กิจการของอัครสาวก 22:1-30
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
กามาลิเอล: เป็นอาจารย์สอนกฎหมายของโมเสสที่มีการพูดถึง 2 ครั้งในหนังสือกิจการ คือในข้อนี้และที่ กจ 5:34—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:34
ผู้นำทั้งคณะ: หรือ “สภาผู้นำทั้งคณะ” คำกรีก เพร็สบูเทะริออน ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า เพร็สบูเทะรอส (แปลตรงตัวว่า “ผู้ชายสูงอายุ”) ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักใช้เพื่อหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25 และ กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำทั้งคณะ” ดูเหมือนหมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยพวกปุโรหิตใหญ่ ครูสอนศาสนา และพวกผู้นำ คัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงคน 3 กลุ่มนี้พร้อม ๆ กัน—มธ 16:21; 27:41; มก 8:31; 11:27; 14:43, 53; 15:1; ลก 9:22; 20:1; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:66
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
ไม่ได้ยินเสียงที่พูด: หรือ “ได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจ” ที่ กจ 9:3-9 ลูกาได้เล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเปาโลตอนที่เขาเดินทางไปกรุงดามัสกัส ดังนั้น เพื่อจะเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจนจะต้องอ่านทั้งบันทึกในกิจการบท 9 และกิจการบท 22 ประกอบกัน อย่างที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:7 คนที่เดินทางไปกับเปาโล “ได้ยินเสียงพูด” แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ยินเสียงเหมือนกับที่เปาโลได้ยิน พวกเขาเลยไม่เข้าใจ แนวคิดนี้สอดคล้องกับการใช้คำกรีกที่แปลว่า“ได้ยิน” ใน กจ 22:7 ที่นั่นเปาโลบอกว่าเขา “ได้ยินเสียงพูด” ซึ่งหมายความว่าเขาทั้งได้ยิน และเข้าใจ เสียงพูดนั้น แต่คนที่ไปกับเปาโลไม่เข้าใจว่าเสียงนั้นพูดว่าอะไร นี่อาจเป็นเพราะเสียงนั้นอู้อี้ไม่ชัดเจน จึงอาจบอกได้ว่าพวกเขา “ไม่ได้ยินเสียงที่พูด”—เทียบกับ มก 4:33; 1คร 14:2 ที่ใช้คำกรีกเดียวกันที่แปลว่า “ได้ยิน” ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ฟัง” หรือ “เข้าใจ”
ขอให้คุณมองเห็นได้อีก: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “มองขึ้นไป” (มธ 14:19; ลก 19:5) แต่ก็ยังหมายถึงการมองเห็นได้เป็นครั้งแรก (ยน 9:11, 15, 18) หรือการมองเห็นได้อีกครั้ง (มก 10:52; ลก 18:42; กจ 9:12)
อธิษฐานอ้อนวอนออกชื่อพระเยซูเพื่อลบล้างบาปของคุณ: คนเราจะลบล้างบาปได้ไม่ใช่โดยการรับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่โดยการอ้อนวอนออกชื่อพระเยซู ซึ่งหมายถึงการมีความเชื่อในพระเยซูและแสดงความเชื่อออกมาโดยทำงานรับใช้แบบคริสเตียน—กจ 10:43; กจ 2:14, 18
ผมก็เคลิ้มไป: สำหรับคำกรีก เอ็คสะทาซิส ในข้อนี้ที่แปลว่า “เคลิ้ม” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 10:10 ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูอ่านว่า “มือของพระยะโฮวาอยู่บนผม” ฉบับแปลอีกฉบับหนึ่งอ่านว่า “พลังของพระยะโฮวาปกคลุมตัวผม”
พยานของท่าน: คำว่า “พยาน” (มาร์ทูส) หมายถึงคนที่ได้เห็นการกระทำหรือเหตุการณ์บางอย่าง คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกเป็นพยานรู้เห็นเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู และพวกเขาได้ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความจริง (กจ 1:21, 22; 10:40, 41) ส่วนคนที่เข้ามาเชื่อพระเยซูทีหลังก็เป็นพยานของพระเยซูในแง่ที่ว่าพวกเขาประกาศให้คนอื่นรู้ว่าชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูสำคัญอย่างไร (กจ 22:15) ตอนเปาโลพูดกับพระเยซูและเรียกสเทเฟนว่า “พยานของท่าน” เขาก็ใช้คำว่าพยานในความหมายนี้ สเทเฟนเป็นพยานยืนยันอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับพระเยซูต่อหน้าศาลแซนเฮดริน เขายังเป็นคนแรกที่ยืนยันว่าได้เห็นนิมิตที่พระเยซูกลับไปสวรรค์และยืนอยู่ข้างขวาของพระเจ้าเหมือนที่บอกไว้ใน สด 110:1 (กจ 7:55, 56) คริสเตียนที่เป็นพยานยืนยันมักต้องเจอกับการต่อต้าน ถูกจับกุม ทุกตี และแม้แต่ความตาย เหมือนที่สเทเฟน ยากอบ และคนอื่น ๆ เจอ นี่ทำให้ในภายหลังคำกรีก มาร์ทูส จึงมีความหมายว่า “คนที่เป็นพยานจนยอมเสียชีวิต” หรือคนที่ยอมตายแทนที่จะทิ้งความเชื่อ สเทเฟนเป็นคริสเตียนคนแรกที่ยอมตายในความหมายนี้ เขาถูกฆ่าเพราะเป็นพยานยืนยันเกี่ยวกับพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:8
ผู้บังคับกองพัน: มาจากคำกรีก ฆิลีอาร์ฆอส แปลตรงตัวว่า “ผู้ปกครองคน 1,000 คน” ซึ่งหมายถึงทหาร 1,000 นาย คำกรีกนี้เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารโรมัน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:12) ประมาณปี ค.ศ. 56 คลาวดิอัสลีเซียสเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารรักษาการณ์ในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 23:22, 26) บันทึกในกิจการ บท 21-24 ทำให้รู้ว่าคลาวดิอัสลีเซียสเป็นคนที่ช่วยเปาโลจากฝูงชนที่รอดักฆ่าเขาและจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในศาลแซนเฮดริน และคลาวดิอัสลีเซียสยังเขียนจดหมายอธิบายกับผู้ว่าราชการเฟลิกส์ตอนที่ส่งตัวเปาโลไปซีซารียาอย่างลับ ๆ
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
พลเมืองโรมัน: คือมีสัญชาติโรมัน ตามที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลนี่เป็นครั้งที่ 2 ใน 3 ครั้งที่เปาโลใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมัน ปกติแล้วเจ้าหน้าที่โรมันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของชาวยิว แต่ที่พวกเขายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเปาโลก็ไม่ใช่แค่เพราะเกิดจลาจลตอนที่เปาโลไปวิหาร แต่ยังเป็นเพราะเปาโลเป็นพลเมืองโรมันด้วย การเป็นพลเมืองโรมันทำให้ผู้คนมีสิทธิพิเศษหลายอย่างและเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วทั้งจักรวรรดิ ตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะมัดหรือเฆี่ยนพลเมืองโรมันที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะนี่เป็นสิ่งที่เขาจะทำเฉพาะกับคนที่เป็นทาสเท่านั้น—อีก 2 ครั้ง ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:37; 25:11
ซื้อสิทธิ์พลเมืองโรมัน: หรือ “ซื้อสัญชาติโรมัน” จากบันทึกเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าถ้าจ่ายเงินมากพอก็เป็นไปได้ที่จะซื้อสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมัน เปาโลบอกคลาวดิอัสลีเซียสว่าเขาได้สิทธิ์นี้มาตั้งแต่เกิด นี่แสดงว่าบรรพบุรุษของเปาโลคนหนึ่งที่เป็นผู้ชายต้องได้สิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมัน ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้คนเราได้สิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมันด้วย จักรพรรดิโรมันอาจให้สิทธิ์การเป็นพลเมืองเป็นรางวัลให้กับใครคนหนึ่ง หรือให้กับประชาชนทั้งเมืองหรือทั้งแคว้นก็ได้ ทาสที่ได้ซื้ออิสรภาพจากพลเมืองโรมันหรือทาสที่ชาวโรมันได้ปล่อยตัวให้เป็นอิสระก็จะได้รับสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมันด้วย คนที่เคยเป็นทหารในกองกำลังเสริมของโรมันก็จะได้รับสิทธิ์นี้ด้วยเหมือนกัน และสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมันก็สืบทอดกันไปถึงลูกหลานได้ ดูเหมือนในศตวรรษแรกไม่ค่อยมีพลเมืองโรมันที่อาศัยอยู่ในแคว้นยูเดีย แต่พอถึงศตวรรษที่ 3 ประชาชนทุกคนที่อยู่ในแคว้นต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันก็ได้สิทธิ์นี้
วีดีโอและรูปภาพ
กรุงดามัสกัสในศตวรรษแรกน่าจะมีผังเมืองเหมือนในภาพนี้และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ การมีน้ำจากแม่น้ำบาราดา (แม่น้ำอาบานาที่พูดถึงใน 2พก 5:12) หล่อเลี้ยงอยู่ทำให้กรุงนี้เป็นเหมือนโอเอซิส กรุงดามัสกัสมีที่ประชุมของชาวยิวหลายแห่ง เซาโลมาที่กรุงนี้เพื่อ “จะได้จับกุมใครก็ตามที่ถือทางนั้น” ซึ่งก็คือสาวกของพระเยซู (กจ 9:2; 19:9, 23; 22:4; 24:22) แต่ระหว่างทางไปกรุงดามัสกัส พระเยซูที่กลับไปสวรรค์แล้วมาปรากฏตัวต่อเซาโล หลังจากนั้น เซาโลก็พักอยู่ที่บ้านของยูดาสในกรุงดามัสกัสซึ่งอยู่ที่ถนนตรง (กจ 9:11) ในนิมิต พระเยซูสั่งให้สาวกอานาเนียไปที่บ้านของยูดาสเพื่อช่วยให้เซาโลมองเห็นอีกครั้ง แล้วเซาโลก็รับบัพติศมา ดังนั้น แทนที่เซาโลจะไปจับคริสเตียนชาวยิว เขากลับเข้ามาเป็นคริสเตียนแทน เขาเริ่มประกาศข่าวดีเต็มเวลาในที่ประชุมต่าง ๆ ของชาวยิวในกรุงดามัสกัส หลังจากนั้น เซาโลก็เดินทางไปแถบอาหรับและกลับมาที่กรุงดามัสกัส จากนั้นเขาก็กลับไปที่กรุงเยรูซาเล็มประมาณปี ค.ศ. 36—กจ 9:1-6, 19-22; กท 1:16, 17
ก. กรุงดามัสกัส
1. ถนนไปกรุงเยรูซาเล็ม
2. ถนนที่ชื่อถนนตรง
3. อากอรา
4. วิหารจูปิเตอร์
5. โรงละคร
6. โรงแสดงดนตรี (?)
ข. กรุงเยรูซาเล็ม
ในภาพนี้คือส่วนหนึ่งของเอกสารที่ทำจากทองสัมฤทธิ์ในปี ค.ศ. 79 เอกสารนี้ทำขึ้นเพื่อมอบให้กับกะลาสีเรือคนหนึ่งที่ใกล้จะเกษียณ รวมทั้งภรรยากับลูกชายของเขาด้วย เอกสารนี้มี 2 ส่วนที่ผูกไว้ด้วยกันและลงตราประทับ ในสมัยนั้นบางคนได้สิทธิพลเมืองโรมันตั้งแต่เกิด แต่บางคนได้สิทธินี้ในภายหลัง (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่กจ 22:28) เอกสารที่แสดงสิทธิการเป็นพลเมืองโรมันถือว่ามีค่ามากไม่ว่าจะได้สิทธินี้มาตอนไหน เพราะบางครั้งต้องใช้เอกสารนี้เพื่อยืนยันในการรับสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่เปาโลเขียนเกี่ยวกับฐานะพลเมืองที่สูงส่งกว่าการเป็นพลเมืองโรมัน ซึ่งก็คือการ “เป็นพลเมืองสวรรค์”—ฟป 3:20
ศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มที่เรียกว่าศาลแซนเฮดรินใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 71 คน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการจัดที่นั่งในศาลเป็นรูปครึ่งวงกลมซ้อนกัน 3 แถว และมีผู้คัดลอก 2 คนคอยบันทึกคำพิพากษาของศาล รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมบางอย่างในภาพนี้วาดขึ้นโดยมีต้นแบบจากซากอาคารหลังหนึ่งที่พบในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งบางคนเชื่อว่าเคยเป็นห้องพิจารณาคดีของศาลแซนเฮดรินในศตวรรษแรก—ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”
1. มหาปุโรหิต
2. สมาชิกศาลแซนเฮดริน
3. จำเลย
4. เสมียนศาล