กิจการของอัครสาวก 5:1-42
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ชักจูงคุณ: แปลตรงตัวว่า “ใส่ในหัวใจคุณ” ในท้องเรื่องนี้มีการใช้สำนวนกรีกนี้เพื่อหมายถึง “กล้าทำบางสิ่ง, ทำให้กล้า” สำนวนนี้อาจมาจากสำนวนฮีบรูที่มีความหมายเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ใน อสธ 7:5 มีการแปลสำนวนฮีบรู “ใส่ในหัวใจเขา” ว่า “บังอาจ” และใน ปญจ 8:11 ก็มีการแปลสำนวนนี้ว่า “ยิ่งกล้า ทำชั่ว”
พลังของพระยะโฮวา: ในต้นฉบับของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีสำนวน “พลังของพระยะโฮวา” อยู่หลายครั้ง (ตัวอย่างเช่น วนฉ 3:10; 6:34; 11:29; 13:25; 14:6; 15:14; 1ซม 10:6; 16:13; 2ซม 23:2; 1พก 18:12; 2พก 2:16; 2พศ 20:14; อสย 11:2; 40:13; 63:14; อสค 11:5; มคา 2:7; 3:8) ใน ลก 4:18 ก็มีสำนวนนี้อยู่ด้วยซึ่งเป็นข้อความที่ยกมาจาก อสย 61:1 ซึ่งที่นั่นและข้ออื่น ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีสำนวนนี้มีการใช้คำว่า “พลัง” คู่กับเททรากรัมมาทอน ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้ อย่างที่บอกไว้ในภาคผนวก ก5
ประชาคม: เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก เอ็คคะเลเซีย ในหนังสือกิจการ ซึ่งคำกรีกนี้มาจาก 2 คำคือ เอ็ค ที่แปลว่า “ออก” และ คะเลโอ ที่แปลว่า “เรียก” คำนี้หมายถึงกลุ่มคนที่ถูกเรียกมารวมกันเพื่อจุดประสงค์เฉพาะหรือเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง ดังนั้น จึงเหมาะที่จะใช้คำนี้เมื่อพูดถึงประชาคมคริสเตียนที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ (ดูส่วนอธิบายศัพท์) มีการใช้คำกรีก เอ็คคะเลเซีย ใน มธ 16:18 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) ซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับการตั้งประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิม พวกเขาเป็นหินที่มีชีวิตอยู่ที่ “ก่อขึ้นเป็นวิหารด้วยพลังของพระเจ้า” (1ปต 2:4, 5) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำว่าประชาคมไม่ได้หมายถึงกลุ่มคริสเตียนผู้ถูกเจิมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคริสเตียนทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือกลุ่มคริสเตียนที่รวมตัวกันเป็นประชาคมก็ได้ และจากท้องเรื่อง กจ 5:11 คำนี้หมายถึงประชาคมคริสเตียนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตั้งแต่ ปฐก 16:7 มักมีสำนวนนี้ซึ่งมาจากคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “ทูตสวรรค์” และเททรากรัมมาทอน ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 3:5, 6 มีการใช้คำกรีก อางเกะลอส (ทูตสวรรค์, ผู้ส่งข่าว) ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดีย ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 เหตุผลที่ฉบับแปลโลกใหม่ใช้คำว่า “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา” ในข้อนี้ทั้ง ๆ ที่สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ได้ใช้มีอธิบายไว้ในภาคผนวก ก5
พวกผู้นำ . . . ทั้งคณะ: หรือ “สภาผู้นำทั้งคณะ” คำกรีก เกะรู่เซีย ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำ เกะโรน (แปลตรงตัวว่า “คนแก่”) ที่อยู่ใน ยน 3:4 ทั้ง 2 คำนี้มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก บางคนมองว่าคำว่า “ผู้นำทั้งคณะ” ถูกใช้เพื่อหมายถึงศาลแซนเฮดรินที่เป็นศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยปุโรหิตใหญ่ ครูสอนศาสนา และพวกผู้นำ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 22:66) แต่ดูเหมือนว่าในข้อนี้คำว่า “ศาลแซนเฮดริน” กับคำว่า “ผู้นำทั้งคณะ” น่าจะหมายถึงคน 2 กลุ่ม สมาชิกบางคนของพวก “ผู้นำทั้งคณะ” อาจเป็นสมาชิกของศาลแซนเฮดรินด้วย และบางคนก็อาจเป็นที่ปรึกษาของศาลแซนเฮดริน
ชาวอิสราเอล: หรือ “ลูกหลานอิสราเอล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อิสราเอล”
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลวิหาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 4:1
เสา: หรือ “ต้นไม้” คำกรีก คะซูลอน (แปลตรงตัวว่า “ไม้”) ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายเดียวกับคำกรีก สเทารอส (ที่แปลว่า “เสาทรมาน”) และคำนี้ยังใช้เพื่อหมายถึงเครื่องมือประหารที่ใช้ตรึงพระเยซู ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ลูกา เปาโล และเปโตรใช้คำ คะซูลอน ในความหมายแบบนี้รวมกัน 5 ครั้ง (กจ 5:30; 10:39; 13:29; กท 3:13; 1ปต 2:24) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำ คะซูลอน ที่ ฉธบ 21:22, 23 เพื่อแปลคำฮีบรู เอ็ทส์ (มีความหมายว่า “ต้นไม้, ไม้, ไม้ท่อนหนึ่ง”) ในประโยคที่บอกว่า “และคุณเอาศพเขาแขวนไว้บนเสา” ใน กท 3:13 ตอนที่เปาโลยกข้อความจากเฉลยธรรมบัญญัติขึ้นมา เขาก็ใช้คำว่า คะซูลอน ในประโยคที่บอกว่า “ทุกคนที่ถูกแขวนไว้บนเสาก็ถูกสาปแช่ง” นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสร 6:11 (1เอสดรัส 6:31, LXX) เมื่อแปลคำอาระเมอิก เอ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำฮีบรู เอ็ทส์ ในข้อนั้นบอกว่าถ้ามีคนขัดคำสั่งของกษัตริย์เปอร์เซีย “ให้ถอนไม้ท่อนหนึ่ง จากบ้านของคนนั้นออกมาและเอาตัวเขาตรึงไว้บนไม้นั้น” การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำ คะซูลอน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำ สเทารอส ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระเยซูถูกประหารบนเสาที่ตั้งตรงโดยไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง
ผู้นำคนสำคัญ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (อาร์เฆกอส) มีความหมายหลักว่า “คนที่นำหน้า, คนที่ไปก่อน” มีคำกรีกคำนี้อยู่ 4 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล และทุกครั้งก็ใช้เพื่อหมายถึงพระเยซู (กจ 3:15; 5:31; ฮบ 2:10; 12:2) และในข้อนี้มีการใช้คำนี้คู่กับตำแหน่ง “ผู้ช่วยให้รอด”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 3:15
โกรธแค้นมาก: หรือ “พวกเขารู้สึกเจ็บใจ” สำนวนกรีกนี้มีอยู่แค่ในข้อนี้ และที่ กจ 7:54 สำนวนนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ถูกเลื่อยทะลุ” แต่ในข้อคัมภีร์ทั้ง 2 ข้อมีการใช้สำนวนนี้ในความหมายเป็นนัยเพื่อพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงมาก
กามาลิเอล: เป็นอาจารย์สอนกฎหมายของโมเสสที่มีการพูดถึง 2 ครั้งในหนังสือกิจการ คือในข้อนี้และที่ กจ 22:3 ผู้คนคิดกันว่าเขาเป็นคนเดียวกับกามาลิเอลผู้อาวุโสที่พูดถึงในหนังสือทั่วไปอื่น ๆ กามาลิเอลเป็นหลานหรืออาจเป็นลูกของฮิลเลลผู้อาวุโสที่เป็นผู้ก่อตั้งสำนักหนึ่งของลัทธิฟาริสีที่มีความคิดแบบเสรีนิยม กามาลิเอลได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง ว่ากันว่าเขาเป็นคนแรกที่ได้ตำแหน่งที่มีเกียรติว่า “รับบัน” ดังนั้น เขามีอิทธิพลในหมู่สังคมชาวยิวอย่างมาก เขาได้สอนลูกหลานของฟาริสีหลายคน เช่น เซาโลที่มาจากเมืองทาร์ซัส (กจ 22:3; 23:6; 26:4, 5; กท 1:13, 14) เขามักจะตีความกฎหมายของโมเสสและธรรมเนียมต่าง ๆ ในแบบที่ไม่เคร่งครัดมากเหมือนกับพวกฟาริสีคนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ว่ากันว่ากามาลิเอลเป็นคนตั้งกฎหมายที่ช่วยปกป้องภรรยาจากสามีที่ไม่มีศีลธรรม และปกป้องแม่ม่ายจากลูกที่ทำตัวไม่ดี และดูเหมือนเขาจะเป็นคนสอนว่าคนต่างชาติที่ยากจนควรมีสิทธิ์ที่จะเก็บข้าวตกได้เหมือนกับชาวยิวที่ยากจน การเป็นคนประนีประนอมแบบนี้เห็นได้ชัดจากสิ่งที่เขาพูดปกป้องเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ (กจ 5:35-39) แต่บันทึกของพวกรับบีแสดงให้เห็นว่ากามาลิเอลให้ความสำคัญกับธรรมเนียมของรับบีมากกว่าพระคัมภีร์บริสุทธิ์ ดังนั้น คำสอนของเขาจึงคล้ายกับพวกรับบีส่วนใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้น และคล้ายกับพวกผู้นำศาสนาในสมัยนั้น—มธ 15:3-9; 2ทธ 3:16, 17; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ฟาริสี”; “แซนเฮดริน”
เฆี่ยน: หรือ “ตี” อาจหมายถึงการลงโทษแบบชาวยิวที่ให้เฆี่ยน “ครั้งละ 39 ที”—2คร 11:24; ฉธบ 25:2, 3
ประกาศข่าวดี: คำกริยากรีก อืออางเกะลิโศไม ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำนาม อืออางเกะลิออน ที่แปลว่า “ข่าวดี” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ข่าวดีเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าที่พระเยซูประกาศ และเรื่องความรอดสำหรับคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ หนังสือกิจการมีคำกริยากรีก อืออางเกะลิโศไม อยู่หลายครั้งเพราะหนังสือนี้เน้นเรื่องการประกาศ—กจ 8:4, 12, 25, 35, 40; 10:36; 11:20; 13:32; 14:7, 15, 21; 15:35; 16:10; 17:18; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23; 24:14
ตามบ้านเรือน: มาจากสำนวนกรีก คาทออยคอน พจนานุกรมหลายฉบับและผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าคำกรีก คาทา สามารถใช้ในแง่ของการกระจายได้ด้วย ตัวอย่างเช่น พจนานุกรมหนึ่งบอกว่าสำนวนนี้หมายถึง “การกระจายไปตามบ้านทีละหลัง” (A Greek-English Lexicon of the New Testament and Other Early Christian Literature, Third Edition) แหล่งอ้างอิงอีกแหล่งบอกว่าคำ คาทา ที่ใช้ใน กจ 2:46; 5:42 ก็ใช้ในแง่ของการกระจาย และริชาร์ด เลนสกี นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พวกอัครสาวกไม่เคยหยุดทำงานนี้เลย พวกเขาออกไปประกาศอย่างเปิดเผยทุกวันที่วิหาร ซึ่งเป็นที่ที่สมาชิกของศาลแซนเฮดรินและตำรวจประจำวิหารสามารถเห็นและได้ยินพวกเขา และเนื่องจากคำว่า คาทออยคอน เป็นคำที่แสดงถึงการกระจาย จึงหมายความว่าพวกเขาไปตามบ้านต่าง ๆ ด้วย’” (The Interpretation of the Acts of the Apostles, 1961) แหล่งอ้างอิงเหล่านี้จึงสนับสนุนว่าการประกาศของพวกสาวกเป็นการประกาศตามบ้าน มีการใช้คำ คาทา ในความหมายคล้ายกันนี้ที่ ลก 8:1 ซึ่งในข้อนั้นบอกว่าพระเยซูไปประกาศ “ตามเมืองและตามหมู่บ้าน” การพยายามเข้าถึงผู้คนตามบ้านแบบนี้เกิดผลที่น่าทึ่ง—กจ 6:7; เทียบกับ กจ 4:16, 17; 5:28
วีดีโอและรูปภาพ
แผ่นหนังที่เห็นในภาพนี้มีข้อความจาก กจ 5:3-21 สำเนาแผ่นหนังนี้มีชื่อว่าอันเชียล 0189 และเคยเป็นส่วนหนึ่งของโคเดกซ์ของหนังสือกิจการ ด้านหน้าของแผ่นหนังนี้ (ฝั่งซ้าย) คือข้อความจาก กจ 5:3-12 และอีกด้านหนึ่ง (ฝั่งขวา) คือข้อความจาก กจ 5:12-21 ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าสำเนานี้ทำขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3 ค.ศ. แต่บางคนก็เชื่อว่าทำขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 หรือ 4 ค.ศ. ถึงแม้จะมีชิ้นส่วนพาไพรัสที่เก่าแก่กว่านี้ แต่นี่ถือเป็นหนึ่งในสำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกบนแผ่นหนังที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันแผ่นหนังนี้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ (Staatliche Museen) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
วีดีโอ 3 มิตินี้แสดงภาพจำลองหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ของระเบียงทางเดินของโซโลมอน ระเบียงนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของลานชั้นนอกของวิหารในกรุงเยรูซาเล็มสมัยศตวรรษแรก ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเป็นทางเดินกว้างที่มีหลังคา คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงระเบียงทางเดินนี้ 3 ครั้ง ยอห์นเล่าว่าครั้งหนึ่งตอนที่พระเยซูเดินอยู่ที่ระเบียงนี้ พวกยิวมายืนล้อมท่านและถามว่าท่านเป็นพระคริสต์หรือเปล่า (ยน 10:22-24) อีกครั้งหนึ่ง ฝูงชนมาชุมนุมกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเพื่อฟังเปโตรอธิบายว่าเขารักษาผู้ชายที่เป็นง่อยมาตั้งแต่เกิดได้อย่างไร (กจ 3:1-7, 11) และครั้งที่ 3 คริสเตียนยุคแรกมักมาพบกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนซึ่งเป็นที่ที่คนทั่วไปเห็นได้—กจ 5:12, 13; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ระเบียงทางเดินของโซโลมอน”
หลังจากวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 สาวกของพระเยซูก็ยังประกาศข่าวดีตามบ้านต่อไป และถึงแม้ได้รับคำสั่งให้ “เลิกพูด” แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพวกสาวกก็ยัง “สอนและประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูผู้เป็นพระคริสต์ ทั้งในวิหารและตามบ้านเรือนทุก ๆ วัน” (กจ 5:40-42) ประมาณปี ค.ศ. 56 อัครสาวกเปาโลบอกพวกผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัสว่า “ผมไม่เคยลังเลที่จะ . . . สอนพวกคุณทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านด้วย” (กจ 20:20) เปาโลบอกด้วยว่าเขาพยายามประกาศกับพวกผู้ดูแลตอนที่พวกเขายังไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือเพื่อช่วยให้พวกเขา “กลับใจแล้วหันมาหาพระเจ้า และเชื่อในพระเยซูผู้เป็นนายของเรา” (กจ 20:21) เมื่อเปาโลเจอคนที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้อง เขาก็จะกลับไปเยี่ยมที่บ้านและสอนเพิ่มเติม และถ้าคนที่เปาโลสอนเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือแล้ว เปาโลก็จะช่วยคนเหล่านั้นให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:42; 20:20