เขียนโดยลูกา 2:1-52
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ซีซาร์: หรือ “จักรพรรดิ” คำกรีก ไคซาร์ ตรงกับคำละติน ซีซาร์ (ดูส่วนอธิบายศัพท์) ชื่อออกัสตัสเป็นคำละตินที่มีความหมายว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “ผู้ที่ถูกยกย่อง” สภาสูงของโรมันให้ตำแหน่งนี้ครั้งแรกกับกายอัส ออกเตเวียสซึ่งเป็นจักรพรรดิโรมันองค์แรกในปี 27 ก่อน ค.ศ. เขาจึงเป็นที่รู้จักในชื่อซีซาร์ออกัสตัสและคำสั่งของเขาส่งผลให้พระเยซูไปเกิดที่เมืองเบธเลเฮมซึ่งทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง—ดนล 11:20; มคา 5:2
อาณาจักร: คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “อาณาจักร” (ออยคู่เมะเน) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ (ลก 4:5; กจ 17:31; รม 10:18; วว 12:9; 16:14) ในศตวรรษแรก มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงจักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นที่ที่ชาวยิวกระจัดกระจายกันอยู่—กจ 24:5
จดทะเบียนสำมะโนครัว: ออกัสตัสอาจออกคำสั่งนี้เพราะการรู้จำนวนประชากรจะช่วยในการเรียกเก็บภาษีและเกณฑ์ทหาร การที่เขาทำอย่างนี้ทำให้คำพยากรณ์ของดาเนียลเกี่ยวกับผู้นำคนหนึ่งที่ “ส่งคนเก็บภาษีไปทั่วอาณาจักรที่รุ่งเรือง” เกิดขึ้นจริง ดาเนียลยังบอกด้วยว่าผู้ที่สืบอำนาจต่อจากนั้นจะถูก “ดูหมิ่น” และในช่วงการปกครองของเขาจะเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น นั่นคือ “ผู้นำตามสัญญา” หรือเมสสิยาห์จะ “ถูกกำจัด” หรือถูกฆ่า (ดนล 11:20-22) พระเยซูถูกประหารในช่วงการปกครองของทิเบริอัสซึ่งเป็นผู้สืบอำนาจต่อจากออกัสตัส
คีรินิอัส . . . ผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย: ปูบลิอัส ซุลพิเชียส คีรินิอัสเป็นสมาชิกสภาโรมันที่มีชื่อเสียง คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงชื่อเขาแค่ครั้งเดียว ตอนแรกนักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลอ้างว่าคีรินิอัสปกครองแคว้นซีเรียแค่ช่วงเดียวคือประมาณปี ค.ศ. 6 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกบฏเพราะผู้คนคัดค้านการจดทะเบียนสำมะโนครัว นักวิชาการเหล่านั้นจึงตั้งข้อสงสัยในข้อความนี้และในบันทึกทั้งหมดของลูกา พวกเขาหาเหตุผลว่าคีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการในปี ค.ศ. 6 หรือ 7 แต่พระเยซูเกิดก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 1764 มีการค้นพบคำจารึกหนึ่งที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าคีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการ (หรือผู้แทน) แคว้นซีเรีย 2 ช่วง และมีคำจารึกอื่น ๆ อีกที่ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนยอมรับว่า คีรินิอัสเคยเป็นผู้ว่าราชการที่ซีเรียในช่วงก่อนปี ค.ศ. ซึ่งอาจเป็นตอนที่มีการออกคำสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งแรกตามที่บอกไว้ในข้อนี้ ที่จริง การที่พวกนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์บันทึกของลูกาเป็นเพราะพวกเขาไม่สนใจข้อเท็จจริงสำคัญ 3 อย่างคือ ข้อเท็จจริงที่ 1 ลูกายอมรับว่ามีการจดทะเบียนสำมะโนครัวมากกว่า 1 ครั้ง เพราะเขาเรียกการจดทะเบียนครั้งนี้ว่า “การจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งแรก” เห็นได้ชัดว่าลูการู้ว่ามีการจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งต่อมาด้วย ซึ่งเกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 6 เพราะเขาพูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือกิจการของอัครสาวก (5:37) และโยเซฟุสก็พูดถึงเรื่องนี้ด้วย ข้อเท็จจริงที่ 2 ถึงแม้การลำดับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลอาจทำให้เข้าใจได้ว่าพระเยซูเกิดช่วงที่ 2 ที่คีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการ แต่เมื่อดูเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วเป็นไปได้มากกว่าที่พระเยซูจะเกิดในช่วงแรกที่คีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการ คือระหว่างปี 4 ถึง 1 ก่อน ค.ศ. ข้อเท็จจริงที่ 3 ลูกาเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ละเอียดรอบคอบ เขามีชีวิตอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ตัวเขาเองเป็นผู้บันทึก (ลก 1:3) นอกจากนั้น เขายังได้รับการดลใจด้วยพลังบริสุทธิ์—2ทธ 3:16
เดินทางจาก . . . แคว้นกาลิลี: มีเมืองหนึ่งชื่อเบธเลเฮมอยู่ห่างจากนาซาเร็ธแค่ 11 กม. แต่ในคำพยากรณ์บอกชัดเจนว่าเมสสิยาห์จะมาจากเมือง “เบธเลเฮมเอฟราธาห์” (มคา 5:2) ในข้อนี้บอกว่าเบธเลเฮมเอฟราธาห์ที่เป็นบ้านเกิดของดาวิดตั้งอยู่ในแคว้นยูเดียซึ่งอยู่ทางใต้ (1ซม 16:1, 11, 13) ระยะทางตรง ๆ จากเมืองนาซาเร็ธไปเบธเลเฮมเอฟราธาห์คือประมาณ 110 กม. แต่ระยะทางจริงผ่านแคว้นสะมาเรีย (ตามถนนในปัจจุบัน) อาจไกลถึง 150 กม. และต้องผ่านเขตชนบทที่มีภูเขา การเดินทางแบบนั้นอาจเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาหลายวัน
ลูกคนแรก: คำพูดนี้แสดงว่ามารีย์มีลูกอีกหลายคน—มธ 13:55, 56; มก 6:3
รางหญ้า: คำกรีก ฟาทเน ที่แปลว่า “รางหญ้า” หมายถึง “ที่ใส่อาหารให้สัตว์” ถึงแม้คำนี้อาจหมายถึงคอกสัตว์ได้ด้วย แต่ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนหมายถึงที่ใส่อาหารให้สัตว์ คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกอย่างเจาะจงว่ารางหญ้านี้อยู่ด้านใน หรือด้านนอก หรือติดกับคอกสัตว์
ห้องพัก: คำกรีกนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ห้องรับแขก” เหมือนที่ใช้ใน มก 14:14 และ ลก 22:11
คนเลี้ยงแกะ: เนื่องจากต้องใช้แกะจำนวนมากเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาที่วิหารในกรุงเยรูซาเล็มเป็นประจำ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าแกะที่ถูกเลี้ยงรอบ ๆ เบธเลเฮมบางส่วนก็เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชา
อยู่ในทุ่ง: มาจากคำกริยากรีกซึ่งผสมกันระหว่าง อากร็อส (“ทุ่ง”) และ อาวเล (“ที่กลางแจ้ง”) ดังนั้น คำนี้จึงหมายถึง “อยู่ในทุ่ง, อยู่กลางแจ้ง” และบ่งชี้ว่าอยู่ข้างนอกในตอนกลางคืน ปกติแล้วในตอนกลางวันไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน แกะก็อาจถูกพาออกไปกินหญ้าในทุ่งได้ แต่ในข้อนี้บอกว่าพวกคนเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าฝูงแกะอยู่ในทุ่งตอนกลางคืน นี่จึงทำให้รู้ว่าพระเยซูเกิดตอนไหน ฤดูฝนในอิสราเอลเริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมและกินเวลาหลายเดือน พอถึงเดือนธันวาคมที่เบธเลเฮมจะมีน้ำค้างแข็งเหมือนกับในเยรูซาเล็ม การที่มีคนเลี้ยงแกะอยู่กับแกะตอนกลางคืนแสดงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ฤดูฝนจะเริ่มต้น—ดูภาคผนวก ข15
ทูตสวรรค์ . . . ของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:11
รัศมีของพระยะโฮวา: หนังสือลูกา 2 บทแรกมีการอ้างถึงข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีชื่อพระเจ้าหลายข้อ ในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู มีการพบคำฮีบรูที่แปลว่า “รัศมี” คู่กับเททรากรัมมาทอนมากกว่า 30 ครั้ง ตัวอย่างเช่น อพย 16:7; 40:34; ลนต 9:6, 23; กดว 14:10; 16:19; 20:6; 1พก 8:11; 2พศ 5:14; 7:1; สด 104:31; 138:5; อสย 35:2; 40:5; 60:1; อสค 1:28; 3:12; 10:4; 43:4; ฮบก 2:14—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6; 1:9
ท่านเป็นพระคริสต์: ดูเหมือนคำพูดนี้ของทูตสวรรค์เป็นคำพูดเชิงพยากรณ์ เพราะพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์จริง ๆ เมื่อมีการเทพลังบริสุทธิ์ลงบนท่านตอนที่ท่านรับบัพติศมา—มธ 3:16, 17; มก 1:9-11; ลก 3:21, 22
เป็นพระคริสต์และเป็นนาย: คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “เป็นพระคริสต์และเป็นนาย” (ฆริสท็อสคูริออส แปลตรงตัวว่า “พระคริสต์นาย”) มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ดูเหมือนคำพูดนี้ของทูตสวรรค์เป็นคำพูดเชิงพยากรณ์ และอาจแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า “จะ เป็นพระคริสต์และเป็นนาย” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าท่านเป็นพระคริสต์ในข้อนี้) ที่ กจ 2:36 เปโตรได้รับการดลใจให้อธิบายว่าพระเจ้าได้แต่งตั้งพระเยซูให้เป็น “ทั้งนายและพระคริสต์” แต่คำกรีกที่แปลว่า “เป็นพระคริสต์และเป็นนาย” อาจเข้าใจได้หลายแบบ ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าคำกรีกนี้น่าจะแปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้รับการเจิม” ส่วนบางคนก็คิดว่าคำกรีกนี้น่าจะหมายถึง “พระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งพระคัมภีร์ภาษาละตินและภาษาซีรีแอกบางฉบับใช้การแปลแบบนี้ที่หนังสือ ลก 2:11 พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูบางฉบับก็แปลคำนี้คล้าย ๆ กันว่า มาชีอัค เยโฮวาห์ ซึ่งหมายถึง “พระคริสต์ของพระยะโฮวา” จากเหตุผลนี้และเหตุผลอื่น ๆ บางคนจึงคิดว่าคำกรีกนี้ที่ ลก 2:11 น่าจะมีความหมายเหมือนกับคำว่า “พระคริสต์ที่พระยะโฮวาส่งมา” ใน ลก 2:26
ขอให้ประชาชนที่พระองค์ยอมรับมีความสงบสุขบนโลกนี้: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับมีข้อความที่อาจแปลได้ว่า “ขอให้ประชาชนบนโลกนี้ได้รับความสงบสุขและการยอมรับจากพระเจ้า” การแปลแบบนี้มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับ แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่ามีข้อความแบบในฉบับแปลโลกใหม่ คำพูดของทูตสวรรค์ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้ายอมรับมนุษย์ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะคิดหรือทำอะไร แต่หมายความว่าคนที่มีความเชื่อแท้ในพระเจ้าและมาเป็นสาวกของพระเยซูลูกชายพระองค์ถึงจะได้รับการยอมรับจากพระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าประชาชนที่พระองค์ยอมรับในข้อนี้
ประชาชนที่พระองค์ยอมรับ: คำกรีก อือดอเคีย อาจแปลได้ด้วยว่า “โปรดปราน, พอใจ, ยอมรับ” มีการใช้คำกริยากรีก อือดอเคะโอ ที่เกี่ยวข้องกันที่ มธ 3:17; มก 1:11; และ ลก 3:22 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:17; มก 1:11) ซึ่งเป็นตอนที่พระเจ้าพูดกับพระเยซูลูกชายของพระองค์หลังจากที่ท่านรับบัพติศมา คำนี้ถ่ายทอดความหมายหลัก ๆ ว่า “ยอมรับ, พอใจมาก, โปรดปราน, ชื่นชอบ” เมื่อคิดถึงความหมายนี้ คำกรีก อานธะโรพอสอือดอเคียส จึงสามารถแปลได้ว่า “คนที่พระองค์ยอมรับ, คนที่พระองค์พอใจมาก” ดังนั้น คำพูดของทูตสวรรค์จึงไม่ได้หมายความว่าพระเจ้ายอมรับมนุษย์ทุกคน แต่หมายความว่าคนที่มีความเชื่อแท้ในพระเจ้าและมาเป็นสาวกของพระเยซูลูกชายพระองค์ถึงจะได้รับการยอมรับจากพระองค์ ถึงแม้ในบางท้องเรื่องคำกรีก อือดอเคีย อาจหมายถึงความหวังดีหรือเจตนาดีของมนุษย์ (รม 10:1; ฟป 1:15) แต่ส่วนใหญ่แล้วมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงความพอใจและการยอมรับจากพระเจ้า (มธ 11:26; ลก 10:21; อฟ 1:5, 9; ฟป 2:13; 2ธส 1:11) ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ สด 51:18 (50:20, LXX) ก็มีการใช้คำนี้กับพระเจ้า โดยแปลว่า “พระองค์กรุณา”
ที่พระยะโฮวาบอกกับเรา: แม้ทูตสวรรค์จะเป็นผู้ส่งข่าว แต่คนเลี้ยงแกะก็รู้ว่าข่าวนั้นมาจากพระยะโฮวาพระเจ้า ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำกริยากรีกที่แปลว่า “บอก” เพื่อแปลคำกริยาฮีบรูในท้องเรื่องที่พระยะโฮวาเป็นผู้บอกความประสงค์ของพระองค์หรือท้องเรื่องที่มนุษย์อยากรู้ความประสงค์ของพระเจ้า ข้อคัมภีร์เหล่านั้นในต้นฉบับภาษาฮีบรูมักใช้เททรากรัมมาทอนด้วย (สด 25:4; 39:4; 98:2; 103:6, 7) จึงเหมาะสมที่จะใส่ชื่อของพระเจ้าในคำพูดของคนเลี้ยงแกะชาวยิวในข้อนี้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6
เยซู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:21
ถึงเวลาที่พวกเขาต้องชำระตัว: หมายถึงการชำระตัวให้สะอาดตามกฎหมายที่พระเจ้าให้กับโมเสส กฎหมายนี้บอกว่าหลังจากผู้หญิงคลอดลูกชายได้ 40 วัน เธอต้องไปชำระตัว (ลนต 12:1-4) กฎหมายนี้ไม่ได้ดูถูกผู้หญิงและการคลอดลูก แต่สอนความจริงที่สำคัญด้านความเชื่อว่า การคลอดลูกทำให้บาปของอาดัมถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง มารีย์เองก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ ซึ่งตรงข้ามกับข้ออ้างของนักศาสนาบางคน (รม 5:12) ในข้อนี้ลูกาคงไม่ได้ใช้คำว่า “พวกเขา” เพื่อรวมพระเยซู เพราะเขารู้ว่าพลังบริสุทธิ์ปกป้องพระเยซูจากความบาปของแม่ซึ่งเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ท่านจึงไม่จำเป็นต้องชำระตัว (ลก 1:34, 35) เนื่องจากโยเซฟเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะพาครอบครัวไปถวายเครื่องบูชา ลูกาจึงอาจใช้คำว่า “พวกเขา” เพื่อรวมถึงโยเซฟพ่อเลี้ยงของพระเยซูด้วย
ไถ่เด็กนั้นจากพระยะโฮวา: หรือ “ถวายเด็กนั้นให้พระยะโฮวา” หลังจากพระเยซูเกิดท่านถูกพาไปวิหารตามกฎหมายที่พระยะโฮวาให้ไว้กับโมเสส กฎหมายนั้นอยู่ที่ อพย 13:1, 2, 12 ซึ่งสั่งให้พ่อแม่ ‘ถวายลูกชายคนโตทุกคนให้พระยะโฮวา’ นอกจากนั้น สำนวน “ถวายเด็กนั้นให้พระยะโฮวา” ก็คล้ายกับสำนวนที่อยู่ใน 1ซม 1:22-28 ซึ่งพูดถึงซามูเอลตอนเป็นเด็กและถูกพาไปที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวาเพื่อทำงานรับใช้พระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6; 2:23
กฎหมายของพระยะโฮวา: คำว่า “กฎหมายของพระยะโฮวา” มีอยู่หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นคำฮีบรู 2 คำรวมกันคือคำว่า “กฎหมาย” และเททรากรัมมาทอน (ตัวอย่างเช่น อพย 13:9; 2พก 10:31; 1พศ 16:40; 22:12; 2พศ 17:9; 31:3; นหม 9:3; สด 1:2; 119:1; อสย 5:24; ยรม 8:8; อมส 2:4) ในภาษาเดิมมักมีการใช้สำนวนบอกไว้ว่าหรือสำนวนคล้าย ๆ กันเมื่อยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูขึ้นมาในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก—มก 1:2; กจ 7:42; 15:15; รม 1:17; 10:15; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6
ลูกชายคนแรกทุกคน: ข้อความใน ลก 2:22-24 ไม่ได้พูดถึงเครื่องบูชาที่มารีย์ถวายเพื่อชำระตัวเท่านั้น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:22; 2:24) แต่ยังพูดถึงการจ่ายเงินหนัก 5 เชเขลเพื่อไถ่พระเยซูลูกชายคนแรกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของโมเสสด้วย เนื่องจากพระเยซูเป็นลูกชายคนแรกท่านจึงถูกแยกไว้ให้เป็นของพระเจ้า ดังนั้น ตามกฎหมายแล้วโยเซฟกับมารีย์พ่อแม่ของพระเยซูต้องไถ่ท่านจากพระเจ้า (อพย 13:1, 2; กดว 18:15, 16) กฎหมายบอกว่าต้องมีการจ่ายเงินนี้เมื่อเด็ก “อายุ 1 เดือนขึ้นไป” ดังนั้น โยเซฟคงได้จ่ายเงินหนัก 5 เชเขลตอนที่พามารีย์มาถวายเครื่องบูชาชำระตัวหลังจากพระเยซูเกิดได้ 40 วัน
พระยะโฮวา: ข้อความนี้มาจาก อพย 13:2, 12 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
พวกเขาถวายเครื่องบูชา: ตามกฎหมายของโมเสส ผู้หญิงที่คลอดลูกจะไม่สะอาดอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อพ้นช่วงเวลานั้นไปแล้ว เธอจะต้องถวายเครื่องบูชาเผาและเครื่องบูชาไถ่บาป—ลนต 12:1-8
กฎหมายของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:23
นกเขา 1 คู่หรือลูกนกพิราบ 2 ตัว: กฎหมายของโมเสสอนุญาตให้ผู้หญิงที่ยากจนถวายนกเป็นเครื่องบูชาแทนแกะได้ เพราะแกะมีราคาแพงกว่ามาก (ลนต 12:6, 8) เห็นได้ชัดว่าตอนนั้นโยเซฟกับมารีย์มีฐานะยากจน ซึ่งทำให้รู้ว่าพวกโหรไม่ได้มาหาพระเยซูตอนที่ท่านเพิ่งเกิด แต่มาหลังจากนั้น (มธ 2:9-11) เพราะถ้าโยเซฟกับมารีย์ได้ของขวัญราคาแพงจากพวกเขาแล้ว ทั้งสองคนก็คงมีเงินมากพอที่จะซื้อแกะมาถวายเป็นเครื่องบูชาที่วิหาร
สิเมโอน: ชื่อนี้มาจากคำกริยาภาษาฮีบรูหมายถึง “ฟัง, ได้ยิน” สิเมโอนก็เหมือนเศคาริยาห์กับเอลีซาเบธที่ถูกเรียกว่าคนที่เชื่อฟังพระเจ้า (ลก 1:5, 6) สิเมโอนยังถูกเรียกว่าคนที่เลื่อมใสพระเจ้าด้วย คำนี้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกแปลจากคำกรีก อือลาเบส ซึ่งหมายถึงคนที่เอาใจใส่และสนใจเรื่องการนมัสการอย่างเคร่งครัด—กจ 2:5; 8:2; 22:12
พระคริสต์: หรือ “ผู้ถูกเจิม, เมสสิยาห์” ตำแหน่ง “พระคริสต์” มาจากคำกรีก ฆะริสท็อส และมีความหมายเดียวกับคำว่า “เมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) ทั้งสองคำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1 และคำว่าพระคริสต์ที่พระยะโฮวาส่งมาในข้อนี้
พระคริสต์ที่พระยะโฮวาส่งมา: ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่หาได้ในตอนนี้ใช้คำว่า “พระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ทอนฆะริสทอน คูริออ) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อคัมภีร์นี้ ในสำเนาพระคัมภีร์ฉบับเซปตัวจินต์ ที่ยังหลงเหลืออยู่ คำนี้ตรงกับคำฮีบรู มาชีอัค ยฮวฮ ที่หมายถึง “ผู้ถูกเจิมของพระยะโฮวา” หรือ “ผู้ที่พระยะโฮวาเจิม” มีการใช้สำนวนคล้าย ๆ กันนี้ 11 ครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู—1ซม 24:6 (2 ครั้ง), 10; 26:9, 11, 16, 23; 2ซม 1:14, 16; 19:21; พคค 4:20
พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด: มาจากคำกรีก เด็สพอเทส ที่มีความหมายหลักว่า “นาย” (1ทธ 6:1; ทต 2:9; 1ปต 2:18) แต่เมื่อใช้คำนี้กับพระเจ้า เช่นในข้อนี้และที่ กจ 4:24 กับ วว 6:10 ก็มีการแปลว่า “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด” เพื่อเน้นว่าพระองค์เป็นนายองค์ยิ่งใหญ่ คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับใช้คำว่า “องค์เจ้านาย” “องค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เจ้าชีวิต” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับใช้คำฮีบรู อะโดนาย (พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด) แต่มีอย่างน้อย 2 ฉบับใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
ผมนอนตายตาหลับแล้ว: แปลตรงตัวว่า “ปล่อยทาสของพระองค์ไป” คำกรีกที่แปลว่า “ปล่อยไป” มีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยให้เป็นอิสระ, ปลดปล่อย” ในที่นี่เป็นคำพูดอ้อม ๆ หมายถึง “ยอมให้ตาย” การตายตาหลับอาจหมายถึงตายอย่างสงบหลังจากได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าหรือหลังจากได้เห็นว่าความหวังที่เขารอคอยอยู่เป็นจริงแล้ว (เทียบกับ ปฐก 15:15; 1พก 2:6) เนื่องจากคำสัญญาที่พระเจ้าให้กับสิเมโอนเป็นจริงแล้ว เขาได้เห็น “พระคริสต์ที่พระยะโฮวาส่งมา” ซึ่งเป็นผู้ช่วยให้รอด ตอนนี้สิเมโอนจึงรู้สึกมีความสุขและสงบใจ เขาสามารถนอนตายตาหลับจนกว่าพระเจ้าจะปลุกเขาให้ฟื้นขึ้นจากตาย—ลก 2:26
ขับไล่ความมืดที่ปกคลุมชนชาติต่าง ๆ: หรือ “เปิดเผยให้กับชนชาติต่าง ๆ” คำกรีก อาพอคาลูพซิส ที่แปลว่า “ขับไล่ความมืด” หมายถึง “การเปิด” หรือ “การเปิดเผย” และมักมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการเปิดเผยความรู้ของพระเจ้าหรือความประสงค์ของพระองค์ (รม 16:25; อฟ 3:3; วว 1:1) ในข้อนี้สิเมโอนที่อายุมากแล้วบอกว่าพระเยซูที่ยังเป็นทารกเป็นแสงสว่าง และเขายังบอกว่าชนชาติต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ชาวยิวจะได้ประโยชน์จากความสว่างนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ชาวยิวโดยกำเนิดหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวเท่านั้น คำพยากรณ์ของสิเมโอนสอดคล้องกับคำพยากรณ์อื่นในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่นที่ อสย 42:6 และ 49:6
ลุกขึ้น: มาจากคำกรีก อานาสทาซิส ซึ่งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักแปลว่า “ฟื้นขึ้นจากตาย” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 22:23) คำพูดของสิเมโอนในข้อนี้แสดงว่าผู้คนจะมีท่าทีกับพระเยซูต่างกันไป ซึ่งทำให้รู้ว่าความคิดในใจของพวกเขาเป็นอย่างไรจริง ๆ (ลก 2:35) สำหรับคนที่ไม่เชื่อ พระเยซูจะตกเป็นเป้าให้คนดูถูกเหยียดหยาม พวกเขาจะไม่ยอมรับพระเยซู เหมือนที่คำพยากรณ์บอกไว้ว่าท่านจะเป็นหินที่ทำให้ชาวยิวหลายคนล้มลง (อสย 8:14) แต่จะมีบางคนที่เชื่อในพระเยซู (อสย 28:16) คนเหล่านี้จะลุกขึ้นหรือฟื้นขึ้นจากตายในความหมายที่ว่าพวกเขาจะพ้นจากสภาพที่ “ตายไปแล้วเพราะบาปและการทำผิด” และกลายเป็นคนที่มีความถูกต้องชอบธรรมในสายตาพระเจ้า—อฟ 2:1
ดาบยาว: เนื่องจากไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์บอกว่ามารีย์ถูกดาบแทงทะลุตัวจริง ๆ ดังนั้น คำพูดนี้น่าจะหมายถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ และความเสียใจที่มารีย์จะเจอเมื่อพระเยซูลูกชายของเธอต้องตายบนเสาทรมาน—ยน 19:25
อันนา: เป็นชื่อกรีกที่มาจากชื่อฮีบรูฮันนาห์ มีความหมายว่า “ความโปรดปราน, ความสง่างาม” การที่เธอเล่าเรื่องพระเยซูให้กับทุกคนที่รอคอยการปลดปล่อยกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นอิสระเป็นการทำหน้าที่เหมือนผู้พยากรณ์หญิง ความหมายหลักของคำว่า “การพยากรณ์” คือการประกาศข่าวสารที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า และการเปิดเผยความประสงค์ของพระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:17
มาที่วิหารเสมอไม่เคยขาด: อันนามาที่วิหารเป็นประจำ อาจเป็นได้ว่าเธอมาที่วิหารตั้งแต่ประตูเปิดในตอนเช้าและอยู่จนถึงประตูปิดในตอนเย็น การที่เธอรับใช้พระเจ้าพร้อมกับอธิษฐานอ้อนวอนและถือศีลอดอาหารแสดงว่าเธอเศร้าเสียใจกับสภาพการณ์ต่าง ๆ และรอคอยการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ของพระเจ้า (อสร 10:1; นหม 1:4; พคค 1:16) หลายร้อยปีมาแล้วที่ชาวยิวตกอยู่ใต้การปกครองของมหาอำนาจต่างชาติ และสภาพการณ์ทางศาสนาก็เสื่อมลง รวมไปถึงวิหารและคณะปุโรหิตด้วย สภาพการณ์เหล่านี้คงทำให้อันนากับคนอื่น ๆ “รอเวลาที่พระเจ้าจะมาปลดปล่อยกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นอิสระ”—ลก 2:38
รับใช้พระเจ้า: หรือ “นมัสการ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:74
พระเจ้า: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดใช้คำว่า เธะออส (พระเจ้า) แต่สำเนากรีกอื่น ๆ และคัมภีร์ไบเบิลฉบับอื่นที่แปลเป็นภาษาละตินและซีรีแอกใช้คำที่แปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ส่วนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับใช้ชื่อพระเจ้า และอาจแปลข้อความนั้นได้ว่า “ขอบคุณพระยะโฮวา”
กฎหมายของพระยะโฮวา: คำว่า “กฎหมายของพระยะโฮวา” มีอยู่หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นคำฮีบรู 2 คำรวมกันคือคำว่า “กฎหมาย” และเททรากรัมมาทอน—อพย 13:9; 2พก 10:31; 1พศ 16:40; 22:12; 2พศ 17:9; 31:3; นหม 9:3; สด 1:2; 119:1; อสย 5:24; ยรม 8:8; อมส 2:4; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:6; 2:23
พวกเขาก็กลับไปบ้าน . . . ในแคว้นกาลิลี: ถึงแม้ข้อความนี้จะทำให้เข้าใจว่าหลังจากโยเซฟกับมารีย์ไปไถ่พระเยซูที่วิหารแล้ว พวกเขาก็กลับไปนาซาเร็ธทันที แต่จริง ๆ แล้วบันทึกของลูการวบรัดมากและไม่ได้พูดถึงรายละเอียดบางอย่าง จากบันทึกของมัทธิว (2:1-23) เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีพวกโหรมาเยี่ยมพวกเขา โยเซฟกับมารีย์หนีไปอียิปต์เพราะกษัตริย์เฮโรดวางแผนฆ่าพระเยซู เฮโรดตาย และหลังจากนั้นครอบครัวของโยเซฟก็กลับไปที่นาซาเร็ธ
พ่อแม่ของพระเยซู . . . เป็นประจำ: กฎหมายของโมเสสไม่ได้บอกว่าผู้หญิงต้องไปร่วมฉลองเทศกาลปัสกา แต่มารีย์ก็ไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มกับโยเซฟเป็นประจำทุกปี (อพย 23:17; 34:23) แต่ละปี โยเซฟและครอบครัวที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเดินทางไปด้วยกัน การเดินทางไปกลับอาจมีระยะทางเกือบ 300 กม. และต้องเดินทางผ่านเขตเทือกเขา
ไป: แปลตรงตัวว่า “ขึ้นไป” คือเดินทางขึ้นไปที่กรุงเยรูซาเล็ม การเดินทางแบบนี้ต้องเดินผ่านเขตภูเขาและเทือกเขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:4
ซักถามพวกอาจารย์: ปฏิกิริยาของคนที่ได้ยินพระเยซูพูดทำให้รู้ว่าคำถามของท่านไม่ได้เป็นคำถามแบบเด็ก ๆ ที่อยากรู้อยากเห็นเท่านั้น (ลก 2:47) คำกรีกที่แปลว่า “ซักถาม” ในบางท้องเรื่องอาจหมายถึงการถามตอบโต้กันไปมาเหมือนการซักถามระหว่างการพิจารณาคดี (มธ 27:11; มก 14:60, 61; 15:2, 4; กจ 5:27) นักประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลว่าหลังจากเทศกาลจบลง ผู้นำศาสนาที่มีชื่อเสียงบางคนมักจะอยู่ที่วิหารต่ออีกระยะหนึ่งและสอนประชาชนที่ระเบียงกว้าง ผู้คนอาจนั่งอยู่ที่พื้นใกล้กับพวกผู้นำเหล่านี้เพื่อฟังและซักถามเรื่องต่าง ๆ
รู้สึกทึ่งจริง ๆ: คำกริยากรีกที่แปลว่า “ทึ่ง” ในข้อนี้อาจหมายถึงความรู้สึกทึ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งหรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พระเยซูตอบว่า: คำพูดในข้อนี้เป็นคำพูดแรกของพระเยซูที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล ตอนนั้นท่านยังเด็กท่านจึงอาจไม่รู้มากนักเกี่ยวกับชีวิตของท่านก่อนที่จะเกิดเป็นมนุษย์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:16; ลก 3:21) แต่ดูเหมือนมีเหตุผลที่จะเชื่อว่าแม่และพ่อเลี้ยงจะเล่าให้พระเยซูฟังเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ทูตสวรรค์เคยพูดกับพวกเขา รวมทั้งเรื่องคำพยากรณ์ที่สิเมโอนกับอันนาพูดตอนที่ครอบครัวท่านเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มหลังจากท่านเกิดได้ 40 วัน (มธ 1:20-25; 2:13, 14, 19-21; ลก 1:26-38; 2:8-38) คำพูดของพระเยซูในข้อนี้แสดงว่าท่านพอจะรู้เกี่ยวกับการเกิดที่น่าอัศจรรย์ของท่าน และความสัมพันธ์พิเศษที่ท่านมีกับพระยะโฮวาพ่อที่อยู่ในสวรรค์
ผมจะต้องอยู่ในบ้านพ่อของผม: สำนวนกรีกที่แปลว่า “ในบ้านพ่อของผม” มีความหมายตรงตัวว่า “ใน [สิ่งของ] ที่เป็นของพ่อผม” เนื่องจากในท้องเรื่องนี้โยเซฟกับมารีย์กำลังเป็นห่วงว่าพระเยซูอยู่ที่ไหน จึงมีเหตุผลมากที่สุดที่จะสรุปว่าสำนวนนี้หมายถึงสถานที่ซึ่งก็คือ “บ้าน [หรือ “ที่อยู่”] พ่อของผม” (ลก 2:44-46) ต่อมาตอนที่พระเยซูทำงานรับใช้ ท่านก็พูดถึงวิหารว่าเป็น “บ้านของพ่อผม” (ยน 2:16) แต่นักวิชาการบางคนบอกว่าสำนวนนี้อาจมีความหมายกว้างกว่านั้น คืออาจแปลได้ว่า “ผมจะต้องเป็นห่วง [หรือ “ยุ่งอยู่กับ”] สิ่งของที่เป็นของพ่อผม”
กลับไป: แปลตรงตัวว่า “ลงไป” เยรูซาเล็มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร คำว่า ‘ลงไป’ ในข้อนี้จึงหมายถึงออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม—ลก 10:30, 31; กจ 24:1; 25:7; เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:17; ลก 2:4, 42
เชื่อฟังพวกเขาเสมอ: หรือ “ยอมอยู่ใต้อำนาจพวกเขาต่อไป” คำกริยากรีกนี้ซึ่งอยู่ในรูปการกระทำที่ต่อเนื่องแสดงว่าหลังจากที่พระเยซูทำให้พวกอาจารย์ในวิหารประทับใจกับความรู้ของท่านเรื่องพระคัมภีร์แล้ว พระเยซูก็เดินทางกลับบ้านและเชื่อฟังพ่อแม่ของท่าน การเชื่อฟังของพระเยซูพิเศษกว่าการเชื่อฟังของเด็กคนอื่น ๆ เพราะนี่เป็นการแสดงว่าท่านได้ทำตามกฎหมายของโมเสสอย่างครบถ้วนทุกข้อ—อพย 20:12; กท 4:4
เรื่อง: หรือ “คำพูด”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:37
วีดีโอและรูปภาพ
ออกเตเวียสเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน ชื่อเต็มของเขาคือกายอัส จูเลียส ซีซาร์ ออกตาเวียนัส (ออกเตเวียส หรือออกตาเวียน) เขาเป็นลูกเลี้ยงของจูเลียส ซีซาร์ เผด็จการชาวโรมันที่ถูกสังหารในปี 44 ก่อน ค.ศ. ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 31 ก่อน ค.ศ. ออกเตเวียสก็กลายเป็นผู้ปกครองที่โดดเด่นของจักรวรรดิโรมันโดยไม่มีใครโต้แย้ง และในวันที่ 16 มกราคม ปี 27 ก่อน ค.ศ. สภาสูงของโรมันมอบตำแหน่งออกัสตัสให้เขา ในปี 2 ก่อน ค.ศ. ออกัสตัสออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนในจักรวรรดิของเขาไปจดทะเบียนสำมะโนครัวที่ “บ้านเกิดของตัวเอง” (ลก 2:1-7) คำสั่งของเขาส่งผลให้พระเยซูไปเกิดที่เมืองเบธเลเฮมซึ่งทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริง (ดนล 11:20; มคา 5:2) ออกัสตัสตายในเดือนที่เขาตั้งชื่อให้ตามชื่อเขาเอง คือในวันที่ 17 สิงหาคม ปี ค.ศ. 14 (หรือ 19 สิงหาคมตามปฏิทินจูเลียน) รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ที่เห็นในภาพนี้ทำขึ้นระหว่างปี 27-25 ก่อน ค.ศ. ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งบริเตน
เป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูจะเกิดในเดือนธันวาคมเพราะปกติแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมสภาพอากาศในเมืองเบธเลเฮมจะหนาวเย็นและมีฝนตก ในฤดูหนาวอาจมีหิมะตกในเขตนี้ด้วย ในฤดูนี้คนเลี้ยงแกะจะไม่อยู่นอกบ้านและจะไม่เอาแกะออกมาเลี้ยงในทุ่งตอนกลางคืน (ลก 2:8) เบธเลเฮมอยู่บนที่ราบสูงยูเดียและอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 780 เมตร
คำกรีกที่แปลว่า “รางหญ้า” ซึ่งใช้ใน ลก 2:7 คือ ฟาทเน หมายถึง “ที่ใส่อาหารให้สัตว์” นักโบราณคดีค้นพบรางขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งในปาเลสไตน์ซึ่งสกัดจากหินปูน มีความยาวประมาณ 90 ซม. กว้าง 50 ซม. และลึก 60 ซม. เชื่อกันว่ารางเหล่านี้เคยใช้เป็นรางใส่หญ้าสำหรับสัตว์ และอาจเป็นไปได้ว่ารางหญ้าในสมัยนั้นก็คล้ายกับรางหญ้าในสมัยต่อมา คือทำขึ้นโดยการสกัดผนังถ้ำที่คนเลี้ยงสัตว์เอาสัตว์เข้าไปอยู่
ตามกฎหมายของโมเสส ผู้หญิงที่คลอดลูกต้องถวายลูกแกะเป็นเครื่องบูชาเผาและถวายลูกนกพิราบหรือนกเขาตัวหนึ่งเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป ถ้าครอบครัวไหนยากจนไม่มีเงินซื้อแกะเหมือนกับโยเซฟและมารีย์ พวกเขาก็อาจเอานกเขา 2 ตัวหรือลูกนกพิราบ 2 ตัวมาถวายได้ (ลนต 12:6-8) นกเขา (Streptopelia turtur) ที่เห็นในภาพนี้ (หมายเลข 1) ไม่ได้อาศัยอยู่ในอิสราเอลเท่านั้น แต่อยู่ในยุโรป แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตกด้วย ในเดือนตุลาคมของทุกปีนกเหล่านี้จะอพยพไปที่ประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกใต้ที่อบอุ่นกว่า และกลับไปอิสราเอลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ นกอีกชนิดหนึ่งในภาพนี้ (หมายเลข 2) คือนกพิราบป่า (Columba livia) นกชนิดนี้มีอยู่ทั่วโลกและไม่ได้อพยพไปไหน
ภาพนี้ถ่ายจากหน้าผาแห่งหนึ่งใกล้เมืองนาซาเร็ธโดยมองไปทางใต้ คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงหุบเขายิสเรเอลที่อุดมสมบูรณ์นี้หลายครั้ง ในภาพนี้จะเห็นที่ราบหุบเขาตั้งแต่ด้านตะวันออกไปจนถึงตะวันตก (ยชว 17:16; วนฉ 6:33; ฮชย 1:5) ที่เห็นเด่นชัดทางด้านซ้ายคือภูเขาโมเรห์ซึ่งมีเมืองนาอินตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านหนึ่ง เมืองนี้เป็นเมืองที่พระเยซูปลุกลูกชายของแม่ม่ายให้ฟื้นขึ้นจากตาย (วนฉ 7:1; ลก 7:11-15) ตรงกลางภาพจะเห็นภูเขากิลโบอาอยู่ไกล ๆ (1ซม 31:1, 8) พระเยซูเติบโตขึ้นในเมืองนาซาเร็ธซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหุบเขายิสเรเอลแห่งนี้ และอาจเคยมาที่นี่เพื่อดูสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล—ลก 2:39, 40