กิจการของอัครสาวก 8:1-40
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ฟีลิป: ที่ กจ 8:1 บอกว่า “สาวกทุกคนยกเว้นพวกอัครสาวกก็กระจัดกระจายไปทั่วแคว้นยูเดียและสะมาเรีย” ดังนั้น ฟีลิปที่พูดถึงในข้อนี้จึงไม่ใช่ฟีลิปที่เป็นอัครสาวก (มธ 10:3; กจ 1:13) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ดูเหมือนว่าฟีลิปคนนี้เป็นหนึ่งใน “ผู้ชาย 7 คนที่มีชื่อเสียงดี” ที่ได้รับการแต่งตั้งให้แจกอาหารประจำวันให้กับแม่ม่ายคริสเตียนที่พูดภาษากรีกและแม่ม่ายคริสเตียนที่พูดภาษาฮีบรูในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 6:1-6) หลังจากบันทึกเหตุการณ์นี้ในกิจการ บท 8 มีการพูดถึงฟีลิปคนนี้อีกแค่ครั้งเดียวคือที่ กจ 21:8 และที่นั่นพูดถึงเขาว่า “ฟีลิปผู้ประกาศข่าวดี”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 21:8
เมืองสะมาเรีย: หรือ สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “เมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรีย” ดูเหมือนน่าจะหมายถึงเมืองหลักในแคว้นสะมาเรียที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรม ตอนแรกสะมาเรียเป็นชื่อเมืองหลวงของอาณาจักรอิสราเอล 10 ตระกูล และเป็นชื่อของเขตแดนที่อยู่ภายใต้อาณาจักรนั้นทั้งหมด สะมาเรียเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรนั้นจนถึงตอนที่ถูกพวกอัสซีเรียยึดในปี 740 ก่อน ค.ศ. แต่ก็ยังมีเมืองสะมาเรียอยู่ตลอดช่วงที่โรมปกครอง และในสมัยของพระเยซู สะมาเรียก็ยังเป็นชื่อแคว้นหนึ่งของโรมซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแคว้นกาลิลีทางเหนือและยูเดียที่อยู่ทางใต้ (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สะมาเรีย”) เฮโรดมหาราชได้สร้างเมืองนี้ขึ้นใหม่และตั้งชื่อว่าเซวาสตีเพื่อเป็นการให้เกียรติออกัสตัสจักรพรรดิของโรม (ชื่อเซวาสตีเป็นชื่อภาษากรีกแบบผู้หญิงของออกัสตัส) ปัจจุบัน ชื่อเมืองนี้ในภาษาอาหรับคือเซวาสตียาซึ่งตรงกับชื่อที่เฮโรดตั้งให้—ดูภาคผนวก ข10
คนสะมาเรียยอมรับคำสอนของพระเจ้า: หลังจากพระเยซูประกาศกับผู้หญิงชาวสะมาเรียแล้ว ก็ “มีคนสะมาเรียหลายคน” เชื่อในตัวท่าน (ยน 4:27-42) นี่อาจเป็นการเตรียมชาวสะมาเรียให้พร้อมที่จะตอบรับการประกาศของฟีลิป—กจ 8:1, 5-8, 14-17
ซีโมน . . . เสนอเงินให้: เรื่องราวนี้ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นที่มาของคำภาษาอังกฤษ “ซีโมนี” (simony) ซึ่งหมายถึงการซื้อขายตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งทางศาสนา คำตอบของเปโตรที่บันทึกใน กจ 8:20-24 แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนต้องระวังที่จะไม่ทำสิ่งที่ชั่วร้ายแบบนี้ เขาจะไม่พยายามได้ตำแหน่งหรือมี “อำนาจ” โดยใช้เงินหรือวิธีอื่น ๆ—กจ 8:19; 1ปต 5:1-3
อ้อนวอนพระยะโฮวา: คำกริยากรีกที่แปลว่า “อ้อนวอน” ในข้อนี้ ในฉบับเซปตัวจินต์ เกี่ยวข้องกับการอธิษฐาน การขอร้อง และการอ้อนวอนถึงพระยะโฮวา ในข้อคัมภีร์เหล่านี้มักมีการใช้ชื่อพระเจ้าในข้อความภาษาฮีบรู (ปฐก 25:21; อพย 32:11; กดว 21:7; ฉธบ 3:23; 1พก 8:59; 13:6) ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้ อย่างที่บอกไว้ในภาคผนวก ก5—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า “อ้อนวอน” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 4:31
ยาพิษ: แปลตรงตัวว่า “ดีขม” คำกรีก ฆอเล ในที่นี้หมายถึงของเหลวซึ่งผลิตที่ตับและถูกเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี น้ำดีเป็นของเหลวที่มีสีเหลืองหรือเขียวและมีรสขมมาก ทำหน้าที่ย่อยอาหารในร่างกาย ในคัมภีร์ไบเบิลน้ำดีเกี่ยวข้องกับบางสิ่งที่มีรสขมหรือเป็นพิษ และข้อนี้ก็มีการใช้คำนี้ในความหมายนี้—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:34
ขอให้พวกคุณช่วยอ้อนวอนพระยะโฮวาเพื่อผม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:22
คำสอนของพระยะโฮวา: สำนวนนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “คำสอน” และเททรากรัมมาทอน จึงรวมกันเป็น “คำสอนของพระยะโฮวา” มีสำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 200 ครั้ง (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2ซม 12:9; 24:11; 2พก 7:1; 20:16; 24:2; อสย 1:10; 2:3; 28:14; 38:4; ยรม 1:4; 2:4; อสค 1:3; 6:1; ฮชย 1:1; มคา 1:1; ศคย 9:1) ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 9:1 มีการใช้คำกรีก ลอกอส ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ () ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดียใกล้ทะเลเดดซี ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:19
ชาวเอธิโอเปีย: คือคนที่มาจากดินแดนที่เก่าแก่ซึ่งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ ต่อมาเรียกดินแดนนี้ว่าเอธิโอเปีย คำกรีกที่แปลว่า “เอธิโอเปีย” (ไอธิออพส์ มีความหมายว่า “ดินแดนของคนหน้าไหม้”) เป็นชื่อที่ชาวกรีกสมัยโบราณใช้เรียกดินแดนของแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของอียิปต์ โดยทั่วไปคำนี้มีความหมายตรงกับชื่อฮีบรูคูช ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ทางใต้ของอียิปต์และซูดานในปัจจุบัน ในฉบับแปลเซปตัวจินต์ ผู้แปลมักใช้คำกรีก “เอธิโอเปีย” เพื่อแปลคำฮีบรู “คูช” ตัวอย่างหนึ่งอยู่ที่ อสย 11:11 ที่นั่นพูดถึง “คูช” (“เอธิโอเปีย” in LXX) ว่าเป็นดินแดนหนึ่งที่ชาวยิวกระจัดกระจายไปหลังจากที่บาบิโลนยึดยูดาห์ได้ ดังนั้น ข้าราชการชาวเอธิโอเปียคนนี้อาจได้เจอกับชาวยิวในประเทศที่เขาอยู่หรืออาจเจอที่อียิปต์ก็ได้ เพราะที่นั่นมีชาวยิวอยู่เป็นจำนวนมาก
ข้าราชการ: แปลตรงตัวว่า “ขันที” มาจากคำกรีก อือนู่ฆอส ที่มีความหมายตรงตัวว่าผู้ชายที่ถูกตอน ผู้ชายกลุ่มนี้มักได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หลายอย่างในวังในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในสมัยโบราณ พวกเขามักทำหน้าที่เป็นคนดูแลราชินีและนางสนมของกษัตริย์ แต่คำว่า “ขันที” ก็ไม่ได้หมายถึงผู้ชายที่ถูกตอนแล้วเท่านั้น เพราะต่อมาคำนี้มักใช้เพื่อหมายถึงพวกผู้ชายที่ทำงานในวังของกษัตริย์ คำฮีบรูที่แปลว่า “ขันที” (สารีส) ก็อาจใช้ในความหมายเดียวกับคำกรีก คือหมายถึงข้าราชสำนัก ตัวอย่างเช่น โปทิฟาร์ซึ่งเป็นผู้ชายที่แต่งงานแล้วก็ถูกเรียกว่า “ข้าราชสำนัก [แปลตรงตัวว่า “ขันที”] ของฟาโรห์” (ปฐก 39:1) ในข้อคัมภีร์นี้ภาษาเดิมก็มีการใช้คำว่า “ขันที” เพื่อพูดถึงชาวเอธิโอเปียที่เป็นคนดูแลทรัพย์สินทั้งหมดในวัง เห็นได้ชัดว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวและเข้าสุหนัตแล้ว เพราะในข้อนี้บอกว่าเขาไปนมัสการพระเจ้าที่กรุงเยรูซาเล็ม และเนื่องจากกฎหมายของโมเสสบอกว่าคนที่ถูกตอนจะเข้ามาเป็นประชาชนของพระยะโฮวาไม่ได้ (ฉธบ 23:1) ผู้ชายคนนี้จึงไม่ได้เป็นขันทีตามตัวอักษรแน่ ๆ และไม่ได้ถือว่าเขาเป็นคนต่างชาติคนแรกที่เข้ามาเป็นคริสเตียน เพราะพระคัมภีร์บอกว่าคนต่างชาติคนแรกที่ไม่เข้าสุหนัตและเข้ามาเป็นคริสเตียนก็คือโคร์เนลิอัส—กจ 10:1, 44-48; สำหรับคำอธิบายคำว่า “ขันที” ในความหมายเป็นนัย ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:12
คานดาสี: คานดาสีเป็นตำแหน่งเหมือนกับฟาโรห์และซีซาร์ ไม่ใช่ชื่อคน นักเขียนสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นสตราโบ พลินีผู้อาวุโส และยูเซบิอุสก็ใช้คำนี้เพื่อหมายถึงราชินีของเอธิโอเปีย พลินีผู้อาวุโส (ประมาณปี ค.ศ. 23-79) เขียนว่า “เมืองนี้ [เมโรอีซึ่งเป็นเมืองหลวงของเอธิโอเปียโบราณ] มีอาคารอยู่ไม่กี่แห่ง ว่ากันว่าเมืองนี้ปกครองโดยคานดาสีซึ่งเป็นผู้หญิง เป็นเวลาหลายปีที่มีการใช้ชื่อนี้เพื่อเรียกผู้หญิงที่ขึ้นมาปกครองเป็นราชินี”—Natural History, VI, XXXV, 186
เข้าใจ: คำกรีก กิโนสโค มีความหมายหลักว่า “รู้จัก” แต่คำนี้มีความหมายกว้าง และอาจแปลได้ด้วยว่า “เข้าใจ, รับรู้”
ความเป็นมาของเขา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 53:8 คำว่า “ความเป็นมา” น่าจะหมายถึง “การสืบเชื้อสาย” หรือ “ประวัติครอบครัว” ของใครคนหนึ่ง ตอนที่พระเยซูถูกพิจารณาคดีต่อหน้าศาลแซนเฮดริน สมาชิกของศาลนี้ไม่ได้สนใจความเป็นมาของท่าน และไม่รู้ว่าท่านกำลังทำให้คำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์เป็นจริง
รับบัพติศมา: หรือ “ถูกจุ่ม” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ท้องเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ถ้าการรับบัพติศมาเป็นแค่การเทหรือประพรมน้ำ ก็ไม่จำเป็นที่ข้าราชการคนนี้จะต้องหยุดรถม้าที่แหล่งน้ำแห่งหนึ่ง ถึงแม้ไม่รู้ว่าแหล่งน้ำในข้อนี้หมายถึงแม่น้ำ ลำธาร หรือสระน้ำ แต่บันทึกนี้ได้บอกว่า “ฟีลิปก็ลงไปในน้ำ กับเขา” (กจ 8:38) ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ตัวอย่างเช่น พระเยซูรับบัพติศมาในแม่น้ำจอร์แดน และเหตุผลที่ยอห์นเลือกบัพติศมาผู้คนที่หุบเขาจอร์แดนใกล้สาลิมก็ “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) และน่าสนใจที่ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง นอกจากนั้น พระคัมภีร์ยังพูดถึงการรับบัพติศมาว่าเป็นเหมือนการฝังศพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่รับบัพติศมาจะต้องถูกจุ่มตัวมิดในน้ำ—รม 6:4-6; คส 2:12
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกยุคหลังบางฉบับ และฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับเพิ่มข้อความว่า “ฟีลิปจึงตอบว่า ‘ถ้าท่านเต็มใจเชื่อท่านก็รับได้’ และขันทีจึงตอบว่า ‘ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระเจ้า’” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด และดูเหมือนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือกิจการ—ดูภาคผนวก ก3
พลังของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:9
อัชโดด: เป็นชื่อเมืองในภาษาฮีบรู แต่ผู้คนทั่วไปในศตวรรษแรกรู้จักในชื่อกรีกว่าอะโซตุส—ยชว 11:22; 15:46; ดูภาคผนวก ข6 และ ข10
วีดีโอและรูปภาพ
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงงานรับใช้ที่กระตือรือร้นของ “ฟีลิปผู้ประกาศข่าวดี” (กจ 21:8) เขาเป็นหนึ่งใน “ผู้ชาย 7 คนที่มีชื่อเสียงดี” ที่ช่วยแจกจ่ายอาหารให้กับสาวกที่พูดภาษากรีกและสาวกที่พูดภาษาฮีบรูในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 6:1-6) หลังจากสเทเฟนตาย “สาวกทุกคนยกเว้นพวกอัครสาวกก็กระจัดกระจายไป” และฟีลิปก็ไปสะมาเรีย เขาประกาศข่าวดีและทำการอัศจรรย์หลายอย่างที่นั่น (กจ 8:1, 4-7) ต่อมาทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาก็บอกให้ฟีลิปไปที่ถนนสายกรุงเยรูซาเล็มที่จะไปเมืองกาซาซึ่งเป็นถนนที่ผ่านที่กันดาร (กจ 8:26) ฟีลิปเจอกับข้าราชการชาวเอธิโอเปียบนถนนสายนั้นและประกาศข่าวดีกับเขา (กจ 8:27-38) พลังของพระยะโฮวาพาตัวฟีลิปเดินทางต่อไป (กจ 8:39) เขาไปที่เมืองอัชโดด แล้วหลังจากนั้นก็ไปประกาศข่าวดีที่เมืองอื่น ๆ ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งจนถึงเมืองซีซารียา (กจ 8:40) หลายปีต่อมา ลูกากับเปาโลไปพักที่บ้านฟีลิปในเมืองซีซารียา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าตอนนั้นฟีลิป “มีลูกสาว 4 คนที่ยังเป็นโสดและเป็นผู้พยากรณ์”—กจ 21:8, 9
1. ที่กรุงเยรูซาเล็ม ฟีลิปช่วยงานพวกอัครสาวก—กจ 6:5
2. ที่แคว้นสะมาเรีย ฟีลิปประกาศข่าวดี—กจ 8:5
3. บนถนนไปเมืองกาซาซึ่งผ่านที่กันดาร ฟีลิปอธิบายข้อคัมภีร์ให้ข้าราชการชาวเอธิโอเปียและให้บัพติศมาเขา—กจ 8:26-39
4. ในเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเล ฟีลิปประกาศข่าวดีในเมืองเหล่านี้ทุกเมือง—กจ 8:40
5. ที่เมืองซีซารียา ฟีลิปให้เปาโลมาพักที่บ้าน—กจ 21:8, 9
1. โรงละครโรมัน
2. วังกษัตริย์
3. สนามแข่งม้า
4. วิหารของพระนอกรีต
5. อ่าว
นี่เป็นวีดีโอเกี่ยวกับซากเมืองซีซารียาและมีแบบจำลอง 3 มิติเพื่อให้เห็นว่าอาคารหลัก ๆ ในสมัยก่อนอาจเป็นอย่างไร เฮโรดมหาราชเป็นคนสร้างเมืองซีซารียาและอ่าวของเมืองนี้ตอนปลายศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. เฮโรดตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อของซีซาร์ออกัสตัส เมืองซีซารียาตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 87 กม. เมืองนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของจักรวรรดิโรมัน เมืองนี้มีโรงละครโรมัน (หมายเลข 1) วังกษัตริย์ที่สร้างบนแผ่นดินที่ยื่นออกไปในทะเล (หมายเลข 2) สนามแข่งม้าที่จุผู้ชมได้ประมาณ 30,000 คน (หมายเลข 3) วิหารของพระนอกรีต (หมายเลข 4) อ่าวที่คนในสมัยนั้นสร้างขึ้น (หมายเลข 5) ซึ่งถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม เมืองซีซารียามีทางส่งน้ำจืดและระบบระบายน้ำ อัครสาวกเปาโลและคริสเตียนคนอื่น ๆ เดินทางไปเมืองนี้โดยใช้เรือ (กจ 9:30; 18:21, 22; 21:7, 8, 16) เปาโลถูกขังในคุกที่เมืองนี้ประมาณ 2 ปี (กจ 24:27) ตอนที่ฟีลิปผู้ประกาศข่าวดีเดินทางไปประกาศตามเมืองต่าง ๆ เขาไปที่เมืองซีซารียาเป็นเมืองสุดท้ายและอาจตั้งรกรากอยู่ที่นั่น (กจ 8:40; 21:8) โคร์เนลิอัสคนต่างชาติคนแรกที่ไม่ได้เข้าสุหนัตซึ่งเข้ามาเป็นคริสเตียนก็อยู่ในเมืองนี้ (กจ 10:1, 24, 34, 35, 45-48) ลูกาก็อาจเขียนหนังสือข่าวดีของเขาในเมืองนี้ด้วย