เขียนโดยลูกา 17:1-37
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
สิ่งที่ทำให้คนทิ้งความเชื่อ: หรือ “สิ่งที่ชักจูงคนให้หลงทำผิด” เชื่อกันว่าคำกรีก สคานดาลอน แต่เดิมหมายถึงกับดัก และบางคนคิดว่าหมายถึงแท่งไม้ที่อยู่ในกับดักซึ่งมีเหยื่อล่อผูกติดอยู่ ต่อมามีการใช้คำนี้ในความหมายที่กว้างขึ้น คือหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งกีดขวางซึ่งทำให้คนเราสะดุดหรือล้มลง และเมื่อใช้ในความหมายเป็นนัย คำนี้หมายถึงการกระทำหรือสถานการณ์ที่ทำให้คนเราทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องด้านศีลธรรม หรือทำผิด ส่วนคำกริยา สคานดาลิโศ ซึ่งใน ลก 17:2 แปลว่า “ทำให้คน . . . ทิ้งความเชื่อ” ยังอาจแปลได้ว่า “กลายเป็นหลุมพราง, เป็นต้นเหตุให้ทำผิด”
วันละ 7 ครั้ง: คำพูดนี้อาจเตือนให้เปโตรคิดถึงคำตอบของพระเยซูก่อนหน้านั้น เปโตรเคยถามท่านว่าควรให้อภัยพี่น้องกี่ครั้ง ตอนนั้นพระเยซูตอบว่าต้องให้อภัย “ถึง 77 ครั้ง” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 18:22) คำตอบของพระเยซูทั้งตอนนั้นและในข้อนี้ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร คำว่า “7 ครั้ง” ในข้อนี้ทำให้คิดถึงจำนวนที่ไม่จำกัด (เทียบกับคำว่า “วันละเจ็ดครั้ง” ใน สด 119:164 ซึ่งทำให้คิดถึงการทำซ้ำ ๆ ทำสม่ำเสมอ และทำอยู่ตลอด) คริสเตียนคนหนึ่งอาจทำผิดกับพี่น้อง 7 ครั้งในวันเดียวและเขาก็กลับใจทั้ง 7 ครั้ง ถ้าตอนที่ถูกตำหนิแล้วเขากลับใจก็ต้องให้อภัยเขาทุกครั้ง ถ้ามีการกลับใจแบบนี้ เขาก็สมควรได้รับการอภัยแบบไม่อั้น—ลก 17:3
ขนาดเท่าเมล็ดมัสตาร์ด: หรือ “เล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 13:19
ต้นหม่อนดำ: มีการพูดถึงต้นนี้แค่ครั้งเดียวในคัมภีร์ไบเบิล คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้โดยปกติแล้วหมายถึงต้นหม่อนทั่ว ๆ ไป ต้นหม่อนที่ปลูกกันมากในอิสราเอลคือต้นหม่อนดำ (Morus nigra) ต้นหม่อนชนิดนี้มีลำต้นที่แข็งแรง และเมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 6 เมตร ใบของมันมีขนาดใหญ่และเป็นรูปหัวใจ ผลเป็นสีแดงเข้มหรือดำ คล้ายลูกแบล็คเบอร์รี่ เป็นที่รู้กันว่ารากของต้นหม่อนดำจะแผ่ไปไกลมากทำให้ถอนต้นนี้ได้ยาก
ใส่ผ้ากันเปื้อนให้พร้อม: คำกรีก เพะริโศนนูไม ที่แปลว่า “ใส่ผ้ากันเปื้อน” แปลตรงตัวว่า “คาดเอวไว้” หมายถึงการใส่ผ้ากันเปื้อนหรือเข็มขัดเพื่อให้ชุดที่ใส่อยู่กระชับขึ้นและพร้อมจะทำงาน ในท้องเรื่องนี้ คำกรีกนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ให้แต่งตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับใช้” คำกรีกนี้ยังมีการใช้ที่ ลก 12:35, 37 และ อฟ 6:14—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 12:35, 37
ที่ทำตามหน้าที่เท่านั้น: แปลตรงตัวว่า “ที่ไม่มีประโยชน์, ที่ไร้ค่า” จุดสำคัญในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูไม่ได้หมายความว่าทาสหรือสาวกต้องมองว่าตัวเองไม่มีประโยชน์หรือไม่มีค่า ในท้องเรื่องนี้ คำนี้ถ่ายทอดแนวคิดว่าทาสมองตัวเองอย่างเจียมตัวและไม่คิดว่าตัวเองควรได้รับความสนใจหรือการยกย่องเป็นพิเศษ นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนมองว่าคำที่ใช้ในข้อนี้เป็นอติพจน์หรือคำพูดเกินจริง ซึ่งมีความหมายว่า “พวกเราเป็นแค่ทาสไม่สมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ”
ตอนที่พระเยซูเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม . . . ใช้เส้นทางที่อยู่ระหว่างแคว้นสะมาเรียกับแคว้นกาลิลี: จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้คือกรุงเยรูซาเล็ม แต่ตอนแรกพระเยซูออกจากเมืองเอฟราอิมโดยเดินทางขึ้นเหนือผ่านแคว้นสะมาเรียและกาลิลี (อาจเป็นทางใต้ของแคว้น) เพื่อไปที่พีเรีย ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ตอนที่พระเยซูกำลังเข้าไปในหมู่บ้านหนึ่งซึ่งอาจอยู่ในแคว้นสะมาเรียหรือกาลิลี ท่านเจอกับคนโรคเรื้อน 10 คน (ลก 17:12) นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่พระเยซูไปกาลิลีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต—ยน 11:54; ดูภาคผนวก ก7
คนโรคเรื้อน 10 คน: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลคนโรคเรื้อนมักจะอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มซึ่งทำให้พวกเขาช่วยเหลือกันได้ (2พก 7:3-5) กฎหมายของพระเจ้ากำหนดว่าคนโรคเรื้อนต้องแยกอยู่ต่างหาก และไม่ว่าจะไปที่ไหนคนโรคเรื้อนต้องเตือนคนอื่นให้รู้ว่าเขาอยู่ตรงนั้นโดยร้องตะโกนว่า “ไม่สะอาด ไม่สะอาด” (ลนต 13:45, 46) ในข้อนี้คนโรคเรื้อนทำตามที่กฎหมายของโมเสสบอกไว้โดยยืนอยู่ห่าง ๆ พระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
ไปหาปุโรหิตแล้วให้พวกเขาตรวจดู: พระเยซูคริสต์อยู่ใต้กฎหมายของโมเสสตอนที่อยู่บนโลก และท่านยอมรับการจัดเตรียมเรื่องปุโรหิต ท่านจึงบอกให้คนโรคเรื้อนที่ท่านรักษาไปหาปุโรหิต (มธ 8:4; มก 1:44) ตามกฎหมายของโมเสส ปุโรหิตต้องตรวจดูว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนหายจากโรคแล้วหรือไม่ คนที่หายโรคต้องไปที่วิหารเพื่อถวายเครื่องบูชาหรือสิ่งของ คือนกเป็น ๆ ชนิดที่สะอาด 2 ตัว กิ่งสนซีดาร์ ด้ายสีแดงเข้ม และกิ่งหุสบ—ลนต 14:2-32
พวกเขาก็หายโรค: ลูกาเป็นคนเดียวที่พูดถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูรักษาคนโรคเรื้อน 10 คน
อย่างที่ทุกคนเห็นได้ชัด: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกและมาจากคำกริยากรีกที่หมายถึง “เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด, สังเกต” นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนบอกว่านักเขียนเรื่องทางการแพทย์สมัยก่อนมักใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการเฝ้าสังเกตอาการของโรค การใช้คำนี้ในข้อนี้อาจแสดงว่ารัฐบาลของพระเจ้าจะไม่มาในแบบที่ทุกคนสังเกตเห็นได้
อยู่ในหมู่พวกคุณ: หรือ “อยู่ท่ามกลางพวกคุณ” คำสรรพนาม “พวกคุณ” ในภาษากรีกอยู่ในรูปพหูพจน์และหมายถึงพวกฟาริสีที่กำลังพูดกับพระเยซู (ลก 17:20; เทียบกับ มธ 23:13) พระเยซูเป็นตัวแทนของพระเจ้า เป็นผู้ที่พระเจ้าเจิมให้เป็นกษัตริย์ จึงพูดได้ว่า “รัฐบาล” ของพระเจ้าอยู่ในหมู่พวกเขา แต่ไม่ใช่แค่พระเยซูอยู่ตรงนั้นกับพวกเขา ท่านยังมีอำนาจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่าท่านเป็นกษัตริย์ที่พระเจ้าแต่งตั้งและมีอำนาจเตรียมคนที่จะได้รับตำแหน่งในรัฐบาลของพระเจ้าที่กำลังมาถึงด้วย—ลก 22:29, 30
สมัยของ ‘ลูกมนุษย์’ จะ: หรืออาจแปลได้ว่า “ลูกมนุษย์จะ” สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับใช้ข้อความที่สั้นกว่า แต่บางฉบับก็ใช้ข้อความแบบที่ใช้ในข้อนี้
เหมือนกับฟ้าแลบ: การประทับของพระเยซูเหมือนกับฟ้าแลบในแง่ที่ว่า เมื่อท่านมาประทับฐานะกษัตริย์ในรัฐบาลของพระเจ้าทุกคนที่เฝ้าดูจะเห็นหลักฐานการประทับนั้นอย่างชัดเจน
สมัยของโนอาห์: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “สมัย” บางครั้งใช้หมายถึงช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง (อสย 1:1; ยรม 1:2, 3; ลก 17:28) ในข้อนี้พระเยซูเทียบ “สมัยของโนอาห์” กับสมัยของ ‘ลูกมนุษย์’ และในบันทึกที่ มธ 24:37 ซึ่งพูดเรื่องเดียวกัน มีการใช้คำว่า “การประทับของ ‘ลูกมนุษย์’” แม้พระเยซูบอกว่าสมัยของโนอาห์กับ “สมัย” หรือ “การประทับ” ของท่านมีตอนจบคล้ายกัน แต่ท่านก็ไม่ได้เทียบแค่ตอนจบของสมัยโนอาห์ซึ่งก็คือตอนที่น้ำท่วมโลกกับตอนจบของการประทับของท่าน เนื่องจาก “สมัยของโนอาห์” ครอบคลุมช่วงเวลาหลายปี จึงเชื่อได้ว่า “สมัย [หรือ “การประทับ”] ของลูกมนุษย์” ที่บอกไว้ล่วงหน้าก็จะครอบคลุมช่วงเวลาหลายปีเหมือนกัน และจะจบลงด้วยการทำลายคนที่ไม่แสวงหาความรอดจากพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3
เรือ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:38
น้ำก็มาท่วม: หรือ “น้ำท่วมโลก” คำกรีก คาทาคลูซะมอส หมายถึงน้ำท่วมใหญ่ที่มีพลังทำลายล้างอย่างรุนแรง คัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้เมื่อพูดถึงน้ำท่วมโลกสมัยโนอาห์—ปฐก 6:17, ฉบับเซปตัวจินต์; มธ 24:38, 39; 2ปต 2:5
ดาดฟ้า: หลังคาบ้านสมัยนั้นจะเป็นเหมือนดาดฟ้าที่แบนราบและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เก็บของ (ยชว 2:6) พักผ่อน (2ซม 11:2) นอนหลับ (1ซม 9:26) และฉลองเทศกาลเพื่อนมัสการพระเจ้า (นหม 8:16-18) จึงต้องมีกฎหมายสั่งให้ทำแนวกั้นรอบดาดฟ้า (ฉธบ 22:8) ปกติแล้ว จะมีบันไดที่สร้างไว้นอกตัวบ้าน หรือบันไดพาดสำหรับขึ้นลงดาดฟ้าโดยไม่ต้องเข้าไปในบ้าน ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าสาวกของพระเยซูสามารถทำตามคำเตือนของท่านในเรื่องนี้ได้ และแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องเร่งด่วนขนาดไหน
ถูกพาไป: มีการใช้คำกรีกที่แปลว่า “ถูกพาไป” ในหลายท้องเรื่องและมักใช้ในความหมายที่ดี ตัวอย่างเช่น ที่ มธ 1:20 แปลคำนี้ว่า “แต่งงาน” ซึ่งก็คือพามาอยู่ที่บ้าน; ที่ มธ 17:1 แปลว่า “พา . . . ไป”; และที่ ยน 14:3 แปลว่า “รับ . . . ไปอยู่” ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำกรีกนี้ดูเหมือนหมายถึงการได้รับความโปรดปรานจากพระเยซูซึ่งเป็น “อาจารย์” และได้รับการช่วยให้รอด (ลก 17:37) คำนี้ยังสอดคล้องกับการที่โนอาห์ถูกพาเข้าไปในเรือในวันที่น้ำท่วมโลก และการที่โลทถูกทูตสวรรค์พาออกจากเมืองโสโดม (ลก 17:26-29) ในอีกด้านหนึ่ง การถูกทิ้งไว้หมายถึงการถูกพิพากษาว่าสมควรถูกทำลาย
ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับมีข้อความว่า “ชายสองคนอยู่ในทุ่งนา จะเอาไปคนหนึ่ง จะละไว้คนหนึ่ง” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด และดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นข้อความที่อยู่ในต้นฉบับของหนังสือลูกา แต่มีข้อความคล้ายกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ได้รับการดลใจอยู่ที่ มธ 24:40 นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนจึงคิดว่าผู้คัดลอกคนหนึ่งในยุคแรกเอาข้อความจากหนังสือมัทธิวมาใส่ในหนังสือลูกา—ดูภาคผนวก ก3
วีดีโอและรูปภาพ
หินโม่ขนาดใหญ่เหมือนในภาพนี้ต้องใช้สัตว์หมุน เช่น ลา และใช้เพื่อบดเมล็ดข้าวหรือมะกอก หินโม่แผ่นบนอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร และจะหมุนอยู่บนหินแผ่นล่างที่ใหญ่กว่า
มีการพูดถึงต้นหม่อนดำ (Morus nigra) แค่ครั้งเดียวซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูพูดกับสาวกเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา (ลก 17:5, 6) คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้โดยปกติแล้วหมายถึงต้นหม่อนธรรมดา ในอิสราเอลมีการปลูกต้นหม่อนดำ (Morus nigra) กันทั่วไป ต้นหม่อนชนิดนี้มีลำต้นแข็งแรง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 6 เมตร ใบของมันมีขนาดใหญ่และเป็นรูปหัวใจ ผลเป็นสีแดงเข้มหรือดำคล้ายผลแบล็คเบอร์รี่