เขียนโดยยอห์น 1:1-51
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ยอห์น: ตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ผู้เขียนหนังสือข่าวดีนี้ไม่ได้บอกว่าเขาชื่ออะไร แต่พอถึงศตวรรษที่ 2 หรือ 3 คนทั่วไปก็เชื่อกันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงชื่อยอห์นในหนังสือข่าวดีนี้ก็จะหมายถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา ยกเว้นสองที่คือใน ยน 1:42 และ 21:15-17 ซึ่งพระเยซูพูดถึงยอห์นที่เป็นพ่อของเปโตร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ 1:42 และ 21:15) ถึงแม้ไม่มีการพูดถึงชื่อของอัครสาวกยอห์น แต่มีการพูดถึงเขาและยากอบพี่น้องของเขาว่าเป็น ‘ลูกของเศเบดี’ (ยน 21:2; มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:6) ในตอนท้าย ๆ ของหนังสือข่าวดีนี้ ผู้เขียนพูดถึงตัวเองว่าเป็น “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 21:20-24) และมีเหตุผลหลายอย่างที่จะสรุปว่าคำพูดนี้หมายถึงอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
ข่าวดีที่เขียนโดยยอห์น: ไม่มีผู้เขียนคนไหนบอกว่าตัวเขาเป็นคนเขียนและดูเหมือนว่าไม่มีชื่อหนังสืออยู่ในข้อความต้นฉบับ ในบางสำเนาของหนังสือข่าวดีของยอห์นใช้ชื่อหนังสือว่า อืออางเกะลิออน คาธา อิโออานเนน (“ข่าวดี [หรือ “กิตติคุณ”] ที่เขียนโดยยอห์น”) แต่ในบางสำเนาก็ใช้ชื่อแบบสั้นว่า คาธา อิโออานเนน (“เขียนโดยยอห์น”) ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าชื่อหนังสือถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อไรหรือเริ่มใช้ตอนไหน บางคนคิดว่าน่าจะประมาณศตวรรษที่ 2 เพราะมีการพบชื่อหนังสือแบบยาวในสำเนาของหนังสือข่าวดีที่ทำขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3 นักวิชาการบางคนบอกว่า การที่หนังสือเหล่านั้นถูกเรียกว่ากิตติคุณ (แปลตรงตัวว่า “ข่าวดี”) อาจเป็นเพราะมีคำนี้อยู่ในข้อความแรกของหนังสือมาระโก (“ต่อไปนี้คือตอนเริ่มต้นของข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นลูกของพระเจ้า”) นอกจากนั้น อาจมีการใช้ชื่อหนังสือที่ระบุชื่อคนเขียนด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ชัดว่าใครเป็นคนเขียน
ตอนเริ่มต้น: ความหมายของคำว่า “ตอนเริ่มต้น” ในพระคัมภีร์ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้คำกรีก อาร์เฆ ไม่ได้หมายถึง “ตอนเริ่มต้น” ของพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างเพราะพระองค์ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด (สด 90:2) ดังนั้น คำนี้จึงต้องหมายถึงตอนที่พระเจ้าเริ่มสร้างสิ่งต่าง ๆ สิ่งแรกที่พระเจ้าสร้างคือโฆษกซึ่งเป็นชื่อเรียกพระเยซูตอนที่ท่านอยู่ในสวรรค์ (ยน 1:14-17) จึงเหมาะที่จะเรียกพระเยซูว่า “ผู้แรกที่ถูกสร้างก่อนทุกสิ่ง” (คส 1:15) เนื่องจากพระเยซูเป็น “ผู้แรกที่พระเจ้าสร้าง” (วว 3:14) ท่านจึงมีชีวิตก่อนทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ และก่อนที่จะมีการสร้างเอกภพ ที่จริง “พระเจ้าใช้ท่านสร้างสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดบนสวรรค์และบนโลก”—คส 1:16; สำหรับตัวอย่างอื่น ๆ ของการใช้คำว่า “ตอนเริ่มต้น” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:64
โฆษก: หรือ “ลอกอส” คำกรีก ฮอ ลอกอส ในข้อนี้เป็นตำแหน่งเหมือนกับใน ยน 1:14 และ วว 19:13 ยอห์นบอกให้รู้ว่าตำแหน่งนี้เป็นของพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลใช้ตำแหน่งนี้กับพระเยซูทั้งตอนที่ท่านเป็นทูตสวรรค์ก่อนจะมาเป็นมนุษย์บนโลก ตอนที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบเพื่อทำงานรับใช้บนโลก และตอนที่ท่านกลับไปสวรรค์ พระเยซูเป็นโฆษกหรือกระบอกเสียงของพระเจ้าเพราะท่านถ่ายทอดข่าวสารและคำสั่งของพระองค์ให้กับทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ดังนั้น มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าก่อนพระเยซูมาบนโลก พระยะโฮวาเคยติดต่อสื่อสารกับมนุษย์หลายครั้งผ่านทางโฆษกผู้นี้ตอนที่ท่านเป็นทูตสวรรค์—ปฐก 16:7-11; 22:11; 31:11; อพย 3:2-5; วนฉ 2:1-4; 6:11, 12; 13:3
กับ: คำกรีก พะรอส ที่ใช้ในข้อนี้เป็นคำบุพบทที่แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนม และคำนี้ยังช่วยให้เห็นว่ากำลังพูดถึง 2 บุคคล ซึ่งในข้อนี้คือพระเยซูที่เป็นโฆษกและพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว
ท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง: หรือ “มีลักษณะอย่างพระเจ้า [หรือ “เป็นอย่างพระเจ้า”]” ยอห์นกำลังอธิบายบุคลิกลักษณะของ “โฆษก” (คำกรีก ฮอ ลอกอส ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าโฆษกในข้อนี้) ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ เหตุผลหนึ่งที่มีการพูดถึงพระเยซูว่าเป็น “พระเจ้าองค์หนึ่ง” หรือ “มีลักษณะอย่างพระเจ้า” ก็เพราะท่านมีตำแหน่งสูงกว่าทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ ท่านเป็นลูกคนแรกของพระเจ้าที่พระองค์ใช้ให้สร้างทุกสิ่ง ผู้แปลหลายคนมักจะแปลว่า “พระวาทะ (โฆษก) เป็นพระเจ้า” ซึ่งทำให้พระเยซูเท่าเทียมกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่มีเหตุผลหนักแน่นหลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่ายอห์นไม่ได้บอกว่า “โฆษก” นี้เป็นบุคคลเดียวกันกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด เช่น ข้อความทั้งข้างหน้าและข้างหลังของประโยค “ท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง” บอกชัดว่า “โฆษก” ผู้นี้อยู่ “กับ พระเจ้า” นอกจากนั้น ใน ยน 1:1, 2 ใช้คำกรีก เธะออส รวม 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 1 และ 3 คำว่า เธะออส มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง แต่ครั้งที่ 2 ไม่มีคำนำหน้านาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่าการไม่มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงเป็นจุดที่น่าสังเกต เมื่อมีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง เธะออส จะหมายถึงพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด แต่ถ้าไม่มี เธะออส จะกลายเป็นคำที่อธิบายลักษณะของ “โฆษก” ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับในภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน จึงแปลข้อนี้คล้าย ๆ กับฉบับแปลโลกใหม่โดยถ่ายทอดแนวคิดที่ว่า “โฆษก (พระวาทะ) เป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง หรือมีลักษณะแบบพระเจ้า” ฉบับแปลเก่าแก่ภาษาซาฮิดิกกับภาษาโบไฮริกซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาคอปติกที่อาจทำขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 และ 4 ก็สนับสนุนความเห็นนี้ ฉบับแปลเหล่านี้แปลคำว่า เธะออส ที่ปรากฏครั้งแรกใน ยน 1:1 ต่างจากครั้งที่ 2 ในข้อเดียวกัน การแปลแบบนี้ทำให้เห็นชัดว่า “โฆษก” มีบุคลิกลักษณะคล้ายกับพระเจ้า แต่ไม่เท่าเทียมกับพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุดซึ่งเป็นพ่อของท่าน ทำให้ข้อนี้สอดคล้องกับ คส 2:9 ที่บอกว่าพระคริสต์ “แสดงคุณลักษณะของพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน” และ 2ปต 1:4 บอกว่า แม้แต่คนที่ร่วมปกครองกับพระคริสต์ก็จะ “ได้รับสภาพอย่างพระเจ้า” นอกจากนั้น ในฉบับเซปตัวจินต์ คำกรีก เธะออส มักจะแปลจากคำว่า เอล และ เอโลฮิม ในภาษาฮีบรู ซึ่งมีความหมายว่า “พระเจ้า” และทั้งสองคำมีความหมายพื้นฐานว่า “ผู้มีพลังอำนาจ” หรือ “ผู้มีกำลังมาก” สองคำนี้เป็นคำที่ใช้กับพระเจ้าองค์สูงสุด กับพระอื่น ๆ หรือกับมนุษย์ทั่วไปก็ได้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 10:34) การเรียกโฆษกว่า “พระเจ้าองค์หนึ่ง” หรือ “ผู้มีพลังอำนาจ” ก็สอดคล้องกับคำพยากรณ์ใน อสย 9:6 ที่บอกล่วงหน้าว่าเมสสิยาห์จะถูกเรียกว่า “พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจ” (ไม่ใช่ “พระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด”) และท่านจะเป็น “บิดาถาวร” ของทุกคนที่ได้เป็นประชาชนในรัฐบาลของท่าน พ่อของท่านซึ่งก็คือ “พระยะโฮวาผู้เป็นจอมทัพ” ตั้งใจจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ—อสย 9:7
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น: ในสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดไม่มีเครื่องหมายวรรคตอนในข้อ 3 และ 4 การแบ่งวรรคตอนในฉบับแปลโลกใหม่ทำแบบเดียวกับข้อความภาษากรีกที่น่าเชื่อถือของเวสต์คอตต์กับฮอร์ต ของสหสมาคมพระคริสตธรรม และของเนสต์เลกับอลันด์ ซึ่งส่วนสุดท้ายของข้อ 3 เชื่อมกับข้อ 4 การแบ่งแบบนี้ทำให้อ่านได้ว่า “ไม่มีอะไรเลยที่เกิดขึ้นโดยที่พระเจ้าไม่ได้ให้ท่านสร้าง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยทางท่านคือชีวิต และชีวิตเป็นความสว่างของมนุษย์” นี่ทำให้เข้าใจว่าชีวิตและความสว่างเกิดขึ้นได้โดยทางโฆษก (คส 1:15, 16) แต่คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับได้แบ่งวรรคตอนตามความเข้าใจอีกแบบหนึ่งโดยเชื่อมส่วนท้ายของข้อ 3 กับข้อความก่อนหน้านั้น ทำให้อ่านได้ว่า “ไม่มีอะไรเลยที่เกิดขึ้นโดยที่พระเจ้าไม่ได้ให้ท่านสร้างสิ่งนั้น โดยทางท่านคือชีวิต และชีวิตเป็นความสว่างของมนุษย์” แต่นักวิชาการหลายคนสนับสนุนการแปลแบบฉบับแปลโลกใหม่
ท่าน: คือโฆษก หรือลอกอส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:1
ชีวิต . . . ความสว่าง: มีการพูดถึง 2 เรื่องนี้ในหนังสือที่ได้รับการดลใจของยอห์นตลอดทั้งเล่ม พระเจ้าเป็นบ่อเกิดของชีวิต และโดยทางพระเยซูผู้เป็นโฆษกสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมดก็ “เกิดขึ้น” (ยน 1:3) จึงพูดได้ว่าชีวิตมาโดยทางพระเยซูคริสต์ นอกจากนั้น พระเยซูยังเป็นชีวิตที่เป็นความสว่างของมนุษย์เพราะโดยทางท่าน พระเจ้าทำให้มนุษย์ที่ผิดบาปและต้องตายมีโอกาสได้ชีวิตตลอดไป และ ยน 1:9 ก็เรียกท่านว่า “ความสว่างแท้ที่ส่องสว่างให้คนทุกชนิด” ทุกคนที่ติดตามพระเยซูซึ่งเป็น “ความสว่างให้กับโลก” จะได้ “รับความสว่างที่นำไปถึงชีวิต” (ยน 8:12) โฆษกองค์นี้เป็น “ผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิต” ที่พระเจ้าแต่งตั้งเพื่อช่วยให้มนุษย์เห็นทางไปสู่ชีวิต—กจ 3:15
ยอห์น: ตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ผู้เขียนหนังสือข่าวดีนี้ไม่ได้บอกว่าเขาชื่ออะไร แต่พอถึงศตวรรษที่ 2 หรือ 3 คนทั่วไปก็เชื่อกันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงชื่อยอห์นในหนังสือข่าวดีนี้ก็จะหมายถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา ยกเว้นสองที่คือใน ยน 1:42 และ 21:15-17 ซึ่งพระเยซูพูดถึงยอห์นที่เป็นพ่อของเปโตร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ 1:42 และ 21:15) ถึงแม้ไม่มีการพูดถึงชื่อของอัครสาวกยอห์น แต่มีการพูดถึงเขาและยากอบพี่น้องของเขาว่าเป็น ‘ลูกของเศเบดี’ (ยน 21:2; มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:6) ในตอนท้าย ๆ ของหนังสือข่าวดีนี้ ผู้เขียนพูดถึงตัวเองว่าเป็น “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 21:20-24) และมีเหตุผลหลายอย่างที่จะสรุปว่าคำพูดนี้หมายถึงอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
พระเจ้าใช้ให้เป็นตัวแทนของพระองค์: หรือ “ได้รับมอบหมายจากพระเจ้า” ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้รับงานมอบหมายจากพระเจ้า (ลก 3:2) งานนี้เกี่ยวข้องกับการประกาศและบอกข่าวกับผู้คน ยอห์นไม่ได้แค่ประกาศว่าเมสสิยาห์จะมาและประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าให้กับคนยิวที่มาหาเขาเท่านั้น แต่เขายังกระตุ้นให้คนกลับใจจากบาปด้วย (มธ 3:1-3, 11, 12; มก 1:1-4; ลก 3:7-9) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้พยากรณ์ เป็นครู (ที่สอนสาวก) และเป็นผู้ประกาศข่าวดี—ลก 1:76, 77; 3:18; 11:1; ยน 1:35
ยอห์น: คือยอห์นผู้ให้บัพติศมา ในต้นฉบับภาษากรีก ผู้เขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้ซึ่งก็คืออัครสาวกยอห์นพูดถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา 19 ครั้ง แต่ไม่เคยใช้คำว่า “ยอห์นผู้ให้บัพติศมา” เหมือนที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่น ๆ ใช้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1; มก 1:4) เมื่อพูดถึงมารีย์ อัครสาวกยอห์นก็แยกให้เห็นว่ามีมารีย์ 3 คน (ยน 11:1, 2; 19:25; 20:1) แต่เมื่อพูดถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา อัครสาวกยอห์นไม่ต้องแยกให้เห็นความแตกต่างแบบนั้นเพราะเขาไม่เคยพูดชื่อตัวเองในหนังสือของเขาเลย ทำให้ไม่มีใครสับสนว่าเขากำลังพูดถึงยอห์นคนไหน นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นคนเขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้—ดู “บทนำของหนังสือยอห์น” และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือยอห์น
เป็นพยาน: เมื่อเทียบกับหนังสือข่าวดีเล่มอื่น ๆ รวมกัน ยอห์นใช้คำกรีกที่แปลว่า “พยาน” (มาร์ทูเรีย) มากกว่า 2 เท่า และเขายังใช้คำกริยากรีกที่เกี่ยวข้องกันซึ่งแปลว่าให้หลักฐานยืนยัน (มาร์ทูเระโอ) ถึง 39 ครั้ง ในขณะที่หนังสือข่าวดีอีก 3 เล่มใช้แค่ 2 ครั้ง (มธ 23:31; ลก 4:22) มีการใช้คำกริยากรีกนี้กับยอห์นผู้ให้บัพติศมาบ่อยครั้งจนทำให้บางคนคิดว่าน่าจะเรียกเขาว่า “ยอห์นผู้เป็นพยาน” (ยน 1:8, 15, 32, 34; 3:26; 5:33) หนังสือข่าวดีของยอห์นยังใช้คำกริยากรีกนี้บ่อย ๆ ด้วยเมื่อพูดถึงงานรับใช้ของพระเยซูโดยมักจะบอกว่าท่าน “เป็นพยาน” (ยน 8:14, 17, 18) คำพูดที่พระเยซูพูดกับปอนทิอัสปีลาตก็เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ท่านบอกว่า “เหตุผลที่ผมเกิดมาและเข้ามาในโลกก็เพื่อเป็นพยานยืนยันความจริง” (ยน 18:37) ในวิวรณ์ที่ยอห์นได้รับ มีการเรียกพระเยซูว่า “พยานที่ซื่อสัตย์” และ “พยานที่ซื่อสัตย์และพูดความจริงเสมอ”—วว 1:5; 3:14
เขา: คือยอห์นผู้ให้บัพติศมา—เทียบกับ กจ 19:4
โลก: แปลจากคำกรีก คอสม็อส ซึ่งในข้อนี้หมายถึงมนุษย์ที่อยู่บนโลก ดูเหมือนว่าในท้องเรื่องนี้คำว่าเข้ามาในโลกไม่ได้หมายถึงตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่หมายถึงตอนที่ท่านรับบัพติศมาและเริ่มประกาศกับมนุษย์ หลังจากรับบัพติศมาพระเยซูเริ่มทำงานรับใช้ที่พระเจ้ามอบหมายให้ท่านทำ ซึ่งเป็นเหมือนการส่องแสงสว่างให้กับมนุษย์บนโลก—เทียบกับ ยน 3:17, 19; 6:14; 9:39; 10:36; 11:27; 12:46; 1ยน 4:9
พระเจ้าใช้ท่านให้สร้างโลก: ในข้อนี้ คำกรีก คอสม็อส (“โลก”) หมายถึงมนุษย์ที่อยู่บนโลกซึ่งสอดคล้องกับส่วนท้ายของข้อนี้ที่บอกว่าโลกกลับไม่รู้จักท่าน บางครั้งมีการใช้คำกรีกนี้ในหนังสือทั่วไปเพื่อหมายถึงเอกภพและสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ และอัครสาวกเปาโลก็อาจใช้คำว่า “โลก” ในความหมายเดียวกันนี้เมื่อพูดกับคนกรีก (กจ 17:24) แต่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ส่วนใหญ่แล้วมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก ถึงแม้พระเยซูจะมีส่วนในการสร้างทุกสิ่งทั้งในสวรรค์และโลก แต่ข้อนี้กำลังเน้นบทบาทของท่านในการสร้างมนุษย์—ปฐก 1:26; ยน 1:3; คส 1:15-17
มนุษย์: หรือ “เนื้อหนัง” คำกรีก ซารค์ส์ ในข้อนี้หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีเนื้อหนัง ตอนที่พระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ท่านไม่ได้มีร่างกายสำหรับสวรรค์อีกต่อไป และท่านก็ไม่ใช่แค่แปลงกายเป็นมนุษย์เหมือนที่พวกทูตสวรรค์ในอดีตเคยทำ (ปฐก 18:1-3; 19:1; ยชว 5:13-15) ดังนั้น พระเยซูจึงสามารถเรียกตัวเองว่า “ลูกมนุษย์”—ยน 1:51; 3:14; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
โฆษกผู้นี้จึงมาเกิดเป็นมนุษย์: หรือ “โฆษกผู้นี้จึงมาเป็นเนื้อหนัง” ตั้งแต่เกิดจนตายพระเยซูเป็นมนุษย์มาโดยตลอด พระเยซูพูดถึงเหตุผลที่ท่านมาเกิดเป็นมนุษย์ว่า “อาหารที่ผมจะให้เพื่อมนุษย์จะได้ชีวิตก็คือเนื้อของผมเอง” (ยน 6:51) นอกจากนั้น พระเยซูต้องเป็นมนุษย์จริง ๆ เท่านั้นเพื่อจะเข้าใจว่ามนุษย์ต้องเจออะไร ท่านจึงสามารถเป็นมหาปุโรหิตที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ (ฮบ 4:15) พระเยซูจะเป็นทั้งมนุษย์และทูตสวรรค์ในเวลาเดียวกันไม่ได้ เพราะพระคัมภีร์บอกว่าท่าน “ถูกทำให้ต่ำกว่าทูตสวรรค์เล็กน้อย” (ฮบ 2:9; สด 8:4, 5; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่ามนุษย์ในข้อนี้) แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเชื่อว่าพระเยซูเคยเป็นมนุษย์จริง ๆ ตัวอย่างเช่น พวกนอสติกที่เชื่อว่าความรู้ (คำกรีก กะโนซิส) อาจได้มาด้วยวิธีลึกลับได้รวมปรัชญากรีกและศาสตร์ลี้ลับของชาวตะวันออกเข้ากับคำสอนของคริสเตียนที่ออกหาก พวกเขาเชื่อว่าทุกสิ่งที่มีเนื้อหนังและจับต้องได้เป็นสิ่งชั่วร้าย พวกเขาจึงสอนว่าพระเยซูไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แต่แค่มีร่างกายที่ดูเหมือนมนุษย์เท่านั้น ดูเหมือนว่าในช่วงปลายศตวรรษแรก คำสอนของพวกนอสติกเริ่มแพร่หลายแล้ว ยอห์นจึงบอกอย่างเจาะจงว่า “โฆษกผู้นี้จึงมาเกิดเป็นมนุษย์” และในจดหมายของยอห์น เขาก็เตือนให้ระวังคำสอนเท็จที่ไม่ยอมรับว่าพระเยซู “มาเกิดเป็นมนุษย์”—1ยน 4:2, 3; 2ยน 7
อยู่: แปลตรงตัวว่า “ตั้งเต็นท์” บางคนคิดว่าประโยคที่ว่าโฆษก ‘มาอยู่หรือตั้งเต็นท์อยู่กับพวกเรา’ ไม่ได้หมายความว่าพระเยซูมาเป็นมนุษย์จริง ๆ แต่แค่แปลงร่างมาเป็นมนุษย์ แต่น่าสังเกตว่าเปโตรใช้คำว่า “เต็นท์” เมื่อพูดถึงร่างกายเนื้อหนังของเขาว่าเป็นที่อยู่ชั่วคราวเพราะเขารู้ว่ากำลังจะตายและจะฟื้นขึ้นมาในร่างกายสำหรับสวรรค์ (2ปต 1:13) และตอนนั้นเปโตรก็ไม่ได้บอกว่าเขาแปลงร่างมาเป็นมนุษย์—2ปต 1:13-15; ดู 1คร 15:35-38, 42-44; 1ยน 3:2 ด้วย
พวกเราได้เห็นความสง่างามของท่าน: ตอนที่พระเยซูมีชีวิตอยู่และทำงานรับใช้ ยอห์นกับอัครสาวกคนอื่น ๆ ได้เห็นความสง่างามหรือสง่าราศีของพระเยซูซึ่งเป็นผู้เดียวที่สามารถแสดงคุณลักษณะของพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนั้น อัครสาวกยอห์น ยากอบ และเปโตรก็ได้เห็นการเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูด้วยตาตัวเอง (มธ 17:1-9; มก 9:1-9; ลก 9:28-36) ดังนั้น ในข้อนี้ยอห์นอาจไม่ได้แค่คิดถึงการที่พระเยซูแสดงคุณลักษณะของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังคิดถึงนิมิตการเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เหตุการณ์นั้นทำให้อัครสาวกเปโตรประทับใจไม่รู้ลืมเหมือนกัน และตอนที่เปโตรเขียนจดหมายของเขาประมาณ 30 ปีก่อนที่ยอห์นจะเขียนหนังสือข่าวดี เปโตรก็พูดถึงนิมิตการเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มั่นใจใน “คำพยากรณ์”—2ปต 1:17-19
ลูกคนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่แปลว่า “คนเดียว” ในข้อนี้มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” คัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้กับทั้งลูกชายและลูกสาว (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 7:12; 8:42; 9:38) ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน มีการใช้คำนี้กับพระเยซูเท่านั้น (ยน 3:16, 18; 1ยน 4:9) แต่ไม่เคยใช้กับท่านตอนที่เป็นมนุษย์ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ยอห์นใช้คำนี้เมื่อพูดถึงพระเยซูก่อนที่ท่านจะมาเกิดเป็นมนุษย์ ตอนที่ท่านเป็นลอกอสหรือโฆษกที่ “อยู่กับพระเจ้าในตอนเริ่มต้น” คือ “ก่อนจะมีโลกนี้” ด้วยซ้ำ (ยน 1:1, 2; 17:5, 24) แม้ทูตสวรรค์อื่น ๆ ถูกเรียกว่า “ลูก ๆ ของพระเจ้าเที่ยงแท้” หรือ “ลูกของพระเจ้า” (ปฐก 6:2, 4; โยบ 1:6; 2:1; 38:4-7) แต่พระเยซูเท่านั้นที่ถูกเรียกว่า “ลูกคนเดียว” เพราะท่านเป็นลูกคนแรกของพระยะโฮวาและเป็นผู้เดียวที่พระเจ้าสร้างเองโดยตรง พระยะโฮวาสร้างทูตสวรรค์ทั้งหมดโดยทาง พระเยซูลูกคนแรกของพระองค์ (คส 1:15, 16) สรุปคือ คำว่า มอนอเกะเนส หมายถึงการที่พระเยซู “ไม่เหมือนใคร” และท่านเป็นลูกคนเดียวที่พระเจ้าสร้างโดยตรง—1ยน 5:18
พระเจ้าพอใจ: หรือ “ได้รับความกรุณาที่ยิ่งใหญ่จากพระเจ้า” คำกรีก ฆาริส มีมากกว่า 150 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก และมีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในท้องเรื่องที่พูดถึงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งพระเจ้าแสดงต่อมนุษย์ คำนี้หมายถึงของขวัญที่พระเจ้าให้อย่างใจกว้างโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งแสดงว่าพระองค์มีน้ำใจเอื้อเฟื้อและมีความกรุณาต่อมนุษย์อย่างล้นเหลือ นี่เป็นการให้ที่เกิดจากความเอื้อเฟื้อของผู้ให้ล้วน ๆ ไม่ใช่การให้เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือตอบแทนความดีของผู้รับ (รม 4:4; 11:6) บางครั้งคำนี้ไม่ได้เน้นว่าผู้รับไม่คู่ควรจะได้รับความกรุณานั้น เพราะพระเยซูก็ได้รับความกรุณาแบบนี้จากพระเจ้าด้วย ในท้องเรื่องที่เกี่ยวกับพระเยซู จึงมีการแปลคำนี้อย่างเหมาะสมว่า “พระเจ้าพอใจมาก” อย่างที่เห็นในข้อนี้ หรือแปลว่า “ชื่นชอบ” (ลก 2:40, 52) ในท้องเรื่องอื่น ๆ คำกรีกนี้ยังแปลได้อีกว่า “ชอบ, ชื่นชอบ, พอใจ, เงินที่พวกคุณมีน้ำใจบริจาค, ของบริจาค”—ลก 1:30; กจ 2:47; 7:46; 1คร 16:3; 2คร 8:19
เป็นผู้ที่พระเจ้าพอใจมาก และท่านสอนความจริง: “โฆษก” หรือพระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่พระเจ้าพอใจมากและพูดความจริงเสมอ แต่ท้องเรื่องแสดงให้เห็นว่าข้อความนี้มีความหมายกว้างกว่านั้น พระยะโฮวาเลือกลูกชายของพระองค์โดยเฉพาะเพื่อจะอธิบายหรือแสดงให้คนอื่นเห็นความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและความจริงของพระองค์อย่างชัดเจน (ยน 1:16, 17) พระเยซูได้แสดงคุณลักษณะ 2 อย่างนี้ของพระเจ้าอย่างเต็มที่จนท่านสามารถบอกได้ว่า “คนที่ได้เห็นผมก็ได้เห็นพระเจ้าผู้เป็นพ่อด้วย” (ยน 14:9) พระเยซูเป็นผู้ที่พระเจ้าใช้เพื่อแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่และให้ความจริงกับทุกคนที่เต็มใจตอบรับ
ท่านที่มาทีหลังผม: ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเกิดก่อนพระเยซูประมาณ 6 เดือนและเริ่มงานรับใช้ก่อนท่าน จึงพูดได้ว่าพระเยซู “มาทีหลัง” ยอห์น (ลก 1:24, 26; 3:1-20) แต่พระเยซูทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่ายอห์นมาก ท่านจึงยิ่งใหญ่กว่ายอห์นหรือเหนือกว่าเขาในทุก ๆ ด้าน ยอห์นผู้ให้บัพติศมายอมรับว่าพระเยซูเคยมีชีวิตก่อนมาเป็นมนุษย์ เขาบอกว่าท่านมีชีวิตอยู่ก่อนผม
ความกรุณา . . . อย่างล้นเหลือ: หรือ “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ซ้อนความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” คำว่า “กรุณา” มาจากคำกรีก ฆาริส ในท้องเรื่องนี้หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าให้อย่างใจกว้าง ซึ่งแสดงว่าพระองค์มีน้ำใจเอื้อเฟื้อและมีความกรุณาต่อมนุษย์อย่างล้นเหลือ นี่เป็นการให้ที่เกิดจากความเอื้อเฟื้อของผู้ให้ล้วน ๆ ไม่ใช่การให้เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือตอบแทนความดีของผู้รับ (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่”) การใช้คำว่า ฆาริส ซ้ำ 2 ครั้ง ร่วมกับคำบุพบท อานทิ (ที่แปลว่า “ซ้อน”) แสดงให้เห็นว่าความกรุณาที่ยิ่งใหญ่นี้มีอย่างล้นเหลือและมีต่อเนื่องไม่ขาดสาย ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งได้รับอย่างต่อเนื่อง [หรือ “อย่างสม่ำเสมอ”]”
กฎหมาย . . . ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่และความจริง: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างกฎหมายที่พระเจ้าให้โมเสสกับ “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” (รม 3:21-24; 5:20, 21; 6:14; กท 2:21; 5:4; ฮบ 10:28, 29) กฎหมายของโมเสสเป็นเหมือน “พี่เลี้ยงที่พาเราไปหาพระคริสต์” และในกฎหมายนั้นมีเงาหรือภาพพยากรณ์ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงโดยทางพระเยซู (กท 3:23-25; คส 2:16, 17; ฮบ 10:1) นอกจากนั้น กฎหมายทำให้มนุษย์ “รู้ชัดว่าเขามีบาป” (รม 3:20) การมีความรู้ที่ถูกต้องแบบนั้นทำให้มนุษย์ยอมรับว่า “ค่าจ้างที่บาปจ่ายคือความตาย” และ “ทุกคนที่ทำผิดและไม่เชื่อฟังต้องถูกลงโทษตามความยุติธรรม” (รม 6:23; ฮบ 2:2) ในข้อนี้ ยอห์นเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “กฎหมาย” กับ “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่และความจริง” ที่ได้รับผ่านทางพระเยซูคริสต์ พระเยซูทำให้สิ่งที่กฎหมายบอกไว้ล่วงหน้าเป็นจริง ซึ่งรวมทั้งการถวายเครื่องบูชาเพื่อการอภัยโทษและการไถ่บาป (ลนต 4:20, 26) นอกจากนั้น ท่านยังทำให้รู้ว่าพระเจ้าจะแสดง “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” (คำกรีก ฆาริส) ต่อมนุษย์ผิดบาปโดยให้ลูกชายของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป (คส 1:14; 1ยน 4:10; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่”) พระเยซูยังเปิดเผย “ความจริง” เรื่องใหม่ซึ่งก็คือเครื่องบูชาที่เป็นชีวิตของท่านจะทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากบาปและความตาย—ยน 8:32; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14
อยู่เคียงข้างพระเจ้าผู้เป็นพ่อ: แปลตรงตัวว่า “อยู่ในอกของพ่อ” สำนวนนี้หมายถึงการได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ภาพเปรียบเทียบนี้มาจากธรรมเนียมการนั่งเอนตัวที่โต๊ะอาหาร การนั่งแบบนี้จะทำให้แขกบางคนเอนตัวอยู่ที่อกของเพื่อนสนิท (ยน 13:23-25) ข้อความนี้ทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของพระยะโฮวา ท่านจึงเป็นคนที่สามารถอธิบายเรื่องพระองค์ได้อย่างละเอียดและครบถ้วนที่สุด—มธ 11:27
เอลียาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 11:14
ผู้พยากรณ์: คือผู้พยากรณ์ที่ผู้คนรอมานานซึ่งเป็นคนที่โมเสสบอกล่วงหน้าไว้—ฉธบ 18:18, 19; ยน 1:25-27; 6:14; 7:40; กจ 3:19-26
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) (ดูภาคผนวก ก5) ผู้เขียนหนังสือข่าวดีของมัทธิว มาระโก และลูกาเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำ และในหนังสือข่าวดีที่ยอห์นเขียน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้พูดไว้ว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวเขาเอง ยอห์นจะทำทางของพระยะโฮวาให้ตรงในแง่ที่ว่าเขามาก่อนพระเยซูซึ่งเป็นตัวแทน ของพระยะโฮวาพ่อของท่าน และมาในนามพ่อของท่าน—ยน 5:43; 8:29
ให้บัพติศมา: หรือ “จุ่ม” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” ข้ออื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลก็แสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ ครั้งหนึ่งยอห์นให้บัพติศมาที่หุบเขาจอร์แดนใกล้กับสาลิม “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ยน 3:23) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
รองเท้า: การถอดและถือรองเท้าให้คนอื่น หรือการแก้สายรัดรองเท้าให้เขา (มธ 3:11; มก 1:7; ลก 3:16) ถือเป็นงานที่ต่ำต้อยซึ่งมักจะเป็นหน้าที่ของทาส
เบธานี: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “เบธบารา” แทนคำว่า “เบธานี” และมีการใช้คำนี้ในฉบับแปลบางฉบับ แต่สำเนาที่น่าเชื่อถือมากที่สุดใช้คำว่า “เบธานี”
เบธานีซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน: คือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงเมืองนี้แค่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นคนละเมืองกับเบธานีที่อยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม (มธ 21:17; มก 11:1; ลก 19:29; ยน 11:1) ไม่มีใครรู้ว่าเมืองเบธานีที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนอยู่ที่ไหนจริง ๆ บางคนบอกว่าน่าจะเป็นที่ที่เชื่อกันว่าพระเยซูรับบัพติศมาซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเยรีโค แต่บันทึกใน ยน 1:29, 35, 43; 2:1 อาจทำให้คิดถึงสถานที่ที่ใกล้กับเมืองคานาในแคว้นกาลิลีมากกว่า ดังนั้น ที่ตั้งเมืองเบธานีที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือทางใต้ของทะเลสาบกาลิลี แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะระบุสถานที่ที่แน่นอน—ดูภาคผนวก ข10
ลูกแกะของพระเจ้า: หลังจากพระเยซูรับบัพติศมาและถูกมารซาตานล่อใจแล้ว ยอห์นผู้ให้บัพติศมาแนะนำให้ทุกคนรู้ว่าท่านเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า” นอกจากข้อนี้และ ยน 1:36 ก็ไม่มีที่อื่นที่เรียกพระเยซูอย่างนี้ (ดูภาคผนวก ก7) การเปรียบพระเยซูเป็นลูกแกะถือว่าเหมาะสม เพราะในคัมภีร์ไบเบิลตลอดทั้งเล่ม แกะถูกใช้เป็นเครื่องบูชาที่แสดงว่าคนถวายสำนึกว่าเขามีบาปและต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า ซึ่งเป็นภาพล่วงหน้าถึงเครื่องบูชาที่พระเยซูถวายโดยสละชีวิตมนุษย์สมบูรณ์แบบของท่านเพื่อมนุษย์ทุกคน คำว่า “ลูกแกะของพระเจ้า” อาจทำให้นึกถึงบันทึกหลายตอนในพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ เนื่องจากยอห์นคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นอย่างดี เมื่อเขาพูดถึงลูกแกะของพระเจ้า เขาอาจนึกถึงหลายเหตุการณ์ เช่น แกะตัวผู้ที่อับราฮัมถวายเป็นเครื่องบูชาแทนอิสอัคลูกชายของเขา (ปฐก 22:13) หรือลูกแกะปัสกาที่ถูกฆ่าในอียิปต์เพื่อช่วยชาวอิสราเอลให้พ้นจากการเป็นทาส (อพย 12:1-13) หรือลูกแกะตัวผู้ที่ถูกถวายบนแท่นบูชาของพระเจ้าในกรุงเยรูซาเล็มทั้งตอนเช้าและตอนเย็นของทุกวัน (อพย 29:38-42) นอกจากนั้น ยอห์นอาจจะคิดถึงคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่ว่า คนที่พระยะโฮวาเรียกว่า “ผู้รับใช้ของเรา” จะ “ถูกพาไปเหมือนแกะที่ถูกพาไปฆ่า” (อสย 52:13; 53:5, 7, 11) และตอนที่อัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกไปหาพี่น้องในเมืองโครินธ์ เขาเรียกพระเยซูว่า “ลูกแกะปัสกาของเรา” (1คร 5:7) อัครสาวกเปโตรก็พูดถึง “เลือดที่มีค่ามากของพระคริสต์ซึ่งเป็นเหมือนเลือดของลูกแกะที่ไม่มีตำหนิและด่างพร้อย” (1ปต 1:19) นอกจากนั้น มีมากกว่า 25 ครั้งในหนังสือวิวรณ์ที่เรียกพระเยซูหลังจากท่านกลับไปสวรรค์ว่า “ลูกแกะของพระเจ้า”—ตัวอย่างอื่น ๆ อยู่ที่ วว 5:8; 6:1; 7:9; 12:11; 13:8; 14:1; 15:3; 17:14; 19:7; 21:9; 22:1
โลก: คำกรีก คอสม็อส ที่ใช้ในวรรณกรรมกรีกทั่วไปรวมทั้งในคัมภีร์ไบเบิลมักเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ในท้องเรื่องนี้และที่ ยน 3:16 คำว่า คอสม็อส หมายถึงมนุษย์ทุกคนในโลกซึ่งในข้อนี้บอกว่าเป็นคนบาปเพราะได้รับบาปมาจากอาดัม
เหมือนนกเขา: นกเขาถูกใช้ในการนมัสการและยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย มีการใช้นกเขาเป็นเครื่องบูชา (มก 11:15; ยน 2:14-16) นกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย (มธ 10:16) นกเขาที่โนอาห์ปล่อยออกไปคาบใบมะกอกกลับมาที่เรือ ทำให้รู้ว่าน้ำกำลังลดลง (ปฐก 8:11) และเวลาของการหยุดพักและความสงบสุขใกล้เข้ามาแล้ว (ปฐก 5:29) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา พระยะโฮวาอาจใช้นกเขาเพื่อทำให้นึกถึงบทบาทของพระเยซูลูกที่บริสุทธิ์และไม่มีบาปของพระองค์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษย์และทำให้มนุษย์ได้หยุดพักและมีความสงบสุขตอนที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ พลังของพระเจ้าที่ลงมาบนพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาอาจดูเหมือนนกเขากระพือปีกอยู่ใกล้ที่เกาะ
ลูกของพระเจ้า: สำนวนนี้มักใช้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อหมายถึงพระเยซูคริสต์ (ยน 1:49; 3:16-18; 5:25; 10:36; 11:4) แต่เนื่องจากพระเจ้าไม่ใช่มนุษย์ พระองค์ไม่ได้มีภรรยาจริง ๆ สำนวนนี้จึงเป็นภาพเปรียบเทียบเท่านั้น เห็นได้ชัดว่ามีการใช้ภาพเปรียบเทียบแบบนี้เพื่อช่วยผู้อ่านให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพระเยซูว่าเป็นเหมือนพ่อกับลูก นอกจากนั้น ยังเป็นการเน้นด้วยว่าพระยะโฮวาเป็นผู้สร้างหรือให้ชีวิตกับพระเยซู อาดัมมนุษย์คนแรกก็ถูกเรียกว่า “ลูกของพระเจ้า”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:38
ยอห์น . . . สาวก 2 คน: หนึ่งในสาวก 2 คนนี้ของยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็คือ “อันดรูว์ที่เป็นพี่น้องกับซีโมนเปโตร”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:40
สาวกทั้งสองคน . . . ตามพระเยซูไป: คำพูดนี้แสดงว่าสาวกกลุ่มแรกของพระเยซูเคยเป็นสาวกของยอห์นผู้ให้บัพติศมามาก่อน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:35, 40
ประมาณ 4 โมงเย็น: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 10”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
หนึ่งในสองคนนั้น: มีการพูดถึงสาวก 2 คนนี้ที่ ยน 1:35 สาวกที่ไม่ได้บอกชื่อน่าจะเป็นอัครสาวกยอห์นลูกของเศเบดีซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีนี้ (มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10) ที่สรุปได้อย่างนี้เป็นเพราะผู้เขียนไม่เคยพูดชื่อของตัวเอง และไม่เคยพูดถึงชื่อของอัครสาวกยอห์น และทุกครั้งที่เขาพูดถึง “ยอห์น” ก็จะหมายถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา
เมสสิยาห์: หรือ “ผู้ถูกเจิม” คำกรีก เม็สซิอาส (ทับศัพท์มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) มีแค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (ดู ยน 4:25) ตำแหน่ง มาชีอัค มาจากคำกริยาฮีบรู มาชัค ที่แปลว่า “ทาหรือป้าย (ด้วยของเหลว)” และ “เจิม” (อพย 29:2, 7) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล มีธรรมเนียมการเจิมเพื่อแต่งตั้งปุโรหิต พวกผู้นำ และผู้พยากรณ์ด้วยน้ำมัน (ลนต 4:3; 1ซม 16:3, 12, 13; 1พก 19:16) ในข้อนี้ที่ ยน 1:41 ตำแหน่ง “เมสสิยาห์” มีคำอธิบายต่อท้ายว่า ซึ่งแปลว่า “คริสต์” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงตำแหน่ง “คริสต์” หรือ “พระคริสต์” (ภาษากรีก ฆะริสท็อส) มากกว่า 500 ครั้ง และตำแหน่งนี้ตรงกับคำฮีบรู “เมสสิยาห์” ซึ่งทั้ง 2 คำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1
คุณคือซีโมน: พระคัมภีร์เรียกซีโมนด้วยชื่อที่ต่างกัน 5 ชื่อ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:18; 10:2) ในเหตุการณ์นี้ พระเยซูเจอกับซีโมนเป็นครั้งแรกและตั้งชื่อภาษาเซมิติกให้เขาว่าเคฟาส ที่อาจมาจากคำฮีบรู เคฟิม (หิน) ซึ่งใช้ใน โยบ 30:6 และ ยรม 4:29 แต่ในข้อนี้ยอห์นซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าคำนี้แปลเป็นภาษากรีกว่าเปโตรซึ่งมีความหมายว่า “หินก้อนหนึ่ง” ซีโมนคนนี้เป็นคนเดียวในพระคัมภีร์ที่มีชื่อภาษาเซมิติกว่าเคฟาสและชื่อภาษากรีกว่าเปโตร พระเยซูซึ่งรู้ว่านาธานาเอลเป็นคนที่ “ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอะไร” (ยน 1:47; 2:25) ก็รู้ด้วยว่าเปโตรเป็นคนแบบไหน เปโตรแสดงให้เห็นว่าเขามีคุณลักษณะที่ดีหลายอย่างเหมือนก้อนหิน โดยเฉพาะหลังจากที่พระเยซูตายและฟื้นขึ้นจากตายแล้ว คุณลักษณะที่เป็นเหมือนก้อนหินของเขาได้ช่วยประชาคมให้เข้มแข็งและมั่นคง—ลก 22:32; กจ 1:15, 16; 15:6-11
ยอห์น: สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับบอกว่าพ่อของอัครสาวกเปโตรชื่อยอห์น ส่วนสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่อื่น ๆ บอกว่าเขาชื่อโยนา ใน มธ 16:17 พระเยซูเรียกเปโตรว่า “ซีโมนลูกโยนาห์” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:17) ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าชื่อยอห์นกับโยนา(ห์) ซึ่งเป็นชื่อกรีกอาจมาจากชื่อฮีบรูเดียวกันแต่สะกดต่างกัน
นาธานาเอล: มาจากชื่อภาษาฮีบรูที่แปลว่า “พระเจ้าให้” อาจเป็นอีกชื่อหนึ่งของบาร์โธโลมิวซึ่งเป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คนของพระเยซู (มธ 10:3) บาร์โธโลมิวที่แปลว่า “ลูกชายของโทลไม” เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อพ่อของเขา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นาธานาเอลจะมีอีกชื่อหนึ่งว่าบาร์โธโลมิวหรือลูกชายของโทลไม เพราะคนอื่นก็มีชื่อแบบนี้ เช่น บาร์ทิเมอัส ที่แปลว่าลูกชายของทิเมอัส (มก 10:46) ตอนที่มัทธิว มาระโก และลูกาพูดถึงบาร์โธโลมิว พวกเขามักจะพูดชื่อบาร์โธโลมิวคู่กับฟีลิป ซึ่งคล้ายกับยอห์นตอนที่พูดถึงนาธานาเอล เขามักจะพูดชื่อนาธานาเอลคู่กับฟีลิป นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าบาร์โธโลมิวกับนาธานาเอลเป็นคนเดียวกัน (มธ 10:3; มก 3:18; ลก 6:14; ยน 1:45, 46) ไม่แปลกที่ใครคนหนึ่งจะมีชื่อมากกว่า 1 ชื่อ—ยน 1:42
กฎหมายของโมเสสและหนังสือของพวกผู้พยากรณ์: ข้อความนี้ทำให้คิดถึงสำนวน “กฎหมายของโมเสสและคำสอนของผู้พยากรณ์” และสำนวนอื่นที่คล้ายกันซึ่งมีการใช้หลายครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม (มธ 5:17; 7:12; 11:13; 22:40; ลก 16:16) คำว่า “กฎหมายของโมเสส” หมายถึงหนังสือในคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่ปฐมกาลจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ และ “คำสอนของพวกผู้พยากรณ์” หมายถึงหนังสือต่าง ๆ ของผู้พยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่เมื่อมีการใช้สองคำนี้ด้วยกันก็อาจหมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าสาวกที่พูดถึงในข้อนี้ชอบศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และฟีลิปอาจคิดถึงข้อความในพระคัมภีร์ เช่น ปฐก 3:15; 22:18; 49:10; ฉธบ 18:18; อสย 9:6, 7; 11:1; ยรม 33:15; อสค 34:23; มคา 5:2; ศคย 6:12; และ มลค 3:1 ที่จริงข้อคัมภีร์หลายข้อแสดงให้เห็นว่าพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมดเป็นพยานยืนยันเกี่ยวกับพระเยซู—ลก 24:27, 44; ยน 5:39, 40; กจ 10:43; วว 19:10
จะมีอะไรดี ๆ มาจากนาซาเร็ธได้หรือ?: หลายคนเข้าใจว่าคำพูดของนาธานาเอลแสดงให้เห็นว่านาซาเร็ธเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญอะไร แม้แต่คนในแคว้นกาลิลีก็ดูถูก (ยน 21:2) พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่ได้พูดถึงนาซาเร็ธเลยและโยเซฟุสก็ไม่เคยพูดถึงเมืองนี้ แต่ ยชว 19:12 และโยเซฟุสกลับพูดถึงเมืองยาเฟียที่อยู่ใกล้ ๆ (อยู่ห่างจากนาซาเร็ธไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไม่ถึง 3 กม.) แต่ที่จริงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและโยเซฟุสก็ไม่ได้พูดถึงทุกเมืองในแคว้นกาลิลี และน่าสังเกตว่าทุกครั้งที่หนังสือข่าวดีพูดถึงนาซาเร็ธจะใช้คำว่า “เมือง” (คำกรีก พอลิส) ซึ่งเป็นคำที่ปกติแล้วหมายถึงแหล่งชุมชนที่ใหญ่กว่าหมู่บ้าน (มธ 2:23; ลก 1:26; 2:4, 39; 4:29) นาซาเร็ธตั้งอยู่ในแอ่งภูเขาที่ล้อมรอบด้วยเนินเขาซึ่งมองลงไปจะเห็นที่ราบเอสดราเอโลน (ยิสเรเอล) พื้นที่บริเวณนี้มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก มีเมืองมากมายตั้งอยู่ใกล้ ๆ และอยู่ใกล้กับเส้นทางการค้า ผู้คนในเมืองนาซาเร็ธจึงได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพสังคม ศาสนา และการเมืองในเวลานั้นได้ไม่ยาก (เทียบกับ ลก 4:23) เมืองนาซาเร็ธมีที่ประชุมของชาวยิวด้วย (ลก 4:16) ดังนั้น ดูเหมือนว่าเมืองนี้ไม่ใช่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ การที่นาธานาเอลพูดแบบนั้นอาจเป็นเพราะเขาแปลกใจที่ฟีลิปคิดว่าคนที่มาจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีนี้จะเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ เพราะพระคัมภีร์บอกล่วงหน้าว่าเมสสิยาห์จะมาจากเบธเลเฮมในยูดาห์—มคา 5:2; ยน 7:42, 52
คนอิสราเอลแท้ ๆ ที่ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอะไร: ชาวอิสราเอลทุกคนเป็นลูกหลานของยาโคบ แต่ในข้อนี้พระเยซูไม่ได้พูดถึงเชื้อชาติของนาธานาเอลเท่านั้น ชื่ออิสราเอลหมายถึง “ผู้ที่ต่อสู้กับ (ผู้ที่ไม่ยอมแพ้) พระเจ้า” และยาโคบได้ชื่อนี้หลังจากที่เขาปล้ำสู้กับทูตสวรรค์เพื่อจะได้พร ยาโคบไม่เหมือนกับเอซาวพี่ชายของเขา ยาโคบเห็นค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเต็มใจทำสุดกำลังเพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า (ปฐก 32:22-28; ฮบ 12:16) คำพูดของพระเยซูจึงหมายความว่านาธานาเอลไม่ได้เป็นแค่คนอิสราเอลเท่านั้น แต่เขามีความเชื่อและทำตามความต้องการของพระเจ้าด้วยความภักดีแบบเดียวกับยาโคบบรรพบุรุษของเขา คำพูดของพระเยซู (ซึ่งอาจมาจาก สด 32:2) ยังแสดงให้เห็นด้วยว่านาธานาเอลไม่ใช่คนเสแสร้งหรือมีเล่ห์เหลี่ยม
คุณจะได้เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก: หลังจากนั้นไม่นาน นาธานาเอลก็ได้เห็นคำพูดนี้เป็นจริง ในงานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานาในแคว้นกาลิลีซึ่งเป็นบ้านเกิดของนาธานาเอล เขาได้เห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์ครั้งแรกโดยเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นชั้นดี (ยน 2:1-11; 21:2) นาธานาเอลกับสาวกคนอื่น ๆ อีก 11 คนซึ่งตอนหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกได้เห็นพระเยซูรักษาคนป่วย ขับไล่ปีศาจ และถึงกับปลุกคนตายให้ฟื้น นอกจากจะเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว นาธานาเอลกับอัครสาวกคนอื่น ๆ ยังได้รับอำนาจให้ทำการอัศจรรย์และประกาศว่า “รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว”—มธ 10:1-8
ฟ้าสวรรค์: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึงท้องฟ้าจริง ๆ หรือหมายถึงสวรรค์ก็ได้
ทูตของพระเจ้า: หรือ “ผู้ส่งข่าว” คำกรีก อางเกะลอส และคำฮีบรู มาลาค ที่มีความหมายเหมือนกันมีอยู่เกือบ 400 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล ทั้ง 2 คำมีความหมายหลักว่า “ผู้ส่งข่าว” ในท้องเรื่องที่พูดถึงผู้ส่งข่าวของพระเจ้าที่มาจากสวรรค์ ก็จะมีการแปลว่า “ทูตสวรรค์” หรือ “ทูตของพระเจ้า” แต่ในท้องเรื่องที่พูดถึงมนุษย์ ก็จะแปลว่า “ผู้ส่งข่าว” ในท้องเรื่องส่วนใหญ่จะบอกชัดเจนว่ากำลังพูดถึงทูตสวรรค์หรือมนุษย์ แต่ถ้าไม่ชัดเจนก็มักจะมีการใช้เชิงอรรถเพื่อแสดงให้เห็นการแปลอีกแบบหนึ่ง (ปฐก 16:7; 32:3; โยบ 4:18, เชิงอรรถ; 33:23, เชิงอรรถ; ปญจ 5:6, เชิงอรรถ; อสย 63:9, เชิงอรรถ; มธ 1:20; ยก 2:25; วว 22:8; ดูส่วนอธิบายศัพท์) ในหนังสือวิวรณ์ที่มีภาพเชิงสัญลักษณ์มากมาย บางครั้งคำว่าทูตหรือทูตสวรรค์อาจหมายถึงมนุษย์ก็ได้—วว 2:1, 8, 12, 18; 3:1, 7, 14
เพื่อมาหา ‘ลูกมนุษย์’: หรือ “เพื่อมารับใช้ ‘ลูกมนุษย์’” เมื่อพระเยซูพูดเกี่ยวกับทูตของพระเจ้าขึ้น ๆ ลง ๆ ท่านอาจคิดถึงตอนที่ยาโคบได้เห็นนิมิตที่มีทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นลงบันได (ปฐก 28:12) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกทูตสวรรค์ทำหน้าที่สำคัญในการรับใช้พระยะโฮวาและมนุษย์ที่พระองค์ยอมรับ คำพูดของพระเยซูจึงแสดงให้เห็นว่าคนที่ติดตามท่านก็มีทูตสวรรค์คอยรับใช้ และเขาจะได้รับการดูแลและการชี้นำในแบบพิเศษจากพระเจ้าผู้เป็นพ่อ
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
วีดีโอและรูปภาพ
สำเนาพระคัมภีร์ที่เห็นในภาพนี้ (มีอายุตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 600) มีข้อความจากหนังสือข่าวดีของยอห์นที่แปลเป็นภาษาคอปติกแบบซาฮิดิก ภาษาคอปติกเป็นภาษาที่พูดกันในอียิปต์ในช่วงหลายร้อยปีหลังจากที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก ภาษาคอปติกเป็นหนึ่งในภาษาแรก ๆ ที่ใช้ในการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเช่นเดียวกับภาษาซีรีแอกและภาษาละติน พอถึงศตวรรษที่ 3 ก็มีฉบับแปลภาษาคอปติกแล้ว ดังนั้น ฉบับแปลนี้จึงช่วยเราให้เข้าใจข้อความภาษากรีกที่ใช้กันในตอนนั้น นี่เป็นประโยชน์เป็นพิเศษเพราะมีความขัดแย้งกันอย่างมากเกี่ยวกับการแปลส่วนหลังของ ยน 1:1 ซึ่งหลายฉบับแปลข้อนี้ว่า “โฆษกอยู่กับพระเจ้าและท่านเป็นพระเจ้า” ภาษาคอปติกแบบซาฮิดิกไม่เหมือนกับภาษากรีกคีนี ภาษาละตินและภาษาซีรีแอก เพราะภาษาคอปติกแบบซาฮิดิกมีคำนำหน้านามที่ไม่เฉพาะเจาะจง (เหมือนกับ “a” และ “an” ในภาษาอังกฤษ) อย่างที่เห็นในภาพนี้ คำว่า “พระเจ้า” ที่มีอยู่ 2 ครั้งในข้อนี้แตกต่างกันเล็กน้อย ครั้งแรก (หมายเลข 1) มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง (ในวงกลมสีแดง) และครั้งที่สอง (หมายเลข 2) มีคำนำหน้านามที่ไม่เฉพาะเจาะจง (ในวงกลมสีแดง) ดังนั้น เมื่อแปลข้อความนี้ตรงตัวเป็นภาษาอังกฤษก็จะแปลได้ว่า “And the Word was with the God, and the Word was a god.” นี่สนับสนุนการแปลข้อนี้ตามพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาไทยที่บอกว่า “โฆษกผู้นี้อยู่กับพระเจ้าและท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:1 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปลวลี “และท่านเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง”
1. “the” (ในวงกลมสีแดง) God
2. “a” (ในวงกลมสีแดง) god
ที่เห็นในภาพนี้คือหน้าแรกของสำเนาพระคัมภีร์ในยุคแรกที่เรียกว่าพาไพรัสบอดเมอร์ 2 (P66) เป็นสำเนาที่มีการคัดลอกและเย็บเล่มเป็นโคเดกซ์ประมาณปี ค.ศ. 200 สำเนานี้มีข้อความภาษากรีกของหนังสือข่าวดีของยอห์นเกือบครบทั้งเล่ม หน้าแรกของสำเนานี้เริ่มด้วยชื่อหนังสือ (ในกรอบสีแดง) ที่เขียนว่า อืออางเกะลิออน คาธา อิโออานเนน (“ข่าวดีที่เขียนโดยยอห์น”) ดูเหมือนว่าไม่มีชื่อหนังสืออยู่ในข้อความต้นฉบับแต่ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังโดยพวกผู้คัดลอก อาจมีการใช้ชื่อหนังสือที่ระบุชื่อคนเขียนด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ชัดว่าใครเป็นคนเขียน
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลาเท่าที่เป็นไปได้
แผนที่ของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มให้ข้อมูลของเหตุการณ์แตกต่างกัน
1. ใกล้กับเบธานีซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน ยอห์นเรียกพระเยซูว่า “ลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:29)
2. พระเยซูทำการอัศจรรย์ครั้งแรกที่เมืองคานาในแคว้นกาลิลี (ยน 2:3, 7-9, 11)
3. พระเยซูชำระวิหารครั้งแรก (ยน 2:13-15)
4. พระเยซูไปที่เขตชนบทของยูเดีย สาวกของท่านให้บัพติศมาผู้คน ยอห์นให้บัพติศมาที่อายโนน (ยน 3:22, 23)
5. ที่บ่อน้ำของยาโคบในเมืองสิคาร์ พระเยซูคุยกับผู้หญิงชาวสะมาเรีย (ยน 4:4-7, 14, 19, 20)
6. พระเยซูรักษาลูกชายของข้าราชการคนหนึ่งโดยไม่ต้องเดินทางไปหาเขา ซึ่งเป็นการอัศจรรย์ครั้งที่ 2 ของท่านที่เมืองคานาในแคว้นกาลิลี (ยน 4:46, 47, 50-54)
7. พระเยซูรักษาคนป่วยคนหนึ่งที่สระเบธซาธาในกรุงเยรูซาเล็ม (ยน 5:2-5, 8, 9)
8. ที่ชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี หลังจากพระเยซูทำการอัศจรรย์เลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน ผู้คนก็พยายามจะตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์ (มธ 14:19-21; ยน 6:10, 14, 15)
9. ในที่ประชุมของชาวยิวที่เมืองคาเปอร์นาอุม พระเยซูบอกว่าท่านเป็น “อาหารที่ให้ชีวิต” หลายคนไม่สบายใจและเลิกติดตามท่าน (ยน 6:48, 54, 59, 66)
10. ที่สระสิโลอัม พระเยซูรักษาผู้ชายที่ตาบอดตั้งแต่เกิด (ยน 9:1-3, 6, 7)
11. พวกยิวพยายามเอาหินขว้างพระเยซูตรงระเบียงทางเดินของโซโลมอนที่วิหาร (ยน 10:22, 23, 31)
12. ตอนที่พวกยิวพยายามจะจับพระเยซู ท่านเดินทางข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปบริเวณที่ยอห์นเคยให้บัพติศมา หลายคนที่นั่นเชื่อในตัวพระเยซู (ยน 10:39-42)
13. พระเยซูปลุกลาซารัสในเบธานี (ยน 11:38, 39, 43, 44)
14. ตอนที่พวกยิวในกรุงเยรูซาเล็มหาทางฆ่าพระเยซู ท่านหนีไปที่เมืองเอฟราอิมซึ่งอยู่ใกล้ที่กันดาร (ยน 11:53, 54)
15. พระเยซูนั่งลามาตามถนนจากหมู่บ้านเบธฟายี ท่านเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้มีชัย (มธ 21:1, 7-10; มก 11:1, 7-11; ลก 19:29, 30, 35, 37, 38; ยน 12:12-15)
16. พระเยซูเดินข้ามหุบเขาขิดโรนไปที่สวนเกทเสมนีกับพวกสาวก (มธ 26:30; มก 14:26; ลก 22:39; ยน 18:1)
17. ในสวนเกทเสมนี ยูดาสทรยศพระเยซู และท่านถูกจับ (มธ 26:47-50; มก 14:43-46; ลก 22:47, 48, 54; ยน 18:2, 3, 12)
18. พระเยซูถูกเฆี่ยนและถูกเยาะเย้ยที่บ้านผู้ว่าราชการ (มธ 27:26-29; มก 15:15-20; ยน 19:1-3)
19. พระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมานที่กลโกธา (มธ 27:33-36; มก 15:22-25; ลก 23:33; ยน 19:17, 18)
20. พระเยซูฟื้นขึ้นจากตายและปรากฏตัวให้มารีย์มักดาลาเห็นในสวนใกล้อุโมงค์ฝังศพของท่าน (มธ 28:1, 5, 6, 8, 9; ยน 20:11, 12, 15-17)
21. บนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระเยซูปรากฏตัวกับพวกสาวก เปโตรยืนยันว่าเขารักท่าน (ยน 21:12-15)
ภาพนี้ถ่ายจากหน้าผาแห่งหนึ่งใกล้เมืองนาซาเร็ธโดยมองไปทางใต้ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงหุบเขายิสเรเอลที่อุดมสมบูรณ์นี้หลายครั้ง ในภาพนี้จะเห็นที่ราบหุบเขาตั้งแต่ด้านตะวันออกไปจนถึงตะวันตก (ยชว 17:16; วนฉ 6:33; ฮชย 1:5) ที่เห็นเด่นชัดทางด้านซ้ายคือภูเขาโมเรห์ซึ่งมีเมืองนาอินตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านหนึ่ง เมืองนี้เป็นเมืองที่พระเยซูปลุกลูกชายของแม่ม่ายให้ฟื้นขึ้นจากตาย (วนฉ 7:1; ลก 7:11-15) ตรงกลางภาพจะเห็นภูเขากิลโบอาอยู่ไกล ๆ (1ซม 31:1, 8) พระเยซูเติบโตขึ้นในเมืองนาซาเร็ธซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหุบเขายิสเรเอลแห่งนี้ และอาจเคยมาที่นี่เพื่อดูสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล—ลก 2:39, 40