เขียนโดยมัทธิว 21:1-46
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เบธฟายี: ชื่อหมู่บ้านบนภูเขามะกอก มาจากคำฮีบรูที่อาจหมายความว่า “บ้านมะเดื่อต้นฤดู” เชื่อกันว่าหมู่บ้านนี้อยู่ระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับหมู่บ้านเบธานี และอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขามะกอกใกล้กับยอดเขา ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 1 กม.—มก 11:1; ลก 19:29; ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 6
ลาตัวหนึ่งกับลูกของมัน: เฉพาะบันทึกของมัทธิวเท่านั้นที่พูดถึงลาและลูกของมัน (มก 11:2-7; ลก 19:30-35; ยน 12:14, 15) ส่วนมาระโก ลูกา และยอห์นพูดถึงแต่ลูกลา นี่อาจเป็นเพราะพระเยซูนั่งบนลูกลา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:5
เกิดขึ้นตามที่พระเจ้าบอกไว้ผ่านผู้พยากรณ์: ส่วนแรกของ มธ 21:5 อาจยกมาจาก อสย 62:11 และส่วนหลังยกจาก ศคย 9:9—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:22
ชาวศิโยน: แปลตรงตัวว่า “ลูกสาวของศิโยน” ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะเปรียบเมืองเป็นเหมือนผู้หญิง และคำว่า “ลูกสาว” อาจหมายถึงเมืองหรือชาวเมืองก็ได้ มักมีการใช้ชื่อศิโยนเพื่อหมายถึงกรุงเยรูซาเล็ม
อ่อนโยน: หรือ “ถ่อมตัว”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:5
บนหลังลา . . . บนหลังลูกลา: ถึงแม้บันทึกใน มธ 21:2, 7 พูดถึงลา 2 ตัว แต่คำพยากรณ์ที่ ศคย 9:9 บอกว่ากษัตริย์นั่งบนหลังลาตัวเดียว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:2
ลากับลูกของมัน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:2, 5
นั่ง: หมายถึงนั่งบนเสื้อชั้นนอก
ขอให้ท่านอายุยืนยาว: แปลตรงตัวว่า “โฮซานนา” เป็นคำกรีกที่มาจากสำนวนฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “เราอธิษฐาน ขอช่วยให้รอด” หรือ “โปรดช่วยให้รอด” ผู้คนมักใช้คำนี้เพื่อขอการช่วยให้รอดหรือขอชัยชนะจากพระเจ้า ดังนั้น คำขอในข้อนี้จึงหมายถึงการขอพระเจ้าช่วยลูกหลานของดาวิดให้รอด ในเวลาต่อมามีการใช้สำนวนนี้ทั้งในการอธิษฐานและสรรเสริญพระเจ้า ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้สำนวนนี้ที่ สด 118:25 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเพลงฮัลเลลที่ร้องกันในช่วงเทศกาลปัสกา ผู้คนจึงคิดถึงสำนวนนี้ในช่วงเหตุการณ์นี้ด้วย วิธีหนึ่งที่พระเจ้าตอบคำขอนี้ก็คือการปลุกพระเยซูซึ่งเป็นลูกหลานดาวิดให้ฟื้นขึ้นจากตาย ในบันทึกที่ มธ 21:42 พระเยซูยกข้อความที่ สด 118:22, 23 ขึ้นมาและใช้หมายถึงตัวท่านที่เป็นเมสสิยาห์
ลูกหลานดาวิด: สำนวนนี้แสดงว่าผู้คนรู้ว่าพระเยซูเป็นลูกหลานของใคร และยอมรับบทบาทของท่านที่เป็นเมสสิยาห์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 6; 15:25; 20:30
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 118:25, 26 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
แตกตื่น: หรือ “ถูกเขย่า” ผู้คนในเมืองน่าจะแตกตื่นกันมากเพราะในข้อนี้ใช้คำกริยากรีกซึ่งปกติแล้วใช้เมื่อพูดถึงความปั่นป่วนที่เกิดจากแผ่นดินไหวหรือพายุ (มธ 27:51; วว 6:13) คำนามกรีกที่เกี่ยวข้องกันคือ เซ่สม็อส ก็แปลว่า “พายุ” หรือ “แผ่นดินไหว” ด้วย—มธ 8:24; 24:7; 27:54; 28:2
วิหาร: ดูเหมือนว่าหมายถึงส่วนของวิหารที่เรียกว่าลานสำหรับคนต่างชาติ—ดูภาคผนวก ข11
ไล่คนที่กำลังซื้อขาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 19:45
คนรับแลกเงิน: ในสมัยนั้นมีการใช้เหรียญหลายชนิด แต่ดูเหมือนมีเหรียญบางชนิดเท่านั้นที่ใช้สำหรับจ่ายภาษีบำรุงวิหารและซื้อสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชา ดังนั้น ชาวยิวซึ่งเดินทางมาที่กรุงเยรูซาเล็มจะต้องแลกเงินเพื่อเอาไปใช้ที่วิหาร พระเยซูคงรู้สึกว่าพวกคนรับแลกเงินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงมากจนเป็นเหมือนการขูดรีดประชาชน
ถ้ำโจร: พระเยซูยกข้อความจาก ยรม 7:11 ท่านเรียกพ่อค้าและคนรับแลกเงินว่า “โจร” อาจเพราะพวกเขาค้ากำไรเกินควรจากการขายสัตว์ที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาและคิดค่าธรรมเนียมแลกเงินสูงเกินไป นอกจากนั้น พระเยซูโกรธที่วิหารสำหรับการอธิษฐานหรือที่นมัสการพระยะโฮวาถูกใช้เป็นที่สำหรับค้าขาย
วิหาร: น่าจะหมายถึงลานสำหรับคนต่างชาติ (เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:12) มีแต่บันทึกของมัทธิวเท่านั้นที่บอกว่ามีคนตาบอดกับคนง่อยเข้ามาหาพระเยซูในวิหาร และท่านรักษาพวกเขาเหมือนที่ทำก่อนหน้านี้ (มธ 15:30) บางคนอ้างว่าตามธรรมเนียมของชาวยิวคนตาบอดกับคนง่อยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในบางส่วนของวิหาร แต่พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็ไม่ได้พูดถึงการห้ามแบบนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร บันทึกของมัทธิวก็ทำให้เห็นว่าช่วงสุดท้ายที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก ท่านไม่ได้กระตือรือร้นในการชำระวิหารเท่านั้น แต่ยังกระตือรือร้นในการรักษาคนตาบอดกับคนง่อยด้วย
ท่านผู้เป็นลูกหลานดาวิด ขอให้ท่านอายุยืนยาว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:9
เบธานี: หมู่บ้านบนไหล่เขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขามะกอกห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 3 กม. (ยน 11:18) บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัสอยู่ในหมู่บ้านนี้ ดูเหมือนว่าพระเยซูมักจะพักอยู่กับพวกเขาช่วงที่ท่านทำงานรับใช้ในแคว้นยูเดีย (ยน 11:1) ปัจจุบัน ที่นั่นมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของลาซารัส”
ไม่เห็นมีผลมะเดื่อ มีแต่ใบ: แม้ตอนนั้นไม่ใช่ฤดูออกผลมะเดื่อ แต่การที่ต้นนี้มีใบเยอะทำให้คิดว่าผลมะเดื่อรุ่นแรกออกมาแล้ว เมื่อพระเยซูเห็นแต่ใบไม่เห็นผลท่านก็รู้ว่ามะเดื่อต้นนี้เป็นมะเดื่อที่ไม่มีผล และใบของมันหลอกให้คนที่เห็นเข้าใจผิดว่ามีผลอยู่ด้วย พระเยซูจึงแช่งต้นมะเดื่อนี้ไม่ให้ออกผลอีกเลย และมันก็เหี่ยวแห้งตายไป
ปุโรหิตใหญ่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:4
ผู้นำ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
ลูกตอบว่า ‘ไม่ไป’: ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ (มธ 21:28-31) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับเรียงลำดับเรื่องที่พระเยซูเล่าเกี่ยวกับลูกชาย 2 คนไม่เหมือนกัน (ดูฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาไทยฉบับที่พิมพ์ก่อนหน้านี้) ถึงแม้แนวคิดของทั้ง 2 ฉบับจะเหมือนกัน แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่ามีการเรียงลำดับเหตุการณ์เหมือนในข้อนี้
คนเก็บภาษี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:46
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
หอคอย: ที่สูงที่ช่วยให้มองเห็นสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ปกป้องสวนองุ่นจากขโมยและสัตว์ได้—อสย 5:2
ให้คนมาเช่า: นี่เป็นเรื่องที่ชาวอิสราเอลทำกันเป็นปกติในสมัยศตวรรษแรก ในท้องเรื่องนี้เจ้าของสวนลงทุนเตรียมงานไว้เยอะแล้ว จึงยิ่งมีเหตุผลที่เขาจะคาดหมายส่วนแบ่งหรือผลตอบแทนจากคนเช่า
กำจัดคนเลวพวกนั้นให้สิ้นซาก: ในข้อความภาษากรีก คำว่า “เลว” และ “สิ้นซาก” มาจากรากศัพท์เดียวกัน ถ้าแปลข้อความนี้ตรงตัวจะแปลได้ว่า “ให้คนเลว พวกนั้นเจอหายนะที่เลวร้าย” มีการเล่นคำแบบนี้เพื่อเน้นความรุนแรงของคำพิพากษานี้
ในพระคัมภีร์: มักมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมดที่ได้รับการดลใจ
หินหัวมุมหลัก: หรือ “หินที่สำคัญที่สุด” คำฮีบรูที่ใช้ใน สด 118:22 และคำกรีกที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า “หัวมุม” ถึงแม้มีความเข้าใจที่แตกต่างกันหลายอย่าง แต่ดูเหมือนคำนี้หมายถึงหินก้อนบนสุดที่อยู่หัวมุมของอาคารตรงจุดที่กำแพง 2 ด้านมาบรรจบกัน เป็นหินก้อนสำคัญที่เชื่อมกำแพง 2 ด้านเข้าด้วยกัน พระเยซูยกคำพยากรณ์ข้อนี้มาใช้กับตัวท่านที่เป็น “หินหัวมุมหลัก” เหมือนกับหินก้อนบนสุดของอาคารที่เห็นได้ชัดเจน พระเยซูคริสต์ก็เป็นผู้นำที่โดดเด่นของประชาคมคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นเหมือนวิหารของพระเจ้า
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 118:22, 23 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
วีดีโอและรูปภาพ
วีดีโอนี้ช่วยให้เห็นเส้นทางเข้ากรุงเยรูซาเล็มจากทิศตะวันออก โดยเริ่มจากบริเวณที่ปัจจุบันคือหมู่บ้านเอ็ททูร์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เดียวกับหมู่บ้านเบธฟายีในสมัยพระคัมภีร์ไปจนถึงจุดที่สูงกว่าบนภูเขามะกอก ด้านตะวันออกของหมู่บ้านเบธฟายีคือหมู่บ้านเบธานี ซึ่งทั้งสองอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกของภูเขามะกอก ตอนที่พระเยซูกับสาวกไปที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขามักจะค้างคืนที่หมู่บ้านเบธานี ปัจจุบันที่นั่นมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อภาษาอาหรับว่า เอล อะซาริเยห์ (El ʽEizariya) ซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของลาซารัส” พระเยซูคงพักที่บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัส (มธ 21:17; มก 11:11; ลก 21:37; ยน 11:1) ตอนเดินทางจากบ้านนี้ไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านอาจใช้เส้นทางที่เห็นในวีดีโอ และตอนที่ท่านขี่ลูกลาข้ามภูเขามะกอกไปที่กรุงนี้ในวันที่ 9 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 ท่านคงใช้เส้นทางเดียวกันนี้จากหมู่บ้านเบธฟายีไปตามถนนที่เข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
1. ถนนจากเบธานีไปเบธฟายี
2. เบธฟายี
3. ภูเขามะกอก
4. หุบเขาขิดโรน
5. ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่
ลามีกีบเท้าแข็งและอยู่ในตระกูลเดียวกับม้า แต่ต่างกันตรงที่ลาจะตัวเล็กกว่า แผงคอสั้นกว่า หูยาวกว่า มีขนที่หางสั้นกว่าและมีขนเฉพาะตรงปลายหางเท่านั้น แม้จะมีคำเปรียบว่าลาเป็นสัตว์ที่โง่และดื้อ แต่จริง ๆ แล้วมันฉลาดกว่าม้าและเป็นสัตว์ที่อดทนมาก ผู้ชายและผู้หญิงชาวอิสราเอลและแม้แต่คนที่มีชื่อเสียงก็ขี่ลา (ยชว 15:18; วนฉ 5:10; 10:3, 4; 12:14; 1ซม 25:42) ตอนที่โซโลมอนลูกชายของดาวิดได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์เขาก็ขี่ล่อของดาวิด ล่อตัวเมียนี้เป็นลูกผสมระหว่างม้ากับลา (1พก 1:33-40) จึงเหมาะสมที่สุดที่พระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอนจะขี่ลูกลาไม่ใช่ม้า และนี่ทำให้คำพยากรณ์ที่ ศคย 9:9 เป็นจริง
ในอิสราเอลมีการเก็บองุ่นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนขึ้นอยู่กับพันธุ์ขององุ่นและสภาพอากาศในเขตนั้น ปกติแล้วจะมีการเอาองุ่นที่เก็บได้มาใส่ในบ่อหินปูนหรือรางที่เกิดจากการสกัดหินเป็นร่อง คนที่ย่ำองุ่นมักจะใช้เท้าเปล่าย่ำองุ่นและร้องเพลงไปด้วย—อสย 16:10; ยรม 25:30; 48:33
1. องุ่นที่เก็บมาใหม่ ๆ
2. บ่อย่ำองุ่น
3. ช่องระบายน้ำองุ่น
4. อ่างพักน้ำองุ่นที่อยู่ต่ำลงไป
5. ไหดินเหนียวใส่เหล้าองุ่น