เขียนโดยมาระโก 6:1-56
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
บ้านเดิมของท่าน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:54
ช่างไม้: ผู้คนรู้จักพระเยซูว่าเป็นทั้ง “ช่างไม้” และ “ลูกช่างไม้” นี่ช่วยเราให้รู้ว่าชีวิตของท่านเป็นอย่างไรตั้งแต่ตอนอายุ 12 ที่ไปวิหารจนถึงก่อนเริ่มงานรับใช้บนโลก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55) บันทึกของมัทธิวและมาระโกมีข้อมูลที่เสริมกัน
ลูกชายมารีย์: นี่เป็นครั้งเดียวที่พระคัมภีร์เรียกพระเยซูอย่างนี้ เนื่องจากตอนนั้นไม่มีการพูดถึงโยเซฟจึงอาจเป็นไปได้ว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับการที่พระเยซูขอให้ยอห์นดูแลมารีย์แม่ของท่านหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว—ยน 19:26, 27
พี่ชาย: คำกรีก อาเด็ลฟอส ในคัมภีร์ไบเบิลอาจหมายถึงพี่น้องร่วมความเชื่อ แต่ในข้อนี้กำลังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับพวกน้องชายต่างพ่อซึ่งเป็นลูกของโยเซฟกับมารีย์ บางคนที่เชื่อว่ามารีย์ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ต่อไปหลังจากให้กำเนิดพระเยซูอ้างว่า คำกรีก อาเด็ลฟอส ในที่นี้หมายถึงลูกพี่ลูกน้อง แต่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกพี่ลูกน้อง” (คือ อาเน็พซิออส ที่ คส 4:10) และใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกชายของน้องสาวเปาโล” (กจ 23:16) ที่ ลก 21:16 ก็ใช้คำกรีกในรูปพหูพจน์ 2 คำ คือ ซูงเกะเน่อา (แปลว่า “ญาติ”) และ อาเด็ลฟอส (แปลว่า “พี่น้อง”) ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะใช้คำที่เฉพาะเจาะจง
ยากอบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55
ยูดาส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55
ไม่ทำการอัศจรรย์ที่นั่น: พระเยซูไม่ได้ทำการอัศจรรย์ในเมืองนาซาเร็ธมากนัก ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอำนาจ แต่เป็นเพราะสภาพการณ์ในเมืองนั้นไม่เหมาะสม คนในเมืองนาซาเร็ธขาดความเชื่อ (มธ 13:58) พลังของพระเจ้าไม่ควรถูกใช้ไปเปล่า ๆ กับพวกคนช่างสงสัยที่ไม่ตอบรับความจริง—เทียบกับ มธ 10:14; ลก 16:29-31
แปลกใจมากที่พวกเขาขาดความเชื่อ: มาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่บอกว่าพระเยซูรู้สึกแปลกใจมากที่ไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้คนใน “ถิ่นเดิมของตัวเอง” (มธ 13:57, 58; ดู “บทนำของหนังสือมาระโก” ด้วย) คำกริยากรีกที่แปลว่า “แปลกใจมาก” หรือ “ประหลาดใจ” ส่วนใหญ่แล้วใช้เมื่อพูดถึงความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อการอัศจรรย์และการสอนของพระเยซู (มก 5:20; 15:5) แต่มี 2 เหตุการณ์ที่ใช้คำกรีกนี้เมื่อพูดถึงปฏิกิริยาของพระเยซู คือ ตอนที่ท่านรู้สึกแปลกใจที่นายร้อยคนหนึ่งแสดงความเชื่อมากจริง ๆ (มธ 8:10; ลก 7:9) และในข้อนี้ที่พระเยซูแปลกใจและผิดหวังเพราะชาวนาซาเร็ธขาดความเชื่อ
ไปสอนตามหมู่บ้านรอบ ๆ บริเวณนั้น: นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางประกาศรอบที่ 3 ของพระเยซูในแคว้นกาลิลี (มธ 9:35; ลก 9:1) คำกรีกที่แปลว่า “รอบ ๆ” ในข้อนี้แปลตรงตัวว่า “เป็นวงกลม” นี่อาจหมายความว่าพระเยซูเดินทางประกาศทั่วพื้นที่ในเขตนั้น และบางคนบอกว่าท่านอาจวนกลับมาที่จุดเริ่มต้น การสอนเป็นส่วนสำคัญของงานรับใช้ของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23
อยู่ที่นั่นจนกว่าจะจากเมืองนั้นไป: พระเยซูกำลังสอนสาวกว่าเมื่อพวกเขาไปเมืองไหน พวกเขาต้องพักอยู่ในบ้านที่ให้การต้อนรับและไม่ “ย้ายไปบ้านอื่น” (ลก 10:1-7) การที่พวกสาวกไม่ย้ายไปบ้านที่สะดวกสบาย น่าอยู่กว่า หรือให้ความบันเทิงได้มากกว่าเป็นการแสดงว่าพวกเขาให้งานประกาศสำคัญกว่าเรื่องพวกนี้
สะบัดฝุ่นออกจากเท้า: เป็นท่าทางที่แสดงว่าพวกสาวกจะไม่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมาตอนที่พระเจ้ามาพิพากษา มีสำนวนคล้าย ๆ กันนี้อยู่ที่ มธ 10:14 และ ลก 9:5 แต่บันทึกที่มาระโกและลูกามีข้อความเพิ่มเติมว่าเพื่อให้เขารู้ว่าคุณเตือนเขาแล้ว เปาโลกับบาร์นาบัสก็ทำตามคำแนะนำนี้ของพระเยซูตอนที่พวกเขาอยู่ในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย (กจ 13:51) ตอนที่เปาโลอยู่ในเมืองโครินธ์ เขาก็ทำคล้าย ๆ กันโดยสะบัดเสื้อและพูดด้วยว่า “พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน ผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว” (กจ 18:6) พวกสาวกน่าจะคุ้นเคยกับท่าทางแบบนี้อยู่แล้ว เพราะเวลาคนยิวที่เคร่งเดินทางผ่านเขตแดนของคนต่างชาติ พวกเขามักจะสะบัดฝุ่นผงที่คิดว่าไม่สะอาดออกจากรองเท้าก่อนจะกลับเข้าเขตแดนของชาวยิว แต่เห็นได้ว่าพระเยซูไม่ได้คิดถึงความหมายนี้ตอนที่ให้คำแนะนำกับสาวก
เอาน้ำมันทาคนป่วย: นี่ไม่ใช่การรักษาโรคจริง ๆ แม้จะเชื่อกันว่าน้ำมันอาจมีคุณสมบัติในการรักษา (เทียบกับ ลก 10:34) แต่ที่คนป่วยหายโรคได้เป็นเพราะการอัศจรรย์ที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า ไม่ใช่เพราะน้ำมัน—ลก 9:1, 6
กษัตริย์เฮโรด: คือเฮโรดอันทีพาสลูกของเฮโรดมหาราช (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เฮโรด”) มัทธิวและลูกาเรียกอันทีพาสด้วยตำแหน่งโรมันอย่างเป็นทางการว่า “ผู้ปกครองแคว้น” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1; ลก 3:1) เฮโรดอันทีพาสเป็นผู้ปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรีย แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกเขาว่า “กษัตริย์” มัทธิวก็เคยเรียกเขาแบบนี้ครั้งหนึ่ง (มธ 14:9) แต่มาระโกเรียกเฮโรดว่ากษัตริย์ตลอดบันทึกของเขา—มก 6:22, 25-27
ผู้คนพูดกันว่า: แปลตรงตัวว่า “พวกเขาพูดว่า” สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับอ่านว่า “เขาพูดว่า” ซึ่ง “เขา” ในที่นี้หมายถึงเฮโรด
ผู้ให้บัพติศมา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:4
จับตัวยอห์นมาขังไว้ในคุก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:3
เฮโรเดียสที่เคยเป็นภรรยาฟีลิปพี่ชายของเขา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:3
รู้ว่ายอห์นเป็นคนดีและเลื่อมใสพระเจ้า: เฮโรดอันทีพาสฟังยอห์นสอนและคอยปกป้องเขาเพราะรู้ว่ายอห์นเป็นคนดีและเลื่อมใสพระเจ้า ถึงแม้เฮโรดจะเกรงยอห์นอยู่ แต่เขายอมถูกใช้เป็นเครื่องมือฆ่ายอห์นเพราะเขากลัวว่าแขกที่มาจะไม่นับถือและเพราะเขาขาดความเชื่อ โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวพูดถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมาว่าเป็น “คนดี”
วันเกิด: ดูเหมือนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วังของเฮโรดอันทีพาสในเมืองทิเบเรียสซึ่งอยู่ทางตะวันตกของทะเลสาบกาลิลี เหตุผลหนึ่งที่สรุปอย่างนี้ก็เพราะมาระโกบันทึกว่ามีคนสำคัญ ๆ ในแคว้นกาลิลีมาร่วมงานนี้ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:3, 6) คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงงานฉลองวันเกิดแค่ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งคือในข้อนี้ซึ่งเป็นตอนที่ยอห์นถูกตัดหัว และอีกครั้งหนึ่งคืองานวันเกิดของฟาโรห์แห่งอียิปต์ซึ่งมีการประหารหัวหน้าพนักงานทำขนมปังของเขา (ปฐก 40:18-22) ทั้งสองเหตุการณ์คล้ายกันตรงที่มีการเลี้ยงใหญ่และมีการประหารชีวิตบางคน
นายทหารชั้นผู้ใหญ่: คำกรีก ฆิลีอาร์ฆอส (ผู้บังคับกองพัน) แปลตรงตัวว่า “ผู้ปกครองคน 1,000 คน” ซึ่งหมายถึงทหาร 1,000 นาย คำกรีกนี้เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารโรมัน ทหารโรมัน 1 กองพันมี 6 หน่วย แต่ทหาร 1 กองพันไม่ได้มีผู้บัญชาการ 6 คนปกครองพร้อม ๆ กัน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้บัญชาการของแต่ละหน่วยจะผลัดเปลี่ยนกันปกครองทหารทั้งกองพันเป็นเวลา 1 ใน 6 ของปี ผู้บัญชาการหน่วยหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่แบบนี้มีอำนาจมาก รวมทั้งมีสิทธิ์จะแต่งตั้งและมอบหมายงานให้กับนายร้อย คำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงนายทหารระดับสูงทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เมื่อเฮโรดอยู่ต่อหน้านายทหารชั้นผู้ใหญ่แบบนั้น เขาเลยต้องทำตามที่ตัวเองสาบานไว้โดยสั่งตัดหัวยอห์นผู้ให้บัพติศมา
ลูกสาวของเฮโรเดียส: คือ ลูกสาวของเฮโรดฟีลิปและเป็นลูกคนเดียวของเฮโรเดียสซึ่งเป็นแม่ ถึงแม้พระคัมภีร์จะไม่ได้บอกว่าลูกสาวของเฮโรเดียสชื่อสะโลเม แต่ก็มีชื่อนี้อยู่ในข้อเขียนของโยเซฟุส ต่อมาเฮโรดอันทีพาสก็แต่งงานกับเฮโรเดียสแม่ของสะโลเม ซึ่งแสดงว่าเขาเป็นชู้กับภรรยาฟีลิปพี่ชายต่างแม่ของตัวเอง
ผู้ให้บัพติศมา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:4
สาบาน: แปลตรงตัวว่า “ให้คำสาบาน” คำว่า “คำสาบาน” ในข้อนี้อยู่ในรูปพหูพจน์ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าเฮโรดเน้นหรือยืนยันคำสัญญาของเขากับลูกสาวของเฮโรเดียส (มก 6:23) โดยสาบานหลายครั้ง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:9
องครักษ์: มาจากคำกรีก สเพะคู่ลาโทร ซึ่งเป็นคำที่ยืมมาจากคำละติน (speculator) คำนี้อาจหมายถึง องค์รักษ์ ผู้ส่งข่าว และบางครั้งก็หมายถึงเพชฌฆาต ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกยังมีคำกรีกอีกประมาณ 30 คำที่มาจากคำละติน ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวกับการทหาร การพิจารณาคดี เงิน และเรื่องทั่วไปในบ้าน มีการใช้คำละตินมากที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิวและมาระโก ที่จริง มาระโกใช้คำละตินมากกว่าผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ จึงทำให้เชื่อได้ว่ามาระโกเขียนหนังสือข่าวดีของเขาในกรุงโรมและเขียนเพื่อคนต่างชาติโดยเฉพาะชาวโรมัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 19:20
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
รู้สึกสงสาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 9:36
หาอะไรให้เขากิน: นี่เป็นการอัศจรรย์อย่างเดียวของพระเยซูที่มีบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม—มธ 14:15-21; มก 6:35-44; ลก 9:10-17; ยน 6:1-13
เดนาริอัน: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เดนาริอัน” และภาคผนวก ข14
หักขนมปัง: ขนมปังในสมัยนั้นมักเป็นก้อนแบน ๆ ที่อบจนแข็ง จึงเป็นเรื่องปกติที่จะหักขนมปังก่อนกิน—มธ 14:19; 15:36; 26:26; มก 8:6; ลก 9:16
ตะกร้า: อาจเป็นตะกร้าสานใบเล็กที่มีหูทำจากเชือกไว้หิ้วหรือสะพายไปได้เวลาเดินทาง เชื่อกันว่าตะกร้าแบบนี้จุได้ประมาณ 7.5 ลิตร—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 8:19, 20
5,000 คน: นี่เป็นการอัศจรรย์อย่างเดียวของพระเยซูที่มีบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม (มธ 14:15-21; มก 6:35-44; ลก 9:10-17; ยน 6:1-13) เฉพาะมัทธิวเท่านั้นที่พูดถึงการอัศจรรย์ครั้งนี้ว่ามีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย เป็นไปได้ว่าจำนวนคนทั้งหมดที่พระเยซูเลี้ยงอาหารโดยการอัศจรรย์มีมากกว่า 15,000 คน
ทำเหมือนจะ: หรือ “กำลังจะ” อาจหมายความว่าจากมุมมองของพวกสาวก พระเยซูทำเหมือนกับว่าจะเดินผ่านพวกเขาไป
ยาม 4: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:25
พวกเขายังไม่เข้าใจความหมายของการอัศจรรย์เกี่ยวกับขนมปัง: ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ สาวกเพิ่งเห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์โดยให้ขนมปังมีเพิ่มมากขึ้น เหตุการณ์นั้นทำให้เห็นชัดเจนว่าพระเยซูได้รับพลังบริสุทธิ์และมีอำนาจมาก แต่พวกสาวกก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการอัศจรรย์นั้น ตอนที่เห็นท่านเดินบนน้ำและทำให้พายุสงบลง พวกเขายังประหลาดใจมากและถึงกับพูดว่า “นั่นอะไรน่ะ!” ซึ่งแสดงว่าพวกเขาคิดว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นแค่ภาพลวงตา—มก 6:49
เยนเนซาเรท: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:34
วีดีโอและรูปภาพ
ชาวฮีบรูโบราณนิยมใช้ไม้เท้า ไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น พยุงตัว (อพย 12:11; ศคย 8:4; ฮบ 11:21) ป้องกันอันตราย (2ซม 23:21) นวดข้าว (อสย 28:27) ตีกิ่งมะกอก (ฉธบ 24:20; อสย 24:13) และอื่น ๆ อีกมากมาย ย่ามใส่อาหารเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ที่มักทำจากหนัง ซึ่งคนเดินทาง คนเลี้ยงแกะ ชาวนาชาวไร่ และคนอื่น ๆ ชอบใช้กัน ย่ามนี้ใช้ใส่อาหาร เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ตอนที่พระเยซูส่งอัครสาวกออกไปเดินทางประกาศ ท่านก็พูดเรื่องไม้เท้าและย่ามใส่อาหารด้วย ท่านสั่งให้พวกอัครสาวกเอาไปแต่ไม้เท้าและย่ามที่มีอยู่เท่านั้น พวกเขาไม่ต้องกังวลและไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปเผื่อ เพราะพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขา
คัมภีร์ไบเบิลใช้หลายคำเมื่อพูดถึงตะกร้า เช่น เมื่อพูดถึงตะกร้า 12 ใบที่ใช้เก็บเศษอาหารที่เหลือตอนที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน มีการใช้คำกรีกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าสานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อพูดถึงตะกร้า 7 ใบที่ใส่เศษอาหารหลังจากที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 4,000 คน ก็มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่ง (มก 8:8, 9) ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าขนาดใหญ่ ตะกร้าที่ศิษย์ของเปาโลให้เขานั่งแล้วหย่อนลงทางช่องหน้าต่างบนกำแพงเมืองดามัสกัสก็มาจากคำกรีกเดียวกันนี้—กจ 9:25
ตลาดบางแห่งตั้งอยู่ริมถนนเหมือนในรูปนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักจะเอาสินค้ามาวางริมถนนจนกีดขวางทางเดิน ชาวบ้านจะมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ ถ้วยชามดินเผา และเครื่องแก้วราคาแพง รวมทั้งของสดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น ผู้คนจึงต้องไปซื้ออาหารที่ตลาดทุกวัน คนที่มาซื้อของที่ตลาดจะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกพ่อค้าหรือคนที่มาจากเมืองอื่น เด็ก ๆ จะเล่นกันที่นั่น คนที่ตกงานก็จะมารอคนจ้าง พระเยซูเคยรักษาคนป่วยและเปาโลก็เคยประกาศที่ตลาด (กจ 17:17) แต่พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เย่อหยิ่งชอบเป็นจุดสนใจและให้คนมาทักทายในที่สาธารณะแบบนี้