กิจการของอัครสาวก 17:1-34
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ยกเหตุผล: เปาโลไม่ได้แค่บอกเกี่ยวกับข่าวดี แต่เขาอธิบายและให้หลักฐานจากพระคัมภีร์ ซึ่งก็คือพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ได้รับการดลใจ เขาทำมากกว่าการอ่านพระคัมภีร์เพราะเขายกเหตุผลจากข้อคัมภีร์ต่าง ๆ และปรับการหาเหตุผลให้เข้ากับผู้ฟัง คำกริยากรีก เดียเละกอไม มีความหมายว่า “พูดคุยกัน, สนทนากัน” ซึ่งก็คือการพูดคุยโต้ตอบกับคนอื่น ๆ คำนี้ยังมีอยู่ใน กจ 17:17; 18:4, 19; 19:8, 9; 20:7, 9
ใช้ข้อคัมภีร์หลายข้อเพื่อพิสูจน์: คำกรีกนี้มีความหมายตรงตัวว่า “วางไว้ข้าง ๆ” นี่อาจทำให้เรารู้ว่าเปาโลเปรียบเทียบคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพระเยซูอย่างละเอียดเพื่อให้เห็นว่าพระเยซูทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงอย่างไร
ผู้ปกครองเมือง: มาจากคำกรีก พอลิทาร์เฆส ไม่มีการพบคำกรีกนี้ในวรรณกรรมกรีกทั่วไป แต่มีการพบข้อความจารึกที่พูดถึงตำแหน่งนี้ในเมืองเธสะโลนิกาและที่อื่น ๆ ในแคว้นมาซิโดเนีย ซึ่งข้อความจารึกเหล่านี้บางชิ้นมีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. การค้นพบนี้ยืนยันความถูกต้องของหนังสือกิจการ และยืนยันว่าลูกาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ
ซีซาร์: หรือ “จักรพรรดิ” จักรพรรดิโรมันที่ปกครองตอนนั้นคือคลาวดิอัส เขาปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 41 ถึง 54—กจ 11:28; 18:2; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 22:17 และส่วนอธิบายศัพท์
ศึกษาค้นคว้า . . . อย่างละเอียด: คำกรีก อานาคริโน มีความหมายว่า “ร่อน, แยก, แบ่ง” บางครั้งมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงการสอบสวนคดีความ (ลก 23:14; กจ 4:9; 28:18; 1คร 4:3) ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำนี้จึงหมายถึงการค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนเหมือนเป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ดังนั้น การศึกษาค้นคว้าที่ชาวยิวในเมืองเบโรอาทำจึงไม่ได้เป็นแบบผิวเผิน พวกเขาตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เปาโลกับสิลาสสอนจากพระคัมภีร์ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ตามสัญญานั้นเป็นความจริง
ตลาด: อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส เป็นตลาดของกรุงเอเธนส์ (คำกรีก อากอรา) ใหญ่ประมาณ 30 ไร่ ตลาดแห่งนี้เป็นมากกว่าสถานที่สำหรับซื้อขาย เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ชาวเอเธนส์ชอบพบปะกันที่ศูนย์กลางแห่งนี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความรู้และปรัชญาต่าง ๆ
นักปรัชญา . . . ที่เป็นพวกเอปิคิวเรียน: พวกศิษย์ของนักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อเอพิคิวรัส (341-270 ก่อน ค.ศ.) พวกเขาเชื่อว่าเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของมนุษย์คือการมีความสุข พวกเอปิคิวเรียนเชื่อว่าเทพเจ้าต่าง ๆ มีอยู่จริง แต่คิดว่าเทพเจ้าเหล่านั้นไม่สนใจมนุษย์และไม่ให้รางวัลหรือลงโทษพวกเขา ดังนั้น การอธิษฐานหรือการถวายเครื่องบูชาจึงไม่มีประโยชน์ พวกเอปิคิวเรียนคิดและทำโดยไม่สนใจหลักศีลธรรม แต่พวกเขาก็สอนให้รู้จักประมาณตนเพื่อจะไม่ต้องรับผลเสียหายจากการปล่อยตัวจนเลยเถิด พวกเขาเชื่อว่าการแสวงหาความรู้มีประโยชน์ก็แค่เพื่อช่วยให้คนพ้นจากการกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการเชื่อโชคลาง ทั้งพวกเอปิคิวเรียนและพวกสโตอิกไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่านักปรัชญาบางคนที่เป็น . . . พวกสโตอิกในข้อนี้
นักปรัชญาบางคนที่เป็น . . . พวกสโตอิก: กลุ่มนักปรัชญาชาวกรีกที่เชื่อว่าความสุขเกิดจากการใช้ชีวิตสอดคล้องกับเหตุผลและธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าคนที่ฉลาดจริง ๆ จะวางเฉยกับความรู้สึกเจ็บปวดหรือความสนุกเพลิดเพลิน พวกสโตอิกเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้าองค์หนึ่งที่ไม่มีตัวตนและวิญญาณมนุษย์ก็มาจากแหล่งดังกล่าว พวกสโตอิกบางคนเชื่อว่าในที่สุดวิญญาณจะถูกทำลายพร้อมกับจักรวาล ส่วนพวกสโตอิกคนอื่น ๆ ก็เชื่อว่าในที่สุดวิญญาณทั้งหมดจะเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าองค์นี้อีกครั้ง ทั้งพวกเอปิคิวเรียนและพวกสโตอิกไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่านักปรัชญา . . . ที่เป็นพวกเอปิคิวเรียนในข้อนี้
คนที่จำขี้ปากคนอื่นมาพูด: แปลตรงตัวว่า “พวกเก็บเมล็ดพืช” มาจากคำกรีก สเพอร์มอลอก็อส ที่มักหมายถึงนกที่จิกเมล็ดพืช เมื่อใช้ในความหมายเป็นนัยคำนี้หมายถึงคนที่เก็บเศษอาหารโดยการขอหรือขโมย หรือหมายถึงคนที่ไม่มีคุณสมบัติหรือไม่มีความรู้ แต่เก็บเอาคำพูดฉลาด ๆ ที่คนอื่นพูดมาพูดต่อ ในท้องเรื่องนี้ พวกคนมีความรู้กำลังบอกว่าเปาโลพูดพล่ามในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจจริง ๆ
อาเรโอปากัส: หรือ “เนินเขาของอาเรส” อาเรสเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามของกรีก อาเรโอปากัสตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส และมักใช้เป็นที่ประชุมของสภาสูงแห่งเอเธนส์ คำว่า “อาเรโอปากัส” อาจหมายถึงเนินเขาจริง ๆ หรือสภาสูงก็ได้ (กจ 17:34) ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงคิดว่าเปาโลถูกพาตัวมาที่เนินเขานี้หรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อซักถาม ส่วนผู้เชี่ยวชาญคนอื่นก็เชื่อว่าเขาถูกพาตัวเข้าไปในที่ประชุมของสภาสูงซึ่งจัดขึ้นในที่อื่น เช่น ที่ตลาดที่เรียกว่าอากอรา เนื่องจากเทพเจ้าอาเรสเป็นองค์เดียวกับเทพเจ้ามาร์สของชาวโรมัน ฉบับแปลบางฉบับจึงพูดถึงสถานที่นี้ว่าเป็น “เนินของเทพเจ้ามาร์ส”
อยู่: หรือ “ไปเที่ยว” คำกรีก เอะพิเดเมะโอ ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายว่า “อยู่ที่นั่นแบบคนแปลกหน้าหรือคนที่มาเที่ยว”
สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก: คำกรีก อากโนสทอย เธะออย เป็นส่วนหนึ่งของคำจารึกบนแท่นบูชาในกรุงเอเธนส์ ชาวเอเธนส์แสดงความเกรงกลัวต่อเทพเจ้าโดยสร้างวิหารและแท่นบูชามากมาย พวกเขาทำแท่นบูชาให้แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมและยกให้สิ่งเหล่านั้นเป็นเทพเจ้าหรือเทพธิดา เช่น ชื่อเสียง ความเจียมตัว พลังอำนาจ การโน้มน้าว และความสงสาร เนื่องพวกเขากลัวว่าอาจจะมองข้ามเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งไปแล้วทำให้เทพเจ้าองค์นั้นโกรธ พวกเขาจึงสร้างแท่นบูชา “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” การทำอย่างนี้แสดงว่าพวกเขายอมรับว่ามีพระเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จักด้วย เปาโลประกาศอย่างมีไหวพริบโดยยกเรื่องแท่นบูชานี้ขึ้นมาพูดเพื่อช่วยผู้ฟังให้รู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้ที่พวกเขายังไม่รู้จักในตอนนั้น
โลก: คำกรีก คอสม็อส ที่ใช้ในวรรณกรรมกรีกทั่วไปรวมทั้งในคัมภีร์ไบเบิลมักเกี่ยวข้องกับมนุษย์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:10) แต่ในหนังสือกรีกทั่วไปใช้คำนี้เพื่อหมายถึงเอกภพและสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติด้วย อาจเป็นได้ว่าเปาโลใช้คำนี้ในความหมายที่หนังสือกรีกทั่วไปใช้เพื่อหาจุดที่เห็นพ้องกับผู้ฟังชาวกรีก
วิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น: มาจากคำกรีก เฆ่รอพอยเอท็อส มีการใช้คำนี้ที่ กจ 7:48 (“มนุษย์เป็นคนสร้าง”) และ ฮบ 9:11, 24 (“ซึ่งมนุษย์สร้าง”) ด้วย พระยะโฮวาไม่เหมือนกับเทพธิดาอะทีนาของกรีกหรือเทพเจ้าอื่น ๆ พวกเทพเจ้าเหล่านั้นต้องมีวิหาร วิหารจำลอง หรือแท่นบูชาที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดแห่งฟ้าสวรรค์และโลก จึงไม่มีวิหารไหนยิ่งใหญ่พอที่จะให้พระองค์อยู่ได้ (1พก 8:27) พระเจ้าเที่ยงแท้ยิ่งใหญ่กว่ารูปเคารพทั้งหมดในวิหารที่มนุษย์สร้างขึ้น (อสย 40:18-26) เปาโลอาจพูดเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามีวิหารหรือวิหารจำลองมากมายสำหรับพวกเทพเจ้า
เรามีชีวิตอยู่และเคลื่อนไหวไปมาได้: บางคนคิดว่าข้อความนี้เป็นสไตล์การเขียนแบบกรีกที่เรียกว่าไตรโคลอน (tricolon) ซึ่งเป็นการใช้คำ 3 คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันเพื่ออธิบายเรื่องหนึ่ง นักเขียน เช่น เพลโต ซอโฟคลีส และอริสโตเติลก็ใช้สไตล์การเขียนแบบนี้ แต่คนอื่น ๆ ก็คิดว่าข้อความนี้มาจากบทกวีของเอพิเมนิดีส กวีชาวครีตแห่งศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.
กวีบางคนของพวกคุณ: เปาโลอาจยกสำนวน “พวกเราก็เป็นลูก ๆ ของพระองค์ด้วย” มาจากบทกวีชื่อฟีโนมีนา ที่แต่งโดยอะราทุสกวีที่เป็นพวกสโตอิก คำพูดคล้ายกันนี้ยังพบได้ในข้อเขียนอื่น ๆ ที่เป็นภาษากรีก รวมทั้งบทเพลงสรรเสริญแด่ซูส ที่แต่งโดยเคลียนเทสนักเขียนที่เป็นพวกสโตอิกด้วย เปาโลอาจยกสำนวนจากบทกวีกรีกเพราะในยุคนั้นนักพูดที่มีการศึกษาจะต้องยกข้อความจากวรรณกรรมกรีกมาสนับสนุนคำพูดของตัวเอง
โลก: คำกรีกที่แปลว่า “โลก” (ออยคู่เมะเน) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ (ลก 4:5; รม 10:18; วว 12:9; 16:14) ในศตวรรษแรก มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงจักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นที่ที่ชาวยิวกระจัดกระจายไปอยู่—กจ 24:5
เกิดขึ้นแน่นอน: หรือ “มีข้อพิสูจน์” แปลตรงตัวว่า “ความมั่นใจ” มาจากคำกรีก พิสทิส ส่วนใหญ่แล้วมักแปลคำนี้ว่า “ความมั่นใจ” แต่ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนว่าคำนี้หมายถึงข้อพิสูจน์ที่ทำให้เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าสิ่งที่สัญญาไว้จะเป็นจริง
เป็นผู้พิพากษาในศาลบนเขาอาเรโอปากัส: หรือ “เป็นชาวอาเรโอปากัส” ซึ่งก็คือเป็นสมาชิกสภาสูงหรือศาลแห่งอาเรโอปากัส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 17:19
วีดีโอและรูปภาพ
ภาพนี้คือเมืองเวโรยาประเทศกรีซในสมัยปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับเมืองเบโรอาในสมัยโบราณที่เปาโลกับสิลาสเคยไปประกาศ เมืองนี้อยู่ห่างจากทางหลวงเอกเนเชียน (เวีย เอกนาเทีย) ที่มีชื่อเสียงไปทางใต้ประมาณ 30 กม. และอยู่ห่างจากเมืองเธสะโลนิกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 65 กม. ทั้งคนยิวและคนกรีกในเมืองเบโรอาตอบรับข่าวดี แต่สาวกที่อยู่ในเมืองนั้นบอกให้เปาโลออกจากเมืองหลังจากพวกยิวในเมืองเธสะโลนิกาพากันมาปลุกระดมฝูงชนที่นี่ ส่วนสิลาสกับทิโมธียังอยู่ที่เมืองเบโรอาต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้กำลังใจประชาคมใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้น (กจ 17:10-14) เมืองเบโรอาเป็นเมืองสุดท้ายในมาซิโดเนียที่เปาโลไปประกาศระหว่างการเดินทางรอบที่สอง การประกาศที่เมืองนี้เกิดผลดีแต่ก็มีอุปสรรคหลายอย่าง
ตอนที่อยู่บนเขาอาเรโอปากัสในกรุงเอเธนส์ เปาโลพูดถึง “แท่นบูชาแท่นหนึ่งเขียนว่า ‘สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก’” (กจ 17:23) มีทั้งงานเขียนและหลักฐานทางโบราณคดีที่สนับสนุนว่าเคยมีแท่นบูชาแบบนั้นในจักรวรรดิโรมัน ตัวอย่างเช่น พอซาเนียสนักภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 2 ได้เขียนเกี่ยวกับแท่นบูชาสำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จักในประเทศกรีซ และฟีโลสตราตุสนักเขียนในศตวรรษที่ 2 และ 3 ก็บอกว่ามีแท่นบูชานี้อยู่ในกรุงเอเธนส์ รูปภาพหมายเลข 1 แสดงให้เห็นแท่นบูชาที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 2 ที่อยู่ในเมืองเปอร์กามัม (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) ข้อความจารึกบนแท่นนี้ขาดหายไป แต่มีความเป็นไปได้มากที่ข้อความในบรรทัดแรกจะอ่านว่า “สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก” รูปภาพหมายเลข 2 แสดงให้เห็นแท่นบูชาที่อยู่บนเนินพาเลติเนในกรุงโรม แท่นบูชานี้สร้างขึ้นประมาณปี 100 ก่อน ค.ศ. และใช้สำหรับเทพเจ้าที่ไม่มีชื่อ ตัวอย่างเหล่านี้สนับสนุนว่าบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับแท่นบูชาเหล่านี้เป็นเรื่องจริง