ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทสิบแปด

การรับบัพติสมาและความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระเจ้า

การรับบัพติสมาและความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระเจ้า
  • การรับบัพติสมาของคริสเตียนทำกันอย่างไร?

  • คุณต้องทำตามขั้นตอนอะไรบ้างเพื่อจะรับบัพติสมาได้?

  • คนเราอุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยวิธีใด?

  • มีเหตุผลพิเศษอะไรที่ควรรับบัพติสมา?

1. ทำไมข้าราชสำนักชาวเอธิโอเปียจึงขอรับบัพติสมา?

“ดูสิ! ที่นี่มีน้ำ มีอะไรขัดข้องไหมถ้าข้าพเจ้าจะรับบัพติสมา?” ข้าราชสำนักชาวเอธิโอเปียคนหนึ่งในสมัยศตวรรษแรกได้ถามเช่นนั้น. คริสเตียนชื่อฟิลิปได้พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญา. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระคัมภีร์ประทับใจชายชาวเอธิโอเปียอย่างยิ่ง เขาจึงลงมือทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้น. เขาแสดงให้เห็นว่าต้องการรับบัพติสมา!—กิจการ 8:26-36.

2. ทำไมคุณควรคิดอย่างจริงจังเรื่องการรับบัพติสมา?

2 หากคุณได้ศึกษาบทต้น ๆ ของหนังสือเล่มนี้อย่างถี่ถ้วนกับพยานพระยะโฮวาไปแล้ว คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองพร้อมแล้วที่จะถามว่า ‘มีอะไรขัดข้องไหมถ้าฉัน จะรับบัพติสมา?’ ถึงตอนนี้คุณได้เรียนเกี่ยวกับคำสัญญาในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอุทยาน. (ลูกา 23:43; วิวรณ์ 21:3, 4) คุณยังได้เรียนเกี่ยวกับสภาพที่แท้จริงของคนตายและความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (ท่านผู้ประกาศ 9:5; โยฮัน 5:28, 29) คุณคงได้คบหากับพยานพระยะโฮวา ณ การประชุมต่าง ๆ ที่ประชาคมของพวกเขาและได้เห็นด้วยตนเองว่าพวกเขาทำตามหลักการของศาสนาแท้. (โยฮัน 13:35) ที่สำคัญที่สุดคือ คุณคงได้เริ่มสร้างความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวาพระเจ้าแล้ว.

3. (ก) พระเยซูทรงสั่งเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้ทำอะไร? (ข) การรับบัพติสมาในน้ำทำกันโดยวิธีใด?

3 คุณจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าคุณต้องการรับใช้พระเจ้า? พระเยซูทรงสั่งเหล่าผู้ติดตามของพระองค์ว่า “จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติสมา.” (มัดธาย 28:19) พระเยซูเองได้วางตัวอย่างไว้โดยการรับบัพติสมาในน้ำ. พระองค์ไม่ได้รับการประพรมด้วยน้ำ หรือเพียงแค่เทน้ำลงบนพระเศียรของพระองค์. (มัดธาย 3:16) คำ “บัพติสมา” มาจากคำภาษากรีกที่หมายความว่า “จุ่ม.” เพราะฉะนั้น การรับบัพติสมาของคริสเตียนจึงหมายถึงการจุ่มตัวมิดในน้ำ.

4. การรับบัพติสมาในน้ำบ่งชี้ถึงอะไร?

4 การรับบัพติสมาในน้ำเป็นข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งสำหรับทุกคนที่ต้องการมีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวาพระเจ้า. การรับบัพติสมาเป็นการบอกให้รู้กันทั่วว่าคุณปรารถนาจะรับใช้พระเจ้า. นั่นแสดงว่าคุณยินดีที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 40:7, 8) แต่เพื่อจะรับบัพติสมาได้ คุณต้องทำตามขั้นตอนบางอย่าง.

ความรู้และความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็น

5. (ก) ขั้นตอนแรกที่เราต้องทำก่อนจะรับบัพติสมาคืออะไร? (ข) ทำไมการประชุมคริสเตียนจึงสำคัญ?

5 คุณได้เริ่มทำขั้นตอนแรกมาแล้ว. โดยวิธีใด? โดยการรับความรู้ต่อ ๆ ไป เกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ บางทีโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างละเอียด. (โยฮัน 17:3) แต่ยังมีอีกมากที่คุณจะเรียนรู้ได้. คริสเตียนอยากจะเป็นผู้ที่ “เปี่ยมด้วยความรู้ถ่องแท้เรื่องพระประสงค์ของ [พระเจ้า].” (โกโลซาย 1:9) การเข้าร่วมประชุมในประชาคมของพยานพระยะโฮวาช่วยคุณได้มากทีเดียว. นับว่าสำคัญที่จะเข้าร่วมการประชุมเช่นนั้น. (ฮีบรู 10:24, 25) การเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ เป็นประจำจะช่วยคุณให้มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระเจ้า.

การได้รับความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้คนเรามีคุณสมบัติสำหรับการรับบัพติสมา

6. คุณต้องมีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลมากขนาดไหนเพื่อจะรับบัพติสมาได้?

6 แน่นอน คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกสิ่งในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะรับบัพติสมาได้. ข้าราชสำนักชาวเอธิโอเปียคนนั้นมีความรู้อยู่บ้าง แต่เขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อจะเข้าใจพระคัมภีร์บางตอน. (กิจการ 8:30, 31) เช่นเดียวกัน คุณยังต้องเรียนรู้อีกมาก. ที่จริง คุณไม่มีวันจะเรียนเรื่องพระเจ้าได้จบ. (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ล.ม.) แต่ก่อนที่คุณจะรับบัพติสมาได้ อย่างน้อยที่สุดคุณต้องรู้และยอมรับคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล. (ฮีบรู 5:12) คำสอนดังกล่าวรวมถึงความจริงเกี่ยวกับสภาพของคนตายและความสำคัญของพระนามและราชอาณาจักรของพระเจ้า.

7. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลควรมีผลกระทบเช่นไรต่อคุณ?

7 แต่ความรู้อย่างเดียวยังไม่พอ เพราะ “ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้เลย.” (ฮีบรู 11:6) คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า เมื่อบางคนในเมืองโครินท์โบราณได้ยินข่าวสารที่คริสเตียนประกาศ พวกเขาได้ “เชื่อและรับบัพติสมา.” (กิจการ 18:8) ในวิธีคล้ายกัน การศึกษาพระคัมภีร์ควรทำให้คุณมีความเชื่อ อย่างเต็มที่ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลควรช่วยคุณให้มีความเชื่อเรื่องคำสัญญาของพระเจ้าและเชื่อว่าเครื่องบูชาของพระเยซูสามารถช่วยคุณให้รอดได้.—ยะโฮซูอะ 23:14; กิจการ 4:12; 2 ติโมเธียว 3:16, 17.

การแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่น

8. อะไรจะกระตุ้นคุณให้แบ่งปันเรื่องที่ได้เรียนรู้แก่คนอื่น?

8 เมื่อหัวใจคุณมีความเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณก็จะรู้สึกว่ายากที่จะเก็บเรื่องที่ได้เรียนรู้ไว้คนเดียว. (ยิระมะยา 20:9) คุณจะได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่ให้พูดกับคนอื่นในเรื่องพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์.—2 โครินท์ 4:13.

ความเชื่อควรกระตุ้นคุณให้แบ่งปันสิ่งที่คุณเชื่อแก่คนอื่น

9, 10. (ก) คุณอาจเริ่มแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลให้ใครบ้าง? (ข) คุณควรทำเช่นไรหากต้องการมีส่วนร่วมในงานประกาศที่พยานพระยะโฮวาทำกันอย่างเป็นระบบ?

9 คุณอาจเริ่มแบ่งปันความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่คนอื่นโดยการพูดอย่างผ่อนหนักผ่อนเบากับญาติพี่น้อง, เพื่อนฝูง, เพื่อนบ้าน, และเพื่อนร่วมงาน. ในเวลาต่อมา คุณคงอยากจะมีส่วนร่วมในงานประกาศที่พยานพระยะโฮวาทำกันอย่างเป็นระบบ. ถึงตอนนั้น อย่ารู้สึกลังเลใจที่จะพูดเรื่องนี้กับพยานฯ ที่สอนพระคัมภีร์คุณ. หากเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติสำหรับการประกาศเผยแพร่ ก็จะมีการนัดหมายให้คุณและผู้สอนคุณพบกับผู้ปกครองสองคนของประชาคม.

10 นี่จะทำให้คุณได้รู้จักคุ้นเคยกับคริสเตียนผู้ปกครองบางคนดีขึ้น พวกเขาเป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. (กิจการ 20:28; 1 เปโตร 5:2, 3) หากผู้ปกครองเหล่านี้เห็นว่าคุณเข้าใจและเชื่อคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล, คุณดำเนินชีวิตตามหลักการของพระเจ้า, และคุณต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาจริง ๆ พวกเขาก็จะแจ้งให้ทราบว่าคุณมีคุณสมบัติสำหรับการเข้าร่วมในงานประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนฐานะเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่ยังไม่ได้รับบัพติสมา.

11. บางคนอาจต้องทำการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างก่อนที่เขาจะมีคุณวุฒิสำหรับการประกาศเผยแพร่?

11 ในอีกด้านหนึ่ง คุณอาจต้องทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตและนิสัยบางอย่างของคุณเพื่อจะมีคุณวุฒิสำหรับการประกาศเผยแพร่. นี่อาจรวมถึงการเลิกนิสัยบางอย่างที่คุณไม่ได้บอกให้คนอื่นรู้. ดังนั้น ก่อนที่คุณจะขอเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่ได้รับบัพติสมา คุณต้องเลิกทำบาปร้ายแรง เช่น การผิดศีลธรรมทางเพศ, การเมาเหล้า, และการใช้ยาเสพติด.—1 โครินท์ 6:9, 10; กาลาเทีย 5:19-21.

การกลับใจและการหันกลับ

12. ทำไมการกลับใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น?

12 มีขั้นตอนอื่นอีกที่ต้องทำก่อนที่คุณจะมีคุณสมบัติสำหรับการรับบัพติสมา. อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “จงกลับใจและเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อบาปของพวกท่านจะถูกลบล้าง.” (กิจการ 3:19) การกลับใจ คือการรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับบางสิ่งที่คุณเคยทำ. การกลับใจ นับว่าเหมาะสมจริง ๆ สำหรับคนที่เคยใช้ชีวิตแบบที่ผิดศีลธรรม แต่ก็ยังจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนั้นด้วย. เพราะเหตุใด? เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปและจำเป็นต้องได้รับการอภัยจากพระเจ้า. (โรม 3:23; 5:12) ก่อนศึกษาคัมภีร์ไบเบิล คุณไม่รู้ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเช่นไร. ดังนั้น คุณจะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระองค์ทุกประการได้อย่างไร? ด้วยเหตุนี้ การกลับใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น.

13. การหันกลับคืออะไร?

13 หลังจากการกลับใจแล้ว ก็ต้องมีการหันกลับ. เพียงแค่รู้สึกเสียใจยังไม่พอ. คุณต้องเลิกใช้ชีวิตแบบแต่ก่อนและตั้งใจแน่วแน่ว่าจากนี้ไปคุณจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. การกลับใจและการหันกลับเป็นขั้นตอนที่คุณต้องทำก่อนรับบัพติสมา.

การอุทิศตัว

14. มีขั้นตอนสำคัญอะไรที่คุณต้องทำก่อนรับบัพติสมา?

14 มีขั้นตอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำก่อนรับบัพติสมา. คุณต้องอุทิศตัว แด่พระยะโฮวาพระเจ้า.

คุณได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยการอธิษฐานไหม?

15, 16. การอุทิศตัวคุณแด่พระเจ้าหมายความเช่นไร และอะไรกระตุ้นคนเราให้ทำเช่นนั้น?

15 เมื่อคุณอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้าโดยการอธิษฐานอย่างจริงจัง คุณสัญญาว่าจะถวายความเลื่อมใสศรัทธาแด่พระองค์เพียงผู้เดียวตลอดไป. (พระบัญญัติ 6:15) แต่ทำไมจึงมีคนอยากจะทำเช่นนั้น? ขอให้พิจารณาตัวอย่างนี้: สมมุติว่าชายคนหนึ่งเริ่มติดต่อฝากรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง. ยิ่งเขารู้จักเธอและเห็นคุณลักษณะที่ดีของเธอมากเท่าใด เขาก็ยิ่งรู้สึกอยากใกล้ชิดเธอมากขึ้นเท่านั้น. ในที่สุดก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะขอเธอแต่งงาน. จริงอยู่ การแต่งงานย่อมหมายถึงการมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น. แต่ความรักจะกระตุ้นเขาให้ก้าวไปสู่ขั้นตอนที่สำคัญนั้น.

16 เมื่อคุณได้มารู้จักและรักพระยะโฮวา คุณได้รับการกระตุ้นให้รับใช้พระองค์โดยไม่สงวนสิ่งใดไว้หรือตั้งข้อจำกัดใด ๆ ในการนมัสการพระองค์. ใครก็ตามที่ต้องการติดตามพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าต้อง “ปฏิเสธตัวเอง.” (มาระโก 8:34) เราปฏิเสธตัวเองโดยที่เราไม่ยอมให้ความปรารถนาและเป้าหมายส่วนตัวมาขัดขวางความตั้งใจของเราที่จะเชื่อฟังพระเจ้าในทุกสิ่ง. ดังนั้น ก่อนที่คุณจะรับบัพติสมาได้ การทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้าจะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตคุณ.—1 เปโตร 4:2.

การเอาชนะความกลัวว่าจะทำไม่ได้

17. ทำไมบางคนอาจรู้สึกลังเลที่จะอุทิศตัวแด่พระเจ้า?

17 บางคนรู้สึกลังเลที่จะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเพราะเขาค่อนข้างกลัวที่จะทำตามขั้นตอนสำคัญนี้. เขาอาจกลัวว่าจะต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าฐานะคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้ว. เนื่องจากกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้และทำให้พระยะโฮวาผิดหวัง เขาจึงคิดว่าเป็นการดีที่สุดที่จะไม่อุทิศตัวแด่พระองค์.

18. อะไรจะกระตุ้นคุณให้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา?

18 ขณะที่คุณเรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวา คุณจะรู้สึกอยากอุทิศตัวแด่พระองค์และพยายามสุดความสามารถที่จะดำเนินชีวิตสมกับที่คุณได้อุทิศตัว. (ท่านผู้ประกาศ 5:4) หลังจากอุทิศตัวแล้ว แน่นอนว่าคุณคงอยากจะ “ประพฤติสมกับเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาเพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยทุกประการ.” (โกโลซาย 1:10) เนื่องจากความรักที่มีต่อพระเจ้า คุณจะไม่คิดว่าการทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์เป็นเรื่องที่ยากเกินไป. ไม่ต้องสงสัย คุณคงจะเห็นด้วยกับอัครสาวกโยฮันซึ่งได้เขียนว่า “การรักพระเจ้าหมายถึงการทำตามพระบัญญัติของพระองค์ และพระบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.”—1 โยฮัน 5:3.

19. ทำไมคุณไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะอุทิศตัวแด่พระเจ้า?

19 คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนสมบูรณ์พร้อมเพื่อจะอุทิศตัวแด่พระเจ้า. พระยะโฮวาทรงทราบข้อจำกัดของคุณและไม่เคยคาดหมายจากคุณเกินกว่าที่คุณจะทำได้. (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) พระองค์ประสงค์ให้คุณทำได้สำเร็จและจะทรงสนับสนุนและช่วยเหลือคุณ. (ยะซายา 41:10) คุณแน่ใจได้ว่าหากคุณไว้วางใจพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ พระองค์ ‘จะชี้ทางเดินของคุณให้แจ่มแจ้ง.’—สุภาษิต 3:5, 6.

แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวด้วยการรับบัพติสมา

20. ทำไมจึงไม่อาจเก็บเรื่องการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาไว้เป็นเรื่องลับเฉพาะ?

20 การคิดทบทวนเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เราเพิ่งได้พิจารณาอาจช่วยคุณให้ทำการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน. ทุกคนที่รักพระเจ้าอย่างแท้จริงต้อง “ประกาศความเชื่อด้วยปากอย่างเปิดเผย” ด้วย. (โรม 10:10) คุณจะประกาศอย่างเปิดเผยโดยวิธีใด?

การรับบัพติสมาหมายถึงการตายจากแนวทางชีวิตแบบเก่าของเราแล้วเริ่มชีวิตใหม่เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า

21, 22. คุณจะ ‘ประกาศอย่างเปิดเผย’ เกี่ยวกับความเชื่อของคุณได้โดยวิธีใด?

21 คุณควรแจ้งให้ผู้ประสานงานคณะผู้ปกครองในประชาคมของคุณทราบว่าคุณต้องการรับบัพติสมา. เขาจะบอกผู้ปกครองบางคนให้ทบทวนกับคุณพร้อมทั้งถามคำถามบางข้อที่เกี่ยวกับคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล. หากผู้ปกครองเหล่านี้เห็นพ้องกันว่าคุณมีคุณสมบัติที่จะรับบัพติสมาได้ พวกเขาก็จะบอกให้คุณทราบว่า คุณจะรับบัพติสมาได้ในการประชุมใหญ่คราวต่อไป. * ตามปกติในโอกาสนั้น จะมีคำบรรยายทบทวนความหมายของการรับบัพติสมา. ในตอนนั้นผู้บรรยายจะเชิญผู้ที่จะรับบัพติสมาทุกคนให้ตอบคำถามง่าย ๆ สองข้อซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะ ‘ประกาศอย่างเปิดเผย’ ด้วยคำพูดเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา.

22 การรับบัพติสมานั่นเองที่บอกให้คนรู้กันทั่วว่าคุณเป็นผู้ที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้วและตอนนี้คุณเป็นพยานพระยะโฮวา. ผู้ที่จะรับบัพติสมาจะถูกจุ่มตัวมิดในน้ำเพื่อแสดงให้คนรู้ทั่วกันว่าเขาได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้ว.

ความหมายของการรับบัพติสมา

23. การรับบัพติสมา “ในนามของพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์” หมายความอย่างไร?

23 พระเยซูตรัสว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะรับบัพติสมา “ในนามของพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19) นี่หมายความว่าผู้ที่จะรับบัพติสมายอมรับอำนาจของพระยะโฮวาพระเจ้าและของพระเยซูคริสต์. (บทเพลงสรรเสริญ 83:18; มัดธาย 28:18) เขายังยอมรับหน้าที่และวิธีดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า.—กาลาเทีย 5:22, 23; 2 เปโตร 1:21.

24, 25. (ก) การรับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร? (ข) คำถามอะไรที่ต้องได้รับคำตอบ?

24 อย่างไรก็ดี การรับบัพติสมาไม่ใช่แค่การจุ่มตัวในน้ำ. การรับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งที่สำคัญจริง ๆ. การอยู่ใต้น้ำแสดงว่าคุณได้ตายจากแนวทางชีวิตแบบเก่าของคุณ. การโผล่ขึ้นจากน้ำแสดงว่าตอนนี้คุณเริ่มชีวิตใหม่เพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. อย่าลืมว่า คุณได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า ไม่ใช่อุทิศให้กับงาน, เป้าหมาย, มนุษย์, หรือองค์การใด ๆ. การอุทิศตัวและการรับบัพติสมาของคุณเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่แนบแน่นกับพระเจ้า—เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 25:14.

25 การรับบัพติสมาไม่ได้รับประกันความรอด. อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า “จงบากบั่นทำงานต่อ ๆ ไปด้วยความเกรงกลัวตัวสั่นเพื่อท่านทั้งหลายจะรอด.” (ฟิลิปปอย 2:12) การรับบัพติสมาเป็นเพียงการเริ่มต้น. คำถามคือ คุณจะรักษาตัวให้อยู่ในความรักของพระเจ้าต่อ ๆ ไปได้อย่างไร? บทสุดท้ายจะให้คำตอบ.