ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 9

“จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี”

“จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี”

“ฉะนั้น จงกำจัดแนวโน้มแบบโลกซึ่งปรากฏในอวัยวะของท่านทั้งหลาย คือการผิดประเวณี การประพฤติที่ไม่สะอาด ราคะตัณหา ความปรารถนาที่ก่อความเสียหายและความโลภ ซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.”—โกโลซาย 3:5.

1, 2. บีละอัมวางแผนอย่างไรเพื่อก่อความเสียหายแก่ประชาชนของพระยะโฮวา?

นักตกปลาไปยังบริเวณที่ตัวเองชอบเป็นพิเศษ. เขาอยากได้ปลาชนิดหนึ่ง. เขาเลือกเหยื่อเกี่ยวเข้ากับเบ็ดแล้วเหวี่ยงลงไปในน้ำ. สักครู่ต่อมา สายเบ็ดตึง คันเบ็ดโก่ง แล้วเขาหมุนรอกเพื่อดึงสายเบ็ดขึ้นมาเอาปลาที่ตกได้. เขายิ้มด้วยความพอใจเพราะรู้ว่าตัวเองได้เลือกเหยื่อที่เหมาะกับปลา.

2 เรื่องนี้ทำให้เราระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งในอดีต. ตอนนั้นเป็นปี 1473 ก่อนสากลศักราช ชายคนหนึ่งชื่อบีละอัมขบคิดว่าจะใช้เหยื่อล่อแบบไหนดี. แต่ผู้ที่เขาต้องการล่อลวงก็คือ ประชาชนของพระเจ้าซึ่งตั้งค่ายอยู่บนที่ราบโมอาบ ตรงชายแดนของแผ่นดินตามคำสัญญา. บีละอัมอ้างว่าเป็นผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นคนโลภที่ถูกจ้างมาให้แช่งชาติอิสราเอล. อย่างไรก็ดี โดยการแทรกแซงจากพระเจ้า บีละอัมได้แต่อวยพรชาติอิสราเอล. เพราะมุ่งมั่นจะได้สิ่งตอบแทน บีละอัมจึงหาเหตุผลว่า บางทีเขาอาจทำให้พระเจ้าแช่งประชาชนของพระองค์เองได้ ถ้าเพียงแต่ล่อลวงพวกเขาให้ทำบาปร้ายแรง. ด้วยความคิดดังกล่าว บีละอัมจึงใช้เสน่ห์ยั่วยวนของหญิงสาวชาวโมอาบเป็นเหยื่อล่อ.—อาฤธโม 22:1-7; 31:15, 16; วิวรณ์ 2:14.

3. แผนการของบีละอัมบรรลุผลสำเร็จถึงขีดไหน?

3 การล่อลวงดังกล่าวได้ผลไหม? ได้ผลในระดับหนึ่ง. ผู้ชายอิสราเอลหลายพันคนยอมจำนนต่อการล่อลวงนั้นโดย “ประพฤติผิดล่วงประเวณีกับหญิงชาวเมืองโมอาบ.” พวกเขาถึงกับเริ่มนมัสการพระของชาวโมอาบ รวมทั้งพระบาละแห่งเปโอร์อันน่ารังเกียจ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการเจริญพันธุ์หรือเพศ. ผลก็คือ ชาวอิสราเอล 24,000 คนตายขณะจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาอยู่รอมร่อ. ช่างเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดเสียจริง ๆ!—อาฤธโม 25:1-9.

4. เหตุใดชาวอิสราเอลหลายพันคนตกเป็นเหยื่อของการผิดศีลธรรม?

4 อะไรนำไปสู่ความหายนะเช่นนี้? คนจำนวนมากเกิดมีหัวใจชั่วโดยเอาตัวออกห่างจากพระยะโฮวา พระเจ้าที่ได้ช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากอียิปต์, ทรงเลี้ยงดูพวกเขาในถิ่นทุรกันดาร, และทรงนำพวกเขามาถึงชายแดนของแผ่นดินตามคำสัญญาอย่างปลอดภัย. (ฮีบรู 3:12) โดยนึกถึงเรื่องดังกล่าว อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “อย่าทำผิดประเวณีอย่างที่พวกเขาบางคนทำผิดประเวณีแล้วล้มตายในวันเดียวสองหมื่นสามพันคน.” *1 โครินท์ 10:8.

5, 6. เหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับการทำบาปของชาติอิสราเอลบนที่ราบโมอาบจึงเป็นประโยชน์แก่เราในทุกวันนี้?

5 เรื่องราวในพระธรรมอาฤธโมมีบทเรียนสำคัญหลายประการสำหรับประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ ซึ่งจวนจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก. (1 โครินท์ 10:11) ตัวอย่างเช่น โลกทุกวันนี้ถูกเรื่องเพศครอบงำคล้ายกันกับชาวโมอาบสมัยโบราณ ทว่าอยู่ในระดับที่ใหญ่โตกว่า. นอกจากนั้น ในแต่ละปีคริสเตียนหลายหมื่นคนพ่ายแพ้ต่อการทำผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นเหยื่อล่อสำคัญอย่างเดียวกันที่ทำให้ชาวอิสราเอลหลงผิด. (2 โครินท์ 2:11) และโดยการเลียนแบบซิมรีผู้ซึ่งพาหญิงชาติมิดยานเดินเข้าไปในค่ายอิสราเอลอย่างไม่สะทกสะท้านเพื่อเข้าไปในเต็นท์ของตัวเอง บางคนที่คบหากับประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้ได้กลายเป็นอิทธิพลที่เสื่อมทรามในประชาคมคริสเตียน.—อาฤธโม 25:6, 14; ยูดา 4.

6 คุณสำนึกไหมว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับเหตุการณ์ซึ่งได้เกิดขึ้นบนที่ราบโมอาบ? คุณพอจะมองเห็นรางวัลอยู่รำไรแล้วไหม ซึ่งก็คือโลกใหม่ที่คุณรอคอยมานาน? ถ้าเช่นนั้น จงทำทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เพื่อเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ โดยเอาใจใส่ฟังพระบัญชาที่ว่า “จงหลีกหนีจากการผิดประเวณี.”—1 โครินท์ 6:18.

มองไปยังที่ราบโมอาบ

การผิดประเวณีคืออะไร?

7, 8. “การผิดประเวณี” คืออะไร และคนที่ทำผิดประเวณีเก็บเกี่ยวสิ่งที่ตนหว่านอย่างไร?

7 ตามที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล “การผิดประเวณี” (ภาษากรีก พอร์เนีย ) หมายถึงการสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดทำนองคลองธรรมกับผู้ที่ไม่ได้สมรสกันอย่างถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์. การผิดประเวณีครอบคลุมถึงการเล่นชู้, การค้าประเวณี, และการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่ได้สมรสกัน รวมถึงการร่วมเพศทางปากและทางทวารหนัก และการลูบคลำอวัยวะเพศของผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส. นอกจากนั้น การผิดประเวณียังรวมเอาการกระทำดังกล่าวระหว่างคนเพศเดียวกัน อีกทั้งการร่วมเพศกับสัตว์ด้วย. *

8 พระคัมภีร์ระบุชัดทีเดียวว่า คนที่ทำผิดประเวณีเป็นอาจิณไม่อาจจะอยู่ต่อไปในประชาคมคริสเตียนได้และจะไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์. (1 โครินท์ 6:9; วิวรณ์ 22:15) นอกจากนั้น แม้แต่ในขณะนี้พวกเขาก็ประสบผลเสียหายอย่างมาก เช่น ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและหมดความนับถือตัวเอง, มีความไม่ลงรอยกันระหว่างสามีภรรยา, ความรู้สึกผิด, การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์, โรคภัย, และกระทั่งความตาย. (กาลาเทีย 6:7, 8) ทำไมจะก้าวเข้าไปในทางที่เต็มไปด้วยความทุกข์มากมายเช่นนั้นเล่า? น่าเศร้าใจ หลายคนไม่ได้คิดถึงผลเสียหายร้ายแรงในตอนท้าย ขณะที่เขาเริ่มขั้นตอนแรก ซึ่งบ่อยทีเดียวเกี่ยวข้องกับสื่อลามก.

สื่อลามก—ขั้นตอนแรก

9. สื่อลามกเป็นสิ่งไม่มีพิษภัยดังที่บางคนอ้างไหม? จงอธิบาย.

9 ในหลายประเทศ สื่อลามกเป็นสิ่งเด่นบนแผงขายหนังสือ, ในเพลง, โทรทัศน์ และแทบจะแทรกซึมอยู่ทั่วในอินเทอร์เน็ต. * สื่อลามกเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษภัยดังที่บางคนอ้างไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ! คนที่ดูสื่อลามกอาจกลายเป็นผู้ที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองจนเป็นนิสัย และเพาะ “ราคะตัณหาที่น่าอาย” ซึ่งอาจทำให้เกิดนิสัยเสพติดกามารมณ์, ความปรารถนาที่วิปริต, ความไม่ลงรอยกันในชีวิตสมรส, และกระทั่งการหย่าร้าง. * (โรม 1:24-27; เอเฟโซส์ 4:19) นักวิจัยคนหนึ่งเปรียบนิสัยเสพติดกามารมณ์กับโรคมะเร็ง. เขากล่าวว่า “นิสัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นและลุกลามไปเรื่อย ๆ แทบจะไม่ลดน้อยลงเลย ทั้งเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะเยียวยารักษา.”

การใช้อินเทอร์เน็ตเฉพาะแต่ในบริเวณที่คนในบ้านมองเห็นนับว่าเป็นแนวทางแห่งสติปัญญา

10. เราจะนำหลักการที่พบในยาโกโบ 1:14, 15 มาใช้ได้ในทางใดบ้าง? (ดูกรอบ “ ได้รับกำลังเพื่อจะสะอาดทางด้านศีลธรรม.”)

10 ขอพิจารณาถ้อยคำที่บันทึกไว้ในยาโกโบ 1:14, 15 ซึ่งอ่านว่า “ทุกคนถูกทดสอบโดยที่ความปรารถนาของเขาเองชักนำและล่อใจ. เมื่อความปรารถนานั้นมากพอจะเกิดผลก็จะทำให้เกิดบาป แล้วเมื่อมีการทำบาป บาปนั้นก็ทำให้เกิดความตาย.” ดังนั้น หากความปรารถนาที่ไม่ดีผุดขึ้นมาในความคิดของคุณ ก็ให้รีบขจัดออกไปทันที! ตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นภาพที่เร้าราคะโดยไม่ตั้งใจ ก็ให้รีบมองไปทางอื่น หรือปิดคอมพิวเตอร์ หรือเปลี่ยนช่องทีวี. จงทำอะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่อจะหลีกเลี่ยงการยอมจำนนต่อความปรารถนาที่ผิดทางศีลธรรมก่อนที่มันจะลุกลามไปอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่อยู่และคุณก็พ่ายแพ้มัน!—มัดธาย 5:29, 30.

11. เมื่อต่อสู้กับความปรารถนาที่ผิด เราจะแสดงความไว้วางใจในพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?

11 ด้วยเหตุผลที่ดี พระองค์ผู้ทรงรู้จักเราดียิ่งกว่าที่เรารู้จักตัวเองทรงกระตุ้นเตือนว่า “ฉะนั้น จงกำจัดแนวโน้มแบบโลกซึ่งปรากฏในอวัยวะของท่านทั้งหลาย คือการผิดประเวณี การประพฤติที่ไม่สะอาด ราคะตัณหา ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย และความโลภซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.” (โกโลซาย 3:5) จริงอยู่ การกระทำดังกล่าวอาจเป็นเรื่องยาก. แต่ขอจำไว้ว่า เรามีพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ซึ่งเปี่ยมด้วยความรักและความอดทนที่เราจะอ้อนวอนขอความช่วยเหลือได้. (บทเพลงสรรเสริญ 68:19) ดังนั้น จงหันเข้าหาพระองค์ทันทีเมื่อความคิดที่น่ารังเกียจผุดขึ้นมาในจิตใจคุณ. จงอธิษฐานขอ “กำลังที่มากกว่าปกติ” และควบคุมความคิดของคุณให้เพ่งเล็งในเรื่องอื่น.—2 โครินท์ 4:7; 1 โครินท์ 9:27; ดูกรอบ “ ฉันจะเลิกนิสัยที่ไม่ดีได้อย่างไร?

12. “หัวใจ” ของเราคืออะไร และทำไมเราต้องป้องกันรักษาหัวใจของเราไว้?

12 กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดได้เขียนว่า “จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง เพราะแหล่งแห่งชีวิตเกิดจากหัวใจ.” (สุภาษิต 4:23, ล.ม.) “หัวใจ” ของเราคือตัวตนภายในของเรา บุคคลที่เราเป็นจริง ๆ ในสายพระเนตรของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น การที่พระเจ้าประเมินดู “หัวใจ” ของเรานั่นแหละที่กำหนดว่าเราจะได้รับชีวิตนิรันดร์หรือไม่ ไม่ใช่ที่ว่าคนอื่นอาจมองว่าเราเป็นคนอย่างไร. นี่เป็นเรื่องที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายด้วย. ดังนั้น เพื่อจะไม่มองดูผู้หญิงอย่างไม่บังควร โยบผู้ซื่อสัตย์จึงได้ตั้งคำมั่นสัญญากับตาตัวเอง. (โยบ 31:1) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับพวกเรา! ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้แสดงทัศนะอย่างเดียวกันเมื่อท่านอธิษฐานว่า “ขอให้ลูกตาของข้าพเจ้าเมินไปเสียจากของอนิจจัง.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:37.

การเลือกอย่างไม่ฉลาดของดีนา

13. ดีนาคือใครและเหตุใดการเลือกเพื่อนที่เธอคบหาด้วยจึงไม่ฉลาด?

13 ดังที่เราได้เห็นในบท 3 คนที่เราคบหาอาจมีผลกระทบอันทรงพลังต่อเราในทางดีหรือไม่ดีก็ได้. (สุภาษิต 13:20; 1 โครินท์ 15:33) ขอพิจารณาตัวอย่างของดีนา ลูกสาวคนหนึ่งของยาโคบปฐมบรรพบุรุษ. (เยเนซิศ 34:1) ทั้ง ๆ ที่ได้รับการอบรมที่ดีในวัยเด็ก ดีนาได้คบหาอย่างไม่ฉลาดกับหญิงสาวชาวคะนาอัน. เช่นเดียวกับพวกโมอาบ ชาวคะนาอันมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องการผิดศีลธรรม. (เลวีติโก 18:6-25) ในสายตาของผู้ชายคะนาอัน รวมทั้งเซเค็มซึ่ง “เป็นคนมีผู้นับหน้าถือตามากกว่าคนทั้งปวง” ในครอบครัวของบิดา ดีนาดูเหมือนเป็นผู้หญิงที่จะตกเป็นเหยื่อของพวกเขาอย่างง่ายดาย.—เยเนซิศ 34:18, 19.

14. การที่ดีนาเลือกเพื่อนไม่ดีทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดอย่างไร?

14 ดีนาคงไม่ได้คิดถึงการมีเพศสัมพันธ์เมื่อเธอได้พบเซเค็ม. แต่เขาได้ทำสิ่งที่ชาวคะนาอันส่วนใหญ่คงจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อถูกปลุกเร้าทางเพศ. การต้านทานใด ๆ ของดีนาในนาทีสุดท้ายไม่ได้ผล เพราะเซเค็ม “เอา [เธอ] ไปหลับนอนทำการอนาจาร.” ดูเหมือนว่าต่อมาเซเค็ม “รัก” ดีนา แต่นั่นก็มิได้กลบเกลื่อนความผิดที่เขาได้กระทำต่อเธอ. (เยเนซิศ 34:1-4) และดีนาก็ไม่ใช่คนเดียวที่ได้รับผลเสียหาย. การเลือกคนที่เธอคบหาอย่างไม่สุขุมทำให้เกิดเหตุการณ์ที่นำความอัปยศและคำติเตียนมาสู่ทุกคนในครอบครัว.—เยเนซิศ 34:7, 25-31; กาลาเทีย 6:7, 8.

15, 16. เราจะได้สติปัญญาแท้โดยวิธีใด? (ดูกรอบ “ ข้อพระคัมภีร์สำหรับการใคร่ครวญ.”)

15 หากดีนาได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ เธอก็เรียนหลังจากผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวดแล้ว. คนที่รักและเชื่อฟังพระยะโฮวาไม่ต้องเรียนบทเรียนชีวิตด้วยประสบการณ์อันขมขื่น. เนื่องจากรับฟังพระเจ้า พวกเขาจึงเลือก “ดำเนินกับคนมีปัญญา.” (สุภาษิต 13:20) ดังนั้น เขาจึงได้เข้าใจ “วิถีที่ดีทุกสาย” และหลีกเลี่ยงปัญหาและความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องประสบ.—สุภาษิต 2:6-9, ฉบับแปลใหม่; บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3.

16 สติปัญญาที่มาจากพระเจ้ามีอยู่พร้อมสำหรับทุกคนที่ปรารถนาสติปัญญานั้นและเป็นผู้ที่สนองความปรารถนาดังกล่าวโดยบากบั่นในการอธิษฐานและโดยการศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำ รวมทั้งเรื่องที่ชนจำพวกทาสได้จัดเตรียมไว้. (มัดธาย 24:45; ยาโกโบ 1:5) ความถ่อมใจนับว่าสำคัญด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นโดยการเต็มใจเชื่อฟังคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์. (2 กษัตริย์ 22:18, 19) ตัวอย่างเช่น คริสเตียนอาจยอมรับในหลักการที่ว่า หัวใจเขาอาจทรยศและสิ้นคิด. (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) แต่ถ้าเขาเผชิญสถานการณ์อย่างหนึ่งโดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณที่ดี เขาถ่อมใจพอที่จะยอมรับคำแนะนำและความช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงซึ่งเปี่ยมด้วยความรักไหม?

17. จงพรรณนาสถานการณ์อย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว และแสดงให้เห็นวิธีที่บิดาอาจหาเหตุผลกับลูกสาวของเขา.

17 ขอให้นึกภาพสถานการณ์ต่อไปนี้. บิดาไม่อนุญาตให้ลูกสาวกับชายหนุ่มคริสเตียนคนหนึ่งออกไปข้างนอกด้วยกันโดยไม่มีใครไปด้วย. เด็กสาวบอกกับบิดาว่า “คุณพ่อไม่ไว้ใจหนูหรือคะ? เราจะไม่ทำอะไรที่ผิดหรอก!” เธออาจรักพระยะโฮวาและมีความตั้งใจดียิ่ง แต่เธอ “ดำเนินด้วยปัญญา [จากพระเจ้า]” ไหม? เธอ ‘หลีกหนีจากการผิดประเวณี’ ไหม? หรือว่าเธอ “วางใจหัวใจของตนเอง” อย่างโฉดเขลา? (สุภาษิต 28:26, ล.ม.) บางทีคุณอาจคิดถึงหลักการเพิ่มเติมซึ่งจะช่วยบิดากับลูกสาวที่กล่าวถึงในข้อนี้ให้หาเหตุผลด้วยกันในเรื่องนี้.—ดูสุภาษิต 22:3; มัดธาย 6:13; 26:41.

โยเซฟหลีกหนีจากการผิดประเวณี

18, 19. การล่อใจเช่นไรได้เกิดขึ้นในชีวิตของโยเซฟ และท่านได้จัดการอย่างไรกับการล่อใจนั้น?

18 ชายหนุ่มที่ดีคนหนึ่งซึ่งรักพระเจ้าและหลีกหนีจากการผิดประเวณีก็คือโยเซฟ น้องชายต่างมารดาของดีนา. (เยเนซิศ 30:20-24) โยเซฟได้เห็นด้วยตัวเองมาแล้วถึงผลจากการที่พี่สาวของตนขาดวิจารณญาณ. ไม่ต้องสงสัยว่า ความทรงจำในเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งความปรารถนาของโยเซฟที่จะเป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ ได้ปกป้องท่านไว้หลายปีต่อมาในอียิปต์ตอนที่ภรรยานายของท่านพยายามจะยั่วยวนท่าน “ทุก ๆ วัน.” แน่นอน ในฐานะเป็นทาส โยเซฟไม่อาจจะเพียงแค่ลาออกจากงานแล้วไปอยู่ที่อื่น! ท่านต้องจัดการกับสถานการณ์นั้นอย่างฉลาดสุขุมด้วยความกล้าหาญ. ท่านได้ทำเช่นนี้โดยการบอกปฏิเสธภรรยาของโพติฟาครั้งแล้วครั้งเล่า และในที่สุดก็โดยหนีไปจากเธอ.—เยเนซิศ 39:7-12.

19 ขอคิดสักครู่: หากโยเซฟคิดเพ้อฝันในเรื่องผู้หญิงหรือชอบวาดฝันในเรื่องเพศเสมอ ท่านจะสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้ไหม? คงจะไม่. แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ผิดบาป โยเซฟถือว่าสัมพันธภาพของท่านกับพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่มีค่า ซึ่งเห็นได้ชัดจากถ้อยคำที่ท่านพูดกับภรรยาของโพติฟาว่า “นายมิได้หวงสิ่งใดไว้จากข้าพเจ้า; ยกเสียแต่ตัวท่านเพราะเป็นภรรยาของนาย: ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.”—เยเนซิศ 39:9, 10.

20. พระยะโฮวาทรงพลิกผันสถานการณ์อย่างไรในกรณีของโยเซฟ?

20 คิดดูสิว่าพระยะโฮวาคงต้องรู้สึกยินดีสักเพียงไรขณะที่พระองค์ทรงสังเกตว่า หนุ่มโยเซฟทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากครอบครัว ได้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงวันแล้ววันเล่า. (สุภาษิต 27:11) ภายหลัง พระยะโฮวาทรงพลิกผันสถานการณ์เพื่อว่าโยเซฟไม่เพียงถูกปล่อยตัวออกจากคุกเท่านั้น แต่ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการด้านเสบียงอาหารของอียิปต์ด้วย! (เยเนซิศ 41:39-49) ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 97:10 (ล.ม.) เป็นจริงสักเพียงไรที่ว่า “ท่านทั้งหลายผู้รักพระยะโฮวา จงเกลียดสิ่งชั่ว. พระองค์ทรงพิทักษ์ชีวิตของเหล่าผู้ภักดีของพระองค์; พระองค์ทรงช่วยเขาให้รอดจากมือคนชั่ว.”

21. พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาได้แสดงความกล้าหาญในการยึดมั่นกับมาตรฐานทางศีลธรรมอย่างไร?

21 เช่นเดียวกัน ในทุกวันนี้ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนแสดงให้เห็นว่าพวกเขา “ชังความชั่วแลรักความดี.” (อาโมศ 5:15) พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาเล่าว่า เพื่อนร่วมชั้นหญิงคนหนึ่งกล้าเสนอตัวให้เขามีเพศสัมพันธ์ด้วยถ้าเขาจะช่วยเธอระหว่างการสอบวิชาคณิตศาสตร์. เขากล่าวว่า “ผมปฏิเสธข้อเสนอของเธอทันที. โดยรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง ผมรักษาศักดิ์ศรีและความนับถือตัวเองไว้.” จริงอยู่ บาปอาจทำให้ “เพลิดเพลินชั่วคราว” แต่ความตื่นเต้นชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเช่นนั้นมักทำให้เกิดความทุกข์มากมาย. (ฮีบรู 11:25) ยิ่งกว่านั้น ความตื่นเต้นดังกล่าวไม่สำคัญอะไรเลยเมื่อเทียบกับความสุขถาวรที่เกิดจากการเชื่อฟังพระยะโฮวา.—สุภาษิต 10:22.

ยอมรับความช่วยเหลือจากพระเจ้าแห่งความเมตตา

22, 23. (ก) หากคริสเตียนทำบาปร้ายแรง เหตุใดเขาจึงไม่ได้อยู่ในสภาพที่หมดหวัง? (ข) มีความช่วยเหลืออะไรไว้พร้อมสำหรับผู้กระทำผิด?

22 เนื่องจากเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราทุกคนต่อสู้เพื่อจะเอาชนะความปรารถนาทางกายและทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้า. (โรม 7:21-25) พระยะโฮวาทรงทราบเรื่องนี้ “ทรงระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:14, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม บางครั้ง คริสเตียนอาจกระทำบาปร้ายแรง. เขาอยู่ในสภาพที่หมดหวังไหม? ไม่เลย! จริงอยู่ ผู้กระทำผิดอาจเก็บเกี่ยวผลอันขมขื่น เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิด. ถึงกระนั้น พระเจ้าทรงพร้อมเสมอ “จะให้อภัย” คนเหล่านั้นที่สำนึกผิดและ “สารภาพ” ความผิดของตน.—บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.; ยาโกโบ 5:16; สุภาษิต 28:13.

23 นอกจากนั้น พระเจ้าทรงกรุณาจัดเตรียมประชาคมคริสเตียนพร้อมกับ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ซึ่งก็คือผู้บำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณที่อาวุโสซึ่งมีคุณวุฒิและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ. (เอเฟโซ 4:8, 12; ยาโกโบ 5:14, 15) เป้าหมายของพวกเขาคือช่วยผู้กระทำผิดให้กลับมามีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า และโดยใช้ถ้อยคำของชายผู้ชาญฉลาด ช่วยเขาให้ “มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา” เพื่อเขาจะไม่ทำบาปซ้ำอีก.—สุภาษิต 15:32, ล.ม.

‘มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา’

24, 25. (ก) ชายหนุ่มที่พรรณนาไว้ในสุภาษิต 7:6-23 แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขา “ไม่มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา”? (ข) เราจะ ‘มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา’ โดยวิธีใด?

24 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงคนที่ “ไม่มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา” และคนที่ “มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา.” (สุภาษิต 7:7, ล.ม.) เนื่องจากไม่เข้าใจความคิดของพระเจ้าอย่างครบถ้วนและขาดประสบการณ์ในการรับใช้พระเจ้า คนที่ “ไม่มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา” อาจขาดความเข้าใจและวิจารณญาณที่ดี. เช่นเดียวกับชายหนุ่มที่พรรณนาไว้ในสุภาษิต 7:6-23 เขาอาจตกเป็นเหยื่อของการทำบาปที่ร้ายแรงได้อย่างง่ายดาย. อย่างไรก็ดี “ผู้ . . . มีใจที่ประกอบด้วยสติปัญญา” ตรวจสอบตัวตนภายในของเขาโดยการศึกษาพระคำของพระเจ้าเป็นประจำพร้อมด้วยการอธิษฐาน. และเท่าที่เป็นไปได้ในสภาพมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เขาให้ความคิด, ความปรารถนา, อารมณ์ความรู้สึก, และเป้าหมายในชีวิตของเขาประสานกับสิ่งที่พระเจ้าพอพระทัย. โดยวิธีนี้ เขา “รักชีวิตของตน” หรือทำให้ตัวเองได้รับพระพร และ “จะประสบสิ่งที่ดี.”—สุภาษิต 19:8, ล.ม.

25 จงถามตัวเองว่า ‘ฉันมั่นใจเต็มที่ไหมว่ามาตรฐานของพระเจ้าถูกต้อง? ฉันเชื่อมั่นไหมว่าการยึดมั่นกับมาตรฐานเหล่านั้นจะทำให้เกิดความสุขมากที่สุด?’ (บทเพลงสรรเสริญ 19:7-10; ยะซายา 48:17, 18) หากคุณสงสัยแม้จะเล็กน้อยว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ จงพยายามขจัดความสงสัยนั้นออกไป. จงใคร่ครวญดูผลต่าง ๆ ที่เกิดจากการไม่เอาใจใส่กฎหมายของพระเจ้า. นอกจากนี้ “จงชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ” โดยการดำเนินชีวิตตามความจริงและโดยให้จิตใจของคุณเต็มด้วยความคิดที่ดีงาม สิ่งที่จริง, ชอบธรรม, บริสุทธิ์, น่ารัก, และมีคุณความดี. (บทเพลงสรรเสริญ 34:8; ฟิลิปปอย 4:8, 9) คุณแน่ใจได้ว่า ยิ่งคุณทำเช่นนี้มากเท่าใด คุณก็จะรักพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น คุณจะรักสิ่งที่พระองค์รัก และเกลียดสิ่งที่พระองค์เกลียด. โยเซฟใช่ว่าเป็นมนุษย์วิเศษ. กระนั้น ท่านสามารถ “หลีกหนีจากการผิดประเวณี” เพราะท่านยอมให้พระยะโฮวาหล่อหลอมท่านตลอดหลายปี ท่านจึงได้มาซึ่งความปรารถนาจะทำให้พระเจ้าพอพระทัย. ขอให้คุณเป็นเช่นเดียวกันกับท่าน.—ยะซายา 64:8.

26. จะมีการพิจารณาเรื่องสำคัญอะไรต่อไป?

26 พระผู้สร้างทรงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ของเรา ไม่ใช่เพื่อเป็นของเล่นที่เพียงแค่ทำให้ตื่นเต้น แต่เพื่อทำให้เราสามารถสืบพันธุ์และมีความเพลิดเพลินในเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส. (สุภาษิต 5:18) จะมีการพิจารณาทัศนะของพระเจ้าในเรื่องการสมรสในสองบทถัดไป.

^ วรรค 4 จำนวนที่บอกไว้ในอาฤธโมดูเหมือนนับรวม “หัวหน้าทั้งหลายของประชาชน” ที่ถูกผู้พิพากษาตัดสินประหารชีวิต ซึ่งอาจมีจำนวนถึง 1,000 คน และคนที่พระยะโฮวาประหารโดยตรง.—อาฤธโม 25:4, 5, ฉบับแปลใหม่.

^ วรรค 7 สำหรับการพิจารณาความหมายของความไม่สะอาดและความประพฤติหละหลวม ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กรกฎาคม 2006 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

^ วรรค 9 “สื่อลามก” ในที่นี้พาดพิงถึงการแสดงเรื่องราวที่เร้าราคะในลักษณะรูปภาพ, ข้อเขียน, หรือเสียง ที่มุ่งหมายจะทำให้เกิดความตื่นเต้นทางเพศ. สื่อลามกอาจมีตั้งแต่รูปภาพของคนหนึ่งที่ทำท่าทางเร้าราคะไปจนถึงภาพการร่วมเพศในแบบที่ต่ำช้าลามกที่สุดระหว่างคนสองคนหรือมากกว่านั้น.

^ วรรค 9 มีการพิจารณาเรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในภาคผนวก “จงเอาชนะการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง.”