วก็ยังคงทำตามธรรมเนียมต่าง ๆ ของศาสนาเท็จต่อไป ที่จริง คริสเตียนชาวยิวเหล่านั้นมองว่ากฎหมายของโมเสสสำคัญ เพราะกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาให้กับพวกเขาในตอนแรก ดังนั้น ไม่มีอะไรในกฎหมายนั้นที่ผิดหรือเกี่ยวข้องกับผีปีศาจ แต่กฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับสัญญาเดิม ซึ่งคริสเตียนในตอนนี้อยู่ใต้สัญญาใหม่แล้ว พระยะโฮวาจึงไม่ได้เรียกร้องพวกเขาให้ทำตามกฎหมายของโมเสสอีกต่อไป แต่ให้ทำตามการนมัสการบริสุทธิ์ ถ้ามีคริสเตียนชาวยิวคนไหนที่ยังยืนกรานว่าต้องทำตามกฎหมายของโมเสส ก็แสดงว่าพวกเขาไม่ไว้ใจการจัดเตรียมใหม่ของพระยะโฮวาเกี่ยวกับวิธีนมัสการพระองค์ พวกเขาจำเป็นต้องปรับความคิดให้ถูกต้องตามที่พระยะโฮวาเปิดเผยเป็นขั้น ๆ b—ยรม. 31:31-34; ลก. 22:20
“ข่าวลือ . . . นั้นไม่จริง” (กิจการ 21:22-26)
9. เปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับกฎหมายของโมเสส?
9 ผู้คนได้ยินข่าวลือที่ว่าเปาโลสอนคนยิวที่อยู่ในดินแดนของคนต่างชาติว่า พวกเขา “ไม่ต้องให้ลูก ๆ เข้าสุหนัตและไม่ต้องทำตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมา” เปาโลเป็นอัครสาวกที่ถูกส่งไป หาคนต่างชาติ และจริงที่เขาสนับสนุนคำตัดสินที่ว่าคนต่างชาติไม่ต้องทำตามกฎหมายของโมเสส เปาโลบอกด้วยว่า เป็นเรื่องผิดที่จะพยายามโน้มน้าวคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติให้เข้าสุหนัตและทำตามกฎหมายของโมเสส (กท. 5:1-7) เปาโลยังได้ประกาศข่าวดีกับชาวยิวในเมืองต่าง ๆ ที่เขาไปเยี่ยมด้วย และเขาคงต้องอธิบายกับคนยิวที่ตอบรับความจริงว่า การตายของพระเยซูได้ทำให้กฎหมายของโมเสสถูกยกเลิกไปแล้ว และพระเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้พวกเขาทำตามกฎหมายของโมเสสอีกต่อไปเพื่อจะทำให้พระองค์พอใจ—รม. 2:28, 29; 3:21-26
10. เปาโลแสดงให้เห็นยังไงว่าเขามีมุมมองที่สมดุลในเรื่องการทำตามกฎหมายของโมเสสและการเข้าสุหนัต?
10 ถึงอย่างนั้น เปาโลก็ไม่ได้ตำหนิคนเหล่านั้นที่อยากทำตามธรรมเนียมบางอย่างของชาวยิวต่อไป เช่น การไม่ทำงานในวันสะบาโต หรือการไม่กินอาหารบางอย่าง (รม. 14:1-6) และเปาโลก็ไม่ได้ตั้งกฎในเรื่องการเข้าสุหนัต ที่จริง เปาโลได้ให้ทิโมธีเข้าสุหนัตด้วย เปาโลไม่อยากให้ชาวยิวไม่ยอมรับทิโมธีเพราะพวกเขารู้ว่าพ่อของทิโมธีเป็นคนกรีก (กจ. 16:3) ดังนั้น แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเข้าสุหนัตหรือไม่ เปาโลได้บอกชาวกาลาเทียว่า “การเข้าสุหนัตหรือไม่เข้าสุหนัตนั้นไม่สำคัญ . . . แต่การแสดงความเชื่อที่เกิดจากความรักต่างหากที่สำคัญ” (กท. 5:6) แต่ถึงอย่างนั้น ถ้ามีใครจะเข้าสุหนัตเพราะคิดว่ายังจำเป็นที่จะต้องทำตามกฎหมายของโมเสส หรือคิดว่าต้องเข้าสุหนัตเพื่อจะทำให้พระยะโฮวาพอใจ เขาก็เป็นคนที่ขาดความเชื่อ
11. พวกผู้ดูแลบอกให้เปาโลทำอะไร? แต่เปาโลคงจะไม่ทำอะไร? (ดูเชิงอรรถด้วย)
11 ถึงแม้ข่าวลือที่พี่น้องได้ยินนั้นจะไม่เป็นความจริง แต่คริสเตียนชาวยิวก็ยังรู้สึกไม่สบายใจกับข่าวลือนั้นอยู่ เพราะอย่างนี้ ผู้ดูแลเลยแนะนำเปาโลว่า “พวกเรามีผู้ชาย 4 คนที่ปฏิญาณตัวไว้ ให้คุณพา 4 คนนี้ไปด้วย และชำระตัวตามพิธีกรรมพร้อมกับพวกเขา ออกค่าใช้จ่ายให้พวกเขา แล้วให้พวกเขาโกนหัวด้วย ทุกคนจะได้ รู้ว่าข่าวลือเกี่ยวกับคุณนั้นไม่จริง แต่คุณทำสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของโมเสสเสมอ” c—กจ. 21:23, 24
12 เปาโลแสดงยังไงว่าเขาเต็มใจทำตามสิ่งที่ผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มขอ?
12 จริง ๆ แล้วเปาโลจะพูดก็ได้ว่า มันเป็นแค่ข่าวลือ เขาไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหา คริสเตียนชาวยิวที่ยังยืนกรานที่จะทำตามกฎหมายของโมเสสนั่นแหละที่ทำให้เกิดปัญหา แต่เปาโลไม่ได้ทำแบบนั้น เขาเต็มใจที่จะทำตามสิ่งที่ผู้ดูแลขอ ถ้าเรื่องนั้นไม่ขัดกับหลักการของพระเจ้า ก่อนหน้านี้เปาโลได้เขียนว่า “ทั้ง ๆ ที่ผมเองไม่อยู่ใต้กฎหมายนั้น ผมทำอย่างนั้นเพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้กฎหมายของโมเสสเข้ามา” (1 คร. 9:20) ในครั้งนี้ เปาโลทำตามสิ่งที่ผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มขอ และทำตัวเป็น “คนที่อยู่ใต้กฎหมายของโมเสส” โดยการทำแบบนี้ เปาโลได้วางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับพวกเราในทุกวันนี้ที่จะร่วมมือกับผู้ดูแลและไม่ยืนกรานที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ตามวิธีของเราเอง—ฮบ. 13:17
“เขาสมควรตาย” (กิจการ 21:27–22:30)
13. (ก) ทำไมพวกยิวถึงก่อความวุ่นวายในวิหาร? (ข) เปาโลได้รับการช่วยชีวิตยังไง?
13 เมื่อใกล้จะครบเวลากำหนดที่ผู้ชาย 4 คนนั้นได้ปฏิญาณ พวกยิวที่มาจากแคว้นเอเชียก็เห็นเปาโล พวกเขากล่าวหาเปาโลอย่างผิด ๆ ว่าเปาโลพาคนต่างชาติเข้ามาในวิหาร และนี่ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วเมือง ถ้าตอนนั้นผู้บังคับกองพันชาติโรมันไม่ได้ไปที่นั่น เปาโลคงถูกตีจนตาย ผู้บังคับกองพันสั่งให้ทหารจับตัวเปาโล นับจากวันนั้น เปาโลถูกขังเป็นเวลานานกว่า 4 ปีกว่าจะถูกปล่อยตัวอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นเปาโลก็ยังไม่ปลอดภัย เมื่อผู้บังคับกองพันถามชาวยิวว่าพวกเขาทำร้ายเปาโลทำไม พวกเขาก็ตะโกนบอกข้อกล่าวหาต่าง ๆ พวกเขาส่งเสียงดังจนผู้บังคับกองพันฟังไม่รู้เรื่อง ในที่สุด เขาก็สั่งให้ลากตัวเปาโลออกไปจากที่นั่น ตอนที่เปาโลกับทหารโรมันกำลังจะเข้าไปในค่ายทหาร เปาโลได้พูดกับผู้บังคับกองพันว่า “ขอให้ผมพูดกับประชาชนหน่อยได้ไหม” (กจ. 21:39) ผู้บังคับกองพันก็อนุญาต แล้วเปาโลก็พูดปกป้องความเชื่อต่อไปอย่างกล้าหาญ
14, 15. (ก) เปาโลอธิบายอะไรกับพวกยิว? (ข) ผู้บังคับกองพันชาติโรมันได้ทำอะไรบ้างเพื่อจะรู้ว่าทำไมพวกยิวถึงโกรธแค้นเปาโล?
14 เปาโลเริ่มต้นว่า “ขอฟังผมอธิบายหน่อย” (กจ. 22:1) เปาโลพูดกับฝูงชนเป็นภาษาฮีบรู ซึ่งทำให้พวกเขาใจเย็นลง เปาโลได้อธิบายให้พวกเขาฟังว่าทำไมตอนนี้เขาถึงได้มาเป็นสาวก ของพระคริสต์ ตอนที่อธิบาย เปาโลอ้างถึงจุดต่าง ๆ ที่ชาวยิวสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องจริง เปาโลได้รับการสอนโดยตรงจากกามาลิเอลซึ่งเป็นครูที่มีชื่อเสียง และเขาเองก็เคยข่มเหงสาวกของพระคริสต์ ซึ่งหลายคนที่อยู่ที่นั่นคงจะรู้เรื่องนี้ แต่ตอนที่เปาโลกำลังเดินทางไปเมืองดามัสกัส เขาได้รับนิมิตเกี่ยวกับพระคริสต์ผู้ที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว พระเยซูพูดกับเปาโล ที่จริง เพื่อนร่วมเดินทางของเปาโลก็เห็นแสงสว่างจ้าและได้ยินเสียงพูด แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าพูดอะไร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ. 9:7; 22:9) หลังจากนั้น เพื่อน ๆ ต้องพาเปาโลซึ่งตาบอดเพราะเห็นนิมิตนั้นเข้าไปในเมืองดามัสกัส ที่นั่นอานาเนียซึ่งเป็นคนที่ชาวยิวในเขตนั้นรู้จักดีได้ทำให้เปาโลมองเห็นได้อีกโดยการอัศจรรย์
15 เปาโลเล่าต่อไปว่าหลังจากที่เขากลับไปกรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระเยซูได้มาหาเขาที่วิหาร เมื่อพวกยิวได้ยินเรื่องนี้ก็โกรธมากและตะโกนว่า “กำจัดคนแบบนี้ไปจากโลกนี้เถอะ เขาสมควรตาย” (กจ. 22:22) เพื่อช่วยเปาโลให้ปลอดภัย ผู้บังคับกองพันจึงสั่งให้เอาตัวเปาโลเข้าไปในค่ายทหาร ผู้บังคับกองพันอยากรู้ว่าทำไมชาวยิวถึงโกรธแค้นเปาโลแบบนี้ เขาเลยสั่งให้สอบสวนเปาโลด้วยการเฆี่ยน แต่เปาโลได้ใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองทางกฎหมายที่เขามี เขาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นพลเมืองโรมัน ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พยานพระยะโฮวาก็ใช้การคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่เพื่อปกป้องความเชื่อ (ดูกรอบ “ กฎหมายโรมันกับพลเมืองโรมัน” และ “ การต่อสู้ทางกฎหมายสมัยปัจจุบัน”) เมื่อได้ยินว่าเปาโลเป็นพลเมืองโรมัน ผู้บังคับกองพันเลยต้องใช้วิธีอื่นเพื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น วันต่อมา เขาเรียกสมาชิกศาลแซนเฮดรินมาประชุมกันเพื่อจะรู้ว่าทำไมพวกยิวถึงกล่าวหาเปาโล
กิจการ 23:1-10)
“ผมเป็นฟาริสี” (16, 17. (ก) ขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเปาโลพูดกับสภาแซนเฮดริน (ข) เมื่อถูกตบ เปาโลได้วางตัวอย่างยังไงในเรื่องความถ่อม?
16 เปาโลเริ่มแก้ข้อกล่าวหาต่อหน้าสภาแซนเฮดรินว่า “พี่น้องทั้งหลาย ผมพูดต่อหน้าพระเจ้าได้เลยว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีบอกผมว่า ที่ผ่านมาผมไม่ได้ทำอะไรผิด” (กจ. 23:1) แล้วเปาโลก็ต้องหยุดพูด เพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เมื่อมหาปุโรหิตอานาเนียได้ยินอย่างนั้นก็สั่งคนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ เปาโลให้ตบปากเปาโล” (กจ. 23:2) นั่นเป็นการดูถูกเปาโลจริง ๆ การทำแบบนั้นแสดงให้เห็นว่ามหาปุโรหิตมีอคติกับเปาโล เขากล่าวหาว่าเปาโลโกหกทั้ง ๆ ที่เปาโลยังไม่ทันได้อธิบายอะไร นี่เลยทำให้เปาโลพูดกับพวกเขาว่า “คุณมันหน้าไหว้หลังหลอก ขอให้พระเจ้าตบคุณ คุณนั่งพิพากษาผมตามกฎหมายแต่กลับทำผิดกฎหมายซะเองโดยสั่งคนให้ตบผมอย่างนี้หรือ?”—กจ. 23:3
17 บางคนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ก็ตกใจมาก พวกเขาไม่ได้ตกใจที่เปาโลถูกตบ แต่ตกใจกับสิ่งที่เปาโลพูด พวกเขาบอกว่า “พูดหยาบคายกับมหาปุโรหิตของพระเจ้าแบบนี้ได้ยังไง?” ในตอนนั้นเอง เปาโลได้แสดงว่าเขาเป็นคนถ่อมและนับถือกฎหมายของโมเสส เขาตอบว่า “ขอโทษครับพี่น้อง ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นมหาปุโรหิต เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘อย่าพูดจาดูหมิ่นคนที่ทำหน้าที่ปกครองพวกเจ้า’” d (กจ. 23:4, 5; อพย. 22:28) ตอนนี้เปาโลเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการหาเหตุผล เมื่อสังเกตว่าสมาชิกของสภาแซนเฮดรินมีทั้งพวกฟาริสีและสะดูสี เขาเลยพูดว่า “พี่น้องทั้งหลาย ผมเป็นฟาริสี และเป็นลูกของฟาริสี ที่ผมถูกตัดสินคดีก็เพราะผมเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย”—กจ. 23:6
18. ทำไมเปาโลถึงเรียกตัวเองว่าฟาริสี และในบางโอกาสเราอาจหาเหตุผลคล้าย ๆ กันได้ยังไง?
18 ทำไมเปาโลถึงเรียกตัวเองว่าฟาริสี? เปาโลเป็น “ลูกของฟาริสี” เพราะเขามาจากครอบครัวที่อยู่ในนิกายนั้น ดังนั้น หลายคนจึงยังคงมองว่าเขาเป็นฟาริสี e แต่เปาโลเรียกตัวเอง ว่าฟาริสีได้ยังไงในเมื่อพวกฟาริสีมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย? พวกฟาริสีเชื่อว่ามีวิญญาณที่ยังคงอยู่หลังจากตาย และเชื่อว่าวิญญาณของคนดีจะกลับมามีชีวิตอีกในร่างมนุษย์ แน่นอนว่าเปาโลไม่เชื่อคำสอนแบบนั้น เปาโลเชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายตามที่พระเยซูสอน (ยน. 5:25-29) แต่ถึงอย่างนั้น เปาโลก็เห็นด้วยกับพวกฟาริสีที่ว่า มีความหวังเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตหลังจากตาย ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกสะดูสี คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าคนที่ตายแล้วมีความหวังอะไร เราก็ทำคล้าย ๆ กันได้โดยพยายามหาจุดที่เห็นพ้องกันกับคนที่เราคุยด้วยแม้ว่าเขาจะมีความเชื่อไม่เหมือนกับเรา ตัวอย่างเช่น พวกเขาบางคนอาจเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนเราก็เชื่อในพระเจ้าที่พูดถึงในคัมภีร์ไบเบิล แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งเราและเขาก็เชื่อเหมือนกันว่ามีองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจสูงกว่ามนุษย์ทุกคน
19. ทำไมการประชุมของสภาแซนเฮดรินจึงเกิดการแตกแยกกันจนวุ่นวาย?
19 คำพูดของเปาโลทำให้สภาแซนเฮดรินแบ่งเป็นสองฝ่าย คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ที่ประชุมก็ส่งเสียงอื้ออึง มีครูสอนศาสนาบางคนที่เป็นพวกฟาริสีลุกขึ้นเถียงอย่างดุเดือด และบอกว่า ‘พวกเราไม่เห็นว่าคนนี้ผิดตรงไหน ทูตสวรรค์อาจจะมาพูดกับเขาจริง ๆ ก็ได้’” (กจ. 23:9) พวกสะดูสีรับไม่ได้เลยเมื่อได้ยินคำพูดแบบนั้น เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่ามีทูตสวรรค์! (ดูกรอบ “ พวกสะดูสีกับพวกฟาริสี”) เกิดความวุ่นวายอย่างรุนแรงจนผู้บังคับกองพันชาติโรมันได้ช่วยชีวิตเปาโลไว้อีกครั้งหนึ่ง (กจ. 23:10) แต่เปาโลก็ยังคงตกอยู่ในอันตราย จะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขา? เราจะเรียนรู้มากขึ้นในบทต่อไป
a เนื่องจากมีคริสเตียนชาวยิวจำนวนมาก ในตอนนั้นคงจะต้องมีหลายประชาคมซึ่งประชุมกันในบ้านของพี่น้อง
b ไม่กี่ปีต่อมา อัครสาวกเปาโลได้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู เขาอธิบายว่าสัญญาใหม่นั้นดีกว่าสัญญาเดิมมาก ในจดหมายนั้น เปาโลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสัญญาใหม่ได้ทำให้สัญญาเดิมล้าสมัยไป สิ่งที่เปาโลเขียนช่วยคริสเตียนในตอนนั้นให้สามารถหาเหตุผลกับคนยิวที่ต่อต้านพวกเขาได้ นอกจากนั้น คำอธิบายของเปาโลนี้คงช่วยให้คริสเตียนบางคนที่ยังให้ความสำคัญมากเกินไปกับกฎหมายของโมเสสมีความเชื่อมากขึ้นด้วย—ฮบ. 8:7-13
c ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าผู้ชายเหล่านั้นได้ปฏิญาณเป็นนาศีร์ (กดว. 6:1-21) ที่จริง การปฏิญาณแบบนั้นมีอยู่ในกฎหมายของโมเสส ซึ่งตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น เปาโลอาจหาเหตุผลว่าคงจะไม่ผิดที่ผู้ชาย 4 คนจะทำตามสิ่งที่ปฏิญาณไว้กับพระยะโฮวา ดังนั้น คงจะไม่ผิดที่เปาโลจะไปกับพวกเขาแล้วออกค่าใช้จ่ายให้ จริง ๆ แล้วเราไม่รู้ว่านี่เป็นคำปฏิญาณแบบไหน แต่หลายครั้ง นาศีร์จะถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของเขา ถ้าเป็นอย่างนั้น เรามั่นใจได้ว่าเปาโลจะไม่เห็นด้วยกับการทำอย่างนั้น เพราะหลังจากที่พระเยซูสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของท่านเป็นค่าไถ่ การถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาก็ไม่สามารถไถ่บาปได้อีกต่อไป เราไม่รู้รายละเอียดว่าตอนนั้นเปาโลทำอะไรบ้าง แต่เรามั่นใจว่าเปาโลจะไม่ทำอะไรก็ตามที่ขัดกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขา
d บางคนให้ความเห็นว่าเปาโลสายตาไม่ดีเลยจำมหาปุโรหิตไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะเขาไม่ได้อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มนานมากจนไม่รู้ว่าตอนนี้ใครเป็นมหาปุโรหิต หรืออาจเป็นได้ที่เปาโลมองไม่เห็นว่าใครเป็นคนสั่งให้ตบเขาเพราะว่าตอนนั้นมีคนเยอะ
e ในปี ค.ศ. 49 เมื่อพวกอัครสาวกและผู้ดูแลพิจารณาว่าคนต่างชาติต้องทำตามกฎหมายของโมเสสหรือไม่ มีการพูดถึงคริสเตียนที่อยู่ที่นั่นในตอนนั้นว่า มี “สาวกบางคนที่เคยนับถือนิกายฟาริสี” (กจ. 15:5) ดูเหมือนว่ามีการพูดแบบนั้นเพราะพวกเขาบางคนเคยเป็นฟาริสีก่อนเข้ามาเป็นคริสเตียน