“เป็นไปไม่ได้!”
ชายชาวนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) คนหนึ่งเล่าว่า “โจนาทานลูกชายผมไปหาเพื่อนที่อยู่ห่างไปไม่กี่กิโลเมตร. วาเล็นตินาภรรยาผมไม่อยากให้เขาไปที่นั่น. เธอวิตกเสมอในเรื่องการจราจร. แต่โจนาทานชอบด้านอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อนของเขามีห้องฝึกงานซึ่งเขาจะหาประสบการณ์ดี ๆ ได้. ผมอยู่ที่บ้านในเวสต์ แมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก. ส่วนภรรยาผมไปเยี่ยมญาติ ๆ ของเธอที่เปอร์โตริโก. ‘ไม่นานโจนาทานก็จะกลับ’ ผมคิด. แล้วกระดิ่งประตูบ้านก็ดังขึ้น. ‘เป็นเขาแน่เลย.’ แต่ไม่ใช่. กลับเป็นตำรวจกับผู้ช่วยแพทย์. ‘คุณจำใบขับขี่นี้ได้ไหม?’ ตำรวจถาม. ‘จำได้ครับ ของโจนาทาน ลูกชายผมเอง.’ ‘เรามีข่าวร้ายบอกคุณ. เกิดอุบัติเหตุ และ . . . ลูกชายคุณ . . . ลูกชายคุณเสียชีวิตครับ.’ ปฏิกิริยาแรกของผมคือ ‘ไม่จริง เป็นไปไม่ได้!’ เหตุสะเทือนใจครั้งนั้นสร้างแผลในใจเราซึ่งยังไม่ยอมหาย แม้จะอีกหลายปีหลังจากนั้นก็ตาม.”
บิดาคนหนึ่งในบาร์เซโลนา (สเปน) เขียนว่า “ย้อนไปที่สเปนในช่วงทศวรรษปี 1960 เราเป็นครอบครัวที่มีความสุข. มีมาเรียภรรยาผม, และลูก ๆ ของเราสามคนคือ เดวิด, พาคีโต, แล้วก็อิซาเบล อายุ 13, 11, และ 9 ปีตามลำดับ.
“วันหนึ่งในเดือนมีนาคม 1963 พาคีโตกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้าน บ่นปวดหัวอย่างรุนแรง. เรารู้สึกงุนงงสงสัยว่ามีสาเหตุจากอะไร แต่ไม่นานเท่าไรก็ทราบ. สามชั่วโมงหลังจากนั้นเขาก็ตาย. อาการเลือดออกในสมองทำให้เขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน.
“การตายของพาคีโตเกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว. แม้กระนั้น ความเจ็บปวดล้ำลึกเนื่องจากการสูญเสียนั้นยังอยู่กับเราจนทุกวันนี้. ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พ่อแม่เสียลูกไปแล้วจะไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้สูญเสียอะไรบางอย่างไปจากตัวเขาเอง ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานแค่ไหน หรือไม่ว่าเขาจะมีลูกคนอื่นอีกกี่คน.”
สองประสบการณ์นี้ซึ่งบิดามารดาสูญเสียบุตรไปแสดงให้เห็นว่า บาดแผลนั้นลึกแค่ไหนและอยู่นานเพียงใดเมื่อบุตรเสียชีวิต. ถ้อยคำของนายแพทย์คนหนึ่งเป็นความจริงเพียงใดที่เขียนว่า “ตามปกติแล้ว ความตายของเด็กเป็นความเศร้าสลดและเป็นความบอบช้ำทางใจยิ่งกว่าความตายของคนที่อายุมากกว่า เพราะคิดกันว่า เด็กคือคนสุดท้ายในครอบครัวที่จะตาย. . . . ความตายของเด็กไม่ว่าคนใดหมายถึงการสูญเสียความฝัน, ความสัมพันธ์ [ฉันบุตรชาย, บุตรสะใภ้, หลาน], ประสบการณ์ต่าง ๆ ของวันข้างหน้า . . . ซึ่งยังไม่ทันได้มี.” และความรู้สึกสูญเสียอันล้ำลึกนี้ยังอาจเกิดขึ้นกับสตรีใด ๆ ก็ได้ซึ่งได้สูญเสียทารกไปเพราะการแท้ง.
ภรรยาผู้หนึ่งซึ่งสูญเสียสามีชี้แจงว่า “รัสเซลล์สามีของดิฉันทำหน้าที่เป็นเสนารักษ์ในสมรภูมิแปซิฟิกระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง. เขาได้เผชิญและมีชีวิตรอดผ่านการสู้รบที่สยดสยองหลายครั้ง. เขากลับมาสหรัฐและมาสู่ชีวิตที่สงบกว่า. ต่อมาเขาทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้แห่งพระวจนะของพระเจ้า. เมื่อเขาอายุ 60 กว่า เขาเริ่มมีอาการที่แสดงว่าหัวใจมีปัญหา. เขาพยายามดำเนินชีวิตอย่างกระปรี้กระเปร่า. แล้ววันหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 1988 เขามีอาการหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน แล้วก็ตาย. การสูญเสียเขาไปทำให้ถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรง. ดิฉันไม่ทันได้เอ่ยแม้แต่คำอำลา. เขาไม่ได้เป็นเพียงสามีของดิฉันเท่านั้น. เขาเป็นเพื่อนดีที่สุดของดิฉัน. เราร่วมชีวิตกันมาถึง 40 ปี. ดูเหมือนว่า เดี๋ยวนี้ดิฉันต้องเผชิญกับความอ้างว้างอย่างสุดแสน.”
เหล่านี้เป็นเพียงโศกนาฏกรรมไม่กี่รายในหลายพันรายซึ่งมีผลกระทบอย่างแรงต่อครอบครัวต่าง ๆ ทุกวันตลอดทั่วโลก. ดังที่ผู้เศร้าสลดส่วนใหญ่จะบอกให้คุณทราบ เมื่อความตายพรากลูกคุณ, สามีคุณ, ภรรยาคุณ, บิดาหรือมารดาคุณ, เพื่อนคุณ นั่นเป็นสิ่งที่เปาโล คริสเตียนนักเขียนเรียกว่า “ศัตรูตัวสุดท้าย” จริง ๆ. บ่อยครั้ง ปฏิกิริยาแรกตามปกติที่มีต่อข่าวร้ายจะเป็นการไม่ยอมรับ “เป็นไปไม่ได้! ฉันไม่เชื่อ.” ปฏิกิริยาอื่น ๆ ก็มักจะตามมา ดังที่เราจะเห็น.—1 โกรินโธ 15:25, 26.
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความรู้สึกโศกเศร้า ให้เราตอบคำถามสำคัญ ๆ บางข้อ. การตายหมายถึงจุดจบของคนนั้นไหม? มีความหวังที่เราจะเห็นคนที่เรารักได้อีกไหม?
มีความหวังแท้
เปาโลผู้จารึกคัมภีร์ไบเบิลเสนอความหวังแห่งการพ้นจากความตาย “ศัตรูตัวสุดท้าย” นั้น. ท่านเขียนดังนี้: “ความตายจะถูกปราบให้สิ้น.” “ศัตรูตัวสุดท้ายที่จะถูกกำจัดคือความตาย.” (1 โกรินโธ 15:26; เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) ทำไมเปาโลจึงแน่ใจมากในเรื่องนี้? ก็เพราะว่า ท่านได้รับการสอนโดยพระเยซูคริสต์ ผู้ได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากความตาย. (กิจการ 9:3-19) อนึ่ง นั่นยังเป็นเหตุผลที่เปาโลสามารถเขียนได้ด้วยว่า “เพราะว่าความตายได้อุบัติขึ้นเนื่องด้วยมนุษย์ [อาดาม] เป็นเหตุฉันใด, การเป็นขึ้นมาจากตายนั้นก็ได้อุบัติขึ้นเนื่องด้วยมนุษย์ [พระเยซูคริสต์] เป็นเหตุฉันนั้น. ด้วยว่าคนทั้งปวงได้ตายเพราะเกี่ยวเนื่องกับอาดามฉันใด, คนทั้งปวงก็จะกลับได้ชีวิตคืนใหม่เพราะเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์ฉันนั้น.”—1 โกรินโธ 15:21, 22.
พระเยซูทรงสลดพระทัยมากเมื่อพระองค์ทรงพบหญิงม่ายชาวนาอินและทอดพระเนตรเห็นบุตรชายที่ตายไปแล้วของเธอ. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกเราดังนี้: “เมื่อ [พระเยซู] มาใกล้ประตูเมืองนั้น [นาอิน]. นี่แน่ะ, มีคนหามศพชายหนุ่มคนหนึ่งมา. มารดาเขาเป็นม่ายมีลูกคนเดียว และชาวเมืองเป็นอันมากมากับหญิงนั้น. เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นมารดานั้น, พระองค์ทรงเมตตากรุณาเขาและตรัสว่า, ‘อย่าร้องไห้เลย.’ แล้วพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ถูกต้องโลง คนหามศพนั้นก็หยุดยืนอยู่. พระองค์จึงตรัสว่า, ‘ชายหนุ่มเอ๋ย, เราสั่งเจ้าให้ลุกขึ้นเถิด.’ คนที่ตายนั้นก็ลุกขึ้นนั่งพูด. พระองค์จึงทรงมอบชายหนุ่มให้แก่มารดาของเขา. ฝ่ายคนทั้งปวงมีความกลัว, และสรรลูกา 7:12-16.
เสริญพระเจ้าว่า ‘ท่านศาสดาพยากรณ์ใหญ่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางเรา, และพระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนพลเมืองของพระองค์แล้ว.’” ขอให้สังเกตว่า พระเยซูทรงถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกสงสารจริง ๆ จนทำให้พระองค์ทรงปลุกบุตรของหญิงม่ายนั้นขึ้นจากตาย! ลองนึกภาพสิ่งซึ่งเรื่องนี้บอกล่วงหน้าถึงอนาคตสิ!—ที่นั่น ต่อหน้าประจักษ์พยานทั้งหลาย พระเยซูทรงทำการปลุกให้เป็นขึ้นจากความตายที่ไม่อาจลืมได้. นั่นเป็นตัวอย่างแสดงถึงการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายซึ่งพระองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้แล้วช่วงเวลาหนึ่งก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ นั่นคือการฟื้นฟูสู่ชีวิตบนแผ่นดินโลกภายใต้ “ฟ้าสวรรค์ใหม่.” ในโอกาสนั้นพระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายอย่าประหลาดใจในข้อนี้เลย เพราะเวลาจะมาเมื่อบรรดาคนที่อยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินสำเนียงของพระองค์, และจะได้เป็นขึ้นมา.”—วิวรณ์ 21:1, 3, 4; โยฮัน 5:28, 29; 2 เปโตร 3:13.
ประจักษ์พยานคนอื่น ๆ ในการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายนั้นรวมถึงเปโตร พร้อมกับคนอื่นบางคนใน 12 คนที่ร่วมเดินทางกับพระเยซู. พวกเขาได้ยินพระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์ตรัสจริง ๆ ที่แถบทะเลฆาลิลาย. บันทึกเรื่องราวบอกเราว่า “พระเยซูตรัสแก่เขาทั้งหลายว่า, ‘เชิญมารับประทานอาหารเถิด.’ ในหมู่สาวกไม่มีใครอาจถามพระองค์ว่า, ‘ท่านเป็นผู้ใด?’ เพราะเขารู้อยู่ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า. พระเยซูทรงดำเนินเข้ามาทรงหยิบขนมปังกับปลาแจกให้เขาทั้งหลาย. นี่เป็นครั้งที่สามที่พระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่เหล่าสาวกภายหลังพระองค์ทรงคืนพระชนม์แล้ว.”—โยฮัน 21:12-14.
ฉะนั้น เปโตรจึงสามารถเขียนได้ด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่า “จงสรรเสริญพระเจ้า คือพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา, ผู้ได้ทรงพระมหากรุณาแก่เราโปรดให้เราบังเกิดใหม่, ให้มีความหวังใจอันมีชีวิตอยู่ โดยทรงบันดาลให้พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากตายแล้ว.”—1 เปโตร 1:3.
อัครสาวกเปาโลแสดงถึงความหวังที่ท่านมั่นใจเมื่อกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เชื่อถือคำซึ่งเขียนไว้ในคัมภีร์พระบัญญัติและในคัมภีร์ของศาสดาพยากรณ์ทั้งหมด. ข้าพเจ้ามีความหวังใจในพระเจ้าตามซึ่งเขาเองมีความหวังใจด้วย, ว่าคนทั้งปวงทั้งคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.”—กิจการ 24:14, 15.
ดังนั้น หลายล้านคนจึงสามารถมีความหวังอันมั่นคงว่าจะเห็นคนที่พวกเขารักกลับมีชีวิตอีกบนแผ่นดินโลก แต่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปมากทีเดียว. สภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นเช่นไร? รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับความหวังสำหรับผู้ที่เรารักซึ่งตายไปที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักนั้นจะมีชี้แจงในตอนสุดท้ายของจุลสารนี้ ซึ่งมีชื่อตอนว่า “ความหวังที่แน่นอนสำหรับคนตาย.”
แต่ก่อนอื่นให้เราพิจารณาคำถามที่คุณอาจมี หากคุณกำลังโศกเศร้ากับการสูญเสียคนที่รักไป: เป็นเรื่องธรรมดาไหมที่รู้สึกเช่นนี้? ฉันจะทนอยู่กับความโศกเศร้าได้อย่างไร? คนอื่นจะสามารถทำอะไรได้เพื่อช่วยฉันให้รับมือ? ฉันจะช่วยคนอื่น ๆ ที่กำลังโศกเศร้าได้อย่างไร? และที่สำคัญยิ่ง: คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับความหวังที่แน่นอนสำหรับคนตาย? ฉันจะเห็นคนที่ฉันรักอีกไหม? และจะเห็นเขาที่ไหน?