เขียนโดยมัทธิว 18:1-35
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
หินโม่ก้อนใหญ่: หรือ “หินโม่แบบที่ใช้ลาหมุน” แปลตรงตัวว่า “หินโม่ของลา” หินโม่แบบนี้น่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.2-1.5 เมตร และหนักมากจนต้องใช้ลาหมุน
สิ่งที่ชักจูงคนให้หลงทำผิด: เชื่อกันว่าคำกรีก สคานดาลอน ที่แปลในข้อนี้ว่า “สิ่งที่ชักจูงคนให้หลงทำผิด” แต่เดิมหมายถึงกับดัก และบางคนคิดว่าหมายถึงแท่งไม้ที่อยู่ในกับดักซึ่งมีเหยื่อล่อผูกติดอยู่ ต่อมามีการใช้คำนี้ในความหมายที่กว้างขึ้น คือหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งกีดขวางซึ่งทำให้คนเราสะดุดหรือล้มลง และเมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย คำนี้หมายถึงการกระทำหรือสถานการณ์ที่ทำให้คนเราทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องด้านศีลธรรม หรือทำผิด ส่วนคำกริยา สคานดาลิโศ ซึ่งใน มธ 18:8, 9 แปลว่า “ทำให้หลงทำผิด” ยังอาจแปลได้ว่า “กลายเป็นหลุมพราง, เป็นต้นเหตุให้สะดุด”
ตัดมันทิ้ง: พระเยซูกำลังใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริง ท่านหมายความว่าคนเราควรเต็มใจสละสิ่งที่มีค่ามากเหมือนกับมือ เท้า หรือตาของเขา แทนที่จะปล่อยให้สิ่งนั้นทำให้เขาไม่ซื่อสัตย์และทำบาป (มธ 18:9) เห็นได้ชัดว่าพระเยซูไม่ได้สนับสนุนให้ตัดอวัยวะตัวเองหรือบอกว่าคนเราเป็นทาสความต้องการของแขน ขา หรือตาจริง ๆ แต่ท่านหมายความว่าคนเราควรกำจัดแนวโน้มไม่ดีที่อยู่ในอวัยวะของตัวเอง หรือทำเหมือนว่าอวัยวะนั้นถูกตัดออกไปแล้วแทนที่จะใช้มันทำบาป (เทียบกับ คส 3:5) คนเราไม่ควรยอมให้อะไรมาขัดขวางไม่ให้เขาได้ชีวิต
เกเฮนนา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์
ทูตสวรรค์ที่ดูแลพวกเขา: ทั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและภาคภาษากรีก ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับคำรับรองว่าพระองค์จะปกป้องพวกเขาโดยทางกองทัพทูตสวรรค์ที่มองไม่เห็นซึ่งอยู่พร้อมที่จะทำตามความต้องการของพระองค์เสมอ (2พก 6:15-17; สด 34:7; 91:11; กจ 5:19; ฮบ 1:14) คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ทูตสวรรค์” มีความหมายหลักว่า “ผู้ส่งข่าว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:51) ในข้อนี้การที่พระเยซูพูดถึงคนที่ต่ำต้อย (คือสาวกของท่าน) และ “ทูตสวรรค์ที่ดูแลพวกเขา” ไม่ได้หมายความว่าคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วทุกคนมีทูตสวรรค์ประจำตัวคอยดูแลพวกเขา แต่พวกทูตสวรรค์จะปกป้องดูแลคริสเตียนแท้ทั้งกลุ่มในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และยังคอยสนใจสาวกของพระคริสต์แต่ละคนด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 12:15
อยู่ต่อหน้าพ่อของผม: หรือ “เข้าไปหาพ่อของผมได้” เนื่องจากทูตสวรรค์สามารถไปอยู่ต่อหน้าพระเจ้า จึงมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่เห็นหน้าพระองค์ได้—อพย 33:20
ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับมีข้อความว่า “เพราะว่าลูกมนุษย์ได้มาเพื่อช่วยคนที่หลงหายไปให้รอด” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด ข้อความคล้ายกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ได้รับการดลใจอยู่ที่ ลก 19:10 บางคนจึงคิดว่าผู้คัดลอกคนหนึ่งในยุคแรกเอาข้อความในข้อนี้มาจากหนังสือลูกา—ดูภาคผนวก ก3
ของผม: สำเนาเก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “ของคุณ”
ประชาคม: ตามกฎหมายของโมเสส ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนชาวอิสราเอลในการตัดสินคดีต่าง ๆ (ฉธบ 16:18) ในสมัยพระเยซู คนทำผิดต้องถูกไต่สวนโดยศาลท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยพวกผู้นำชาวยิว (มธ 5:22) ในสมัยต่อมา ผู้ชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้รับการแต่งตั้งจากพลังบริสุทธิ์ให้ตัดสินคดีความต่าง ๆ ในประชาคม (กจ 20:28; 1คร 5:1-5, 12, 13)—สำหรับความหมายของคำว่า “ประชาคม” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:18 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ประชาคม”
เป็นเหมือนคนทั่วไปในโลก และเหมือนคนเก็บภาษี: คือเป็นเหมือนคนที่ชาวยิวไม่ติดต่อเกี่ยวข้องด้วยถ้าไม่จำเป็น—เทียบกับ กจ 10:28
อะไรที่คุณจะมัด . . . คุณจะปล่อย: ในท้องเรื่องนี้ คำว่า “มัด” อาจหมายถึง “มองว่ามีความผิด, พบว่ามีความผิด” และคำว่า “ปล่อย” หมายถึง “ตัดสินให้พ้นผิด, ถือว่าไม่มีความผิด” คำสรรพนาม “คุณ” ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์แสดงว่าไม่ใช่แค่เปโตรเท่านั้นที่จะตัดสินเรื่องเหล่านี้ แต่คนอื่น ๆ ก็จะมีส่วนในการตัดสินด้วย—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:19
ถูกมัดไว้แล้ว . . . ถูกปล่อยแล้ว: ในข้อนี้ใช้คำกริยากรีก ‘มัด’ และ ‘ปล่อย’ แบบที่ไม่ตรงกับหลักไวยากรณ์ปกติ ซึ่งหมายความว่าการตัดสินทุกอย่างของพวกสาวก (“อะไรที่คุณจะมัด”; “อะไรที่คุณจะปล่อย”) จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตัดสินเรื่องนั้นแล้วในสวรรค์ ไม่ใช่เกิดขึ้นก่อน การตัดสินทุกอย่างของพวกเขาเป็นไปตามการตัดสินในสวรรค์และตัดสินโดยอาศัยหลักการที่ได้กำหนดไว้แล้วในสวรรค์ นี่ไม่ได้หมายความว่าสวรรค์เป็นฝ่ายสนับสนุนหรือรับรองว่าการตัดสินของพวกสาวกบนโลกนั้นถูกต้อง แต่หมายความว่าพวกสาวกจะได้รับการชี้นำจากสวรรค์ และเป็นการเน้นว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการชี้นำเพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินของพวกเขาสอดคล้องกับการตัดสินที่เกิดขึ้นแล้วในสวรรค์—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:19
77 ครั้ง: แปลตรงตัวว่า “เจ็ดสิบคูณเจ็ด” สำนวนกรีกนี้เข้าใจได้ 2 แบบ คือ “70 และ 7” (เท่ากับ 77 ครั้ง) หรือ “70 คูณ 7” (เท่ากับ 490 ครั้ง) ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ ปฐก 4:24 มีการใช้สำนวนกรีกเดียวกันนี้เพื่อแปลสำนวนฮีบรู “77 ครั้ง” ซึ่งสนับสนุนการแปลว่า “77 ครั้ง” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การพูดซ้ำเลขเจ็ดหมายถึง “ไม่มีกำหนด” หรือ “ไม่จำกัด” การที่พระเยซูบอกเปโตรว่าไม่ใช่แค่ 7 ครั้ง แต่เป็น 77 ครั้ง แสดงว่าพวกสาวกไม่ควรกำหนดว่าจะให้อภัยกี่ครั้ง ตรงกันข้ามกับหนังสือทัลมุดของบาบิโลน (โยมะ 86ข) ที่บอกว่า “ถ้าใครทำผิดครั้งแรก ครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม เขาจะได้รับการอภัย แต่ครั้งที่สี่ เขาจะไม่ได้รับการอภัย”
10,000 ตะลันต์: แค่ 1 ตะลันต์ก็เท่ากับค่าจ้างแรงงานประมาณ 20 ปี จึงต้องใช้เวลาหลายพันช่วงชีวิตเพื่อทำงานและจ่ายหนี้จำนวนมากขนาดนี้ได้ เห็นได้ชัดว่าพระเยซูกำลังใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงเพื่ออธิบายว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้หนี้จำนวนนี้ได้หมด เงิน 10,000 ตะลันต์เท่ากับ 60,000,000 เดนาริอัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:28; ส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ตะลันต์”; และภาคผนวก ข14
หมอบลง: หรือ “คำนับ, ทำความเคารพ” เมื่อใช้คำกริยากรีก พะรอสคูเนะโอ กับพระหรือเทพเจ้า ก็จะแปลคำนี้ว่า “นมัสการ” แต่ในท้องเรื่องนี้ การหมอบลงของทาสเป็นการแสดงความนับถือและการยอมรับอำนาจของคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าเขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2
ยกหนี้: คำว่า “หนี้” ในความเป็นนัยอาจหมายถึงความผิด—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:12
100 เดนาริอัน: ถึงแม้ 100 เดนาริอันอาจดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 10,000 ตะลันต์ (60,000,000 เดนาริอัน) แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่น้อยเพราะเงินจำนวนนี้เท่ากับค่าแรง 100 วัน—ดูภาคผนวก ข14
ยกหนี้ให้คุณทั้งหมด: —ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:12
ผู้คุม: คำกรีก บาซานิสเทส ที่แปลว่า “ผู้คุม” มีความหมายหลักว่า “ผู้ทรมาน” อาจเป็นเพราะในอดีตผู้คุมมักจะทรมานนักโทษอย่างทารุณ แต่ต่อมามีการใช้คำนี้ในความหมายกว้างขึ้นเพื่อหมายถึงคนที่ควบคุมดูแลนักโทษในคุก อาจเป็นเพราะการถูกขังถือเป็นการทรมานในรูปแบบหนึ่งอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการทำร้ายร่างกายด้วยหรือไม่—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:29
วีดีโอและรูปภาพ
หินโม่ขนาดใหญ่เหมือนในภาพนี้ต้องใช้สัตว์หมุน เช่น ลา และใช้เพื่อบดเมล็ดข้าวหรือมะกอก หินโม่แผ่นบนอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร และจะหมุนอยู่บนหินแผ่นล่างที่ใหญ่กว่า
หินโม่เป็นเครื่องมือที่ใช้บดเมล็ดข้าวและหีบน้ำมันออกจากมะกอก หินโม่บางชนิดมีขนาดเล็กและสามารถหมุนได้ด้วยมือ แต่บางชนิดก็มีขนาดใหญ่มากจนต้องใช้สัตว์หมุน หินโม่ขนาดใหญ่นี้อาจมีลักษณะคล้ายเครื่องโม่ที่ชาวฟีลิสเตียบังคับให้แซมสันหมุน (วนฉ 16:21) หินโม่ที่ต้องใช้สัตว์หมุนไม่ได้มีทั่วไปในอิสราเอลเท่านั้น แต่มีใช้กันทั่วจักรวรรดิโรมันด้วย
หุบเขาฮินโนม ภาษากรีกเรียกว่า เกเฮนนา เป็นหุบเขาแคบ ๆ อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็มสมัยโบราณ ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง
คนเลี้ยงแกะต้องทำงานหนัก เขาต้องเจออากาศร้อนและหนาว และต้องอดหลับอดนอนบ่อย ๆ (ปฐก 31:40; ลก 2:8) เขาจะปกป้องฝูงแกะจากสัตว์นักล่า เช่น สิงโต หมาป่า และหมี และปกป้องไม่ให้ฝูงแกะถูกขโมยไป (ปฐก 31:39; 1ซม 17:34-36; อสย 31:4; อมส 3:12; ยน 10:10-12) คนเลี้ยงแกะจะคอยดูแลไม่ให้แกะกระจัดกระจายไป (1พก 22:17) ตามหาตัวที่หาย (ลก 15:4) อุ้มแกะที่อ่อนแอหรือเหนื่อยล้าไว้ที่อก (อสย 40:11) พาดแกะไว้ที่บ่า และเอาใจใส่ตัวที่ป่วยหรือบาดเจ็บ (อสค 34:3, 4; ศคย 11:16) คัมภีร์ไบเบิลมักจะใช้คนเลี้ยงแกะและงานของเขาในเชิงเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาเปรียบพระองค์เองเป็นผู้เลี้ยงแกะที่รักและเอาใจใส่แกะซึ่งก็คือประชาชนของพระองค์ (สด 23:1-6; 80:1; ยรม 31:10; อสค 34:11-16; 1ปต 2:25) พระเยซูก็ถูกเรียกว่า “ผู้เลี้ยงแกะที่ยิ่งใหญ่” (ฮบ 13:20) และ “ผู้เลี้ยงคนสำคัญ” ซึ่งชี้นำพวกผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนให้ดูแลฝูงแกะของพระเจ้าอย่างเต็มใจ ไม่เห็นแก่ตัว และกระตือรือร้น—1ปต 5:2-4