บท 17
‘เปาโลยกเหตุผลจากพระคัมภีร์คุยกับพวกยิว’
เพื่อเราจะเป็นครูที่ดี เราต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในการสอนของเรา และเราจะได้ดูตัวอย่างที่ดีของชาวเบโรอา
จากกิจการ 17:1-15
1, 2. ใครเดินทางจากเมืองฟีลิปปีไปถึงเมืองเธสะโลนิกา และพวกเขาอาจคิดถึงอะไรบ้าง?
ทางหลวงสายสำคัญที่สร้างโดยวิศวกรชาวโรมันที่มีความสามารถ ทางหลวงนี้ตัดผ่านเทือกเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ ตามเส้นทางสายนั้นมีเสียงดังให้ผู้คนได้ยินเป็นครั้งคราว ทั้งเสียงร้องของลา เสียงล้อรถม้ากระทบแผ่นหินหนาที่ปูพื้น และเสียงพูดคุยของนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทหาร พ่อค้า และช่าง ทั้งเปาโล สิลาส และทิโมธีได้เดินทางมากกว่า 130 กิโลเมตรไปตามทางหลวงสายนี้ พวกเขาเดินทางจากเมืองฟีลิปปีไปถึงเมืองเธสะโลนิกา การเดินทางครั้งนี้อาจไม่สะดวกสบายเท่าไรโดยเฉพาะสำหรับเปาโลกับสิลาส เพราะพวกเขายังคงมีบาดแผลที่ถูกตีด้วยไม้ในเมืองฟีลิปปี—กจ. 16:22, 23
2 พวกเขาทั้งสามอดทนกับการเดินทางอันยาวไกลที่อยู่ข้างหน้าได้ยังไง? การพูดคุยกันระหว่างเดินทางคงช่วยได้มากแน่ ๆ พวกเขาคงคิดถึงประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองฟีลิปปี ตอนนั้นผู้คุมกับครอบครัวได้เข้ามาเป็นคริสเตียน ประสบการณ์นั้นคงทำให้ทั้ง 3 คนมีความตั้งใจมากขึ้นที่จะประกาศถ้อยคำของพระเจ้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ตอนใกล้จะถึงเมืองเธสะโลนิกาซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเล พวกเขาคงอยากรู้ว่าชาวยิวในเมืองนั้นจะทำอะไรกับพวกเขา พวกเขาจะถูกทำร้าย หรือถึงขั้นถูกเฆี่ยนเหมือนกับที่ต้องเจอในเมืองฟีลิปปีไหม?
3. เราได้เรียนอะไรจากวิธีที่เปาโลมีความกล้าเพื่อจะประกาศต่อไปได้?
3 ในภายหลัง เปาโลได้พูดถึงความรู้สึกของเขาในจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกาว่า “ถึงแม้ตอนแรก เราต้องทนทุกข์และโดนดูถูกเหยียดหยามในเมืองฟีลิปปีอย่างที่พวกคุณรู้ แต่เราก็รวบรวมความกล้าด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าของเรา แล้วไปบอกข่าวดีของพระองค์กับพวกคุณทั้ง ๆ ที่เจอการต่อต้านมากมาย” (1 ธส. 2:2) จากคำพูดนี้ ดูเหมือนจะช่วยเราให้รู้ว่าเปาโลเองก็รู้สึกกลัวที่จะเข้าไปในเมืองเธสะโลนิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เขานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองฟีลิปปี คุณเข้าใจความรู้สึกของเปาโลไหม? คุณเคยรู้สึกไหมว่าเพื่อจะประกาศข่าวดี คุณต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง? เปาโลพึ่งกำลังที่มาจากพระยะโฮวา เขาให้พระองค์ช่วยเพื่อเขาจะมีความกล้าและประกาศต่อไปได้ การได้ทบทวนตัวอย่างของเปาโลจะช่วยคุณให้ทำอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน—1 คร. 4:16
กิจการ 17:1-3)
“เปาโล . . . ยกเหตุผลจากพระคัมภีร์” (4. ทำไมถึงบอกได้ว่าเปาโลน่าจะอยู่ในเมืองเธสะโลนิกามากกว่า 3 อาทิตย์?
4 เรื่องราวในหนังสือกิจการช่วยเราให้รู้ว่า เปาโลประกาศในที่ประชุมของชาวยิว 3 วันสะบาโตติดกัน นี่หมายความไหมว่าเขาอยู่ในเมืองนี้แค่ 3 อาทิตย์เท่านั้น? อาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เปาโลอาจไม่ได้ไปที่ประชุมของชาวยิวทันทีที่เขามาถึงเมืองนี้ นอกจากนั้น จดหมายของเปาโลช่วยให้เห็นว่าระหว่างอยู่ในเมืองเธสะโลนิกา เขากับเพื่อน ๆ ทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง (1 ธส. 2:9; 2 ธส. 3:7, 8) และระหว่างพักอยู่ที่นั่น พี่น้องในเมืองฟีลิปปีส่งของมาช่วยเปาโลถึง 2 ครั้ง (ฟป. 4:16) ดังนั้น ดูเหมือนว่าเปาโลอยู่ที่เมืองเธสะโลนิกานานกว่า 3 อาทิตย์
5. เปาโลพยายามโน้มน้าวใจผู้คนโดยวิธีใด?
5 หลังจากรวบรวมความกล้าเพื่อจะประกาศ เปาโลเข้าไปพูดกับผู้คนที่มาชุมนุมกันในที่ประชุมของชาวยิวอย่างที่ทำเป็นประจำ “เปาโล . . . ยกเหตุผลจากพระคัมภีร์คุยกับพวกนั้น 3 วันสะบาโตติดกัน เปาโลอธิบายและใช้ข้อคัมภีร์หลายข้อเพื่อพิสูจน์ว่าพระคริสต์ต้องทนทุกข์และฟื้นขึ้นจากตาย แล้วบอกว่า ‘พระคริสต์ก็คือพระเยซูคนนี้แหละที่ผมประกาศให้พวกคุณฟัง’” (กจ. 17:2, 3) เราเห็นได้ว่าเปาโลไม่ได้พยายามทำให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เขาพูด แต่เขาชวนผู้ฟังให้หาเหตุผล เปาโลรู้ว่าคนที่เข้ามาประชุมในที่ประชุมของชาวยิวคุ้นเคยกับพระคัมภีร์เป็นอย่างดี และนับถือพระคัมภีร์ด้วย แต่พวกเขายังไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ ดังนั้น เปาโลจึงช่วยพวกเขาให้คิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขารู้อยู่แล้ว และเขาอธิบายพร้อมทั้งให้ข้อพิสูจน์จากพระคัมภีร์ว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นเมสสิยาห์ หรือพระคริสต์ตามคำสัญญา
6. พระเยซูหาเหตุผลจากข้อคัมภีร์ต่าง ๆ ยังไง และผลเป็นยังไง?
6 เปาโลเลียนแบบพระเยซูที่ใช้พระคัมภีร์เป็นหลักในการสอน ตัวอย่างเช่น ตอนที่ประกาศบนโลก พระเยซูพูดกับพวกสาวกว่า ตามที่พระคัมภีร์บอกไว้ ลูกมนุษย์ต้องทนทุกข์ ถูกฆ่า และถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมา (มธ. 16:21) หลังจากถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตาย พระเยซูได้มาเจอกับพวกสาวก แน่นอน การได้เห็นพระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาก็น่าจะแสดงให้เห็นแล้วว่าท่านพูดความจริง แต่พระเยซูก็ยังช่วยสาวกให้มีเหตุผลมากกว่านั้นอีกที่พวกเขาควรวางใจถ้อยคำของพระเจ้า ในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “แล้วพระเยซูก็อธิบายข้อคัมภีร์ทั้งหมดที่พูดถึงท่านให้พวกเขาฟัง เริ่มตั้งแต่หนังสือของโมเสสและของพวกผู้พยากรณ์” ผลเป็นยังไง? ทั้งสองคนจึงพูดกันว่า “มิน่าล่ะ เราถึงรู้สึกประทับใจจริง ๆ ตอนที่ท่านพูดกับพวกเราระหว่างทาง และตอนที่ท่านอธิบายให้พวกเราเข้าใจข้อคัมภีร์อย่างละเอียด”—ลก. 24:13, 27, 32
7. ทำไมสำคัญที่จะสอนโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก?
7 ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลมีพลัง (ฮบ. 4:12) ดังนั้น คริสเตียนในทุกวันนี้จึงสอนโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก เราเลียนแบบพระเยซู เปาโล และอัครสาวกคนอื่น ๆ เราหาเหตุผลกับคนอื่นโดยใช้ข้อคัมภีร์ นอกจากนั้น เรายังอธิบายความหมายของข้อคัมภีร์ และให้ข้อพิสูจน์เกี่ยวกับสิ่งที่เราสอนโดยให้เจ้าของบ้านอ่านจากคัมภีร์ไบเบิล ที่จริง ข่าวสารที่เรานำไปบอกผู้คน ไม่ใช่ของเราเอง ถ้าเราใช้คัมภีร์ไบเบิลบ่อย ๆ ก็จะช่วยผู้คนให้เข้าใจว่า เรื่องที่เราประกาศไม่ได้เป็นความคิดของเราเอง แต่เป็นคำสอนของพระเจ้า นอกจากนั้น เราควรจำไว้เสมอว่าข่าวสารที่เราประกาศเป็นข่าวสารที่มาจากถ้อยคำของพระเจ้า ข่าวสารนี้เชื่อถือได้อย่างแน่นอน การคิดเรื่องนี้เสมอช่วยเราให้มั่นใจมากขึ้นที่จะแบ่งปันข่าวสารนี้ให้กับคนอื่นอย่างกล้าหาญเหมือนกับเปาโล
“บางคนจึงมาเป็นสาวก” (กิจการ 17:4-9)
8-10. (ก) ผู้คนในเมืองเธสะโลนิกามีท่าทียังไงต่อข่าวดี? (ข) ทำไมชาวยิวบางคนจึงรู้สึกอิจฉาเปาโล? (ค) พวกยิวที่ต่อต้านได้ทำอะไร?
8 เปาโลเคยเจอกับการข่มเหงมาแล้ว เขาจึงเข้าใจดีเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูพูดที่บอกว่า “ทาสไม่ใหญ่กว่านาย ถ้าพวกเขาข่มเหงผม พวกเขาจะข่มเหงพวกคุณด้วย ถ้าพวกเขาทำตามคำสอนของผม พวกเขาก็จะทำตามคำสอนของคุณด้วย” (ยน. 15:20) ผู้คนในเมืองเธสะโลนิกามีท่าทีที่ต่างกันเมื่อได้ยินเปาโลประกาศ บางคนกระตือรือร้นที่จะทำตามคำสอนของพระเจ้า ส่วนคนอื่น ๆ ก็ต่อต้าน ลูกาเขียนเกี่ยวกับคนเหล่านั้นที่ตอบรับว่า “ชาวยิวบางคนจึงมาเป็นสาวก [คริสเตียน] แล้วเข้าร่วมกับเปาโลและสิลาส นอกจากนั้น ชาวกรีกมากมายที่นมัสการพระเจ้ารวมทั้งผู้หญิงที่เป็นคนสำคัญ ๆ จำนวนไม่น้อยก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน” (กจ. 17:4) แน่นอน สาวกใหม่เหล่านี้มีความสุขมากที่ได้เข้าใจพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง
9 แม้บางคนเห็นค่าสิ่งที่เปาโลสอน แต่ก็มีคนโกรธเคืองเปาโล ชาวยิวบางคนในเมืองเธสะโลนิกาอิจฉาเมื่อได้รู้ว่ามี “ชาวกรีกมากมาย” ยอมรับข่าวสารที่เปาโลประกาศ ชาวยิวพวกนั้นตั้งใจโน้มน้าวชาวกรีกให้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว พวกเขาพยายามสอนให้ชาวกรีกรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู พวกเขายังมองว่าชาวกรีกเหล่านั้นเป็นสาวกของพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าจู่ ๆ เปาโลก็มาขโมยชาวกรีกพวกนี้ไป และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในที่ประชุมของพวกเขาเอง! พวกยิวจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
10 ลูกาบอกให้เรารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น ลูกาบอกว่า “พวกยิวรู้สึกอิจฉา จึงรวบรวมพวกอันธพาลตามตลาดที่ไม่รู้จักทำงาน ให้มาก่อม็อบและสร้างความชุลมุนวุ่นวายในเมือง พวกเขาบุกเข้าบ้านยาโสนและพยายามหาตัวเปาโลกับสิลาสเพื่อพาออกมาให้ฝูงชน พอไม่เจอตัวสองคนนั้น พวกเขาก็ลากยาโสนกับพี่น้องบางคนไปหาพวกผู้ปกครองเมืองและร้องตะโกนว่า ‘คนพวกนี้ที่ก่อความวุ่นวายไปทั่วก็มาที่นี่ด้วย และยาโสนต้อนรับพวกเขาที่บ้าน คนพวกนี้ทำผิดกฎหมายของซีซาร์ พวกเขาบอกว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือเยซู’” (กจ. 17:5-7) สิ่งที่ฝูงชนทำก่อผลยังไงกับเปาโลและเพื่อน ๆ?
11. มีการกล่าวหาเปาโลกับพี่น้องคนอื่น ๆ ในเรื่องอะไรบ้าง และผู้กล่าวหาอาจคิดถึงกฎหมายอะไร? (ดูเชิงอรรถหน้าถัดไป)
11 เมื่อคนที่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟมาอยู่รวมกันก็มักจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น พวกเขาอาจใช้ความรุนแรงในแบบที่ควบคุมไม่ได้เหมือนกับน้ำที่เชี่ยวกราก นี่เป็นเครื่องมือที่พวกยิวใช้เพื่อ กำจัดเปาโลกับสิลาสให้พ้นหน้าพวกเขา หลังจากก่อ “ความชุลมุนวุ่นวาย” ในเมือง พวกยิวพยายามทำให้พวกผู้ปกครองเมืองเชื่อว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องร้ายแรง ข้อกล่าวหาแรกคือเปาโลกับพี่น้องคนอื่น ๆ ได้ “ก่อความวุ่นวาย” ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย! ข้อกล่าวหาที่สองร้ายแรงยิ่งกว่านั้นอีก พวกยิวอ้างเหตุผลว่าพวกมิชชันนารีเหล่านี้ประกาศว่ามีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง คือเยซู ซึ่งนี่ขัดกับกฎหมายของจักรพรรดิ a
12. อะไรแสดงว่าข้อกล่าวหาที่คริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกาเจออาจก่อผลร้ายแรง?
12 เราอาจจำได้ว่าพวกผู้นำศาสนาและฟาริสีก็ได้กล่าวหาพระเยซูในทำนองเดียวกัน พวกเขาบอกปีลาตว่า “พวกเราจับได้ว่าคนนี้บ่อนทำลายชาติ . . . และบอกว่าตัวเขาเป็นพระคริสต์ กษัตริย์องค์หนึ่ง” (ลก. 23:2) ปีลาตอาจกลัวว่าถ้าเขาไม่ทำอะไร จักรพรรดิจะคิดว่าเขาไม่เอาผิดคนกบฏ เขาจึงยอมส่งพระเยซูไปประหาร คล้ายกัน ข้อกล่าวหาที่คริสเตียนในเมืองเธสะโลนิกาเจออาจก่อผลร้ายแรง หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งบอกว่า “ข้อกล่าวหานี้ทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง เพราะ ‘แค่มีเบาะแสว่าจะมีการกบฏต่อจักรพรรดิ หลายครั้งคนที่ถูกกล่าวหาจะได้รับโทษถึงตาย’” ให้เรามาดูว่าแผนการที่ชั่วร้ายของพวกยิวจะสำเร็จไหม?
13, 14. (ก) ทำไมฝูงชนจึงไม่สามารถหยุดยั้งงานประกาศได้? (ข) เปาโลแสดงให้เห็นยังไงว่าเขาตัดสินใจอย่างฉลาดเหมือนกับพระเยซู และเราจะเลียนแบบเขาได้ยังไง?
13 ฝูงชนไม่สามารถหยุดยั้งงานประกาศในเมืองเธสะโลนิกาได้ เพราะอะไร? อย่างแรก พวกเขาหาตัวเปาโลกับสิลาสไม่พบ นอกจากนั้น พวกผู้ปกครองเมืองดูเหมือนไม่เชื่อว่าข้อกล่าวหานั้นเป็นความจริง หลังจากเรียก “ค่าประกันตัว” แล้ว เขาจึงปล่อยยาโสนกับพี่น้องคนอื่น ๆ ที่ถูกพาตัวมาอยู่ต่อหน้าพวกเขาไป (กจ. 17:8, 9) โดยทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่ให้ “ฉลาดเหมือนงู แต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกเขา” เปาโลตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม เขาออกไปจากเมืองเพื่อจะสามารถประกาศที่อื่นต่อไปได้ (มธ. 10:16) เห็นได้ชัดว่า การที่เปาโลรวบรวมความกล้าหาญไม่ได้หมายความว่าเขาขาดความสุขุมรอบคอบ คริสเตียนในทุกวันนี้จะทำตามตัวอย่างของเปาโลได้ยังไง?
14 ในทุกวันนี้ พวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรชอบปลุกเร้าฝูงชนให้ต่อต้านพยานพระยะโฮวา พวกเขากล่าวหาว่าพยานพระยะโฮวาต่อต้านรัฐบาลและทรยศประเทศชาติ พวกเขาใช้ข้อกล่าวหานี้เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกดขี่ข่มเหงพวกเรา เหมือนกับพวกผู้ข่มเหงในศตวรรษแรก ผู้ต่อต้านในทุกวันนี้รู้สึกอิจฉาที่เห็นผู้คนมากขึ้นเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา แต่ไม่ว่าจะยังไง คริสเตียนแท้ไม่อยากมีปัญหากับใคร เราหลีกเลี่ยงการประจันหน้ากับคนที่โกรธแค้นและไม่มีเหตุผลอย่างนั้น เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำงานต่อไปอย่างสงบสุข เราอาจกลับไปอีกเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น
กิจการ 17:10-15)
พวกเขา “เปิดใจรับฟังมากกว่า” (15. ชาวเมืองเบโรอาตอบรับข่าวดียังไง?
15 เพื่อความปลอดภัย พี่น้องได้ส่งเปาโลกับสิลาสไปเมืองเบโรอาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 65 กิโลเมตร พอไปถึงที่นั่น เปาโลเข้าไปในที่ประชุมของชาวยิวและพูดกับฝูงชนที่ชุมนุมกันอยู่ เปาโลคงต้องมีความสุขมากแน่ ๆ ที่พวกเขาอยากรู้เกี่ยวกับข่าวดี ลูกาบอกว่าชาวยิวในเมืองเบโรอา “เปิดใจรับฟังมากกว่าชาวเมืองเธสะโลนิกา พวกเขาเต็มใจยอมรับคำสอนของพระเจ้าและอยากเรียนรู้ พวกเขาศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างละเอียดทุกวันเพื่อดูว่าสิ่งที่พวกเขาได้ยินจะตรงกับพระคัมภีร์หรือเปล่า” (กจ. 17:10, 11) นี่ไม่ได้หมายความว่าเปาโลมองว่าผู้คนในเมืองเบโรอาดีกว่าผู้คนในเมืองเธสะโลนิกาที่ตอบรับความจริง เพราะในภายหลังเปาโลได้เขียนถึงผู้คนในเมืองเธสะโลนิกาว่า “นี่เป็นเหตุผลที่เราขอบคุณพระเจ้ามาตลอด เพราะเมื่อพวกคุณได้ยินคำสอนของพระเจ้าจากเรา พวกคุณยอมรับคำสอนนั้นไว้เหมือนเป็นคำสอนของพระเจ้าจริง ๆ ไม่ใช่ของมนุษย์ และคำสอนนั้นกำลังเกิดผลกับพวกคุณที่เป็นผู้เชื่อถือ” (1 ธส. 2:13) แต่อะไรทำให้ชาวยิวในเมืองเบโรอามีใจพร้อมจะยอมรับฟังแบบนั้น?
16. ทำไมคัมภีร์ไบเบิลถึงบอกว่าชาวเมืองเบโรอา “เปิดใจรับฟัง”?
16 ถึงแม้เรื่องที่ชาวเมืองเบโรอาได้ยินเป็นเรื่องใหม่ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สงสัยในตัวเปาโลและข่าวสารที่เขาประกาศ ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้เป็นคนหูเบาที่เชื่ออะไรง่าย ๆ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ชาวเมืองเบโรอาทำอะไร? อย่างแรก พวกเขาตั้งใจฟังสิ่งที่เปาโลพูด ต่อจากนั้น พวกเขาตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ได้เรียนโดยอาศัยพระคัมภีร์ซึ่งเปาโลได้อธิบายให้เข้าใจ ยิ่งกว่านั้น พวกเขาศึกษาถ้อยคำของพระเจ้าอย่างขยัน ขันแข็ง พวกเขาไม่ได้ทำอย่างนั้นเฉพาะในวันสะบาโต แต่ทำทุกวัน และพวกเขา “อยากเรียนรู้” จริง ๆ พวกเขาพยายามค้นดูสิ่งที่พระคัมภีร์เปิดเผยในเรื่องคำสอนใหม่นี้ จากนั้นพวกเขาก็แสดงความถ่อมโดยพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง นี่ทำให้ “หลายคน . . . เข้ามาเป็นสาวก” (กจ. 17:12) ไม่น่าแปลกใจที่ลูกาพูดถึงพวกเขาว่า “เปิดใจรับฟัง”!
17. ทำไมเราควรเลียนแบบตัวอย่างของชาวเมืองเบโรอา และถึงแม้เราจะอยู่ในความจริงนานแล้ว แต่เราจะเลียนแบบพวกเขาต่อ ๆ ไปได้ยังไง?
17 ชาวเมืองเบโรอาไม่รู้เลยว่าท่าทีของพวกเขาหลังจากได้ยินข่าวดีจะถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของคนที่เปิดใจรับฟังถ้อยคำของพระเจ้าจริง ๆ ชาวเมืองนี้ทำทุกอย่างตามที่เปาโลอยากให้เขาทำ และทำทุกอย่างตามที่พระเจ้าอยากให้เขาทำด้วย พวกเราก็เหมือนกัน เราสนับสนุนผู้คนให้ทำอย่างนั้น คือค้นดูคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียดเพื่อความเชื่อของเขาจะอาศัยถ้อยคำของพระเจ้าเป็นหลัก แต่ถ้าเราเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว เราก็ไม่ต้องเปิดใจรับฟังอีกต่อไปไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ ยิ่งเราอยู่ในความจริงนานเท่าไรก็ยิ่งสำคัญที่เราจะกระตือรือร้นเรียนรู้จากพระยะโฮวาและนำคำสอนของพระองค์มาใช้ทันที ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็กำลังยอมให้พระยะโฮวานวดปั้นและฝึกอบรมเราตามความต้องการของพระองค์ (อสย. 64:8) และนั่นจะช่วยเราให้มีค่าในสายตาพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์ของเราและทำให้พระองค์พอใจในตัวเรา
18, 19. (ก) ทำไมเปาโลถึงออกจากเมืองเบโรอา แต่เขาพยายามทำอะไรต่อไปและนั่นให้ตัวอย่างที่ดีอะไรสำหรับพวกเรา (ข) ต่อจากนี้เปาโลจะประกาศกับใคร และที่ไหน?
18 เปาโลอยู่ที่เมืองเบโรอาไม่นาน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พอพวกยิวในเมืองเธสะโลนิการู้ว่าเปาโลประกาศคำสอนของพระเจ้าในเมืองเบโรอาด้วย พวกเขาก็พากันมาปลุกระดมฝูงชนที่นี่ พวกพี่น้องจึงให้เปาโลไปที่ชายฝั่งทะเลทันที ส่วนสิลาสกับทิโมธียังอยู่ที่เมืองเบโรอา คนที่พาเปาโลไป ได้ไปส่งเขาถึงกรุงเอเธนส์ และตอนที่พวกเขาจะลากลับ เปาโลก็ฝากพวกเขาให้บอกสิลาสกับทิโมธีว่าให้รีบมาหาเขาเร็ว ๆ” (กจ. 17:13-15) พวกฝูงชนที่ต่อต้านงานประกาศไม่ได้หยุดสร้างปัญหาให้พี่น้องของเรา พวกเขาไม่ได้แค่ไล่เปาโลออกจากเมืองเธสะโลนิกา แต่พวกเขาถึงกับเดินทางไปเมืองเบโรอาและพยายามก่อความวุ่นวายที่นั่นด้วย ถึงอย่างนั้น พวกเขาทำไม่สำเร็จ เปาโลรู้ว่าเขตงานของเขากว้างใหญ่ ดังนั้น สิ่งที่เปาโลทำก็คือ เขาย้ายไปประกาศที่อื่น ขอให้พวกเราในทุกวันนี้มีความตั้งใจอย่างเดียวกัน เพื่อไม่ให้ใครก็ตามที่พยายามหยุดยั้งงานประกาศของเราประสบความสำเร็จได้!
19 หลังจากที่เปาโลประกาศข่าวดีอย่างละเอียดถี่ถ้วนให้กับชาวยิวในเมืองเธสะโลนิกาและเมืองเบโรอา เขาคงเข้าใจชัดเจนว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะประกาศด้วยความกล้าหาญ และใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในการสอนผู้คน พวกเราก็เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วยเหมือนกัน แต่ตอนนี้ เปาโลจะต้องไปเจอกับผู้ฟังที่ต่างออกไป นั่นคือ คนต่างชาติชาวเอเธนส์ เหตุการณ์จะเป็นยังไงในเมืองนั้น? เราจะได้ดูในบทถัดไป
a ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งบอกว่า ตอนนั้นจักรพรรดิโรมันได้ตั้งกฎหมายห้ามไม่ให้ใครพูดเกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ หรือรัฐบาลที่จะมีมาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากษัตริย์องค์นั้นจะมายึดอำนาจของจักรพรรดิโรมัน พวกศัตรูของเปาโลอาจใส่ความว่าสิ่งที่เปาโลประกาศเป็นการละเมิดกฎหมายดังกล่าว ดูกรอบ “ ซีซาร์กับหนังสือกิจการ”