กิจการของอัครสาวก 2:1-47
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เพ็นเทคอสต์: มาจากคำกรีก เพ็นเทคอสเท (มีความหมายว่า “[วัน] ที่ 50”) มีการใช้คำกรีกนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเพื่อหมายถึง “เทศกาลเก็บเกี่ยว [“เทศกาลฉลองหลังครบ 7 สัปดาห์,” เชิงอรรถ]” ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (อพย 23:16) มีการฉลองเทศกาลนี้หลังจากจบ 7 สัปดาห์ของการเก็บเกี่ยว โดยช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวนี้จะเริ่มต้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์แล้วต่อด้วยข้าวสาลี มีการฉลองเทศกาลเพ็นเทคอสต์ในวันที่ 50 โดยนับตั้งแต่วันที่ 16 เดือนนิสาน ซึ่งเป็นวันที่ปุโรหิตจะเอาฟ่อนข้าวบาร์เลย์ที่เป็นผลแรกไปยื่นถวาย (ลนต 23:15, 16) ในปฏิทินของชาวฮีบรู วันเพ็นเทคอสต์จะตรงกับวันที่ 6 เดือนสิวัน (ดูภาคผนวก ข15) ใน ลนต 23:15-21; กดว 28:26-31 และ ฉธบ 16:9-12 มีคำสั่งเกี่ยวกับการฉลองเทศกาลนี้ ในช่วงที่มีการฉลองเทศกาลเพ็นเทคอสต์จะมีชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจำนวนมากจากหลายประเทศหลายดินแดนเดินทางมาที่กรุงเยรูซาเล็ม เหตุผลที่มีการฉลองเทศกาลนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนต้อนรับและทำดีต่อกันไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังแบบไหน จะเป็นทาส จะยากจน เป็นลูกกำพร้า แม่ม่าย เป็นชาวเลวี หรือเป็นคนต่างชาติ (ฉธบ 16:10, 11) นี่ทำให้วันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 เป็นโอกาสที่เหมาะมากในการเริ่มต้นประชาคมคริสเตียนในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งจุดประสงค์ของการมีประชาคมคริสเตียนก็เพื่อประกาศให้ทุกคนได้รู้จัก “สิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระเจ้า” (กจ 1:8; 2:11) ชาวยิวเชื่อกันว่าวันเพ็นเทคอสต์ตรงกับช่วงเวลาที่พระเจ้าให้กฎหมายพวกเขาที่ภูเขาซีนายและเลือกพวกเขาให้เป็นประชาชนของพระองค์ ตอนที่พวกเขามารวมตัวกันที่ภูเขาซีนายและได้รับกฎหมายเป็นช่วงต้น ๆ ของเดือน 3 หรือเดือนสิวัน (อพย 19:1) เช่นเดียวกับโมเสสที่เป็นผู้กลางซึ่งพาชาวอิสราเอลเข้ามาอยู่ใต้สัญญาเกี่ยวกับกฎหมาย ในปีนั้นพระเยซูคริสต์ก็เป็นผู้กลางที่พาอิสราเอลของพระเจ้าเข้ามาอยู่ใต้สัญญาใหม่
ภาษาต่าง ๆ: มาจากคำกรีก กะโลส์ซา ในคัมภีร์ไบเบิลคำนี้อาจหมายถึงลิ้นที่เป็นอวัยวะในการพูด (มก 7:33; ลก 1:64; 16:24) แต่ยังมีการใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยด้วยเพื่อหมายถึงภาษาหรือคนที่พูดภาษานั้น (วว 5:9; 7:9; 13:7) ใน กจ 2:3 มีการใช้คำกรีกนี้ในประโยคที่บอกว่า “พวกเขาก็เห็นบางสิ่งเหมือนเปลวไฟรูปร่างคล้ายลิ้น” ดังนั้น หลักฐานการให้พลังบริสุทธิ์จึงเห็นได้จากเปลวไฟคล้ายลิ้นที่ลอยอยู่เหนือหัวสาวกแต่ละคนและการที่พวกเขาสามารถพูดภาษาต่าง ๆ ได้
ภาษาของพวกเรา: แปลตรงตัวว่า “ภาษาที่พวกเราพูดมาตั้งแต่เกิด” คำกรีกที่แปลว่า “ภาษา” ในข้อนี้คือคำว่า เดียเล็คทอส (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:4) หลายคนที่ได้ยินพวกสาวกประกาศในตอนนั้นอาจพูดภาษากรีกที่ใช้เป็นภาษาสากลได้ และเนื่องจากพวกเขาเป็น “คนยิวที่เลื่อมใสพระเจ้า” พวกเขาจึงอาจเข้าใจภาษาฮีบรูที่ใช้ในวิหารในกรุงเยรูซาเล็มด้วย (กจ 2:5) แต่การได้ยินข่าวดีในภาษาที่พวกเขาใช้ตั้งแต่เกิดทำให้พวกเขาตื่นเต้นมาก
แคว้นเอเชีย: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เอเชีย”
คนที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 23:15
เหล้า: หรือ “เหล้าองุ่นใหม่” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำกรีก กลือคอส แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ซึ่งหมายถึงเหล้าองุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการหมัก
9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ในสมัยสุดท้าย: เปโตรยกคำพยากรณ์จากหนังสือโยเอลซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูและฉบับเซปตัวจินต์ (ยอล 2:28 [3:1, LXX]) ใช้คำว่า “จากนั้น” แต่ในข้อนี้เปโตรได้รับการดลใจให้ใช้คำว่า “ในสมัยสุดท้าย” เนื่องจากคำพยากรณ์ของโยเอลเกิดขึ้นจริงตอนที่มีการให้พลังบริสุทธิ์ในวันเพ็นเทคอสต์ ดังนั้น การที่เปโตรใช้คำว่า “สมัยสุดท้าย” จึงทำให้รู้ว่าเวลาที่พิเศษนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะจบลงด้วย ‘วันที่ยิ่งใหญ่และงดงามของพระยะโฮวา’ (กจ 2:20) เนื่องจากเปโตรกำลังพูดกับคนยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว ดังนั้น คำพูดของเขาจึงต้องสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกกับผู้คนในสมัยนั้น คำพูดของเปโตรจึงอาจแสดงให้เห็นว่าพวกยิวกำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายของระบบยิวซึ่งมีศูนย์กลางการนมัสการอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งสอดคล้องกับที่พระเยซูเคยบอกไว้ว่ากรุงเยรูซาเล็มและวิหารจะถูกทำลาย (ลก 19:41-44; 21:5, 6) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 70
พลังของเรา: มาจากคำกรีก พะนือมา หมายถึงพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าหรือพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ และในข้อความจาก ยอล 2:28 ที่ยกขึ้นมามีการใช้คำฮีบรู รูอาค ซึ่งมีความหมายตรงกับคำกรีกนี้ โดยปกติแล้วทั้ง 2 คำนี้หมายถึงสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น แต่มักจะแสดงพลังออกมาโดยการเคลื่อนไหว—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
คนทุกประเภท: แปลตรงตัวว่า “เนื้อหนังทั้งหมด” คำกรีก ซารค์ส์ ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึงมนุษย์ ดังนั้น ตามปกติแล้วคำว่า “เนื้อหนังทั้งหมด” จึงหมายถึงมนุษย์ทุกคน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 17:2) แต่ในท้องเรื่องนี่มีการใช้คำนี้ในแบบที่เฉพาะเจาะจงกว่า เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้ให้พลังบริสุทธิ์กับมนุษย์ทุกคนบนโลกและพระองค์ก็ไม่ได้ให้พลังบริสุทธิ์กับทุกคนในอิสราเอลด้วยซ้ำ คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้จึงไม่ได้หมายถึงมนุษย์ทุกคนโดยไม่มียกเว้นแม้แต่คนเดียว ดังนั้น คำที่ใช้ในข้อนี้จึงหมายถึงคนทุกประเภท เหมือนกับที่พระคัมภีร์บอกไว้ว่าพระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์กับ ‘พวกลูกชายลูกสาว คนหนุ่ม คนแก่ และทาสชายหญิง’ (กจ 2:17, 18) มีการใช้คำกรีก พาส (ทุก, ทั้งหมด) ในความหมายเดียวกันนี้ที่ 1ทธ 2:3, 4 ซึ่งที่นั่นก็บอกว่าพระเจ้าประสงค์ให้ “คนทุกชนิดรอด”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 12:32
พยากรณ์: มาจากคำกรีก พรอเฟทือโอ ที่มีความหมายตรงตัวว่า “พูดออกมา” ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงการประกาศข่าวสารจากพระเจ้า เมื่อมีการใช้คำนี้เรามักคิดถึงการบอกอนาคต แต่จริง ๆ แล้วความหมายหลักของคำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบอกอนาคต คำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงการบอกให้คนอื่นรู้เรื่องที่พระเจ้าเปิดเผยด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:68; มก 14:65; ลก 22:64) ในท้องเรื่องนี้ พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้ากระตุ้นให้บางคนพยากรณ์ พวกเขาพูดถึง “สิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ” ที่พระเจ้าได้ทำตอนนี้และจะทำในอนาคต พวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนโฆษกหรือคนที่พูดแทนพระเจ้าองค์สูงสุด (กจ 2:11) คำฮีบรูที่แปลว่า “พยากรณ์” ก็มีความหมายคล้าย ๆ กันด้วย ตัวอย่างเช่น ใน อพย 7:1 ตอนที่บอกว่าอาโรนเป็น “คนพูดแทน” โมเสส ในภาษาเดิมก็ใช้คำว่าผู้พยากรณ์ ซึ่งในตอนนั้นอาโรนก็ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับอนาคต
คนแก่: หรือ “ผู้ชายสูงอายุ, ผู้นำ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในข้อนี้น่าจะหมายถึงคนอายุมากหรือคนสูงอายุซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “คนหนุ่ม” ที่พูดถึงในข้อนี้ด้วย แต่ในท้องเรื่องอื่นมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ—กจ 4:5; 11:30; 14:23; 15:2; 20:17; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
สิ่งมหัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ” มาจากคำกรีก เทะราส ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้คำนี้คู่กับคำ เซเม่ออน ที่หมายถึง “ปาฏิหาริย์” ในหลายท้องเรื่อง (มธ 24:24; ยน 4:48; กจ 7:36; 14:3; 15:12; 2คร 12:12) หลัก ๆ แล้วคำว่า เทะราส หมายถึงสิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกทึ่งหรืออัศจรรย์ใจ เมื่อมีการใช้คำนี้ในท้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบอกอนาคตก็จะมีการใส่คำว่า “หมายสำคัญ” ไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาด้วย
ยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ยอล 2:31 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ยอล 2:32 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ” การอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าให้พระเยซูทำเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ส่งพระเยซูมา นอกจากนั้น การรักษาโรคและการปลุกคนให้ฟื้นขึ้นจากตายก็ยังเป็นหมายสำคัญที่บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูจะทำสิ่งเหล่านี้ในขอบเขตที่ใหญ่กว่าในอนาคต—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
กำหนดไว้: หรือ “แนะนำ” ใน ลก 7:30 แปลคำกรีก บู่เล ว่า “คำแนะนำ [หรือ “คำสั่ง,” เชิงอรรถ]” และใน ฮบ 6:17 แปลว่า “ความประสงค์”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:27
ความตาย: แปลตรงตัวว่า “ความเจ็บปวดแห่งความตาย” ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลบอกชัดเจนว่าคนที่ตายแล้วไม่รู้อะไรเลยและไม่ต้องเจ็บปวดอีกต่อไป (สด 146:4; ปญจ 9:5, 10) แต่ในข้อนี้ก็บอกว่า “ความตาย” ทำให้ “เจ็บปวด” ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความตายทำให้เกิดความเจ็บปวดและความทุกข์ (1ซม 15:32; สด 55:4; ปญจ 7:26) คนเรามักจะเจ็บปวดก่อนตาย และหลังจากตายเขาก็จะเจ็บปวดในแง่ที่ว่าเขาไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว (สด 6:5; 88:10) ดังนั้น เมื่อพระเยซูถูกปลุก ก็พูดได้ว่าท่านถูกปลดปล่อยจากความตายและสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ คำว่าความเจ็บปวดมาจากคำกรีก โอดีน ซึ่งมักมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงความเจ็บปวดตอนที่คลอดลูก (1ธส 5:3) แต่ก็อาจใช้คำนี้เพื่อหมายถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทั่ว ๆ ไปด้วย (มธ 24:8) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้สำนวน “ความเจ็บปวดแห่งความตาย” ที่ 2ซม 22:6 และ สด 18:4 (17:5, LXX) แต่ในสำเนาพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรตมีการใช้คำว่า “เชือกของหลุมศพ” และ “เชือกแห่งความตาย” น่าสนใจว่าสำเนาพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูโบราณที่เขียนโดยไม่มีสระ คำว่า “เชือก” (เชเวล) และคำว่า “ความเจ็บปวด” สะกดด้วยพยัญชนะตัวเดียวกัน นี่อาจเป็นเหตุผลที่ฉบับเซปตัวจินต์ แปลว่า “เชือกแห่งความตาย” ไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งคำว่า “เชือกแห่งความตาย” และ “ความเจ็บปวดแห่งความตาย” ก็ถ่ายทอดแนวคิดเดียวกันก็คือความตายทำให้เกิดความทุกข์และความเจ็บปวด
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 16:8 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
ผม: แปลตรงตัวว่า “เนื้อหนังของผม” ก่อนที่เปโตรยกข้อความจาก สด 16 เขาบอกว่า “ดาวิดพูดถึงพระเยซูว่า” (กจ 2:25) คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (กจ 2:26) และคำฮีบรูที่ใช้ใน สด 16:9 ที่แปลว่า “เนื้อหนัง” อาจหมายถึงร่างกายของคนคนหนึ่งหรือหมายถึงตัวของคนนั้นก็ได้ ถึงแม้พระเยซูจะรู้ว่าตัวท่านเองจะต้องตายเพื่อสละชีวิตตัวเองเป็นเครื่องบูชา แต่ท่านก็ยังอยู่อย่างมีความหวังเพราะพระเยซูรู้ว่าพระยะโฮวาจะปลุกท่านให้ฟื้นขึ้นจากตาย และรู้ว่าท่านจะถวายชีวิตตัวเองเป็นค่าไถ่ได้สำเร็จ นอกจากนั้น ท่านยังรู้ว่าพระเจ้าจะไม่ปล่อยให้ร่างกายของท่านเน่าเปื่อยไป—กจ 2:27, 31
ผม: หรือ “จิตวิญญาณของผม” ข้อความนี้ยกมาจาก สด 16:10 ซึ่งที่นั่นมีการใช้คำกรีก พะซูเฆ เพื่อแปลคำฮีบรู เนเฟช คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่แปล 2 คำนี้ว่า “จิตวิญญาณ” ดาวิดผู้เขียนหนังสือสดุดีใช้คำนี้เพื่อหมายถึงตัวเขาเอง ในวันเพ็นเทคอสต์ตอนที่เปโตรประกาศเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูกับพวกยิว เขาก็ใช้คำนี้เพื่อหมายถึงพระเยซู—กจ 2:24, 25
หลุมศพ: คำกรีก ฮ้าเดส อาจมีความหมายว่า “ที่ที่มองไม่เห็น” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีคำนี้อยู่ 10 ครั้ง (ดู มธ 11:23; 16:18; ลก 10:15; 16:23; กจ 2:27, 31; วว 1:18; 6:8; 20:13, 14) ข้อความในข้อนี้ยกมาจาก สด 16:10 ซึ่งมีคำฮีบรู “เชโอล” ที่มีความหมายเดียวกัน และมีการแปลว่า “หลุมศพ” ด้วยเหมือนกัน และฉบับเซปตัวจินต์ มักจะใช้คำกรีก “ฮ้าเดส” เพื่อแปลคำฮีบรู “เชโอล” ทั้ง 2 คำนี้ในพระคัมภีร์หมายถึงสภาพของคนตาย ส่วนคำอื่นก็มีความหมายว่าที่ฝังศพของมนุษย์ ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูก็ใช้คำว่า “เชโอล” ในข้อนี้
อยู่ใกล้ชิดพระองค์: แปลตรงตัวว่า “อยู่ตรงหน้าพระองค์” ข้อความนี้ยกมาจาก สด 16:11 ซึ่งมีการแปลภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีกแบบตรงตัว สำนวนฮีบรู “อยู่ตรงหน้าใครคนหนึ่ง” มีความหมายว่า “อยู่กับ” หรือใกล้ชิดกับคนนั้น
พระเจ้า: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ใช้คำว่า เธะออส ที่แปลว่า “พระเจ้า” ในข้อนี้ น่าสนใจที่ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูใช้เททรากรัมมาทอนในข้อนี้
ลูกหลานของเขาคนหนึ่ง: พระเจ้าสัญญากับดาวิดว่า “ลูกหลาน” ของเขาคนหนึ่งจะเป็นเมสสิยาห์ตามที่บอกไว้ใน ปฐก 3:15 (2ซม 7:12, 13; สด 89:3, 4; 132:11) คำสัญญานี้เกิดขึ้นจริงกับพระเยซูเพราะทั้งแม่และพ่อเลี้ยงของท่านสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด คำกรีกที่แปลว่า “ลูกหลาน” มาจากสำนวนฮีบรูที่แปลตรงตัวว่า “ผลจากเอวของเขา” เพราะในร่างกายของมนุษย์ เอวเป็นบริเวณที่มีอวัยวะสืบพันธุ์—ปฐก 35:11, เชิงอรรถ; 1พก 8:19, เชิงอรรถ
หลุมศพ: หรือ “ฮ้าเดส” หมายถึงสภาพของคนตาย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:27 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “หลุมศพ”
ร่างกายของท่านจะไม่เน่าเปื่อยไป: ถึงแม้โมเสสกับดาวิดจะเป็นภาพล่วงหน้าของพระเยซู แต่พระยะโฮวาก็ไม่ปล่อยให้ร่างกายของพระเยซูเน่าเปื่อยไปเหมือนกับร่างกายของโมเสสกับดาวิด (ฉธบ 34:5, 6; กจ 2:27; 13:35, 36) เพื่อพระเยซูจะเป็น “อาดัมคนหลัง” (1คร 15:45) และเป็น “ค่าไถ่ที่มีค่าเท่าเทียมกัน” ได้ (ฮบ 9:14; 1ปต 1:18, 19) ท่านจำเป็นต้องมีร่างกายแบบมนุษย์จริง ๆ และต้องเป็นร่างกายที่สมบูรณ์แบบเพื่อจะมีค่าเท่าเทียมกับสิ่งที่อาดัมทำให้เสียไป (ฮบ 9:14; 1ปต 1:18, 19) ไม่มีลูกหลานของอาดัมคนไหนที่สามารถจ่ายค่าไถ่แบบนี้ได้เพราะพวกเขาไม่สมบูรณ์ (สด 49:7-9) ดังนั้น เพื่อจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูจึงต้องลงมาเกิดแบบอัศจรรย์เหมือนกับที่ท่านบอกพระยะโฮวาตอนที่รับบัพติศมาว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] เตรียมร่างกายหนึ่งไว้ให้ผม” ซึ่งก็คือร่างกายสมบูรณ์แบบที่ใช้เป็นค่าไถ่ (ฮบ 10:5) ตอนที่พวกสาวกไปที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซู พวกเขาก็ไม่เจอศพของท่านแล้ว มีแต่ผ้าลินินที่ใช้พันศพท่านหลงเหลืออยู่ ดูเหมือนว่าพระยะโฮวาจัดการกับร่างกายของลูกที่พระองค์รักก่อนที่ร่างกายนั้นจะเน่าเปื่อยไป—ลก 24:3-6; ยน 20:2-9
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 110:1 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) แต่อย่างที่บอกไว้ในภาคผนวก ก5 คัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่เมื่อแปลพันธสัญญาใหม่ก็จะไม่ได้ใส่ชื่อของพระเจ้าไว้แม้แต่ตอนที่ยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีชื่อของพระเจ้าอยู่ แต่น่าสนใจที่ฉบับคิงเจมส์ บางฉบับที่แปลในศตวรรษที่ 17 มีการใช้คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ทั้งแบบตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดใหญ่และตัวพิมพ์ใหญ่ขนาดเล็กในข้อนี้และข้ออื่น ๆ อีก 3 ข้อที่ยกข้อความมาจาก สด 110:1 (มธ 22:44; มก 12:36; ลก 20:42) ฉบับคิงเจมส์ ที่ทำหลังจากนั้นก็ทำแบบเดียวกัน ในฉบับคิงเจมส์ ในส่วนของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ถ้าเราเห็นว่าตรงไหนมีคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แบบตัวพิมพ์ใหญ่ก็แสดงให้เห็นว่าตรงนั้นในภาษาเดิมมีชื่อของพระยะโฮวาอยู่ ดังนั้น ถ้าเราเห็นแบบเดียวกันในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกก็แสดงให้เห็นว่าผู้แปลเชื่อว่ามีชื่อของพระยะโฮวาอยู่ตรงนั้นด้วยเหมือนกัน และที่น่าสนใจด้วยก็คือ ฉบับนิวคิงเจมส์ ที่เริ่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 1979 ทุกข้อในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่ยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูขึ้นมา ถ้ามีชื่อของพระเจ้าอยู่ก็จะใช้คำ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แบบตัวพิมพ์ใหญ่ด้วยเหมือนกัน
ประหารบนเสา: หรือ “ทำให้ติดอยู่กับเสา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:19 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”
กลับใจ: คำกรีก เมะทานอเอะโอ ที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนะคติ หรือความตั้งใจ ก่อนหน้านี้ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาประกาศ “ให้ผู้คนรับบัพติศมาเพื่อแสดงการกลับใจ แล้วพระเจ้าจะให้อภัยบาปของพวกเขา” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:4) การบัพติศมาในตอนนั้นจึงเป็นการแสดงว่าผู้คนกลับใจที่ไม่ได้เชื่อฟังกฎหมายของโมเสส การกลับใจแบบนี้เป็นการเตรียมประชาชนของพระเจ้าให้พร้อมสำหรับสิ่งที่จะมาในอนาคต (มก 1:2-4) แต่ในข้อนี้เปโตรชี้ให้เห็นว่าผู้คนจะต้องกลับใจและรับบัพติศมาในนามพระเยซูคริสต์เพื่อพวกเขาจะได้รับการอภัยบาปเหมือนที่พระเยซูสั่งไว้ใน มธ 28:19 เนื่องจากชาวยิวไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องกลับใจและแสดงความเชื่อในพระเยซูเพื่อจะได้รับการอภัยจากพระเจ้าซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ พวกเขาจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเขามีความเชื่อแบบนั้นก็โดยการรับบัพติศมาในนามพระเยซูคริสต์ การทำแบบนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอุทิศตัวให้พระเจ้าโดยผ่านทางพระเยซูคริสต์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:8, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คำกรีก คูริออส) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้ อย่างที่เห็นในท้องเรื่องที่ กจ 2:33-38 สัญญาที่เปโตรพูดถึงในข้อนี้เป็นสัญญาที่บอกไว้ใน ยอล 2:28-32 ที่เกี่ยวข้องกับการให้พลังบริสุทธิ์ ดังนั้น สำนวนในข้อนี้ที่บอกว่าทุกคนที่พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเราเรียกให้มาหาพระองค์ก็น่าจะมาจากข้อความในตอนท้ายของ ยอล 2:32 ซึ่งข้อนั้นมีชื่อของพระยะโฮวา 3 ครั้ง จึงเป็นการเน้นว่าพระยะโฮวาเป็นผู้เรียกผู้คนให้มาหาพระองค์
มารวมกลุ่มกัน: หรือ “แบ่งปันสิ่งของให้กัน” ความหมายหลักของคำกรีก คอยโนเนีย คือ “การแบ่งปัน, มิตรภาพ” เปาโลใช้คำนี้หลายครั้งในจดหมายที่เขาเขียน (1คร 1:9; 10:16; 2คร 6:14; 13:14) จากท้องเรื่องในข้อนี้แสดงว่าเปาโลกำลังพูดถึงมิตรภาพแบบเพื่อนสนิท ไม่ใช่แค่คนที่รู้จักกัน
กินอาหาร: แปลตรงตัวว่า “หักขนมปัง”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:7
ปาฏิหาริย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
ที่บ้านของพี่น้อง: หรือ “ตามบ้านต่าง ๆ” ในช่วงที่ยากลำบากดูเหมือนว่าพวกสาวกจะพบกันและแบ่งปันอาหารให้กันตามบ้านของพวกเขาที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:42; 20:20
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คำกรีก คูริออส) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
วีดีโอและรูปภาพ
ภาพที่เห็นอยู่นี้คือศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งเป็นแผ่นหินปูนที่มีข้อความจารึก แผ่นหินนี้กว้าง 42 ซม. ยาว 72 ซม. ศิลานี้ถูกพบตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็ม ข้อความบนศิลานี้เขียนเป็นภาษากรีก และพูดถึงทีโอโดทุสซึ่งเป็นปุโรหิตที่ “สร้างที่ประชุมของชาวยิวเพื่อเป็นที่อ่านและสอนกฎหมายของโมเสส” ข้อความจารึกนี้ทำขึ้นก่อนกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 และให้หลักฐานว่ามีชาวยิวที่พูดภาษากรีกอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรก (กจ 6:1) บางคนเชื่อว่าที่ประชุมของชาวยิวแห่งนี้เป็นที่เดียวกับที่เรียกกันว่า “ที่ประชุมของเสรีชน” (กจ 6:9) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสและพ่อกับปู่ของเขามีตำแหน่ง อาร์ฆีซูนาโกกอส (“หัวหน้าที่ประชุมของชาวยิว”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงหลายครั้ง (มก 5:35; ลก 8:49; กจ 13:15; 18:8, 17) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสสร้างที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นชาวยิวที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะคนที่มาร่วมเทศกาลสำคัญประจำปี—กจ 2:5
ในวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 “มีคนยิวที่เลื่อมใสพระเจ้าจากทุกประเทศทั่วโลกมาอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม” (กจ 2:5) หลังจากที่พวกสาวกได้รับพลังบริสุทธิ์ พวกเขาก็สามารถพูดภาษาต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวยิวที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มพูดกัน (กจ 2:4, 8) ผู้คนตื่นเต้นที่ได้ยินข่าวดีในภาษาของพวกเขา ที่ กจ 2:9-11 บอกว่ามีผู้คนมาจาก 15 ดินแดน คนเหล่านั้นที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือคงต้องนำข่าวดีกลับไปบ้านเกิดของพวกเขาด้วย แผนที่นี้แสดงให้เห็นดินแดนต่าง ๆ ที่ข่าวดีแพร่ออกไปเรียงตามลำดับที่บอกไว้ใน กจ 2:9-11—กจ 2:41, 44, 47