กิจการของอัครสาวก 14:1-28
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ได้รับอำนาจจากพระยะโฮวา: แปลตรงตัวว่า “บนองค์พระผู้เป็นเจ้า” จากท้องเรื่องใน กจ 14:3 คำบุพบทกรีก เอะพิ (“บน”) ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นพื้นฐานที่ทำให้พวกสาวกประกาศได้อย่างกล้าหาญ ในส่วนที่เหลือของข้อแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าเป็นพยานยืนยันหรือรับรองว่าข่าวสารที่พวกสาวกประกาศมาจากพระเจ้าจริง ๆ และยืนยันว่าพระองค์เห็นด้วยและคอยช่วยเหลือตอนที่พวกเขาทำงานนี้ (เทียบกับ กจ 4:29-31) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้สำนวน “บนองค์พระผู้เป็นเจ้า” เพื่อแปลข้อความภาษาฮีบรูที่มีเททรากรัมมาทอนอยู่ด้วย (สด 31:6 [30:7, LXX]; ยรม 17:7) ดังนั้น บางคนจึงคิดว่าสำนวนนี้อาจหมายถึงการพูด “ด้วยความวางใจพระยะโฮวา”
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
ซุส: ดูส่วนอธิบายศัพท์
เฮอร์เมส: เทพเจ้ากรีกที่เชื่อกันว่าเป็นลูกของซุส ผู้คนมองว่าเฮอร์เมสเป็นผู้ส่งข่าวของเทพเจ้าองค์อื่น ๆ และมองว่าเขาเป็นที่ปรึกษาที่ฉลาดให้กับพวกวีรบุรุษในเทพนิยายกรีก ผู้คนยังคิดว่าเฮอร์เมสเป็นเทพเจ้าแห่งการค้า การพูด ยิมนาสติก และเป็นเทพเจ้าแห่งการนอนและความฝัน เนื่องจากส่วนใหญ่เปาโลเป็นคนพูด ผู้คนในเมืองลิสตราของโรมจึงเรียกเขาว่าเทพเฮอร์เมส นี่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้คนเชื่อเกี่ยวกับเทพเฮอร์เมสว่าเป็นผู้ส่งข่าวสารจากพระเจ้าและเป็นเทพเจ้าแห่งการพูด ที่จริงในพระคัมภีร์มีคำกรีกหลายคำที่เกี่ยวข้องกับชื่อนี้เมื่อพูดถึงการแปล (เช่น คำว่า “แปล” ใน ยน 1:42 และ ฮบ 7:2 มาจากคำกริยากรีก เฮอร์เมนือโอ และคำว่า “แปล” ที่ 1คร 12:10; 14:26 มาจากคำนาม เฮอร์เมเน่อา ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 24:27) นักโบราณคดีได้พบรูปปั้นรูปหนึ่งของเทพเฮอร์เมสใกล้กับเมืองลิสตราโบราณ และยังพบแท่นบูชาของเทพเฮอร์เมสและเทพซุสแท่นหนึ่งที่นั่นด้วย ชาวโรมันเชื่อว่าเฮอร์เมสเป็นองค์เดียวกับเทพแห่งการค้าขายที่ชื่อว่าเมอร์คิวรี
พวงดอกไม้: หรือ “พวงมาลัย” ปุโรหิตของซุสอาจตั้งใจเอาพวงดอกไม้มาสวมบนหัวของเปาโลกับบาร์นาบัส เหมือนที่บางครั้งมีการสวมพวงดอกไม้บนรูปเคารพ บนหัวพวกเขาเอง หรือบนสัตว์ที่กำลังจะถวายเป็นเครื่องบูชา ปกติแล้วพวงดอกไม้พวกนี้จะทำมาจากใบไม้และดอกไม้ แต่บางครั้งก็ทำมาจากขนสัตว์ด้วย
แต่งตั้ง: ข้อคัมภีร์นี้แสดงให้เห็นว่าเปาโลกับบาร์นาบัสที่เป็นผู้ดูแลเดินทางได้แต่งตั้งพวกผู้ดูแลในประชาคม พวกเขาอธิษฐานพร้อมกับอดอาหารซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขามองว่าการแต่งตั้งนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ พระคัมภีร์ก็บอกว่าทิตัสและอาจรวมถึงทิโมธีด้วยก็มีส่วนในการแต่งตั้ง “ผู้ดูแล” ในประชาคมต่าง ๆ (ทต 1:5; 1ทธ 5:22) คำกรีก เฆ่รอทอเนะโอ ที่แปลว่า “แต่งตั้ง” ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ยื่น (เหยียด, ยก) มือ” จากความหมายนี้ทำให้บางคนเข้าใจว่าพี่น้องในประชาคมจะยกมือโหวตเพื่อเลือกผู้ดูแล แต่คำกรีกนี้ยังใช้ในความหมายที่กว้างได้ด้วยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวิธีแต่งตั้ง โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกยืนยันเรื่องนี้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Antiquities of the Jews, Book 6, บท 4 และ 13 (Loeb 6:54 and 6:312) เขาใช้คำกริยากรีกเดียวกันนี้เพื่อพูดถึงตอนที่พระเจ้าแต่งตั้งซาอูลให้เป็นกษัตริย์ ตอนนั้นชาติอิสราเอลไม่ได้ยกมือโหวตเลือกซาอูลเป็นกษัตริย์ แต่พระคัมภีร์บอกว่าผู้พยากรณ์ซามูเอลได้เทน้ำมันลงบนหัวของซาอูลและบอกว่า “พระยะโฮวาได้เจิมคุณเป็นผู้นำ” นี่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นผู้แต่งตั้งซาอูล (1ซม 10:1) นอกจากนั้น ไวยากรณ์กรีกใน กจ 14:23 ก็แสดงให้เห็นว่าเปาโลกับบาร์นาบัสเป็นผู้แต่งตั้งผู้ดูแล ไม่ใช่พี่น้องในประชาคมที่เป็นคนแต่งตั้ง (แปลตรงตัวว่า “เหยียดมือออก”) ในศตวรรษแรกก็มีการวางมือเพื่อแต่งตั้งพวกพี่น้องชายด้วย ซึ่งพวกอัครสาวกหรือพี่น้องที่มีอำนาจหน้าที่จะเป็นคนวางมือบนพวกเขา การวางมือแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ถึงการยอมรับและการแต่งตั้ง—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:6
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21) ในชาติอิสราเอลสมัยโบราณ พวกผู้ดูแลจะทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานในระดับชุมชน พวกผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน (1ทธ 3:1-7; ทต 1:5-9) ถึงแม้การเดินทางในฐานะมิชชันนารี เปาโลกับบาร์นาบัส “ได้รับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์” แต่พวกเขาก็ยังอธิษฐานและอดอาหารตอนแต่งตั้งผู้ดูแล และพวกเขาก็ “ฝาก [พวกผู้ดูแล] ไว้กับพระยะโฮวา” (กจ 13:1-4; 14:23) นอกจากเปาโลกับบาร์นาบัส พระคัมภีร์ก็บอกว่าทิตัสและอาจรวมถึงทิโมธีด้วยก็มีส่วนในการแต่งตั้ง “ผู้ดูแล” ในประชาคมต่าง ๆ (ทต 1:5; 1ทธ 5:22) ไม่มีบันทึกที่ไหนในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่าประชาคมต่าง ๆ ได้แต่งตั้งพวกผู้ดูแลกันเอง ดูเหมือนว่าแต่ละประชาคมในศตวรรษแรกจะมีผู้ดูแลหลายคนที่รับใช้ด้วยกันเป็น “คณะผู้ดูแล”—1ทธ 4:14; ฟป 1:1
ฝากพวกเขาไว้กับพระยะโฮวา: คำกริยากรีกที่แปลว่า “ฝาก” ในข้อนี้ก็ยังมีอยู่ที่ กจ 20:32 ซึ่งที่นั่นเปาโลบอกพวกผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสว่า “ผมขอฝากพวกคุณไว้กับพระเจ้า” และยังมีอยู่ที่ ลก 23:46 ในคำพูดของพระเยซูที่บอกว่า “พ่อครับ ผมขอฝาก ชีวิตไว้ในมือพ่อ” คำพูดของพระเยซูยกมาจาก สด 31:5 ในข้อนั้นในฉบับเซปตัวจินต์ (30:6, LXX) ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในข้อความภาษาฮีบรูที่มีชื่อของพระยะโฮวา มีการพูดถึงการฝากใครคนหนึ่งไว้กับพระยะโฮวาหลายครั้งในต้นฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—สด 22:8; 37:5; สภษ 16:3
เปิดโอกาสให้ . . . เข้ามาเชื่อ: หรือ “เปิดประตูแห่งความเชื่อ” พระยะโฮวาเปิดประตูโดยนัยให้กับคนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิวโดยการให้โอกาสพวกเขาเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ ตามความหมายในพระคัมภีร์การมีความเชื่อยังรวมถึงการวางใจซึ่งทำให้เกิดการเชื่อฟัง (ยก 2:17; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:16) ในจดหมายทั้งหมดที่เปาโลเขียนเขาใช้คำว่า “ประตู” ในความหมายเป็นนัย 3 ครั้ง—1คร 16:9; 2คร 2:12; คส 4:3