เขียนโดยลูกา 7:1-50
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
คาเปอร์นาอุม: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:13
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
เขาก็ส่งผู้นำชุมชนชาวยิวบางคนไป: บันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 8:5 บอกว่า “นายร้อยคนหนึ่งมาอ้อนวอนท่าน [พระเยซู]” ดังนั้น ผู้นำชุมชนชาวยิวเหล่านี้น่าจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนายร้อย มีแต่บันทึกของลูกาเท่านั้นที่ให้รายละเอียดนี้
จากนั้นไม่นาน: สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับใช้ข้อความว่า “ในวันรุ่งขึ้น” แต่ข้อความในพระคัมภีร์ฉบับนี้มาจากสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่า
นาอิน: เมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี อยู่ห่างจากเมืองคาเปอร์นาอุมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 35 กม. พระเยซูน่าจะอยู่ที่เมืองคาเปอร์นาอุมก่อนจะมาที่เมืองนาอิน (ลก 7:1-10) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการพูดถึงเมืองนาอินครั้งเดียวคือในข้อนี้ ปัจจุบันคือหมู่บ้านเนอินซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเนินเขาโมเรห์ ห่างจากเมืองนาซาเร็ธไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 10 กม. ทุกวันนี้หมู่บ้านเนอินมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ซากปรักหักพังในบริเวณนั้นแสดงให้เห็นว่าเมืองนาอินเมื่อหลายศตวรรษก่อนเคยมีขนาดใหญ่กว่านี้ ถ้ามองจากเมืองนาอินลงมาจะเห็นที่ราบยิสเรเอล เมืองนาอินนี้ตั้งอยู่ในเขตธรรมชาติที่สวยงาม พระเยซูปลุกคนให้ฟื้นขึ้นจากตายทั้งหมด 3 ครั้ง คือที่เมืองนาอินเป็นที่แรก ส่วนอีก 2 ครั้งคือที่เมืองคาเปอร์นาอุมและเบธานี (ลก 8:49-56; ยน 11:1-44) ประมาณ 900 ปีก่อนหน้านั้นในเมืองชูเนมที่อยู่ใกล้ ๆ เมืองนาอิน ผู้พยากรณ์เอลีชาได้ปลุกลูกชายของผู้หญิงชาวชูเนมให้ฟื้นขึ้นจากตาย—2พก 4:8-37
ประตูเมือง: มีการใช้คำกรีก พอลิส (“เมือง”) 3 ครั้งเมื่อพูดถึงเมืองนาอิน ปกติแล้วมักจะมีการใช้คำนี้กับเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ แต่เราไม่รู้แน่ชัดว่าเมืองนาอินมีกำแพงล้อมรอบหรือไม่ ถ้าเมืองนี้ไม่มีกำแพง คำว่า “ประตู” อาจหมายถึงทางเข้าเมืองนาอินที่มีบ้านเรียงรายอยู่ด้านข้าง แต่นักโบราณคดีบางคนก็เชื่อว่าเมืองนาอินมีกำแพงล้อมรอบ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พระเยซูกับสาวกอาจเจอขบวนแห่ศพที่ “ประตู” ทางเข้าเมืองนาอินฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นทางไปอุโมงค์ฝังศพที่อยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านเนอินในปัจจุบัน
คนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่มักจะแปลว่า “ที่ได้รับกำเนิดเพียงคนเดียว” มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” คำนี้ใช้ได้กับทั้งลูกชายและลูกสาว ในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึงลูกคนเดียว มีการใช้คำกรีกนี้กับลูกสาว “คนเดียว” ของไยรอส และลูกชาย “คนเดียว” ของผู้ชายคนหนึ่งที่ได้รับการรักษาจากพระเยซู (ลก 8:41, 42; 9:38) ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ใช้คำ มอนอเกะเนส เมื่อพูดถึงลูกสาวของเยฟธาห์ว่า “เธอเป็นลูกคนเดียวของเขา นอกจากเธอแล้วเขาไม่มีลูกชายหรือลูกสาวอีกเลย” (วนฉ 11:34) ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน เขาใช้คำ มอนอเกะเนส 5 ครั้งเมื่อพูดถึงพระเยซู—สำหรับความหมายของคำนี้เมื่อใช้กับพระเยซู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14; 3:16
สงสาร: คำกริยากรีก สะพลางค์นิศอไม ที่ใช้ในสำนวนนี้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ลำไส้” (สะพลางค์นา) คำนี้แสดงถึงความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของตัวเรา ซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง นี่เป็นหนึ่งในคำกรีกที่แสดงถึงความรู้สึกสงสารที่แรงกล้าที่สุด
สาวกของเขา . . . 2 คน: บันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 11:2, 3 บอกแค่ว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมาส่ง “สาวกของเขา” ไปหาพระเยซู ส่วนลูกาเพิ่มเติมรายละเอียดว่าสาวกที่ถูกส่งไปนั้นมีกี่คน
คนโรคเรื้อน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “โรคเรื้อน”
บัพติศมา: คำกรีก บาพทิสมา หมายถึง “การจุ่ม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11; มก 1:4
ไม่กินขนมปังและไม่ดื่มเหล้าองุ่น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 11:18
คนเก็บภาษี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:46
ผลที่ปรากฏออกมา: เช่นเดียวกับในบันทึกเหตุการณ์เดียวกันที่ มธ 11:19 ผลที่ปรากฏออกมาหมายถึงหลักฐานที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซูให้ไว้ซึ่งพิสูจน์ว่าเรื่องที่พวกเขาถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง เหมือนกับพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ดูที่ผลงานและการกระทำที่ดีสิ แล้วคุณจะรู้ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง’
ไปบ้านของเขา: ผู้เขียนหนังสือข่าวดีทั้ง 4 คนบันทึกเหตุการณ์นี้ แต่ลูกาเป็นคนเดียวที่บอกว่าพวกฟาริสีเชิญพระเยซูไปกินอาหารที่บ้านหลายครั้งและท่านก็ไป โอกาสอื่น ๆ ที่พระเยซูตอบรับคำเชิญมีบันทึกไว้ที่ ลก 11:37; 14:1
รู้กันว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี: แปลตรงตัวว่า “รู้กันว่าเป็นคนบาป” คัมภีร์ไบเบิลบอกว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป (2พศ 6:36; รม 3:23; 5:12) ดังนั้น คำว่า “คนบาป” ในที่นี้จึงใช้ในความหมายที่เฉพาะเจาะจงกว่า คือหมายถึงคนที่มีชื่อเสียงว่าทำบาปเป็นนิสัย เช่น ทำผิดศีลธรรมหรือทำผิดกฎหมาย (ลก 19:7, 8) มีเฉพาะลูกาคนเดียวเท่านั้นที่บันทึกเกี่ยวกับผู้หญิงไม่ดีคนนี้ที่เทน้ำมันหอมชโลมเท้าพระเยซู เธออาจเป็นโสเภณี คำกรีกที่แปลว่า “รู้กันว่าเป็น” มีความหมายตรงตัวคือ “เป็น” แต่ตามที่ใช้ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนหมายถึงลักษณะนิสัยหรือประเภทของคน
ลูกหนี้ 2 คน: ชาวยิวในศตวรรษแรกคุ้นเคยกับเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้ บางครั้งพระเยซูจึงใช้เรื่องนี้ในตัวอย่างเปรียบเทียบของท่าน (มธ 18:23-35; ลก 16:1-8) เฉพาะบันทึกของลูกาเท่านั้นที่มีตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องลูกหนี้ 2 คน ซึ่งคนหนึ่งเป็นหนี้มากกว่าอีกคนถึง 10 เท่า พระเยซูยกตัวอย่างนี้เพราะท่านเห็นความคิดที่ไม่ถูกต้องของซีโมนที่มีต่อผู้หญิงที่เทน้ำมันหอมชโลมเท้าท่าน (ลก 7:36-40) พระเยซูเปรียบเทียบบาปเหมือนหนี้ก้อนโตที่ไม่มีทางชดใช้หมด และท่านเน้นหลักการสำคัญที่ว่า “คนที่ได้รับการอภัยน้อย ก็แสดงความรักน้อย”—ลก 7:47; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 6:12; 18:27; ลก 11:4
เดนาริอัน: เหรียญเงินของโรมันซึ่งหนักประมาณ 3.85 กรัม และมีรูปของซีซาร์อยู่ด้านหนึ่ง อย่างที่เห็นใน มธ 20:2 คนงานในไร่นาสมัยพระเยซูจะได้รับค่าจ้าง 1 เดนาริอันสำหรับการทำงาน 1 วันที่ยาว 12 ชั่วโมง—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เดนาริอัน” และภาคผนวก ข14
เอาน้ำมาให้ผมล้างเท้า: ในสมัยโบราณหรือแม้แต่ในหลายส่วนของโลกสมัยปัจจุบัน การเดินเป็นวิธีหลักในการเดินทาง บางคนเดินเท้าเปล่า แต่หลายคนมักใส่รองเท้าสานซึ่งมีแค่พื้นรองเท้ากับเชือกหนัง เมื่อเข้าไปในบ้านเขาจะต้องถอดรองเท้า วิธีหนึ่งที่จะแสดงน้ำใจต้อนรับแขกในสมัยนั้นคือการล้างเท้า เจ้าของบ้านหรือคนรับใช้อาจเป็นคนล้างเท้าให้แขก หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะมีการเตรียมน้ำไว้ให้แขกล้างเท้า—ปฐก 18:4; 24:32; 1ซม 25:41; ลก 7:37, 38
คุณไม่ได้จูบต้อนรับผม: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การจูบเป็นการแสดงความรักหรือเคารพนับถือ ซึ่งอาจรวมถึงการจูบปาก (สภษ 24:26, เชิงอรรถ) จูบแก้ม หรือบางครั้งก็ถึงกับจูบเท้า (ลก 7:37, 38) ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ญาติผู้หญิงและผู้ชายจะจูบกัน (ปฐก 29:11; 31:28) ญาติที่เป็นผู้ชายกับผู้ชายก็ยังทำแบบนั้น (ปฐก 27:26, 27; 45:15; อพย 18:7; 2ซม 14:33) นอกจากนั้น ยังมีการจูบกันระหว่างเพื่อนสนิทด้วย—1ซม 20:41, 42; 2ซม 19:39
วีดีโอและรูปภาพ
เมื่อพระเยซูพูดถึงคนที่อยู่ใน “วัง” (มธ 11:8; ลก 7:25) ผู้ฟังของท่านคงนึกถึงวังที่ใหญ่โตหรูหราหลายแห่งซึ่งเฮโรดมหาราชสร้างไว้ ในภาพนี้คือซากบางส่วนของวังฤดูหนาวที่เฮโรดสร้างในเมืองเยรีโค ห้องโถงด้านหน้าของวังมีขนาด 29 x 19 เมตร และมีระเบียงที่มีเสา นอกจากนั้น ยังมีลานหลายแห่งที่ล้อมรอบด้วยเสาระเบียงและห้องหลายห้อง รวมทั้งโรงอาบน้ำที่มีระบบน้ำร้อนน้ำเย็นด้วย ติดกับวังคือสวนที่เล่นระดับหลายชั้น ดูเหมือนว่าวังนี้ถูกเผาในช่วงที่เกิดการจลาจลไม่กี่สิบปีก่อนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาจะเริ่มงานรับใช้ และอาร์เคลาอัสลูกของเฮโรดได้สร้างวังนี้ขึ้นใหม่
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ขลุ่ยอาจทำมาจากไม้อ้อ ก้านไม้ รวมทั้งกระดูกหรืองาช้าง ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่คนนิยมมากที่สุด มีการเป่าขลุ่ยในงานรื่นเริง เช่น งานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน (1พก 1:40; อสย 5:12; 30:29) เด็ก ๆ ก็ชอบเล่นเป่าขลุ่ยในที่สาธารณะ นอกจากนั้น ยังมีการเป่าขลุ่ยในเวลาที่โศกเศร้า และตอนที่มีการรับจ้างร้องไห้ก็มักจะมีการเป่าขลุ่ยในทำนองที่โศกเศร้าคลอไปด้วย ขลุ่ยในภาพนี้พบในซากปรักหักพังที่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงเดียวกับตอนที่วิหารถูกกองทัพโรมันทำลาย ขลุ่ยนี้มีความยาวประมาณ 15 ซม. และน่าจะทำมาจากกระดูกส่วนขาของวัว
ตลาดบางแห่งตั้งอยู่ริมถนนเหมือนในรูปนี้ พ่อค้าแม่ค้ามักจะเอาสินค้ามาวางริมถนนจนกีดขวางทางเดิน ชาวบ้านจะมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ ถ้วยชามดินเผา และเครื่องแก้วราคาแพง รวมทั้งของสดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น ผู้คนจึงต้องไปซื้ออาหารที่ตลาดทุกวัน คนที่มาซื้อของที่ตลาดจะได้ยินข่าวต่าง ๆ จากพวกพ่อค้าหรือคนที่มาจากเมืองอื่น เด็ก ๆ จะเล่นกันที่นั่น คนที่ตกงานก็จะมารอคนจ้าง พระเยซูเคยรักษาคนป่วยและเปาโลก็เคยประกาศที่ตลาด (กจ 17:17) แต่พวกครูสอนศาสนาและฟาริสีที่เย่อหยิ่งชอบเป็นจุดสนใจและให้คนมาทักทายในที่สาธารณะแบบนี้
แต่เดิมขวดใส่น้ำหอมเล็ก ๆ คล้ายแจกันนี้ทำมาจากหินที่พบใกล้เมืองอะลาบาสตรอนในอียิปต์ ต่อมามีการเรียกหินปูนหรือแคลเซียมคาร์บอเนตที่เอามาทำขวดใส่น้ำหอมว่าอะลาบาสตรอนด้วย ขวดที่เห็นในภาพถูกพบในอียิปต์ ซึ่งทำขึ้นระหว่างปี 150 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 100 มีการทำขวดคล้าย ๆ กันจากวัสดุที่มีราคาถูกกว่า เช่น ยิปซัม และเรียกว่าขวดอะลาบาสเตอร์ด้วยเพราะใช้ใส่น้ำหอมเหมือนกัน แต่ขวดอะลาบาสเตอร์แท้จะเอาไว้ใส่น้ำมันหอมและน้ำหอมราคาแพงเท่านั้น เช่น น้ำมันหอมที่มีคนมาเทลงบนพระเยซู 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งที่บ้านฟาริสีในกาลิลี และอีกครั้งหนึ่งที่บ้านซีโมนที่เคยเป็นโรคเรื้อนในหมู่บ้านเบธานี