ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 5

วิธีแยกอยู่ต่างหากจากโลก

วิธีแยกอยู่ต่างหากจากโลก

“พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.”—โยฮัน 15:19.

1. พระเยซูทรงเน้นอะไรระหว่างคืนสุดท้ายที่เป็นมนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลก?

ระหว่างคืนสุดท้ายที่เป็นมนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูได้แสดงความห่วงใยอย่างสุดซึ้งต่อสวัสดิภาพในอนาคตของเหล่าผู้ติดตามพระองค์. พระองค์ถึงกับอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยทูลต่อพระบิดาของพระองค์ว่า “ข้าพเจ้ามิได้ทูลขอให้พระองค์ทรงนำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอให้ทรงดูแลพวกเขาเนื่องจากมีตัวชั่วร้ายนั้น. พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนข้าพเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.” (โยฮัน 17:15, 16) ในคำทูลขออย่างจริงใจนี้ พระเยซูแสดงให้เห็นทั้งความรักอันลึกซึ้งที่พระองค์มีต่อเหล่าสาวกและความสำคัญของถ้อยคำที่พระองค์ตรัสแก่พวกเขาบางคนก่อนหน้านั้นในคืนเดียวกันนี้ที่ว่า “พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.” (โยฮัน 15:19) เห็นได้ชัดว่า การที่เหล่าสาวกแยกอยู่ต่างหากจากโลกเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระเยซู!

2. พระเยซูตรัสถึง “โลก” ไหน?

2 “โลก” ที่พระเยซูตรัสถึงนี้พาดพิงถึงมวลมนุษย์ที่เหินห่างจากพระเจ้า เป็นโลกที่ซาตานปกครอง และเป็นทาสน้ำใจที่หยิ่งและเห็นแก่ตัวซึ่งเกิดจากซาตาน. (โยฮัน 14:30; เอเฟโซส์ 2:2; 1 โยฮัน 5:19) ที่จริง “การเป็นมิตรกับโลก [ดังกล่าว] คือการเป็นศัตรูกับพระเจ้า.” (ยาโกโบ 4:4) กระนั้น บรรดาผู้ซึ่งต้องการเป็นที่รักของพระเจ้าเสมออยู่ในโลกแต่ก็ยังแยกอยู่ต่างหากจากโลกได้โดยวิธีใดบ้าง? เราจะพิจารณาห้าแนวทางด้วยกันคือ โดยรักษาความภักดีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าภายใต้พระคริสต์และรักษาความเป็นกลางในเรื่องการเมืองของโลก, โดยต้านทานน้ำใจของโลก, โดยการแต่งกายและเสื้อผ้าที่สุภาพ, โดยให้ตาของเรามองที่สิ่งเดียวเสมอ, และโดยสวมยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณครบชุด.

รักษาความภักดีและความเป็นกลาง

3. (ก) พระเยซูมีทัศนะอย่างไรต่อการเมืองในสมัยพระองค์? (ข) เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระเยซูทำหน้าที่เป็นราชทูต? (ดูเชิงอรรถด้วย.)

3 แทนที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองสมัยของพระองค์ พระเยซูทรงมุ่งอยู่กับการประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งเป็นรัฐบาลทางภาคสวรรค์ที่พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ปกครองในอนาคต. (ดานิเอล 7:13, 14; ลูกา 4:43; 17:20, 21) ดังนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าปอนติอุสปีลาต ผู้ว่าราชการชาติโรมัน พระเยซูจึงตรัสได้ว่า “ราชอาณาจักรของเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้.” (โยฮัน 18:36) เหล่าสาวกผู้ซื่อสัตย์เลียนแบบตัวอย่างของพระองค์โดยแสดงความภักดีต่อพระคริสต์และราชอาณาจักรของพระองค์และโดยประกาศเรื่องราชอาณาจักรนั้นแก่โลก. (มัดธาย 24:14) อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า “ดังนั้น เราจึงเป็นราชทูตที่ปฏิบัติหน้าที่แทนพระคริสต์. . . . ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระคริสต์ เราขอร้องว่า ‘คืนดีกับพระเจ้าเถิด.’ ” *2 โครินท์ 5:20.

4. คริสเตียนแท้ทั้งมวลได้แสดงความภักดีต่อราชอาณาจักรของพระเจ้าโดยวิธีใด? (ดูกรอบ “ คริสเตียนยุคแรกรักษาความเป็นกลาง.”)

4 เนื่องจากราชทูตเป็นตัวแทนของกษัตริย์หรือของประเทศหนึ่ง เขาจึงไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศซึ่งเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่; เขารักษาความเป็นกลาง. อย่างไรก็ดี ราชทูตส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐบาลประเทศที่เขาเป็นตัวแทนนั้น. เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ซึ่ง “มีฐานะเป็นพลเมืองในสวรรค์” ก็เป็นเช่นนั้นด้วย. (ฟิลิปปอย 3:20) ที่จริง เนื่องจากพวกเขาประกาศเรื่องราชอาณาจักรด้วยใจแรงกล้า พวกเขาได้ช่วย “แกะอื่น” จำนวนนับล้าน ๆ ของพระคริสต์ให้ “คืนดีกับพระเจ้า.” (โยฮัน 10:16; มัดธาย 25:31-40) คนกลุ่มที่เป็น “แกะอื่น” ปฏิบัติหน้าที่เป็นประหนึ่งอุปทูตของพระคริสต์ สนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซู. ในฐานะเป็นฝูงเดียวที่มีเอกภาพซึ่งสนับสนุนราชอาณาจักรมาซีฮา ทั้งสองกลุ่มรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในเรื่องการเมืองของโลกนี้.—ยะซายา 2:2-4.

5. ประชาคมคริสเตียนต่างจากชาติอิสราเอลโบราณอย่างไร และความแตกต่างนี้ปรากฏให้เห็นในทางใด?

5 ความภักดีต่อพระคริสต์มิใช่เหตุผลเดียวเท่านั้นที่คริสเตียนแท้เป็นกลาง. ต่างจากชาติอิสราเอลโบราณซึ่งพระเจ้าได้ประทานแผ่นดินให้อยู่รวมกันเป็นชาติเดียว เราเป็นส่วนของสังคมแห่งความเป็นพี่น้องกันซึ่งกระจายกันอยู่ในชาติต่าง ๆ. (มัดธาย 28:19; 1 เปโตร 2:9) ดังนั้น ถ้าเราเข้าข้างพรรคการเมืองต่าง ๆ ในท้องถิ่น เราคงจะไม่กล้าพูดข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร และจะก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเอกภาพคริสเตียนของเรา. (1 โครินท์ 1:10) นอกจากนี้ ระหว่างสงคราม เราคงจะต่อสู้กับเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งเราได้รับพระบัญชาให้รักพวกเขา. (โยฮัน 13:34, 35; 1 โยฮัน 3:10-12) ดังนั้น ด้วยเหตุผลอันสมควร พระเยซูทรงบัญชาเหล่าสาวกของพระองค์ให้เก็บดาบเสีย. และพระองค์ทรงสั่งพวกเขาให้รักศัตรูด้วยซ้ำ.—มัดธาย 5:44; 26:52; ดูกรอบ “ ฉันรักษาความเป็นกลางไหม?

6. การที่คุณอุทิศตัวแด่พระเจ้าส่งผลกระทบอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของคุณกับซีซาร์?

6 ในฐานะคริสเตียนแท้ เราได้อุทิศชีวิตของเราแด่พระเจ้า ไม่ใช่อุทิศแก่มนุษย์, องค์การ, หรือชาติใด ๆ. 1 โครินท์ 6:19, 20 กล่าวว่า “พวกท่านไม่ใช่เจ้าของตัวเอง เพราะท่านทั้งหลายถูกซื้อไว้แล้วด้วยราคาสูง.” ดังนั้น ในขณะที่ให้แก่ “ซีซาร์” ตามที่เขาควรได้รับในรูปของเกียรติยศ, ภาษี, และการยอมอยู่ใต้อำนาจแบบมีขอบเขต สาวกของพระเยซูให้ ‘ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.’ (มาระโก 12:17; โรม 13:1-7) สิ่งนี้รวมไปถึงการนมัสการ, ความรักอย่างสุดชีวิต, และการเชื่อฟังด้วยความภักดีของพวกเขา. หากจำเป็น พวกเขาพร้อมที่จะสละชีวิตของตนเพื่อพระเจ้า.—ลูกา 4:8; 10:27; กิจการ 5:29; โรม 14:8.

ต้านทาน “น้ำใจของโลก”

7, 8. “น้ำใจของโลก” คืออะไร และน้ำใจดังกล่าว “ดำเนินงาน” อย่างไรในตัวผู้คน?

7 อีกวิธีหนึ่งที่คริสเตียนแยกอยู่ต่างหากจากโลกคือ โดยการต้านทานน้ำใจที่ชั่วช้าของโลก. เปาโลได้เขียนว่า “เราไม่ได้รับน้ำใจของโลก แต่ได้รับพระวิญญาณจากพระเจ้า.” (1 โครินท์ 2:12) ท่านกล่าวแก่ชาวเอเฟโซส์ว่า “พวกท่านเคยดำเนินชีวิตตามอย่างคนในโลกยุคนี้ ตามผู้ครองอำนาจเหนือน้ำใจของโลกที่แทรกซึมอยู่ทุกหนทุกแห่งเหมือนอากาศ [คือน้ำใจ] ซึ่งขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในคนที่ไม่เชื่อฟัง.”—เอเฟโซส์ 2:2, 3.

8 “อากาศ” หรือน้ำใจของโลกคือพลังกระตุ้นที่ไม่ประจักษ์แก่ตาซึ่งเร้าให้เกิดการไม่เชื่อฟังพระเจ้าและส่งเสริม “ความปรารถนาทางกาย ความปรารถนาทางตา.” (1 โยฮัน 2:16; 1 ติโมเธียว 6:9, 10) น้ำใจนี้มี “อำนาจ” โดยพลังดึงดูดของมันต่อความปรารถนาทางกายที่ผิดบาป, ความมีเล่ห์เหลี่ยม, การกดดันอย่างไม่ละลด, และน้ำใจแบบนี้มีอยู่ทุกหนแห่งเช่นเดียวกับอากาศ. ยิ่งกว่านั้น น้ำใจนี้ “ดำเนินงาน” อยู่ในคนโดยค่อย ๆ เพาะลักษณะนิสัยไม่ดีขึ้นในตัวเขา เช่น ความเห็นแก่ตัว, ความหยิ่งยโส, ความทะเยอทะยานอย่างละโมบ, รวมทั้งแนวโน้มที่จะตั้งมาตรฐานด้านศีลธรรมของตัวเองและการกบฏขัดขืนต่อผู้มีอำนาจ. * กล่าวง่าย ๆ น้ำใจของโลกทำให้ลักษณะนิสัยของพญามารมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหัวใจของมนุษย์.—โยฮัน 8:44; กิจการ 13:10; 1 โยฮัน 3:8, 10.

9. โดยทางใดบ้างที่น้ำใจของโลกอาจเข้าสู่จิตใจและหัวใจของเรา?

9 น้ำใจของโลกอาจหยั่งรากในจิตใจและหัวใจของคุณได้ไหม? ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ระวังระไว. (สุภาษิต 4:23) อิทธิพลจากน้ำใจของโลกมักเริ่มหยั่งรากโดยไม่ทันได้สังเกตเห็น บางทีโดยทางผู้ที่คุณคบหาซึ่งอาจดูเป็นคนดี แต่ที่จริงแล้วไม่มีความรักต่อพระยะโฮวา. (สุภาษิต 13:20; 1 โครินท์ 15:33) นอกจากนี้ คุณอาจซึมซับน้ำใจที่ไม่ดีนั้นโดยทางสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม, เว็บไซต์ลามกหรือเว็บไซต์ของผู้ออกหาก, ความบันเทิงที่เสื่อมทราม, รวมทั้งกีฬาที่แข่งขันด้วยน้ำใจต่อสู้แบบก้าวร้าว—จริง ๆ แล้ว ความคิดของซาตานหรือของระบบที่มันใช้ได้รับการถ่ายทอดโดยทางใคร ๆ หรือสิ่งใดก็ได้.

10. เราจะต้านทานน้ำใจของโลกได้โดยวิธีใด?

10 เราจะต้านทานน้ำใจของโลกที่เป็นอันตรายและทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าได้โดยวิธีใด? เฉพาะแต่โดยการรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาเท่านั้นและโดยการอธิษฐานอยู่เสมอเพื่อได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระยะโฮวาทรงใหญ่ยิ่งกว่าพญามารหรือโลกชั่วที่อยู่ใต้การควบคุมของซาตานนัก. (1 โยฮัน 4:4) ดังนั้น นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราติดสนิทกับพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน!

เสื้อผ้าและการแต่งกายที่สุภาพ

11. น้ำใจของโลกมีผลกระทบอย่างไรต่อมาตรฐานการแต่งกาย?

11 ลักษณะภายนอกซึ่งบ่งบอกน้ำใจที่กระตุ้นอยู่ภายในตัวคนเราก็คือ เสื้อผ้า, การแต่งกาย, และสุขอนามัยของเขา. ในหลายประเทศ มาตรฐานการแต่งกายตกต่ำถึงขนาดที่พิธีกรโทรทัศน์คนหนึ่งบ่งชี้ว่า อีกไม่นานจะแยกไม่ออกเลยว่าผู้หญิงคนไหนเป็นโสเภณี. รายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า แม้แต่เด็กหญิงที่ยังไม่อยู่ในวัยรุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากแนวโน้มการแต่งกายดังกล่าว นั่นคือ “เปิดเผยเนื้อหนังมังสามากขึ้น สุภาพน้อยลง.” แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งคือแต่งกายในลักษณะรุ่มร่ามสกปรกซึ่งสะท้อนน้ำใจของการขืนอำนาจ อีกทั้งไม่มีความสง่างามและความนับถือตัวเอง.

12, 13. หลักการอะไรควรควบคุมเสื้อผ้าและการแต่งกายของเรา?

12 ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา เราควรต้องการจะปรากฏตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งหมายถึงการแต่งกายในแบบที่เรียบร้อย, สะอาด, แสดงถึงรสนิยมที่ดี, และเหมาะกับกาลเทศะ. ตลอดเวลา การปรากฏตัวของเราควรสะท้อนให้เห็น ‘ความสุภาพ และความมีสติ’ พร้อมกับ “การดี” ซึ่งเหมาะสมกับใครก็ตาม—ไม่ว่าชายหรือหญิง—ที่ “ประกาศตัวว่านับถือพระเจ้า.” แน่นอน เรื่องที่เราห่วงใยเป็นประการสำคัญคือ ไม่ใช่ดึงความสนใจมาสู่ตัวเอง แต่เพื่อ “ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอ.” (1 ติโมเธียว 2:9, 10; ยูดา 21) ใช่แล้ว สิ่งที่เราต้องการให้มีการประดับอย่างสวยงามที่สุดคือ “ตัวตนที่อยู่ในใจ . . . ซึ่งมีค่ามากในสายพระเนตรพระเจ้า.”—1 เปโตร 3:3, 4.

13 ขอจำไว้ด้วยว่า แบบเสื้อผ้าและการแต่งกายของเราอาจส่งผลกระทบต่อวิธีที่ผู้คนมองการนมัสการแท้. คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “สุภาพ” เมื่อใช้ในแง่ศีลธรรม แสดงถึงแนวคิดเกี่ยวกับความเคารพ, ความยำเกรง, และความนับถือต่อความรู้สึกหรือความคิดเห็นของคนอื่น. ฉะนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นเป้าหมายของเราคือ ถือว่าสติรู้สึกผิดชอบของคนอื่นสำคัญกว่าสิทธิของเราที่จะแต่งตัวอย่างที่เราชอบ. เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการทำให้พระยะโฮวาและประชาชนของพระองค์ได้รับเกียรติ รวมทั้งเราแนะนำตัวว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า โดยทำ “ทุกสิ่งอย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ.”—1 โครินท์ 4:9; 10:31; 2 โครินท์ 6:3, 4; 7:1.

การปรากฏตัวของฉันทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญไหม?

14. ในเรื่องการปรากฏตัวและสุขอนามัยของเรา มีคำถามอะไรบ้างที่เราควรถามตัวเอง?

14 เสื้อผ้า, การแต่งกาย, และความสะอาดของเรานับว่าสำคัญยิ่งกว่านั้นอีกเมื่อเราเข้าร่วมในงานเผยแพร่ตามบ้านหรือเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. จงถามตัวเองว่า ‘การปรากฏตัวและสุขอนามัยส่วนตัวของฉันทำให้เกิดความสนใจอย่างไม่สมควรต่อตัวฉันไหม? การปรากฏตัวเช่นนั้นทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัดใจไหม? ฉันถือว่าสิทธิของฉันในเรื่องดังกล่าวสำคัญยิ่งกว่าการมีคุณสมบัติที่จะรับเอางานมอบหมายในประชาคมไหม?’—บทเพลงสรรเสริญ 68:6; ฟิลิปปอย 4:5; 1 เปโตร 5:6.

15. เพราะเหตุใดพระคำของพระเจ้ามิได้ระบุรายการกฎต่าง ๆ ในเรื่องเสื้อผ้า, การแต่งกาย, และสุขอนามัย?

15 คัมภีร์ไบเบิลมิได้ระบุรายการกฎต่าง ๆ สำหรับคริสเตียนในเรื่องเสื้อผ้า, การแต่งกาย, และสุขอนามัย. พระยะโฮวาไม่ปรารถนาที่จะจำกัดเสรีภาพในการเลือกหรือการใช้ความสามารถในการคิดของเรา. ตรงกันข้าม พระองค์ประสงค์ให้เราเป็นผู้ใหญ่ในการใช้หลักการของคัมภีร์ไบเบิลเพื่อหาเหตุผลและเป็นผู้ที่ “ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด.” (ฮีบรู 5:14) สำคัญที่สุด พระองค์ทรงประสงค์ให้ความรักควบคุมเรา ทั้งความรักที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้าน. (มาระโก 12:30, 31) ภายในขอบเขตต่าง ๆ ดังกล่าว ก็ยังเป็นไปได้ที่จะเลือกเสื้อผ้าและการแต่งกายได้หลากหลาย. หลักฐานในเรื่องนี้เห็นได้จากฝูงชนผู้นมัสการพระยะโฮวาที่มีความยินดีซึ่งแต่งกายด้วยชุดเต็มไปด้วยสีสันไม่ว่าพวกเขาชุมนุมกันที่ไหนบนแผ่นดินโลก.

ให้ตาของเรา “มองที่สิ่งเดียว” เสมอ

16. น้ำใจของโลกขัดกันกับคำสอนของพระเยซูอย่างไร และคำถามอะไรบ้างที่เราควรถามตัวเอง?

16 น้ำใจของโลกเป็นสิ่งที่หลอกลวงและกระตุ้นคนนับล้านให้หมายพึ่งเงินและสิ่งฝ่ายวัตถุเพื่อจะมีความสุข. อย่างไรก็ดี พระเยซูตรัสว่า “แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.” (ลูกา 12:15) ขณะที่ไม่เห็นชอบกับลัทธิถือสันโดษ หรือการหักห้ามใจตนเองอย่างเด็ดขาด พระเยซูทรงสอนว่าชีวิตและความสุขแท้เป็นของคนที่ “สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ” และคนที่ให้ตา “มองที่สิ่งเดียว” เสมอ คือตาที่ไม่วอกแวกและให้ความสนใจสิ่งฝ่ายวิญญาณเป็นอันดับแรก. (มัดธาย 5:3; 6:22, 23) จงถามตัวเองว่า ‘ฉันเชื่อจริง ๆ ในสิ่งที่พระเยซูสอนไหม หรือว่าฉันได้รับอิทธิพลจาก “พ่อของการพูดมุสา”? (โยฮัน 8:44) คำพูด, เป้าหมาย, การจัดลำดับความสำคัญ, และวิถีชีวิตของฉันเผยให้เห็นอะไร?’—ลูกา 6:45; 21:34-36; 2 โยฮัน 6.

17. จงบอกผลประโยชน์บางอย่างที่คนซึ่งให้ตามองที่สิ่งเดียวเสมอได้รับ.

17 พระเยซูตรัสว่า “สติปัญญาก็ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องโดยผลของสติปัญญานั้นเอง.” (มัดธาย 11:19) ขอพิจารณาผลประโยชน์บางประการที่คนซึ่งให้ตามองที่สิ่งเดียวเสมอได้รับ. พวกเขาพบความสดชื่นแท้ในงานรับใช้ราชอาณาจักร. (มัดธาย 11:29, 30) พวกเขาหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลเกินควรและจึงป้องกันตัวไม่ให้ได้รับความทุกข์มากมายทางด้านจิตใจและด้านอารมณ์. (1 ติโมเธียว 6:9, 10) เนื่องจากอิ่มใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีเท่าที่จำเป็นในชีวิต พวกเขาจึงมีเวลามากขึ้นสำหรับครอบครัวและเพื่อนคริสเตียน. ผลก็คือพวกเขาอาจนอนหลับได้ดีกว่า. (ท่านผู้ประกาศ 5:12) พวกเขาประสบความยินดีมากขึ้นจากการให้ ไม่ว่าในวิธีใดก็ตามที่พวกเขาให้ได้. (กิจการ 20:35) และพวกเขา “บริบูรณ์ด้วยความหวัง” และมีสันติสุขภายในใจรวมทั้งความอิ่มอกอิ่มใจ. (โรม 15:13; มัดธาย 6:31, 32) พระพรเหล่านี้ช่างล้ำค่าเสียจริง ๆ!

สวม “ยุทธภัณฑ์ครบชุด”

18. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาอย่างไรถึงศัตรูของเรา, วิธีการของมัน, และลักษณะการต่อสู้ของเรา?

18 คนที่ทำตัวให้เป็นที่รักของพระเจ้าเสมอยังได้รับการปกป้องไว้จากซาตานซึ่งพยายามจะทำให้เขาเลิกรับใช้พระเจ้า. ซาตานไม่เพียงต้องการทำให้คริสเตียนขาดความสุขเท่านั้น แต่ยังต้องการทำให้พวกเขาไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์ด้วย. (1 เปโตร 5:8) เปาโลกล่าวว่า “เราไม่ได้ต่อสู้กับมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ แต่ต่อสู้กับการปกครอง ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครองโลกแห่งความมืดนี้ และต่อสู้กับพวกกายวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซส์ 6:12) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ต่อสู้” [มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ปล้ำสู้”] บ่งชี้ว่า การต่อสู้ของเราไม่ใช่อยู่ในระยะห่างเหมือนการต่อสู้จากที่กำบัง แต่เป็นการต่อสู้กันแบบประชิดตัว. นอกจากนี้ วลี “การปกครอง,” “ผู้มีอำนาจ,” และ “ผู้ปกครองโลก” บ่งชี้ว่าการโจมตีที่มาจากแดนของพวกกายวิญญาณมีการจัดระบบอย่างดีและวางแผนไว้แล้ว.

19. จงพรรณนายุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณครบชุดของคริสเตียน.

19 อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่องและขีดจำกัด เราสามารถมีชัยชนะได้. โดยวิธีใด? โดยสวม “ยุทธภัณฑ์ครบชุดจากพระเจ้า.” (เอเฟโซส์ 6:13) เอเฟโซส์ 6:14-18 พรรณนาถึงยุทธภัณฑ์ดังกล่าวว่า “ฉะนั้น จงยืนหยัดมั่นคง เอาความจริงคาดเอวไว้ เอาความชอบธรรมสวมเป็นเกราะป้องกันอก และเอาความพร้อมที่จะประกาศข่าวดีแห่งสันติสุขมาสวมเป็นรองเท้า. ที่สำคัญ จงรับเอาโล่ใหญ่แห่งความเชื่อที่ท่านทั้งหลายจะสามารถใช้ดับลูกศรเพลิงทั้งหมดของตัวชั่วร้ายนั้นได้. นอกจากนั้น จงรับเอาหมวกเกราะ [หรือความหวัง] แห่งความรอด และรับเอาดาบแห่งพระวิญญาณซึ่งก็คือพระคำของพระเจ้า. ขณะเดียวกัน จงอธิษฐานต่อไปในทุกโอกาสด้วยคำอธิษฐานและคำวิงวอนทุกอย่างโดยให้พระวิญญาณทรงนำ.”

20. สภาพการณ์ของเราต่างจากทหารจริง ๆ อย่างไร?

20 เนื่องจากเป็นการจัดเตรียมของพระเจ้า ยุทธภัณฑ์ฝ่ายวิญญาณจะปกป้องเราไว้อย่างแน่นอน ตราบใดที่เราสวมยุทธภัณฑ์นั้นอยู่ตลอดเวลา. ไม่เหมือนทหารจริง ๆ ซึ่งอาจพักรบเป็นเวลานาน คริสเตียนอยู่ในการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายซึ่งจะหยุดพักไม่ได้. การต่อสู้ดังกล่าวจะไม่หยุดจนกว่าพระเจ้าได้ทำลายโลกของซาตานและเหวี่ยงกายวิญญาณชั่วทั้งสิ้นลงในขุมลึก. (วิวรณ์ 12:17; 20:1-3) ดังนั้น อย่าเลิกราหากคุณกำลังต่อสู้กับความอ่อนแอหรือความปรารถนาที่ผิด เพราะเราทุกคนต้อง “ทุบตี” ตัวเองเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. (1 โครินท์ 9:27) ที่จริง ตอนที่เราไม่ได้ ปล้ำสู้นั่นแหละที่เราควรเป็นห่วง!

21. เราจะได้ชัยชนะในการต่อสู้ฝ่ายวิญญาณเฉพาะแต่โดยวิธีใดเท่านั้น?

21 นอกจากนั้น เราไม่สามารถชนะการต่อสู้นี้ได้ด้วยกำลังของเราเอง. เนื่องจากเหตุนี้ เปาโลเตือนใจเราในเรื่องความจำเป็นที่จะอธิษฐานถึงพระยะโฮวา “ในทุกโอกาส . . . โดยให้พระวิญญาณทรงนำ.” ขณะเดียวกัน เราควรฟังพระยะโฮวาโดยการศึกษาพระคำของพระองค์และการคบหากับเพื่อน “ทหาร” ในทุกโอกาส เพราะเราไม่ได้ต่อสู้ตามลำพัง! (ฟิเลโมน 2; ฮีบรู 10:24, 25) คนเหล่านั้นที่ยึดมั่นทำตามในขอบเขตต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่เพียงแต่มีชัยชนะเท่านั้น แต่จะสามารถปกป้องความเชื่อของเขาอย่างเข้มแข็งเมื่อถูกโต้แย้งด้วย.

พร้อมเสมอที่จะปกป้องความเชื่อ

22, 23. (ก) เหตุใดเราต้องพร้อมเสมอที่จะปกป้องความเชื่อของเรา และคำถามอะไรบ้างที่เราควรถามตัวเอง? (ข) จะมีการพิจารณาเรื่องอะไรในบทถัดไป?

22 พระเยซูตรัสว่า เพราะ “พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก . . . โลกจึงเกลียดชังพวกเจ้า.” (โยฮัน 15:19) ดังนั้น คริสเตียนต้องพร้อมเสมอที่จะปกป้องความเชื่อของตนและทำเช่นนั้นด้วยท่าทีอ่อนโยนและแสดงความนับถือ. (1 เปโตร 3:15) จงถามตัวเองว่า ‘ฉันเข้าใจไหมว่าเหตุใดบางครั้งพยานพระยะโฮวายึดจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่? เมื่อเผชิญความยุ่งยากในการยึดจุดยืนดังกล่าว ฉันมั่นใจอย่างเต็มที่ไหมว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลและชนชั้นทาสสัตย์ซื่อกล่าวนั้นถูกต้อง? (มัดธาย 24:45; โยฮัน 17:17) และเมื่อฉันต้องทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระยะโฮวา ฉันไม่เพียงแต่พร้อมที่จะต่างจากคนอื่น แต่ยังภูมิใจที่เป็นเช่นนั้นด้วยไหม?’—บทเพลงสรรเสริญ 34:2; มัดธาย 10:32, 33.

23 แต่บ่อยครั้ง ความปรารถนาของเราที่จะแยกอยู่ต่างหากจากโลกถูกทดสอบในวิธีที่แยบยลกว่า. ตัวอย่างเช่น ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น พญามารพยายามล่อลวงผู้รับใช้ของพระยะโฮวาให้เข้าไปหมกมุ่นกับโลกโดยความบันเทิงแบบโลก. เราจะเลือกความบันเทิงที่ดีงามซึ่งจะทำให้เราสดชื่นและยังคงมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดได้อย่างไร? จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในบทถัดไป.

^ วรรค 3 ตั้งแต่วันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 พระคริสต์ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ฐานะกษัตริย์เหนือประชาคมของพระองค์ที่ประกอบด้วยสาวกผู้ถูกเจิมซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลก. (โกโลซาย 1:13) ในปี 1914 พระคริสต์ได้รับอำนาจฐานะกษัตริย์เหนือ “ราชอาณาจักรของโลก.” เนื่องจากเหตุนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมจึงรับใช้ฐานะราชทูตของราชอาณาจักรมาซีฮาในขณะนี้ด้วย.—วิวรณ์ 11:15.

^ วรรค 8 ดูการหาเหตุผลจากพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) หน้า 389-393 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.