วัลเกต
คัมภีร์ไบเบิลภาษาละตินที่แปลเสร็จประมาณปี ค.ศ. 405 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลชื่อ ยูเซบิอุส ไฮรอนนีมุส หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อเจโรม
ในสมัยของเจโรม คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่หาอ่านได้ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาละตินโบราณและมีคุณภาพการแปลที่ไม่ดี เจโรมได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการผลิตฉบับแปลภาษาละตินที่เป็นมาตรฐาน เขาเริ่มต้นกับหนังสือข่าวดีสี่เล่มโดยแปลจากสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่ดีที่สุดที่เขาหาได้ จากนั้นเขาก็แปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโดยเริ่มจากหนังสือสดุดี ตอนแรกเขาแปลจากฉบับเซปตัวจินต์ แต่ต่อมาก็แปลโดยตรงจากภาษาฮีบรู (ฉบับวัลเกต บางส่วนอาจแปลโดยคนอื่น) เจโรมรู้ว่าพระเจ้าชื่ออะไร แต่ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ในฉบับแปลของเขา ในคำนำของหนังสือซามูเอลและพงศ์กษัตริย์ เจโรมเขียนว่า “และในสำเนาภาษากรีกบางฉบับที่หลงเหลืออยู่จนถึงตอนนี้ เราก็ยังพบชื่อพระเจ้าในรูปเททรากรัมมาทอน [เช่น יהוה] ซึ่งเป็นตัวอักษรโบราณ”
ตอนแรกฉบับแปลของเจโรมไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมากลับได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ในที่สุดฉบับแปลนี้ก็รู้จักกันในชื่อฉบับวัลเกต ซึ่งมาจากคำละตินที่แปลว่า “เป็นที่รู้จัก” หรือ “ได้รับความนิยม” หลังจากมีการปรับปรุงใหม่หลายครั้ง ฉบับวัลเกต ปี 1592 (ซึ่งเรียกว่าฉบับซิกส์ทีน เคลเมนทีน) ก็กลายเป็นฉบับแปลที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกใช้อย่างเป็นทางการ สำเนาของฉบับวัลเกต หลายพันฉบับยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้