เขียนโดยยอห์น 11:1-57
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ลาซารัส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 16:20
เบธานี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:17
หลับอยู่: คัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงความตายว่าเป็นเหมือนการนอนหลับ (สด 13:3; มก 5:39; กจ 7:60; 1คร 7:39; 15:51; 1ธส 4:13) พระเยซูกำลังจะปลุกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากตาย ดังนั้น ท่านคงจะพูดแบบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนตายจะฟื้นขึ้นมาเหมือนกับการปลุกคนที่หลับสนิทให้ตื่นขึ้นมา และพระเยซูได้อำนาจที่จะปลุกลาซารัสมาจากพ่อของท่านผู้ “ทำให้คนตายมีชีวิตอีกได้”—รม 4:17; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:39; กจ 7:60
โธมัส: ชื่อกรีกนี้มาจากคำภาษาอาราเมอิกที่แปลว่า “แฝด” อัครสาวกโธมัสมีชื่อกรีกอีกชื่อหนึ่งว่า ดิดุโมส (พระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “ดิดุมัส”) ซึ่งก็แปลว่าแฝดเหมือนกัน
ฝังในอุโมงค์ได้ 4 วันแล้ว: ตอนที่ลาซารัสป่วยหนัก มารีย์กับมาร์ธาส่งคนไปบอกพระเยซู (ยน 11:1-3) ตอนนั้นพระเยซูอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งห่างจากหมู่บ้านเบธานีประมาณ 2 วัน และลาซารัสคงตายในช่วงที่มีคนไปบอกท่าน (ยน 10:40) แต่พระเยซู “ก็ยังอยู่ที่เดิมต่ออีก 2 วัน” แล้วค่อยเดินทางไปหมู่บ้านเบธานี (ยน 11:6, 7) เนื่องจากพระเยซูรออยู่ 2 วันและใช้เวลาเดินทางอีก 2 วัน ท่านจึงมาถึงอุโมงค์ฝังศพของลาซารัสหลังจากเขาตายไปได้ 4 วันแล้ว ก่อนหน้านั้นพระเยซูเคยปลุกคนตายมาแล้วอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งถูกปลุกทันทีหลังจากตาย ส่วนอีกคนหนึ่งถูกปลุกในวันเดียวกับที่เขาตาย (ลก 7:11-17; 8:49-55; เทียบกับ มธ 11:5) แต่พระเยซูยังไม่เคยปลุกใครที่ตายมาได้ 4 วันซึ่งศพเริ่มเน่าแล้ว (ยน 11:39) พวกยิวมีความเชื่อผิด ๆ อย่างหนึ่งว่าหลังจากตาย 3 วันแล้ววิญญาณจะออกจากร่าง แต่พอเห็นพระเยซูปลุกลาซารัสขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ คนที่เชื่อแบบนี้ก็อาจมั่นใจว่าพระเยซูสามารถปลุกคนตายได้จริง—ยน 12:9, 10, 17
อุโมงค์: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
ประมาณ 3 กิโลเมตร: แปลตรงตัวว่า “ประมาณ 15 สทาดิอ็อน” ซึ่ง 1 สทาดิอ็อน เท่ากับ 185 เมตร หรือ 1/8 ไมล์ของโรมัน—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ไมล์” และภาคผนวก ข14
ดิฉันเชื่อค่ะว่า เขาจะถูกปลุกให้ฟื้น: มาร์ธาคิดว่าพระเยซูพูดถึงการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือในวันสุดท้าย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:39) ความเชื่อที่เธอมีต่อคำสอนนี้น่าประทับใจจริง ๆ ผู้นำศาสนาบางคนในสมัยของเธอที่เรียกว่าพวกสะดูสีไม่เชื่อเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายแม้พระคัมภีร์พูดถึงคำสอนนี้ไว้ชัดเจน (ดนล 12:13; มก 12:18) ส่วนพวกฟาริสีก็เชื่อเรื่องวิญญาณอมตะ ถึงอย่างนั้นมาร์ธารู้ว่าพระเยซูสอนเรื่องความหวังเกี่ยวกับการฟื้นขึ้นจากตาย และท่านถึงกับปลุกคนตายให้ฟื้นด้วย แม้ท่านยังไม่เคยปลุกใครที่ตายไปนานเท่าลาซารัส
ผมคือคนที่ปลุกคนตายให้ฟื้นและให้เขามีชีวิต: ความตายของพระเยซูและการที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นเปิดทางให้คนตายกลับมามีชีวิตอีก หลังจากที่พระยะโฮวาปลุกพระเยซูให้ฟื้น พระองค์ก็ให้ท่านมีอำนาจในการปลุกคนตายและให้ชีวิตตลอดไปได้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:26) ใน วว 1:18 พระเยซูเรียกตัวเองว่า “ผู้มีชีวิตอยู่” ซึ่งมี “ลูกกุญแจที่ปลดปล่อยคนจากความตายและหลุมศพ” ดังนั้น พระเยซูจึงเป็นความหวังสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่และคนตาย ท่านสัญญาว่าจะเปิดหลุมฝังศพและให้ชีวิตกับคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในสวรรค์เพื่อจะปกครองร่วมกับท่าน หรือชีวิตในโลกใหม่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสวรรค์—ยน 5:28, 29
จะไม่ตายเลย: ตอนที่พระเยซูบอกว่าจะไม่ตายหรือจะมีชีวิตตลอดไป ท่านไม่ได้หมายความว่าคนที่ฟังท่านในตอนนั้นจะไม่ต้องตายเลย แต่พระเยซูกำลังบอกว่าการเชื่อในตัวท่านจะทำให้ได้ชีวิตตลอดไป เราสรุปได้แบบนี้โดยดูจากสิ่งที่พระเยซูพูดก่อนหน้านี้ในยอห์นบท 6 ที่ท่านบอกว่าคนที่แสดงความเชื่อจะมีชีวิตตลอดไป—ยน 6:39-44, 54
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
ร้องไห้: คำกรีกที่แปลว่า “ร้องไห้” มักหมายถึงการร้องไห้เสียงดังจนคนได้ยิน และมีการใช้คำกริยาเดียวกันนี้ตอนที่พระเยซูบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับการทำลายกรุงเยรูซาเล็ม—ลก 19:41
เศร้าและสะเทือนใจ: สองคำนี้ในภาษาเดิมใช้เพื่ออธิบายความรู้สึกที่ท่วมท้นของพระเยซูต่อเหตุการณ์นี้ คำกริยากรีกที่แปลว่า “เศร้า” (เอ็มบะริมอาออไม) ปกติหมายถึงความรู้สึกที่แรงกล้า แต่ในท้องเรื่องนี้เน้นไปที่ความรู้สึกของพระเยซูที่เศร้ามาก และคำกรีกที่แปลว่า “สะเทือนใจ” (ทาราโซส์) มีความหมายตรงตัวว่ากระวนกระวายใจ ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งบอกว่าคำนี้เมื่อใช้ในท้องเรื่องนี้มีความหมายว่า “วุ่นวายใจมาก, เจ็บปวดหรือเศร้าใจมาก” คำกริยาเดียวกันนี้มีอยู่ใน ยน 13:21 ด้วยซึ่งอธิบายความรู้สึกของพระเยซูเมื่อคิดว่าท่านจะถูกยูดาสทรยศ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 11:35
ร้องไห้น้ำตาไหล: คำที่ใช้ในข้อนี้ (ดาครูโอ) เป็นคำกริยาที่มาจากคำนามกรีกซึ่งแปลว่า “น้ำตา” คำนามนี้มีอยู่ใน ลก 7:38; กจ 20:19, 31; ฮบ 5:7; วว 7:17; 21:4 ดูเหมือนคำนี้เน้นที่น้ำตามากกว่าการร้องไห้แบบมีเสียง ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกริยานี้ใช้เฉพาะในข้อนี้เท่านั้นและต่างจากที่ใช้ใน ยน 11:33 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) ใน ยน 11:33 ใช้อีกคำหนึ่งเมื่อบอกว่ามารีย์กับพวกยิวร้องไห้ ถึงแม้พระเยซูรู้ว่าท่านกำลังจะปลุกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว แต่พอเห็นเพื่อน ๆ ที่ท่านรักโศกเศร้ามาก ท่านก็เศร้าไปด้วย พระเยซูรักและสงสารเพื่อนของท่านจนน้ำตาไหลออกมา เรื่องนี้ทำให้เห็นชัดว่าพระเยซูเห็นอกเห็นใจคนที่สูญเสียคนที่เขารักเพราะความตายที่ตกทอดมาจากอาดัม
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
ป่านนี้ศพคงเหม็นแย่แล้ว: คำพูดของมาร์ธาแสดงให้เห็นว่าชาวยิวไม่มีธรรมเนียมการอาบยารักษาศพเพื่อจะเก็บศพไว้ได้นาน ๆ ถ้ามีการอาบศพลาซารัสแบบนั้น มาร์ธาคงไม่บอกว่าป่านนี้ศพเหม็นแล้ว และถึงแม้มือกับเท้ารวมทั้ง ‘หน้าของลาซารัสมีผ้าพันไว้’ แต่ดูเหมือนไม่ได้ทำเพื่อรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อย—ยน 11:44
ตั้ง 4 วันแล้ว: แปลตรงตัวว่า “เป็นที่ 4” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้บอกแค่ตัวเลข ส่วนคำว่า “วัน” เพิ่มเข้ามาตามท้องเรื่อง ดูเหมือนว่าตอนนั้นผ่านไป 3 วันเต็มแล้ว และอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่งของวันที่ 4
ลาซารัส: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 16:20
หน้าก็มีผ้าพันไว้: ชาวยิวมีธรรมเนียมเตรียมศพก่อนจะนำไปฝังโดยชโลมศพด้วยเครื่องหอมและพันด้วยผ้าลินินที่สะอาด แต่นี่ไม่ได้เป็นการอาบยารักษาศพเหมือนที่ชาวอียิปต์ทำกัน (ปฐก 50:3; มธ 27:59; มก 16:1; ยน 19:39, 40) ตอนที่ลาซารัสถูกปลุกและเดินออกมาจากอุโมงค์ เขายังมีผ้าพันอยู่ที่หัวและใบหน้า คำกรีก ซู่ดาริออน ที่แปลว่า “ผ้า” ในข้อนี้หมายถึงผ้าชิ้นเล็ก ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดปาก หรือผ้าเช็ดหน้า มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ ยน 20:7 เมื่อพูดถึง “ผ้าที่ใช้คลุมส่วนหัว [ของพระเยซู]”
วิหาร: แปลตรงตัวว่า “ที่ของเรา” คือที่นมัสการหรือสถานบริสุทธิ์ของเรา ซึ่งน่าจะหมายถึงวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม—เทียบกับ กจ 6:13, 14
มหาปุโรหิต: ตอนที่ชาติอิสราเอลเป็นเอกราช มหาปุโรหิตจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต (กดว 35:25) แต่ตอนที่ชาติอิสราเอลอยู่ภายใต้การปกครองของโรม ผู้ปกครองที่ได้รับอำนาจจากโรมมีสิทธิ์แต่งตั้งหรือปลดมหาปุโรหิตได้ (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “มหาปุโรหิต”) เคยาฟาสมีความสามารถด้านการทูต เขาอยู่ในตำแหน่งมหาปุโรหิตนานกว่าคนอื่น ๆ ก่อนหน้าเขา เคยาฟาสได้รับการแต่งตั้งจากโรมประมาณปี ค.ศ. 18 และดำรงตำแหน่งจนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 การที่ยอห์นพูดถึงเคยาฟาสว่าเป็นมหาปุโรหิตในปีนั้นซึ่งก็คือปี ค.ศ. 33 เขาคงอยากจะเน้นว่าเคยาฟาสเป็นมหาปุโรหิตในปีที่พระเยซูถูกประหาร—ดูภาคผนวก ข12 เพื่อจะเห็นตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านของเคยาฟาส
เอฟราอิม: เชื่อกันว่าเมืองนี้เป็นเมืองเดียวกับเอฟราอินที่อาบียาห์กษัตริย์ยูดาห์ยึดมาจากเยโรโบอัมกษัตริย์อิสราเอล (2พศ 13:19) ดูเหมือนว่าที่ตั้งของเมืองนี้ในปัจจุบันคือหมู่บ้านเอดไทยีบาห์ (หรือเอดไทยีเบห์) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเบธเอลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 6 กม. และห่างจากบริเวณที่น่าจะเป็นที่ตั้งของบาอัลฮาโซร์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กม. (2ซม 13:23) เมืองเอฟราอิมอยู่ใกล้ที่กันดาร และเมื่อมองลงไปจากเมืองนี้ก็จะเห็นที่ราบกันดารเยรีโคกับทะเลเดดซีอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวบอกว่านายพลเวสปาเชียนของโรมยึดเมืองนี้ได้ตอนที่เขานำทัพมาโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม—The Jewish War, IV, 551 (ix, 9)
เทศกาลปัสกา: คือเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 33 ดูเหมือนเป็นปัสกาครั้งที่ 4 ซึ่งมีการพูดถึงในหนังสือข่าวดีของยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13; 5:1; 6:4
วีดีโอและรูปภาพ
พระเยซูสั่งผู้ชายคนหนึ่งที่ตายไปแล้วว่า “ลาซารัส ออกมา” (ยน 11:43) ทันใดนั้น ลาซารัสก็รู้สึกตัว ลุกขึ้นยืนและเริ่มเดินทั้ง ๆ ที่มีผ้าพันตัวเขาไว้ มาร์ธากับมารีย์พี่น้องของเขาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง แต่มันคือความจริง! การอัศจรรย์นี้ทำให้หลายคนที่เห็นเริ่มเชื่อในพระเยซู บันทึกเรื่องนี้ทำให้เราเห็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซู และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าท่านจะทำการอัศจรรย์ในขอบเขตที่ใหญ่กว่ามากในโลกใหม่ (ยน 5:28) บันทึกเรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของลาซารัสมีอยู่ในหนังสือข่าวดีของยอห์นเท่านั้น
ศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มที่เรียกว่าศาลแซนเฮดรินใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 71 คน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการจัดที่นั่งในศาลเป็นรูปครึ่งวงกลมซ้อนกัน 3 แถว และมีผู้คัดลอก 2 คนคอยบันทึกคำพิพากษาของศาล รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมบางอย่างในภาพนี้วาดขึ้นโดยมีต้นแบบจากซากอาคารหลังหนึ่งที่พบในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งบางคนเชื่อว่าเคยเป็นห้องพิจารณาคดีของศาลแซนเฮดรินในศตวรรษแรก—ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”
1. มหาปุโรหิต
2. สมาชิกศาลแซนเฮดริน
3. จำเลย
4. เสมียนศาล