เขียนโดยลูกา 1:1-80
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ลูกา: ชื่อนี้ในภาษากรีกคือ ลู่คาส ซึ่งมาจากภาษาละติน Lucas ลูกาเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้และหนังสือกิจการของอัครสาวก เขาเป็นหมอและเป็นเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ของอัครสาวกเปาโล (คส 4:14; ดู “บทนำของหนังสือลูกา” ด้วย) หลายคนคิดว่าลูกาไม่ใช่คนยิว เพราะชื่อของเขาที่เป็นภาษากรีกรวมทั้งสไตล์การเขียนของเขา นอกจากนั้น ที่ คส 4:10-14 เปาโลก็พูดถึง “กลุ่มคนที่เข้าสุหนัต” แล้วค่อยพูดถึงลูกา แต่ข้อสรุปนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่บอกไว้ใน รม 3:1, 2 ที่ว่า “พระเจ้ามอบพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้พวกยิว” ดังนั้น ลูกาน่าจะเป็นคนยิวที่พูดภาษากรีกและมีชื่อกรีก
ข่าวดีที่เขียนโดยลูกา: ไม่มีผู้เขียนคนไหนบอกว่าตัวเขาเป็นคนเขียนและดูเหมือนว่าไม่มีชื่อหนังสืออยู่ในข้อความต้นฉบับ ในบางสำเนาของหนังสือข่าวดีของลูกาใช้ชื่อหนังสือว่า อืออางเกะลิออน คาธา ลูกาน (“ข่าวดี [หรือ “กิตติคุณ”] ที่เขียนโดยลูกา”) แต่ในบางสำเนาก็ใช้ชื่อแบบสั้นว่า คาธา ลูกาน (“เขียนโดยลูกา”) ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าชื่อหนังสือถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อไรหรือเริ่มใช้ตอนไหน บางคนคิดว่าน่าจะประมาณศตวรรษที่ 2 เพราะมีการพบชื่อหนังสือแบบยาวในสำเนาของหนังสือข่าวดีที่ทำขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3 นักวิชาการบางคนบอกว่า การที่หนังสือเหล่านั้นถูกเรียกว่ากิตติคุณ (แปลตรงตัวว่า “ข่าวดี”) อาจเป็นเพราะมีคำนี้อยู่ในข้อความแรกของหนังสือมาระโก (“ต่อไปนี้คือตอนเริ่มต้นของข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นลูกของพระเจ้า”) นอกจากนั้น อาจมีการใช้ชื่อหนังสือที่ระบุชื่อคนเขียนด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ชัดว่าใครเป็นคนเขียน
ที่เคารพอย่างสูง: คำกรีกที่แปลว่า “ที่เคารพอย่างสูง” (คราทิสท็อส) เป็นคำที่มักใช้กับเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการระดับสูง (กจ 23:26; 24:3; 26:25) ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงคิดว่าเธโอฟีลัสเคยมีตำแหน่งสูงก่อนจะเข้ามาเป็นคริสเตียน แต่บางคนก็คิดว่าคำกรีกนี้เป็นแค่วิธีเรียกแบบสุภาพและเป็นมิตรหรือเป็นการให้เกียรติเท่านั้น ดูเหมือนว่าตอนนั้นเธโอฟีลัสเข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว เพราะเขา “ได้รับการสอน” เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และงานรับใช้ของท่าน (ลก 1:4) ถ้าเป็นอย่างนั้น บันทึกที่ลูกาเขียนคงช่วยเธโอฟีลัสให้มั่นใจในสิ่งที่ได้เรียนได้ฟังมา แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าตอนนั้นเธโอฟีลัสยังเป็นผู้สนใจและเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนในภายหลัง ส่วนผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ คิดว่าลูกาใช้คำว่าเธโอฟีลัสซึ่งแปลว่า “เป็นที่รักของพระเจ้า, เพื่อนของพระเจ้า” เพื่อหมายถึงคริสเตียนโดยรวมทั้งหมด ตอนที่ลูกาเขียนหนังสือกิจการของอัครสาวก เขาก็ใช้คำว่าเธโอฟีลัสในข้อแรก แต่ไม่ได้ใช้คำว่า “ที่เคารพอย่างสูง”—กจ 1:1
ยอมรับกันว่าเชื่อถือได้แน่นอน: สำนวนกรีกนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ยอมรับกันว่าวางใจได้แน่นอน” ซึ่งเป็นการเน้นว่าได้มีการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดแล้ว เมื่อใช้สำนวนนี้ร่วมกับคำว่าพวกเรา จึงเป็นการบ่งชี้ว่าคริสเตียนมั่นใจเต็มที่ว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระคริสต์ได้เกิดขึ้นจริง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง และสมควรยอมรับด้วยความมั่นใจ ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับอื่น ๆ จึงแปลสำนวนนี้ว่า “ซึ่งเป็นที่เชื่อได้อย่างแน่นอนในท่ามกลางเราทั้งหลาย” ในท้องเรื่องอื่น สำนวนกรีกนี้อาจแปลได้ว่า “มั่นใจ . . . ได้แน่นอน” “มั่นใจ” และ “มีความเชื่อมั่น”—รม 4:21; 14:5; คส 4:12
คนที่ประกาศข่าวสารของพระเจ้า: หรือ “ผู้รับใช้แห่งถ้อยคำของพระเจ้า” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรู 2 ฉบับใช้เททรากรัมมาทอนในข้อนี้ ทำให้แปลได้ว่า “ผู้รับใช้แห่งถ้อยคำของพระยะโฮวา”
ค้นคว้า: หรือ “สืบเสาะอย่างละเอียดถี่ถ้วน” ลูกาไม่ได้เป็นคนเห็นเหตุการณ์ที่เขาบันทึกด้วยตัวเอง ดังนั้น นอกจากจะได้รับการดลใจจากพลังบริสุทธิ์แล้ว ดูเหมือนลูกาอาศัยแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้ (1) บันทึกต่าง ๆ ที่หาได้ในตอนนั้นเกี่ยวกับลำดับวงศ์ตระกูลของพระเยซู (ลก 3:23-38) (2) บันทึกที่ได้รับการดลใจของมัทธิว (3) การสอบถามหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์ (ลก 1:2) เช่น สาวกที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาจรวมถึงมารีย์แม่ของพระเยซู เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวที่ลูกาบันทึกไม่มีอยู่ในหนังสือข่าวดีเล่มอื่น ๆ—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
อย่างถูกต้องเหมาะสม: หรือ “ตามลำดับ” คำกรีก คาเธ็ดเซส ที่แปลในข้อนี้ว่า “อย่างถูกต้องเหมาะสม” อาจหมายถึงการเรียบเรียงเรื่องราวตามเวลา เหตุการณ์ หรือเหตุผล แต่ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาอย่างเคร่งครัด หลักฐานที่แสดงว่าลูกาไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาเสมอไปเห็นได้จากบันทึกใน ลก 3:18-21 ดังนั้น เพื่อจะเรียบเรียงเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูตามลำดับเวลาอย่างถูกต้องก็ต้องอาศัยข้อมูลจากหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม ส่วนใหญ่แล้วลูกาเรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเวลา แต่บางครั้งก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อวิธีเขียนของเขา
เฮโรด: หมายถึงเฮโรดมหาราช—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เศคาริยาห์: มาจากชื่อฮีบรูที่แปลว่า “พระยะโฮวาระลึกถึง” คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับใช้คำว่า “เศคาริอัส” ซึ่งเป็นชื่อแบบกรีก
กลุ่มของอาบียาห์: อาบียาห์เป็นปุโรหิตที่สืบเชื้อสายมาจากอาโรน ในสมัยที่ดาวิดเป็นกษัตริย์ อาบียาห์เป็นหัวหน้าวงศ์ตระกูลคนหนึ่งของอิสราเอล ดาวิดแบ่งกลุ่มปุโรหิตเป็น 24 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มผลัดเวรมารับใช้ที่วิหารครั้งละ 1 สัปดาห์ในทุก ๆ 6 เดือน วงศ์ตระกูลของอาบียาห์ได้รับเลือกโดยการจับฉลากให้เป็นหัวหน้าปุโรหิตกลุ่มที่ 8 (1พศ 24:3-10) คำว่า “กลุ่มของอาบียาห์” ที่ใช้ในข้อนี้อาจไม่ได้บ่งชี้ว่าเศคาริยาห์เป็นลูกหลานของอาบียาห์ แต่เขาอาจได้รับมอบหมายให้รับใช้กับปุโรหิตกลุ่มนี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:9
อาบียาห์: มาจากชื่อฮีบรูที่แปลว่า “พ่อของฉันคือพระยะโฮวา”
เอลีซาเบธ: ชื่อกรีก เอะลิซาเบ็ท มาจากชื่อฮีบรู เอลีเชวา (เอลีเชบา) ที่แปลว่า “พระเจ้าของฉันมีอย่างมากมาย, พระเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์” เอลีซาเบธเป็นลูกหลานของอาโรน แสดงว่าทั้งพ่อและแม่ของยอห์นอยู่ในตระกูลปุโรหิต
พระยะโฮวา: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ชื่อของพระเจ้าในหนังสือข่าวดีของลูกาในฉบับแปลนี้ แม้สำเนาภาษากรีกที่ยังหลงเหลืออยู่จะใช้คำว่า คูริออส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้ และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ในหนังสือลูกา 2 บทแรกมีการอ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีชื่อพระเจ้าหลายข้อ ตัวอย่างเช่น คำว่าคำสั่งและกฎหมายรวมทั้งคำคล้าย ๆ กันเกี่ยวกับกฎหมายสามารถพบในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งในท้องเรื่องของข้อเหล่านั้นมีการใช้ชื่อพระยะโฮวาหรือเป็นคำพูดของพระยะโฮวา—ปฐก 26:2, 5; กดว 36:13; ฉธบ 4:40; 27:10; อสค 36:23, 27
เลือกคนที่จะถวายเครื่องหอม . . . เศคาริยาห์ก็ได้รับเลือก: แรกเริ่มเดิมทีมหาปุโรหิตอาโรนเป็นคนถวายเครื่องหอมที่แท่นบูชาทองคำ (อพย 30:7) ส่วนเอเลอาซาร์ลูกของเขาทำหน้าที่ดูแลเครื่องหอมและสิ่งของอื่น ๆ ที่ใช้ในเต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ (กดว 4:16) ในข้อนี้บอกว่าเศคาริยาห์ซึ่งเป็นปุโรหิตได้รับเลือกให้ถวายเครื่องหอม แสดงว่าถ้าไม่ใช่ในวันไถ่บาป ปุโรหิตคนอื่น ๆ ก็ถวายเครื่องหอมได้ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาปุโรหิตเท่านั้น การถวายเครื่องหอมอาจถือเป็นงานรับใช้ที่สำคัญที่สุดที่ทำในวิหารแต่ละวัน มีการถวายเครื่องหอมหลังจากการถวายเครื่องบูชา และตอนที่ถวายเครื่องหอมผู้คนจะยืนอยู่นอกตัววิหารเพื่ออธิษฐาน ตามคำสอนสืบปากของพวกรับบีจะมีการจับฉลากว่าปุโรหิตคนไหนเป็นคนถวายเครื่องหอม แต่ปุโรหิตที่เคยถวายก่อนหน้านี้จะไม่ได้ทำอีกนอกจากปุโรหิตทุกคนที่อยู่ในวิหารตอนนั้นได้ทำหน้าที่นี้แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ ปุโรหิตคนหนึ่งอาจได้รับเกียรติให้ทำงานนี้แค่ครั้งเดียวในชีวิต
วิหาร: ในท้องเรื่องนี้ คำกรีก นาออส หมายถึงเฉพาะตัววิหารเท่านั้น ตอนที่เศคาริยาห์ “ได้รับเลือก” ให้ถวายเครื่องหอม เขาต้องเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ซึ่งเป็นส่วนแรกของวิหารที่มีแท่นเผาเครื่องหอมตั้งอยู่—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:5; 27:51 และภาคผนวก ข11
วิหารของพระยะโฮวา: อย่างที่บอกในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6 ในหนังสือลูกา 2 บทแรกมีการอ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีชื่อพระเจ้าหลายข้อ ตัวอย่างเช่น ในข้อที่มีคำว่า “ที่ศักดิ์สิทธิ์ [หรือ “วิหาร”] ของพระยะโฮวา” มักจะมีเททรากรัมมาทอนอยู่ด้วยเสมอ (กดว 19:20; 2พก 18:16; 23:4; 24:13; 2พศ 26:16; 27:2; ยรม 24:1; อสค 8:16; ฮกก 2:15)
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตั้งแต่ ปฐก 16:7 มักมีสำนวนนี้ซึ่งมาจากคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “ทูตสวรรค์” และเททรากรัมมาทอน ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 3:5, 6 มีการใช้คำกรีก อางเกะลอส (ทูตสวรรค์, ผู้ส่งข่าว) ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดีย ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50
ยอห์น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
ในสายตาพระยะโฮวา: ในสำเนาพระคัมภีร์ฉบับเซปตัวจินต์ ที่ยังหลงเหลืออยู่ มีคำกรีก เอะโนพิออนคูริออ (แปลตรงตัวว่า “ในสายตา [ต่อหน้า] องค์พระผู้เป็นเจ้า”) มากกว่า 100 ครั้ง และคำกรีกนี้ทำให้คิดถึงสำนวนหนึ่งในภาษาฮีบรูซึ่งในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูมีเททรากรัมมาทอนอยู่ด้วย (วนฉ 11:11; 1ซม 10:19; 2ซม 5:3; 6:5) การศึกษาสำนวนนี้ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูช่วยให้รู้ว่าในข้อนี้มีการใช้คำว่า คูริออส แทนชื่อของพระเจ้า
พลังบริสุทธิ์: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลังบริสุทธิ์”; “พลัง”
พระยะโฮวา: คำพูดที่ทูตสวรรค์พูดกับเศคาริยาห์ (ข้อ 13-17) ทำให้คิดถึงลักษณะภาษาที่ใช้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่น มีการใช้คำว่า คูริออส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ร่วมกับ เธะออส (พระเจ้า) และสรรพนามที่แสดงความเป็นเจ้าของ (ในข้อนี้แปลว่าพระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขา) หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (เทียบกับคำว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของคุณ” ที่ ลก 4:8, 12; 10:27) ในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีการใช้คำว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกเขา” มากกว่า 30 ครั้ง แต่ไม่มีการใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของพวกเขา” แม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนั้นคำว่า คนอิสราเอล หรือ “ชาวอิสราเอล” ก็เป็นสำนวนที่ใช้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูด้วย—ปฐก 36:31
เอลียาห์: ชื่อภาษาฮีบรู แปลว่า “พระเจ้าของผมคือพระยะโฮวา”
เพื่อจะทำให้หัวใจของผู้ใหญ่กลับอ่อนลงเหมือนหัวใจของเด็ก: สำนวนนี้เป็นคำพยากรณ์จาก มลค 4:6 หมายความว่าข่าวสารที่ยอห์นประกาศจะกระตุ้นให้คนที่เป็นพ่อกลับใจ เปลี่ยนจากหัวใจที่แข็งกระด้างไปเป็นหัวใจที่ถ่อม ยอมรับการสอนเหมือนหัวใจของเด็กที่เชื่อฟังและบางคนอาจมาเป็นลูกของพระเจ้าด้วย มาลาคียังบอกล่วงหน้าคล้าย ๆ กันว่าหัวใจลูกจะเป็นเหมือนหัวใจพ่อ ซึ่งหมายความว่าคนที่กลับใจจะกลายเป็นคนซื่อสัตย์เหมือนกับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบบรรพบุรุษของพวกเขา
เตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้พร้อมเมื่อพระยะโฮวามาถึง: คำพูดที่ทูตสวรรค์พูดกับเศคาริยาห์ (ข้อ 13-17) เกี่ยวข้องกับข้อคัมภีร์อื่น ๆ ด้วย เช่น มลค 3:1; 4:5, 6 และ อสย 40:3 ซึ่งข้อเหล่านั้นมีชื่อเฉพาะของพระเจ้า (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:15, 16) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีสำนวนหนึ่งที่คล้ายกับสำนวนกรีกเตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้พร้อม อยู่ที่ 2ซม 7:24 ซึ่งอ่านว่า “พระยะโฮวา พระองค์ทำให้ชาวอิสราเอลเป็นประชาชนของพระองค์”
กาเบรียล: มาจากชื่อฮีบรูที่แปลว่า “คนของพระเจ้าที่แข็งแรง (มีกำลังมาก)” (ดนล 8:15, 16) นอกจากมีคาเอลแล้ว กาเบรียลเป็นทูตสวรรค์อีกองค์เดียวที่มีชื่อบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลและเป็นองค์เดียวที่เปิดเผยชื่อของตัวเองกับมนุษย์
บอกข่าวดี: คำกริยากรีก อืออางเกะลิโศไม เกี่ยวข้องกับคำนาม อืออางเกะลิออน ที่แปลว่า “ข่าวดี” ในข้อนี้ทูตสวรรค์กาเบรียลกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวดี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23; 24:14; 26:13
รับใช้ที่วิหาร: หรือ “รับใช้สาธารณชน, ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์” คำกรีก เล่ทู่รกิอา ที่ใช้ในข้อนี้ และคำที่เกี่ยวข้องกันคือ เล่ทู่รเกะโอ (แปลว่ารับใช้สาธารณชน) รวมทั้ง เล่ทู่รก็อส (แปลว่าผู้รับใช้สาธารณชน) เป็นคำที่ชาวกรีกและโรมันโบราณใช้เพื่อหมายถึงงานหรือบริการที่ทำเพื่อรัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปด้วย ตัวอย่างเช่น ที่ รม 13:6 เจ้าหน้าที่บ้านเมืองถูกเรียกว่า “ผู้รับใช้ . . . เพื่อประชาชน” (เล่ทู่รก็อส ในรูปพหูพจน์) เพราะพวกเขาเป็นคนที่พระเจ้าใช้ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน คำที่ลูกาใช้ในข้อนี้ทำให้นึกถึงคำที่ใช้ในฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งมักมีการใช้คำนี้ทั้งในรูปคำกริยาและคำนามเพื่อหมายถึงงานรับใช้ที่พวกปุโรหิตและคนเลวีทำที่วิหารของพระเจ้า (อพย 28:35; กดว 8:22) งานรับใช้ที่วิหารถือว่าเป็นการรับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่งานรับใช้แบบนี้ก็เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเพราะพวกปุโรหิตที่มาจากตระกูลเลวีสอนกฎหมายของพระเจ้าและถวายเครื่องบูชาเพื่อปิดคลุมบาปของประชาชน—2พศ 15:3; มลค 2:7
พระยะโฮวาได้ช่วยฉันยังไง: หรือ “พระยะโฮวาทำอะไรเพื่อฉันบ้าง” คำพูดของเอลีซาเบธในข้อนี้แสดงว่าเธอสำนึกบุญคุณพระยะโฮวา และคำพูดนี้ทำให้คิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับซาราห์ตามที่บันทึกไว้ใน ปฐก 21:1 ซึ่งในข้อนั้นมีชื่อของพระเจ้า และคำพูดของเอลีซาเบธที่บอกว่าเธอไม่ต้องอับอายขายหน้าเพราะเป็นหมันอีกต่อไปทำให้นึกถึงคำพูดของราเชลที่อยู่ใน ปฐก 30:23
ตั้งท้องเข้าเดือนที่หก: แปลตรงตัวว่า “ในเดือนที่ 6”
มารีย์: ตรงกับชื่อฮีบรู “มิเรียม” มีผู้หญิง 6 คนในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่ชื่อมารีย์ (1) มารีย์แม่ของพระเยซู (2) มารีย์มักดาลา (มธ 27:56; ลก 8:2; 24:10) (3) มารีย์ที่เป็นแม่ของยากอบกับโยเสส (มธ 27:56; ลก 24:10) (4) มารีย์ที่เป็นพี่น้องกับมาร์ธาและลาซารัส (ลก 10:39; ยน 11:1) (5) มารีย์แม่ของยอห์นมาระโก (กจ 12:12) และ (6) มารีย์ที่อยู่ในกรุงโรม (รม 16:6) ในสมัยพระเยซูชื่อมารีย์เป็นชื่อที่นิยมมากที่สุดชื่อหนึ่งของผู้หญิง
หมั้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:18
พระยะโฮวา . . . อยู่กับคุณเสมอ: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีสำนวนนี้และสำนวนคล้ายกันนี้ที่มีชื่อของพระเจ้าอยู่หลายครั้ง (นรธ 2:4; 2ซม 7:3; 2พศ 15:2; ยรม 1:19) คำพูดที่ทูตสวรรค์พูดกับมารีย์คล้ายกับคำพูดที่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาพูดกับกิเดโอนใน วนฉ 6:12 ที่บอกว่า “พระยะโฮวาอยู่กับคุณซึ่งเป็นนักรบที่เก่งกล้า”
เยซู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:21
พระยะโฮวาพระเจ้า: ตามที่บอกไว้ใน ข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6 หนังสือลูกา 2 บทแรกมีการอ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีชื่อพระเจ้าหลายข้อ คำพูดของทูตสวรรค์เกี่ยวกับบัลลังก์ของดาวิดมาจาก 2ซม 7:12, 13, 16 ซึ่งเป็นคำสัญญาที่พระเจ้าให้กับดาวิดผ่านทางผู้พยากรณ์นาธัน ในท้องเรื่องนั้นมีการใช้เททรากรัมมาทอนหลายครั้ง (2ซม 7:4-16) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำที่แปลในข้อนี้ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้า” และคำคล้าย ๆ กันนี้ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู หรือข้อความอื่น ๆ ที่มีลักษณะของภาษาฮีบรู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:16
ญาติของคุณ: คำกรีกในรูปแบบนี้ (ซูงเกะนีส) มีแค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก แต่มีการใช้คำกรีกที่สะกดอีกแบบหนึ่ง (ซูงเกะเนส) ในข้อคัมภีร์อื่น ๆ (ลก 1:58; 21:16; กจ 10:24; รม 9:3) ทั้ง 2 คำหมายถึงญาติในความหมายทั่ว ๆ ไปซึ่งก็คือคนที่อยู่ในครอบครัวหรือตระกูลเดียวกัน ดังนั้น มารีย์กับเอลีซาเบธจึงเป็นญาติกันแต่ไม่มีการระบุว่าเป็นญาติแบบไหน เศคาริยาห์และเอลีซาเบธอยู่ในตระกูลเลวี ส่วนโยเซฟกับมารีย์อยู่ในตระกูลยูดาห์ ดังนั้น พวกเขาคงไม่ได้เป็นญาติใกล้ชิดกัน
พระเจ้าทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้: หรือ “ไม่มีอะไรที่พระเจ้าบอกแล้วจะทำไม่ได้” หรืออาจแปลได้ว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า” ประโยคนี้ในภาษาเดิมมีคำกรีก เรมา ที่หมายถึง “การบอก คำพูด หรือการประกาศ” หรืออาจหมายถึง “สิ่ง ๆ หนึ่งหรือสิ่งที่พูดถึง” ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ การกระทำ หรือผลที่เกิดจากการประกาศ ถึงแม้สำนวนกรีกนี้สามารถแปลได้หลายอย่างแต่ความหมายรวม ๆ แล้วเหมือนกันคือ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับพระเจ้าหรือเกี่ยวข้องกับคำสัญญาของพระองค์ คำพูดในข้อนี้คล้ายกับข้อความในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ ปฐก 18:14 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระยะโฮวารับรองกับอับราฮัมว่าซาราห์ภรรยาของเขาจะมีลูกชายชื่ออิสอัคตอนที่เธออายุมากแล้ว
ดิฉันเป็นทาสรับใช้พระยะโฮวา: คำพูดนี้ของมารีย์คล้ายกับคำพูดของผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระยะโฮวาที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่น ในคำอธิษฐานของฮันนาห์ที่ 1ซม 1:11 เธอบอกว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นจอมทัพ ถ้าพระองค์เห็นความทุกข์ของดิฉันที่เป็นผู้รับใช้ [หรือ “ทาสรับใช้”] ของพระองค์” ในฉบับเซปตัวจินต์ คำกรีกที่อยู่ใน 1ซม 1:11 เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในบันทึกของลูกาที่แปลว่า “ทาสรับใช้”
เดินทางไป . . . แถบภูเขา: จากบ้านของมารีย์ที่อยู่ในนาซาเร็ธ เธอต้องเดินทางเข้าไปในเขตภูเขาของแคว้นยูเดียซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับว่าบ้านของเศคาริยาห์กับเอลีซาเบธอยู่ที่เมืองไหน มารีย์อาจต้องเดินทางไกลถึง 100 กม. หรือมากกว่านั้น
พระยะโฮวาบอก: คำพูดที่มารีย์ได้ยินผ่านทางทูตสวรรค์เป็นคำพูดที่มาจากพระยะโฮวาพระเจ้า คำกรีก พาราคูริออ ที่แปลในข้อนี้ว่า “พระยะโฮวาบอก” มีอยู่ในสำเนาที่หลงเหลือของฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งคำกรีกนี้แปลมาจากสำนวนฮีบรูที่มักมีชื่อพระเจ้าอยู่ด้วย—ปฐก 24:50; วนฉ 14:4; 1ซม 1:20; อสย 21:10; ยรม 11:1; 18:1; 21:1
มารีย์พูดว่า: คำพูดของมารีย์ที่ยกย่องพระเจ้าในข้อ 46-55 มีการอ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากกว่า 20 ครั้ง มารีย์ยกข้อความหลายส่วนจากคำอธิษฐานของฮันนาห์แม่ของซามูเอลซึ่งได้รับพรจากพระยะโฮวาให้มีลูกเหมือนกัน (1ซม 2:1-10) มารีย์ยังพูดถึงข้อคัมภีร์อีกหลายข้อ เช่น สด 35:9; ฮบก 3:18; อสย 61:10 (ข้อ 47); ปฐก 30:13; มลค 3:12 (ข้อ 48); ฉธบ 10:21; สด 111:9 (ข้อ 49); โยบ 12:19 (ข้อ 52); สด 107:9 (ข้อ 53); อสย 41:8, 9; สด 98:3 (ข้อ 54); มคา 7:20; อสย 41:8; 2ซม 22:51 (ข้อ 55) คำพูดของมารีย์แสดงว่าเธอสนิทกับพระเจ้า มีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ และเป็นคนที่สำนึกบุญคุณ นอกจากนั้น คำพูดของมารีย์ยังแสดงว่าเธอมีความเชื่อมาก เพราะเธอพูดว่าพระยะโฮวาทำให้คนเย่อหยิ่งกับผู้มีอำนาจต้องตกต่ำและยกฐานะคนต่ำต้อยกับคนยากจนที่พยายามรับใช้พระองค์
ฉันขอยกย่องพระยะโฮวาสุดหัวใจ: หรือ “ฉันขอสรรเสริญ (ประกาศ) ความยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา” คำพูดของมารีย์อาจทำให้คิดถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่น สด 34:3 และ 69:30 ซึ่งมีชื่อพระเจ้าอยู่ในข้อนั้นหรือในท้องเรื่องนั้น (สด 69:31) ในฉบับเซปตัวจินต์ คำกรีกที่อยู่ในข้อเหล่านั้นเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในหนังสือลูกาข้อนี้ซึ่งแปลว่า “ยกย่อง” (เมะกาลูโน)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่ามารีย์พูดว่าในข้อนี้ และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6, 25, 38
พระยะโฮวาเมตตาเธอมาก: คำพูดนี้ทำให้นึกถึงข้อความในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่น ปฐก 19:18-20 ซึ่งเป็นตอนที่โลทพูดกับพระยะโฮวาว่า “พระยะโฮวาครับ . . . พระองค์รักและเมตตาผมอย่างมาก”
ขอให้พระยะโฮวา . . . ได้รับการสรรเสริญ: นี่เป็นคำยกย่องสรรเสริญพระเจ้าที่พบได้บ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู และในสำนวนนี้มักมีชื่อพระเจ้าอยู่ด้วย—1ซม 25:32; 1พก 1:48; 8:15; สด 41:13; 72:18; 106:48
ผู้ช่วยให้รอดที่มีพลังเข้มแข็ง: แปลตรงตัวว่า “เขาสัตว์แห่งความรอด” ในคัมภีร์ไบเบิลเขาสัตว์มักถูกใช้หมายถึงกำลังและชัยชนะ (1ซม 2:1; สด 75:4, 5, 10; 148:14) นอกจากนั้น พระคัมภีร์มักเปรียบผู้ปกครองและราชวงศ์ที่ทั้งดีและชั่วว่าเป็นเขาสัตว์ และการที่พวกเขาได้ชัยชนะเปรียบเหมือนกับการเอาเขาขวิด (ฉธบ 33:17; ดนล 7:24; 8:2-10, 20-24) ในข้อนี้ คำว่า “ผู้ช่วยให้รอดที่มีพลังเข้มแข็ง” หมายถึงเมสสิยาห์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการช่วยให้รอด—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เขา, เขาสัตว์”
รับใช้พระองค์: หรือ “นมัสการพระองค์, ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้พระองค์” คำกริยากรีก ลาตรือโอ โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการรับใช้ และเมื่อใช้ในคัมภีร์ไบเบิลคำนี้หมายถึงการรับใช้พระเจ้าหรือนมัสการพระองค์ (มธ 4:10; ลก 2:37; 4:8; กจ 7:7; รม 1:9; ฟป 3:3; 2ทธ 1:3; ฮบ 9:14; 12:28; วว 7:15; 22:3) หรือทำงานรับใช้ที่วิหารหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ฮบ 8:5; 9:9; 10:2; 13:10) ดังนั้น ในบางท้องเรื่องคำนี้ก็อาจแปลว่า “นมัสการ” และในบางครั้งก็มีการใช้คำนี้กับการนมัสการเท็จ คือการกราบไหว้หรือนมัสการสิ่งที่ถูกสร้าง—กจ 7:42; รม 1:25
พระยะโฮวา: คำพยากรณ์ของเศคาริยาห์ในส่วนหลังของข้อนี้ทำให้คิดถึงข้อความใน อสย 40:3 และ มลค 3:1 ซึ่งทั้ง 2 ข้อในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6, 16, 17; 3:4
พระยะโฮวาจะใช้ลูกให้ล่วงหน้าไปก่อน: พระยะโฮวาจะใช้ยอห์นผู้ให้บัพติศมา “ให้ล่วงหน้าไปก่อน” ในแง่ที่ว่าเขาจะมาก่อนพระเยซูซึ่งเป็นตัวแทนพระยะโฮวาพ่อของท่านและมาในนามพ่อของท่าน—ยน 5:43; 8:29; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าพระยะโฮวาในข้อนี้
เวลาที่เขาออกไปประกาศให้ชาวอิสราเอลฟัง: หมายถึงตอนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มทำงานรับใช้ ซึ่งก็คือช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 29—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:9; ลก 3:1, 23
วีดีโอและรูปภาพ
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลาเท่าที่เป็นไปได้
แผนที่ของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มให้ข้อมูลของเหตุการณ์แตกต่างกัน
1. ทูตสวรรค์กาเบรียลมาหาเศคาริยาห์ที่วิหารและบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับการเกิดของยอห์นผู้ให้บัพติศมา (ลก 1:8, 11-13)
2. หลังจากพระเยซูเกิด ทูตสวรรค์มาปรากฏตัวต่อหน้าคนเลี้ยงแกะในทุ่งใกล้เมืองเบธเลเฮม (ลก 2:8-11)
3. ตอนที่พระเยซูอายุ 12 ปี ท่านคุยกับพวกอาจารย์ในวิหาร (ลก 2:41-43, 46, 47)
4. มารพาพระเยซูไปยืน “บนกำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร” และทดสอบท่าน (มธ 4:5-7; ลก 4:9, 12, 13)
5. พระเยซูอ่านม้วนหนังสืออิสยาห์ในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธ (ลก 4:16-19)
6. พระเยซูถูกปฏิเสธในบ้านเกิดของตัวเอง (ลก 4:28-30)
7. พระเยซูเดินทางไปเมืองนาอิน ท่านอาจใช้เส้นทางจากเมืองคาเปอร์นาอุม (ลก 7:1, 11)
8. ในเมืองนาอิน พระเยซูปลุกลูกชายคนเดียวของแม่ม่ายให้ฟื้นขึ้นจากตาย (ลก 7:12-15)
9. พระเยซูเดินทางประกาศในแคว้นกาลิลีรอบที่ 2 (ลก 8:1-3)
10. พระเยซูปลุกลูกสาวของไยรอสให้ฟื้นขึ้นจากตาย อาจเป็นที่เมืองคาเปอร์นาอุม (มธ 9:23-25; มก 5:38, 41, 42; ลก 8:49, 50, 54, 55)
11. ตอนเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มผ่านทางแคว้นสะมาเรีย พระเยซูบอกว่า “‘ลูกมนุษย์’ ไม่มีที่จะซุกหัวนอน” (ลก 9:57, 58)
12. พระเยซูส่งสาวก 70 คนออกไปประกาศ อาจเป็นที่แคว้นยูเดีย (ลก 10:1, 2)
13. ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนสะมาเรียที่รักคนอื่นเหมือนรักตัวเองพูดถึงถนนที่ไปเมืองเยรีโค (ลก 10:30, 33, 34, 36, 37)
14. พระเยซูสอนตามเมืองและหมู่บ้านในแคว้นพีเรีย และท่านเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม (ลก 13:22)
15. พระเยซูรักษาคนโรคเรื้อน 10 คนระหว่างที่เดินทางจากแคว้นสะมาเรียไปแคว้นกาลิลี (ลก 17:11-14)
16. พระเยซูไปบ้านศักเคียสคนเก็บภาษีในเมืองเยรีโค (ลก 19:2-5)
17. พระเยซูอธิษฐานในสวนเกทเสมนี (มธ 26:36, 39; มก 14:32, 35, 36; ลก 22:40-43)
18. เปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้งในลานบ้านของเคยาฟาส (มธ 26:69-75; มก 14:66-72; ลก 22:55-62; ยน 18:25-27)
19. ในที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่ากะโหลก (กลโกธา) พระเยซูพูดกับผู้ร้ายว่า “คุณจะได้อยู่กับผมในอุทยาน” (ลก 23:33, 42, 43)
20. พระเยซูปรากฏตัวให้สาวก 2 คนเห็นบนถนนไปหมู่บ้านเอมมาอูส (ลก 24:13, 15, 16, 30-32)
21. พระเยซูพาพวกสาวกไปที่หมู่บ้านเบธานี ท่านกลับไปสวรรค์ตอนที่อยู่บนภูเขามะกอกใกล้หมู่บ้านนี้ (ลก 24:50, 51)
นี่เป็นภาพจำลองสิ่งที่เศคาริยาห์อาจเห็นตอนที่เขาเดินเข้าไปในวิหาร แหล่งอ้างอิงบางแหล่งบอกว่าวิหารที่เฮโรดสร้างนี้สูงเท่ากับตึก 15 ชั้น ดูเหมือนว่าด้านหน้าของวิหารรอบประตูทางเข้าบุด้วยทองคำ เนื่องจากทางเข้าวิหารอยู่ทางทิศตะวันออก ตอนที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจึงมีแสงสะท้อนออกมาทำให้วิหารเปล่งประกายระยิบระยับ
(1) ลานสำหรับผู้หญิง
(2) แท่นถวายเครื่องบูชาเผา
(3) ทางเข้าที่บริสุทธิ์
(4) ทะเลทองแดง
ซิมมาคุสทำฉบับแปลภาษากรีกของเขาครั้งแรกในศตวรรษที่ 2 ค.ศ. ในภาพนี้คือข้อความจาก สด 69:30, 31 (สด 68:31, 32 ในฉบับเซปตัวจินต์) ซึ่งอยู่ในสำเนาฉบับแปลของซิมมาคุสที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 3 หรือ 4 และรู้จักกันในชื่อ พี. วินโดโบเนนซิส ภาษากรีก 39777 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติออสเตรียในกรุงเวียนนา ส่วนที่เห็นในภาพเป็นข้อความภาษากรีกที่มีชื่อพระเจ้า 2 ครั้งเขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ คำพูดของมารีย์ใน ลก 1:46 อาจมาจาก สด 69:30, 31 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อพระเจ้าด้วย การรู้ว่ามารีย์ยกข้อความนี้จากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพื่อยกย่องพระเจ้า รวมทั้งการใช้เททรากรัมมาทอนในฉบับแปลภาษากรีกของซิมมาคุสเป็นหลักฐานยืนยันว่าต้องมีชื่อพระเจ้าอยู่ในข้อความต้นฉบับของ ลก 1:46—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:46
ตอนที่เศคาริยาห์เขียนเป็นภาษาฮีบรูว่า “ชื่อยอห์น” เขาอาจใช้แผ่นกระดานไม้อย่างที่เห็นในภาพนี้ มีการใช้แผ่นกระดานแบบนี้มาหลายศตวรรษในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ ช่องด้านหน้าของแผ่นกระดานจะทาด้วยขี้ผึ้งบาง ๆ และคนเขียนจะใช้ปากกาปลายแหลมที่ทำจากเหล็ก ทองสัมฤทธิ์ หรืองาช้างเขียนข้อความลงบนผิวขี้ผึ้งที่อ่อนนุ่ม โดยทั่วไปปากกามีลักษณะเป็นปลายแหลมด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นปลายแบนคล้ายสิ่วเพื่อใช้ลบข้อความและเกลี่ยขี้ผึ้งให้เรียบ บางครั้งมีการใช้สายหนังเล็ก ๆ มัดแผ่นกระดาน 2 แผ่นหรือมากกว่านั้นไว้ด้วยกัน นักธุรกิจ นักวิชาการ นักเรียน และคนเก็บภาษีใช้แผ่นกระดานแบบนี้เพื่อจดบันทึกข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้ชั่วคราว แผ่นกระดานที่เห็นในภาพนี้ทำขึ้นประมาณศตวรรษที่ 2 หรือ 3 ค.ศ. และมีการค้นพบที่อียิปต์