บท 4
“คนธรรมดาไม่มีการศึกษา”
พวกอัครสาวกแสดงความกล้าหาญ และพระยะโฮวาอวยพรพวกเขา
จากกิจการ 3:1–5:11
1, 2. เปโตรกับยอห์นได้ทำการอัศจรรย์อะไรใกล้ประตูวิหาร?
แสงตะวันยามบ่ายสาดส่องอยู่เหนือฝูงชน ชาวยิวที่เลื่อมใสพระเจ้าและพวกสาวกของพระคริสต์ต่างก็เดินเข้าไปในลานวิหาร อีกไม่นานก็จะเป็น “เวลาสำหรับอธิษฐาน” a (กจ. 2:46; 3:1) เปโตรและยอห์นเดินท่ามกลางฝูงชนไปที่ประตูวิหารซึ่งมีชื่อเรียกว่าประตูงาม ขณะที่มีเสียงผู้คนคุยกันเซ็งแซ่และเสียงฝีเท้าของพวกเขา ขอทานคนหนึ่งในวัยกลางคนซึ่งพิการมาตั้งแต่เกิดกำลังร้องขอทานอยู่—กจ. 3:2; 4:22
2 ตอนที่เปโตรกับยอห์นเดินเข้ามาใกล้ ขอทานคนนั้นก็ร้องขอเงินซ้ำแล้วซ้ำอีก พอพวกอัครสาวกหยุดดูเขา ขอทานที่หวังจะได้เงินก็มองพวกเขาด้วยความสนใจ เปโตรพูดว่า “เงินทองผมไม่มีหรอก แต่ผมมีอย่างอื่นจะให้ ในนามของพระเยซูคริสต์ชาวนาซาเร็ธ ลุกขึ้นเดินเถอะ” ลองนึกภาพว่าฝูงชนจะตกตะลึงแค่ไหนตอนที่เปโตรจับมือชายพิการคนนั้น แล้วเขาก็ลุกยืนตัวตรงเป็นครั้งแรกในชีวิต! (กจ. 3:6, 7) คุณนึกภาพออกไหมตอนที่ผู้ชายคนนี้จ้องดูขาตัวเองซึ่งได้รับการรักษาให้หายและค่อย ๆ เริ่มเดินเป็นครั้งแรก? ไม่น่าแปลกใจที่เขาเริ่มกระโดดโลดเต้นไปมาและร้องสรรเสริญพระเจ้าเสียงดัง
3. สิ่งยอดเยี่ยมอะไรที่ชายพิการและฝูงชนอาจได้รับ?
3 ฝูงชนรู้สึกตื่นเต้นและวิ่งไปหาเปโตรกับยอห์นที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอน ตรงนี้แหละเป็นที่ที่พระเยซูเคยยืนสอน เปโตรอธิบายให้ฝูงชนรู้ว่าเขาได้รับอำนาจให้ทำการอัศจรรย์จากไหน (ยน. 10:23) นอกจากนั้น เปโตรยังเสนอสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทองและการรักษาอย่างอัศจรรย์ให้กับฝูงชน สิ่งนี้มีค่ามากกว่าโอกาสที่จะได้รับการรักษาทางร่างกายในตอนนั้น สิ่งที่เปโตรเสนอคืออะไร? คือโอกาสที่จะกลับใจเพื่อบาปของพวกเขาจะถูกลบล้าง และเพื่อจะมาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้เป็น “ผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิต”—กจ. 3:15
4. (ก) การรักษาอย่างอัศจรรย์ทำให้พวกผู้มีอำนาจต่อต้านยังไง? (ข) เราจะตอบคำถามสองข้ออะไร?
4 วันนั้นมีเหตุการณ์หลายอย่างที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ เปโตรรักษาผู้ชายคนหนึ่งจนเขาเดินได้ และยังช่วยให้ผู้คนอีกหลายพันคนมีโอกาสเข้าใจความต้องการของพระเจ้าเพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในแบบที่พระองค์พอใจ (คส. 1:9, 10) นอกจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นยังทำ ให้พวกผู้มีอำนาจต่อต้านสาวกที่ภักดีของพระเยซู เพื่อพวกเขาจะไม่สามารถทำงานประกาศได้อย่างประสบความสำเร็จ (กจ. 1:8) พวกผู้มีอำนาจมองว่าเปโตรกับยอห์นเป็น “คนธรรมดาไม่มีการศึกษา” b (กจ. 4:13) แต่เราจะเรียนอะไรได้จากวิธีที่สองคนนี้ประกาศ? และเราจะเลียนแบบวิธีที่พวกเขาและสาวกคนอื่นรับมือกับการต่อต้านได้ยังไง?
ไม่ใช่ “ด้วยอำนาจของเราเอง” (กิจการ 3:11-26)
5. เราเรียนอะไรได้จากวิธีที่เปโตรพูดกับฝูงชน?
5 เปโตรกับยอห์นยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชน พวกเขารู้ว่าบางคนซึ่งอยู่ที่นั่นอาจเป็นคนที่ร้องตะโกนให้เอาพระเยซูไปประหารเมื่อไม่นานมานี้ (มก. 15:8-15; กจ. 3:13-15) เปโตรต้องกล้าหาญมากที่พูดว่าผู้ชายที่พิการคนนี้ได้รับการรักษาในนามของพระเยซู เปโตรบอกความจริงอย่างกล้าหาญ เขาบอกชัดเจนว่าฝูงชนเหล่านี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของพระเยซู แต่เปโตรไม่ได้โกรธพวกเขา เปโตรรู้ว่าพวกเขา “ทำอย่างนั้นไปเพราะไม่รู้” (กจ. 3:17) เปโตรเรียกพวกเขาว่าพี่น้อง และพยายามเน้นข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ถ้าพวกเขากลับใจและแสดงความเชื่อในพระเยซู พวกเขาก็ “จะได้รับความสดชื่น” จากพระยะโฮวา (กจ. 3:19) พวกเราก็เหมือนกัน เราต้องกล้าหาญและพูดอย่างตรงไปตรงมาตอนที่ประกาศเรื่องการพิพากษาของพระเจ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรเป็นคนก้าวร้าวและตัดสินคนอื่น แทนที่จะทำอย่างนั้น เราควรมองว่าทุกคนที่เราประกาศอาจเข้ามาเป็นพี่น้องของเรา และเหมือนกับเปโตร เราควรพยายามพูดถึงข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า
6. เปโตรกับยอห์นแสดงความถ่อมตัวยังไง?
6 พวกอัครสาวกเป็นคนถ่อมตัว พวกเขาไม่ได้อ้างว่าทำการอัศจรรย์นั้นเอง เปโตรพูดกับฝูงชนว่า “ทำไมจ้องเราสองคนเหมือนกับว่าเราเป็นคนทำให้เขาเดินได้ด้วยอำนาจของเราเอง หรือเป็นเพราะศรัทธาแรงกล้าของเราอย่างนั้นแหละ” (กจ. 3:12) เปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ รู้ดีว่าทุกอย่างที่พวกเขาทำได้มาจากอำนาจของพระเจ้า ไม่ได้มาจากความสามารถของพวกเขา นี่ทำให้พวกเขาถ่อมตัวและอยากให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวากับพระเยซู
7, 8. (ก) เราสามารถช่วยผู้คนให้ได้รับสิ่งยอดเยี่ยมอะไร? (ข) คำสัญญาที่ว่า “ทุกสิ่งจะได้รับการฟื้นฟู” เกิดขึ้นจริงยังไงในทุกวันนี้?
7 เราต้องแสดงความถ่อมตัวแบบเดียวกันตอนที่ทำงานประกาศ จริงที่พระเจ้าไม่ได้ให้อำนาจคริสเตียนในทุกวันนี้รักษาโรคโดยการอัศจรรย์ แต่เราก็สามารถช่วยผู้คนให้มีความเชื่อในพระเจ้าและพระคริสต์ และได้รับสิ่งยอดเยี่ยมเหมือนกับที่เปโตรได้เสนอให้กับชาวยิว สิ่งนั้นคือโอกาสที่พวกเขาจะได้รับการอภัยบาปและได้รับความสดชื่นจากพระยะโฮวา แต่ละปี มีคนหลายแสนคนตอบรับและเข้ามาเป็นสาวกที่รับบัพติศมาของพระคริสต์
8 ที่จริง เหมือนที่เปโตรบอกไว้ เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ “ทุกสิ่งจะได้รับการฟื้นฟู” รัฐบาลของพระเจ้าปกครองแล้วในสวรรค์ตั้งแต่ปี 1914 ตามที่ “พระเจ้าบอกไว้ผ่านทางพวกผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ตั้งแต่สมัยโบราณ” (กจ. 3:21; สด. 110:1-3; ดนล. 4:16, 17) หลังจากนั้นไม่นาน พระเยซูก็เริ่มดูแลงานฟื้นฟูการนมัสการแท้บนโลก ผลก็คือ คนนับล้านได้เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลนี้ และนมัสการพระองค์อย่างมีสันติสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน คนเหล่านี้ได้ทิ้งลักษณะนิสัยเก่า และ “ปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นตามที่พระเจ้าต้องการ” (อฟ. 4:22-24) เหมือนกับที่พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าได้ช่วยขอทานพิการให้หายเป็นปกติ พลังบริสุทธิ์เดียวกันนี้ก็มีส่วนช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงตัวเองและปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่ งานนี้สำเร็จได้ไม่ใช่โดยความพยายามของมนุษย์ นอกจากนั้น เหมือนกับเปโตร เราต้องใช้ถ้อยคำของพระเจ้าในการสอนคนอื่นอย่างกล้าหาญและมีประสิทธิภาพ เมื่อเราช่วยใครให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์ นั่นก็เป็นเพราะอำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่ความสามารถของตัวเราเอง
‘พวกเราจะหยุดพูดไม่ได้’ (กิจการ 4:1-22)
9-11. (ก) พวกผู้นำชาวยิวมีปฏิกิริยายังไงต่อข่าวสารของเปโตรและยอห์น? (ข) พวกอัครสาวกตั้งใจจะทำยังไง?
9 ทั้งคำบรรยายของเปโตรและการได้เห็นผู้ชายพิการกระโดดโลดเต้นพร้อมกับส่งเสียงร้องด้วยความยินดี คงทำให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายอย่างมาก นี่ทำให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารที่คอยดูแลความปลอดภัยพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่รีบเข้ามาสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้คงจะเป็นพวกสะดูสี ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งที่ร่ำรวยและมีอำนาจทางการเมือง พวกสะดูสีพยายามรักษาสัมพันธไมตรีกับพวกโรมัน พวกเขาปฏิเสธกฎหมายสืบปากที่พวกฟาริสีชื่นชอบ และไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย c นี่ทำให้พวกเขาไม่พอใจมากที่เห็นเปโตรกับยอห์นสอนอยู่ในวิหารอย่างกล้าหาญว่าพระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว
10 พวกผู้ต่อต้านที่โกรธแค้นได้จับเปโตรและยอห์นขังคุกและลากพวกเขามาอยู่ต่อหน้าศาลสูงของยิวในวันรุ่งขึ้น พวกผู้มีอำนาจปกครองซึ่งถือว่าตัวเองเหนือกว่ามองเปโตรและยอห์นว่าเป็น “คนธรรมดาไม่มีการศึกษา” พวกเขาคิดว่าเปโตรและยอห์นไม่มีสิทธิ์จะสอนในวิหาร เพราะทั้งสองไม่ได้ศึกษาในโรงเรียนศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับ แต่ถึงอย่างนั้น เปโตรและยอห์นก็พูดอย่างกล้าหาญและมั่นใจจนทำให้ศาลนั้นรู้สึกประหลาดใจ อะไรทำให้พวกเขาพูดด้วยความมั่นใจขนาดนั้น? เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ “สองคนนี้เคยอยู่กับพระเยซู” (กจ. 4:13) นายของพวกเขาสอนแบบคนที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้าจริง ๆ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับพวกครูสอนศาสนา—มธ. 7:28, 29
11 ศาลนั้นออกคำสั่งให้พวกอัครสาวกหยุดประกาศ ในสังคมตอนนั้น ศาลมีอำนาจมาก ไม่นานก่อนหน้านั้น พระเยซูก็ถูกศาลนี้ตัดสินให้ “ต้องตายสถานเดียว” (มธ. 26:59-66) แต่ ถึงอย่างนั้น เปโตรกับยอห์นก็ไม่กลัว ตอนยืนอยู่ต่อหน้าผู้ชายเหล่านี้ที่มีอิทธิพล ร่ำรวย และมีการศึกษาดี เปโตรกับยอห์นได้ประกาศอย่างกล้าหาญ แต่ก็พูดด้วยความนับถือว่า “พระเจ้าจะมองว่าถูกต้องไหมถ้าพวกเราเชื่อฟังพวกคุณแทนที่จะเชื่อฟังพระเจ้า พวกคุณคิดดูเองก็แล้วกัน แต่พวกเราจะหยุดพูดเรื่องที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้”—กจ. 4:19, 20
12. อะไรจะช่วยเราให้กล้าหาญและมั่นใจมากขึ้น?
12 คุณสามารถแสดงความกล้าหาญแบบเดียวกันนี้ไหม? คุณรู้สึกยังไงเมื่อมีโอกาสประกาศกับคนรวย คนที่มีการศึกษาสูง หรือคนที่มีอิทธิพลในชุมชนของคุณ? จะว่ายังไงถ้าสมาชิกในครอบครัว เพื่อนนักเรียน หรือเพื่อนร่วมงานเยาะเย้ยความเชื่อของคุณ? คุณกลัวไหม? ถ้ากลัว คุณสามารถเอาชนะความรู้สึกนี้ได้ ตอนที่อยู่บนโลก พระเยซูสอนอัครสาวกว่าพวกเขาจะปกป้องความเชื่อด้วยความมั่นใจและความนับถือยังไง (มธ. 10:11-18) และหลังจากฟื้นขึ้นจากตายแล้ว พระเยซูได้สัญญากับพวกสาวกว่า ท่านจะอยู่กับพวกเขา “เสมอจนถึงสมัยสุดท้ายของโลกนี้” (มธ. 28:20) นอกจากนั้น ภายใต้การชี้นำของพระเยซู “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” สอนให้เรารู้วิธีปกป้องความเชื่อของเรา (มธ. 24:45-47; 1 ปต. 3:15) มีการสอนแบบนั้นที่การประชุมในส่วนชีวิตและงานรับใช้ของคริสเตียน และยังมีหนังสือกับบทความต่าง ๆ เช่น “ถาม-ตอบเรื่องคัมภีร์ไบเบิล” ในเว็บไซต์ jw.org คุณใช้ประโยชน์จากการจัดเตรียมเหล่านี้ไหม? ถ้าใช่ คุณก็จะมีความกล้าหาญและความมั่นใจมากขึ้น และคุณก็จะเป็นเหมือนพวกอัครสาวก คือคุณจะไม่ยอมให้อะไรมาทำให้คุณหยุดพูดเรื่องความจริงอันยอดเยี่ยมในคัมภีร์ไบเบิลที่คุณได้เรียนรู้มา
“พวกเขาจึงพร้อมใจกันอธิษฐานถึงพระเจ้า” (กิจการ 4:23-31)
13, 14. เราควรทำยังไงเมื่อเจอการต่อต้าน และเพราะอะไร?
13 ทันทีหลังจากถูกปล่อยตัวจากการคุมขัง เปโตรกับยอห์นได้ไปพบคนอื่น ๆ ในประชาคม ‘พวกเขาพร้อมใจกันอธิษฐานถึงพระเจ้า’ และอธิษฐานขอความกล้าหาญที่จะประกาศต่อไป (กจ. 4:24) เปโตรรู้ดีว่า เพื่อจะทำสิ่งที่พระเจ้าต้องการ เขาไม่สามารถพึ่งกำลังของตัวเอง ที่จริง ไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านั้น เขาได้พูดกับพระเยซูด้วยความมั่นใจมากว่า “ถึงทุกคนจะทิ้งท่านไปหมดเพราะเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับท่าน แต่ผมจะไม่มีวันทิ้งท่านเลย” แต่เหมือนที่พระเยซูได้บอก ไว้ล่วงหน้า เปโตรยอมแพ้ให้กับความกลัว และถึงกับปฏิเสธพระเยซูผู้ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและเป็นอาจารย์ของเขา อย่างไรก็ดี เปโตรเรียนจากความผิดพลาดของตัวเอง—มธ. 26:33, 34, 69-75
14 จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่า ถ้าเราอยากทำงานประกาศต่อ ๆ ไป การมีความตั้งใจแน่วแน่อย่างเดียวไม่พอ ถ้าผู้ต่อต้านพยายามทำลายความเชื่อของคุณหรือพยายามทำให้คุณเลิกประกาศ ขอให้คิดถึงตัวอย่างของเปโตรกับยอห์น อธิษฐานขอกำลังจากพระยะโฮวา ขอความช่วยเหลือจากพี่น้องในประชาคม บอกผู้ดูแลและพี่น้องที่มีความเป็นผู้ใหญ่เกี่ยวกับความยุ่งยากที่คุณเจอ คำอธิษฐานของพวกเขาจะช่วยคุณให้มีกำลัง—อฟ. 6:18; ยก. 5:16
15. ทำไมคนที่เคยเลิกประกาศไประยะหนึ่งไม่ควรรู้สึกท้อแท้?
15 ถ้าในอดีตคุณเคยเลิกประกาศไประยะหนึ่งเพราะถูกกดดันหรือถูกต่อต้าน ก็อย่าท้อแท้กับเรื่องนั้น จำไว้ว่า หลังจากพระเยซูตาย อัครสาวกทั้งหมดก็เคยเลิกประกาศไประยะหนึ่ง แต่ไม่ช้าก็กลับมาเอาการเอางานอีก (มธ. 26:56; 28:10, 16-20) ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตทำให้คุณท้อ คุณจะเอาประสบการณ์และสิ่งที่คุณได้เรียนรู้มาใช้เพื่อช่วยคนอื่นได้ไหม?
16, 17. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับคำอธิษฐานของพวกสาวกของพระคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็ม?
16 เราควรอธิษฐานขออะไรเมื่อคนที่มีอำนาจกดขี่เรา? ขอสังเกตว่า พวกสาวกไม่ได้ขอให้พวกเขาพ้นจากการทดสอบ พวกเขาจำได้ดีถึงคำพูดของพระเยซูที่บอกว่า “ถ้าพวกเขาข่มเหงผม พวกเขาจะข่มเหงพวกคุณด้วย” (ยน. 15:20) แทนที่จะอธิษฐานแบบนั้น พวกสาวกที่ภักดีเหล่านี้ได้ขอให้ ‘พระยะโฮวาดู’ การข่มขู่ของพวกผู้ต่อต้าน (กจ. 4:29) พวกสาวกรู้ดีว่า ความประสงค์ของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พวกเขาเข้าใจว่าการถูกข่มเหงมีส่วนทำให้คำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริง และเหมือนกับที่พระเยซูเคยสอนเกี่ยวกับการอธิษฐาน พวกสาวกรู้ว่าความประสงค์ของพระเจ้าจะเกิดขึ้นจริงไม่ว่าผู้มีอำนาจปกครองที่เป็นแค่มนุษย์จะพูดอะไรก็ตาม—มธ. 6:9, 10
17 เพื่อจะทำตามความประสงค์ของพระเจ้า พวกสาวกได้อธิษฐานว่า “ขอช่วยพวกเราที่เป็นทาสของพระองค์ให้กล้าประกาศคำสอนของพระองค์ต่อไป” พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานนี้อย่างรวดเร็วยังไง? “ที่ที่พวกเขาประชุมกันก็สั่นสะเทือน พวกเขาทุกคนเต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า และประกาศคำสอนของ พระองค์ต่อไปอย่างกล้าหาญ” (กจ. 4:29-31) ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งความประสงค์ของพระเจ้าได้ (อสย. 55:11) ไม่ว่าเราจะดูเสียเปรียบแค่ไหน หรือศัตรูของเราจะดูมีอำนาจมากแค่ไหน ถ้าเราอธิษฐาน เราก็มั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะให้กำลังกับเราเพื่อจะประกาศต่อไปด้วยความกล้าหาญ
ให้การไม่ใช่ต่อมนุษย์ แต่ต่อพระเจ้า (กิจการ 4:32–5:11)
18. สมาชิกของประชาคมในเยรูซาเล็มดูแลกันและกันยังไง?
18 ในไม่ช้าประชาคมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในเยรูซาเล็มก็มีสมาชิกที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นจนมีมากกว่า 5,000 คน d ทั้ง ๆ ที่มีภูมิหลังหลากหลาย แต่พวกสาวกก็มี “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” มีจิตใจและแนวความคิดอย่างเดียวกัน (กจ. 4:32; 1 คร. 1:10) พวกสาวกไม่ได้แค่อธิษฐานขอพระยะโฮวาให้อวยพรความพยายามของพวกเขา แต่พวกเขายังช่วยเหลือกันทั้งทางความเชื่อและทางวัตถุ (1 ยน. 3:16-18) ตัวอย่างเช่น สาวกคนหนึ่งชื่อโยเซฟที่พวกอัครสาวกเรียกว่าบาร์นาบัสได้ขายที่ดินของตัวเอง แล้วบริจาคเงินทั้งหมดอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อช่วยคนที่มาจากดินแดนห่างไกลให้พักอยู่ในเยรูซาเล็มต่อไปได้ การทำอย่างนั้นช่วยพวกเขาให้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อใหม่ของพวกเขา
19. ทำไมพระยะโฮวาลงโทษให้อานาเนียกับสัปฟีราถึงแก่ความตาย?
19 สามีภรรยาคู่หนึ่งชื่ออานาเนียกับสัปฟีราได้ขายที่ดินและบริจาคเงินด้วย พวกเขาทำเหมือนกับว่าได้ให้เงินค่าที่ดินทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ “แอบเก็บเงินไว้บางส่วน” (กจ. 5:2) พระยะโฮวาลงโทษสามีภรรยาคู่นี้ให้ถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เพราะพวกเขาบริจาคเงินไม่มากพอ แต่เพราะพวกเขาบริจาคด้วยแรงกระตุ้นที่ผิด และยังหลอกลวงพวกอัครสาวก ที่จริง ทั้งสองคน ‘ไม่ได้แค่โกหกมนุษย์ แต่กำลังโกหกพระเจ้า’ (กจ. 5:4) เหมือนกับพวกคนหน้าซื่อใจคดที่พระเยซูเคยตำหนิ อานาเนียกับสัปฟีราพยายามทำดีเพื่อให้คนอื่นมายกย่อง แต่ไม่ได้พยายามทำดีเพื่อให้พระเจ้าพอใจ—มธ. 6:1-3
20. เราได้บทเรียนอะไรเรื่องการให้กับพระยะโฮวา?
20 เหมือนกับพวกสาวกที่ซื่อสัตย์ในเยรูซาเล็มศตวรรษแรก พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนในปัจจุบันสนับสนุนงานประกาศทั่วโลกโดยการบริจาคด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับให้สละเวลาหรือเงินเพื่อสนับสนุนงานนี้ ที่จริง พระยะโฮวาไม่อยากให้เรารับใช้พระองค์แบบฝืนใจหรือเพราะถูกบังคับ (2 คร. 9:7) เราควรจำไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพระยะโฮวา ไม่ใช่จำนวนเงินที่เราให้ แต่เป็นเจตนาในการให้ของเรา (มก. 12:41-44) เราไม่อยากเป็นเหมือนอานาเนียกับสัปฟีรา คือยอมให้ความเห็นแก่ตัวหรือการอยากให้คนอื่นยกย่องมากระตุ้นเราให้รับใช้พระเจ้า แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราน่าจะเป็นเหมือนเปโตร ยอห์น และบาร์นาบัส พวกเขารับใช้พระยะโฮวาเพราะรักพระองค์และรักคนอื่น—มธ. 22:37-40
a มีการอธิษฐานที่วิหารพร้อมกับการถวายเครื่องบูชาตอนเช้าและตอนเย็น การถวายเครื่องบูชาตอนเย็นจะทำกันประมาณบ่ายสามโมง
b ดูกรอบ “ เปโตร—จากชาวประมงมาเป็นอัครสาวกที่ขยัน” และ “ ยอห์น—สาวกที่พระเยซูรัก”
c ดูกรอบ “ มหาปุโรหิตและพวกปุโรหิตใหญ่”
d ในกรุงเยรูซาเล็มปี ค.ศ. 33 อาจมีพวกฟาริสีแค่ประมาณ 6,000 คนและพวกสะดูสีก็อาจมีจำนวนน้อยกว่านั้น คนทั้งสองกลุ่มนี้อยากรักษาอำนาจที่พวกเขามี พวกเขาจึงไม่ชอบให้พวกสาวกประกาศคำสอนของพระเยซู