บท 19
งานก่อสร้างที่ทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติ
1, 2. (ก) ตั้งแต่อดีตมา ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวามีความสุขที่ได้ทำอะไร? (ข) พระยะโฮวามองว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่า?
ตั้งแต่อดีตมา ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวามีความสุขที่ได้สร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำให้ชื่อของพระองค์ได้รับคำสรรเสริญ อย่างเช่น ชาวอิสราเอลสร้างพลับพลาอย่างกระตือรือร้น และบริจาควัสดุสิ่งของต่าง ๆ อย่างไม่อั้น—เอ็ก. 35:30-35; 36:1, 4-7
2 พระยะโฮวาไม่ได้มองว่าวัสดุก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้พระองค์ได้รับเกียรติ และไม่ได้มองว่าวัสดุเหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด (มัด. 23:16, 17) สิ่งที่มีค่าหรือของขวัญที่ทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติมากกว่าวัตถุใด ๆ ก็คือ การนมัสการพระองค์ ซึ่งรวมถึงการให้อย่างเต็มใจ และการทำงานรับใช้อย่างกระตือรือร้น (เอ็ก. 35:21; มโก. 12:41-44; 1 ติโม. 6:17-19) ทำไมเรื่องนี้สำคัญ? เพราะสิ่งปลูกสร้างไม่ได้คงทนถาวร เช่น ทุกวันนี้ไม่มีพลับพลาและวิหารหลงเหลืออยู่ สิ่งเหล่านั้นพังทลายไปหมดแล้ว แต่พระยะโฮวาก็ไม่เคยลืมน้ำใจเอื้อเฟื้อและเรี่ยวแรงที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ทุ่มเทเพื่อช่วยกันสร้างสถานที่นมัสการเหล่านั้น—อ่าน 1 โครินท์ 15:58; ฮีบรู 6:10
3. เราจะทบทวนเรื่องอะไรบ้างในบทนี้?
3 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ทำงานหนักเพื่อสร้างสถานที่นมัสการพระองค์ด้วย และผลงานที่เกิดจากการชี้นำของกษัตริย์เยซูคริสต์ก็น่าทึ่งจริง ๆ! พระยะโฮวาอวยพรความพยายามของเราอย่างเห็นได้ชัด (เพลง. 127:1) ในบทนี้ เราจะทบทวนว่าเราทำงานอะไรไปแล้วบ้าง และงานเหล่านั้นทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติอย่างไร เรายังจะได้ฟังประสบการณ์ของคนที่เคยทำงานเหล่านั้นด้วย
การสร้างหอประชุมราชอาณาจักร
4. (ก) ทำไมเราจำเป็นต้องมีสถานที่นมัสการเพิ่มขึ้น? (ข) ทำไมจึงมีการยุบรวมสำนักงานสาขาบางแห่งเข้าด้วยกัน? (ดูกรอบ “ การก่อสร้างสำนักงานสาขา—การเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับความจำเป็น”)
4 ในบท 16 เราได้พูดไปแล้วว่าพระยะโฮวาต้องการให้เราไปประชุมเพื่อนมัสการร่วมกัน (ฮีบรู 10:25) เพราะนอกจากจะช่วยให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นแล้ว การประชุมยังทำให้เรากระตือรือร้นอยากไปประกาศด้วย ยิ่ง เวลาของสมัยสุดท้ายใกล้หมดลง พระยะโฮวาก็ยิ่งเร่งงานนี้มากขึ้น ผลก็คือ มีผู้คนนับหมื่นนับแสนเข้ามาในองค์การของพระองค์ทุกปี (ยซา. 60:22) เมื่อมีประชาชนของราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องมีโรงพิมพ์มากขึ้นเพื่อผลิตหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล แล้วก็ต้องมีสถานที่นมัสการเพิ่มขึ้นด้วย
5. ทำไมชื่อ ‘หอประชุมราชอาณาจักร’ จึงเป็นชื่อที่เหมาะสม? (ดูกรอบ “ นิวไลท์ เชิร์ช”)
5 ในตอนต้นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประชาชนของพระยะโฮวา กลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเริ่มเห็นว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีสถานที่ประชุมของตัวเอง ดูเหมือนว่ามีการสร้างสถานที่นมัสการแห่งแรก ๆ ขึ้นในปี ค.ศ. 1890 ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา พอถึงทศวรรษ 1930 ประชาชนของพระยะโฮวาก็ปรับปรุงและสร้างอาคารหลายหลังให้เป็นที่ประชุม แต่ยังไม่มีการตั้งชื่อเฉพาะสำหรับสถานที่เหล่านั้น ในปี 1935 พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดเดินทางไปที่ฮาวาย ตอนนั้นพี่น้องกำลังสร้างสำนักงานสาขาและหอประชุมหลังหนึ่งที่นั่น เมื่อมีคนถามว่าจะเรียกอาคารหลังนี้ว่าอะไรดี พี่น้องรัทเทอร์ฟอร์ดตอบว่า “เราเรียก ที่นี่ว่า ‘หอประชุมราชอาณาจักร’ ดีไหม เพราะเราประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรอยู่ไม่ใช่เหรอ?” (มัด. 24:14) จากนั้นไม่นาน ประชาชนของพระยะโฮวาทั่วโลกก็เรียกสถานที่ประชุมแทบทุกแห่งด้วยชื่อที่เหมาะสมนี้
6, 7. การก่อสร้างหอประชุมแบบรวดเร็วก่อผลอย่างไร?
6 พอถึงทศวรรษ 1970 การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้จำเป็นต้องมีหอประชุมมากขึ้นเรื่อย ๆ พี่น้องในสหรัฐจึงคิดวิธีก่อสร้างหอประชุมโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วันแต่ก็สวยงามและใช้งานได้อย่างคุ้มค่า พอถึงปี 1983 หอประชุมที่สร้างแบบรวดเร็วนี้ก็มีประมาณ 200 หลังทั้งในสหรัฐและแคนาดา และเพื่อจะทำงานให้สำเร็จ พี่น้องจึงเริ่มตั้งคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาคขึ้นมาดูแลงานนี้ แล้ววิธีนี้ก็ได้ผลดีมากจนในปี 1986 คณะกรรมการปกครองถึงกับสนับสนุนให้พี่น้องในที่อื่น ๆ ใช้วิธีเดียวกันนี้ด้วย และในปี 1987 ก็มีคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาค (RBCs) ถึง 60 คณะในสหรัฐ a พอถึงปี 1992 มีการตั้งคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาคขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และสเปน พี่น้องที่ขยันขันแข็งซึ่งสร้างหอประชุมและหอประชุมใหญ่สมควรได้รับการสนับสนุนจากพวกเราจริง ๆ เพราะงานที่พวกเขาทำก็เป็นงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน
7 หอประชุมที่สร้างเสร็จแบบรวดเร็วนี้ทำให้ผู้คนในละแวกนั้นรู้สึกทึ่ง อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสเปนพาดหัวข่าวว่า “ความเชื่อย้ายภูเขาได้” เมื่อพูดถึงการก่อสร้างหอประชุมแบบรวดเร็วในเมืองมาร์ทอส หนังสือพิมพ์นั้นถามว่า “ในโลกที่แล้งน้ำใจแบบทุกวันนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่ยังมีอาสา สมัครที่ไม่เห็นแก่ตัว เดินทางจากภูมิภาคต่าง ๆ [ของสเปน] ไปเมืองมาร์ทอส เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันสร้างอาคารหลังหนึ่งซึ่งทุบสถิติทั้งเรื่องความรวดเร็ว ความสมบูรณ์แบบ และความเป็นระบบระเบียบ?” หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตอบโดยยกคำพูดของอาสาสมัครที่เป็นพยานฯคนหนึ่งขึ้นมาดังนี้ “เหตุผลง่าย ๆ คือ ความจริงที่ว่าเราเป็นประชาชนที่ได้รับการสอนจากพระยะโฮวา”
งานก่อสร้างในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
8. ในปี 1999 คณะกรรมการปกครองได้อนุมัติโครงการอะไร และทำไม?
8 ผู้คนในดินแดนที่มีทรัพยากรจำกัดหลั่งไหลเข้ามาในองค์การของพระยะโฮวามากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พี่น้องประชาคมท้องถิ่นก็พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อสร้างสถานที่ประชุม แต่พี่น้องในบางประเทศต้องทนกับการรังเกียจเดียดฉันท์และการเยาะเย้ย เพราะหอประชุมท้องถิ่นหลายหลังดูไม่สง่างามเลยเมื่อเทียบกับสถานที่นมัสการของศาสนาอื่น ๆ แต่เริ่มในปี 1999 คณะกรรมการปกครองได้อนุมัติโครงการหนึ่งเพื่อเร่งสร้างหอประชุมในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนา และ “มีการเฉลี่ย” หรือแบ่งเงินบริจาคจากประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อช่วยสร้างหอประชุม (อ่าน 2 โครินท์ 8:13-15) และพี่น้องจากประเทศอื่นก็อาสาสมัครไปช่วยงานก่อสร้างด้วย
9. งานอะไรที่ดูเหมือนมีเยอะมากจนทำแทบไม่ไหว แต่ในที่สุดผลเป็นอย่างไร?
9 ตอนแรก ดูเหมือนว่างานก่อสร้างจะมีเยอะมากจนทำแทบไม่ไหว รายงานในปี 2001 บอกว่า เรายังต้องสร้างหอประชุมมากกว่า 18,300 หลังในประเทศที่กำลังพัฒนา 88 ประเทศ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากกษัตริย์เยซูคริสต์และพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ไม่มีงานอะไรที่เราทำไม่ได้ (มัด. 19:26) ภายใน 15 ปี ตั้งแต่ปี 1999-2013 ประชาชนของพระเจ้าสร้างหอประชุมในโครงการนี้เสร็จไป 26,849 หลัง b เนื่องจากพระยะโฮวาอวยพรงานประกาศเรื่อยมา พอถึงปี 2013 ประเทศเหล่านั้นจึงยังต้องการหอประชุมอีกราว ๆ 6,500 หลัง และตอนนี้ก็ยังต้องสร้างหอประชุมเพิ่มอีกปีละหลายร้อยหลัง
10-12. การสร้างหอประชุมหลังใหม่ ๆ ทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญอย่างไร?
10 การสร้างหอประชุมราชอาณาจักรหลังใหม่ ๆ ทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญอย่างไร? รายงานจากสำนักงานสาขาซิมบับเวบอกว่า “หลังจากที่หอประชุมใหม่สร้างเสร็จแค่เดือนเดียว ผู้เข้าร่วมประชุมก็มักจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า” ในหลายประเทศ ดูเหมือนผู้คนไม่ค่อยอยากมาสมทบกับเราถ้าเรายังไม่มีสถานนมัสการที่ดูน่านับถือ แต่พอสร้างหอประชุมหลังหนึ่งเสร็จได้ไม่นานคนก็มากันเต็ม แล้วเราก็ต้องสร้างหลังใหม่อีก สิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้มาหาพระยะโฮวาไม่ใช่แค่ตัวอาคารที่สวยงามเท่านั้น แต่เพราะคนที่มาช่วยกันสร้างหอประชุมได้แสดงความรักแบบคริสเตียนแท้ด้วย นี่ทำให้ผู้คนมององค์การของพระองค์ด้วยมุมมองใหม่ ให้เรามาดูบางตัวอย่างด้วยกัน
11 อินโดนีเซีย เมื่อชายคนหนึ่งที่เฝ้าดูการก่อสร้างหอประชุมรู้ว่าคนงานทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร เขาพูดว่า “พวกคุณทำได้ยังไง สุดยอดจริง ๆ! ผมเห็นพวกคุณแต่ละคนทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแถมยังมีความสุขด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ค่าจ้างเลย ผมว่าไม่มีองค์การศาสนาไหนเหมือนของพวกคุณอีกแล้ว!”
12 ยูเครน ผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านไปผ่านมาทุกวันและได้เห็นโครงการก่อสร้างหอประชุมหลังหนึ่ง เธอคิดในใจว่าคนงานเหล่านั้นต้องเป็นพยานพระยะโฮวา และอาคารที่กำลังสร้างอยู่ก็ต้องเป็นหอประชุมราชอาณาจักรแน่ ๆ เธอพูดว่า “ฉันเคยได้ยินเรื่องของพยานพระยะโฮวาจากน้องสาวที่เป็นพยานฯเมื่อเห็นงานที่กำลังทำอยู่นี้ ฉันก็ตัดสินใจว่าฉันอยากเป็นพี่น้องพยานพระยะโฮวาด้วยคน เพราะฉันเห็นความรักที่พวกเขามีต่อกัน” ผู้หญิงคนนี้ตัดสินใจเรียนคัมภีร์ไบเบิลและรับบัพติสมาในปี 2010
13, 14. (ก) คุณได้เรียนรู้อะไรจากท่าทีของสามีภรรยาที่เฝ้าดูการก่อสร้างหอประชุม? (ข) คุณจะทำให้สถานที่นมัสการของคุณเป็นที่ที่ทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญได้อย่างไร?
13 อาร์เจนตินา สามีภรรยาคู่หนึ่งเดินเข้ามาหาพี่น้องที่ดูแลโครงการก่อสร้างหอประชุมหลังหนึ่ง สามีพูดว่า “เราเฝ้าดูงานก่อสร้างของคุณมาตลอด และ . . . เราก็ตัดสินใจแล้วว่าอยากเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าในที่แห่งนี้” แล้วเขาถามว่า “เราต้องทำอะไรบ้างถึงจะมาร่วมประชุมที่นี่ได้?” พี่น้องชวนทั้งคู่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาตอบรับ แต่ก็ขอให้ทั้งครอบครัวมานั่งศึกษาด้วย พี่น้องเลยรีบตกลงด้วยความดีใจ
14 ไม่ว่าคุณจะมีส่วนช่วยสร้างหอประชุมหรือไม่ ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่คุณทำได้เพื่อหอประชุมราชอาณาจักรจะเป็นสถานที่ที่ทำให้ชื่อของพระเจ้าได้รับ คำสรรเสริญ อย่างเช่น คุณอาจตั้งใจชวนนักศึกษาพระคัมภีร์ รายเยี่ยม และคนทั่ว ๆ ไปให้มาร่วมประชุมกับคุณ คุณยังมีโอกาสช่วยทำความสะอาดและบำรุงรักษาสถานที่นมัสการของคุณด้วย แล้วถ้าคุณวางแผนให้ดี คุณก็อาจบริจาคช่วยค่าดูแลรักษาหอประชุมของคุณเอง หรือบริจาคเพื่อสร้างสถานที่นมัสการในที่อื่น ๆ ทั่วโลกได้ด้วย (อ่าน 1 โครินท์ 16:2) การทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญมากขึ้น
คนงานที่ “เต็มใจสมัคร”
15-17. (ก) คนที่ทำงานก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นใคร? (ข) คุณได้เรียนรู้อะไรจากความเห็นของพี่น้องหลายคู่ที่ทำงานในโครงการก่อสร้างนานาชาติ?
15 งานก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร หอประชุมใหญ่ และอาคารของสำนักงานสาขามักจะทำโดยพี่น้องในท้องถิ่น แต่บางครั้งพี่น้องจากประเทศอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ในงานก่อสร้างก็ไปช่วยด้วย อาสาสมัครบางคนปรับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองเพื่อจะไปช่วยโครงการก่อสร้างนานาชาติได้สักช่วงหนึ่ง ส่วนบางคนก็วางแผนเพื่อจะทำงานได้นานหลายปี เมื่อเสร็จงานจากที่หนึ่งเขาก็จะได้รับมอบหมายให้ทำงานที่อื่นต่อไป
16 งานก่อสร้างนานาชาติมีข้อท้าทายที่ไม่เหมือนกับงานอื่น แต่ก็ให้ความสุขเป็นรางวัล ตัวอย่างเช่น ทีโมกับลีนาเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้ เพื่อช่วยก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร หอประชุมใหญ่ และสำนักงานสาขา ทีโมเล่าว่า “ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้รับงานมอบหมายใหม่ ๆ แทบทุก 2 ปี” ลีนาที่แต่งงานกับทีโม 25 ปีแล้วเล่าว่า “ทีโมกับฉันทำงานรับใช้มา 10 ประเทศแล้ว เราต้องใช้เวลาและกำลังเรี่ยวแรงอย่างมากเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น อาหาร อากาศ ภาษา เพื่อน ๆ และเขตประกาศด้วย” c ความพยายามเหล่านี้คุ้มค่าไหม? ลีนาบอกว่า “ข้อท้าทายเหล่านี้กลับเป็นประโยชน์ต่อเรามาก เราได้เห็นความรักและความมีน้ำใจของพี่น้องคริสเตียน เรารู้สึกได้ว่าพระยะโฮวารักและดูแลเอาใจใส่เรา ทั้งยังได้เห็นคำสัญญาที่พระเยซูให้ไว้กับสาวกในมาระโก 10:29, 30 เกิดขึ้นกับตัวเราจริง ๆ เรามีแม่ มีพี่ มีน้องมากเป็นร้อย ๆ เท่า” ทีโมบอกว่า “เรามีความสุขลึก ๆ ที่ได้ใช้ความสามารถของเราเพื่อสนับสนุนเป้าหมายอันสูงส่ง ซึ่งก็คือทำให้ทรัพย์สมบัติของกษัตริย์งอกงามและเพิ่มพูนขึ้น”
17 ดาร์เรนกับซาราห์ที่เคยช่วยโครงการก่อสร้างในแอฟริกา เอเชีย อเมริกากลาง ยุโรป อเมริกาใต้ และแปซิฟิกใต้ รู้สึกว่าพวกเขาได้รับมากกว่าที่ตัวเองให้ ทั้ง ๆ ที่ต้องเจอกับข้อท้าทายหลายอย่าง ดาร์เรนพูดว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับพี่น้องจากทวีปต่าง ๆ ผมได้เห็นว่าความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาเป็นเหมือนด้ายเส้นหนึ่งที่ผูกพันพี่น้องทั่วโลกไว้ด้วยกัน” ส่วนซาราห์ก็พูดว่า “ฉันเรียนรู้หลายอย่างจากพี่น้องต่างชาติต่างภาษา! เมื่อเห็นว่าพวกเขาเสียสละเพื่อพระยะโฮวามากขนาดไหน ฉันก็อยากให้และอยากทำดีที่สุดเพื่อพระองค์ต่อ ๆ ไป”
18. คำพยากรณ์ที่บันทึกในบทเพลงสรรเสริญ 110:1-3 เกิดขึ้นจริงอย่างไรในทุกวันนี้?
18 กษัตริย์ดาวิดพยากรณ์ว่า แม้ประชาชนที่ยอมอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าจะต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง แต่พวกเขาจะ “เต็มใจสมัคร” เพื่อสนับสนุนงานราชอาณาจักร (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 110:1-3) ทุกคนที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนราชอาณาจักรก็กำลังทำให้คำพยากรณ์ข้อนั้นเกิดขึ้นจริง (1 โค. 3:9) อาคารสำนักงานสาขาหลายสิบหลัง หอประชุมใหญ่หลายร้อยแห่ง และหอประชุมนับหมื่นหลังของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก เป็นหลักฐานที่แสดงว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ามีอยู่จริงและกำลังปกครองอยู่ เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับใช้กษัตริย์เยซูคริสต์ในงานที่ทำให้พระยะโฮวาได้รับเกียรติอย่างสูงซึ่งเป็นสิ่งที่คู่ควรกับพระองค์!
a ในปี 2013 มีอาสาสมัครมากกว่า 230,000 คนที่ได้รับการอนุมัติให้ทำงานกับคณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาค 132 คณะในสหรัฐ และทุกปีคณะกรรมการเหล่านี้ก็ยังประสานงานกันเพื่อก่อสร้างหอประชุมหลังใหม่ประมาณ 75 หลัง รวมทั้งช่วยปรับปรุงหรือซ่อมแซมหอประชุมอีกประมาณ 900 หลังในสหรัฐ
b จำนวนนี้ยังไม่รวมการสร้างหอประชุมอีกหลายหลังในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในโครงการนี้
c ผู้รับใช้และอาสาสมัครนานาชาติใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในที่ก่อสร้าง แต่พวกเขาก็สนับสนุนงานประกาศของประชาคมท้องถิ่น โดยจัดเวลาไปประกาศในตอนเย็นหรือในวันเสาร์-อาทิตย์