เขียนโดยลูกา 14:1-35
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
โรคบวมน้ำ: หรือ “อาการบวมน้ำ” เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีของเหลวในร่างกายมากเกินไปจนทำให้ตัวบวม คำนี้เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งแรกโดยฮิปโปกราติสแพทย์ชาวกรีกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึง 4 ก่อน ค.ศ. อาการบวมน้ำอาจบ่งบอกว่าอวัยวะสำคัญในร่างกายเสียหายมากและเป็นอาการที่น่ากลัวเพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตเมื่อไรก็ได้ บางคนเชื่อว่าการที่ผู้ชายคนนี้ถูกพามาหาพระเยซูในวันสะบาโตเป็นแผนการของพวกฟาริสี เพราะในข้อ 1 บอกว่า “คนที่นั่นคอยจับตาดูท่านอยู่” นี่เป็นหนึ่งในการอัศจรรย์อย่างน้อย 6 อย่างของพระเยซูที่มีเฉพาะในหนังสือข่าวดีของลูกาเท่านั้น—ดู “บทนำของหนังสือลูกา”
ที่ที่มีเกียรติ: ในงานเลี้ยงสมัยพระเยซูแขกจะนั่งเอนตัวบนเก้าอี้ยาวที่วางอยู่ 3 ด้านของโต๊ะอาหาร คนเสิร์ฟอาหารจะเดินเข้ามาในด้านที่ 4 ที่ไม่มีเก้าอี้ จำนวนเก้าอี้ยาวที่ใช้อาจขึ้นอยู่กับขนาดของโต๊ะ เก้าอี้ตัวหนึ่งอาจนั่งได้ถึง 4-5 คน แต่โดยปกติแล้วจะนั่งแค่ 3 คน แต่ละคนจะเอนตัวบนเก้าอี้ยาวโดยหันหัวไปทางโต๊ะอาหาร ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเอาศอกซ้ายยันหมอนอิงไว้และกินอาหารโดยใช้มือขวา ตำแหน่งที่นั่งบนเก้าอี้แต่ละตัวจะบ่งบอกว่าแขกแต่ละคนมีความสำคัญมากน้อยขนาดไหน
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
กินอาหาร: หรือ “ร่วมงานเลี้ยง” แปลตรงตัวว่า “กินขนมปัง” เนื่องจากในสมัยคัมภีร์ไบเบิลขนมปังเป็นอาหารหลักของทั้งคนฮีบรูและกรีก จึงมีการใช้คำว่า “กินขนมปัง” เพื่อหมายถึง “กินอาหาร” คำฮีบรูที่แปลว่า “กินอาหาร” มาจากคำแปลตรงตัวว่า “กินขนมปัง” (ปฐก 37:25; 2พก 4:8; 2ซม 9:7; ปญจ 9:7) คำกรีกที่แปลว่า “กินอาหาร” ใน ลก 14:1 ก็แปลตรงตัวได้ว่า “กินขนมปัง”
ไม่ได้รัก . . . มากกว่า: แปลตรงตัวว่า “ไม่ได้เกลียด” ความหมายของคำว่า “เกลียด” ในคัมภีร์ไบเบิลมีหลายระดับ คำนี้อาจหมายถึงความรู้สึกเกลียดชังที่เกิดจากความคิดมุ่งร้ายซึ่งกระตุ้นให้ทำร้ายคนอื่น หรืออาจหมายถึงความรู้สึกไม่ชอบมาก ๆ หรือรังเกียจบางคนหรือบางสิ่งจนทำให้ไม่อยากเกี่ยวข้องกับคนนั้นหรือสิ่งนั้น หรือคำนี้อาจแปลได้ว่ารักน้อยกว่า เช่น เมื่อคัมภีร์ไบเบิลบอกว่ายาโคบ “เกลียด” เลอาห์และรักราเชลก็หมายความว่าเขารักเลอาห์น้อยกว่าราเชล (ปฐก 29:31, เชิงอรรถ; ฉธบ 21:15) ในงานเขียนโบราณอื่น ๆ ของชาวยิวก็ใช้คำนี้ในความหมายว่า “รักน้อยกว่า” ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น พระเยซูไม่ได้หมายความว่าสาวกของท่านต้องเกลียดกันหรือเกลียดครอบครัวของตัวเอง เพราะนั่นคงจะไม่สอดคล้องกับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ (เทียบกับ มก 12:29-31; อฟ 5:28, 29, 33) ในท้องเรื่องนี้ คำว่า “เกลียด” จึงอาจแปลได้ว่า “รักน้อยกว่า”
ชีวิต: มาจากคำกรีก พะซูเฆ ซึ่งในท้องเรื่องนี้หมายถึงชีวิตของคนหนึ่ง ดังนั้น คำพูดของพระเยซูจึงหมายความว่าสาวกแท้ของพระเยซูต้องรักท่านมากกว่าชีวิตของตัวเอง และถึงขั้นเต็มใจสละชีวิตเมื่อจำเป็น
เสาทรมาน: หรือ “เสาประหาร” คำกรีก สเทารอส ในวรรณกรรมกรีกโบราณมักหมายถึงเสาหรือหลักที่ตั้งตรง เมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย บางครั้งจะหมายถึงความทุกข์ ความอับอาย การทรมาน และแม้แต่ความตายที่คนเราต้องเจอเพราะเป็นสาวกของพระเยซู นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่พระเยซูบอกว่าสาวกของท่านต้องแบกเสาทรมาน สองครั้งก่อนหน้านี้อยู่ที่ (1) มธ 10:38; (2) มธ 16:24; มก 8:34; ลก 9:23—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เกลือ: แร่ธาตุที่ใช้เพื่อถนอมอาหารและเพิ่มรสชาติ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:13
ไม่เค็มแล้ว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:13
วีดีโอและรูปภาพ
ในศตวรรษแรก ปกติแล้วผู้คนจะนั่งเอนตัวที่โต๊ะเพื่อกินอาหาร แต่ละคนจะเอาศอกซ้ายยันหมอนอิงไว้และกินอาหารโดยใช้มือขวา ตามธรรมเนียมของกรีกและโรมันห้องอาหารโดยทั่วไปจะมีเก้าอี้ยาว 3 ตัวตั้งอยู่รอบโต๊ะอาหารเตี้ย ๆ ชาวโรมันเรียกห้องอาหารแบบนี้ว่า ไตรคลิเนียม (คำละตินที่มาจากคำกรีกซึ่งมีความหมายว่า “ห้องที่มีเก้าอี้ยาว 3 ตัว”) แม้ตามปกติแล้วการตั้งเก้าอี้แบบนี้จะนั่งได้ 9 คน โดยนั่งตัวละ 3 คน แต่เพื่อจะรับรองคนได้มากขึ้นก็อาจใช้เก้าอี้ที่ยาวขึ้นได้ เชื่อกันว่าที่นั่งแต่ละที่ในห้องอาหารบ่งบอกถึงฐานะหรือเกียรติของคนคนนั้น เก้าอี้ยาวตัวหนึ่งสำหรับคนที่มีเกียรติน้อยที่สุด (ก) อีกตัวหนึ่งอยู่ตรงกลาง (ข) และอีกตัวไว้สำหรับคนที่มีเกียรติมากที่สุด (ค) ตำแหน่งที่นั่งบนเก้าอี้ยาวแต่ละตัวก็มีความสำคัญแตกต่างกันด้วย คนที่นั่งข้างซ้ายจะมีเกียรติมากกว่าคนที่นั่งข้างขวาของเขา แต่ถ้างานเลี้ยงนั้นเป็นงานเลี้ยงแบบเป็นทางการ เจ้าภาพมักจะนั่งอยู่ตรงที่นั่งแรก (หมายเลข 1) บนเก้าอี้ยาวที่มีเกียรติน้อยที่สุด ส่วนแขกที่สำคัญที่สุด (หมายเลข 2) จะได้นั่งติดกับเจ้าภาพบนเก้าอี้ยาวที่อยู่ตรงกลาง ถึงแม้เราไม่รู้แน่ชัดว่าชาวยิวเอาธรรมเนียมนี้ไปใช้มากขนาดไหน แต่ดูเหมือนว่าพระเยซูใช้ธรรมเนียมนี้เพื่อสอนสาวกเรื่องความถ่อม
ทุกวันนี้น้ำในทะเลเดดซี (ทะเลเกลือ) เค็มกว่าน้ำในมหาสมุทรทั่วไปในโลกประมาณ 9 เท่า (ปฐก 14:3) ชาวอิสราเอลได้เกลือจำนวนมากจากการระเหยของน้ำในทะเลเดดซี แต่เกลือเหล่านี้มีคุณภาพไม่ดีเพราะมีแร่ธาตุอื่น ๆ ปะปนอยู่ นอกจากนั้น ชาวอิสราเอลยังอาจได้เกลือมาจากชาวฟีนิเซีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเกลือที่ได้จากการระเหยของน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการใช้เกลือเพื่อปรุงอาหาร (โยบ 6:6) พระเยซูชำนาญในการใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ท่านจึงใช้เกลือเพื่อสอนเรื่องสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ในคำบรรยายบนภูเขา พระเยซูบอกสาวกว่า “คุณเป็นเหมือนเกลือในโลกนี้” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะช่วยคนอื่นไม่ให้เสื่อมเสียด้านศีลธรรมและในด้านความสัมพันธ์กับพระเจ้า