ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภาคผนวก

เราควรปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์

เราควรปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์

มีไม่กี่สิ่งที่สามารถทำให้เราเจ็บปวดได้มากยิ่งกว่าการที่ญาติหรือเพื่อนสนิทถูกขับออกจากประชาคมเนื่องจากไม่กลับใจจากบาปที่เขาได้ทำ. วิธีที่เราตอบรับต่อคำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจเผยให้เห็นว่าเรามีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระเจ้าและภักดีต่อการจัดเตรียมของพระองค์มากแค่ไหน. * ขอพิจารณาคำถามบางข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้.

เราควรปฏิบัติอย่างไรกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ให้เลิกคบหากับคนที่ได้ชื่อว่าพี่น้องซึ่งเป็นคนผิดประเวณี คนโลภ คนไหว้รูปเคารพ คนปากร้าย คนขี้เมา หรือคนกรรโชกทรัพย์ แม้จะกินอะไรด้วยกันกับคนเช่นนั้นก็อย่าเลย.” (1 โครินท์ 5:11) เมื่อกล่าวถึงทุกคนที่ “ไม่ทำตามคำสอนของพระคริสต์” เราอ่านดังนี้: “อย่าเชิญเขาเข้าบ้านหรืออย่าทักทายเขาเลย. ด้วยว่าผู้ที่ทักทายเขาก็มีส่วนร่วมในการชั่วของเขา.” (2 โยฮัน 9-11) เราต้องไม่ติดต่อพูดคุยเรื่องทางฝ่ายวิญญาณหรือทางสังคมกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์. หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มกราคม 1982 หน้า 22 กล่าวดังนี้: “คำกล่าวง่าย ๆ ‘สวัสดี’ แก่ใครคนหนึ่งอาจเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การสนทนาหรือบางทีอาจทำให้เกิดมิตรภาพได้ด้วยซ้ำ. เรายังอยากจะเริ่มก้าวแรกนั้นกับบุคคลที่ถูกตัดสัมพันธ์ไหม?”

สำคัญจริง ๆ หรือที่จะหลีกเลี่ยงการติดต่ออย่างสิ้นเชิงกับคนที่ถูกตัดสัมพันธ์? ใช่ ด้วยเหตุผลหลายประการ. ประการแรก นั่นเป็นการแสดงว่าเราภักดีต่อพระเจ้าและพระคำของพระองค์. เราเชื่อฟังพระยะโฮวาไม่ใช่เฉพาะเมื่อง่ายที่จะทำตามเท่านั้น แต่เมื่อยากที่จะทำตามด้วย. ความรักที่มีต่อพระเจ้ากระตุ้นเราให้เชื่อฟังพระบัญชาทุกข้อของพระองค์ ยอมรับว่าพระองค์เที่ยงธรรมและเป็นความรักและพระบัญญัติของพระองค์ส่งเสริมผลประโยชน์อันดีที่สุด. (ยะซายา 48:17; 1 โยฮัน 5:3) ประการที่สอง การเลิกคบหากับผู้ทำผิดที่ไม่กลับใจเป็นการปกป้องเราและประชาคมจากการปนเปื้อนทางฝ่ายวิญญาณและศีลธรรม และส่งเสริมชื่อเสียงที่ดีของประชาคม. (1 โครินท์ 5:6, 7) ประการที่สาม การที่เรายึดมั่นอยู่กับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลอาจถึงกับเป็นประโยชน์ต่อคนที่ถูกตัดสัมพันธ์. โดยสนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการตัดสินความ เราอาจกระตุ้นหัวใจของผู้ทำผิดซึ่งตอนนั้นยังไม่ตอบรับการช่วยเหลือจากผู้ปกครอง. การสูญเสียมิตรภาพอันมีค่ากับคนที่เขาเคยรักอาจช่วยเขาให้ “สำนึกตัว,” เห็นว่าความผิดของเขานั้นเป็นเรื่องร้ายแรง, และดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อกลับมาหาพระยะโฮวา.—ลูกา 15:17.

จะว่าอย่างไรถ้าญาติถูกตัดสัมพันธ์? ในกรณีเช่นนี้ สายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวอาจก่อให้เกิดการทดสอบความภักดีต่อกฎหมายของพระเจ้าอย่างแท้จริง. เราควรปฏิบัติอย่างไรกับญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์? เราไม่สามารถกล่าวถึงทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ให้เราพิจารณาสภาพการณ์พื้นฐานสองอย่าง.

ในบางกรณี สมาชิกครอบครัวที่ถูกตัดสัมพันธ์อาจยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันฐานะเป็นส่วนของครอบครัว. เนื่องจากการที่เขาถูกตัดสัมพันธ์ไม่ได้ยุติสายสัมพันธ์ในครอบครัว กิจวัตรและการติดต่อเกี่ยวข้องกับครอบครัวในชีวิตประจำวันก็อาจดำเนินต่อไป. กระนั้น เนื่องจากการเลือกทางชีวิตของเขา สมาชิกครอบครัวที่มีความเชื่อจึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางฝ่ายวิญญาณกับเขา. ดังนั้น สมาชิกครอบครัวที่ภักดีต่อพระเจ้าจึงไม่อาจมีกิจกรรมต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณร่วมกับเขาได้อีกต่อไป. ยกตัวอย่าง ถ้าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์อยู่ที่บ้าน เขาจะไม่เข้าร่วมเมื่อครอบครัวศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน. อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์เป็นลูกวัยเยาว์ บิดามารดายังคงมีความรับผิดชอบที่จะฝึกอบรมและตีสอนเขา. ดังนั้น บิดามารดาที่มีความรักอาจจัดให้มีการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูกคนนั้น. *สุภาษิต 6:20-22; 29:17.

ในอีกกรณีหนึ่ง ญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์อาจอาศัยอยู่ที่อื่น. แม้จำเป็นต้องติดต่อกันบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเอาใจใส่เรื่องที่สำคัญของครอบครัว การติดต่อใด ๆ เช่นนั้นควรมีให้น้อยที่สุด. สมาชิกครอบครัวคริสเตียนที่ภักดีไม่มองหาข้ออ้างเพื่อติดต่อกับญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์ซึ่งอาศัยอยู่ที่อื่น. แทนที่จะทำเช่นนั้น ความภักดีต่อพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์กระตุ้นพวกเขาให้สนับสนุนการจัดเตรียมตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวกับการตัดสัมพันธ์. แนวทางที่เขาภักดีก็เพื่อประโยชน์อันดีที่สุดสำหรับผู้ทำผิด และอาจช่วยผู้ทำผิดได้ประโยชน์จากการตีสอนที่ได้รับ. *ฮีบรู 12:11.

^ วรรค 1 หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่เกี่ยวกับคนถูกตัดสัมพันธ์ใช้ได้เช่นเดียวกันกับคนที่ตัดตัวเองจากประชาคม.

^ วรรค 2 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กวัยเยาว์ที่ถูกตัดสัมพันธ์ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้าน ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ตุลาคม 2001 หน้า 16-17 และฉบับ 15 พฤศจิกายน 1988 หน้า 23-24.

^ วรรค 3 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติกับญาติที่ถูกตัดสัมพันธ์ ดูคำแนะนำที่มีการพิจารณาตามหลักพระคัมภีร์ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 เมษายน 1988 หน้า 26-31 และฉบับ 15 มกราคม 1982 หน้า 24-32.