เขียนโดยยอห์น 10:1-42
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
จำเสียงเขาได้: การเฝ้าดูคนเลี้ยงแกะในตะวันออกกลางยืนยันว่าแกะมีความสามารถอย่างหนึ่งที่น่าทึ่ง พวกมันแยกออกว่าเสียงไหนคือเสียงของคนที่เลี้ยงมันและเสียงไหนไม่ใช่ และเหมือนที่พระเยซูบอกไว้ คนเลี้ยงแกะจะตั้งชื่อให้แกะทุกตัวไม่ว่าเขาจะมีแกะในฝูงมากขนาดไหนก็ตาม (ยน 10:3, 27) ดังนั้น แกะจะได้ยินเสียงคนเลี้ยงเรียกชื่อมันตั้งแต่เล็ก ๆ ตอนที่เขานำทางหรือฝึกพวกมัน นอกจากนั้น คนเลี้ยงจะใช้เสียงเฉพาะเพื่อแยกระหว่างตัวเขากับคนอื่น พวกเขาจะฝึกให้แกะจำได้ว่าเสียงแต่ละเสียงหมายถึงคำสั่งอะไร เพื่อช่วยปกป้องพวกมันจากอันตรายหรือเพื่อพาพวกมันไปยังทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้น แกะจึงจำเสียง ของคนเลี้ยงได้ในแง่ที่ว่ามันแยกออกระหว่างเสียงคนเลี้ยงกับคนอื่น ๆ พวกมันยังรับรู้ด้วยว่าคนเลี้ยงรักและเอาใจใส่พวกมันแต่ละตัวและคอยปกป้องพวกมันทั้งฝูง
จะไม่ตาม: การใช้คำว่า “ไม่” 2 ครั้งในภาษากรีกเป็นการเน้นว่าการกระทำนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ซึ่งในข้อนี้เน้นให้เห็นว่าคำพูดนี้ของพระเยซูจะเป็นจริงเสมอ ในท้องเรื่องนี้คำว่าคนแปลกหน้าหมายถึงคนที่แกะไม่รู้จัก
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ยอห์นเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่ใช้คำกรีก พารอยเมีย (ยน 10:6; 16:25, 29) คำนี้มีความหมายคล้ายกับคำกรีก พาราบอเล (“ตัวอย่างเปรียบเทียบ” หรือ “คติสอนใจ”) ที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่น ๆ ใช้ แต่ในบันทึกของยอห์นไม่ได้ใช้เลย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3) คำว่า พารอยเมีย ยังใช้หมายถึงการเปรียบเทียบหรือเรื่องเปรียบเทียบได้ด้วย เปโตรก็ใช้คำนี้ตอนที่เขายก “สุภาษิต” เกี่ยวกับหมาที่กลับไปกินของที่มันอ้วกออกมา และหมูที่กลับไปเกลือกกลิ้งในโคลนตม (2ปต 2:22) ชื่อหนังสือสุภาษิตในฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ด้วย
ที่ดี: หรือ “ยอดเยี่ยม, ดีมาก” คำกรีก คาลอส อาจหมายถึงสิ่งที่ดีและสวยงามมาก หรือคุณภาพดีมาก ตัวอย่างเช่น มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึง “ผลดี, ดินดี, ไข่มุกเม็ดงาม” (มธ 3:10; 13:8, 45) ในท้องเรื่องนี้ มีการใช้คำนี้เพื่อบอกว่าพระเยซูเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีและยอดเยี่ยม
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ การแปลความหมายของคำนี้ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้คำนี้หมายถึงชีวิตของพระเยซู ท่านเป็นคนเลี้ยงที่ดีซึ่งยอมสละชีวิตของท่านเพื่อแกะ
ลูกจ้าง: ฝูงแกะเป็นสมบัติที่มีค่ามาก ดังนั้น เจ้าของฝูงแกะ ลูกของเขา หรือญาติมักจะดูแลแกะของพวกเขาอย่างดี (ปฐก 29:9; 30:31; 1ซม 16:11) เจ้าของอาจจ้างคนมาดูแลแกะของเขาก็ได้ แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่จะทำงานเพราะเห็นแก่ค่าจ้าง พวกเขาไม่ได้ทำเพราะเป็นห่วงแกะหรือเพราะภักดีต่อนายจ้าง (เทียบกับ โยบ 7:1, 2) ในพระคัมภีร์ หลายครั้งการเลี้ยงแกะถูกใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงการดูแล ปกป้อง และบำรุงเลี้ยงผู้รับใช้ของพระเจ้าที่เป็นเหมือนแกะ (ปฐก 48:15) ผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคมคริสเตียนต้องไม่มีความคิดเหมือนคนที่เป็น “ลูกจ้าง” (ยน 10:13) แต่พวกเขาต้องพยายามเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาที่ดูแลแกะของพระองค์อย่างดี (สด 23:1-6; 80:1; ยรม 31:10; อสค 34:11-16) และเลียนแบบพระเยซู “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งรักแกะมากจนยอมเสียสละชีวิตของท่านเพื่อแกะ—ยน 10:11, 14; กจ 20:28, 29; 1ปต 5:2-4
ชีวิต: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 10:11
พา . . . เข้ามา: หรือ “นำทาง” คำกริยากรีก อาโก ที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลได้ว่า “พาเข้ามา” หรือ “นำทาง” ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกฉบับหนึ่งที่ทำขึ้นประมาณปี ค.ศ. 200 ใช้คำกรีก ซูนาโก ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำว่า อาโก โดยมักจะแปลว่า “รวบรวม” พระเยซูเป็นคนเลี้ยงแกะที่ดี ท่านรวบรวม นำทาง ปกป้อง และเลี้ยงดูแกะที่อยู่ในคอกนี้ (ซึ่งก็คือ “แกะฝูงเล็ก” ใน ลก 12:32) รวมทั้งพวกแกะอื่นด้วย ดังนั้น แกะทั้งสองฝูงจะรวมเป็นฝูงเดียวและมีคนเลี้ยงคนเดียว ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูทำให้เห็นภาพว่าสาวกของท่านจะเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างมีความสุข
ฟัง: คำกรีกที่แปลว่า “ฟัง” ในข้อนี้หมายถึง “สนใจ เข้าใจ และทำตาม”
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ การแปลความหมายของคำนี้ขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในข้อนี้คำนี้หมายถึงชีวิตของพระเยซูที่ท่านเต็มใจสละเพื่อแกะ
เทศกาลฉลองการอุทิศวิหาร: เทศกาลนี้มีชื่อในภาษาฮีบรูว่า ฮานุกกาห์ (คานุกกาห์) แปลว่า “การอุทิศ, การถวาย” การฉลองนี้ใช้เวลานาน 8 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 เดือนคิสเลฟ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าฤดูหนาวในข้อนี้ และภาคผนวก ข15) การฉลองนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการอุทิศวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งซึ่งเกิดขึ้นในปี 165 ก่อน ค.ศ. เพราะก่อนหน้านั้น กษัตริย์ซีเรียชื่ออันทิโอกุสที่ 4 เอพิฟาเนสได้ดูหมิ่นพระยะโฮวาพระเจ้าของชาวยิวโดยทำให้วิหารของพระองค์แปดเปื้อน เช่น สร้างแท่นบูชาทับแท่นบูชาใหญ่ที่เคยใช้เผาเครื่องบูชาถวายพระยะโฮวาทุกวัน และในวันที่ 25 เดือนคิสเลฟ ปี 168 ก่อน ค.ศ. เขาได้ดูหมิ่นวิหารของพระยะโฮวาอย่างร้ายแรงที่สุดโดยเอาหมูมาเผาบนแท่นนั้นและเอาน้ำต้มเนื้อหมูประพรมทั่ววิหาร เขาเผาประตูของวิหาร รื้อทำลายห้องของปุโรหิต เอาแท่นบูชาทองคำกับโต๊ะวางขนมปังถวายและเชิงตะเกียงทองคำออกไป แล้วเขาก็อุทิศวิหารที่เป็นของพระยะโฮวาให้กับเทพเจ้าซูสแห่งโอลิมปัส สองปีต่อมา ยูดาส แมคคาบีอุส ยึดกรุงเยรูซาเล็มกับวิหารคืนมาได้ หลังจากชำระวิหารให้สะอาดแล้ว เขาก็อุทิศวิหารนี้อีกครั้งในวันที่ 25 เดือนคิสเลฟ ปี 165 ก่อน ค.ศ. ครบสามปีพอดีหลังจากอันทิโอกุสถวายเครื่องบูชาที่น่ารังเกียจบนแท่นให้เทพเจ้าซูส หลังจากการอุทิศครั้งนี้ก็เริ่มมีการถวายเครื่องบูชาเผาให้พระยะโฮวาเป็นประจำทุกวันอีกครั้ง ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่บอกตรง ๆ ว่าพระยะโฮวาช่วยให้ยูดาส แมคคาบีอุสได้ชัยชนะและให้เขาฟื้นฟูวิหารขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาเคยใช้คนต่างชาติ อย่างเช่น ไซรัสชาวเปอร์เซียให้ทำตามความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับการนมัสการแท้ (อสย 45:1) ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่า พระยะโฮวาอาจใช้คนซึ่งอยู่ในชาติที่ได้อุทิศตัวให้พระเจ้าแล้ว เพื่อทำให้ความประสงค์ของพระองค์สำเร็จ พระคัมภีร์ทำให้เรารู้ว่าวิหารจะต้องมีอยู่และถูกใช้งานเพื่อคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ งานรับใช้ และการถวายเครื่องบูชาของท่านจะสำเร็จเป็นจริง นอกจากนั้น การถวายเครื่องบูชาของคนตระกูลเลวีจะต้องไม่หยุดจนกว่าเมสสิยาห์จะถวายเครื่องบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งก็คือชีวิตของท่านที่สละเพื่อมนุษย์ทุกคน (ดนล 9:27; ยน 2:17; ฮบ 9:11-14) สาวกของพระคริสต์ไม่ได้รับคำสั่งให้จัดเทศกาลฉลองการอุทิศวิหาร (คส 2:16, 17) แต่ไม่มีบันทึกที่บอกว่าพระเยซูและสาวกของท่านตำหนิการฉลองนี้
ฤดูหนาว: หมายถึงฤดูหนาวสุดท้ายในปี ค.ศ. 32 ที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก เทศกาลฉลองการอุทิศวิหารอยู่ในเดือนคิสเลฟซึ่งเป็นเดือน 9 (พฤศจิกายน/ธันวาคม) และในปี ค.ศ. 32 วันที่ 25 เดือนคิสเลฟซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลนี้ตรงกับช่วงกลางเดือนธันวาคม (ดูภาคผนวก ข15) ชาวยิวทั่วไปรู้ว่าเทศกาลนี้ฉลองกันในฤดูหนาว ดังนั้น การพูดถึงฤดูหนาวในข้อนี้จึงอาจเป็นการเน้นสภาพอากาศซึ่งทำให้เข้าใจว่าทำไมพระเยซูถึงไปสอนอยู่ที่ “ระเบียงทางเดินของโซโลมอน” (ยน 10:23) เพราะที่นั่นมีหลังคาที่ช่วยกันลมหนาวที่พัดมาจากทิศตะวันออก—ดูภาคผนวก ข11
ปล่อยให้พวกเรา: หรือ “ปล่อยให้ใจของพวกเรา” คำกรีก พะซูเฆ มีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง ในบางท้องเรื่องอาจใช้เป็นสรรพนาม ตัวอย่างการใช้คำ พะซูเฆ ลักษณะนี้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีอยู่ที่ มธ 12:18; 26:38 และ ฮบ 10:38
แกะที่พ่อของผมยกให้ผมนั้นสำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกและฉบับแปลต่าง ๆ ในหลายภาษาแปลข้อความนี้แตกต่างกัน สำเนาบางฉบับมีข้อความที่แปลได้ว่า “พ่อของเราที่ให้แกะเหล่านี้กับเราเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง” แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าการแปลแบบฉบับแปลโลกใหม่ น่าจะตรงกับต้นฉบับมากที่สุด
หนึ่งเดียวกัน: คำพูดของพระเยซูในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าท่านกับพระเจ้าผู้เป็นพ่อเป็นหนึ่งเดียวกันในการปกป้องคนที่เป็นเหมือนแกะและช่วยพวกเขาให้ได้รับชีวิตตลอดไป นี่เป็นงานที่พระองค์ทั้งสองร่วมมือกัน ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูเป็นห่วงแกะมากและไม่ยอมให้ใครแย่งแกะไปจากมือได้ (ยน 10:27-29; เทียบกับ อสค 34:23, 24) ในหนังสือข่าวดีของยอห์น มักมีการพูดถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระเจ้าผู้เป็นพ่อและลูกของพระองค์ในแง่ของความสัมพันธ์ ความต้องการ และเป้าหมาย คำกรีกในข้อนี้ที่แปลว่า “หนึ่งเดียวกัน” ไม่ใช่คำเพศชาย (ที่ใช้กับบุคคล) แต่เป็นคำที่ไม่มีเพศ ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่าพระเยซูและพ่อของท่าน “เป็นหนึ่งเดียวกัน” ในการกระทำและความร่วมมือกัน แต่ไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกัน (ยน 5:19; 14:9, 23) และสิ่งที่พระเยซูพูดไม่ได้หมายความว่าทั้งท่านกับพ่อมีตำแหน่งเท่าเทียมกัน เมื่อเราเปรียบเทียบคำพูดของพระเยซูในข้อนี้กับคำอธิษฐานของท่านในหนังสือยอห์น บท 17 เราก็จะเห็นเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน (ยน 10:25-29; 17:2, 9-11) โดยเฉพาะตอนที่ท่านอธิษฐานขอให้พวกสาวก “เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนที่ผมกับพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 17:11) ดังนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่พูดถึงใน บท 10 และ บท 17 ถ่ายทอดแนวคิดเดียวกัน
ในกฎหมายของพวกคุณ: คำว่า “กฎหมาย” ในข้อนี้หมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งเล่ม ไม่ใช่แค่กฎหมายของโมเสส ในข้อนี้พระเยซูยกข้อความจาก สด 82:6 และคำว่า “กฎหมาย” ในข้อนี้ก็มีความหมายเหมือนกับที่ ยน 15:25
พระ: หรือ “คนที่เป็นเหมือนพระ” พระเยซูยกข้อความนี้มาจาก สด 82:6 ซึ่งในข้อนั้นคำฮีบรู เอโลฮิม (พระ) ใช้เพื่อหมายถึงมนุษย์ ซึ่งก็คือผู้พิพากษาในอิสราเอล พวกเขาเป็น “พระ” ในความหมายที่ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนและผู้ที่พูดแทนพระเจ้า พระคัมภีร์ก็เคยบอกว่าโมเสสเป็น “พระเจ้า” สำหรับอาโรนและฟาโรห์—อพย 4:16, เชิงอรรถ; 7:1, เชิงอรรถ
เป็นหนึ่งเดียวกับ: แปลตรงตัวว่า “อยู่ใน” ในท้องเรื่องนี้ มีการใช้คำบุพบทกรีก เอน เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด การใช้คำบุพบทนี้ในงานเขียนของยอห์นและเปาโลน่าสนใจเป็นพิเศษ (กท 1:22; 3:28; อฟ 2:13, 15; 6:1) ที่ 1ยน 3:24 และ 4:13, 15 มีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่คริสเตียนมีกับพระเจ้า ใน ยน 17:20-23 มีการใช้คำบุพบท เอน 5 ครั้ง ซึ่งวิธีที่ยอห์นใช้ก็สนับสนุนการแปลคำนี้ว่า “เป็นหนึ่งเดียวกับ”
วีดีโอและรูปภาพ
คอกแกะคือบริเวณที่มีการล้อมรั้วซึ่งช่วยปกป้องแกะจากขโมยและสัตว์นักล่า ตอนกลางคืนคนเลี้ยงแกะจะพาแกะของเขามาไว้ในคอกเพื่อความปลอดภัย คอกแกะในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมีหลายแบบและหลายขนาดแต่ไม่มีหลังคา ส่วนใหญ่แล้วล้อมด้วยกำแพงหินเตี้ย ๆ และมีประตูทางเข้าทางเดียว (กดว 32:16; 1ซม 24:3; ศฟย 2:6) ยอห์นพูดถึงการเข้าไปในคอกแกะ “ทางประตู” ที่มี “คนเฝ้าประตู” คอยดูแลอยู่ (ยน 10:1, 3) ในคอกแกะของชุมชนจะมีแกะมากกว่าหนึ่งฝูงเข้ามานอน และมีคนเฝ้าประตูตลอดคืนเพื่อปกป้องฝูงแกะ พอถึงตอนเช้า คนเฝ้าประตูจะเปิดให้พวกคนเลี้ยงแกะเข้ามาพาฝูงแกะของตัวเองออกไป คนเลี้ยงแกะแต่ละคนจะส่งเสียงเรียกฝูงของตัวเอง และแกะก็จะจำเสียงคนเลี้ยงได้และตามเขาไป (ยน 10:3-5) พระเยซูยกตัวอย่างเรื่องนี้เพื่ออธิบายว่าท่านดูแลสาวกของท่านอย่างไร—ยน 10:7-14
หมาป่าในอิสราเอลเป็นนักล่าที่ชอบออกหากินตอนกลางคืน (ฮบก 1:8) หมาป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ตะกละ ใจกล้า และโลภ มันมักจะฆ่าแกะมากเกินกว่าที่มันจะกินได้หรือลากไปได้ ในคัมภีร์ไบเบิล มักมีการใช้สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะนิสัยของมันเป็นภาพเปรียบเทียบทั้งในด้านดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น ก่อนตายยาโคบพยากรณ์เกี่ยวกับตระกูลเบนยามินว่าเป็นนักสู้เหมือนหมาป่า (Canis lupus) (ปฐก 49:27) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีการเปรียบหมาป่ากับคนที่มีนิสัยไม่ดี เช่น ดุร้าย โลภ ตะกละ และเจ้าเล่ห์ คนที่ถูกเปรียบว่าเป็นหมาป่ามีทั้งผู้พยากรณ์เท็จ (มธ 7:15) ผู้ต่อต้านที่โหดร้ายซึ่งต่อต้านงานรับใช้ของคริสเตียน (มธ 10:16; ลก 10:3) และพวกผู้สอนเท็จซึ่งทำให้ประชาคมคริสเตียนตกอยู่ในอันตราย (กจ 20:29, 30) ผู้เลี้ยงแกะจะต้องรู้ว่าหมาป่าจะมาทำอันตรายอะไร พระเยซูพูดถึง “ลูกจ้าง” ซึ่ง “เมื่อเห็นหมาป่ามา เขาก็ทิ้งฝูงแกะแล้วหนีไป” พระเยซูต่างจากลูกจ้างคนนั้นที่ “ไม่ได้เป็นห่วงแกะจริง ๆ” ท่านเป็น “คนเลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งยอม “สละชีวิตเพื่อแกะ”—ยน 10:11-13
วีดีโอ 3 มิตินี้แสดงภาพจำลองหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ของระเบียงทางเดินของโซโลมอน ระเบียงนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของลานชั้นนอกของวิหารในกรุงเยรูซาเล็มสมัยศตวรรษแรก ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเป็นทางเดินกว้างที่มีหลังคา คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงระเบียงทางเดินนี้ 3 ครั้ง ยอห์นเล่าว่าครั้งหนึ่งตอนที่พระเยซูเดินอยู่ที่ระเบียงนี้ พวกยิวมายืนล้อมท่านและถามว่าท่านเป็นพระคริสต์หรือเปล่า (ยน 10:22-24) อีกครั้งหนึ่ง ฝูงชนมาชุมนุมกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเพื่อฟังเปโตรอธิบายว่าเขารักษาผู้ชายที่เป็นง่อยมาตั้งแต่เกิดได้อย่างไร (กจ 3:1-7, 11) และครั้งที่ 3 คริสเตียนยุคแรกมักมาพบกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนซึ่งเป็นที่ที่คนทั่วไปเห็นได้—กจ 5:12, 13; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ระเบียงทางเดินของโซโลมอน”