เขียนโดยมัทธิว 20:1-34
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
จ้างคนมาทำงาน: คนงานบางคนจะถูกจ้างตลอดช่วงฤดูเกี่ยว แต่บางคนก็ถูกจ้างเป็นรายวันตามที่จำเป็น
เดนาริอัน: เหรียญเงินของโรมันซึ่งหนักประมาณ 3.85 กรัม และมีรูปของซีซาร์อยู่ด้านหนึ่ง อย่างที่เห็นในข้อนี้คนงานในไร่นาสมัยพระเยซูจะได้รับค่าจ้าง 1 เดนาริอันสำหรับการทำงาน 1 วันที่ยาว 12 ชั่วโมง—ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข14
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ราว ๆ เที่ยงวัน: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 6”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
บ่าย 3 โมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 9”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
ประมาณ 5 โมงเย็น: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 11”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
คุณอิจฉาตาร้อน: คำกรีกที่แปลว่า “อิจฉาตาร้อน” ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ไม่ดี, ชั่ว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:23) คำว่า “ตา” ในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงเจตนา ความคิด หรืออารมณ์ของคนเรา—เทียบกับคำว่า “อิจฉาตาร้อน” ที่ มก 7:22
ใจดี: แปลตรงตัวว่า “ความดี” ในท้องเรื่องนี้ความดีเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเป็นคนใจดีหรือใจกว้าง
ระหว่างทางที่กำลังขึ้นไป: ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับถ่ายทอดแนวคิดว่า “กำลังจะขึ้นไป” แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่ามีข้อความแบบข้อนี้
ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม: เยรูซาเล็มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร พระคัมภีร์จึงมักบอกว่าผู้นมัสการพระเจ้า “ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม” (มก 10:32) พระเยซูและสาวกกำลังเดินขึ้นจากหุบเขาจอร์แดน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 19:1) ซึ่งจุดต่ำสุดของหุบเขานี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร นี่หมายความว่าพวกเขาต้องเดินไต่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรเพื่อไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
ประหารท่านบนเสา: หรือ “ทำให้ติดอยู่กับเสา” นี่เป็นครั้งแรกในมากกว่า 40 ครั้งที่มีการใช้คำกริยากรีก สเทารอโอ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำนามของคำกริยากรีกนี้คือ สเทารอส ซึ่งแปลว่า “เสาทรมาน” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:38; 16:24; 27:32 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เสา”; “เสาทรมาน”) มีการใช้คำกริยานี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสธ 7:9 ข้อนั้นพูดถึงการสั่งให้แขวนฮามานไว้บนเสาที่สูงกว่า 20 เมตร และในวรรณกรรมกรีกโบราณ คำกริยานี้หมายถึง “ล้อมรั้วด้วยไม้แหลม, ทำรั้วไม้ป้องกัน”
ภรรยาของเศเบดี: แปลตรงตัวว่า “แม่ของลูกชายของเศเบดี” คือแม่ของอัครสาวกยากอบกับยอห์น บันทึกของมาระโกบอกว่ายากอบกับยอห์นเป็นคนมาขอพระเยซูเอง (มก 10:35) ดูเหมือนทั้งสองเป็นคนต้นคิด แต่บอกให้แม่มาขอพระเยซูแทนพวกเขา แม่ของพวกเขาคือสะโลเมซึ่งอาจเป็นน้าของพระเยซู—มธ 27:55, 56; มก 15:40, 41; ยน 19:25
หมอบลงแสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, คุกเข่าลงด้วยความนับถือ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2; 18:26
นั่งข้างขวาของท่านคนหนึ่ง ข้างซ้ายคนหนึ่ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:37
พวกคุณไม่รู้หรอกว่ากำลังขออะไรอยู่: การใช้คำกริยากรีกในรูปพหูพจน์และจากท้องเรื่องทำให้รู้ว่า พระเยซูไม่ได้พูดกับคนที่เป็นแม่ แต่กำลังพูดกับลูกชาย 2 คนของเธอ—มก 10:35-38
ดื่มจากถ้วย: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ถ้วย” มักใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือ “ส่วนแบ่งที่ให้” กับคนหนึ่ง (สด 11:6; 16:5; 23:5) การ “ดื่มจากถ้วย” ในข้อนี้หมายถึงการยอมทำตามความต้องการของพระเจ้า สำหรับพระเยซู “ถ้วย” ไม่ได้หมายถึงการที่ท่านต้องทนทุกข์และตายเพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีชีวิตอมตะในสวรรค์อีกด้วย
ทำตัวเป็นนายเหนือประชาชน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:42
รับใช้: หรือ “เป็นคนรับใช้” คัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำกรีก เดียคอนอส ที่แปลว่า “คนรับใช้” เพื่อหมายถึงคนที่ทำงานรับใช้คนอื่นอย่างถ่อมตัวและไม่ย่อท้อ มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระคริสต์ (รม 15:8) ผู้รับใช้ของพระคริสต์ (1คร 3:5-7; คส 1:23) ผู้ช่วยงานรับใช้ (ฟป 1:1; 1ทธ 3:8) คนรับใช้ในบ้าน (ยน 2:5, 9) และเจ้าหน้าที่รัฐบาล (รม 13:4)
ไม่ได้มาให้คนอื่นรับใช้ แต่มารับใช้คนอื่น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:26
ค่าไถ่: นักเขียนหนังสือทั่วไปชาวกรีกใช้คำกรีก ลูตรอน (มาจากคำกริยา ลูโอ ที่แปลว่า “ปล่อย, ปลดปล่อย”) เมื่อพูดถึงสิ่งที่จ่ายเพื่อปล่อยตัวคนที่ถูกมัดหรือเป็นทาส หรือจ่ายเพื่อไถ่ตัวเชลยสงคราม พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำนี้ 2 ครั้งคือในข้อนี้และที่ มก 10:45 คำกรีกที่เกี่ยวข้องกันคือ อานทิลูทรอน มีอยู่ที่ 1ทธ 2:6 และมีการแปลว่า “ค่าไถ่ที่มีค่าเท่าเทียมกัน” และอีก 2 คำที่เกี่ยวข้องกับคำนี้คือ ลูตรอโอไม แปลว่า “ช่วย . . . ให้เลิก, ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ” (ทต 2:14; 1ปต 1:18) และ อาพอลลูโทรซิส ซึ่งมีการแปลว่า ‘จ่ายค่าไถ่เพื่อปลดปล่อย, ปลดปล่อยด้วยค่าไถ่, ไถ่ให้พ้น, ปล่อยตัว, ค่าไถ่ที่จ่ายให้, ใช้ค่าไถ่เพื่อปลดปล่อย’ (อฟ 1:7; คส 1:14; ฮบ 9:15; 11:35; รม 3:24; 8:23)—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เยรีโค: เมืองแรกของชาวคานาอันที่ชาวอิสราเอลยึดครองได้ เมืองนี้อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (กดว 22:1; ยชว 6:1, 24, 25) ในสมัยพระเยซู มีการสร้างเมืองเยรีโคใหม่ห่างจากเมืองเก่าไปทางใต้ประมาณ 2 กม. นี่อาจเป็นเหตุผลที่ ลก 18:35 พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า “พระเยซูเดินทางใกล้ถึงเมืองเยรีโค” อาจเป็นได้ว่าพระเยซูทำการอัศจรรย์ตอนที่กำลังออกจากเมืองเยรีโคเก่าของชาวยิวไปที่เมืองเยรีโคใหม่ของโรมัน หรืออาจเป็นการเดินทางจากเมืองใหม่ไปเมืองเก่าก็ได้—ดูภาคผนวก ข4 และ ข10
ผู้ชายตาบอด 2 คน: มาระโกกับลูกาพูดถึงผู้ชายตาบอดแค่คนเดียว ดูเหมือนว่าพวกเขาตั้งใจพูดถึงบาร์ทิเมอัสซึ่งมาระโกได้บันทึกชื่อของเขาไว้ (มก 10:46; ลก 18:35) ส่วนมัทธิวเน้นจำนวนคนตาบอดว่ามีกี่คน
ลูกหลานดาวิด: การที่ผู้ชายตาบอด 2 คนเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” แสดงว่าพวกเขายอมรับอย่างเปิดเผยว่าท่านเป็นเมสสิยาห์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 6; 15:25
สงสาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 9:36
วีดีโอและรูปภาพ
ตลาดบางแห่งตั้งอยู่ริมถนนเหมือนในรูปนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักจะเอาสินค้ามาวางริมถนนจนกีดขวางทางเดิน ชาวบ้านจะมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ ถ้วยชามดินเผา และเครื่องแก้วราคาแพง รวมทั้งของสดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น ผู้คนจึงต้องไปซื้ออาหารที่ตลาดทุกวัน คนที่มาซื้อของที่ตลาดจะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกพ่อค้าหรือคนที่มาจากเมืองอื่น เด็ก ๆ จะเล่นกันที่นั่น คนที่ตกงานก็จะมารอคนจ้าง พระเยซูเคยรักษาคนป่วยและเปาโลก็เคยประกาศที่ตลาด (กจ 17:17) แต่พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เย่อหยิ่งชอบเป็นจุดสนใจและให้คนมาทักทายในที่สาธารณะแบบนี้
แส้แบบที่ทำให้เจ็บปวดมากที่สุดเรียกว่า ฟลาเกลลุม แส้นี้ทำจากเชือกหรือหนังถักหลายเส้นและมีด้ามจับ มีการเอาเศษกระดูกหรือเศษโลหะมัดติดกับเส้นหนังเพื่อให้แส้หนักขึ้นและทำให้คนที่ถูกเฆี่ยนเจ็บปวดมากขึ้น