บทความศึกษา 37
เพลง 118 “ขอช่วยให้พวกเรามีความเชื่อมากขึ้น”
จดหมายที่ช่วยให้เราอดทนอย่างซื่อสัตย์จนถึงที่สุด
“เรารักษาความเชื่อมั่นที่มีในตอนแรกไว้จนถึงที่สุด”—ฮบ. 3:14
จุดสำคัญ
บทเรียนที่เราได้จากจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูจะช่วยให้เราอดทนอย่างซื่อสัตย์จนถึงจุดจบของโลกชั่วนี้
1-2. (ก) สภาพการณ์ของคริสเตียนชาวฮีบรูเป็นยังไงตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงพวกเขา? (ข) จดหมายที่เปาโลเขียนเหมาะกับช่วงเวลาในตอนนั้นยังไง?
หลังจากพระเยซูเสียชีวิต คริสเตียนชาวฮีบรูที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มและแคว้นยูเดียต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่นานหลังจากที่มีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียน พวกเขาก็เจอการข่มเหงอย่างหนัก (กจ. 8:1) หลังจากนั้นอีกประมาณ 20 ปีต่อมา พวกเขาก็ต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากเกิดการขาดแคลนอาหาร (กจ. 11:27-30) อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี ค.ศ. 61 พวกเขาก็มีช่วงเวลาที่ค่อนข้างสงบสุขเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขากำลังจะเจอในอีกไม่นาน ตอนนั้นพระยะโฮวาดลใจให้อัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายถึงคริสเตียนชาวฮีบรู และจดหมายนี้ก็มาตรงกับเวลาพอดีเพื่อจะเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2 จดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูเป็นจดหมายที่ตรงกับเวลาพอดีเพราะความสงบสุขที่พวกเขามีกำลังจะหมดไป เปาโลให้คำแนะนำที่ช่วยพวกเขาให้อดทนกับความยากลำบากที่พวกเขากำลังจะเจอ พระเยซูบอกล่วงหน้าว่าอีกไม่นานกรุงเยรูซาเล็มและวิหารจะต้องถูกทำลาย (ลก. 21:20) แน่นอนว่าทั้งเปาโลและคริสเตียนที่อยู่ในยูเดียไม่รู้ว่าการทำลายกรุงเยรูซาเล็มจะมาถึงเมื่อไหร่จริง ๆ แต่คริสเตียนเหล่านั้นสามารถใช้ช่วงเวลาที่สงบสุขนี้เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีความเชื่อและความอดทนมากขึ้นได้—ฮบ. 10:25; 12:1, 2
3. ทำไมหนังสือฮีบรูถึงมีประโยชน์สำหรับคริสเตียนในทุกวันนี้ด้วย?
3 อีกไม่นาน เราทุกคนจะต้องเจอกับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ที่หนักกว่าที่คริสเตียนชาวฮีบรูเคยเจอ (มธ. 24:21; วว. 16:14, 16) ดังนั้น ให้เรามาดูคำแนะนำบางอย่างที่พระยะโฮวาให้กับพวกเขาและดูว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรด้วย
“พยายามก้าวหน้าไปเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่”
4. ชาวยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนต้องเจอกับข้อท้าทายอะไรบ้าง? (ดูภาพด้วย)
4 ชาวยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในอดีตชาวยิวเคยเป็นประชาชนที่พระยะโฮวาเลือก กรุงเยรูซาเล็มเคยเป็นสถานที่สำคัญ มีกษัตริย์ที่เป็นตัวแทนของพระยะโฮวาอยู่ที่นั่น และพวกเขาก็มีวิหารที่เป็นศูนย์กลางของการนมัสการบริสุทธิ์ ชาวยิวที่ซื่อสัตย์ทำตามกฎหมายของโมเสสและทำตามกฎอื่น ๆ ที่พวกเขาได้เรียนจากพวกผู้นำศาสนา เช่น กฎเรื่องการกินอาหาร การเข้าสุหนัต และแม้แต่วิธีปฏิบัติกับคนต่างชาติ แต่หลังจากที่พระเยซูตาย กฎหมายของโมเสสก็ถูกยกเลิก และไม่จำเป็นต้องมีการถวายเครื่องบูชาที่วิหารอีกต่อไป การปรับเปลี่ยนนี้ไม่ง่ายสำหรับคริสเตียนชาวยิวเพราะพวกเขาเคยชินกับการทำตามกฎหมายของโมเสส (ฮบ. 10:1, 4, 10) แม้แต่คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ เช่น อัครสาวกเปโตร ก็รู้สึกยากที่ต้องปรับเปลี่ยนด้วย (กจ. 10:9-14; กท. 2:11-14) และพอพวกเขาพยายามทำตามวิธีใหม่ พวกเขาก็ตกเป็นเป้าการโจมตีของพวกผู้นำศาสนาอีกด้วย
5. คริสเตียนชาวฮีบรูต้องเจออะไรบ้าง?
5 คริสเตียนชาวฮีบรูเจอการต่อต้านจากกลุ่มคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกผู้นำศาสนา พวกผู้นำศาสนาปฏิบัติกับชาวยิวที่เข้ามาเป็นคริสเตียนเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นคนทรยศที่ทิ้งศาสนาของตัวเองไป นอกจากนั้น คริสเตียนบางคนในประชาคมยังพยายามให้พี่น้องคนอื่นทำตามกฎหมายของโมเสสต่อไป ที่พวกเขาทำอย่างนั้นอาจเป็นเพราะไม่อยากเจอการต่อต้าน (กท. 6:12) แล้วอะไรช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูให้ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป?
6. เปาโลสนับสนุนให้คริสเตียนชาวฮีบรูทำอะไร? (ฮีบรู 5:14-6:1)
6 ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เขากระตุ้นพี่น้องให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งมากขึ้น (อ่านฮีบรู 5:14–6:1) เปาโลยกข้อคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและอธิบายว่าทำไมการนมัสการพระยะโฮวาของคริสเตียนถึงดีกว่าการนมัสการของชาวยิว a เปาโลรู้ว่าถ้าคริสเตียนชาวฮีบรูมีความรู้และความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความจริง นี่ก็จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าอะไรคือคำสอนเท็จและปฏิเสธมันได้
7. ในทุกวันนี้เราต้องรับมือกับอะไรบ้าง?
7 เหมือนกับคริสเตียนชาวฮีบรู ทุกวันนี้เราก็เห็นหลายคนที่เผยแพร่คำโกหกเกี่ยวกับมาตรฐานของพระยะโฮวา เช่น บางคนบอกว่าพยานพระยะโฮวาเป็นพวกใจแคบเพราะทำตามสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกในเรื่องเพศ ความคิดของผู้คนในทุกวันนี้ต่างกันมากกับความคิดของพระยะโฮวา และยิ่งเวลาผ่านไปมันก็ยิ่งแย่ลงทุกวัน (สภษ. 17:15) ดังนั้น เราเลยต้องฝึกมองให้ออกว่าอะไรเป็นคำโกหกและปฏิเสธมัน เราต้องไม่ยอมให้พวกคนที่ต่อต้านมาทำให้เราท้อใจและเลิกรับใช้พระยะโฮวา—ฮบ. 13:9
8. เราจะก้าวหน้าไปเพื่อจะเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง?
8 เราเองก็ต้องสนใจคำแนะนำของเปาโลที่บอกกับคริสเตียนชาวฮีบรูให้ก้าวหน้าไปเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ด้วย นี่หมายความว่าเราต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจังเพื่อจะเข้าใจความคิดของพระยะโฮวามากขึ้นและคิดแบบเดียวกับพระองค์ และเราต้องทำแบบนี้ต่อ ๆ ไปแม้จะอุทิศตัวและรับบัพติศมาแล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ในความจริงมานานแค่ไหน เราทุกคนก็ต้องอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ (สด. 1:2) ถ้าเรามีตารางการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ เราจะมีความเชื่อมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่เปาโลเน้นในจดหมายที่เขาเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู—ฮบ. 11:1, 6
“มีความเชื่อซึ่งจะทำให้ได้ชีวิต”
9. ทำไมคริสเตียนชาวฮีบรูต้องมีความเชื่อมาก?
9 คริสเตียนชาวฮีบรูต้องมีความเชื่อมากเพื่อจะรอดผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากในแคว้นยูเดีย (ฮบ. 10:37-39) พระเยซูเตือนสาวกของท่านว่า เมื่อเห็นกองทัพมาตั้งค่ายล้อมกรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาต้องรีบหนีไปที่ภูเขา พระเยซูให้คำเตือนนี้กับคริสเตียนทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มหรือนอกกรุง (ลก. 21:20-24) ในสมัยนั้นเมื่อมีศัตรูมาโจมตี ปกติแล้วประชาชนที่อยู่นอกกรุงจะเข้ามาในกรุงเพราะมีกำแพงที่จะปกป้องพวกเขาได้ คำเตือนของพระเยซูที่ให้หนีออกมาจากกรุงและไปที่ภูเขาก็เลยอาจฟังดูไม่มีเหตุผลสักเท่าไหร่ ดังนั้น คริสเตียนในสมัยนั้นต้องมีความเชื่อมากเพื่อจะเชื่อฟังคำสั่งนี้
10. ความเชื่อจะกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูให้ทำอะไร (ฮีบรู 13:17)
10 คริสเตียนชาวฮีบรูต้องไว้ใจคนที่พระเยซูใช้ให้นำหน้าในประชาคมด้วย เพราะคนเหล่านี้จะให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเพื่อจะช่วยพี่น้องทุกคนในประชาคมให้สามารถทำตามคำแนะนำของพระเยซูได้อย่างเป็นระเบียบและในเวลาที่เหมาะสม (อ่านฮีบรู 13:17) คำภาษากรีกของคำว่า “ให้เชื่อฟัง” ในฮีบรู 13:17 ทำให้เห็นภาพคนที่เต็มใจเชื่อฟังเพราะเขาไว้ใจคนที่กำลังให้คำแนะนำอยู่ นี่หมายความว่าเขาไม่ได้เชื่อฟังเพราะรู้สึกว่าต้องทำหรือเพราะคนที่ให้คำแนะนำเป็นคนที่มีอำนาจ แต่เขาเต็มใจเชื่อฟังเพราะเขาไว้ใจคนนั้นจริง ๆ ดังนั้น สำหรับคริสเตียนชาวฮีบรูพวกเขาก็ต้องสร้างความไว้วางใจในคนที่นำหน้าก่อนที่ความทุกข์ยากลำบากจะมาถึง ถ้าพวกเขาเต็มใจเชื่อฟังตั้งแต่ตอนที่ยังมีความสงบสุขอยู่ พวกเขาก็จะรู้สึกเชื่อฟังได้ง่ายขึ้นตอนที่เจอกับความทุกข์ยากลำบาก
11. ทำไมเราต้องมีความเชื่อที่เข้มแข็งด้วย?
11 ทุกวันนี้เราก็ต้องมีความเชื่อเหมือนกับคริสเตียนชาวฮีบรูที่ได้รับคำแนะนำจากจดหมายของเปาโล เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สนใจและถึงกับเยาะเย้ยคำเตือนในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดเกี่ยวกับจุดจบของโลกชั่วนี้ (2 ปต. 3:3, 4) นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลจะให้รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ด้วย ดังนั้น เราต้องมีความเชื่อมากว่าจุดจบของโลกชั่วนี้จะมาตรงกับเวลาที่กำหนดไว้ และเชื่อว่าพระยะโฮวาจะดูแลเราแน่นอน—ฮบก. 2:3
12. อะไรจะช่วยให้เรารอดผ่านความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่?
12 เราต้องมั่นใจด้วยว่าพระยะโฮวากำลังใช้ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” เพื่อชี้นำเราในทุกวันนี้ (มธ. 24:45) ตอนที่ความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้น เราอาจได้รับคำแนะนำบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเหมือนกับคริสเตียนชาวฮีบรูที่ได้รับคำแนะนำตอนที่กองทัพโรมันมาล้อมกรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้น เราต้องสร้างความไว้วางใจและมั่นใจในคำแนะนำและคนที่นำหน้าในองค์การของพระยะโฮวา ถ้าเรายังไม่ไว้ใจและไม่เต็มใจเชื่อฟังคำแนะนำตั้งแต่ตอนนี้ มันก็คงเป็นไปได้ยากที่เราจะเชื่อฟังคำแนะนำที่ได้รับในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่
13. ทำไมคำแนะนำที่ฮีบรู 13:5 ถึงสำคัญ?
13 ระหว่างที่คริสเตียนชาวฮีบรูกำลังรอสัญญาณที่ให้หนีออกจากกรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาก็ต้องใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและไม่เป็นคน “รักเงิน” (อ่านฮีบรู 13:5) ก่อนหน้านี้บางคนเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากซึ่งมีการขาดแคลนอาหารและความยากจนมาแล้ว (ฮบ. 10:32-34) ถึงอย่างนั้น พอเวลาผ่านไปพวกเขาบางคนอาจเริ่มมองว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพวกเขาให้ไม่ต้องเจอกับความลำบากแบบนั้นอีก แต่ไม่ว่าพวกเขาจะมีเงินมากแค่ไหนก็ไม่สามารถปกป้องพวกเขาจากการทำลายล้างที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน (ยก. 5:3) ที่จริง ในตอนนั้นถ้าใครยังเป็นคนที่รักเงินอยู่ เขาก็อาจจะรู้สึกว่ายากที่จะทิ้งบ้านหรือสมบัติทุกอย่างแล้วก็หนีไปที่ภูเขา
14. ความเชื่อจะมีผลกับการตัดสินใจของเรายังไงในเรื่องทรัพย์สมบัติ?
14 เราจะไม่เป็นคนรักเงินถ้าเรามีความเชื่อและมั่นใจว่าอีกไม่นานพระยะโฮวาจะทำลายโลกชั่วนี้ ในตอนนั้นผู้คนจะ “โยนเงินทิ้งตามถนน” เพราะรู้ว่า “ในวันที่พระยะโฮวาโกรธ ไม่ว่าเงินหรือทองก็ช่วยชีวิตพวกเขาไม่ได้” (อสค. 7:19) ดังนั้น แทนที่เราจะพยายามหาเงินให้ได้เยอะ ๆ ในตอนนี้ เราควรตัดสินใจที่จะทำให้ชีวิตของเราเรียบง่ายเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาได้มากขึ้น นี่รวมถึงการไม่ใช้เงินมากเกินไปจนเป็นหนี้หรือใช้เวลามากเกินไปกับการดูแลสิ่งของที่เรามี นอกจากนั้น เราต้องระวังที่จะไม่ให้ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (มธ. 6:19, 24) ยิ่งเราเข้าใกล้จุดจบของโลกชั่วนี้ เราก็ต้องเลือกว่าเราจะไว้ใจพระยะโฮวาหรือไว้ใจทรัพย์สมบัติที่เรามี
“พวกคุณต้องอดทนไว้”
15. ทำไมคริสเตียนชาวฮีบรูต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ?
15 คริสเตียนชาวฮีบรูต้องรับใช้พระยะโฮวาด้วยความอดทนเพราะสถานการณ์ในยูเดียกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ (ฮบ. 10:36) ถึงแม้ว่าบางคนเคยเจอกับการข่มเหงหนัก ๆ มาแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยเจอ เปาโลบอกว่าถึงแม้พวกเขาต้องอดทนกับการทดสอบความเชื่อมากมาย แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้เจอหนักเท่ากับที่พระเยซูเจอ นั่นก็คือต้องอดทนจนถึงกับตาย (ฮบ. 12:4) พอมีคนเข้ามาเป็นคริสเตียนมากขึ้น พวกผู้ต่อต้านก็เริ่มรู้สึกโกรธมากและยิ่งต้องการจะข่มเหงอย่างรุนแรง ไม่กี่ปีก่อนที่เปาโลจะเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู ตอนที่เขาเข้ามาในกรุงเยรูซาเล็มก็มีกลุ่มคนที่เข้ามาทำร้ายเขา มีชาวยิวมากกว่า 40 คนที่ “สาบานตัวว่าจะไม่กินไม่ดื่มอะไรจนกว่าจะได้ฆ่าเปาโล” (กจ. 22:22; 23:12-14) ถึงแม้ว่าคริสเตียนชาวฮีบรูต้องเจอกับการข่มเหงอย่างหนักและถูกเกลียดชัง แต่พวกเขาก็ยังต้องมาเจอกันเพื่อจะนมัสการร่วมกัน ประกาศข่าวดี และทำให้ความเชื่อของพวกเขาเข้มแข็งอยู่เสมอ
16. จดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูช่วยเรายังไงให้มีมุมมองที่ถูกต้องเมื่อเจอกับการข่มเหง? (ฮีบรู 12:7)
16 อะไรจะช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูให้อดทนการข่มเหงที่เจอได้? เปาโลรู้ว่าพวกเขาต้องมีมุมมองที่ถูกต้องต่อการข่มเหง เขาเลยอธิบายว่าบางครั้งพระเจ้าอาจยอมให้เราเจอการทดสอบเพื่อฝึกอบรมเรา (อ่านฮีบรู 12:7) การทดสอบแบบนี้สามารถช่วยให้คนเราพัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียนได้ ดังนั้น ถ้าพวกเขาสนใจที่ผลดีของการถูกทดสอบ พวกเขาก็จะสามารถอดทนได้ดีขึ้น—ฮบ. 12:11
17. เปาโลได้เรียนอะไรเกี่ยวกับการอดทนกับความลำบาก?
17 เปาโลกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูให้อดทนกับความยากลำบากอย่างกล้าหาญและไม่ยอมแพ้ เขาเป็นคนที่สามารถให้คำแนะนำในเรื่องนี้ได้ เพราะก่อนหน้านี้เปาโลเคยเป็นคนที่ข่มเหงคริสเตียน เขาเลยรู้ว่าคนที่เป็นคริสเตียนต้องเจอกับอะไรบ้าง นอกจากนั้น เขาก็รู้วิธีรับมือกับการข่มเหงด้วย เพราะหลังจากที่เขาเข้ามาเป็นคริสเตียนตัวเขาเองก็ถูกข่มเหงเหมือนกัน (2 คร. 11:23-25) ดังนั้น เปาโลรู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะอดทนได้ เขาบอกคริสเตียนชาวฮีบรูว่า เมื่อต้องอดทนกับความลำบาก พวกเขาต้องไม่พึ่งตัวเองแต่ต้องพึ่งพระยะโฮวา เปาโลเองก็ทำแบบนี้ เขาเลยสามารถพูดด้วยความกล้าหาญว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยเหลือผม ผมจะไม่กลัวอะไร”—ฮบ. 13:6
18. จะเกิดอะไรขึ้นกับเราทุกคนในอนาคต? และเราจะเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้ได้ยังไง?
18 พี่น้องของเราบางคนกำลังอดทนกับการข่มเหงอยู่ในตอนนี้ วิธีหนึ่งที่เราแสดงว่าเรารักพวกเขาก็คือโดยการอธิษฐานเพื่อพวกเขาและบางครั้งเราอาจให้สิ่งจำเป็นกับพวกเขาได้ด้วย (ฮบ. 10:33) อย่างไรก็ตามคัมภีร์ไบเบิลก็บอกอย่างชัดเจนด้วยว่า “ทุกคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าและเป็นสาวกพระคริสต์เยซูต้องถูกข่มเหงกันทั้งนั้น” (2 ทธ. 3:12) เพราะอย่างนี้เราทุกคนเลยต้องเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เราไว้ใจพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปและมั่นใจว่าพระองค์จะช่วยเราให้อดทนกับปัญหาอะไรก็ตามที่เราอาจเจอ และเมื่อถึงเวลาพระองค์จะช่วยผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ทุกคน—2 ธส. 1:7, 8
19. เราต้องทำอะไรเพื่อจะเตรียมพร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่? (ดูภาพด้วย)
19 เราไม่สงสัยเลยว่าจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูคงต้องช่วยพี่น้องเหล่านั้นหลายคนให้เตรียมพร้อมสำหรับความทุกข์ยากลำบากที่จะเกิดขึ้น เปาโลสนับสนุนให้พี่น้องมีความรู้และความเข้าใจในพระคัมภีร์ การทำอย่างนั้นจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าอะไรคือคำสอนเท็จและจะปฏิเสธมันได้เพื่อความเชื่อของพวกเขาจะได้ไม่อ่อนแอลง นอกจากนั้น เขายังสนับสนุนให้พี่น้องสร้างความเชื่อให้เข้มแข็งเพื่อที่พวกเขาจะติดตามการชี้นำของพระเยซูและคนที่นำหน้าในประชาคมอย่างใกล้ชิด และเขายังบอกให้พี่น้องฝึกความอดทนโดยมีมุมมองที่ถูกต้องต่อการข่มเหง และมองว่านั่นเป็นโอกาสที่จะได้รับการฝึกจากพระยะโฮวา ขอให้พวกเราทุกคนทำตามคำแนะนำนี้ด้วยเพราะนี่จะช่วยให้เราอดทนอย่างซื่อสัตย์ได้จนถึงที่สุด—ฮบ. 3:14
เพลง 126 ให้ตื่นตัว มั่นคง และเข้มแข็ง
a ในบทแรกของหนังสือฮีบรู เปาโลก็ยกข้อคัมภีร์จากภาคภาษาฮีบรูถึง 7 ครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าการนมัสการของคริสเตียนดีกว่าการนมัสการของชาวยิว—ฮบ. 1:5-13
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)