บท 3
“เต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์”
ผลที่เกิดจากการได้รับ พลังบริสุทธิ์ในวันเพ็นเทคอสต์
จากกิจการ 2:1-47
1. ขอเล่าบรรยากาศของเทศกาลเพ็นเทคอสต์
เสียงผู้คนที่กำลังตื่นเต้นดังอยู่ตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงเยรูซาเล็ม a มีควันลอยขึ้นมาจากแท่นบูชาในวิหารตอนที่พวกเลวีร้องเพลงฮัลเลล (สดุดี 113 ถึง 118) ที่เป็นการร้องในลักษณะโต้ตอบกัน มีคนมาจากหลายที่เบียดเสียดกันอยู่บนถนน พวกเขามาจากที่ห่างไกล เช่น เอลาม เมโสโปเตเมีย คัปปาโดเซีย ปอนทัส อียิปต์ และโรม b นี่เป็นโอกาสพิเศษอะไร? นี่เป็นวันเพ็นเทคอสต์ซึ่งเรียกกันด้วยว่า “วันที่ถวายผลแรก” (กดว. 28:26) เทศกาลฉลองประจำปีนี้เป็นการแสดงถึงการสิ้นสุดของการเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และเริ่มต้นการเก็บเกี่ยวข้าวสาลี นี่เป็นวันที่น่ายินดี
2. มีเหตุการณ์ที่น่าประหลาดอะไรเกิดขึ้นในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33?
2 เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิที่อากาศอุ่น ๆ ในปี ค.ศ. 33 ตอนประมาณเก้าโมงเช้ามีบางอย่างเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ผู้คนประหลาดใจไปอีกนานหลายร้อยปี มีเสียงดังจากฟ้า “เหมือนเสียงพายุ” (กจ. 2:2) เสียงนั้นดังไปทั่วบ้านที่สาวกของพระเยซูประมาณ 120 คนประชุมกันอยู่ ต่อจากนั้น มีเหตุการณ์ที่น่าประหลาดเกิดขึ้น พวกเขาเห็นบางสิ่งเหมือนเปลวไฟรูปร่างคล้ายลิ้นลอยอยู่เหนือพวกเขาแต่ละคน c แล้วพวกสาวกก็ “เต็มไปด้วยพลังบริสุทธิ์” และเริ่มพูดเป็นภาษาต่าง ๆ เมื่อพวกสาวกออกจากบ้านหลังนั้น พวกเขาก็ได้เจอคนที่มาจากหลายที่ซึ่งอยู่ตามถนนในเยรูซาเล็ม คนเหล่านั้นแปลกใจมากเพราะพวกสาวกพูดคุยกับพวกเขาได้ ที่จริง พวกสาวกกำลัง “พูดภาษาของพวกเขา”—กจ. 2:1-6
3. (ก) ทำไมถึงเรียกวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33 ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของการนมัสการแท้? (ข) คำบรรยายของเปโตรเกี่ยวข้องยังไงกับการใช้ “ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์”?
3 เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการนมัสการแท้ นั่นคือการก่อตั้งอิสราเอลของพระเจ้าหรือประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม (กท. 6:16) นอกจากนั้น ตอนที่เปโตรบรรยายให้ฝูงชนฟังในวันนั้น เขาได้ใช้ “ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์” ดอกแรกในสามดอก ซึ่งแต่ละดอกจะเปิดโอกาสให้คนแต่ละกลุ่มได้รับพรพิเศษ (มธ. 16:18, 19) ลูกกุญแจดอกแรกนี้ทำให้ชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวมีโอกาสได้ฟังข่าวดีและถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า d พวกเขาเลยได้เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลของพระเจ้า นี่ทำให้พวกเขามีความหวังที่จะปกครองเป็นกษัตริย์และปุโรหิตในรัฐบาลเมสสิยาห์ (วว. 5:9, 10) ต่อมา ชาวสะมาเรียก็ได้รับสิทธิพิเศษนั้น และหลังจากนั้นโอกาสก็เปิดให้กับคนชาติอื่นด้วย คริสเตียนในทุกวันนี้สามารถเรียนอะไรได้จากเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33?
“ทั้งหมดมาอยู่รวมกันในที่แห่งหนึ่ง” (กิจการ 2:1-4)
4. งานที่ประชาคมคริสเตียนสมัยปัจจุบันทำเป็นงานที่ทำต่อจากประชาคมซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 33 ยังไง?
4 ประชาคมคริสเตียนเริ่มต้นโดยมีสาวกประมาณ 120 คนซึ่ง “ทั้งหมดมาอยู่รวมกันในที่แห่งหนึ่ง คือที่ห้องชั้นบนและได้รับการเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์ (กจ. 2:1) พอถึงตอนจบของวันนั้นก็มีอีกหลายพันคนรับบัพติศมา นั่นเป็นแค่การเริ่มต้นขององค์การที่เติบโตจนถึงทุกวันนี้ ประชาคมคริสเตียนสมัยปัจจุบันที่มีพี่น้องชายหญิงซึ่งเกรงกลัวพระเจ้าเป็นกลุ่มคนที่ “ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไปทั่วโลก เพื่อให้คนทุกชาติมีโอกาสได้ยิน” ก่อนที่จุดจบจะมาถึง—มธ. 24:14
5. การคบหากับพี่น้องในประชาคมคริสเตียนทำให้ได้รับพรอะไรบ้างทั้งในศตวรรษแรกและในทุกวันนี้?
5 นอกจากนั้น ประชาคมคริสเตียนยังช่วยให้สมาชิกทุกคนมีความเชื่อที่เข้มแข็งด้วย ไม่ว่า พวกเขาจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือเป็น “แกะอื่น” (ยน. 10:16) เปาโลเห็นค่าอย่างมากที่พี่น้องแต่ละคนในประชาคมให้กำลังใจกันและกัน เขาเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมว่า “ผมอยากเจอพวกคุณมาก จะได้แบ่งปันสิ่งที่ให้กำลังใจเพื่อช่วยพวกคุณให้ใกล้ชิดพระเจ้า หรือถ้าจะพูดให้ถูก พวกเราจะได้ให้กำลังใจกันและกันโดยความเชื่อของเราทั้งสองฝ่าย คือทั้งของพวกคุณและของผม”—รม. 1:11, 12
6, 7. ประชาคมคริสเตียนในทุกวันนี้ทำงานมอบหมายของพระเยซูที่ให้ประกาศกับคนทุกชาติยังไง?
6 ประชาคมคริสเตียนทุกวันนี้ก็มีเป้าหมายเดียวกันกับประชาคมในศตวรรษแรก พระเยซูมอบหมายให้สาวกทำงานที่ท้าทายแต่ก็น่าตื่นเต้น ท่านบอกพวกเขาว่า “ไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมาในนามพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ในนามลูกของพระองค์ และในนามพลังบริสุทธิ์ และสอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่ผมสั่งคุณไว้”—มธ. 28:19, 20
7 ประชาคมคริสเตียนของพยานพระยะโฮวาเป็นตัวแทนที่พระเจ้าใช้ให้ทำงานนี้จนสำเร็จในสมัยของเรา แน่นอน อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงผู้คนที่พูดภาษาต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นพยานพระยะโฮวาได้ผลิตสิ่งพิมพ์และวีดีโออธิบายคัมภีร์ไบเบิลมากกว่า 1,000 ภาษา ถ้าคุณเข้าร่วมกับประชาคมคริสเตียนเป็นประจำและมีส่วนร่วมในงานประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก คุณก็น่าจะมีความสุขเพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนจำนวนไม่มากที่มีสิทธิพิเศษประกาศชื่อของพระยะโฮวาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
8. เราสามารถได้รับความช่วยเหลืออะไรจากประชาคมคริสเตียน?
8 เพื่อคุณจะอดทนด้วยความยินดีได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ พระยะโฮวาพระเจ้าได้จัดเตรียมสังคมพี่น้องทั่วโลกไว้ให้เรา เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูว่า “ให้เราสนใจกัน เราจะได้กระตุ้นกันให้มีความรักและทำความดี อย่าขาดการประชุมเหมือนที่บางคนทำเป็นนิสัย แต่ให้กำลังใจกัน และทำสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเมื่อเห็นว่าวันนั้นใกล้มาถึงแล้ว” (ฮบ. 10:24, 25) ประชาคมคริสเตียนเป็นของขวัญจากพระยะโฮวาที่ช่วยคุณได้รับกำลังใจและคุณเองก็สามารถให้กำลังใจคนอื่นได้ด้วย ดังนั้น ขอให้ใกล้ชิดกับพี่น้องคริสเตียนเสมอ และอย่าขาดการประชุม
“พวกเขาได้ยิน . . . ภาษาของพวกเขา” (กิจการ 2:5-13)
9, 10. บางคนได้ทำตัวให้อยู่พร้อมยังไงเพื่อจะประกาศกับคนที่พูดภาษาอื่น?
9 ลองนึกภาพดูว่าชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจะรู้สึกตื่นเต้นมากแค่ไหนในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33 ที่จริง คนส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นั่นคงพูดภาษาที่คนทั่วไปใช้ซึ่งอาจเป็นภาษากรีกหรือภาษาฮีบรู แต่ตอนนี้ “พวกเขาได้ยินพวกสาวกพูดภาษาของพวกเขา” (กจ. 2:6) ผู้ฟังเหล่านั้นคงต้องประทับใจมากที่ได้ยินข่าวดีในภาษาของตัวเอง แน่นอน พระเจ้าไม่ได้ช่วยให้คริสเตียนในทุกวันนี้สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้อย่างอัศจรรย์ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาหลายคนได้ทำตัวให้อยู่พร้อมที่จะประกาศข่าวดีกับคนทุกเชื้อชาติ โดยวิธีใด? บางคนได้เรียนภาษาใหม่เพื่อจะรับใช้ร่วมกับประชาคมที่อยู่ใกล้เคียง หรือบางคนถึงกับย้ายไปต่างประเทศเลยด้วยซ้ำ ผู้คนที่ได้ฟังพวกเขาประกาศมักจะรู้สึกประทับใจจริง ๆ เมื่อได้เห็นความพยายามของพวกเขา
10 ให้เรามาดูประสบการณ์ที่น่าสนใจของคริสตินด้วยกัน คริสตินเรียนภาษาคุชาราตีพร้อมกับพยานฯอีกเจ็ดคน เมื่อเธอพบเพื่อนร่วมงานผู้หญิงที่พูดภาษาคุชาราตี เธอก็ทักทายเขาด้วยภาษานี้ เพื่อนร่วมงานของเธอประทับใจและอยากรู้ว่าทำไมคริสตินถึงพยายามเรียนภาษายาก ๆ อย่างภาษาคุชาราตี คริสตินเลยมีโอกาสประกาศให้เธอฟัง เพื่อนร่วมงานคนนั้นบอกคริสตินว่า “เรื่องที่เธอพูดต้องสำคัญมากแน่ ๆ”
11. เราจะเตรียมตัวยังไงเพื่อประกาศกับคนที่ใช้ภาษาอื่น?
11 แน่นอนไม่ใช่ทุกคนจะเรียนอีกภาษาหนึ่งได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวเพื่อประกาศเรื่อง รัฐบาลของพระเจ้ากับคนที่พูดภาษาอื่นได้ โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือใช้แอปJW Language เพื่อเรียนคำทักทายง่าย ๆ ในภาษาของคนที่คุณมักเจอในเขต คุณอาจจำบางประโยคในภาษานั้นที่อาจกระตุ้นความสนใจพวกเขา และชวนพวกเขาเข้าดูเว็บไซต์ jw.org ซึ่งอาจมีวีดีโอหรือหนังสือในภาษาที่พวกเขาใช้ ถ้าเราใช้เครื่องมือเหล่านี้เราก็อาจมีความสุขเหมือนพี่น้องในศตวรรษแรกที่ได้ประกาศกับผู้คนในภาษาต่าง ๆ และทำให้พวกเขาแปลกใจที่ได้ยินข่าวดีใน “ภาษาของพวกเขา”
“เปโตรก็ยืนขึ้น” (กิจการ 2:14-37)
12. (ก) คำพยากรณ์ของโยเอลเกี่ยวข้องยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33? (ข) ทำไมสาวกของพระเยซูถึงคาดหมายว่าคำพยากรณ์ของโยเอลจะเกิดขึ้นจริงในสมัยของพวกเขา?
12 “เปโตรก็ยืนขึ้น” เพื่อพูดกับผู้คนหลายเชื้อชาติ (กจ. 2:14) เขาอธิบายให้ทุกคนฟังว่า ความสามารถในการพูดภาษาต่าง ๆ อย่างอัศจรรย์ที่พระเจ้าให้นั้นเป็นไปตามคำพยากรณ์ที่โยเอลบอกไว้ว่า “เราจะให้พลังของเรากับคนทุกประเภท” (ยอล. 2:28) ก่อนพระเยซูจะขึ้นไปสวรรค์ ท่านบอกพวกสาวกว่า “ผมจะขอพระเจ้าผู้เป็นพ่อให้ส่งผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งมาอยู่กับพวกคุณ” ท่านบอกต่อไปว่าผู้ช่วยนั้นก็คือ “พลังของพระเจ้า”—ยน. 14:16, 17
13, 14. เปโตรใช้วิธีไหนเพื่อเข้าถึงหัวใจผู้คน และเราจะเลียนแบบเขาได้ยังไง?
13 เปโตรพูดคำลงท้ายที่หนักแน่นกับฝูงชนว่า “ขอให้คนอิสราเอลทุกคนรู้ไว้ว่า พระเยซูคนนี้แหละที่พวกคุณได้ประหารบนเสา คือคนที่พระเจ้าแต่งตั้งให้เป็นทั้งนายและพระคริสต์” (กจ. 2:36) แน่นอน คนที่ฟังเปโตรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ด้วยตอนที่พระเยซูถูกประหารบนเสา แต่ในฐานะที่พวกเขาเป็นชาวยิว พวกเขาต้องรับผิดชอบร่วมกันในการกระทำครั้งนั้น แต่ขอสังเกตว่า เปโตรพูดกับเพื่อนชาวยิวด้วยความนับถือและเข้าถึงใจพวกเขา เป้าหมายของเปโตรคือเพื่อกระตุ้นผู้ฟังให้กลับใจ ไม่ใช่เพื่อตำหนิพวกเขา ผู้คนที่ฟังอยู่รู้สึกโกรธ ไหมเมื่อได้ยินเปโตรพูด? ไม่เลย แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้คน “รู้สึกเหมือนถูกแทงที่หัวใจ” พวกเขาถามว่า “พวกเราจะทำยังไงดี?” การที่เปโตรพูดด้วยความนับถือน่าจะช่วยให้เข้าถึงใจของหลายคนอย่างมากจนกระตุ้นพวกเขาให้กลับใจ—กจ. 2:37
14 เราสามารถเลียนแบบวิธีที่เปโตรใช้เพื่อเข้าถึงหัวใจผู้คนได้ ตอนประกาศเราไม่จำเป็นต้องยกเอาทุกเรื่องที่เขาคิดไม่ตรงกับหลักพระคัมภีร์มาเถียงกัน แทนที่จะทำอย่างนั้น เราน่าจะพูดถึงจุดต่าง ๆ ที่เห็นพ้องต้องกัน ถ้าเราคุยเรื่องที่เขาเห็นด้วยกับเราก่อนเราก็สามารถใช้คัมภีร์ไบเบิลหาเหตุผลกับเขาในเรื่องอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ถ้าเราใช้วิธีนี้คนที่มีหัวใจดีก็มีโอกาสตอบรับความจริงได้มากกว่า
“พวกคุณทุกคนต้อง . . . รับบัพติศมา” (กิจการ 2:38-47)
15. (ก) เปโตรพูดอะไร และมีการตอบรับยังไง? (ข) ทำไมหลายพันคนที่ได้ยินข่าวดีในวันเพ็นเทคอสต์ถึงมีคุณสมบัติที่จะรับบัพติศมาในวันนั้น?
15 ในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33 ที่น่าตื่นเต้น เปโตรพูดกับชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวว่า “พวกคุณทุกคนต้องกลับใจ และรับบัพติศมา” (กจ. 2:38) ผลก็คือ มีประมาณ 3,000 คนรับบัพติศมา พวกเขาคงจะรับบัพติศมาในสระทั่วกรุงเยรูซาเล็มหรือใกล้ ๆ กรุงนั้น e นี่เป็นการทำแบบหุนหันพลันแล่นไหม? หรือนี่เป็นแบบอย่างให้นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและเด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่เป็นคริสเตียนให้รีบ ๆ รับบัพติศมาก่อนที่พวกเขาจะพร้อมไหม? ไม่เลย ขอจำไว้ว่า ชาวยิวเหล่านั้นและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวซึ่งได้รับบัพติศมาในวันเพ็นเทคอสต์ ค.ศ. 33 เป็นคนที่ศึกษาคำของพระเจ้าอย่างกระตือรือร้นอยู่แล้ว พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่ได้อุทิศให้พระยะโฮวา ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้แสดงความกระตือรือร้นอยู่แล้ว บางคนได้เดินทางมาไกลเพื่อเข้าร่วมเทศกาลฉลอง ประจำปีนี้ ดังนั้น หลังจากได้รับความจริงที่สำคัญเกี่ยวกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ในการทำให้ความประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ พวกเขาเลยพร้อมที่จะรับใช้พระเจ้าต่อไปในฐานะสาวกของพระคริสต์ที่ได้รับบัพติศมาแล้ว
16. คริสเตียนในศตวรรษแรกแสดงน้ำใจเสียสละยังไง?
16 พระยะโฮวาอวยพรคนกลุ่มนี้แน่นอน บันทึกในกิจการบอกต่อไปว่า “คนที่เข้ามาเป็นสาวกมาอยู่ด้วยกันและเอาของที่เขามีมารวมกันเป็นกองกลาง พวกเขาขายข้าวของและที่ดิน แล้วแบ่งให้ทุกคนตามความจำเป็น” f (กจ. 2:44, 45) แน่นอนว่า คริสเตียนแท้ทุกคนต้องการเลียนแบบน้ำใจเสียสละด้วยความรักแบบนั้น
17. มีขั้นตอนอะไรบ้างที่จำเป็นเพื่อคนเราจะรับบัพติศมาได้?
17 มีขั้นตอนที่จำเป็นตามหลักพระคัมภีร์หลายอย่างก่อนที่ใครสักคนจะอุทิศตัวและรับบัพติศมา คนเราต้องรับความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับถ้อยคำของพระเจ้า (ยน. 17:3) เขาต้องแสดงความเชื่อและต้องกลับใจจากสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เขาเคยทำในอดีต นี่หมายความว่าเขาต้องแสดงความเสียใจจริง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น (กจ. 3:19) นอกจากนั้นเขาต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ซึ่งก็คือใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามความประสงค์ของพระเจ้า (รม. 12:2; อฟ. 4:23, 24) หลังจากขั้นตอนเหล่านี้แล้วเขาถึงจะอุทิศตัวโดยการอธิษฐาน และก็รับบัพติศมา—มธ. 16:24; 1 ปต. 3:21
18. สาวกของพระเยซูที่ได้รับบัพติศมาแล้วสามารถได้รับสิทธิพิเศษอะไร?
18 คุณเป็นสาวกของพระเยซูที่อุทิศตัวและรับบัพติศมาแล้วไหม? ถ้าใช่ คุณก็น่าจะขอบคุณสำหรับสิทธิพิเศษนี้ เหมือนกับสาวกในศตวรรษแรกที่ได้รับพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า คุณก็อาจถูกใช้และได้รับพลังแบบนั้นเพื่อจะประกาศอย่างละเอียดถี่ถ้วนและทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวา
a ดูกรอบ “ เยรูซาเล็ม—ศูนย์กลางของศาสนายิว”
b ดูกรอบ “ โรม—เมืองหลวงของจักรวรรดิ”; “ คนยิวในเมโสโปเตเมียและอียิปต์”; และ “ ศาสนาคริสเตียนในปอนทัส”
c “ลิ้น” นั้นไม่ใช่ไฟจริง ๆ แต่เป็น “บางสิ่งเหมือนเปลวไฟ” นี่ทำให้คนอื่นเห็นเป็นเหมือนเปลวไฟลอยอยู่เหนือพวกสาวก
d ดูกรอบ “ ใครคือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว?”
e เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในวันที่ 7 สิงหาคม 1993 ที่การประชุมนานาชาติของพยานพระยะโฮวาในเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน มี 7,402 คนรับบัพติศมาในสระน้ำหกสระ การบัพติศมาทั้งหมดใช้เวลาถึงสองชั่วโมงสิบห้านาทีจึงจะแล้วเสร็จ
f การจัดเตรียมชั่วคราวนี้ช่วยให้คนที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มสามารถอยู่ต่อไปได้เพื่อจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อใหม่ของพวกเขา นี่เป็นการแบ่งปันกันด้วยความสมัครใจและไม่ได้ถูกบังคับ ดังนั้น นี่ไม่ใช่รูปแบบของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างที่บางคนบอกไว้—กจ. 5:1-4