เขียนโดยยอห์น 7:1-52
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
พวกผู้นำชาวยิว: แปลตรงตัวว่า “ชาวยิว” ในหนังสือข่าวดีของยอห์น คำนี้ถ่ายทอดความหมายได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง คำนี้อาจหมายถึงคนยิวทั่วไป หมายถึงคนที่อยู่ในยูเดีย หรือคนที่อยู่ใกล้หรืออยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม นอกจากนั้น คำนี้ยังหมายถึงคนยิวที่ยึดติดกับธรรมเนียมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของโมเสส และธรรมเนียมเหล่านี้ก็มักจะไม่สอดคล้องกับแนวคิดในกฎหมายนั้น (มธ 15:3-6) ในกลุ่ม “ชาวยิว” เหล่านี้ พวกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดก็คือพวกหัวหน้าศาสนาที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเยซู ดังนั้น ในข้อนี้และในอีกหลายข้อของหนังสือยอห์นบท 7 คำว่า “ชาวยิว” จึงหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว—ยน 7:13, 15, 35ก—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยิว”
เทศกาลอยู่เพิง: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการพูดถึงเทศกาลนี้แค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ ท้องเรื่องนี้พูดถึงการฉลองเทศกาลอยู่เพิงในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 32—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เทศกาลอยู่เพิง” และภาคผนวก ข15
พวกยิว: ถึงแม้ว่าคำนี้อาจหมายถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว แต่ในข้อนี้น่าจะหมายถึงคนทั่วไปที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงในกรุงเยรูซาเล็ม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
พวกผู้นำชาวยิว: แปลตรงตัวว่า “ชาวยิว” แต่ในข้อนี้คำนี้น่าจะหมายถึงพวกผู้นำชาวยิว เพราะในข้อ 19 พระเยซูถามพวกเขาว่า “ทำไมพวกคุณถึงพยายามจะฆ่าผม?”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
พระคัมภีร์: แปลตรงตัวว่า “งานเขียน, ตัวหนังสือ” สำนวน “รู้ (มีความรู้เกี่ยวกับ) หนังสือ” หมายถึง “มีความรู้เกี่ยวกับงานเขียน (หนังสือ)” ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนหมายความว่าพระเยซูมีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจ
เขาไม่เคยเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่ไหนเลย: แปลตรงตัวว่า “เขาไม่เคยเรียนเลย” พระเยซูไม่ใช่คนไร้การศึกษา แต่ท่านไม่เคยเรียนในโรงเรียนของพวกรับบีซึ่งเป็นการเรียนระดับสูง
ผมคิดขึ้นมาเอง: แปลตรงตัวว่า “มาจากตัวเอง” เนื่องจากพระเยซูเป็นตัวแทนคนสำคัญของพระเจ้า ท่านจึงฟังพระยะโฮวาเสมอและพูดตามที่พระองค์สั่งเท่านั้น
เข้าสุหนัตในวันสะบาโต: กฎหมายของโมเสสกำหนดให้เด็กผู้ชายทุกคนเข้าสุหนัตเมื่อเกิดได้ 8 วัน (ลนต 12:2, 3) เรื่องนี้สำคัญมากเพราะถึงแม้วันที่ 8 จะตรงกับวันสะบาโต พวกเขาก็ต้องให้เด็กเข้าสุหนัต—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สุหนัต”
พวกผู้นำ: ในข้อนี้หมายถึงพวกผู้นำชาวยิว ตอนที่พระเยซูรับใช้อยู่บนโลกชาวอิสราเอลอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิโรมันและใต้อำนาจของพวกผู้นำชาวยิวด้วย กลุ่มผู้นำหลักที่มีอำนาจในหมู่ชาวยิวคือสมาชิก 71 คนของศาลแซนเฮดรินซึ่งรวมถึงมหาปุโรหิตด้วย พวกผู้นำกลุ่มนี้ได้รับอำนาจจากรัฐบาลโรมในระดับหนึ่งเพื่อดูแลชาวยิว—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”
ผมเป็นตัวแทนที่มาจากพระองค์: แปลตรงตัวว่า “ผมอยู่ข้างพระองค์” การใช้คำบุพบท พารา (แปลตรงตัวว่า “ข้าง”) ไม่ได้เน้นแค่ว่าพระเยซู “มาจาก” พระเจ้าเท่านั้น แต่ท่านใกล้ชิดและสนิทกับพระยะโฮวามาก ๆ พระเยซูจึงเป็น “ตัวแทน” ที่มาจากพระเจ้าในความหมายนี้
เจ้าหน้าที่: คือยามประจำวิหารที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นคนของศาลแซนเฮดรินและอยู่ใต้อำนาจของพวกปุโรหิตใหญ่ พวกเขาทำหน้าที่เหมือนตำรวจ
พวกผู้นำชาวยิว: แปลตรงตัวว่า “ชาวยิว” ในท้องเรื่องนี้มีการพูดถึงปุโรหิตใหญ่และฟาริสี (ยน 7:32, 45) ดังนั้น ในข้อนี้จึงแปลว่า “ผู้นำชาวยิว”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:1
คนยิวที่กระจายกันอยู่: ในท้องเรื่องนี้ คำกรีก เดียสพอรา หมายถึงชาวยิวที่อาศัยอยู่นอกประเทศอิสราเอล พวกยิวกระจัดกระจายไปตอนที่พวกเขาถูกชาติอื่นพิชิตและถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิด ครั้งแรกคือตอนที่ชาวอัสซีเรียมาพิชิตในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ต่อมาคือตอนที่ชาวบาบิโลนมาพิชิตในศตวรรษที่ 7 ก่อน ค.ศ. (2พก 17:22, 23; 24:12-17; ยรม 52:28-30) มีชาวยิวจำนวนหนึ่งได้กลับมาที่ประเทศอิสราเอล และมีบางส่วนกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ (อสย 10:21, 22) พอถึงศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. ดูเหมือนมีชุมชนชาวยิวอยู่ใน 127 รัฐของจักรวรรดิเปอร์เซีย (อสธ 1:1; 3:8) สำนวน “คนยิวที่กระจายกันอยู่” ใน ยน 7:35 หมายถึงชาวยิวที่กระจัดกระจายในหมู่คนกรีก ในสมัยศตวรรษแรกมีคนยิวอาศัยอยู่ในชุมชนที่พูดภาษากรีกนอกประเทศอิสราเอล เช่น ในซีเรีย เอเชียไมเนอร์ อียิปต์ และในยุโรปส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันซึ่งรวมถึงกรีซและโรมด้วย เนื่องจากชาวยิวพยายามชักชวนคนอื่นให้มานับถือศาสนายิว ทำให้ในเวลาต่อมามีผู้คนมากมายได้ยินเรื่องพระยะโฮวาและรู้จักกฎหมายของโมเสสบ้าง (มธ 23:15) ในปี ค.ศ. 33 มีชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจากหลายประเทศมาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อฉลองเทศกาลเพ็นเทคอสต์และพวกเขาก็ได้ยินข่าวดีเรื่องพระเยซู ดังนั้น ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วจักรวรรดิโรมันได้ทำให้ศาสนาคริสเตียนแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว
วันสุดท้าย: หมายถึงวันที่ 7 ของเทศกาลอยู่เพิง คือวันที่ 21 เดือนทิชรี ซึ่งเรียกว่า “วันสำคัญที่สุดของเทศกาล”—ฉธบ 16:13; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เทศกาลอยู่เพิง” และภาคผนวก ข15
เหมือนที่พระคัมภีร์บอกไว้: ดูเหมือนพระเยซูไม่ได้ยกข้อคัมภีร์ข้อใดมาโดยเฉพาะ แต่ท่านอ้างถึงข้อคัมภีร์บางข้อ เช่น อสย 44:3; 58:11 และ ศคย 14:8 มากกว่า 2 ปีก่อนหน้านี้ตอนพระเยซูพูดกับผู้หญิงชาวสะมาเรียเรื่องน้ำที่ให้ชีวิต ท่านเน้นว่าคนที่ดื่มน้ำนั้นจะได้ประโยชน์อะไร (ยน 4:10, 14) แต่ในข้อนี้ พระเยซูบอกว่า “น้ำที่ให้ชีวิต” จะไหลออกมาจากสาวกที่เชื่อในตัวท่านตอนที่พวกเขาแบ่งปันน้ำนี้ให้กับคนอื่น (ยน 7:37-39) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกให้หลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่สาวกของพระเยซูได้รับพลังบริสุทธิ์ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 พวกเขาก็แบ่งปันน้ำที่ให้ชีวิตกับทุกคนที่สนใจฟัง—กจ 5:28; คส 1:23
สายน้ำที่ให้ชีวิตจะไหลออกมา: ในข้อนี้พระเยซูอาจอ้างถึงธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ทำกันในช่วงเทศกาลอยู่เพิง คือการเอาเหยือกทองคำไปตักน้ำจากสระสิโลอัม และเอามาเทพร้อมกับเหล้าองุ่นลงบนแท่นบูชาตอนที่มีการถวายเครื่องบูชาในตอนเช้า (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:2; ส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เทศกาลอยู่เพิง” และภาคผนวก ข15) แม้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่ได้พูดถึงธรรมเนียมนี้ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่ชาวยิวทำกันในเวลาต่อมา และผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ส่วนใหญ่บอกว่าธรรมเนียมนี้จะทำทั้งหมด 7 วันแต่ไม่ทำในวันที่แปด และเนื่องจากวันแรกของเทศกาลอยู่เพิงตรงกับวันสะบาโต ปุโรหิตคนหนึ่งจะเอาน้ำในเหยือกซึ่งตักมาจากสระสิโลอัม 1 วันก่อนหน้านั้นมาเทบนแท่น ส่วนวันต่อ ๆ มา ปุโรหิตจะเอาเหยือกทองคำไปตักน้ำที่สระสิโลอัม และจะกะเวลากลับมาที่วิหารให้ตรงกับตอนที่ปุโรหิตคนอื่น ๆ กำลังเอาเครื่องบูชามาวางบนแท่น พอเขาเดินผ่านประตูน้ำเข้ามาที่ลานสำหรับปุโรหิต จะมีการเป่าแตร 3 ครั้งเพื่อบอกว่าเขามาถึงแล้ว จากนั้นเขาจะเทน้ำในเหยือกลงบนอ่างใบหนึ่งที่ไหลไปถึงฐานของแท่นบูชา และในเวลาเดียวกันก็เทเหล้าองุ่นลงบนอ่างอีกใบหนึ่ง จากนั้นจะมีการเล่นดนตรีในวิหารพร้อมกับร้องเพลงฮัลเลล (สด 113-118) ผู้นมัสการที่อยู่นอกวิหารจะโบกใบปาล์มไปทางแท่นบูชา ธรรมเนียมนี้อาจทำให้ผู้ที่เฉลิมฉลองอย่างมีความสุขนึกถึงคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่บอกว่า “พวกคุณจะตักน้ำด้วยความยินดี เป็นน้ำจากน้ำพุที่ช่วยชีวิตให้รอด”—อสย 12:3
ยังไม่ได้รับพลังนั้น: คำว่า “พลัง” มาจากคำกรีก พะนือมา ซึ่งมีการใช้ 2 ครั้งในข้อนี้เพื่อหมายถึงพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระเยซูและคนที่ฟังท่านรู้ว่าพระเจ้าใช้พลังบริสุทธิ์นี้มานานแล้ว (ปฐก 1:2, เชิงอรรถ; 2ซม 23:2; กจ 28:25) และพระองค์ก็ให้พลังนี้กับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์หลายคนเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เช่น พระองค์ให้พลังกับโอทนีเอล เยฟธาห์ และแซมสัน (วนฉ 3:9, 10; 11:29; 15:14) ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าในข้อนี้ยอห์นกำลังพูดถึงวิธีใหม่ที่พระเจ้าใช้พลังบริสุทธิ์กับมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อนหน้านั้นพระเจ้ายังไม่เคยใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อเลือกผู้รับใช้คนไหนให้ไปสวรรค์ แต่ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 หลังจากพระเยซูฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปสวรรค์แล้ว ท่านก็ให้พลังบริสุทธิ์ที่ได้รับจากพระยะโฮวากับพวกสาวก (กจ 2:4, 33) นี่เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีความหวังจะไปอยู่บนสวรรค์ และหลังจากถูกเจิมด้วยพลังบริสุทธิ์แล้ว คริสเตียนก็สามารถเข้าใจหลายเรื่องที่พวกเขาไม่เคยเข้าใจมาก่อน
คนที่ถูกสาปแช่ง: ฟาริสีและพวกผู้นำชาวยิวที่เย่อหยิ่งและคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นดูถูกคนทั่วไปที่ฟังพระเยซู และเรียกพวกเขาว่า “คนที่ถูกสาปแช่ง” คำกรีก เอะพาราทอส ที่ใช้ในข้อนี้เป็นคำที่ใช้ในเชิงดูถูกและใช้เพื่อพูดถึงคนที่ถูกพระเจ้าสาปแช่ง ผู้นำศาสนาชาวยิวยังใช้คำฮีบรู อัมฮาอาเร็ตส์ ที่แปลว่า “ชาวบ้าน” เพื่อดูถูกผู้คนทั่วไปด้วย ก่อนหน้านี้มีการใช้คำนี้ในแบบที่ให้เกียรติเพื่อหมายถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตใดเขตหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งรวมทั้งคนจน คนต่ำต้อย และคนสำคัญ ๆ ด้วย (ปฐก 23:7; 2พก 23:35; อสค 22:29) แต่พอถึงสมัยของพระเยซู มีการใช้คำนี้เพื่อเรียกคนที่ไม่รู้กฎหมายของโมเสสหรือไม่ทำตามรายละเอียดยิบย่อยในธรรมเนียมของพวกรับบี และข้อเขียนของพวกรับบีในสมัยต่อมาก็ยืนยันว่าพวกเขาคิดแบบนี้จริง ๆ ผู้นำศาสนาหลายคนมองว่าคนเหล่านี้น่ารังเกียจ พวกเขาไม่ยอมกินข้าว คบหา หรือซื้อของจากคนเหล่านี้
คุณก็มาจากกาลิลีด้วยหรือไง?: คำถามนี้แสดงถึงความรู้สึกดูถูกที่ชาวยูเดียมีต่อชาวกาลิลี ตอนที่นิโคเดมัสพูดเข้าข้างพระเยซู (ยน 7:51) ฟาริสีก็พูดประโยคนี้ขึ้นมาซึ่งเหมือนกำลังบอกว่า “คุณไปปกป้องและสนับสนุนเขาเพราะอยากลดตัวลงไปอยู่ระดับเดียวกับคนกาลิลีที่ล้าหลังหรือไง?” เนื่องจากศาลแซนเฮดรินกับวิหารอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม พวกครูสอนกฎหมายของโมเสสจึงอยู่ที่นั่นกันเป็นจำนวนมากจนทำให้มีภาษิตยิวที่บอกว่า “ถ้าอยากรวยให้ขึ้นเหนือ [ไปกาลิลี] ถ้าอยากฉลาดให้ลงใต้ [ไปยูเดีย]” แต่หลักฐานแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วชาวกาลิลีก็มีความรู้เรื่องกฎหมายของพระเจ้า เพราะตามเมืองและหมู่บ้านทั่วแคว้นกาลิลีมีครูสอนกฎหมายและมีที่ประชุมของชาวยิวซึ่งเป็นเหมือนศูนย์การศึกษา (ลก 5:17) การที่พวกฟาริสีตอบนิโคเดมัสแบบนี้แสดงว่าพวกเขาไม่ได้ศึกษาจนเข้าใจว่าเบธเลเฮมเป็นที่เกิดของพระเยซู (มคา 5:2; ยน 7:42) และพวกเขาก็ไม่เข้าใจคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่เปรียบการประกาศของเมสสิยาห์ว่าเป็นเหมือน “แสงสว่างเจิดจ้า” ที่ส่องเข้าไปในกาลิลี—อสย 9:1, 2; มธ 4:13-17
ไม่มี . . . ผู้พยากรณ์มาจากกาลิลี: คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าพวกฟาริสีมองข้ามคำพยากรณ์ที่ อสย 9:1, 2 ซึ่งบอกล่วงหน้าว่าจะมีแสงสว่างที่เจิดจ้ามาจากแคว้นกาลิลี ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่าในข้อนี้พวกฟาริสีกำลังพูดแบบเหมารวมว่าไม่เคยมีและไม่มีวันที่จะมีผู้พยากรณ์มาจากแคว้นที่ไม่สำคัญอย่างกาลิลี นี่แสดงให้เห็นว่าพวกเขามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าผู้พยากรณ์โยนาห์ก็มาจากเมืองกัทเฮเฟอร์ในแคว้นกาลิลีที่อยู่ห่างไป 4 กม. ทางตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูใช้ชีวิตในวัยเด็ก—2พก 14:25
7:53
สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือที่สุดไม่มีข้อความที่ ยน 7:53 ถึง 8:11 เห็นได้ชัดว่าไม่มีข้อคัมภีร์ 12 ข้อนี้อยู่ในข้อความต้นฉบับของหนังสือข่าวดีของยอห์น แต่มีการเพิ่มเข้ามาทีหลัง—ดูภาคผนวก ก3
ข้อความนี้ในสำเนาภาษากรีกบางฉบับและในฉบับแปลบางฉบับมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งอ่านว่า
53 แล้วพวกเขาต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
8 ส่วนพระเยซูเสด็จไปยังภูเขามะกอก 2 แต่พอรุ่งเช้า พระองค์เสด็จไปที่พระวิหารอีก และผู้คนพากันมาหาพระองค์ พระองค์จึงทรงนั่งลงแล้วเริ่มสอนพวกเขา 3 ขณะนั้นพวกอาลักษณ์กับพวกฟาริซายพาผู้หญิงมาคนหนึ่งซึ่งถูกจับได้ตอนมีชู้ เมื่อให้นางยืนอยู่ท่ามกลางคนทั้งหลายแล้ว 4 พวกเขาจึงพูดกับพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ หญิงผู้นี้ถูกจับได้ตอนที่กำลังมีชู้ 5 พระบัญญัติที่พระเจ้าทรงประทานผ่านทางโมเซสั่งให้เอาหินขว้างผู้หญิงประเภทนี้ให้ตาย ท่านล่ะจะว่าอย่างไร?” 6 พวกเขาพูดอย่างนี้ก็เพื่อทดสอบพระองค์ และเพื่อหาเหตุฟ้องพระองค์ แต่พระเยซูทรงก้มลงใช้นิ้วพระหัตถ์เขียนบนพื้น 7 เมื่อพวกเขายังถามพระองค์ไม่หยุด พระองค์จึงทรงยืดพระกายขึ้นตรัสกับพวกเขาว่า “พวกเจ้าคนใดไม่มีบาป จงเอาหินขว้างนางเป็นคนแรก” 8 แล้วพระองค์ทรงก้มลงเขียนบนพื้นอีก 9 คนที่ได้ยินพระองค์ตรัสจึงทยอยออกไปทีละคน โดยที่ผู้เฒ่าผู้แก่ออกไปก่อน เหลือแต่พระองค์กับผู้หญิงที่ยืนอยู่ตรงกลาง 10 พระเยซูทรงยืดพระกายขึ้นตรัสกับนางว่า “หญิงเอ๋ย คนเหล่านั้นไปไหน? ไม่มีใครกล่าวโทษเจ้าแล้วหรือ?” 11 นางพูดว่า “ท่านเจ้าข้า ไม่มีใครเลย” พระเยซูตรัสว่า “เราก็ไม่กล่าวโทษเจ้าเช่นกัน ไปเถิด ตั้งแต่นี้ไป อย่าทำบาปอีกเลย”