เขียนโดยลูกา 19:1-48
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ศักเคียส: มาจากชื่อภาษาฮีบรูซึ่งอาจมีรากศัพท์ที่มีความหมายว่า “สะอาด, บริสุทธิ์” ศักเคียสเป็นหัวหน้าคนเก็บภาษี เขาจึงอาจดูแลคนเก็บภาษีหลายคนที่เก็บภาษีอยู่ในเมืองเยรีโคและรอบ ๆ เนื่องจากเขตนี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และให้ผลผลิตดี จึงทำให้เก็บภาษีได้มาก ศักเคียสเป็นคนรวยและสิ่งที่เขาพูด (ลก 19:8) ทำให้รู้ว่าทรัพย์สินเงินทองส่วนหนึ่งของเขาได้มาจากการโกงคนอื่น
โกง: หรือ “โกงด้วยการกล่าวหาคนอื่น”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:14
4 เท่า: ศักเคียสคงคำนวณจากบันทึกการเก็บภาษีของเขาได้ว่าเคยได้เงินจากชาวยิวคนไหนเป็นจำนวนเท่าไรบ้าง และเขาสัญญาว่าจะคืนให้คนเหล่านั้น 4 เท่าซึ่งมากกว่าที่กฎหมายของพระเจ้ากำหนดไว้ด้วยซ้ำ ตามกฎหมายของโมเสส คนที่เคยฉ้อโกงคนอื่นและกลับใจต้องคืนหรือชดใช้ให้ตามราคาของสิ่งที่ได้เอาไปและ “ต้องเพิ่มให้อีก 1 ใน 5 ของราคานั้น [ซึ่งก็คือ 20 เปอร์เซ็นต์]” แต่ศักเคียสบอกว่าเขาจะคืนให้ถึง 4 เท่า การที่ศักเคียสทำอย่างนี้หลังจากกลับใจแล้วแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เพียงมีความรักต่อคนยากจนเท่านั้น แต่ยังแสดงความยุติธรรมต่อคนที่ถูกกดขี่ด้วย—ลนต 6:2-5; กดว 5:7
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:3
เพื่อจะรับตำแหน่งกษัตริย์: หรือ “เพื่อจะรับอาณาจักร” คำกรีก บาซิเล่อา ที่มักแปลว่า “อาณาจักร” มีความหมายกว้างและส่วนใหญ่หมายถึงรัฐบาลที่มีกษัตริย์ปกครอง รวมถึงเขตแดนและผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; 25:34) นอกจากนั้น คำนี้ยังหมายถึงตำแหน่งกษัตริย์ซึ่งมาพร้อมกับเกียรติยศและอำนาจ เป็นเรื่องปกติในจักรวรรดิโรมันที่คนที่มีเชื้อเจ้าจะเดินทางไปโรมเพื่อรับตำแหน่งกษัตริย์ ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูคงทำให้ผู้ฟังนึกถึงอาร์เคลาอัสลูกของเฮโรดมหาราช ก่อนตายเฮโรดมหาราชได้แต่งตั้งอาร์เคลาอัสเป็นกษัตริย์ปกครองยูเดียและแคว้นอื่น ๆ ต่อจากเขา แต่ก่อนที่อาร์เคลาอัสจะได้ตำแหน่งกษัตริย์ เขาต้องเดินทางไกลไปถึงกรุงโรมเพื่อขออนุมัติจากซีซาร์ออกัสตัส
มินา: มินาของกรีกไม่ใช่เหรียญ แต่เป็นหน่วยน้ำหนักซึ่งหนักประมาณ 340 กรัม นักเขียนชาวกรีกในสมัยโบราณถือว่าเงินหนัก 1 มินามีค่าเท่ากับ 100 ดรัคมา เนื่องจากดรัคมามีค่าใกล้เคียงกับเดนาริอัน ดังนั้น 1 มินาจึงเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เดนาริอัน”) มินาของกรีกไม่เหมือนกับมินาของฮีบรู—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “มินา” และภาคผนวก ข14
เป็นกษัตริย์: หรือ “ปกครองอาณาจักร”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 19:12
เงิน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:18
เงิน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:18
ธนาคาร: ทั้งในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเงินมินาในหนังสือข่าวดีของลูกาและเรื่องเงินตะลันต์ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว พระเยซูพูดถึงธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยกับคนที่เอาเงินมาฝาก (มธ 25:14-30; ลก 19:12-27) คำกรีก ตราเพะศา ซึ่งในข้อนี้แปลว่า “ธนาคาร” มีความหมายตรงตัวว่า “โต๊ะ” (มธ 15:27) ในท้องเรื่องที่พูดถึงเงิน เช่น เมื่อพูดถึงคนรับแลกเงิน คำนี้จะหมายถึงโต๊ะหรือเคาน์เตอร์สำหรับวางเหรียญ (มธ 21:12; มก 11:15; ยน 2:15) ในศตวรรษแรก คนให้กู้เงินหรือธนาคารมีบทบาทสำคัญในอิสราเอลและชาติที่อยู่รอบ ๆ
ดอกเบี้ย: กฎหมายของโมเสสห้ามชาวอิสราเอลคิดดอกเบี้ยเมื่อให้เพื่อนร่วมชาติชาวยิวยืมเงิน (อพย 22:25) แต่พวกเขาสามารถคิดดอกเบี้ยกับคนต่างชาติได้ เช่น คนที่มากู้เงินเพื่อทำธุรกิจ (ฉธบ 23:20) ในสมัยพระเยซู ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่จะฝากเงินกับธนาคารและได้ดอกเบี้ย
เบธฟายี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:1
เบธานี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:17
ลูกลา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:2; มก 11:2
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก สด 118:26 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
หินพวกนี้ก็จะพูดออกมา: ในท้องเรื่องนี้ พระเยซูพูดถึงสิ่งที่พวกสาวกกำลังทำซึ่งเป็นเรื่องที่พวกฟาริสีไม่พอใจ (ลก 19:37-39) พวกสาวกยกข้อคัมภีร์ที่ สด 118:26 ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในตอนนั้น เพราะคำพูดของพระยะโฮวาจะไม่กลับมาหาพระองค์ “ถ้ายังไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ” (อสย 55:11) ถึงพวกสาวกจะถูกสั่งไม่ให้พูดในตอนนั้น ก้อนหินก็จะพูดออกมาเพื่อทำให้คำพยากรณ์ข้อนี้เป็นจริง
ร้องไห้: คำกรีกที่แปลว่า “ร้องไห้” มักหมายถึงการร้องไห้เสียงดังจนคนได้ยิน
รั้วเสาแหลม: หรือ “รั้วไม้” คำกรีก ฆาราคส์ มีอยู่แค่ที่เดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกซึ่งก็คือในข้อนี้ มีการอธิบายว่าคำนี้หมายถึง “แท่งไม้หรือเสาแหลมที่ใช้ทำรั้ว” และยังหมายถึง “แนวรั้วที่พวกทหารทำขึ้นโดยใช้ท่อนไม้, รั้วไม้” คำพูดของพระเยซูเป็นจริงในปี ค.ศ. 70 เมื่อกองทัพโรมันซึ่งนำโดยแม่ทัพติตุสได้สร้างกำแพงหรือรั้วไม้รอบกรุงเยรูซาเล็ม ติตุสมีจุดประสงค์ 3 อย่างที่ทำอย่างนั้น คือเพื่อป้องกันไม่ให้พวกยิวหนีออกไปได้ เพื่อบีบให้พวกเขายอมแพ้ และเพื่อให้คนในกรุงอดอยากจนต้องยอมจำนน กองทัพโรมันตัดต้นไม้รอบกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเอามาสร้างรั้วเสาแหลมนี้
จะไม่เหลือหินซ้อนทับกันแม้แต่ก้อนเดียว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:2
วันเวลาที่พระเจ้ามาพิพากษา: หรือ “กำหนดเวลาที่จะถูกตรวจตรา” คำกรีก เอะพิสะคอเพ (การตรวจตรา, การมาเยี่ยม) เกี่ยวข้องกับคำ เอะพิสคอพ็อส (ผู้ดูแล) และ เอะพิสคอเพะโอ (ดูแล, เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด) คำกรีกนี้มีความหมายทั้งในแง่ดีและไม่ดี สำหรับชาวยิวที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่ยอมรับรู้ว่าวันเวลาของการตรวจตรานั้นเกี่ยวข้องกับการรับใช้ของพระเยซูบนโลก พวกเขาจะถูกพระเจ้าพิพากษาลงโทษ แต่คนที่เข้าใจความหมายของวันเวลานั้นและกลับใจ แสดงความเชื่อในพระเจ้า พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากพระองค์ มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสย 10:3 และ ยรม 10:15 เพื่อแปลคำฮีบรูที่มีความหมายว่า “วันแห่งการคิดบัญชี (การลงโทษ)”
วิหาร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:12
ไล่คนที่กำลังขายของ: ในวันที่ 10 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 พระเยซูชำระวิหารเป็นครั้งที่ 2 และเหตุการณ์นี้มีบันทึกในหนังสือข่าวดีของมัทธิว (21:12-17) มาระโก (11:15-18) และลูกา ส่วนการชำระวิหารครั้งแรกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปัสกา ปี ค.ศ. 30 มีบันทึกที่ ยน 2:13-17
ถ้ำโจร: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 21:13
วีดีโอและรูปภาพ
มีการพูดถึงต้นมะเดื่อป่า (Ficus sycomorus) แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ซึ่งเป็นตอนที่พระเยซูไปเมืองเยรีโคในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 33 (ลก 19:1-10) ต้นไม้ชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นมะเดื่อธรรมดาและต้นหม่อน แต่ไม่เหมือนกับต้นมะเดื่อที่ปลูกในอเมริกาเหนือ ผลของต้นมะเดื่อป่านี้คล้ายกับผลมะเดื่อธรรมดา ต้นมะเดื่อป่าเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง เมื่อโตเต็มที่อาจสูงถึง 10-15 เมตร และอาจอยู่ได้นานหลายร้อยปี ต้นมะเดื่อป่าเติบโตในหุบเขาจอร์แดนและพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูแสดงให้เห็นว่ามีต้นไม้ชนิดนี้อยู่มากมายในเขตเชเฟลาห์ ซึ่งอยู่ระหว่างที่ราบริมฝั่งทะเลกับเทือกเขายูเดีย (1พก 10:27; 2พศ 1:15; 9:27) ต้นไม้ชนิดนี้ไม่ผลัดใบและมีใบเขียวตลอดทั้งปี ใบที่ดกหนาและแผ่กว้างให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี จึงมักมีการปลูกต้นไม้นี้ไว้ริมทาง ต้นมะเดื่อป่ามีลำต้นสั้นแต่แข็งแรง กิ่งก้านของมันสูงจากพื้นดินไม่มาก จึงง่ายที่คนตัวเตี้ยอย่างศักเคียสจะปีนขึ้นไป
วีดีโอนี้ช่วยให้เห็นเส้นทางเข้ากรุงเยรูซาเล็มจากทิศตะวันออก โดยเริ่มจากบริเวณที่ปัจจุบันคือหมู่บ้านเอ็ททูร์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เดียวกับหมู่บ้านเบธฟายีในสมัยพระคัมภีร์ไปจนถึงจุดที่สูงกว่าบนภูเขามะกอก ด้านตะวันออกของหมู่บ้านเบธฟายีคือหมู่บ้านเบธานี ซึ่งทั้งสองอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกของภูเขามะกอก ตอนที่พระเยซูกับสาวกไปที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขามักจะค้างคืนที่หมู่บ้านเบธานี ปัจจุบันที่นั่นมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อภาษาอาหรับว่า เอล อะซาริเยห์ (El ʽEizariya) ซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของลาซารัส” พระเยซูคงพักที่บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัส (มธ 21:17; มก 11:11; ลก 21:37; ยน 11:1) ตอนเดินทางจากบ้านนี้ไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านอาจใช้เส้นทางที่เห็นในวีดีโอ และตอนที่ท่านขี่ลูกลาข้ามภูเขามะกอกไปที่กรุงนี้ในวันที่ 9 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 ท่านคงใช้เส้นทางเดียวกันนี้จากหมู่บ้านเบธฟายีไปตามถนนที่เข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
1. ถนนจากเบธานีไปเบธฟายี
2. เบธฟายี
3. ภูเขามะกอก
4. หุบเขาขิดโรน
5. ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่
ลามีกีบเท้าแข็งและอยู่ในตระกูลเดียวกับม้า แต่ต่างกันตรงที่ลาจะตัวเล็กกว่า แผงคอสั้นกว่า หูยาวกว่า มีขนที่หางสั้นกว่าและมีขนเฉพาะตรงปลายหางเท่านั้น แม้จะมีคำเปรียบว่าลาเป็นสัตว์ที่โง่และดื้อ แต่จริง ๆ แล้วมันฉลาดกว่าม้าและเป็นสัตว์ที่อดทนมาก ผู้ชายและผู้หญิงชาวอิสราเอลและแม้แต่คนที่มีชื่อเสียงก็ขี่ลา (ยชว 15:18; วนฉ 5:10; 10:3, 4; 12:14; 1ซม 25:42) ตอนที่โซโลมอนลูกชายของดาวิดได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์เขาก็ขี่ล่อของดาวิด ล่อตัวเมียนี้เป็นลูกผสมระหว่างม้ากับลา (1พก 1:33-40) จึงเหมาะสมที่สุดที่พระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอนจะขี่ลูกลาไม่ใช่ม้า และนี่ทำให้คำพยากรณ์ที่ ศคย 9:9 เป็นจริง
มีการพบหินเหล่านี้ทางทิศใต้ของกำแพงกรุงเยรูซาเล็มด้านตะวันตก เชื่อกันว่าหินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของซากปรักหักพังบนภูเขาที่วิหารตั้งอยู่ซึ่งหลงเหลือมาจากศตวรรษแรก หินเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เพื่อเตือนใจถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็มและวิหารที่ถูกทำลายโดยพวกโรมัน