บท 5
“พระเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุด พวกเราต้องเชื่อฟังพระเจ้า”
อัครสาวกวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับคริสเตียนแท้ทุกคน
จากกิจการ 5:12–6:7
1-3. (ก) ทำไมพวกอัครสาวกถึงถูกพาตัวมาอยู่ต่อหน้าสภาแซนเฮดริน และคำถามสำคัญคืออะไร? (ข) ทำไมเราสนใจอย่างมากว่าพวกอัครสาวกรับมือยังไง?
พวกผู้พิพากษาในศาลแซนเฮดรินโกรธมาก พวกอัครสาวกของพระเยซูกำลังถูกพิจารณาคดีต่อหน้าศาลสูงนี้ ทำไมพวกเขาถึงถูกพิจารณาคดี? โยเซฟ เคยาฟาส มหาปุโรหิตและประธานของสภาแซนเฮดรินกล่าวต่อพวกเขาอย่างหนักแน่นว่า “เราสั่งพวกคุณแล้วว่าไม่ให้สอนในนามของคนนั้นอีก” ประธานศาลคนนี้โกรธจนไม่อยากเอ่ยชื่อของพระเยซูด้วยซ้ำ เคยาฟาสกล่าวต่อไปว่า “แต่พวกคุณกลับแพร่คำสอนของพวกคุณไปทั่วกรุงเยรูซาเล็ม และตั้งใจจะกล่าวหาพวกเราว่ามีความผิดที่ทำให้คนนั้นต้องตาย” (กจ. 5:28) พวกเขาต้องการจะบอกอัครสาวกว่า หยุดประกาศ ไม่อย่างนั้นจะถูกลงโทษ!
2 พวกอัครสาวกทำยังไงเมื่อได้ยินคำสั่งนี้? การประกาศเป็นหน้าที่มอบหมายที่พวกเขาได้รับจากพระเยซู ผู้ซึ่งได้รับอำนาจจากพระเจ้า (มธ. 28:18-20) พวกอัครสาวกจะยอมแพ้และเลิกประกาศไหม? หรือว่าพวกเขาจะประกาศต่อไปอย่างกล้าหาญ? คำถามสำคัญคือ พวกเขาจะเชื่อฟังพระเจ้าหรือมนุษย์? อัครสาวกเปโตรพูดแทนอัครสาวกคนอื่นทั้งหมดโดยไม่ลังเล คำพูดของเขาชัดเจนและกล้าหาญ
3 พวกเราที่เป็นคริสเตียนแท้ เราสนใจอย่างมากว่าพวกอัครสาวกรับมือยังไงกับการข่มขู่ของสภาแซนเฮดริน พวกเราก็ได้รับมอบหมายให้ประกาศด้วย และตอนที่ทำงานมอบหมายนี้ เราเองก็จะเจอกับการต่อต้านด้วยเหมือนกัน (มธ. 10:22) พวกผู้ต่อต้านอาจพยายามทำให้งานประกาศเป็นเรื่องยากขึ้นหรือถึงกับสั่งห้ามงานของเรา เมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราจะทำยังไง? การคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกอัครสาวกในอดีตตอนที่พวกเขาถูกพาตัวไปพิจารณาคดีต่อหน้าศาลแซนเฮดริน aจะช่วยเราให้กล้าหาญมากขึ้น
“ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวามาเปิดประตู” (กิจการ 5:12-21)
4, 5. ทำไมเคยาฟาสและพวกสะดูสีจึง “รู้สึกอิจฉา”?
4 เราจำได้ว่าเมื่อถูกสั่งให้หยุดประกาศครั้งแรก เปโตรกับยอห์นตอบว่า “พวกเราจะหยุดพูดเรื่องที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้” (กจ. 4:20) หลังจากถูกพิจารณาคดีในศาลแซนเฮดรินใน ครั้งนั้น เปโตรกับยอห์นและอัครสาวกคนอื่น ๆ ประกาศต่อไปในวิหาร พวกเขาทำการอัศจรรย์มากมาย เช่น รักษาคนป่วยและขับไล่ปีศาจ พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้น “ที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอน” ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของวิหารตรงที่ชาวยิวหลายคนมาชุมนุมกัน ดูเหมือนว่าแม้แต่เงาของเปโตรก็ทำให้คนหายป่วย! หลายคนที่ได้รับการรักษาทางร่างกายได้ตอบรับการสอน และนั่นช่วยพวกเขาให้ได้รับการรักษาทางความเชื่อด้วย ผลก็คือ “คนมากมายทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็เข้ามาเชื่อผู้เป็นนายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”—กจ. 5:12-15
5 เคยาฟาสและพวกสะดูสี ซึ่งเป็นกลุ่มนิกายศาสนาที่เขาสังกัดอยู่ “รู้สึกอิจฉา” จึงจับพวกอัครสาวกเข้าคุก (กจ. 5:17, 18) ทำไมพวกสะดูสีถึงโกรธขนาดนั้น? พวกอัครสาวกสอนว่าพระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว แต่พวกสะดูสีไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย พวกอัครสาวกสอนว่าผู้คนต้องแสดงความเชื่อในพระเยซูถึงจะรอด แต่พวกสะดูสีกลัวว่าจะถูกลงโทษจากโรมถ้าผู้คนหันไปพึ่งพระเยซูในฐานะผู้นำ (ยน. 11:48) จึงไม่น่าแปลกที่พวกสะดูสีพยายามหยุดงานประกาศของพวกอัครสาวก
6. ใครในทุกวันนี้คอยยุยงให้มีการข่มเหงผู้รับใช้ของพระยะโฮวา และทำไมเราไม่ควรแปลกใจเมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น?
6 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เหตุผลหลักที่พยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงก็เพราะพวกผู้นำศาสนาเท็จคอยยุยงคนอื่นให้ทำอย่างนั้น หลายครั้ง พวกเขาชอบใช้อิทธิพลที่ตัวเองมีกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและสื่อมวลชนหยุดงานประกาศของเรา เราควรแปลกใจไหมเมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น? ไม่เลย ข่าวสารที่เราประกาศเปิดโปงศาสนาเท็จซึ่งทำให้คนที่มีหัวใจดีหลายคนยอมรับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาหลุดพ้นจากความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ (ยน. 8:32) เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เราจึงไม่แปลกใจที่หลายครั้งพวกผู้นำศาสนาจะรู้สึกเกลียดชังและข่มเหงเรา
7, 8. คำสั่งของทูตสวรรค์น่าจะทำให้พวกอัครสาวกมั่นใจในเรื่องอะไร? และมีคำถามอะไรที่เราน่าจะถามตัวเอง?
7 ตอนนั่งอยู่ในคุกเพื่อรอการพิจารณาคดี พวกอัครสาวกอาจสงสัยว่าพวกศัตรูจะฆ่าพวกเขา และพวกเขากำลังจะตายเพราะความเชื่อไหม (มธ. 24:9) แต่ตอนกลางคืน มีบางสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวามาเปิดประตูคุก” b (กจ. 5:19) หลังจากนั้นทูตสวรรค์ก็บอกพวกเขาว่า “ไปยืนในวิหารแล้วประกาศ” (กจ. 5:20) คำสั่งนั้นคงทำให้พวกอัครสาวกมั่นใจว่าพวกเขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนั้น คำพูดของทูตสวรรค์ก็น่าจะช่วยพวกเขาให้ประกาศต่อไปแม้ถูกข่มเหง เนื่องจากความเชื่อที่เข้มแข็งและความกล้าหาญ พวกอัครสาวก “ก็เข้าไปในวิหารตั้งแต่เช้าตรู่และสอนอยู่ที่นั่น”—กจ. 5:21
8 เราทุกคนน่าจะถามตัวเองว่า ‘ถ้าต้องเจอสภาพการณ์คล้ายกับพวกอัครสาวก ฉันจะมีความเชื่อและความกล้าหาญมากพอไหมเพื่อจะประกาศต่อไป?’ เราสามารถทำงาน ‘ประกาศ เรื่องรัฐบาลของพระเจ้า’ อย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อไปได้เพราะเรารู้ว่างานที่สำคัญนี้ได้รับการสนับสนุนจากทูตสวรรค์—กจ. 28:23; วว. 14:6, 7
“พระเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุด พวกเราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (กิจการ 5:21ข-33)
9-11. พวกอัครสาวกทำยังไงเมื่อสภาแซนเฮดรินสั่งพวกเขาให้หยุดประกาศ และเรื่องนี้เป็นเป็นตัวอย่างยังไงสำหรับคริสเตียนแท้?
9 ตอนนี้เคยาฟาสและผู้พิพากษาคนอื่น ๆ ของสภาแซนเฮดรินพร้อมจะจัดการกับพวกอัครสาวก โดยไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในคุก ศาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพาตัวนักโทษมา ลองคิดดูสิว่าพวกเจ้าหน้าที่จะตกใจมากแค่ไหนที่ได้เห็นว่าพวกนักโทษหายไปหมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่คุกถูก “ปิดล็อกไว้อย่างแน่นหนาและพวกยามก็ยืนเฝ้าอยู่ตามประตู” (กจ. 5:23) หลังจากนั้นไม่นาน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหารก็รู้ว่าพวกอัครสาวกกลับเข้าไปในวิหารอีก และพวกเขากำลังประกาศเรื่องพระเยซูคริสต์อยู่ ที่จริง งานนี้แหละที่ทำให้พวกเขาถูกจับเข้าคุก! หัวหน้าและพวกเจ้าหน้าที่จึงรีบไปที่วิหารเพื่อพาตัวพวกเขากลับมาที่สภาแซนเฮดริน
10 เหมือนที่ได้เห็นในตอนต้นของบทนี้ พวกผู้นำศาสนาที่โกรธจัดต้องการให้พวกอัครสาวกหยุดประกาศ แต่พวกอัครสาวกทำยังไง? เปโตรพูดแทนพวกอัครสาวกคนอื่น ๆ อย่างกล้าหาญว่า “พระเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุด พวกเราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (กจ. 5:29) พวกอัครสาวกวางตัวอย่างให้กับคริสเตียนแท้ในทุกวันนี้จริง ๆ เมื่อผู้มีอำนาจปกครองที่เป็นมนุษย์ห้ามสิ่งที่พระเจ้าสั่งให้เราทำ หรือสั่งให้เราทำสิ่งที่พระเจ้าห้าม พวกเราจะเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้า ดังนั้น ในสมัยของเรา ถ้า “คนที่มีอำนาจปกครอง” สั่งห้ามงานประกาศ เราก็จะไม่หยุดทำงานนี้เพราะมันเป็นงานที่พระเจ้ามอบหมายให้เราทำ (รม. 13:1) แทนที่จะหยุด เราจะหาวิธีที่สุขุมรอบคอบเพื่อจะประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน
11 ไม่น่าแปลกใจ การที่พวกอัครสาวกตอบอย่างกล้าหาญทำให้พวกผู้พิพากษาโกรธจัด พวกเขาตั้งใจจะ “ฆ่า” พวกอัครสาวก (กจ. 5:33) พวกอัครสาวกคงจะคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องสละชีวิตเพื่อความเชื่อ แต่พระยะโฮวาได้เข้ามาช่วยเหลือในแบบที่น่าทึ่ง!
กิจการ 5:34-42)
“คุณก็ไม่มีทางกวาดล้างพวกเขาได้หรอก” (12, 13. (ก) กามาลิเอลให้คำแนะนำอะไรกับผู้พิพากษาคนอื่น ๆ และพวกเขาได้ทำตามคำแนะนำนั้นยังไง? (ข) พระยะโฮวาอาจช่วยประชาชนของพระองค์ในทุกวันนี้โดยวิธีใด และถ้าเรา “ทนทุกข์เพราะทำสิ่งที่ถูกต้อง” เราก็มั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
12 กามาลิเอล “อาจารย์สอนกฎหมายของโมเสสที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ” พูดปกป้องพวกอัครสาวก c นักกฎหมายคนนี้ได้รับความนับถืออย่างมากจากผู้พิพากษาคนอื่น ๆ ตอนที่เขา “สั่งให้เอาตัวพวกอัครสาวกออกไปข้างนอกก่อน” คนอื่น ๆ ก็ฟังเขา (กจ. 5:34) กามาลิเอลอ้างถึงการกบฏต่อต้านโรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เขาบอกว่าเมื่อผู้นำกบฏตาย แผนการนั้นก็ล้มเหลวไปเอง หลังจากนั้น เขาก็บอกให้พวกผู้พิพากษาอดทนกับพวกอัครสาวกและไม่ต้องไปยุ่งกับพวกเขา เพราะเมื่อไม่นานมานี้พระเยซูผู้นำของพวกเขาตายไปแล้ว สุดท้ายกามาลิเอลให้เหตุผลที่โน้มน้าวใจว่า “อย่าไปยุ่งกับคนพวกนี้เลย ปล่อยพวกเขาไปเถอะ เพราะถ้าแผนการหรืองานของคนพวกนี้มาจากมนุษย์ มันก็จะล้มเหลวไปเอง แต่ถ้ามาจากพระเจ้า คุณก็ไม่มีทางกวาดล้างพวกเขาได้หรอก และจะกลายเป็นว่าคุณกำลังต่อสู้กับพระเจ้า” (กจ. 5:38, 39) พวกผู้พิพากษาทำตามคำแนะนำของเขา แต่พวกเขาได้เฆี่ยนอัครสาวกแล้วสั่ง “ให้เลิกพูดในนามพระเยซู”—กจ. 5:40
13 ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พระยะโฮวาอาจกระตุ้นคนที่มีอำนาจเหมือนกามาลิเอลให้ช่วยประชาชนของพระองค์ (สภษ. 21:1) พระยะโฮวาสามารถใช้พลังบริสุทธิ์กระตุ้นผู้ปกครองที่มีอำนาจ ผู้พิพากษา หรือนักบัญญัติกฎหมายให้ทำสิ่งที่พระองค์ต้องการ (นหม. 2:4-8) แต่ถ้าพระยะโฮวายอมให้เรา “ทนทุกข์เพราะทำสิ่งที่ถูกต้อง” เราก็มั่นใจได้ 2 อย่าง (1 ปต. 3:14) อย่างแรก พระเจ้าจะให้กำลังเราเพื่อจะอดทนได้ (1 คร. 10:13) และอย่างที่สอง พวกผู้ต่อต้านไม่มีทาง “กวาดล้าง” งานของพระเจ้าได้—อสย. 54:17
14, 15. (ก) อัครสาวกรู้สึกยังไงเมื่อถูกเฆี่ยน และเพราะอะไร? (ข) มีประสบการณ์อะไรที่แสดงว่าประชาชนของพระยะโฮวาสามารถอดทนด้วยความยินดี?
14 การถูกเฆี่ยนทำให้พวกอัครสาวกหมดกำลังใจจนไม่อยากรับใช้ต่อไปไหม? ไม่เลย! พวกเขา “ออกจากศาลแซนเฮดรินด้วยความดีใจ” (กจ. 5:41) “ด้วยความดีใจ” ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ถึงแม้การถูกข่มเหงจะทำให้พวกเขาเจ็บปวด แต่พวกอัครสาวกก็ดีใจที่ได้รู้ว่าพวกเขาถูกข่มเหงเพราะพวกเขารักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา และเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู—มธ. 5:11, 12
15 เหมือนกับพี่น้องของเราในศตวรรษแรก ถึงเราต้องทนทุกข์เพราะข่าวดี เราก็อดทนได้ด้วยความยินดี (1 ปต. 4:12-14) แน่นอนว่าเราไม่ชอบเมื่อถูกข่มขู่ ข่มเหง หรือถูกจำคุก แต่ในใจลึก ๆ เราก็มีความสุขเพราะเราได้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ตัวอย่างเช่น พี่น้องเฮนรีค ดอร์นีคซึ่งต้องอดทนกับการกระทำที่โหดร้ายหลายปีภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เขาเล่าว่าในเดือนสิงหาคม 1944 ผู้มีอำนาจได้ส่งเขากับน้องชายไปยังค่ายกักกัน พวกผู้ต่อต้านพูดว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะโน้มน้าวคนพวกนี้ให้ทำตามที่เราต้องการ พวกเขาพร้อมสละชีวิตเพราะความเชื่อ” พี่น้องดอร์นีคอธิบายว่า “ถึงแม้ผมจะไม่อยากตาย แต่ตอนที่ทนทุกข์เป็นโอกาสที่ผมจะรักษาความซื่อสัตย์ด้วยความกล้าหาญ นี่ทำให้ผมภูมิใจในตัวเอง และทำให้ผมยินดี”—ยก. 1:2-4
16. พวกอัครสาวกแสดงให้เห็นยังไงว่าพวกเขาตั้งใจประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเราเลียนแบบพวกเขาได้ยังไง?
16 พวกอัครสาวกกลับไปทำงานประกาศทันที พวกเขา “ประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูผู้เป็นพระคริสต์ ทั้งในวิหารและตามบ้านเรือนทุก ๆ วัน” อย่างกล้าหาญ d (กจ. 5:42) ผู้ประกาศที่มีความกระตือรือร้นเหล่านี้ตั้งใจที่จะประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วน พวกเขาไปหาผู้คนตามบ้านเหมือนกับที่พระเยซูได้สั่งไว้ (มธ. 10:7, 11-14) ไม่ต้องสงสัยว่า การทำแบบนี้ทำให้คำสอนแพร่ไปทั่วกรุงเยรูซาเล็ม ในทุกวันนี้ พยานพระยะโฮวาก็ใช้วิธีเดียวกันกับพวกอัครสาวกในสมัยก่อน ถ้าเราพยายามไปหาผู้คนทุกบ้านในเขตทำงานของเรา เราก็กำลังแสดงให้เห็นว่าเราอยากประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ยินข่าวดี พระยะโฮวาอวยพรงานประกาศตามบ้านของเราไหม? แน่นอน! มีคนหลายล้านคนได้ตอบรับข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าในช่วงสมัยสุดท้ายนี้ ซึ่งหลายคนในพวกเขาได้ยินข่าวดีเป็นครั้งแรกตอนที่พยานพระยะโฮวาไปที่บ้านของเขา
พวกผู้ชายที่มีคุณสมบัติดูแล “งานที่จำเป็น” (กิจการ 6:1-6)
17-19. มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้เกิดการแตกแยก และพวกอัครสาวกจัดการกับปัญหานั้นยังไง?
17 ตอนนี้ประชาคมที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องเจอปัญหาที่อาจทำให้เกิดความแตกแยก ปัญหานั้นคืออะไร? สาวกหลายคนที่ได้รับบัพติศมาเดินทางมาจากที่อื่น พวกเขาอยากเรียนรู้มากขึ้นก่อนออกจากเยรูซาเล็ม พวกสาวกที่อยู่ในเยรูซาเล็มบริจาคเงินด้วยความเต็มใจเพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นมีอาหารและสิ่งของอื่น ๆ ตามที่จำเป็น (กจ. 2:44-46; 4:34-37) ตอนนี้ มีปัญหาบางอย่างที่พวกอัครสาวกต้องจัดการด้วยความระมัดระวังเพื่อจะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันไว้ ตอนที่มี “การแจกอาหารประจำวัน” พวกแม่ม่ายที่พูดภาษากรีก “ไม่ได้รับการเอาใจ ใส่” (กจ. 6:1) แต่พวกแม่ม่ายที่พูดภาษาฮีบรูได้รับการดูแลอย่างดี ดังนั้น ดูเหมือนว่าปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความลำเอียง ซึ่งท้ายที่สุดอาจก่อให้เกิดการแตกแยกกันอย่างรุนแรงได้
18 พวกอัครสาวกซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองของประชาคมที่กำลังเติบโตเข้าใจว่า คงจะไม่เหมาะที่พวกเขาจะ “มัวแต่ไปแจกอาหารจนไม่มีเวลาสอนคำสอนของพระเจ้า” (กจ. 6:2) เพื่อแก้ปัญหานี้ พวกเขาได้สั่งสาวกให้เลือกผู้ชาย 7 คนที่ “เต็มไปด้วยพลังของพระเจ้าและมีสติปัญญา” พวกอัครสาวกจะแต่งตั้งพวกผู้ชายกลุ่มนี้ให้ดูแล “งานที่จำเป็นนี้” (กจ. 6:3) ผู้ชาย 7 คนนี้ต้องมีคุณสมบัติเหมาะ เพราะงานนี้จะเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแจกอาหาร การใช้เงิน การซื้อของ และการจดบันทึกอย่างถี่ถ้วน ผู้ชายที่ถูกเลือกทุกคนมีชื่อภาษากรีก นี่อาจช่วยให้พวกแม่ม่ายที่ขุ่นเคืองยอมรับพวกเขาได้ง่ายขึ้น หลังจากพิจารณาคุณสมบัติของผู้ชายเหล่านี้พร้อมด้วยการอธิษฐาน อัครสาวกก็แต่งตั้งผู้ชาย 7 คนให้เอาใจใส่ดูแล “งานที่จำเป็นนี้” e
19 นี่หมายความว่า ผู้ชายทั้ง 7 คนที่ถูกแต่งตั้งให้ดูแลเรื่องการแจกอาหารจะไม่ต้องประกาศข่าวดีไหม? ไม่อย่างแน่นอน! สเทเฟนเป็น 1 ใน 7 คนที่ถูกเลือก และหลังจากนั้นเขาก็เป็นผู้ประกาศที่กล้าหาญและได้รับพลังจากพระเจ้า (กจ. 6:8-10) ฟีลิปก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และหลังจากนั้นก็มีการเรียกเขาว่า “ผู้ประกาศข่าวดี” (กจ. 21:8) ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า ผู้ชายทั้ง 7 คนยังเป็นผู้ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าที่กระตือรือร้นต่อไป
20. ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ทำตามตัวอย่างของพวกอัครสาวกยังไง?
20 ประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ทำตามตัวอย่างของพวกอัครสาวก ผู้ชายที่ได้รับ การเสนอให้มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมต้องแสดงให้เห็นว่าความคิดของเขาสอดคล้องกับความคิดของพระยะโฮวา และเขาต้องแสดงผลที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์ในชีวิตของเขา ภายใต้การชี้นำของคณะกรรมการปกครอง ผู้ชายที่บรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์ได้รับการแต่งตั้งให้รับใช้เป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม f (1 ทธ. 3:1-9, 12, 13) และเนื่องจากข้อเรียกร้องเหล่านี้มาจากคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการดลใจจากพลังบริสุทธิ์ เราจึงบอกได้ว่าผู้ชายที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งโดยพลังบริสุทธิ์ ผู้ชายที่ทำงานหนักเหล่านี้ดูแล “งานที่จำเป็น” หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลอาจต้องคุยกันบ่อย ๆ ว่าจะช่วยพี่น้องสูงอายุที่ซื่อสัตย์ยังไง (ยก. 1:27) ผู้ดูแลบางคนได้มีส่วนช่วยอย่างมากในการก่อสร้างหอประชุม จัดการประชุมใหญ่ หรือทำหน้าที่ประสานงานกับโรงพยาบาล ผู้ช่วยงานรับใช้ก็ทำงานหลายอย่างด้วย ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบำรุงเลี้ยงหรือการสอน ถึงแม้ผู้ชายที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านี้จะมีงานหลายอย่างในประชาคมและในองค์การ แต่พวกเขาก็ต้องประกาศข่าวดีด้วย—1 คร. 9:16
“คำสอนของพระเจ้าแพร่ออกไป” (กิจการ 6:7)
21, 22. เราเห็นได้ชัดยังไงว่าพระยะโฮวาอวยพรประชาคมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่?
21 โดยการสนับสนุนจากพระยะโฮวา ประชาคมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่จึงสามารถรับมือกับการข่มเหงที่มาจากภายนอกและปัญหาภายในที่อาจทำให้เกิดการแตกแยก เห็นได้ชัดเจนว่าพระยะโฮวาอวยพรพวกเขาจริง ๆ เพราะมีการบอกว่า “คำสอนของพระเจ้าแพร่ออกไป พวกสาวกก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม และมีปุโรหิตกลุ่มใหญ่เข้ามาเชื่อด้วย” (กจ. 6:7) นี่เป็นแค่หนึ่งในความก้าวหน้าของงานประกาศที่เราอ่านเจอในหนังสือกิจการ (กจ. 9:31; 12:24; 16:5; 19:20; 28:31) ทุกวันนี้ เราก็ได้รับกำลังใจเมื่อได้ยินเกี่ยวกับความก้าวหน้าของงานประกาศในที่อื่น ๆ ทั่วโลก จริงไหม?
22 ย้อนกลับไปในศตวรรษแรก ผู้นำศาสนาที่โกรธจัดยังไม่หยุดความพยายามที่จะข่มเหงคริสเตียน การข่มเหงกำลังจะมีมากขึ้น อีกไม่นาน สเทเฟนจะเจอการต่อต้านอย่างรุนแรง เราจะดูเรื่องนี้ในบทถัดไป
a ดูกรอบ “ สภาแซนเฮดริน—ศาลสูงของชาวยิว”
b นี่เป็นการพูดถึงทูตสวรรค์เป็นครั้งแรกในหนังสือกิจการ ในหนังสือนี้มีการพูดถึงทูตสวรรค์ประมาณ 20 ครั้ง ก่อนหน้านั้นที่กิจการ 1:10 มีการพูดถึงทูตสวรรค์แบบอ้อม ๆ ว่าเป็น ‘ผู้ชายสวมเสื้อขาว’
d ดูกรอบ “ ประกาศ ‘ตามบ้าน’”
e ผู้ชายเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติเป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว เพราะการจัดการกับ “งานที่จำเป็นนี้” เป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกชัดเจนว่าเมื่อไรที่พวกเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียน
f ในศตวรรษแรก ผู้ชายที่มีคุณสมบัติได้รับอำนาจให้แต่งตั้งผู้ดูแล (กจ. 14:23; 1 ทธ. 5:22; ทต. 1:5) ในทุกวันนี้ คณะกรรมการปกครองเป็นคนแต่งตั้งผู้ดูแลหมวด และผู้ดูแลหมวดก็จะเป็นคนแต่งตั้งผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้