เขียนโดยลูกา 11:1-54
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
อาจารย์ครับ ขอช่วยสอนพวกเราอธิษฐาน: มีเฉพาะลูกาเท่านั้นที่บันทึกคำขอนี้ของสาวก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากที่พระเยซูสอนเรื่องการอธิษฐานในคำบรรยายบนภูเขา (มธ 6:9-13) เป็นไปได้ว่าสาวกคนนี้ไม่ได้อยู่ในตอนนั้นที่พระเยซูสอน ท่านจึงพูดถึงจุดสำคัญในตัวอย่างคำอธิษฐานนั้นอีกครั้ง การอธิษฐานเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการและเป็นสิ่งที่ชาวยิวทำเป็นประจำทุกวัน พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีคำอธิษฐานมากมายในหนังสือสดุดีและหนังสืออื่น ๆ ดังนั้น ดูเหมือนว่าสาวกคนนี้ไม่ได้ขอให้พระเยซูสอนสิ่งที่เขาไม่เคยรู้หรือไม่เคยทำมาก่อน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาวกคนนี้คุ้นเคยกับคำอธิษฐานที่เป็นทางการของพวกผู้นำในศาสนายิว แต่เขาคงสังเกตว่าการอธิษฐานของพระเยซูแตกต่างอย่างมากจากพวกรับบีที่พยายามทำให้คำอธิษฐานของพวกเขาดูศักดิ์สิทธิ์—มธ 6:5-8
ตอนที่อธิษฐาน ให้พูดว่า: คำอธิษฐานที่อยู่ใน ข้อ 2ข-4 มีสาระสำคัญเดียวกับตัวอย่างคำอธิษฐานที่พระเยซูสอนประมาณ 1 ปีครึ่งก่อนหน้านี้ในคำบรรยายบนภูเขา (มธ 6:9ข-13) น่าสังเกตว่าพระเยซูไม่ได้พูดซ้ำคำอธิษฐานนั้นแบบคำต่อคำ แสดงว่าท่านไม่ได้สอนสาวกให้อธิษฐานแบบท่องจำ นอกจากนั้น คำอธิษฐานของพระเยซูและพวกสาวกในเหตุการณ์หลังจากนี้ก็ไม่ได้ใช้คำหรือรูปประโยคเหมือนกับคำอธิษฐานตัวอย่าง
ชื่อ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:9
เป็นที่เคารพนับถืออยู่เสมอ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:9
ขอให้รัฐบาลของพระองค์มาปกครอง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:10
ขอให้พวกเรามีอาหารพอกินทุก ๆ วัน: ในหลายท้องเรื่อง คำฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “ขนมปัง” หมายถึง “อาหาร” (ปญจ 10:19, เชิงอรรถ) พระเยซูกำลังบอกว่าคนที่รับใช้พระเจ้าสามารถอธิษฐานขอด้วยความมั่นใจว่าพระเจ้าจะดูแลให้พวกเขามีอาหารพอกินสำหรับแต่ละวัน แต่ไม่ได้มีอย่างเหลือเฟือ คำขอนี้ทำให้นึกถึงคำสั่งที่พระเจ้าให้กับชาวอิสราเอลว่าให้แต่ละคนเก็บมานาได้ “ตามจำนวนที่เขาจะกินในวันนั้น” (อพย 16:4) คำอธิษฐานที่พระเยซูสอนในครั้งนี้คล้ายกับที่ท่านเคยสอนสาวกเมื่อประมาณ 1 ปีครึ่งก่อนหน้านั้นในคำบรรยายบนภูเขา แต่ไม่ได้ใช้คำเดียวกันทั้งหมด (มธ 6:9ข-13) นี่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่อยากให้ท่องคำอธิษฐานนี้แบบคำต่อคำ (มัทธิว 6:7) เมื่อพระเยซูสอนเรื่องสำคัญซ้ำอีกครั้ง เช่นเรื่องการอธิษฐาน ท่านจะสอนในแบบที่คนไม่เคยฟังได้ประโยชน์ ส่วนคนที่เคยฟังก็ได้ทบทวนจุดสำคัญ
คนที่ทำผิดต่อพวกเรา: หรือ “คนที่ติดหนี้พวกเรา” ถ้ามีการทำผิดต่อคนอื่น คนที่ทำผิดก็เหมือนมีหนี้หรือมีพันธะที่ต้องชดใช้และต้องขอให้คนนั้นยกโทษให้ ตอนที่พระเยซูสอนเรื่องการอธิษฐานในคำบรรยายบนภูเขา ในภาษาเดิมท่านใช้คำว่า “หนี้” แทนคำว่าบาป (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:12) คำกรีกที่แปลว่ายกโทษมีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยไป” ซึ่งก็คือการปล่อยหนี้ไปโดยไม่เรียกร้องให้มีการจ่ายคืน
ขอช่วยพวกเราให้เอาชนะการล่อใจได้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:13
เพื่อน ขอยืมขนมปังสัก 3 อันสิ: ในวัฒนธรรมตะวันออกกลาง ผู้คนถือว่าการต้อนรับแขกเป็นหน้าที่ที่พวกเขาอยากทำให้ดีที่สุดอย่างที่เห็นได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ แม้ว่าแขกจะมาโดยไม่คาดคิดตอนเที่ยงคืนเพราะการเดินทางสมัยนั้นไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนได้ แต่เจ้าของบ้านก็ยังรู้สึกว่าต้องหาอะไรให้แขกกิน เขารู้สึกว่าจำเป็นต้องรบกวนขอยืมอาหารจากเพื่อนบ้านแม้จะดึกแล้ว
อย่ามารบกวนผมเลย: การที่เพื่อนบ้านในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ช่วยในตอนแรกไม่ได้เป็นเพราะเขาไม่อยากช่วย แต่เพราะเขาเข้านอนแล้ว และบ้านในสมัยนั้นโดยเฉพาะบ้านของคนจนมักจะมีห้องใหญ่ห้องเดียว ถ้าหัวหน้าครอบครัวลุกขึ้นมา เขาก็อาจทำให้ทั้งครอบครัวรวมทั้งลูก ๆ ที่นอนหลับอยู่ตื่นด้วย
รบเร้าไม่เลิก: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “ไม่เจียมตัว” หรือ “ไม่อาย” แต่ในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึงการรบเร้าไม่เลิกหรือคะยั้นคะยอ ผู้ชายในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูไม่อายที่จะขอหรือไม่เกรงใจที่จะรบเร้าเพื่อจะได้สิ่งที่เขาต้องการ พระเยซูบอกสาวกว่าพวกเขาต้องอธิษฐานต่อไปไม่เลิกเช่นกัน—ลก 11:9, 10
ขอต่อไปเรื่อย ๆ . . . หาต่อไปเรื่อย ๆ . . . เคาะต่อไปเรื่อย ๆ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 7:7
คุณที่เป็นคนบาป: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 7:11
แล้ว . . . จะไม่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 7:11
เบเอลเซบูบ: อาจแผลงมาจากคำว่าบาอัลเซบูบ ที่หมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งแมลงวัน” ซึ่งก็คือพระบาอัลที่ชาวฟีลิสเตียในเมืองเอโครนนมัสการ (2พก 1:3) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับใช้ชื่อคล้าย ๆ กันว่าเบเอลเซบูลหรือบีเซบูล ซึ่งอาจหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งที่อยู่อันสูงส่ง” หรืออาจเป็นการเล่นคำฮีบรู ซีเวล (มูลสัตว์) ซึ่งไม่ได้เป็นคำในพระคัมภีร์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ชื่อนี้ก็จะหมายถึง “เจ้าของ (เจ้า) แห่งมูลสัตว์” ข้อความใน ลก 11:18 บอกให้รู้ว่าเบเอลเซบูบเป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกซาตาน ซึ่งเป็นหัวหน้าหรือเจ้าแห่งปีศาจ
บ้าน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 3:25
ปัดกวาดจนสะอาด: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้คำว่า “ว่างอยู่และปัดกวาดจนสะอาด” แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือส่วนใหญ่มีข้อความแบบในข้อนี้ เนื่องจากบันทึกใน มธ 12:44 ที่พระเยซูพูดเรื่องคล้าย ๆ กันมีคำกรีกที่แปลว่า “ว่างอยู่” ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนจึงคิดว่าพวกผู้คัดลอกน่าจะใส่คำนี้เข้าไปในหนังสือลูกาเพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือมัทธิว
การอัศจรรย์แบบเดียวกับโยนาห์: ในเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น พระเยซูใช้สำนวน “การอัศจรรย์แบบเดียวกับผู้พยากรณ์โยนาห์” และอธิบายว่าหมายถึงการที่ท่านตายและฟื้นขึ้นจากตาย (มธ 12:39, 40) โยนาห์เปรียบเทียบการที่พระเจ้าช่วยเขาออกจากท้องปลาหลังจากอยู่ในนั้นประมาณ 3 วันว่าเหมือนกับการออกจากหลุมศพ (ยนา 1:17-2:2) การที่พระเยซูถูกปลุกจากหลุมศพเป็นเรื่องจริงเหมือนกับการที่โยนาห์ออกมาจากท้องปลา แต่ถึงแม้พระเยซูจะฟื้นขึ้นมาในวันที่ 3 หลังจากตาย พวกคนใจดื้อด้านและชอบวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่มีความเชื่อในตัวท่าน และการที่โยนาห์ประกาศอย่างกล้าหาญและกระตุ้นให้ชาวนีนะเวห์กลับใจก็เป็นภาพเปรียบเทียบหรือสัญลักษณ์ที่ชี้ถึงการประกาศที่กล้าหาญของพระเยซู—มธ 12:41; ลก 11:32
ราชินีจากทิศใต้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 12:42
ตะเกียง: ดู ข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:15
ตาของคุณเป็นเหมือนแสงสว่างสำหรับร่างกาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:22
มองที่สิ่งเดียว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:22
อิจฉา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:23
ล้าง: คือการล้างหรือชำระตามพิธีกรรม คำกรีก บาพทิโศ (จุ่ม) เป็นคำที่ส่วนใหญ่แล้วใช้เมื่อพูดถึงการรับบัพติศมาของคริสเตียน แต่ในข้อนี้ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในความหมายกว้าง ๆ คือหมายถึงการล้างหรือชำระหลายครั้งตามธรรมเนียมของชาวยิว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 7:4
ช่วยเหลือคนจน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:2
ให้ทำด้วยใจ: ในข้อต่อไปพระเยซูเน้นความยุติธรรมและความรัก (ลก 11:42) ในข้อนี้ท่านจึงอาจพูดถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของหัวใจ เพื่อที่การทำดีจะเป็นการแสดงความเมตตาที่แท้จริง คนที่ทำจะต้องทำด้วยใจซึ่งหมายความว่าเขาต้องทำด้วยความรักและความเต็มใจ
ส่วน 1 ใน 10 ของสะระแหน่ อีหรุด และสมุนไพรอื่น ๆ: ตามกฎหมายของโมเสส ชาวอิสราเอลต้องถวายส่วน 1 ใน 10 ของพืชผลที่ได้จากไร่นา (ลนต 27:30; ฉธบ 14:22) แม้กฎหมายไม่ได้บอกอย่างเจาะจงว่าส่วน 1 ใน 10 ที่ต้องถวายคือสมุนไพรต่าง ๆ เช่น สะระแหน่ และอีหรุด แต่พระเยซูก็ไม่ได้คัดค้านธรรมเนียมของพวกเขา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านตำหนิพวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เอาแต่สนใจรายละเอียดปลีกย่อยของกฎหมาย แต่กลับมองข้ามหลักการที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายเหล่านั้น เช่น ความยุติธรรมและความรักต่อพระเจ้า เมื่อพระเยซูพูดเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ในเวลาต่อมาซึ่งบันทึกไว้ใน มธ 23:23 ท่านพูดถึงสะระแหน่ เทียนข้าวเปลือก และยี่หร่า
นั่งแถวหน้าสุด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 23:6
ที่สาธารณะ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 23:7
ที่ฝังศพที่คนดูไม่ออก: หรือ “ที่ฝังศพที่ไม่มีเครื่องหมาย” โดยทั่วไปแล้ว ที่ฝังศพของชาวยิวจะไม่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยหรู และอย่างที่บอกไว้ในข้อนี้ที่ฝังศพบางแห่งอาจแทบมองไม่เห็นจนทำให้บางคนหลงเดินเข้ามาใกล้และทำให้เขาไม่สะอาดตามกฎหมายของพระเจ้า กฎหมายของโมเสสบอกไว้ว่าคนที่แตะต้องสิ่งของเกี่ยวกับคนตายจะไม่สะอาด ดังนั้น คนที่เหยียบย่ำที่ฝังศพโดยไม่รู้ตัวจะไม่สะอาดอยู่ 7 วัน (กดว 19:16) เพื่อจะให้มีคนมองเห็นที่ฝังศพและไม่เดินเข้าไปใกล้ ชาวยิวจะทาที่ฝังศพเหล่านั้นด้วยน้ำปูนขาวทุกปี ในท้องเรื่องนี้พระเยซูอาจหมายความว่าคนที่คบกับพวกฟาริสีเพราะเชื่อว่าพวกนั้นเป็นคนดีจะติดเชื้อความคิดที่ไม่ดีของพวกฟาริสีโดยไม่รู้ตัว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 23:27
พูดไว้ล่วงหน้าด้วยสติปัญญาของพระองค์ว่า: แปลตรงตัวว่า “สติปัญญาของพระเจ้ายังพูดด้วยว่า” คำพูดต่อไปนี้เป็นคำพูดของพระเจ้า แต่ในอีกโอกาสหนึ่งพระเยซูเป็นผู้พูดประโยคที่คล้ายกัน—มธ 23:34
เริ่มมีโลก: คำกรีกที่แปลว่า “เริ่มมี” ในข้อนี้ ที่ ฮบ 11:11 แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ตั้งท้อง” เมื่อพูดถึงการมีลูก ดังนั้น สำนวน “เริ่มมีโลก” ในข้อนี้น่าจะหมายถึงการที่อาดัมกับเอวาเริ่มมีลูก พระเยซูแสดงให้เห็นว่าการ “เริ่มมีโลก” เกี่ยวข้องกับอาเบลซึ่งดูเหมือนเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ และมีชื่อเขียนไว้ในม้วนหนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิตตั้งแต่ “เริ่มมีโลก”—ลก 11:51; วว 17:8; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:34
นับตั้งแต่อาเบลมาจนถึงเศคาริยาห์ที่ถูกฆ่าตาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:35
ระหว่างวิหารกับแท่นบูชา: คำว่า “วิหาร” หมายถึงตัวอาคารที่มีทั้งห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุด ตามที่ 2พศ 24:21 บอกไว้ เศคาริยาห์ถูกฆ่า “ที่ลานวิหารของพระยะโฮวา” ในสมัยนั้นแท่นถวายเครื่องบูชาเผาอยู่ในลานชั้นใน คืออยู่ด้านนอกหน้าทางเข้าตัววิหาร (ดูภาคผนวก ข8) ซึ่งตรงกับสิ่งที่พระเยซูบอกในข้อนี้
ลูกกุญแจสำหรับไขความรู้: ในคัมภีร์ไบเบิล คนที่ได้รับมอบลูกกุญแจไม่ว่าจะเป็นลูกกุญแจจริง ๆ หรือในความหมายเป็นนัยหมายถึงการได้รับความไว้วางใจให้มีอำนาจในระดับหนึ่ง (1พศ 9:26, 27; อสย 22:20-22) ดังนั้น คำว่า “ลูกกุญแจ” จึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนคำว่า “ความรู้” หมายถึงความรู้ของพระเจ้า เพราะพระเยซูกำลังพูดกับพวกหัวหน้าศาสนาที่เชี่ยวชาญกฎหมายของโมเสส ที่จริงพวกเขาควรใช้อำนาจที่มีเพื่อช่วยผู้คนให้มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งเป็นเหมือนการใช้กุญแจเปิดล็อกให้ผู้คนเข้าใจความรู้ของพระเจ้า การที่พวกผู้นำศาสนาไม่ยอมช่วยผู้คนให้มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้าก็เหมือนกับพวกเขาเก็บลูกกุญแจสำหรับไขความรู้ของพระเจ้าเอาไว้ ทำให้หลายคนไม่มีโอกาสได้เข้าใจคำสอนของพระเจ้าอย่างถูกต้องและได้เข้าในรัฐบาลของพระองค์
กดดันท่านอย่างหนัก: สำนวนนี้อาจหมายถึงการที่คนหนึ่งถูกฝูงชนรุมล้อม แต่ในข้อนี้น่าจะหมายถึงการที่พวกผู้นำศาสนาเกลียดชังพระเยซูและพยายามกดดันท่านอย่างหนักเพื่อให้ท่านกลัว คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้มีการแปลว่า “แค้น” ที่ มก 6:19 ซึ่งพูดถึงเฮโรเดียสที่เกลียดยอห์นผู้ให้บัพติศมา
วีดีโอและรูปภาพ
แมงป่องมีมากกว่า 600 ชนิด และโดยทั่วไปมีขนาดตั้งแต่ไม่ถึง 2.5 ซม. จนถึง 20 ซม. หลายชนิดพบได้ในอิสราเอลกับซีเรีย ถึงแม้ปกติแล้วเหล็กในของแมงป่องไม่ทำให้ถึงตาย แต่แมงป่องบางชนิดก็มีพิษรุนแรงและถ้าได้รับพิษนั้นในปริมาณมากก็อันตรายยิ่งกว่าพิษของงูทะเลทรายหลายชนิดด้วยซ้ำ แมงป่องที่มีพิษรุนแรงที่สุดในอิสราเอลคือแมงป่องสีเหลืองสายพันธุ์ Leiurus quinquestriatus (ที่เห็นในภาพ) มีการพูดถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากเหล็กในของแมงป่องที่ วว 9:3, 5, 10 แมงป่องมีอยู่ทั่วไปในที่กันดารยูเดียและในคาบสมุทรไซนายซึ่งมี ‘ที่กันดารที่น่ากลัว’—ฉธบ 8:15
นี่คือภาพเชิงตะเกียงในบ้าน (หมายเลข 1) ที่วาดโดยมีต้นแบบจากเชิงตะเกียงโบราณจากศตวรรษแรกที่พบในเมืองเอเฟซัส (ประเทศตุรกี) และประเทศอิตาลี ดูเหมือนว่านี่เป็นเชิงตะเกียงแบบที่ใช้กันในบ้านของคนรวย ในบ้านที่จนกว่าจะแขวนตะเกียงลงมาจากเพดานหรือวางไว้ในช่องที่ผนัง (หมายเลข 2) หรือไม่ก็วางไว้บนเชิงตะเกียงที่ทำจากดินหรือไม้
อีหรุดเป็นไม้พุ่มยืนต้นที่มีขนอยู่ตามกิ่งก้านและมีกลิ่นหอมแรง เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 1 เมตร มีใบสีเขียวอมเทาและมีดอกเป็นพวงสีเหลือง อีหรุดที่ปลูกในอิสราเอลมี 2 ชนิด คือชนิดที่เห็นในภาพนี้ (Ruta chalepensis latifolia) และอีกชนิดหนึ่งที่เป็นพันธุ์ธรรมดา (Ruta graveolens) ในสมัยที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลกอาจมีการปลูกอีหรุดเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคและเป็นเครื่องปรุงอาหาร คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงอีหรุดแค่ครั้งเดียวคือใน ลก 11:42 ซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูตำหนิพวกฟาริสีที่แสร้งทำเป็นถวายส่วน 1 ใน 10 อย่างเคร่งครัด—เทียบกับ มธ 23:23
ตลาดบางแห่งตั้งอยู่ริมถนนเหมือนในรูปนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักจะเอาสินค้ามาวางริมถนนจนกีดขวางทางเดิน ชาวบ้านจะมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ ถ้วยชามดินเผา และเครื่องแก้วราคาแพง รวมทั้งของสดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น ผู้คนจึงต้องไปซื้ออาหารที่ตลาดทุกวัน คนที่มาซื้อของที่ตลาดจะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกพ่อค้าหรือคนที่มาจากเมืองอื่น เด็ก ๆ จะเล่นกันที่นั่น คนที่ตกงานก็จะมารอคนจ้าง พระเยซูเคยรักษาคนป่วยและเปาโลก็เคยประกาศที่ตลาด (กจ 17:17) แต่พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เย่อหยิ่งชอบเป็นจุดสนใจและให้คนมาทักทายในที่สาธารณะแบบนี้