บิบลิอา เฮบรายกา (ฉบับของคิตเทลและฉบับอื่น ๆ ที่ออกมาภายหลัง)
ประมาณปี 1906 ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮีบรูที่ชื่อรูดอล์ฟ คิตเทล (ปี 1853-1929) ได้พิมพ์ บิบลิอา เฮบรายกา (BHK) ฉบับแรกที่ประเทศเยอรมนี คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้เป็นพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เป็นภาษาฮีบรู คำว่าบิบลิอา เฮบรายกา เป็นภาษาละติน (แปลว่า “คัมภีร์ไบเบิลภาษาฮีบรู”) มีการใช้ชื่อนี้สำหรับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่พิมพ์ออกมาเป็นชุดสำหรับผู้เชี่ยวชาญ—ดู สำเนาพระคัมภีร์ของพวกมาโซเรต คัมภีร์ไบเบิลสำหรับผู้เชี่ยวชาญ
คัมภีร์ไบเบิลของคิตเทลฉบับพิมพ์แรกและฉบับพิมพ์ที่ 2 (ฉบับพิมพ์ที่ 2 จัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1909-1913) ใช้ข้อความภาษาฮีบรูจากคัมภีร์ไบเบิลของพวกรับบีที่ทำขึ้นโดย ยากอบ เบน คายิม จัดพิมพ์ในปี 1524-1525 ที่เวนิซ อิตาลีโดยดาเนียล บอมเบิร์ก แต่ข้อความภาษาฮีบรูที่เก่าแก่กว่านี้อยู่ในบิบลิอา เฮบรายกา ของคิตเทลฉบับพิมพ์ที่ 3 (BHK3 พิมพ์เสร็จปี 1937 โดยเพื่อนร่วมงานของคิตเทล) ฉบับพิมพ์นี้ใช้ข้อความจากโคเดกซ์เลนินกราด (B 19A) ซึ่งมีอายุประมาณปี ค.ศ.1008 หรือ 1009 โคเดกซ์เลนินกราดเป็นสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดที่มีพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูครบทั้งเล่ม (ดู โคเดกซ์เลนินกราด) บิบลิอา เฮบรายกา ฉบับพิมพ์ต่อ ๆ มา (ปี 1951-1955) ใช้ข้อความจากม้วนหนังสือทะเลตาย ซึ่ง บิบลิอา เฮบรายกา ฉบับหลัง ๆ นี้ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการแปลพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ภาคภาษาฮีบรู (ภาษาอังกฤษ) (ปี 1953-1960)
มีการทำฉบับแปลรุ่นต่อ ๆ มาคือ บิบลิอา เฮบรายกา สตุทท์การ์เทนเซีย (BHS จัดพิมพ์ปี ค.ศ. 1967-1977) และบิบลิอา เฮบรายกา ควินตา (BHQ จัดพิมพ์ปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา) ทั้งสองฉบับแปลนี้มีข้อมูลค้นคว้าที่ได้จากม้วนหนังสือทะเลตายและสำเนาพระคัมภีร์โบราณอื่น ๆ เนื้อหาหลักใน บิบลิอา เฮบรายกา ทั้ง 2 ฉบับแปลนี้ใช้ข้อความภาษาฮีบรูจากโคเดกซ์เลนินกราด และมีเชิงอรรถซึ่งมีข้อความจากพระคัมภีร์อื่น ๆ เช่น เพนทาทุกของสะมาเรีย ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ และทาร์กุมภาษาอาราเมอิก ฉบับวัลเกต ภาษาละติน และฉบับเพชิตตา ภาษาซีรีแอก มีการใช้ บิบลิอา เฮบรายกา ฉบับพิมพ์รุ่นหลัง ๆ เป็นพื้นฐานในการทำคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับพิมพ์ปี 1984 และฉบับปรับปรุงปี 2013—ดู ภาคผนวก ก3