เรื่องที่ 3
สอนลูกให้มีจิตใจเข้มแข็ง
การมีจิตใจเข้มแข็งคืออะไร?
คนที่จิตใจเข้มแข็งเป็นคนที่ฟื้นตัวจากปัญหาหรือความผิดหวังได้เร็ว เพื่อจะมีจิตใจที่เข้มแข็งได้ต้องอาศัยประสบการณ์ เหมือนกับเด็กที่หัดเดินก็ต้องล้มบ้างกว่าจะเดินได้ ลูกของคุณก็ต้องเจอปัญหาและความผิดหวังบ้างเพื่อจะประสบความสำเร็จ
ทำไมการเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็งถึงสำคัญ?
เด็กบางคนรู้สึกท้อใจเมื่อเจอความผิดหวัง ปัญหา หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ บางคนรู้สึกท้อมากจนยอมแพ้ แต่พวกเขาควรเข้าใจความจริงต่อไปนี้
ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ—ยากอบ 3:2
เราทุกคนจะเจอปัญหาในชีวิต—ปัญญาจารย์ 9:11
คำตักเตือนจากคนอื่นช่วยเราได้มากในการพัฒนาตัวเอง—สุภาษิต 9:9
การมีจิตใจเข้มแข็งจะช่วยให้ลูกของคุณรู้สึกว่าเขาสามารถรับมือกับปัญหาได้
สอนลูกอย่างไรให้มีจิตใจเข้มแข็ง?
เมื่อลูกรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล “คนดีอาจล้มถึงเจ็ดครั้งแต่จะลุกขึ้นมาได้”—สุภาษิต 24:16
ช่วยลูกให้มีความคิดที่ถูกต้อง เช่น ถ้าเขาสอบตกวิชาหนึ่ง เขาอาจท้อ และบอกว่า “ผมทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง!”
เพื่อจะสอนให้ลูกมีจิตใจเข้มแข็ง คุณต้องช่วยให้เขารู้วิธีที่จะช่วยพวกเขาให้ปรับปรุงตัวเอง เมื่อทำอย่างนั้นลูกก็จะพยายามแก้ปัญหาแทนที่จะจมอยู่กับความผิดหวัง
ในขณะเดียวกัน คุณควรหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาให้ลูก แต่ช่วยเขาให้คิดว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยคุณอาจถามเขาว่า “ลูกจะทำยังไงเพื่อจะเข้าใจวิชานี้ได้มากขึ้น?”
เมื่อลูกเจอปัญหา
คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล ‘คุณไม่รู้ว่าพรุ่งนี้คุณจะเป็นอย่างไร’—ยากอบ 4:14
ชีวิตคนเราไม่แน่นอน วันนี้รวยพรุ่งนี้อาจจะจน วันนี้แข็งแรงพรุ่งนี้อาจจะป่วยก็ได้ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนวิ่งเร็วไม่ได้ชนะการแข่งขันเสมอไป คนแข็งแรงไม่ได้รบชนะทุกครั้ง . . . เพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นกับพวกเขาทุกคนในเวลาที่คาดไม่ถึง”—ปัญญาจารย์ 9:11
ในฐานะพ่อแม่ คุณคงทำหลายอย่างเพื่อปกป้องลูกจากปัญหาต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงคุณไม่สามารถปกป้องลูกไว้จากปัญหาทุกอย่างในชีวิตได้
ตอนนี้ลูกของคุณอาจยังไม่โตพอที่จะเจอปัญหาเรื่องการตกงาน หรือเรื่องเงิน แต่คุณสามารถช่วยลูกให้รับมือกับปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น ถ้าเขามีปัญหากับเพื่อนจนถึงขั้นเลิกคบกัน หรือถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต a
เมื่อลูกได้รับคำแนะนำ
คำแนะนำจากคัมภีร์ไบเบิล “ให้ฟังคำแนะนำ . . . แล้ววันข้างหน้าคุณจะฉลาดขึ้น”—สุภาษิต 19:20
เมื่อมีคนแนะนำให้ลูกของคุณปรับปรุงบางอย่าง นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาอยากแกล้งหรือทำให้ลูกของคุณเสียใจ แต่เขาอยากช่วยให้ลูกของคุณเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่จำเป็น
เมื่อคุณสอนลูกให้ยอมรับคำแนะนำ ทั้งคุณและลูกก็จะได้ประโยชน์ พ่อคนหนึ่งที่ชื่อจอห์นบอกว่า “ถ้าลูกทำผิด แล้วไม่เคยถูกตักเตือนเลย พวกเขาก็จะไม่ได้เรียนรู้ และจะสร้างปัญหาอยู่เรื่อย ๆ แล้วคุณก็จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตคอยแก้ปัญหาที่ลูก ๆ ทำไว้ ถ้าเป็นแบบนั้นพ่อแม่กับลูกก็จะลำบาก”
คุณจะช่วยให้ลูกได้รับประโยชน์จากคำแนะนำได้อย่างไร? เมื่อลูกได้รับคำแนะนำไม่ว่าจากครูที่โรงเรียนหรือจากคนอื่น ก็พยายามอย่าปกป้องลูกและบอกว่าลูกดีอยู่แล้ว แต่คุณน่าจะถามว่า
“ลูกคิดว่าทำไมเขาถึงแนะนำลูกในเรื่องนี้?”
“ลูกจะปรับปรุงตัวเองในเรื่องนี้ได้ยังไง?”
“ถ้าลูกเจอแบบนี้อีก ครั้งหน้าลูกจะทำยังไง?”
จำไว้ว่า คำแนะนำเป็นประโยชน์กับลูกของคุณไม่ใช่แค่ตอนนี้แต่ในอนาคตด้วยเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่
a ดูบทความ “ช่วยลูกรับมือกับความโศกเศร้า” ในหอสังเกตการณ์ 1 กรกฎาคม 2008
ตื่นเถิด!