ก2
ลักษณะเด่นของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลนี้
พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษพิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) หลังจากนั้น มีการจัดพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ครบชุดออกมาในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ตั้งแต่นั้นมา ผู้อ่านหลายสิบล้านคนที่ใช้ภาษาต่าง ๆ มากกว่า 210 ภาษา ได้รับประโยชน์จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ที่มีการแปลจากภาษาเดิมอย่างถูกต้องและอ่านเข้าใจง่าย
คณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่เห็นว่า จำเป็นต้องใช้ภาษาที่เข้าถึงหัวใจของผู้อ่านสมัยนี้ ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลนี้จึงใช้ลักษณะภาษาและคำศัพท์โดยคำนึงถึงจุดต่าง ๆ ต่อไปนี้
ใช้ภาษาสมัยใหม่ และภาษาที่เข้าใจง่าย มีความพยายามที่จะแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้โดยใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและเป็นภาษาที่คนทั่วไปในทุกวันนี้พูดกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า “บิดา” เปลี่ยนเป็น “พ่อ” และคำว่า “บุตร” เปลี่ยนเป็น “ลูก” (ลูกา 15:11-32) คำว่า “นิรันดร์” ซึ่งเป็นคำที่มักใช้ในเพลงหรือบทกลอน เปลี่ยนเป็นคำว่า “ตลอดไป” ซึ่งเป็นคำที่ผู้อ่านเข้าใจง่ายกว่า (ยอห์น 17:3) คำที่ไม่ค่อยมีการใช้กันแล้วในชีวิตประจำวัน เช่น “ผิดประเวณี” ก็เปลี่ยนเป็น “ผิดศีลธรรมทางเพศ” และคำว่า “หญิงแพศยา” เป็น “โสเภณี” (กาลาเทีย 5:19; มัทธิว 21:31) ส่วนคำว่า “มุสา” ก็เปลี่ยนเป็น “โกหก” เพราะเป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปและเข้าใจง่าย (ทิตัส 1:2; 1 ยอห์น 4:20) ส่วนคำโบราณ เช่น “ฉิบหาย” ก็เปลี่ยนเป็น “พินาศ”—กันดารวิถี 17:12
นอกจากนี้ คำว่า “เผ่าพันธุ์” “พงศ์พันธุ์” หรือ “ผู้สืบเชื้อสาย” ก็เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ลูกหลาน” (ปฐมกาล 22:17; 48:4; ลูกา 1:55) คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ใช้คำว่า “ลูกหลาน” ด้วยเมื่อพูดถึงสัญญาในสวนเอเดนที่ปฐมกาล 3:15
เพื่อจะใช้ภาษาที่คนในทุกวันนี้พูดกันจริง ๆ จึงมีการเปลี่ยนไปใช้สรรพนามแบบที่คนสมัยปัจจุบันพูดกันในชีวิตประจำวันแทนที่จะใช้สรรพนามแบบคนสมัยโบราณ เช่น “ข้า” หรือ “ข้าพเจ้า” เปลี่ยนเป็น “ผม” หรือ “ฉัน” และ “เจ้า” เปลี่ยนเป็น “คุณ” โดยวิธีนี้ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมมากขึ้นกับเหตุการณ์ที่กำลังอ่าน ทำให้รู้สึกว่าเรื่องที่อ่านเกี่ยวข้องกับตัวเขา ไม่ใช่เป็นแค่เหตุการณ์ในสมัยโบราณที่อยู่ห่างไกล นอกจากนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้ใช้คำราชาศัพท์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น
คำพูดที่พระเยซูใช้สนทนากับคนอื่น ๆ ก็มีการปรับให้เป็นภาษาสมัยใหม่ด้วย เช่น ที่มัทธิว 11:28 พระเยซูพูดกับคนที่ฟังท่านว่า “ทุกคนที่ทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยและมีภาระมาก มาหาผมสิ แล้วผมจะทำให้คุณสดชื่นหายเหนื่อย” และเมื่อพูดกับพวกสาวกที่ยอห์น 15:14 พระเยซูบอกว่า “ถ้าพวกคุณทำตามที่ผมสั่ง พวกคุณก็เป็นเพื่อนของผม” ในอีกเหตุการณ์หนึ่งตอนที่พระเยซูเดินบนน้ำไปหาพวกสาวกที่อยู่บนเรือซึ่งกำลังโดนพายุ เมื่อพวกสาวกเห็นพระเยซูก็ตกใจกลัว แต่ท่านบอกพวกเขาที่มัทธิว 14:27 ว่า “ไม่ต้องตกใจ นี่ผมเอง ไม่ต้องกลัว” การใช้คำพูดเหมือนคนทั่วไปแบบนี้ทำให้เห็นว่า ถึงแม้พระเยซูเป็นถึงลูกของพระเจ้า แต่ก็ไม่ได้ทำตัวเหมือนกับว่าท่านมีฐานะสูงส่งกว่าคนที่ท่านพูดคุยด้วย ซึ่งเข้ากับบุคลิกของพระเยซูที่เป็นคนถ่อมและเข้าหาได้ง่าย โดยเฉพาะกับพวกอัครสาวก พระเยซูจะพูดกับพวกเขาอย่างสนิทสนมมากเหมือนเป็นเพื่อนหรือพี่น้อง นอกจากนี้ เมื่อผู้อ่านสมัยปัจจุบันอ่านประโยคเหล่านี้ที่เป็นคำพูดของพระเยซู ก็จะทำให้เขานึกภาพได้ง่ายขึ้นว่าพระเยซูกำลังพูดกับเขาเป็นส่วนตัว และทำให้เข้าถึงหัวใจได้มากขึ้น
ใช้คำหรือสำนวนที่ช่วยให้เข้าใจคำสอนในพระคัมภีร์ คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลคำภาษาฮีบรู เนเฟช และภาษากรีก พซีเค ว่า “จิตวิญญาณ” หรือ “วิญญาณ” แต่เมื่อดูพระคัมภีร์ต้นฉบับ เราจะเห็นว่าในภาษาเดิมมีการใช้สองคำนี้ ในความหมายหลัก ๆ ดังนี้ (1) คน (2) สัตว์ (3) ชีวิตของคนหรือสัตว์ (ปฐมกาล 1:20; 2:7; กันดารวิถี 31:28; 1 เปโตร 3:20) สังเกตว่าเมื่อคัมภีร์ไบเบิลใช้สองคำนี้กับตัวคนและสัตว์ ก็ใช้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ มองเห็นได้ และตายได้ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็นและเป็นอมตะ (เอเสเคียล 18:4, 20) ดังนั้น คำว่า “จิตวิญญาณ” ไม่ได้สื่อความหมายตามภาษาเดิม คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้จึงแปลคำว่า เนเฟช และ พซีเค ตามความหมายของแต่ละท้องเรื่องโดยใช้คำว่า “ชีวิต” “คน” “สัตว์” หรือใช้สรรพนาม เช่น “ผม” “ฉัน” หรือ “เขา”
เช่นเดียวกับคำภาษาฮีบรู รูอาค และคำภาษากรีก พนูมา ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่แปลว่า “วิญญาณ” ที่จริงคำนี้ในภาษาเดิมมีความหมายหลายอย่าง และทุกอย่างเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็นแต่ส่งผลกระทบที่มองเห็นได้ คำนี้ทั้งภาษาฮีบรูและภาษากรีกถูกใช้เพื่ออ้างถึง (1) ลม (2) พลังชีวิตของคนและสัตว์ (3) พลังกระตุ้นจากใจของคนเราซึ่งกระตุ้นให้เขาพูดหรือทำอะไรบางอย่าง (4) ถ้อยคำที่ได้รับการดลใจจากแหล่งที่มองไม่เห็น (5) บุคคลที่มีร่างกายแบบที่มนุษย์เรามองไม่เห็น เช่น พระเจ้า ทูตสวรรค์ และปีศาจ (6) พลังที่พระเจ้าใช้ในการทำงาน หรือพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า (อพยพ 35:31; สดุดี 104:29; มัทธิว 12:43; ลูกา 11:13) เนื่องจากคำนี้ในภาษาเดิมไม่ได้มีความหมายตรงกับคำว่า “วิญญาณ” ในภาษาไทย ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงแปลคำนี้ตามความหมายที่แท้จริงของแต่ละข้อตามท้องเรื่อง เช่น คำที่เคยแปลว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นคำที่มักจะทำให้เข้าใจผิด ตอนนี้เราใช้คำว่า “พลังบริสุทธิ์”
ฉบับแปลนี้ใช้คำว่า “ไต” เฉพาะเมื่อพูดถึงอวัยวะในร่างกายจริง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อใช้ในความหมายแฝง เช่น ในสดุดี 7:9; 26:2 และวิวรณ์ 2:23 มีการแปลคำนี้ในข้อความหลักว่า “ความรู้สึกที่ลึกที่สุด” หรือ “ส่วนลึกที่สุดของความคิดจิตใจ” ตามความหมายที่ข้อนั้นต้องการบอกจริง ๆ และใส่คำแปลตรงตัวไว้ในเชิงอรรถ
คล้ายกัน คำที่แปลจากภาษาฮีบรูและกรีกเป็นภาษาไทยว่า “หัวใจ” มีความหมายทั้งแบบตรงตัวและความหมายแฝง ในพระคัมภีร์ฉบับนี้ส่วนใหญ่ยังคงแปลคำนี้โดยใช้คำว่า “ใจ” หรือ “หัวใจ” แต่ในท้องเรื่องที่การแปลตรงตัวทำให้เข้าใจไม่ชัดเจนหรือไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะมีการแปลความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมาจริง ๆ เช่น ในหนังสือสุภาษิต วลีที่แปลตรงตัวว่า “ขาดหัวใจ” ก็แปลว่า “ไม่รู้จักคิด” และใส่คำแปลตรงตัวไว้ในเชิงอรรถ (สุภาษิต 6:32; 7:7) หลักการแปลแบบนี้ยังใช้กับคำอื่น ๆ ด้วย เช่น “กระดูกและเนื้อ” “แขน” “เขาสัตว์” (ปฐมกาล 29:14; สดุดี 71:18; 75:4) มีการอธิบายบางคำที่มีลักษณะแบบนี้ใน “ส่วนอธิบายศัพท์” ด้วย
นอกจากนั้น ฉบับแปลนี้ยังมีการปรับบางคำเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายที่ชัดเจนขึ้น เช่น คำว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้า” เปลี่ยนเป็น “รัฐบาลของพระเจ้า” เพราะคำว่าราชอาณาจักรทำให้นึกถึงเขตแดนของประเทศ มากกว่าการปกครอง
ชื่อต่าง ๆ ฉบับแปลนี้มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมากในเรื่องการสะกดชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อคนหรือกลุ่มคน เช่น อาดามกับฮาวา เปลี่ยนเป็น อาดัมกับเอวา โมเซ เปลี่ยนเป็น โมเสส พวกฟาริซาย เปลี่ยนเป็น พวกฟาริสี รวมทั้งชื่อเมืองหรือสถานที่ เช่น เมืองโซโดม เปลี่ยนเป็น เมืองโสโดม แกลิลี เปลี่ยนเป็น กาลิลี นอกจากนี้ ชื่อหนังสือแต่ละเล่ม ของคัมภีร์ไบเบิลก็มีการปรับเปลี่ยนด้วย เช่น เยเนซิศ เปลี่ยนเป็น ปฐมกาล บทเพลงสรรเสริญ เปลี่ยนเป็น สดุดี และมัดธาย เปลี่ยนเป็น มัทธิว การปรับเปลี่ยนการสะกดชื่อเหล่านี้ก็เพื่อให้ตรงกับชื่อต่าง ๆ ที่ใช้ในพระคัมภีร์ฉบับแปลอื่น ๆ ในภาษาไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
การปรับเปลี่ยนการแปลในพระคัมภีร์ทั้งหมดนี้ได้ทำอย่างระมัดระวัง พร้อมด้วยการอธิษฐาน และด้วยความนับถือในงานต้นฉบับของคณะกรรมการการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่
ลักษณะอื่น ๆ ของฉบับแปลนี้
คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้มีเชิงอรรถด้วย เชิงอรรถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
“หรือ” ข้อความที่อยู่ในเชิงอรรถแบบนี้เป็นข้อความที่อาจแปลได้อีกแบบหนึ่งจากข้อความต้นฉบับภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก หรือภาษากรีก แต่ก็ยังเป็นแนวคิดเดียวกันกับข้อความหลัก—ปฐมกาล 1:2 “พลังที่พระเจ้าใช้ในการทำงาน”; โยชูวา 1:8 “คิดใคร่ครวญ”
“หรืออาจแปลได้ว่า” ข้อความที่อยู่ในเชิงอรรถแบบนี้เป็นข้อความที่อาจแปลได้อีกแบบหนึ่ง และเป็นแนวคิดที่ต่างไปจากข้อความหลัก—ปฐมกาล 21:6 “หัวเราะดีใจไปกับฉันด้วย”; เศคาริยาห์ 14:21 “ชาวคานาอัน”
“แปลตรงตัวว่า” ข้อความที่อยู่ในเชิงอรรถแบบนี้เป็นข้อความที่แปลตรงตัวจากภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมอิก หรือภาษากรีก หรือแปลตามความหมายพื้นฐานของคำนั้นในภาษาเดิม—ปฐมกาล 9:6 “ฆ่าคน”; มัทธิว 4:4 ดูเชิงอรรถของคำว่า “อาหาร”
บอกความหมายและข้อมูลภูมิหลัง ข้อความในเชิงอรรถแบบนี้บอกความหมายของชื่อต่าง ๆ (ปฐมกาล 3:17 “อาดัม”; อพยพ 15:23 “มาราห์”) หรือบอกรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำหนักหรือขนาด (ปฐมกาล 6:15 “ศอก”) หรือระบุว่าสรรพนามในข้อนั้นหมายถึงใคร (ปฐมกาล 49:25 “เขา”) หรือชี้ไปที่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในภาคผนวกและส่วนอธิบายศัพท์—ปฐมกาล 2:4 ดูเชิงอรรถของคำว่า “พระยะโฮวา”; มัทธิว 5:22 ดูเชิงอรรถของคำว่า “เกเฮนนา”
ส่วนที่อยู่ด้านหน้าของพระคัมภีร์ฉบับนี้ซึ่งมีชื่อว่า “มารู้จักคำสอนของพระเจ้า” มีโครงเรื่องที่เป็นคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิล ส่วนที่อยู่ด้านหลังของเล่มถัดจากเนื้อหาของพระคัมภีร์เล่มสุดท้ายคือ “ตารางรายชื่อหนังสือในคัมภีร์ไบเบิล” “ดัชนีคำศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิล” และ “ส่วนอธิบายศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิล” ส่วนอธิบายศัพท์นี้จะช่วยผู้อ่านให้เข้าใจคำศัพท์หรือวลีที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนี้ ยังมีภาคผนวก ก ซึ่งมีเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ “หลักในการแปลคัมภีร์ไบเบิล” “ลักษณะเด่นของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลนี้” “คัมภีร์ไบเบิลตกทอดมาถึงเราได้อย่างไร?” “ชื่อของพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู” “ชื่อของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก” “แผนภูมิเกี่ยวกับผู้พยากรณ์และกษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์และอิสราเอล” และ “เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเยซูตอนอยู่บนโลก” ในส่วนภาคผนวก ข มีแผนที่ แผนภูมิ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ชอบค้นคว้า
ส่วนแรกของหนังสือแต่ละเล่มในคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ จะมี “ใจความสำคัญ” ของแต่ละบท ส่วนนี้ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของหนังสือแต่ละเล่ม นอกจากนี้ คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ ยังมีคอลัมน์หรือช่องที่อยู่ตรงกลางของแต่ละหน้าซึ่งมี “ข้ออ้างโยง” ที่กำกับด้วยเลขไทย เพื่อโยงข้อความในหน้านั้นกับข้อคัมภีร์อื่น ๆ