เขียนโดยยอห์น 19:1-42
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เฆี่ยน: ปกติแล้วจะมีการลงโทษโดยการเฆี่ยนก่อนเอาไปแขวนไว้บนเสา หลังจากที่พวกยิวเรียกร้องให้ประหารพระเยซูและปล่อยบารับบัส ปีลาตจึงให้เอาตัวพระเยซูไป “เฆี่ยน” (มธ 20:19; 27:26) เป็นที่รู้กันว่าอุปกรณ์ที่ใช้เฆี่ยนซึ่งสร้างความเจ็บปวดมากที่สุดคือฟลาเกลลุม อุปกรณ์นี้เป็นเหมือนแส้ทำจากเชือกหรือหนังถักที่มีด้ามจับ บางครั้งมีการเอาเศษกระดูกหรือโลหะมัดติดไว้กับเส้นหนังเพื่อให้แส้หนักขึ้นและทำให้คนที่ถูกเฆี่ยนเจ็บปวดมากขึ้น
มงกุฎ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:17
เอาเสื้อคลุมสีม่วงใส่ให้ท่าน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:17
คำนับ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:29
ดูผู้ชายคนนี้สิ: แม้พระเยซูจะมีร่างกายที่บอบช้ำและเต็มไปด้วยบาดแผล แต่ท่านก็ยังสงบนิ่งและสง่างามจนแม้แต่ปีลาตก็ยังยอมรับ คำพูดของปีลาตดูเหมือนแสดงความนับถือปนสงสาร ฉบับวัลเกต แปลคำพูดของปีลาตว่า เอกเค โฮโม (ecce homo) ซึ่งเป็นคำที่ศิลปินหลายคนใช้เป็นชื่อผลงานของพวกเขา คนที่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและได้ยินคำพูดนี้ของปีลาตอาจคิดถึงคำพยากรณ์เกี่ยวกับเมสสิยาห์ที่บอกไว้ใน ศคย 6:12
พวกเรามีกฎหมาย: เมื่อพวกยิวเห็นว่าการกล่าวหาพระเยซูโดยใช้ประเด็นทางการเมืองไม่ได้ผล พวกเขาก็เปลี่ยนมากล่าวหาท่านว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องทางศาสนา นี่ทำให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของพวกเขา หลายชั่วโมงก่อนหน้านั้นพวกเขาเคยกล่าวหาพระเยซูเรื่องนี้ต่อหน้าศาลแซนเฮดรินแล้ว แต่พวกเขาก็ยกข้อกล่าวหานี้ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ปีลาตพิจารณา
จากพระเจ้า: หรือ “จากสวรรค์, จากเบื้องบน” มีการใช้คำกรีก อาโนเธ็น ที่แปลว่า “จากพระเจ้า” ในข้อนี้และที่ ยก 1:17; 3:15, 17 นอกจากนั้น ยน 3:3, 7 ยังแสดงให้เห็นว่าคำกรีกนี้อาจแปลว่า “ใหม่” และ “จากเบื้องบน” ได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:3
คนที่: พระเยซูไม่ได้หมายถึงยูดาสอิสคาริโอทหรือคนใดคนหนึ่ง แต่ดูเหมือนท่านคิดถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในการฆ่าท่าน ไม่ว่าจะเป็นยูดาส หรือ “พวกปุโรหิตใหญ่กับสมาชิกทุกคนของศาลแซนเฮดริน” และแม้แต่ “ประชาชน” ที่ถูกยุให้ไปขอปีลาตปล่อยตัวบารับบัสแทนพระเยซู—มธ 26:59-65; 27:1, 2, 20-22; ยน 18:30, 35
ศัตรูกับซีซาร์: แปลตรงตัวว่า “ไม่เป็นเพื่อนกับซีซาร์” ตำแหน่ง “เพื่อนของซีซาร์” เป็นตำแหน่งที่มักจะมอบให้กับผู้ว่าราชการแคว้นต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน แต่ดูเหมือนว่าท้องเรื่องนี้ใช้คำนี้ในความหมายกว้าง ๆ เพื่อบอกว่าปีลาตกำลังทำให้ตัวเองเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ซีซาร์ในตอนนั้นคือทิเบริอัสซึ่งขึ้นชื่อว่าชอบสั่งประหารทุกคนที่เขาสงสัยว่าไม่ภักดีแม้แต่คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง คนหนึ่งที่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เพื่อนของซีซาร์” คือลูซิอัส เอลิอัส เซยานุส ซึ่งเป็นหัวหน้าองครักษ์ของจักรพรรดิ ถือได้ว่าเขามีอำนาจมากเป็นอันดับ 2 รองจากทิเบริอัสและปีลาตก็สนิทกับเขา ตอนที่เซยานุสยังมีอำนาจ เขามักจะปกป้องและสนับสนุนปีลาต แต่พอถึงปี ค.ศ. 31 เซยานุสก็ถูกทิเบริอัสสั่งประหารพร้อมกับผู้สนับสนุนจำนวนมากเพราะทิเบริอัสสงสัยว่าเขาปลุกระดมประชาชนให้ก่อกบฏ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานก่อนที่พระเยซูจะถูกพามายืนอยู่ต่อหน้าปีลาต ดังนั้น ถ้าพวกสะดูสีไปฟ้องทิเบริอัสเรื่องปีลาตและบอกว่าเขาตั้งตัวเป็น “ศัตรูกับซีซาร์” ปีลาตก็อาจจะถูกประหารได้ ปีลาตทำให้ชาวยิวไม่พอใจมากพออยู่แล้ว เขาจึงไม่อยากสร้างความขัดแย้งมากไปกว่านี้เพื่อจะไม่ถูกกล่าวหาว่าไม่ภักดีต่อซีซาร์ ดังนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเพราะปีลาตกลัวจักรพรรดิที่ขี้อิจฉานี้ เขาเลยตัดสินให้ประหารชีวิตพระเยซูทั้ง ๆ ที่เขารู้ว่าท่านไม่มีความผิด
ซีซาร์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 22:17
บัลลังก์พิพากษา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:19
ลานหิน: สถานที่นี้ภาษาฮีบรูเรียกว่ากับบาธา ไม่รู้แน่ชัดว่ามาจากภาษาอะไร แต่อาจมีความหมายว่า “เนินเขา” “ที่สูง” หรือ “ที่โล่ง” คำกรีกสำหรับคำว่าลานหิน (ลิธอสทะโรทอส) อาจหมายถึงลานธรรมดาที่ปูด้วยหินหรือลานหินที่ตกแต่งอย่างสวยงามก็ได้ และผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าอาจเป็นลานที่มีการฝังหินเป็นลวดลาย ลานหินนี้อาจเป็นที่โล่งซึ่งอยู่หน้าวังของเฮโรดมหาราช แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าน่าจะอยู่ที่อื่น ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าลานหินนี้ตั้งอยู่ที่ไหนจริง ๆ
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
วันเตรียม: หมายถึงวันก่อนหน้าวันสะบาโตประจำสัปดาห์ ในวันนี้ชาวยิวจะเตรียมตัวสำหรับวันสะบาโต (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:42) หนังสือข่าวดีของยอห์นมีคำว่าสำหรับปัสกาด้วย วันเตรียมในท้องเรื่องนี้หมายถึงเช้าของวันที่ 14 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันที่พระเยซูถูกสอบสวนและถูกประหาร วันปัสกาเริ่มต้นแล้วในตอนเย็นก่อนหน้านั้น และอย่างที่บอกในหนังสือข่าวดีเล่มอื่น ๆ พระเยซูกับอัครสาวกได้กินอาหารปัสกากันไปแล้ว (มธ 26:18-20; มก 14:14-17; ลก 22:15) พระเยซูทำตามกฎหมายต่าง ๆ ของโมเสสอย่างครบถ้วนซึ่งรวมถึงข้อเรียกร้องที่ให้ฉลองปัสกาในวันที่ 14 เดือนนิสาน (อพย 12:6; ลนต 23:5) ในปี ค.ศ. 33 วันที่ 14 เดือนนิสานอาจเรียกได้ว่าเป็นวันเตรียมสำหรับ ปัสกา เพราะในวันนั้นมีการเตรียมสำหรับเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อที่จะเริ่มในวันถัดไปและจะฉลองกันนาน 7 วัน เนื่องจากมีการฉลองปัสกากับเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อต่อเนื่องกัน บางครั้งจึงมีการเรียก 2 เทศกาลนี้รวมกันว่า “ปัสกา” (ลก 22:1) ตามปกติแล้ว วันที่ต่อจากวันที่ 14 เดือนนิสานจะเป็นวันสะบาโตเสมอไม่ว่าจะตรงกับวันไหนของสัปดาห์ (ลนต 23:5-7) เนื่องจากวันที่ 15 เดือนนิสานของปี ค.ศ. 33 ตรงกับวันสะบาโตประจำสัปดาห์ จึงทำให้วันนั้นถูกเรียกว่า “วันสะบาโตพิเศษ” หรือสะบาโตซ้อนสะบาโต—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ยน 19:31
ประมาณเที่ยงวัน: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 6”—สำหรับคำอธิบายว่าทำไมบันทึกของยอห์นในข้อนี้ดูเหมือนขัดแย้งกับบันทึกของมาระโกที่บอกว่าพระเยซูถูกตรึงบนเสาตอน “9 โมงเช้า” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:25
แบกเสาทรมานของตัวเอง: จากบันทึกของยอห์น พระเยซูเป็นคนแบกเสาทรมานของตัวเอง แต่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่น ๆ (มธ 27:32; มก 15:21; ลก 23:26) บอกว่าซีโมนชาวไซรีนถูกสั่งให้แบกเสาทรมานของพระเยซูไปยังสถานที่ประหาร บางครั้งบันทึกของยอห์นมีเนื้อหาแน่น เขามักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องที่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่นพูดไปแล้ว ยอห์นจึงไม่ได้ใส่รายละเอียดที่บอกว่าซีโมนเป็นคนแบกเสาทรมานให้พระเยซู
เสาทรมาน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:32
กะโหลก: คำกรีก ครานิอู ทอพอน แปลจากคำฮีบรู กลโกธา (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่า กลโกธา ในข้อนี้ และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่าภาษาฮีบรูที่ใช้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2)
กลโกธา: มาจากคำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “กะโหลก” (เทียบกับ วนฉ 9:53; 2พก 9:35 ซึ่งมีคำฮีบรู กัลโกเลท ที่แปลว่า “กะโหลก”) ในสมัยพระเยซูบริเวณนี้อยู่นอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ากลโกธาอยู่ตรงไหน แต่บางคนเชื่อว่าน่าจะเป็นที่เดียวกับโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ในปัจจุบัน (ดูภาคผนวก ข12) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ากลโกธาอยู่บนเนิน แต่ก็บอกว่ามีบางคนสามารถเห็นการประหารพระเยซูได้จากระยะไกล—มก 15:40; ลก 23:49
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
ละติน: นี่เป็นครั้งเดียวที่มีการพูดถึงภาษาละตินในคัมภีร์ไบเบิล ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก ภาษาละตินเป็นภาษาที่เจ้าหน้าที่โรมันในอิสราเอลใช้กัน มีการใช้ภาษานี้ในข้อความจารึกของทางการ แต่ไม่ได้เป็นภาษาที่คนทั่วไปใช้ เนื่องจากผู้คนในอิสราเอลใช้หลายภาษาจึงทำให้เข้าใจได้ว่าทำไม ยน 19:19 ถึงบอกว่าปีลาตให้เขียนป้ายติดไว้บนเสาทรมานของพระเยซูใน 3 ภาษา คือภาษาละตินที่เป็นภาษาทางการ ภาษาฮีบรู และภาษากรีก (คีนี) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีคำและสำนวนหลายอย่างมาจากภาษาละติน—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ภาษาละติน”; “บทนำของหนังสือมาระโก”
เอาเสื้อชั้นนอกของท่านมาแบ่ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:35
น้าสาวของท่าน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
โคลปัส: ในคัมภีร์ไบเบิลมีชื่อนี้แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าโคลปัสเป็นคนเดียวกับอัลเฟอัสที่พูดถึงใน มธ 10:3; มก 3:18; ลก 6:15 และ กจ 1:13 ในคัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างอื่น ๆ ด้วยที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่บางคนจะมี 2 ชื่อและใช้สลับกัน—เทียบกับ มธ 9:9; 10:2, 3; มก 2:14
สาวกที่ท่านรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งที่ 2 ในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นมีการพูดถึงเขาว่า “สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก” “สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก” หรือ “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 13:23; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
บอกสาวกคนนั้นว่า “นี่คือแม่ของคุณ”: พระเยซูรักและเป็นห่วงมารีย์แม่ของท่านมาก ท่านจึงฝากให้อัครสาวกยอห์นที่ท่านรักดูแลแม่ซึ่งตอนนั้นอาจเป็นม่าย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23) เห็นได้ชัดว่าพระเยซูไม่ได้เป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่ของมารีย์เท่านั้น แต่เป็นห่วงเรื่องความเชื่อของเธอมากกว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าตอนนั้นน้อง ๆ ของพระเยซูเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้วหรือไม่ แต่อัครสาวกยอห์นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขามีความเชื่อเข้มแข็ง—มธ 12:46-50; ยน 7:5
เหล้าองุ่นเปรี้ยว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:48
กิ่งหุสบ: ฉบับแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกส่วนใหญ่แปลคำกรีก ฮูส์โซพ็อส ว่า “หุสบ” และมีคำนี้ 2 ครั้งคือในข้อนี้และที่ ฮบ 9:19 พวกผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพืชที่พูดถึงใน ยน 19:29 บางคนคิดว่าเป็น “หุสบ” ที่พูดถึงบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งอาจเป็นพืชชนิดเดียวกับมาร์จอรัม หรือพืชตระกูลมินต์ (Origanum maru; Origanum syriacum) (ลนต 14:2-7; กดว 19:6, 18; สด 51:7) ชาวอิสราเอลในอียิปต์ใช้หุสบเพื่อประพรมเลือดของสัตว์ปัสกาที่คานประตูกับที่เสาประตูบ้านทั้ง 2 ข้าง (อพย 12:21, 22) ดังนั้น บางคนจึงเชื่อว่ายังมีพืชชนิดนี้อยู่ตอนที่พระเยซูถูกประหาร เพราะมีการใช้พืชชนิดนี้ตอนที่มีการฉลองปัสกา ส่วนคนอื่น ๆ คิดว่ากิ่งมาร์จอรัมไม่แข็งพอที่จะใช้เสียบฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวและไม่ยาวพอที่จะชูขึ้นให้ถึงปากพระเยซู นอกจากนั้น บางคนเชื่อว่าหุสบที่พูดถึงในข้อนี้คือช่อมาร์จอรัมที่ผูกติดกับไม้อ้อซึ่งทำให้ชูขึ้นไปถึงปากพระเยซูได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สอดคล้องกับบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 27:48 และ มก 15:36 ที่บอกว่าฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวถูกเสียบกับ “ไม้อ้อ” แล้วส่งให้พระเยซู
สิ้นใจตาย: หรือ “หมดลม, หยุดหายใจ” คำว่า “ใจ” (คำกรีก พะนือมา) ในข้อนี้อาจหมายถึง “ลมหายใจ” หรือ “พลังชีวิต” ที่สรุปได้แบบนั้นเพราะบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มก 15:37 และ ลก 23:46 ตอนที่พระเยซูสิ้นใจตายมีการใช้คำกริยากรีก เอ็คพะเนะโอ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “หายใจออก” บางคนคิดว่าการใช้คำกรีกที่แปลว่า “สิ้นใจ” หมายความว่าพระเยซูไม่พยายามอีกต่อไปที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะท่านทำทุกอย่างสำเร็จแล้ว ท่านเต็มใจ “ยอมพลีชีวิต”—อสย 53:12; ยน 10:11
วันเตรียม: หมายถึงวันก่อนหน้าวันสะบาโตประจำสัปดาห์ ในวันนี้ชาวยิวจะเตรียมตัวสำหรับวันสะบาโตโดยทำอาหารเพิ่มและทำงานต่าง ๆ ที่ต้องทำให้เสร็จก่อนวันสะบาโต วันเตรียมที่พูดถึงในข้อนี้ตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน (มก 15:42; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “วันเตรียม”) กฎหมายของโมเสสบอกว่าอย่าให้ศพ “ค้างอยู่บนเสาตลอดคืน” แต่ให้ฝัง “ในวันนั้น”—ฉธบ 21:22, 23; เทียบกับ ยชว 8:29; 10:26, 27
ทุบขา: การทำแบบนี้ในภาษาละตินเรียกว่า ครูริฟราเกียม (crurifragium) เป็นการลงโทษที่โหดเหี้ยมรูปแบบหนึ่งโดยอาจมีจุดประสงค์เพื่อเร่งให้คนที่ถูกประหารบนเสาเสียชีวิตเร็วขึ้น คนที่ถูกแขวนบนเสาจะหายใจลำบากอยู่แล้ว แต่พอถูกทุบขา เขาจะไม่สามารถพยุงตัวเองได้ ทำให้ปอดถูกกดและหายใจไม่ออก
วันสะบาโตนั้นเป็นวันสะบาโตพิเศษ: หนึ่งวันหลังเทศกาลปัสกาซึ่งก็คือวันที่ 15 เดือนนิสานจะถือว่าเป็นวันสะบาโตเสมอไม่ว่าจะตรงกับวันไหนของสัปดาห์ (ลนต 23:5-7) ถ้าวันสะบาโตนี้ตรงกับวันสะบาโตประจำสัปดาห์ (คือวันที่ 7 ของสัปดาห์แบบชาวยิวซึ่งเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกของวันศุกร์ถึงดวงอาทิตย์ตกของวันเสาร์) ก็จะเป็นวันสะบาโต “พิเศษ” ดังนั้น วันสะบาโตหลังจากวันที่พระเยซูตายเป็นวันสะบาโตพิเศษ และตั้งแต่ปี ค.ศ. 31 ถึง ค.ศ. 33 มีแค่ปีเดียวที่วันที่ 14 เดือนนิสานตรงกับวันศุกร์ ซึ่งก็คือปี ค.ศ. 33 ดังนั้น หลักฐานนี้สนับสนุนว่าพระเยซูตายวันที่ 14 เดือนนิสานปี ค.ศ. 33
กระดูกของเขาจะไม่หักแม้แต่ท่อนเดียว: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 34:20 ตอนตั้งการฉลองปัสกาพระยะโฮวามีคำสั่งเกี่ยวกับลูกแกะ (หรือแพะ) ที่จะถูกฆ่าในคืนนั้นว่า “อย่าหักกระดูกสัตว์ปัสกานั้น” (อพย 12:46; กดว 9:12) เปาโลเรียกพระเยซูว่า “ลูกแกะปัสกาของเรา” เพราะกระดูกของพระเยซูไม่ถูกหักเหมือนที่ไม่มีการหักกระดูกของลูกแกะในวันปัสกา (1คร 5:7; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:29) เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงตามคำพยากรณ์ใน สด 34:20 ถึงแม้ว่าตามปกติแล้วทหารโรมันมีธรรมเนียมที่จะทุบขาคนที่ถูกประหารบนเสาเพื่อทำให้ตายเร็วขึ้น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 19:31) พวกทหารทุบขาของผู้ร้าย 2 คนที่ถูกตรึงอยู่ข้างพระเยซู แต่พอเห็นว่าท่านตายแล้วพวกเขาก็ไม่ได้ทุบขาท่าน แต่ทหารคนหนึ่งได้ “เอาหอกแทงสีข้างพระเยซู”—ยน 19:33, 34
โยเซฟ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:43
อาริมาเธีย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:57
พวกยิว: น่าจะหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
นิโคเดมัส: มีแต่ยอห์นเท่านั้นที่บันทึกว่านอกจากโยเซฟจากเมืองอาริมาเธียแล้ว ก็มีนิโคเดมัสที่มาช่วยเตรียมการฝังศพของพระเยซูด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:1
มดยอบ: ดูส่วนอธิบายศัพท์
กฤษณา: ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีสารให้กลิ่นหอมซึ่งใช้เป็นน้ำหอมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล (สด 45:8; สภษ 7:17; พซม 4:14) ดูเหมือนว่ากฤษณาที่นิโคเดมัสเอามาเป็นชนิดเดียวกับกฤษณาที่พูดถึงในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู กฤษณาที่ใช้ในการเตรียมศพก่อนฝังมีลักษณะเป็นผงและผสมเข้ากับมดยอบซึ่งอาจใช้เพื่อกลบกลิ่นเหม็นของศพที่เริ่มเน่า นักวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่บอกว่ากฤษณาในคัมภีร์ไบเบิลเป็นพันธุ์เดียวกับ Aquilaria agallocha ที่พบมากในอินเดียและประเทศใกล้เคียง ต้นกฤษณาอาจสูงถึง 30 เมตร แก่นของลำต้นและกิ่งของมันเต็มไปด้วยยางและน้ำมันหอมซึ่งเอามาทำน้ำหอมราคาแพง ดูเหมือนว่ากฤษณาจะให้กลิ่นหอมมากที่สุดตอนที่มันผุ บางครั้งจึงมีการนำไม้กฤษณาไปฝังในดินเพื่อเร่งให้ผุเร็วขึ้น จากนั้นก็เอามาบดให้เป็นผงละเอียดเพื่อเอาไปขาย แต่มีผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่า “กฤษณา” ที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันเรียกว่าว่านหางจระเข้ ซึ่งไม่ได้ให้กลิ่นหอมแต่มีสรรพคุณทางยา
กิโลกรัม: คำกรีก ลิตรา โดยทั่วไปแล้วเท่ากับ 1 ปอนด์โรมัน (ภาษาละติน ลิบรา) ซึ่งหนักประมาณ 327 กรัม ดังนั้น ส่วนผสมที่พูดถึงในข้อนี้หนักประมาณ 33 กิโลกรัม—ดูภาคผนวก ข14
อุโมงค์ฝังศพ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:60
วีดีโอและรูปภาพ
นี่เป็นภาพจำลองกระดูกส้นเท้าของมนุษย์ที่ถูกตอกด้วยตะปูเหล็กยาว 11.5 ซม. มีการขุดพบชิ้นส่วนจริงจากยุคโรมันในปี ค.ศ. 1968 ทางตอนเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นนี้ทำให้รู้ว่าอาจมีการใช้ตะปูในการประหารชีวิตคนที่ถูกตรึงบนเสาไม้ ตะปูนี้อาจคล้ายกับตะปูที่ทหารโรมันใช้ตรึงพระเยซูคริสต์บนเสา ชิ้นส่วนนี้ถูกพบในหีบหินซึ่งเป็นกล่องเก็บกระดูกที่แห้งแล้วของคนตายหลังจากเนื้อหนังย่อยสลายไปหมดแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่าคนที่ถูกประหารชีวิตบนเสาอาจได้รับการฝังศพด้วย
คำฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “หุสบ” ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ (คำฮีบรู เอซอฟ และคำกรีก ฮูส์โซพ็อส) อาจหมายถึงพืชหลายชนิด ในภาพนี้คือต้นมาร์จอรัม (Origanum maru; Origanum syriacum) เป็นพืชที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าเป็นชนิดเดียวกับต้นเอซอฟ ในภาษาฮีบรู พืชชนิดนี้เป็นพืชตระกูลมินต์ที่พบได้ทั่วไปในตะวันออกกลาง เมื่อปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พืชนี้สูงได้ถึง 50-90 ซม. คัมภีร์ไบเบิลมักมีการเชื่อมโยงต้นหุสบกับความสะอาด (อพย 12:21, 22; ลนต 14:2-7; กดว 19:6, 9, 18; สด 51:7) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึง “หุสบ” แค่ 2 ครั้ง คือที่ ฮบ 9:19 ซึ่งพูดถึงการเริ่มใช้สัญญาเก่าและท้องเรื่องนั้น “หุสบ” น่าจะเป็นพืชชนิดเดียวกับที่พูดถึงในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และที่ ยน 19:29 ก็บอกว่ามีคนเอาฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยว “เสียบปลายกิ่งหุสบ” แล้วชูขึ้นถึงปากพระเยซู พวกผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นต่างกันว่าหุสบในข้อนี้ซึ่งมาจากคำกรีก ฮูส์โซพ็อส เป็นพืชชนิดใด บางคนคิดว่าต้นมาร์จอรัมมีก้านไม่ยาวพอที่จะชูให้ถึงปากของพระเยซูได้ คำกรีกนี้จึงน่าจะหมายถึงพืชชนิดอื่นที่มีก้านยาวกว่า เช่น ข้าวฟ่าง (Sorghum vulgare) ส่วนคนอื่นคิดว่าหุสบนี้น่าจะเป็นช่อมาร์จอรัมที่ผูกติดกับ “ไม้อ้อ” เหมือนที่มัทธิวกับมาระโกบอกไว้—มธ 27:48; มก 15:36
ปกติแล้วทหารโรมันจะถืออาวุธที่มีด้ามยาวสำหรับใช้แทงหรือพุ่งใส่ศัตรู หอกที่เรียกว่าไพลัม (หมายเลข 1) มีน้ำหนักมากจนไม่สามารถพุ่งได้ไกล แต่มันสามารถแทงทะลุเสื้อเกราะหรือโล่ได้ มีหลักฐานว่าทหารในกองทัพโรมันมักจะถือไพลัม เวลาออกรบ ส่วนหอกธรรมดา (หมายเลข 2) มีด้ามเป็นไม้และมีปลายแหลมทำจากเหล็กหล่อ บางครั้งทหารกองหนุนก็ถือหอกแบบนี้หนึ่งอันหรือมากกว่านั้น ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าหอกที่ใช้แทงสีข้างของพระเยซูเป็นหอกแบบไหน
ชาวยิวมักจะฝังศพคนตายไว้ในถ้ำหรือห้องที่เจาะเข้าไปในหิน ปกติแล้วอุโมงค์ฝังศพของพวกเขาจะอยู่นอกเมือง ยกเว้นอุโมงค์ของกษัตริย์ อุโมงค์ฝังศพของชาวยิวมักเป็นแบบเรียบง่าย เพราะชาวยิวไม่นมัสการคนตายและไม่เชื่อว่าคนตายแล้วมีวิญญาณที่เป็นอมตะ