เขียนโดยมัทธิว 6:1-34
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ช่วยเหลือคนจน: หรือ “ให้ทาน” คำกรีก เอะเละเอมอซูเน ที่มักจะแปลว่า “ทาน” เกี่ยวข้องกับคำกรีกที่แปลว่า “ความเมตตา” และ “แสดงความเมตตา” คำนี้หมายถึงเงินหรืออาหารที่ให้อย่างใจกว้างเพื่อช่วยเหลือคนยากจน
คนทำดีเอาหน้า: คำกรีก ฮูพอคริเทส แต่เดิมหมายถึงนักแสดงละครเวทีชาวกรีก (และต่อมาก็ชาวโรมัน) ซึ่งใส่หน้ากากขนาดใหญ่เพื่อให้เสียงของเขาดังขึ้น ในภายหลังมีการใช้คำนี้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงคนที่ปิดบังตัวตนหรือเจตนาที่แท้จริงของตัวเองโดยการหลอกลวงและเสแสร้ง พระเยซูจึงเรียกพวกผู้นำศาสนาชาวยิวว่า “คนทำดีเอาหน้า” หรือ “คนเสแสร้ง”—มธ 6:5, 16
โฆษณา: แปลตรงตัวว่า “เป่าแตร” การทำอย่างนี้เป็นการเรียกร้องความสนใจ ในข้อนี้ไม่ได้พูดถึงการเป่าแตรจริง ๆ แต่หมายความว่าคนเราไม่ควรป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองกำลังทำดีอะไร
พวกเขาได้รางวัลแค่นั้นแหละ: แปลตรงตัวว่า “พวกเขาได้รางวัลของตัวเองครบแล้ว” คำกรีก อาพเอะโฆ ในข้อนี้มีความหมายว่า “ได้อย่างครบถ้วน” มักมีคำนี้อยู่ในใบเสร็จรับเงินเพื่อแสดงว่า “จ่ายเงินครบจำนวนแล้ว” คนที่ทำดีเอาหน้าชอบให้ทานเพื่อให้คนอื่นเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีคนเห็นสิ่งที่เขาทำและยกย่องเขาว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน แต่นั่นคือรางวัลทั้งหมดที่เขาได้รับ พวกเขาไม่ควรคาดหมายว่าจะได้อะไรจากพระเจ้า
อย่าให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไร: เป็นการเปรียบเทียบที่หมายถึงการเก็บเป็นความลับสุดยอด สาวกของพระเยซูต้องไม่โฆษณาเกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่เขาทำแม้แต่กับเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด เหมือนที่มือซ้ายอยู่ใกล้มือขวาแต่มือซ้ายก็ไม่รู้ว่ามือขวาทำอะไร
อย่าพูดซ้ำซาก: หรือ “อย่าพูดเรื่อยเปื่อย, อย่าพูดซ้ำไปซ้ำมาแบบไม่มีความหมาย” พระเยซูกำลังเตือนสาวกว่าอย่าอธิษฐานโดยไม่คิด ท่านไม่ได้หมายความว่าผิดที่จะขอเรื่องเดิมซ้ำหลายครั้ง (มธ 26:36-45) แต่เป็นเรื่องผิดที่จะอธิษฐานซ้ำ ๆ เหมือนคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า (คือคนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิว) คนเหล่านั้นชอบท่องจำคำอธิษฐานและพูดแบบ “ซ้ำซาก” โดยไม่คิด
คุณ: การที่พระเยซูใช้คำนี้เป็นการแยกคนที่ฟังท่านออกจากพวกคนเสแสร้งที่พูดถึงก่อนหน้านั้น—มธ 6:5
แบบนี้: คือต่างจากคนส่วนใหญ่ที่ชอบอธิษฐานแบบ “ซ้ำซาก”—มธ 6:7
พ่อของพวกเรา: การอธิษฐานโดยใช้สรรพนามพหูพจน์ “พวกเรา” เป็นการยอมรับว่าคนอื่นก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้นมัสการพระองค์เหมือนกัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:16
ชื่อ: ชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว יהוה (ยฮวฮ) ซึ่งในภาษาไทยคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักชื่อนี้ว่า “ยะโฮวา” ฉบับแปลโลกใหม่ มีชื่อนี้ 6,979 ครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และ 237 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับชื่อของพระเจ้าในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ดูภาคผนวก ก5 ในคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งคำว่า “ชื่อ” ยังหมายถึงตัวคนที่เป็นเจ้าของชื่อ ชื่อเสียงของเขา และทุกสิ่งที่เขาเปิดเผยเกี่ยวกับตัวเองด้วย—เทียบกับ อพย 34:5, 6; สภษ 22:1
เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ: หรือ “ศักดิ์สิทธิ์ในสายตาของทุกคน, ถือว่าบริสุทธิ์” นี่เป็นการอธิษฐานขอให้ทุกสิ่งที่พระเจ้าสร้างทั้งมนุษย์และทูตสวรรค์ยกย่องชื่อของพระเจ้าว่าบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นการขอให้พระเจ้าทำให้ตัวพระองค์เป็นที่เคารพนับถือ ทำให้ชื่อของพระองค์พ้นจากคำตำหนิที่มีมาตั้งแต่การกบฏของมนุษย์คู่แรกในสวนเอเดน
ขอให้รัฐบาลของพระองค์มาปกครอง: รัฐบาลของพระเจ้าเป็นวิธีที่พระยะโฮวาแสดงอำนาจปกครองสูงสุดของพระองค์บนโลกนี้ การอธิษฐานแบบนี้เป็นการขอให้พระเจ้าลงมือจัดการขั้นเด็ดขาดโดยทำให้รัฐบาลของพระองค์เป็นรัฐบาลเดียวที่ปกครองโลก รัฐบาลนี้มีเมสสิยาห์เป็นกษัตริย์และมีผู้ร่วมปกครองกับท่าน ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูที่ ลก 19:11-27 ยืนยันว่ารัฐบาลของพระเจ้าจะ “มา” ในแง่ที่ว่า มาพิพากษา มาทำลายศัตรูทั้งหมด และมาให้รางวัลคนที่รอคอยรัฐบาลนี้ (ดู มธ 24:42, 44) รัฐบาลของพระเจ้าจะทำลายยุคที่ชั่วช้านี้ ทำลายรัฐบาลทั้งหมดของมนุษย์ และทำให้โลกนี้กลายเป็นโลกใหม่ที่มีแต่ความถูกต้องชอบธรรม—ดนล 2:44; 2ปต 3:13; วว 16:14-16; 19:11-21
ขอให้ทุกอย่าง . . . เป็นอย่างที่พระองค์อยากให้เป็น: การอธิษฐานขอแบบนี้ไม่ได้เน้นว่ามนุษย์เป็นผู้ทำให้คำขอนี้เป็นจริง แต่เป็นการขอให้พระเจ้าลงมือทำบางอย่างเพื่อให้ความประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อโลกและมนุษย์เกิดขึ้นจริง และเป็นการขอให้พระเจ้าใช้พลังอำนาจเพื่อให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่พระองค์อยากให้เป็น คนที่อธิษฐานแบบนี้แสดงว่าเขาชอบและยอมรับทุกอย่างที่เป็นความประสงค์ของพระเจ้า (เทียบกับ มธ 26:39) ในท้องเรื่องนี้ สำนวนที่ว่าบนโลกและบนสวรรค์อาจมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างนี้ คือขอให้ความประสงค์ของพระเจ้าเป็นจริงบนโลกเหมือนที่เป็นจริงแล้วบนสวรรค์ หรือขอให้ความประสงค์ของพระเจ้าเป็นจริงอย่างครบถ้วนทั้งบนโลกและบนสวรรค์
อาหารกินในวันนี้: ในหลายท้องเรื่อง คำฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “ขนมปัง” หมายถึง “อาหาร” (ปญจ 10:19, เชิงอรรถ) พระเยซูกำลังบอกว่าคนที่รับใช้พระเจ้าสามารถอธิษฐานขอด้วยความมั่นใจว่าพระเจ้าจะดูแลให้พวกเขามีอาหารพอกินสำหรับแต่ละวัน แต่ไม่ได้มีอย่างเหลือเฟือ คำขอนี้ทำให้นึกถึงคำสั่งที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอลว่าให้แต่ละคนเก็บมานาได้ “ตามจำนวนที่เขาจะกินในวันนั้น”—อพย 16:4
ยกโทษ: คำกรีกนี้แปลตรงตัวว่า “ปล่อยไป” แต่ก็อาจมีความหมายว่า “ยกหนี้ให้” เหมือนที่ใช้ใน มธ 18:27, 32
โทษ: แปลตรงตัวว่า “หนี้” หมายถึงความผิด ถ้ามีการทำผิดต่อคนอื่น คนที่ทำผิดก็เหมือนมีหนี้หรือมีพันธะที่ต้องชดใช้และต้องขอให้คนนั้นยกโทษให้ พระเจ้าจะยกโทษให้เราก็ต่อเมื่อเรายกโทษให้คนที่ทำผิดต่อเรา—มธ 6:14, 15; 18:35; ลก 11:4
ขอ . . . ช่วยให้เอาชนะการล่อใจ: แปลตรงตัวว่า “ขออย่าพาเราไปเจอการล่อใจ” บางครั้งคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้าทำให้บางอย่างเกิดขึ้นในความหมายที่ว่าพระองค์ยอมให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น (นรธ 1:20, 21) ดังนั้น ในข้อนี้พระเยซูไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าล่อใจมนุษย์ให้ทำผิด (ยก 1:13) แต่พระเยซูกำลังสอนสาวกให้อธิษฐานขอพระเจ้าช่วยไม่ให้ถูกล่อใจหรือช่วยให้อดทนได้เมื่อถูกล่อใจ—1คร 10:13
ทำผิด: คำกรีกที่แปลว่า “ทำผิด” อาจหมายถึง “ก้าวผิดทาง” (กท 6:1) หรือทำผิดพลาด ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ชีวิตสอดคล้องกับข้อเรียกร้องที่ถูกต้องชอบธรรมของพระเจ้า
อดอาหาร: หมายถึงงดเว้นจากการกินอาหารช่วงหนึ่ง (ดูส่วนอธิบายศัพท์) พระเยซูไม่เคยสั่งพวกสาวกให้ถือศีลอดอาหาร และท่านก็ไม่เคยห้ามพวกเขาทำตามธรรมเนียมนั้นด้วย ตามกฎหมายของโมเสสชาวยิวที่มีแรงกระตุ้นที่ถูกต้องจะถ่อมตัวลงขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาและแสดงการกลับใจโดยการถือศีลอดอาหาร—1ซม 7:6; 2พศ 20:3
คนพวกนั้นปล่อยให้หน้าโทรม: หรือ “คนพวกนั้นทำให้หน้าตาดูไม่ได้ (ทำให้คนจำไม่ได้)” พวกเขาอาจทำอย่างนั้นโดยไม่ล้างหน้า ไม่ตัดแต่งผมหรือหนวดเครา และเอาขี้เถ้ามาใส่บนหัว
ล้างหน้าและเอาน้ำมันใส่ผม: ปกติแล้วคนที่ถือศีลอดอาหารจะไม่ตัดแต่งผมหรือหนวดเครา ดังนั้น ที่พระเยซูบอกอย่างนี้จึงหมายความว่าสาวกของท่านต้องไม่โอ้อวดว่าตัวเองสามารถละเว้นจากความต้องการทุกอย่าง
ตาเป็นเหมือนแสงสว่างสำหรับร่างกาย: ตาที่ทำงานปกติเป็นเหมือนตะเกียงที่ให้แสงสว่างในที่มืด ตาช่วยให้เราเห็นและรู้ว่ามีอะไรอยู่รอบตัว คำว่า “ตา” ในข้อนี้มีความหมายเป็นนัย—อฟ 1:18
มองที่สิ่งเดียว: หรือ “เห็นชัด, มีสุขภาพดี” ความหมายหลักของคำกรีก ฮาพลู่ส คือ “หนึ่งเดียว, เรียบง่าย” คำนี้เกี่ยวข้องกับการมีจิตใจที่มุ่งไปทางเดียวหรือทุ่มเทให้กับเป้าหมายเพียงอย่างเดียว เมื่อตาจริง ๆ ทำงานปกติมันจะสามารถจ้องมองที่สิ่งเดียว ตาที่ปกติในความหมายเป็นนัยก็จะมองสิ่งที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว (มธ 6:33) คนที่มีตาแบบนั้นจะส่งผลดีกับบุคลิกลักษณะทั้งหมดของเขา
อิจฉา: แปลตรงตัวว่า “ไม่ดี, ชั่ว” ตาที่สุขภาพไม่ดีจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจน คล้ายกัน ตาที่มองคนอื่นด้วยความอิจฉาจะไม่สามารถมองไปที่สิ่งสำคัญจริง ๆ ได้ (มธ 6:33) คนที่มีตาแบบนี้จะโลภ ไม่รู้จักพอ ไม่จดจ่อ เป็นคนเจ้าเล่ห์ ไม่สามารถประเมินสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่ตัว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:22
เป็นทาส: คำกริยากรีกนี้หมายถึงการทำงานเหมือนทาส ปกติแล้วทาสจะมีเจ้านายแค่คนเดียว ดังนั้น ในข้อนี้พระเยซูกำลังบอกว่า คริสเตียนไม่สามารถนมัสการพระเจ้าผู้เดียวอย่างที่พระองค์สมควรได้รับและในเวลาเดียวกันก็อุทิศชีวิตให้กับการหาทรัพย์สมบัติไปด้วย
ทรัพย์สมบัติ: คำกรีก มาโมนาส (มาจากรากศัพท์ภาษาเซมิติก) อาจแปลได้ว่า “เงิน” คำว่า “ทรัพย์สมบัติ” ในข้อนี้เปรียบเป็นเหมือนนายหรือพระเท็จ แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการใช้คำกรีกนี้เป็นชื่อของเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
เลิกกังวล: คำกริยากรีกนี้อยู่ในรูปของคำสั่งให้เลิกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ คำกรีกที่แปลว่า “กังวล” อาจหมายถึงความหนักใจที่ทำให้จิตใจคนเราแบ่งแยก ไขว้เขว และไม่มีความสุข มีการใช้คำเดียวกันนี้ที่ มธ 6:27, 28, 31, 34
ชีวิต . . . ชีวิต: คำว่า “ชีวิต” ในข้อนี้มาจากคำกรีก พะซูเฆ พระเยซูใช้ทั้งคำว่าชีวิตและร่างกายเพื่อหมายถึงตัวคนคนหนึ่ง
ต่อชีวิต: ดูเหมือนพระเยซูกำลังเปรียบชีวิตเหมือนการเดินทาง ท่านเน้นว่าความกังวลไม่ได้ช่วยให้คนเรามีชีวิตยืนยาวขึ้นแม้แต่นิดเดียว
นิดหนึ่ง: แปลตรงตัวว่า “ศอกหนึ่ง” พระเยซูใช้คำที่หมายถึงมาตราวัดที่ยาวประมาณ 44.5 ซม.—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ศอก” และภาคผนวก ข14
ดู . . . สิ: คำกริยากรีกในข้อนี้อาจแปลได้อีกอย่างว่า “เรียนให้ดี (อย่างละเอียด)”
ดอกไม้ในทุ่ง: บางคนคิดว่าเป็นดอกไม้ในตระกูลแอนนีโมนี แต่ก็อาจหมายถึงดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ที่คล้ายดอกลิลลี่ เช่น ทิวลิป ไอริส ไฮยาซินธ์ และแกลดิโอลัส ส่วนบางคนเชื่อว่าดอกไม้ที่พระเยซูพูดถึงคือดอกไม้ป่าหลายชนิดที่ขึ้นอยู่แถวนั้น จึงมีการแปลคำนี้ว่า “ดอกไม้ในทุ่ง”
ดอกไม้ใบหญ้า . . . ถูกเผา: ในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดในอิสราเอล ดอกไม้ใบหญ้าอาจจะเหี่ยวแห้งได้ในเวลาแค่ 2 วัน จะมีการรวบรวมดอกไม้ใบหญ้าแห้ง ๆ จากท้องทุ่งมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาอบ
พวกคุณมีความเชื่อน้อยจริง ๆ: พระเยซูกำลังบอกว่าสาวกของท่านมีความเชื่อไม่เข้มแข็งและไม่วางใจพระเจ้ามากพอ (มธ 8:26; 14:31; 16:8; ลก 12:28) คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกสาวกไม่มีความเชื่อเลย แต่พวกเขามีความเชื่อไม่มากพอ
ทำให้ . . . เป็นสิ่งสำคัญ: คำกริยากรีกในข้อนี้แสดงถึงการกระทำอย่างต่อเนื่องและอาจแปลได้ว่า “ทำให้เป็นสิ่งสำคัญต่อ ๆ ไป” สาวกแท้ของพระเยซูจะไม่ทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญแค่ระยะหนึ่งแล้วก็หันไปสนใจอย่างอื่น แต่พวกเขาต้องให้เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเสมอ
ความถูกต้องชอบธรรม: คนที่ให้ความถูกต้องชอบธรรมของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตพร้อมจะทำตามความต้องการของพระองค์ และใช้ชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์ในเรื่องสิ่งที่ถูกและผิด คำสอนนี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำสอนของพวกฟาริสีที่ชอบตั้งมาตรฐานเรื่องความถูกต้องชอบธรรมของตัวเอง—มธ 5:20
ไม่ต้องกังวลถึงวันพรุ่งนี้: พระคัมภีร์สนับสนุนให้เรารู้จักวางแผนอย่างเหมาะสม (สภษ 21:5) แต่การกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่อาจ เกิดขึ้นในอนาคตสามารถส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ที่คนเรามีต่อพระเจ้า ทำให้เขาพึ่งสติปัญญาของตัวเองแทนที่จะพึ่งพระเจ้า—สภษ 3:5, 6
วีดีโอและรูปภาพ
นี่เป็นแบบจำลองซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจากที่ประชุมของชาวยิวสมัยศตวรรษแรกที่พบในเมืองกัมลา ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นภาพว่าที่ประชุมของชาวยิวในสมัยโบราณน่าจะมีลักษณะอย่างไร
พระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “ดูดอกไม้ในทุ่งสิ มันงอกงามขึ้นได้อย่างไร” คำภาษาเดิมที่มักแปลว่า “ดอกไม้” ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ จริง ๆ แล้วอาจหมายถึงดอกไม้หลายชนิด เช่น ทิวลิป แอนนีโมนี ไฮยาซินธ์ ไอริส และแกลดิโอลัส ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าดอกไม้ที่พระเยซูพูดถึงคือดอกไม้ในตระกูลแอนนีโมนี แต่จริง ๆ แล้วท่านอาจหมายถึงดอกไม้ทั่วไปที่คล้ายดอกลิลลี่ ภาพนี้คือดอกไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลแอนนีโมนีที่มีสีแดงเข้ม (Anemone coronaria) ดอกไม้ชนิดนี้พบได้ทั่วไปในอิสราเอลและอาจมีสีฟ้า ชมพู ม่วง หรือสีขาวด้วย