เขียนโดยมัทธิว 5:1-48
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ขึ้นภูเขา: น่าจะเป็นภูเขาที่อยู่ใกล้เมืองคาเปอร์นาอุมและทะเลสาบกาลิลี ดูเหมือนพระเยซูจะเดินขึ้นไปบนจุดที่สูงกว่าคนอื่น และเริ่มสอนผู้คนที่อยู่ตรงที่ราบ—ลก 6:17, 20
ท่าน . . . นั่งลง: เป็นธรรมเนียมของครูสอนศาสนาชาวยิวที่จะนั่งลงเมื่อพวกเขาเริ่มสอนอย่างเป็นทางการ
พวกสาวก: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก มาเธเทส ซึ่งเป็นคำนามที่แปลว่า “สาวก” คำนี้หมายถึงผู้เรียนหรือคนที่ถูกสอน และแสดงถึงความรู้สึกผูกพันกับผู้สอน เป็นความผูกพันที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตของสาวก แม้มีคนกลุ่มใหญ่มาฟังพระเยซู แต่ดูเหมือนว่าหลัก ๆ แล้วท่านพูดเพื่อจะสอนพวกสาวกซึ่งนั่งใกล้ท่านมากที่สุด—มธ 7:28, 29; ลก 6:20
พระเยซูเริ่มสอน: แปลตรงตัวว่า “ท่านเปิดปากและเริ่มสอน” การแปลตรงตัวว่า “ท่านเปิดปาก” มาจากสำนวนภาษาเซมิติกที่หมายความว่าท่านเริ่มพูด (โยบ 33:2; ดนล 10:16) ที่ กจ 8:35 มีการแปลคำกรีกเดียวกันนี้ว่า “บอก” และที่ กจ 10:34 ก็มีการแปลว่า “เริ่มพูด”
คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า: คำกรีกที่แปลว่า “คนที่รู้ตัว” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “คนที่ยากจน (ขัดสน, ขาดแคลน, เป็นขอทาน)” ในท้องเรื่องนี้คำนี้ใช้กับคนที่จำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างและรู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้น ใน ลก 16:20, 22 มีการใช้คำเดียวกันนี้เมื่อพูดถึงลาซารัสที่เป็น “ขอทาน” คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับได้แปลข้อความนี้ว่า “คนที่ยากจนด้านจิตวิญญาณ” ซึ่งทำให้นึกถึงคนที่รู้ตัวว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 6:20
มีความสุข: คำกรีก มาคาริออส ที่ใช้ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความรู้สึกสบายใจ แต่เมื่อมีการใช้คำนี้กับมนุษย์ก็จะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนที่ได้รับพรและความโปรดปรานจากพระเจ้า นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระเจ้าและพูดถึงพระเยซูตอนที่ท่านได้รับสง่าราศีในสวรรค์—1ทธ 1:11; 6:15
เขา: หมายถึงสาวกของพระเยซู เพราะท่านกำลังพูดกับพวกเขาโดยเฉพาะ—มธ 5:1, 2
คนที่โศกเศร้า: คำกรีกที่แปลว่า “โศกเศร้า” (เพ็นเธะโอ) อาจหมายถึงความเศร้าเสียใจทั่วไปของมนุษย์ หรือความรู้สึกเจ็บปวดเพราะบาป ในท้องเรื่องนี้ “คนที่โศกเศร้า” ก็เหมือนกับ “คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า” ที่พูดถึงใน มธ 5:3 พวกเขาอาจโศกเศร้าเพราะไม่รู้จักพระเจ้า เพราะเป็นคนบาป หรือเพราะเจอความลำบากซึ่งเป็นผลจากบาปที่มนุษย์ทุกคนมี เปาโลใช้คำนี้ตอนที่เขาตำหนิพี่น้องในประชาคมโครินธ์ที่ไม่รู้สึกเศร้าใจเมื่อมีการทำผิดศีลธรรมร้ายแรงในประชาคม (1คร 5:2) ใน 2คร 12:21 เปาโลกลัวว่าจะรู้สึก “เศร้าใจ” เพราะบางคนในประชาคมโครินธ์ทำผิดแล้วไม่กลับใจ สาวกยากอบก็เคยกระตุ้นบางคนว่า “พวกคุณที่เป็นคนบาป ให้ชำระตัวคุณให้สะอาดจากการทำชั่ว และพวกคุณที่เป็นคนใจโลเล ให้ชำระใจของคุณให้บริสุทธิ์ ให้พวกคุณเศร้าโศกเสียใจ และร้องไห้” (ยก 4:8-10) คนที่เศร้าใจจริง ๆ เนื่องจากบาปจะได้รับการปลอบใจเมื่อรู้ว่าบาปของพวกเขาสามารถได้รับการอภัยถ้าแสดงความเชื่อในค่าไถ่ของพระคริสต์และแสดงการกลับใจอย่างแท้จริงโดยทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวา—ยน 3:16; 2คร 7:9, 10
จิตใจอ่อนโยน: คุณลักษณะภายในของคนที่เต็มใจทำตามความต้องการและการชี้นำของพระเจ้า และไม่พยายามควบคุมคนอื่น คำกรีกนี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนขี้ขลาดหรืออ่อนแอ ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำนี้แทนคำฮีบรูที่แปลได้ว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน” หรือ “ถ่อม” และใช้คำนี้เมื่อพูดถึงโมเสส (กดว 12:3) พูดถึงคนที่ยอมรับการสอน (สด 25:9) คนที่จะได้อยู่ในโลก (สด 37:11) และเมสสิยาห์ (ศคย 9:9; มธ 21:5) พระเยซูก็บอกว่าท่านเป็นคนอ่อนโยนหรืออ่อนน้อมถ่อมตน—มธ 11:29
ได้รับโลกเป็นรางวัล: ดูเหมือนพระเยซูอ้างถึง สด 37:11 ซึ่งบอกว่า “คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจะได้อยู่ในโลก” ทั้งคำฮีบรู (อีเรทส์ ) และคำกรีก (เก) ที่แปลว่า “โลก” อาจหมายถึงทั้งโลกหรือดินแดนบางส่วน เช่น แผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของคนที่จิตใจอ่อนโยน (มธ 11:29) ข้อคัมภีร์หลายข้อแสดงให้เห็นว่าเมื่อพระเยซูเป็นกษัตริย์ ท่านจะได้รับอำนาจให้ปกครองทั้งโลก ไม่ใช่แค่บางส่วนของโลก (สด 2:8; วว 11:15) และสาวกที่ถูกเจิมจะได้ปกครองโลกร่วมกับท่าน (วว 5:10) แต่สาวกที่จิตใจอ่อนโยนซึ่งจะเป็นประชาชนของท่านจะ “ได้รับโลกเป็นรางวัล” ในอีกความหมายหนึ่ง นั่นคือพวกเขาจะได้อยู่ในสวนอุทยานบนโลกภายใต้การปกครองของรัฐบาลพระเจ้า ไม่ใช่เป็นเจ้าของโลก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:34
คนที่กระหายอยากเห็นความยุติธรรม: คือคนที่อยากเห็นการทำตามมาตรฐานที่ถูกต้องชอบธรรมของพระเจ้าเข้ามาแทนที่การทุจริตกับความไม่ยุติธรรม และพวกเขาก็พยายามทำตามมาตรฐานเหล่านั้นด้วย
เมตตา: คำว่า “เมตตา” และ “ความเมตตา” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้หมายถึงการให้อภัยหรือการลดหย่อนผ่อนโทษเท่านั้น แต่คำนี้มักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจซึ่งกระตุ้นให้คนเราริเริ่มช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน
ใจบริสุทธิ์: ความสะอาดที่อยู่ข้างใน ซึ่งหมายถึงความสะอาดด้านศีลธรรมและสะอาดในสายตาพระเจ้า นี่เกี่ยวข้องกับความชอบ ความต้องการ และแรงกระตุ้นของคนเรา
เห็นพระเจ้า: ในข้อนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร เพราะ “ไม่มีมนุษย์คนไหนที่เห็น [พระเจ้า] แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้” (อพย 33:20) คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “เห็น” อาจหมายถึง “เห็นด้วยใจ, รับรู้, รู้จัก” ได้ด้วย ดังนั้น ผู้นมัสการพระยะโฮวาบนโลกสามารถ “เห็นพระเจ้า” โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งจนมีความเชื่อและเข้าใจบุคลิกลักษณะของพระองค์ และโดยสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำเพื่อพวกเขา (อฟ 1:18; ฮบ 11:27) ตอนที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีชีวิตบนสวรรค์ พวกเขาจะได้เห็นพระยะโฮวา “อย่างที่พระองค์เป็นจริง ๆ”—1ยน 3:2
คนที่สร้างสันติ: คำกรีก เอ่เรนอพอยอ็อส มาจากคำกริยากรีกที่แปลว่า “ทำให้เกิดสันติสุข” ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ใช่แค่รักษาสันติสุขเท่านั้น แต่ถ้าที่ไหนไม่มีสันติสุข เขาก็จะทำให้เกิดสันติสุขด้วย
เกลือ: แร่ธาตุที่ใช้เพื่อถนอมอาหารและเพิ่มรสชาติ ดูเหมือนว่าในท้องเรื่องนี้พระเยซูกำลังเน้นคุณสมบัติของเกลือในการถนอมอาหารไม่ให้เน่าเสีย เพราะสาวกของท่านสามารถช่วยคนอื่นไม่ให้เสื่อมเสียด้านศีลธรรมและในด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า
ไม่เค็มแล้ว: ในสมัยพระเยซูมักมีการใช้เกลือที่มาจากทะเลเดดซีซึ่งมีแร่ธาตุอื่นปนอยู่ด้วย ถ้าส่วนประกอบที่ทำให้เค็มถูกเอาออกไป เกลือก็จะไม่มีรสชาติและเหลือแต่ส่วนที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขา: พระเยซูไม่ได้พูดถึงเมืองใดเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ ในสมัยพระเยซูเมืองหลายเมืองตั้งอยู่บนภูเขา ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อทำให้ยากที่จะถูกโจมตี เมืองเหล่านั้นจะมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบทำให้เห็นได้จากระยะไกลและซ่อนจากสายตาคนไม่ได้ แม้แต่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มักจะทาบ้านด้วยน้ำปูนขาวก็เห็นได้จากระยะไกลเหมือนกัน
ตะเกียง: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ตะเกียงทั่วไปที่ใช้ในบ้านจะมีขนาดเล็ก ทำจากดินเผาและใส่น้ำมันมะกอกไว้ข้างใน
ถัง: เป็นเครื่องตวงของแห้ง เช่น เมล็ดข้าว และ “ถัง” (คำกรีก มอดิออส) แบบที่พูดถึงในข้อนี้มีความจุประมาณ 9 ลิตร
พ่อ: เป็นครั้งแรกในมากกว่า 160 ครั้งที่พระเยซูเรียกพระยะโฮวาพระเจ้าว่า “พ่อ” ในหนังสือข่าวดี และการที่พระเยซูใช้คำนี้แสดงให้เห็นว่าคนที่ฟังท่านรู้อยู่แล้วว่าพระเยซูกำลังพูดถึงพระเจ้า เพราะมีการใช้คำนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ฉธบ 32:6; สด 89:26; อสย 63:16) ผู้รับใช้พระเจ้าในยุคแรก ๆ เรียกพระยะโฮวาด้วยตำแหน่งที่สูงส่งหลายตำแหน่ง เช่น “ผู้มีพลังอำนาจสูงสุด” “พระเจ้าองค์สูงสุด” และ “ผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่” แต่พระเยซูชอบใช้คำว่า “พ่อ” ซึ่งเป็นคำง่าย ๆ ที่คนทั่วไปใช้กันเพื่อเน้นว่าพระเจ้าใกล้ชิดและสนิทกับคนที่นมัสการพระองค์—ปฐก 28:3; ฉธบ 32:8; ปญจ 12:1
กฎหมายของโมเสส . . . คำสอนของพวกผู้พยากรณ์: คำว่า “กฎหมายของโมเสส” หมายถึงหนังสือในคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่ปฐมกาลจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ และ “คำสอนของพวกผู้พยากรณ์” หมายถึงหนังสือต่าง ๆ ของผู้พยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่เมื่อมีการใช้สองคำนี้ด้วยกันก็อาจหมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด—มธ 7:12; 22:40; ลก 16:16
แน่นอน: คำกรีก อาเมน ทับศัพท์มาจากคำฮีบรู อาเมน หมายถึง “ขอให้เป็นอย่างนั้น” หรือ “แน่นอน” พระเยซูใช้คำนี้บ่อย ๆ เพื่อเน้นว่าคำพูด คำสัญญา หรือคำพยากรณ์เป็นความจริงและเชื่อถือได้ นักวิชาการบางคนบอกว่าในคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือทางศาสนาอื่น ๆ ไม่มีการใช้คำว่า “แน่นอน” หรืออาเมนแบบเดียวกับที่พระเยซูใช้
ฟ้ากับดินจะหายไปก็ยังง่ายกว่า: เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริงที่หมายความว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” พระคัมภีร์บอกให้รู้ว่าท้องฟ้าและโลกจะอยู่ตลอดไป—สด 78:69; 119:90
ตัวหนังสือเล็กที่สุด: ตัวหนังสือที่เล็กที่สุดของภาษาฮีบรูในสมัยนั้นคือ โยด (י)
ขีดสักขีดหนึ่งของตัวหนังสือ: ตัวหนังสือฮีบรูบางตัวจะมีขีดเล็ก ๆ ซึ่งช่วยให้เห็นว่าต่างจากตัวหนังสืออีกตัวหนึ่ง ในข้อนี้พระเยซูใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงเพื่อเน้นว่าคำของพระเจ้าจะเป็นจริงแม้แต่ในรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุด
คุณเคยได้ยิน . . . ว่า: คำพูดนี้อาจหมายถึงสิ่งที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ได้รับการดลใจ หรือคำสอนตามธรรมเนียมของชาวยิวก็ได้—มธ 5:27, 33, 38, 43
ถูกศาลตัดสิน: หมายถึงถูกตัดสินโดยศาลท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ทั่วอิสราเอล (มธ 10:17; มก 13:9) ศาลเหล่านี้มีอำนาจตัดสินคดีฆาตกรรม—ฉธบ 16:18; 19:12; 21:1, 2
โกรธ . . . ไม่หาย: พระเยซูแสดงให้เห็นว่าการโกรธแบบนี้เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังซึ่งอาจทำให้ลงมือฆ่าคนได้จริง ๆ (1ยน 3:15) ในที่สุดคนแบบนี้อาจถูกพระเจ้าตัดสินว่าเป็นฆาตกร
เรียก . . . แบบดูถูกเหยียดหยาม: ข้อความนี้มาจากคำกรีก ราคา (อาจมาจากภาษาฮีบรูและอาราเมอิก) ซึ่งแปลว่า “ว่างเปล่า” หรือ “สมองกลวง” คนที่เรียกเพื่อนผู้นมัสการด้วยคำพูดที่หยาบคายแบบนี้ไม่เพียงสะสมความเกลียดชังไว้ในใจเท่านั้น แต่ยังระบายความรู้สึกนั้นออกมาด้วยคำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามด้วย
ศาลสูง: หมายถึงศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นคณะผู้พิพากษาที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ศาลนี้ประกอบด้วยมหาปุโรหิต และพวกผู้นำกับครูสอนศาสนา 70 คน สำหรับชาวยิวคำตัดสินของศาลนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”
แกมันโง่จริง ๆ: มาจากคำกรีกที่ออกเสียงคล้ายกับคำฮีบรูซึ่งมีความหมายว่า “กบฏ” หรือ “ขัดขืน” คำนี้ใช้หมายถึงคนชั่วที่ไม่มีศีลธรรมและคนทรยศพระเจ้า การเรียกคนอื่นแบบนี้เท่ากับบอกว่าเขาสมควรได้รับโทษเหมือนคนที่กบฏต่อพระเจ้า คือถูกทำลายตลอดไป
เกเฮนนา: คำนี้มาจากคำฮีบรู เกฮินโนม ซึ่งหมายความว่า “หุบเขาฮินโนม” หุบเขานี้อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็ม (ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”) ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้คำว่า “เกเฮนนา” เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ของถวายมาที่แท่นบูชา: พระเยซูไม่ได้บอกว่าของถวายนี้เป็นเครื่องบูชาแบบไหนและทำไมถึงเอามาถวาย ของถวายนี้อาจหมายถึงเครื่องบูชาอะไรก็ได้ที่ชาวยิวนำไปถวายที่วิหารของพระยะโฮวาตามที่กฎหมายของโมเสสกำหนดไว้ ส่วนแท่นบูชาหมายถึงแท่นถวายเครื่องบูชาเผาซึ่งอยู่ในลานสำหรับปุโรหิตในเขตวิหาร ชาวอิสราเอลโดยทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในลานนี้ แต่พวกเขาจะยื่นของถวายให้กับปุโรหิตตรงทางเข้า
คน: แปลตรงตัวว่า “พี่น้อง” ในบางท้องเรื่องคำกรีก อาเด็ลฟอส (พี่น้อง) อาจหมายถึงคนในครอบครัว แต่ในข้อนี้หมายถึงคนที่มีความเชื่อเดียวกันซึ่งก็คือเพื่อนผู้นมัสการพระเจ้าเพราะท้องเรื่องกำลังพูดถึงการนมัสการที่วิหารของพระยะโฮวาในสมัยของพระเยซู ส่วนในท้องเรื่องอื่น คำนี้ยังใช้ในความหมายกว้าง ๆ ที่หมายถึงเพื่อนมนุษย์ได้ด้วย
วางของถวายไว้ . . . และไป: ในฉากเหตุการณ์ที่พระเยซูพูดถึง คนที่มาถวายเครื่องบูชากำลังจะยื่นของถวายให้ปุโรหิตอยู่แล้ว แต่เขาต้องไปเคลียร์ปัญหากับพี่น้องก่อน ดังนั้น เพื่อพระเจ้าจะยอมรับเครื่องบูชาที่เขาถวาย เขาต้องออกไปตามหาพี่น้องที่โกรธเขาอยู่ พี่น้องคนนั้นอาจอยู่ในกลุ่มคนนับล้านที่เดินทางมาร่วมเทศกาลประจำปีในกรุงเยรูซาเล็มเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนมักจะเอาของถวายมาที่วิหาร—ฉธบ 16:16
คืนดี: คำกรีกนี้หมายความว่า “เปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นเพื่อน, กลับมาดีกันเหมือนเดิม, ฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับเป็นปกติและปรองดองกัน” ดังนั้น เป้าหมายคือพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะเอาความรู้สึกที่ไม่ดีออกจากใจของคนที่โกรธเรา (รม 12:18) สิ่งที่พระเยซูต้องการจะบอกคือ เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นก่อน ถึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าได้
ทุกบาททุกสตางค์: แปลตรงตัวว่า “เหรียญโคดรันเทสสุดท้าย” ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1/64 ของ 1 เดนาริอัน และ 1 เดนาริอันมีค่าเท่ากับค่าแรง 1 วัน—ดูภาคผนวก ข14
คุณเคยได้ยิน . . . ว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:21
เล่นชู้: ข้อความนี้ยกมาจาก อพย 20:14 และ ฉธบ 5:18 ซึ่งมีการใช้คำกริยาฮีบรู นาอับห์ และในข้อนี้ใช้คำกริยากรีก มอยฆือโอ เพื่อแปลคำฮีบรูนั้น ในคัมภีร์ไบเบิลการเล่นชู้หมายถึงการ “ทำผิดศีลธรรมทางเพศ” ระหว่างคนที่แต่งงานแล้วกับคนที่ไม่ใช่คู่ของเขาโดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมพร้อมใจ (เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:32 ซึ่งอธิบายคำว่า “ผิดศีลธรรมทางเพศ” ที่แปลมาจากคำกรีก พอร์เน่อา) ในสมัยที่กฎหมายของโมเสสมีผลบังคับใช้ การมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาหรือคู่หมั้นของผู้ชายคนอื่นถือเป็นการเล่นชู้
ทำให้คุณหลงทำผิด: แปลตรงตัวว่า “ทำให้คุณสะดุด” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก สคานดาลิโศ หมายถึงการสะดุดในความหมายเป็นนัย ซึ่งอาจรวมถึงการหลงทำผิดหรือการเป็นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดก็ได้ ในท้องเรื่องนี้ คำนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ทำให้คุณทำผิด, เป็นหลุมพรางดักคุณ” เมื่อมีการใช้คำนี้ในคัมภีร์ไบเบิล การทำผิดจึงอาจหมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรม การสูญเสียความเชื่อ หรือการยอมรับคำสอนเท็จ คำกรีกนี้ยังมีความหมายว่า “ไม่พอใจ” ได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:57; 18:7
เกเฮนนา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:22 และส่วนอธิบายศัพท์
หนังสือหย่า: กฎหมายของโมเสสไม่สนับสนุนการหย่า แต่หนังสือหย่าจะช่วยไม่ให้คู่สมรสรีบร้อนหย่าขาดจากกันและช่วยปกป้องฝ่ายภรรยา (ฉธบ 24:1) ดูเหมือนว่าสามีที่อยากทำหนังสือหย่าต้องไปปรึกษาผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ และคนเหล่านั้นอาจจะพยายามสนับสนุนให้ทั้งสองคืนดีกัน
ผู้ชายที่หย่ากับภรรยา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:12
ผิดศีลธรรมทางเพศ: คำกรีก พอร์เน่อา เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผิด ซึ่งรวมถึงการเล่นชู้ การเป็นโสเภณี การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เป็นต้นเหตุให้เธอมีชู้: หมายถึงทำให้เธอเสี่ยงที่จะมีชู้ ภรรยาไม่ได้กลายเป็นผู้หญิงมีชู้เพียงเพราะสามีหย่าจากเธอ แต่ถ้าสามีหย่าภรรยาเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การทำผิดศีลธรรมทางเพศ (คำกรีก พอร์เน่อา) ก็มีความเสี่ยงที่ภรรยาจะเล่นชู้หากเธอไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายอื่น ตามมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิล ภรรยาไม่มีอิสระที่จะแต่งงานใหม่เว้นแต่มีบางอย่างเกิดขึ้นกับสามีที่หย่าจากเธอ เช่น สามีตายหรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น สำหรับคริสเตียน มาตรฐานเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับผู้ชายที่ภรรยาขอหย่าเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การทำผิดศีลธรรมทางเพศด้วย
ผู้หญิงที่หย่าแบบนี้: หมายถึงผู้หญิงที่หย่าเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การ “ทำผิดศีลธรรมทางเพศ” (คำกรีก พอร์เน่อา; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า ผิดศีลธรรมทางเพศในข้อนี้) คำพูดของพระเยซูใน มก 10:12 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานเดียวกันนี้ใช้ได้กับทั้งสามีและภรรยาที่ต้องการหย่า พระเยซูสอนชัดเจนว่าถ้ามีการหย่ากันเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การทำผิดศีลธรรมทางเพศ ฝ่ายที่แต่งงานใหม่จะถือว่ามีชู้ และคนโสดที่แต่งงานกับคนที่หย่าแบบนี้ก็มีความผิดฐานเป็นชู้—มธ 19:9; ลก 16:18; รม 7:2, 3
คุณเคยได้ยิน . . . ว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:21
พระยะโฮวา: แม้คำสั่งที่พระเยซูพูดถึงในข้อนี้ไม่ได้ยกมาจากข้อใดข้อหนึ่งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโดยตรง แต่ดูเหมือนมาจากข้อคัมภีร์หลายข้อ เช่น ลนต 19:12, กดว 30:2 และ ฉธบ 23:21 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูข้อเหล่านั้นมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
อย่าสาบานเลย: ในข้อนี้พระเยซูไม่ได้ห้ามการสาบานทุกชนิด กฎหมายที่พระเจ้าให้กับโมเสสยังมีผลบังคับใช้ในตอนนั้น และกฎหมายนั้นก็อนุญาตให้มีการสาบานหรือปฏิญาณในบางเรื่องที่สำคัญ (กดว 30:2; กท 4:4) แต่ในข้อนี้ พระเยซูตำหนิคนที่สาบานเล่น ๆ หรือสาบานพร่ำเพรื่อ ซึ่งทำให้การสาบานหมดความศักดิ์สิทธิ์
โดยอ้างสวรรค์: เพื่อจะให้คำพูดของตัวเองมีน้ำหนัก หลายคนสาบานโดย “อ้างสวรรค์” “อ้างโลก” “อ้างเยรูซาเล็ม” หรือถึงกับสาบานโดย “เอาหัว [ชีวิต] ของตัวเองเป็นประกัน” (มธ 5:35, 36) แต่ชาวยิวในสมัยนั้นก็ยังถกเถียงกันว่าการสาบานโดยอ้างสิ่งที่พระเจ้าสร้างแทนที่จะอ้างชื่อพระเจ้าเป็นคำสาบานที่ศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ ไหม และดูเหมือนบางคนรู้สึกว่าสามารถถอนคำสาบานแบบนั้นได้โดยไม่มีความผิด
มหากษัตริย์: หมายถึงพระยะโฮวาพระเจ้า—มลค 1:14
พูดมากกว่านี้ก็มาจากซาตานตัวชั่วร้าย: ถ้าใครรู้สึกว่าการพูดแค่ “ใช่” หรือพูดว่า “ไม่” ยังไม่พอ แต่ต้องยืนยันคำพูดตัวเองโดยสาบานอยู่เรื่อย ๆ เขาก็ทำตัวไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งแสดงว่าเขามีนิสัยเหมือนซาตาน “พ่อของการโกหก”—ยน 8:44
คุณเคยได้ยิน . . . ว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:21
ตาแทนตา ฟันแทนฟัน: ในสมัยพระเยซู คำพูดนี้มาจากกฎหมายของโมเสส (อพย 21:24; ลนต 24:20) มีการใช้คำพูดนี้อย่างผิด ๆ เพื่อยอมให้มีการแก้แค้นได้ด้วยตัวเอง แต่ที่ถูกก็คือกฎหมายนี้จะใช้ได้เฉพาะตอนที่คดีไปถึงศาล ซึ่งตอนนั้นผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องตัดสินให้คนที่ทำผิดได้รับโทษสมกับความผิดของเขา—ฉธบ 19:15-21
ตบแก้มขวาของคุณ: คำว่า “ตบ” ในท้องเรื่องนี้แปลมาจากคำกริยากรีก ราพิโศ เป็นการทำเพื่อยั่วโมโหหรือเยาะเย้ยมากกว่าเพื่อจะทำร้าย คำพูดของพระเยซูหมายความว่าสาวกของท่านควรเต็มใจทนกับการดูถูกเยาะเย้ยโดยไม่ตอบโต้
เอาเสื้อตัวนอกให้เขาไปด้วย: ผู้ชายชาวยิวมักจะสวมเสื้อ 2 ตัว เสื้อตัวใน (คำกรีก ฆิโทน เป็นเสื้อแขนยาวหรือแขนสั้น ตัวเสื้อยาวถึงเข่าหรือข้อเท้า มักใส่เป็นชุดข้างใน) และเสื้อตัวนอก (คำกรีก ฮิมาทิออน เป็นเสื้อคลุมยาวหลวม ๆ หรืออาจเป็นแค่ผ้าสี่เหลี่ยมคลุมตัว) เสื้อสามารถใช้เป็นของค้ำประกันว่าจะจ่ายหนี้ (โยบ 22:6) พระเยซูกำลังบอกว่าเพื่อจะมีสันติสุขกับคนอื่น สาวกควรเต็มใจสละไม่ใช่แค่เสื้อตัวในเท่านั้น แต่รวมถึงเสื้อตัวนอกที่มีราคาแพงกว่าด้วย
เกณฑ์คุณให้ไป: หมายถึงการเกณฑ์ผู้คนให้ทำงานตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่โรมัน ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจบังคับคนหรือสัตว์ให้ทำงาน หรือเกณฑ์ไปทำอะไรบางอย่างเพื่อโครงการของรัฐจะสำเร็จ ซีโมนชาวไซรีนก็ถูกเกณฑ์แบบนั้นด้วย ทหารโรมัน “สั่ง” เขาให้แบกเสาทรมานของพระเยซู—มธ 27:32
กิโลเมตร: แปลตรงตัวว่า “ไมล์” อาจเป็นไมล์ของโรมัน ซึ่งมีระยะทาง 1,479.5 เมตร—ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข14
ยืม: หมายถึงการยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย กฎหมายของโมเสสห้ามไม่ให้ชาวอิสราเอลคิดดอกเบี้ยเมื่อให้เพื่อนร่วมชาติที่ยากจนยืมเงิน (อพย 22:25) และกฎหมายนี้ยังสนับสนุนให้พวกเขาให้คนยากจนยืมอย่างใจกว้าง (ฉธบ 15:7, 8)
คุณเคยได้ยิน . . . ว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:21
ให้รักเพื่อนบ้าน: กฎหมายของโมเสสสั่งให้ชาวอิสราเอลรักเพื่อนบ้าน (ลนต 19:18) แม้คำว่า “เพื่อนบ้าน” ในข้อนี้หมายถึงเพื่อนมนุษย์ แต่ชาวยิวบางคนทำให้คำนี้มีความหมายที่แคบลงคือหมายถึงแค่เพื่อนร่วมชาติชาวยิว โดยเฉพาะคนที่ทำตามกฎหมายสืบปาก ส่วนคนอื่น ๆ จะถูกมองว่าเป็นศัตรู
เกลียดชังศัตรู: ไม่มีกฎหมายข้อไหนของโมเสสสั่งให้ทำอย่างนั้น รับบีชาวยิวบางคนเชื่อว่าคำสั่งที่ให้รักเพื่อนบ้านหมายความว่าพวกเขาควรเกลียดชังศัตรู
รักศัตรูของคุณ: คำแนะนำของพระเยซูในข้อนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—อพย 23:4, 5; โยบ 31:29; สภษ 24:17, 18; 25:21
คนเก็บภาษี: ชาวยิวหลายคนเก็บภาษีให้รัฐบาลโรมัน ผู้คนเลยเกลียดชาวยิวที่ทำงานนี้เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงให้ความร่วมมือกับชาติมหาอำนาจที่พวกเขาเกลียดเท่านั้น แต่ยังเก็บภาษีเกินกำหนดด้วย คนเก็บภาษีถูกเพื่อนร่วมชาติชาวยิวรังเกียจ และถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับคนบาปและโสเภณี—มธ 11:19; 21:32
ทักทาย: การทักทายคนอื่นหมายรวมถึงการอวยพรพวกเขาให้อยู่ดีมีสุขและเจริญรุ่งเรือง
เพื่อน: แปลตรงตัวว่า “พี่น้อง” หมายถึงชาวอิสราเอลทั้งชาติ พวกเขาเป็นพี่น้องเพราะสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันคือยาโคบ และพวกเขายังนมัสการพระเจ้าองค์เดียวกันคือพระยะโฮวาด้วย—อพย 2:11; สด 133:1
คนที่ไม่รู้จักพระเจ้า: หมายถึงคนที่ไม่ใช่ชาวยิวซึ่งไม่นับถือพระเจ้า ชาวยิวมองว่าคนเหล่านั้นไม่มีพระเจ้า ไม่สะอาด และไม่ควรไปยุ่งด้วย
ดีพร้อม: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึง “ครบถ้วน” “โตเต็มที่” หรืออาจหมายถึง “ไม่มีที่ติ” ตามมาตรฐานที่ผู้มีอำนาจตั้งไว้ พระยะโฮวาเท่านั้นที่ดีพร้อมในความหมายที่ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อมีการใช้คำนี้กับมนุษย์จึงหมายถึงความดีพร้อมในระดับหนึ่ง คำว่า “ดีพร้อม” ในท้องเรื่องนี้หมายถึงการที่คริสเตียนรักพระยะโฮวาพระเจ้าและรักคนอื่นอย่างเต็มที่ สิ่งนี้เป็นไปได้ถึงแม้เขาจะเป็นคนบาป
วีดีโอและรูปภาพ
1. ที่ราบเยนเนซาเรท เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดประมาณ 5 x 2.5 กม. ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นที่ที่พระเยซูชวนชาวประมง 4 คน คือ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์นให้มารับใช้ด้วยกันกับท่าน—มธ 4:18-22
2. บริเวณที่เชื่อกันว่าพระเยซูบรรยายบนภูเขา—มธ 5:1; ลก 6:17, 20
3. คาเปอร์นาอุม พระเยซูพักอยู่ในเมืองนี้ และท่านเจอมัทธิวในเมืองนี้หรือใกล้กับเมืองนี้—มธ 4:13; 9:1, 9
ทุกวันนี้น้ำในทะเลเดดซี (ทะเลเกลือ) เค็มกว่าน้ำในมหาสมุทรทั่วไปในโลกประมาณ 9 เท่า (ปฐก 14:3) ชาวอิสราเอลได้เกลือจำนวนมากจากการระเหยของน้ำในทะเลเดดซี แต่เกลือเหล่านี้มีคุณภาพไม่ดีเพราะมีแร่ธาตุอื่น ๆ ปะปนอยู่ นอกจากนั้น ชาวอิสราเอลยังอาจได้เกลือมาจากชาวฟีนิเซีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเกลือที่ได้จากการระเหยของน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการใช้เกลือเพื่อปรุงอาหาร (โยบ 6:6) พระเยซูชำนาญในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ท่านจึงใช้เกลือเพื่อสอนเรื่องสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ในคำบรรยายบนภูเขา พระเยซูบอกสาวกว่า “คุณเป็นเหมือนเกลือในโลกนี้” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะช่วยคนอื่นไม่ให้เสื่อมเสียด้านศีลธรรมและในด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า
ตะเกียงทั่วไปที่ใช้ในบ้านหรือในอาคารต่าง ๆ ทำจากดินเผาและใส่น้ำมันมะกอกไว้ข้างใน ไส้ตะเกียงที่ทำจากป่านจะดูดน้ำมันขึ้นมาหล่อเลี้ยงเปลวไฟ ตะเกียงมักตั้งอยู่บนเชิงตะเกียงที่ทำจากดินเหนียว ไม้ หรือโลหะเพื่อให้แสงสว่างภายในบ้าน บางครั้งอาจวางตะเกียงไว้บนชั้น หรือในช่องบนผนัง หรือแขวนลงมาจากเพดาน
นี่คือภาพเชิงตะเกียงในบ้าน (หมายเลข 1) ที่วาดโดยมีต้นแบบจากเชิงตะเกียงโบราณจากศตวรรษแรกที่พบในเมืองเอเฟซัส (ประเทศตุรกี) และประเทศอิตาลี ดูเหมือนว่านี่เป็นเชิงตะเกียงแบบที่ใช้กันในบ้านของคนรวย ในบ้านที่จนกว่าจะแขวนตะเกียงลงมาจากเพดานหรือวางไว้ในช่องที่ผนัง (หมายเลข 2) หรือไม่ก็วางไว้บนเชิงตะเกียงที่ทำจากดินหรือไม้
หุบเขาฮินโนม ภาษากรีกเรียกว่า เกเฮนนา เป็นหุบเขาแคบ ๆ อยู่ทางใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเยรูซาเล็มสมัยโบราณ ในสมัยพระเยซู หุบเขานี้เป็นที่เผาขยะ จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของการทำลายอย่างสิ้นเชิง
หุบเขาฮินโนม (หมายเลข 1) ซึ่งพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเรียกว่าเกเฮนนา ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่ (หมายเลข 2) วิหารของชาวยิวในศตวรรษแรกเคยตั้งอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้สิ่งก่อสร้างที่เด่นที่สุดบนภูเขาที่วิหารตั้งอยู่คือศาสนสถานของศาสนาอิสลามที่เรียกว่า โดม ออฟ เดอะ ร็อก—ดูแผนที่ในภาคผนวก ข12
นี่คือหนังสือหย่าที่มีอายุราว ๆ ปี ค.ศ. 71 หรือ 72 ซึ่งเขียนในภาษาอาราเมอิก มีการพบหนังสือหย่านี้ทางเหนือของวาดี มูราบาต ซึ่งเป็นลำธารที่แห้งขอดในทะเลทรายยูเดีย ในหนังสือนี้มีข้อความว่า ในปีที่ 6 หลังจากชาวยิวกบฏ โยเซฟลูกของนัคซาน ได้หย่ามิเรียมลูกสาวของโยนาธานซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองมาซาดา