บท 21
“ถ้าไม่มีใครรอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้”
เปาโลรับใช้ด้วยความกระตือรือร้น และให้คำแนะนำกับผู้ดูแล
จากกิจการ 20:1-38
1-3. (ก) ขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนที่ยุทิกัสเสียชีวิต (ข) เปาโลได้ทำอะไร และเหตุการณ์นี้แสดงว่าเขาเป็นคนยังไง?
เปาโลมาเจอกับพี่น้องชายหญิงหลายคนในประชาคมเมืองโตรอัสที่ห้องชั้นบน เขาพูดกับพี่น้องเป็นเวลานาน เพราะคืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายที่เปาโลจะอยู่กับพวกเขา ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนแล้ว ในห้องนั้นมีตะเกียงจุดอยู่หลายดวง ทำให้ในห้องมีอากาศร้อนอบอ้าวและไม่ค่อยมีอากาศถ่ายเท เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อยุทิกัสนั่งอยู่บนขอบหน้าต่าง และตอนที่เปาโลกำลังบรรยายอยู่ ยุทิกัสก็หลับไปแล้วพลัดตกลงมาจากหน้าต่างชั้นที่สาม!
2 ลูกาที่เป็นหมอคงจะเป็นคนแรก ๆ ที่วิ่งออกจากห้องไปเพื่อดูว่าเด็กหนุ่มคนนั้นเป็นยังไง แต่พวกเขาก็ช่วยอะไรเด็กคนนั้นไม่ได้ เพราะไปถึงก็เห็นว่า “เขาตายแล้ว” (กจ. 20:9) แต่มีการอัศจรรย์เกิดขึ้น เปาโลก้มลงไปกอดเด็กหนุ่มไว้และพูดกับฝูงชนว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง เขามีชีวิตแล้ว” เปาโลได้ปลุกยุทิกัสให้ฟื้นขึ้นจากตาย!—กจ. 20:10
3 การปลุกยุทิกัสให้ฟื้นขึ้นจากตายแสดงให้เห็นว่า พระยะโฮวาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่งโดยทางพลังบริสุทธิ์ของพระองค์ จริง ๆ แล้วการตายของยุทิกัสไม่ใช่ความผิดของเปาโล แต่เขาก็ไม่อยากให้พี่น้องรู้สึกเศร้าหรือมีความเชื่อน้อยลง แทนที่จะได้กำลังใจจากคืนสุดท้ายที่เปาโลอยู่กับพวกเขา การที่เปาโลปลุกยุทิกัสให้ฟื้นขึ้นจากตายช่วยให้ประชาคมเข้มแข็งและสามารถทำงานประกาศต่อไปได้อย่างกระตือรือร้น เห็นได้ชัดว่าเปาโลมองว่าชีวิตของคนอื่นมีค่า เราคงจำคำพูดของเปาโลได้ที่เขาบอกว่า “ถ้ามีใครไม่รอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้” (กจ. 20:26) ขอให้เรามาทบทวนดูว่าตัวอย่างของเปาโลจะช่วยเราได้ยังไงให้เห็นค่าชีวิตของคนอื่น
“เปาโลก็เดินทางไปที่แคว้นมาซิโดเนีย” (กิจการ 20:1, 2)
4. เปาโลเจอความยากลำบากอะไร?
4 ในบทก่อนเราได้รู้ว่า เปาโลเจอกับเหตุการณ์ที่น่ากลัวตอนที่เขาอยู่ในเมืองเอเฟซัส ชาวเมืองเอเฟซัสโกรธมากตอนที่เปาโลประกาศที่นั่น พวกช่างเงินที่มีรายได้จากการขายรูปเคารพของเทพธิดาอาร์เทมิสได้รวมตัวกันก่อความวุ่นวาย กิจการ 20:1 บอกว่า “หลังจากความวุ่นวายผ่านไปแล้ว เปาโลก็ส่งคนไปตามพวกสาวกมา เมื่อให้กำลังใจและบอกลาพวกเขาแล้ว เปาโลก็เดินทางไปที่แคว้นมาซิโดเนีย”
5, 6. (ก) เปาโลอาจอยู่ในแคว้นมาซิโดเนียนานแค่ไหน และเขาได้ทำอะไรเพื่อพี่น้องที่นั่น? (ข) เปาโลมีมุมมองยังไงต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ?
5 ระหว่างทางไปแคว้นมาซิโดเนีย เปาโลได้แวะที่เมืองท่าโตรอัสและพักอยู่ที่นั่น เปาโลหวังว่าทิตัสซึ่งถูกส่งไปเมืองโครินธ์จะมาเจอกับเขาที่นั่น (2 คร. 2:12, 13) แต่ดูเหมือนว่าทิตัสมาหาเปาโลไม่ได้ เปาโลเลยเดินทางต่อไปที่แคว้นมาซิโดเนียและใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณ 1 ปี เขาได้ “พูดให้กำลังใจพวกสาวกที่นั่นหลายอย่าง” a (กจ. 20:2) หลังจากนั้นสักพักหนึ่ง ทิตัสก็ได้มาหาเปาโลที่แคว้นมาซิโดเนีย ทิตัสได้เล่าให้เปาโลฟังด้วยว่าพี่น้องในเมืองโครินธ์ตอบรับอย่างดีต่อจดหมายฉบับแรกของเปาโลที่เขียนถึงพวกเขา (2 คร. 7:5-7) นี่เลยกระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงพวกเขา ซึ่งเรารู้จักกันในตอนนี้ว่า 2 โครินธ์
6 น่าสนใจที่ลูกาบอกว่า การที่เปาโลมาเยี่ยมพี่น้องที่เมืองเอเฟซัสและในแคว้นมาซิโดเนียครั้งนี้ ทำให้พี่น้องได้กำลังใจมาก นี่แสดงให้เห็นว่าเปาโลรักพี่น้องจริง ๆ ไม่เหมือนกับพวกฟาริสีที่มองว่าคนอื่นต่ำต้อยกว่าพวกเขา เปาโลมองพี่น้องว่าเป็นเพื่อนที่รับใช้พระเจ้าด้วยกันกับเขา (ยน. 7:47-49; 1 คร. 3:9) เปาโลยังคงมีมุมมองแบบนี้ต่อพี่น้องถึงแม้บางครั้งเขาต้องให้คำแนะนำที่ตรงไปตรงมา—2 คร. 2:4
7. คริสเตียนผู้ดูแลในทุกวันนี้จะเลียนแบบเปาโลได้ยังไง?
7 ในทุกวันนี้ ผู้ดูแลในประชาคมและผู้ดูแลหมวดพยายามเลียนแบบเปาโล ถึงแม้อาจมีบางครั้งที่พวกเขาจำเป็นต้องให้คำแนะนำพี่น้องแบบตรงไปตรงมา แต่พวกเขาก็จะมีเป้าหมายที่จะช่วยให้พี่น้องเข้มแข็งขึ้น และแทนที่จะเอาแต่ตำหนิ ผู้ดูแลพยายามเข้าใจว่าพี่น้องรู้สึกยังไงและให้กำลังใจพวกเขา ผู้ดูแลหมวดที่มีประสบการณ์คนหนึ่งบอกว่า “พี่น้องชายหญิงของเราส่วนใหญ่อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่หลายครั้งพวกเขาต้องรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งปัญหาเหล่านั้นอาจทำให้พวกเขาผิดหวังหรือกลัว และไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง” ผู้ดูแลสามารถให้กำลังใจและช่วยพี่น้องที่รู้สึกแบบนี้ให้เข้มแข็งขึ้น—ฮบ. 12:12, 13
“พวกยิววางแผนทำร้าย” เปาโล (กิจการ 20:3, 4)
8, 9. (ก) อะไรทำให้เปาโลต้องเปลี่ยนแผนที่จะลงเรือไปแคว้นซีเรีย? (ข) อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ชาวยิวเกลียดเปาโล?
8 เปาโลเดินทางจากแคว้นมาซิโดเนียไปที่เมืองโครินธ์ b หลังจากอยู่ที่นั่น 3 เดือน เขาก็เดินทางต่อไปที่เมืองเคนเครีย เปาโลวางแผนจะลงเรือที่เมืองนั้นเพื่อไปยังแคว้นซีเรีย และจากที่นั่น เขาจะสามารถไปถึงกรุงเยรูซาเล็มและมอบเงินบริจาคกับพี่น้องที่ยากจนที่นั่น c (กจ. 24:17; รม. 15:25, 26) แต่เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้นซึ่งทำให้เปาโลต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง ในกิจการ 20:3 บอกว่า “พวกยิววางแผนทำร้าย” เขา!
9 เราไม่แปลกใจที่พวกยิวเกลียดเปาโล พวกเขามองว่าเปาโลทิ้งความเชื่อของคนยิว และเข้ามาเป็นคริสเตียน ก่อนหน้านี้ งานประกาศของเปาโลในเมืองโครินธ์ได้ทำให้คริสปัสซึ่งเป็นหัวหน้าที่ประชุมของชาวยิวเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน (กจ. 18:7, 8; 1 คร. 1:14) นอกจากนั้น ตอนที่พวกยิวในเมืองโครินธ์ไปหากัลลิโอซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแคว้นอาคายา พวกเขาต้องการฟ้องร้องว่าเปาโลทำผิดกฎหมาย แต่กัลลิโอก็ได้ยกฟ้องเพราะข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งคำตัดสินนี้ทำให้พวกยิวโกรธมาก (กจ. 18:12-17) พวกยิวในเมืองโครินธ์คงคิดว่า อีกไม่นานเปาโลจะมาลงเรือที่เมืองเคนเครียซึ่งอยู่ใกล้ ๆ พวกเขาเลยวางแผนดักทำร้ายเปาโลที่นั่น ให้เรามาดูว่าเปาโลทำยังไง
10. การที่เปาโลไม่ไปลงเรือที่เคนเครียแสดงว่าเขาเป็นคนไม่กล้าหาญไหม? ขออธิบาย
10 เปาโลตัดสินใจไม่ไปที่เมืองเคนเครีย แต่เขาเดินทางย้อนกลับไปผ่านมาซิโดเนีย เปาโลทำแบบนี้เพื่อความปลอดภัยของเขา และเพื่อปกป้องเงินบริจาคของพี่น้องที่เขาดูแลอยู่ แน่นอนว่า การเดินทางทางบกก็อันตรายเหมือนกัน ในสมัยนั้นมักมีโจรดักซุ่มอยู่ตามถนน และโรงแรมก็ไม่ค่อยปลอดภัย แต่เปาโลคิดว่าเส้นทางนี้ปลอดภัยมากกว่าการไปลงเรือที่เคนเครีย และน่าดีใจที่เปาโลไม่ได้เดินทางคนเดียว มีหลายคนที่ร่วมเดินทางกับเปาโล ในครั้งนี้ คือ อาริสทาร์คัส กายอัส เสคุนดัส โสปาเทอร์ ทิโมธี โตรฟีมัส และทีคิกัส—กจ. 20:3, 4
11. คริสเตียนในทุกวันนี้จะปกป้องตัวเองได้ยังไง? และพระเยซูได้วางตัวอย่างอะไรในเรื่องนี้?
11 เหมือนกับเปาโล คริสเตียนในทุกวันนี้ทำสิ่งที่ทำได้เพื่อปกป้องตัวเองตอนที่ทำงานประกาศ ในบางเขตพวกเขาจะไปประกาศเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคู่ ๆ แทนที่จะไปคนเดียว แล้วเราจะปกป้องตัวเองได้ยังไงตอนที่เราถูกข่มเหง? พวกเราที่เป็นคริสเตียนรู้ดีว่า เราจะต้องเจอการข่มเหง (ยน. 15:20; 2 ทธ. 3:12) แต่เราจะระวังตัวเสมอตอนที่เราประกาศและไม่เอาตัวไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ขอนึกถึงตัวอย่างของพระเยซู ครั้งหนึ่งเมื่อผู้ต่อต้านที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มเริ่มหยิบก้อนหินขึ้นมาจะขว้างพระเยซู ตอนนั้น “ท่านหลบออกไปจากวิหารก่อน” (ยน. 8:59) ต่อมา เมื่อพวกยิววางแผนจะฆ่าท่าน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเยซูจึงไม่ไปไหนมาไหนอย่างเปิดเผยในหมู่คนยิวอีกต่อไป แต่ท่านออกจากที่นั่นไป . . . อยู่ใกล้ที่กันดาร” (ยน. 11:54) พระเยซูทำสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง เพื่อที่ท่านจะสามารถทำตามความประสงค์ของพระเจ้าได้สำเร็จ คริสเตียนในทุกวันนี้ก็ทำแบบเดียวกับพระเยซู—มธ. 10:16
“พวกเขามีกำลังใจขึ้นมาก” (กิจการ 20:5-12)
12, 13. (ก) การฟื้นขึ้นจากตายของยุทิกัสมีผลยังไงต่อประชาคม? (ข) ความหวังเรื่องอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้กำลังใจคนที่คิดถึงคนที่พวกเขารักซึ่งตายจากไป?
12 เปาโลกับเพื่อน ๆ เดินทางผ่านแคว้นมาซิโดเนียด้วยกัน และต่อจากนั้นดูเหมือนว่าพวกเขาแยกกันสักพักหนึ่ง จากนั้น เรารู้ว่าคนกลุ่มนี้กลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้งที่เมืองโตรอัส d คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “5 วันต่อมา [พวกเรา] ก็ไปเจอกับพวกเขาที่เมืองโตรอัส” e (กจ. 20:6) เมืองนี้แหละที่เปาโลปลุกเด็กหนุ่มที่ชื่อยุทิกัสให้ฟื้นขึ้นจากตายเหมือนที่เราพูดถึงในตอนต้นของบทนี้ ลองคิดดูสิว่า พวกพี่น้องจะรู้สึกดีใจแค่ไหนที่เห็นยุทิกัสเพื่อนของพวกเขาถูกปลุกให้มีชีวิตอีก! คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพวกเขา “มีกำลังใจขึ้นมาก”—กจ. 20:12
13 ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้จะไม่มีการอัศจรรย์แบบนั้นอีกแล้ว แต่ทุกคนที่คิดถึงคนที่พวกเขารักซึ่งตายจากไปก็สามารถ “มีกำลังใจขึ้นมาก” เพราะคัมภีร์ไบเบิลช่วยพวกเขาให้มีความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย (ยน. 5:28, 29) ยุทิกัสเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ในที่สุดเขาก็ต้องตายอีก (รม. 6:23) แต่คนเหล่านั้นที่ถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายในโลกใหม่ของพระเจ้ามีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป! และคนที่ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อจะปกครองกับพระเยซูในสวรรค์จะไม่มีวันตาย (1 คร. 15:51-53) คริสเตียนในทุกวันนี้ ไม่ว่าเป็นผู้ถูกเจิมหรือ “แกะอื่น” จะ “มีกำลังใจขึ้นมาก” เมื่อนึกถึงความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย—ยน. 10:16
“ทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านด้วย” (กิจการ 20:13-24)
14. เปาโลได้บอกอะไรกับผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสตอนที่เจอกับพวกเขาที่เมืองมิเลทัส?
14 เปาโลและเพื่อน ๆ เดินทางจากเมืองโตรอัสไปเมืองอัสโสส จากนั้นก็ไปที่เมืองมิทิเลนี เกาะคิโอส เกาะสามอส และเมืองมิเลทัส เปาโลอยากไปถึงกรุงเยรูซาเล็มให้ทันเทศกาลเพ็นเทคอสต์ นี่เลยทำให้เปาโลไม่หยุดแวะที่เมืองเอเฟซัสตอนเดินทางกลับครั้งนี้ แต่ถึงอย่างนั้น เปาโลก็มีเรื่องที่อยากจะพูดกับพวกผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัส เขาจึงขอร้องให้พวกผู้ดูแลมาพบเขาที่เมืองมิเลทัส (กจ. 20:13-17) เมื่อพวกเขามาถึง เปาโลพูดกับพวกเขาว่า “พวกคุณรู้ดีว่าตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาในแคว้นเอเชีย ผมใช้ชีวิตยังไงตลอดเวลาที่อยู่กับพวกคุณ ผมทำงานหนักรับใช้ผู้เป็นนายด้วยความถ่อมตัวทั้งน้ำตา แล้วยังต้องทนความลำบากจากแผนร้ายต่าง ๆ ของพวกยิว และพวกคุณก็รู้ว่าผมไม่เคยลังเลที่จะบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพวกคุณ และยังสอนพวกคุณทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านด้วย ผมอธิบายอย่างละเอียดให้ทั้งคนยิวและคนกรีกเข้าใจว่าพวกเขาต้องกลับใจ แล้วหันมาหาพระเจ้า และเชื่อในพระเยซูผู้เป็นนายของเรา”—กจ. 20:18-21
15. การประกาศตามบ้านมีข้อดีอะไรบ้าง?
15 ในทุกวันนี้เราใช้หลายวิธีเพื่อจะประกาศกับผู้คน เราทำแบบเดียวกับเปาโลโดยพยายามไปประกาศในที่ที่จะเจอผู้คน เช่น ที่ป้ายรถเมล์ ที่ถนนหรือที่ตลาด แต่ถึงอย่างนั้น การไปประกาศตามบ้านก็ยังคงเป็นวิธีหลักที่พยานพระยะโฮวาใช้อยู่ เหตุผลหนึ่งที่เราทำแบบนี้ เพราะการประกาศตามบ้านทำให้ผู้คนมีโอกาสได้ยินข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ ซึ่งนี่เป็นวิธีที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าไม่ลำเอียง และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือการประกาศตามบ้านยังช่วยให้คนที่จริงใจและอยากเรียนรู้ได้รับความช่วยเหลือตามที่จำเป็น เพื่อเขาจะมารู้จักพระเจ้า นอกจากนั้น งานประกาศตามบ้านยังช่วยให้ผู้ประกาศมีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้นและเรียนรู้ที่จะอดทน จริง ๆ แล้ว ผู้คนในทุกวันนี้จะรู้ว่าเราเป็นคริสเตียนแท้ ก็โดยดูจากการประกาศด้วยความกระตือรือร้นของพวกเราทั้งใน “ที่สาธารณะและตามบ้าน”
16, 17. เปาโลแสดงยังไงว่าเขาเป็นคนกล้าหาญและไม่กลัว และคริสเตียนในทุกวันนี้จะเลียนแบบเปาโลได้ยังไง?
16 เปาโลบอกกับผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสว่า เขาเองไม่รู้ว่ามีอันตรายอะไรบ้างรออยู่เมื่อกลับไปที่กรุงเยรูซาเล็ม เปาโลพูดว่า “แต่ผมไม่ถือว่าชีวิตผมสำคัญ ขอแค่ผมได้วิ่งจนถึงเส้นชัยและทำงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมายจากพระเยซูผู้เป็นนายให้สำเร็จ คือประกาศข่าวดีเรื่องความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าให้ทั่วถึง” (กจ. 20:24) เปาโลกล้าหาญจริง ๆ ถึงแม้เขาจะสุขภาพไม่ค่อยดีและเจอการต่อต้านอย่างรุนแรง แต่เขาก็ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้เขาเลิกรับใช้พระยะโฮวาและเลิกทำงานให้พระองค์
17 ในทุกวันนี้ พวกเราก็เจอกับปัญหาหลายอย่างเหมือนกัน บางคนเจอการสั่งห้ามและการข่มเหงจากรัฐบาล บางคนก็สุขภาพไม่ดีหรือต้องรับมือกับความเจ็บป่วยทางด้านอารมณ์ด้วย แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ นอกจากนั้น เด็กวัยรุ่นคริสเตียนต้องรับมือกับเพื่อนที่โรงเรียนที่อาจกดดันให้พวกเขาทำสิ่งไม่ดี แต่ไม่ว่าเราจะต้องเจอกับอะไร พยานพระยะโฮวาก็ตั้งใจที่จะทำแบบเดียวกับเปาโล คือ ‘ประกาศข่าวดีอย่างละเอียดถี่ถ้วน’ ต่อไปไม่หยุด
“ให้พวกคุณเอาใจใส่ตัวเองและฝูงแกะ” (กิจการ 20:25-38)
18. เปาโลทำอะไรเพื่อจะไม่ต้องรับผิดชอบการตายของคนอื่น และผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสจะทำแบบนั้นได้ยังไง?
18 ต่อจากนั้น เปาโลให้คำแนะนำที่ชัดเจนกับผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัส เปาโลเตือนพวกเขาให้นึกถึงวิธีที่เปาโลทำเพื่อดูแลประชาคม เปาโลเริ่มโดยบอกพวกเขาว่า นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เจอเปาโล แล้วเปาโลก็พูดต่อว่า “ถ้ามีใครไม่รอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้ เพราะผมได้ทุ่มเทตัวบอกพวกคุณทุกสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ” ผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสจะเลียนแบบเปาโลได้ยังไงเพื่อจะไม่ต้องรับผิดชอบการตายของคนอื่น? เปาโลบอกพวกเขาว่า “ให้พวกคุณเอาใจใส่ตัวเองและฝูงแกะที่พลังบริสุทธิ์ตั้งพวกคุณให้เป็นผู้ดูแล และให้คอยดูแลประชาคมของพระเจ้าที่พระองค์ซื้อไว้ด้วยเลือดของลูกของพระองค์เอง” (กจ. 20:26-28) เปาโลเตือน ว่า “หมาป่าที่ดุร้าย” จะเข้ามาในประชาคมและ “พูดบิดเบือนความจริงเพื่อชักจูงพวกสาวกให้ติดตามพวกเขาไป” แล้วผู้ดูแลควรทำยังไง? เปาโลบอกว่า “ดังนั้น พวกคุณต้องตื่นตัวไว้ และอย่าลืมว่าตลอด 3 ปี ผมได้เตือนสติพวกคุณแต่ละคนด้วยน้ำตาทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด”—กจ. 20:29-31
19. พอถึงปลายศตวรรษแรก การทรยศพระเจ้าได้เริ่มต้นยังไง และมีอะไรเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น?
19 ประมาณ 60 ปีหลังจากที่พระเยซูเสียชีวิต ก็มี “หมาป่าที่ดุร้าย” เข้ามาในประชาคม ในช่วงปี ค.ศ. 98 อัครสาวกยอห์นได้เขียนว่า “มีผู้ต่อต้านพระคริสต์อยู่แล้วหลายคน . . . พวกเขาเคยอยู่กับเราแต่ทิ้งเราไป เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นพวกเดียวกับเรา ถ้าพวกเขาเป็นพวกเดียวกับเรา พวกเขาก็คงยังอยู่กับเรา” (1 ยน. 2:18, 19) หลังจากพระเยซูตายประมาณ 200 ปี พวกผู้ดูแลที่ทรยศพระเจ้าได้มองว่าตัวเองพิเศษกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ในประชาคม และหลังจากพระเยซูตายประมาณ 300 ปี จักรพรรดิคอนสแตนตินได้สนับสนุนคริสเตียนปลอมอย่างเปิดเผยและทำให้พวกเขาเป็นศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมาย พวกผู้นำศาสนาที่ทรยศพระเจ้าเหล่านี้ได้ “พูดบิดเบือนความจริง” พวกเขาเอาคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลไปปะปนกับความเชื่อและธรรมเนียมนอกรีต คนกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นคริสต์ศาสนจักร ผู้คนที่ไปโบสถ์ทุกวันนี้ก็ยังทำตามความคิดและธรรมเนียมผิด ๆ เหล่านั้น
20, 21. เปาโลแสดงน้ำใจเสียสละยังไง และคริสเตียนผู้ดูแลในทุกวันนี้จะทำแบบเดียวกันได้ยังไง?
20 เปาโลไม่เหมือนกับพวกผู้ดูแลเหล่านั้นที่ชอบหาผลประโยชน์จากพี่น้องในประชาคม เปาโลทำงานหาเลี้ยงตัวเองเพื่อจะไม่เป็นภาระของพี่น้อง สิ่งที่เปาโลทำเพื่อพี่น้องไม่ได้เป็นการหาผลประโยชน์ใส่ตัว เปาโลกระตุ้นผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสให้แสดงน้ำใจเสียสละ เขาบอกว่า “พวกคุณต้อง . . . ช่วยคนที่อ่อนแอ และอย่าลืมสิ่งที่พระเยซูผู้เป็นนายเคยพูดไว้ว่า ‘การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ’”—กจ. 20:35
21 คริสเตียนผู้ดูแลในทุกวันนี้มีน้ำใจเสียสละเหมือนกับเปาโล ตรงกันข้าม พวกนักเทศน์นักบวชในคริสต์ศาสนจักรคอยปอกลอกฝูงแกะของตัวเอง คนที่ได้รับมอบหมายให้ “คอยดูแลประชาคมของพระเจ้า” จะทำหน้าที่ของเขาอย่างไม่เห็นแก่ตัว ไม่ควรมีความหยิ่งและความทะเยอทะยานในประชาคมคริสเตียน เพราะในที่สุด คนเหล่านั้นที่ “หาเกียรติยศใส่ตัวก็จะไม่ได้รับเกียรติ” การทำเกินสิทธิ์มีแต่จะนำไปสู่ความอับอาย—สภษ. 11:2; 25:27
22. อะไรทำให้พี่น้องผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสรักเปาโล?
22 ความรักแท้ที่เปาโลมีต่อพี่น้องทำให้พี่น้องรักเขา ที่จริง เมื่อถึงเวลาที่เปาโลจะจากไป “ทุกคนร้องไห้กันใหญ่ แล้วพวกเขาก็กอดและจูบลาเปาโล” (กจ. 20:37, 38) คริสเตียนเห็นค่าและรักพี่น้องที่เลียนแบบตัวอย่างของเปาโล พี่น้องเหล่านั้นเสียสละอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์ของฝูงแกะ หลังจากทบทวนดูตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของเปาโลแล้ว คุณคงจะเห็นด้วยว่า เปาโลไม่ได้โอ้อวดหรือพูดเกินจริงตอนที่เขาบอกว่า “ถ้ามีใครไม่รอด ก็จะมาโทษผมไม่ได้”—กจ. 20:26
a ดูกรอบ “ จดหมายของเปาโลจากแคว้นมาซิโดเนีย”
b เปาโลอาจเขียนจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม ในช่วงการเยี่ยมเมืองโครินธ์ครั้งนี้
c ดูกรอบ “ เปาโลส่งมอบของบริจาคเพื่อบรรเทาทุกข์”
d ในกิจการ 20:5, 6 ลูกาใช้คำว่า “พวกเรา” ซึ่งหมายความว่า เปาโลไปรับลูกาจากเมืองฟีลิปปีระหว่างที่เขาเดินทางไปเมืองโตรอัส—กจ. 16:10-17, 40