เขียนโดยยอห์น 13:1-38
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เทศกาลปัสกา: คือเทศกาลปัสกาปี ค.ศ. 33—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:13
รัก: ความรักเป็นเรื่องเด่นที่มีการพูดถึงบ่อย ๆ ในหนังสือยอห์นตั้งแต่บทนี้เป็นต้นไป ในยอห์น 12 บทแรกมีการใช้คำกรีก อากาเพโอ (รัก) และคำนามกรีก อากาเพ (ความรัก) รวมกันทั้งหมด 8 ครั้ง แต่ในยอห์นบท 13 ถึง 21 มีการใช้คำเหล่านี้ทั้งหมด 36 ครั้ง ที่จริง บทท้าย ๆ ของหนังสือยอห์นพูดถึงความรักอันลึกซึ้งที่พระเยซูมีต่อพระยะโฮวาและต่อสาวกของท่านมากกว่าที่อื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล เช่น ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มพูดถึงความรักที่พระเยซูมีต่อพระยะโฮวา แต่เฉพาะในหนังสือข่าวดีของยอห์นเท่านั้นที่พระเยซูบอกตรง ๆ ว่า “ผมรักพระองค์” (ยน 14:31) และตอนที่พระเยซูให้คำแนะนำสุดท้ายกับพวกสาวก ท่านไม่ได้บอกแค่ว่าพระยะโฮวารักท่าน แต่บอกด้วยว่าทำไมพระองค์ถึงรักท่าน—ยน 15:9, 10
รักพวกเขาต่อไปจนถึงที่สุด: สำนวนกรีกนี้อาจหมายความว่าพระเยซูรักสาวกของท่านจนถึงที่สุดของชีวิตท่าน แต่บางคนก็เข้าใจว่าสำนวนกรีกที่ใช้ในท้องเรื่องนี้หมายถึง “รักพวกเขาอย่างสุดหัวใจ, รักพวกเขาต่อ ๆ ไป”
หยิบผ้าเช็ดตัวมาคาดเอว: ปกติแล้วการล้างและเช็ดเท้าให้คนอื่นเป็นงานของทาส (ยน 13:12-17) พระเยซูทำงานที่ต่ำต้อยนี้เพื่อสอนบทเรียนสำคัญให้กับสาวกว่าพระยะโฮวาต้องการให้ผู้รับใช้ของพระองค์มองตัวเองอย่างไร อัครสาวกเปโตรเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นและอาจคิดถึงสิ่งที่พระเยซูทำตอนที่เขาแนะนำเพื่อนร่วมความเชื่อว่า “ให้พวกคุณทุกคนแสดง [หรือ “คาดเอวด้วย”] ความอ่อนน้อมถ่อมตน”—1ปต 5:5; เชิงอรรถ
ล้างเท้าให้พวกสาวก: ในสมัยอิสราเอลโบราณ ส่วนใหญ่แล้วผู้คนจะใส่รองเท้าที่มีแค่พื้นรองเท้ากับสายที่รัดเท้าและข้อเท้า เท้าของคนเดินทางจึงมักจะเปื้อนฝุ่นหรือโคลนตามทาง จึงเป็นธรรมเนียมที่จะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน และเจ้าของบ้านที่มีน้ำใจต้อนรับก็จะให้แขกได้ล้างเท้า คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงธรรมเนียมนี้หลายครั้ง (ปฐก 18:4, 5; 24:32; 1ซม 25:41; ลก 7:37, 38, 44) ตอนที่พระเยซูล้างเท้าให้สาวก ท่านใช้ธรรมเนียมนี้เพื่อสอนบทเรียนที่สำคัญเรื่องความถ่อมและการรับใช้คนอื่น
ที่คาดเอวอยู่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:4
พวกคุณสะอาด: พระเยซูผู้เป็นนายเพิ่งล้างเท้าให้พวกสาวกและพวกเขาก็สะอาดทั้งตัวแล้ว แต่มีคนหนึ่งในที่จิตใจไม่สะอาดคือยูดาสอิสคาริโอท เขาสะอาดทางร่างกายแต่จิตใจสกปรกเหมือนพวกฟาริสีที่เสแสร้งซึ่งเป็นเหมือนถ้วยชามที่ล้างแค่ภายนอก แต่ข้างในมีแต่ความสกปรก—มธ 23:25, 26
ท่านรู้: เนื่องจากพระเยซูสามารถอ่านใจและความคิดของคนอื่นได้ แสดงว่าตอนที่ยูดาสถูกเลือกให้เป็นอัครสาวก เขายังไม่มีความคิดที่จะทรยศพระเยซู (มธ 9:4; มก 2:8; ยน 2:24, 25) แต่เมื่อยูดาสเริ่มคิดชั่ว พระเยซูก็สังเกตเห็นและรู้ว่าเขาคือคนที่จะทรยศท่าน ถึงอย่างนั้น พระเยซูก็ยังล้างเท้าให้เขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 6:64; 6:70
ควรจะ: หรือ “มีพันธะที่จะ” คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้มักใช้ในความหมายเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งแปลว่า “เป็นหนี้ใครบางคน” (มธ 18:28, 30, 34; ลก 16:5, 7) แต่ในข้อนี้และในท้องเรื่องอื่น ๆ คำนี้มักใช้ในความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งหมายถึงการมีพันธะที่จะทำอะไรบางอย่าง—1ยน 3:16; 4:11; 3ยน 8
ล้างเท้าให้กันและกัน: ท้องเรื่องของคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูกำลังสอนสาวกให้ถ่อมตัวและเป็นห่วงพี่น้องไม่ใช่แค่ในด้านร่างกายเท่านั้น แต่ในด้านความเชื่อด้วย พระเยซูนายของพวกเขาเพิ่งสอนบทเรียนเรื่องความถ่อมตัวและการรับใช้คนอื่นโดยการล้างเท้าให้พวกเขา แล้วท่านก็บอกว่า “พวกคุณสะอาด แต่ไม่ใช่ทุกคน” นี่แสดงว่าพระเยซูไม่ได้พูดถึงความสะอาดทางร่างกายเท่านั้น (ยน 13:10) ที่ อฟ 5:25, 26 มีการพูดถึงพระเยซูว่าท่าน “ชำระประชาคมให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยน้ำ ซึ่งก็คือคำสอนของพระเจ้า” พวกสาวกเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูได้โดยการช่วยกันรักษาตัวให้สะอาดทางความเชื่อ คือไม่ตกเป็นเหยื่อของการล่อใจและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกนี้ที่อาจทำให้พวกเขาแปดเปื้อน—กท 6:1; ฮบ 10:22; 12:13
คนที่ถูกใช้ไป: หรือ “ผู้ส่งข่าว (ตัวแทน), อัครสาวก” คำกรีก อาพอสทอล็อส (มาจากคำกริยา อาพอสเทลโล หมายถึง “ส่งออกไป”) มีอยู่ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก 80 ครั้ง และมีการแปลว่า “อัครสาวก” ถึง 78 ครั้ง (ที่ ฟป 2:25 แปลคำกรีกนี้ว่า “ตัวแทน”) ในหนังสือข่าวดีของยอห์นมีคำกรีก อาพอสทอล็อส แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้—มธ 10:5; ลก 11:49; 14:32; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:2; มก 3:14 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อัครสาวก”
กินอาหารของผม: การกินอาหารกับใครคนหนึ่งหมายถึงการเป็นเพื่อนกับคนนั้น และแสดงว่าแขกที่ได้รับเชิญให้มากินอาหารมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของบ้าน (ปฐก 31:54) คนที่กินอาหารกับเจ้าของบ้านแล้วหลังจากนั้นก็ทำร้ายเขาถือเป็นการทรยศที่เลวร้ายที่สุด—สด 41:9
ตั้งตัวเป็นศัตรูกับผม: แปลตรงตัวว่า “ยกส้นเท้าใส่ผม” ในข้อนี้พระเยซูยกคำพยากรณ์ที่ สด 41:9 (เชิงอรรถ) ที่นั่นดาวิดพูดถึงเพื่อนที่ทรยศซึ่งก็อาจเป็นอาหิโธเฟล “ที่ปรึกษาของดาวิด” (2ซม 15:12) พระเยซูใช้คำพยากรณ์นี้กับยูดาสอิสคาริโอท ในท้องเรื่องนี้ สำนวนนี้จึงหมายถึงการทรยศหักหลังใครคนหนึ่ง
ยอห์น: ตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ผู้เขียนหนังสือข่าวดีนี้ไม่ได้บอกว่าเขาชื่ออะไร แต่พอถึงศตวรรษที่ 2 หรือ 3 คนทั่วไปก็เชื่อกันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงชื่อยอห์นในหนังสือข่าวดีนี้ก็จะหมายถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา ยกเว้นสองที่คือใน ยน 1:42 และ 21:15-17 ซึ่งพระเยซูพูดถึงยอห์นที่เป็นพ่อของเปโตร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ 1:42 และ 21:15) ถึงแม้ไม่มีการพูดถึงชื่อของอัครสาวกยอห์น แต่มีการพูดถึงเขาและยากอบพี่น้องของเขาว่าเป็น ‘ลูกของเศเบดี’ (ยน 21:2; มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:6) ในตอนท้าย ๆ ของหนังสือข่าวดีนี้ ผู้เขียนพูดถึงตัวเองว่าเป็น “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 21:20-24) และมีเหตุผลหลายอย่างที่จะสรุปว่าคำพูดนี้หมายถึงอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งแรกในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นก็พูดถึงเขาว่า “สาวกที่ท่าน [หรือ “พระเยซู”] รัก” “สาวกคนที่พระเยซูรัก” หรือ “สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก” (ยน 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์นลูกของเศเบดี และเป็นพี่น้องกับยากอบ (มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10) เหตุผลหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นคือ อัครสาวกยอห์นไม่เคยพูดถึงชื่อตัวเองในหนังสือข่าวดีที่เขาเขียน และที่ ยน 21:2 เขาเรียกตัวเองว่า “ลูกของเศเบดี” อีกเหตุผลหนึ่งอยู่ที่ ยน 21:20-24 ซึ่งในข้อนั้นพูดถึง “สาวกคนที่พระเยซูรัก” ว่าเป็นคนเขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้ นอกจากนั้น พระเยซูยังพูดถึงอัครสาวกคนนั้นว่า “ถ้าผมอยากให้เขาอยู่จนถึงตอนที่ผมมา นั่นก็ไม่เกี่ยวกับคุณ” ข้อนี้ทำให้รู้ว่าอัครสาวกคนนั้นจะอายุยืนกว่าเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือยอห์น และ ยน 1:6; 21:20
ข้าง ๆ: แปลตรงตัวว่า “ที่อก” คำนี้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งการนั่งที่โต๊ะอาหารของคนในสมัยพระเยซู แขกทุกคนจะนั่งเอนตัวไปทางซ้ายโดยมีหมอนอิงรองข้อศอกซ้าย บางครั้งแขกอาจจะเอนตัวอยู่ที่อกของเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ เพื่อจะคุยเรื่องที่เป็นความลับ (ยน 13:25) ดังนั้น การอยู่ “ข้าง ๆ” หรืออยู่ “ที่อก” ของใครคนหนึ่งจึงหมายถึงการสนิทสนมกับคนนั้นหรือได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษ การใช้คำนี้ในลูกาและยอห์นก็น่าจะมาจากธรรมเนียมนี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 16:22, 23; ยน 1:18
ที่ต้องใช้ในเทศกาล: น่าจะเป็นเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อซึ่งต่อจากวันปัสกา
ลูก ๆ ที่รัก: แปลตรงตัวว่า “ลูกเล็ก ๆ” ในหนังสือข่าวดีทั้งหมด ไม่มีที่ไหนเลยก่อนหน้านี้ที่พระเยซูจะเรียกสาวกด้วยคำที่แสดงถึงความรักแบบนี้ คำกรีกที่แปลว่า “ลูก ๆ ที่รัก” มาจากคำว่า เท็คนีออน ซึ่งเป็นรูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็กของคำว่า เท็คนอน (ลูก) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักมีการใช้รูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็กเพื่อแสดงถึงความรักใคร่เอ็นดูและความสนิทสนมคุ้นเคย (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “รูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็ก”) คำนี้จึงอาจแปลได้ด้วยว่า “ลูก ๆ ที่รัก” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำนี้ 9 ครั้งและทุกครั้งเป็นคำที่ใช้เรียกพวกสาวก—กท 4:19; 1ยน 2:1, 12, 28; 3:7, 18; 4:4; 5:21
กฎหมายใหม่: กฎหมายของโมเสสเรียกร้องให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง (ลนต 19:18) นี่หมายถึงการแสดงความรักแบบเพื่อนมนุษย์ แต่อาจไม่ใช่ความรักแบบเสียสละตัวเองจนถึงขั้นยอมตายแทนกันได้ กฎหมายที่พระเยซูให้เป็นกฎหมาย “ใหม่” เพราะยังไม่เคยมีกฎหมายแบบนี้มาก่อน คำพูดของพระเยซูที่บอกว่าผมรักพวกคุณอย่างไร แสดงว่าท่านได้วางตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบให้สาวกเกี่ยวกับวิธีแสดงความรักและใช้ชีวิตเพื่อคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว ความรักแบบนี้จะกระตุ้นให้คนเรายอมตายแทนคนอื่นได้ ซึ่งชีวิตและการตายของพระเยซูก็เป็นตัวอย่างของการแสดงความรักตามกฎหมายใหม่นี้—ยน 15:13
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งมีความหมายหลายอย่างตามท้องเรื่อง ในข้อนี้หมายถึงชีวิตของเปโตรที่พร้อมจะสละเพื่อพระเยซู
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งมีความหมายหลายอย่างตามท้องเรื่อง ในข้อนี้หมายถึงชีวิตของเปโตร—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:37
ไก่: หนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่มบอกว่าไก่ขัน แต่เฉพาะเรื่องราวในมาระโกเพิ่มรายละเอียดว่าไก่ขัน 2 ครั้ง (มธ 26:74, 75; มก 14:30, 72; ลก 22:34, 60, 61; ยน 13:38; 18:27) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการเลี้ยงไก่ในกรุงเยรูซาเล็มสมัยพระเยซูซึ่งเป็นการสนับสนุนบันทึกนี้ในคัมภีร์ไบเบิล ไก่ที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะขันก่อนเช้ามืด