บทความศึกษา 1
“ให้พวกคุณไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก”
ข้อคัมภีร์ประจำปี 2020 “ให้พวกคุณไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา”—มธ. 28:19
เพลง 79 สอนพวกเขาให้มีความเชื่อมั่นคง
ใจความสำคัญ *
1-2. ทูตสวรรค์บอกอะไรกับพวกผู้หญิงที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซู? และพระเยซูบอกให้พวกเธอทำอะไร?
เช้าตรู่ของวันที่ 16 เดือนนิสาน ค.ศ. 33 พวกผู้หญิงที่เกรงกลัวพระเจ้าและกำลังโศกเศร้าไปที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นนาย ซึ่งศพของท่านถูกฝังที่นี่นานกว่า 36 ชั่วโมงแล้ว พวกเธอตั้งใจเอาเครื่องหอมและน้ำมันมาชโลมศพของท่าน แต่พอไปถึง พวกเธอแปลกใจมากเพราะอุโมงค์ว่างเปล่า ทูตสวรรค์องค์หนึ่งบอกพวกเธอว่าพระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว เขาบอกว่า “ท่านจะไปรอพบพวกคุณที่แคว้นกาลิลี คุณจะได้พบท่านที่นั่น”—มธ. 28:1-7; ลก. 23:56; 24:10
2 หลังจากพวกผู้หญิงออกจากอุโมงค์ฝังศพ พระเยซูก็ปรากฏตัวกับพวกเธอและสั่งว่า “ไปเล่าเรื่องนี้ให้พี่น้องของผมฟัง และบอกพวกเขาให้ไปที่แคว้นกาลิลี พวกเขาจะได้เจอผมที่นั่น” (มธ. 28:10) สิ่งแรกที่พระเยซูทำหลังจากฟื้นขึ้นจากตายคือนัดเจอกับพวกสาวก ท่านต้องมีเรื่องสำคัญมากที่จะสั่งพวกเขาแน่ ๆ
พระเยซูสั่งให้ใครไปสอนคนให้เป็นสาวก?
3-4. ทำไมเราจึงบอกได้ว่าคำสั่งในมัทธิว 28:19, 20 ไม่ได้ให้กับอัครสาวกเท่านั้น? (ดูภาพหน้าปก)
3 อ่านมัทธิว 28:16-20 ตอนที่พระเยซูเจอกับพวกสาวก ท่านพูดถึงงานสำคัญที่พวกเขาต้องทำในสมัยนั้น ซึ่งเป็นงานเดียวกับที่เราทำในสมัยนี้ ท่านบอกว่า “ให้พวกคุณไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก . . . และสอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่ผมสั่งคุณไว้”
4 พระเยซูอยากให้ทุกคนที่ติดตามท่านทำงานประกาศ ท่านไม่ได้สั่งอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนเท่านั้น ทำไมเรารู้เรื่องนี้? เพราะพระเยซูสั่งเรื่องนี้ตอนอยู่ที่ภูเขาในแคว้นกาลิลี ซึ่งตอนนั้นไม่ได้มีแค่พวกอัครสาวกอยู่ที่นั่น ขอให้คิดถึงคำพูดของทูตสวรรค์ที่บอกพวกผู้หญิงว่า “คุณจะได้พบท่านที่ [แคว้นกาลิลี]” แสดงว่าตอนที่พระเยซูสั่ง พวกเธอต้องอยู่ที่นั่นด้วย แต่ไม่ใช่แค่นั้น
5. ทำไมเรารู้ว่าเหตุการณ์ที่ 1 โครินธ์ 15:6 เป็นเหตุการณ์เดียวกับมัทธิวบท 28?
5 เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่เรารู้ว่าพระเยซูไม่ได้สั่งอัครสาวก 11 คนเท่านั้นคือ อัครสาวกเปาโลบอกว่าพระเยซู “ปรากฏตัวต่อพี่น้องมากกว่า 500 คนในโอกาสเดียวกัน” (1 คร. 15:6) เปาโลพูดถึงเหตุการณ์ไหน? เรามีหลายเหตุผลที่จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เปาโลพูดถึงใน 1 โครินธ์ 15:6 เป็นเหตุการณ์เดียวกับมัทธิวบท 28 เหตุผลที่ 1 สาวกของพระเยซูส่วนใหญ่เป็นชาวกาลิลีจึงมีเหตุผลมากกว่าที่พระเยซูจะประชุมกับคนจำนวนมากที่ภูเขาในแคว้นกาลิลีแทนที่จะเป็นบ้านในกรุงเยรูซาเล็ม เหตุผลที่ 2 หลังจากพระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ท่านเจออัครสาวก 11 คนในบ้านที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว ถ้าท่านอยากสั่งให้ 11 คนนี้ไปประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก ท่านก็ทำได้เลยที่กรุงเยรูซาเล็ม ไม่จำเป็นต้องบอกให้พวกเขา พวกผู้หญิง และคนอื่น ๆ ไปที่กาลิลี—ลก. 24:33, 36
6. มัทธิว 28:20 ช่วยให้เรารู้อย่างไรว่าคำสั่งที่ให้สอนคนให้เป็นสาวกหมายถึงในปัจจุบันด้วย? และในทุกวันนี้มีการทำตามคำสั่งนี้อย่างไร?
6 เหตุผลสำคัญอย่างที่สามที่เรารู้ว่าพระเยซูไม่ได้สั่งอัครสาวก 11 คนเท่านั้นคือ คำสั่งที่ให้ไปสอนคนให้เป็นสาวกไม่ได้ให้แค่คริสเตียนในสมัยนั้น เรารู้ได้อย่างไร? พระเยซูลงท้ายคำสั่งนี้ว่า “ผมจะอยู่กับพวกคุณเสมอจนถึงสมัยสุดท้ายของโลกนี้” (มธ. 28:20) คำพูดของพระเยซูกำลังเกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้ ผู้คนมากมายกำลังทำตามคำสั่งของท่าน คิดดูสิ! ทุกปีมีเกือบ 300,000 คนรับบัพติศมาเป็นพยานพระยะโฮวาและมาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์
7. เราจะคุยกันเรื่องอะไรและทำไม?
7 หลายคนศึกษาคัมภีร์ไบเบิลก้าวหน้าจนรับบัพติศมา ส่วนบางคนศึกษาเป็นประจำแต่ก็ยังลังเลที่จะเป็นสาวกของพระเยซู พวกเขาชอบเรียนคัมภีร์ไบเบิลแต่ไม่ก้าวหน้าจนรับบัพติศมา ถ้าคุณมีนักศึกษา เรามั่นใจว่าคุณอยากช่วยเขาให้เอาสิ่งที่ได้เรียนไปใช้และเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ บทความนี้เราจะคุยเกี่ยวกับวิธีเข้าถึงหัวใจนักศึกษา ช่วยเขาให้รักพระยะโฮวาและก้าวหน้า ทำไมเราต้องคุยกันเรื่องนี้? เพราะเราอาจต้องตัดสินใจเลิกศึกษากับบางคน
พยายามช่วยนักศึกษาให้รักพระยะโฮวา
8. ทำไมอาจเป็นเรื่องยากที่จะช่วยนักศึกษาให้รักพระยะโฮวา?
8 พระยะโฮวาอยากให้ผู้คนเข้ามารับใช้พระองค์เพราะรักพระองค์ ดังนั้น เป้าหมายของเราคือช่วยนักศึกษาให้รู้ว่าพระยะโฮวาเป็นห่วงและรักเขามาก เราอยากช่วยให้เขามองพระองค์ว่าเป็น “พ่อของลูกกำพร้าพ่อ และเป็นผู้ปกป้องแม่ม่าย” (สด. 68:5) ถ้านักศึกษารู้ว่าพระยะโฮวารักเขามากขนาดไหน ก็เป็นเรื่องง่ายที่เขาจะเริ่มรักพระองค์ นักศึกษาบางคนอาจรู้สึกยากที่จะมองว่าพระยะโฮวาเป็นพ่อที่รักเขา เพราะพ่อของเขาอาจไม่เคยแสดงความรักต่อเขาเลย (2 ทธ. 3:1, 3) เมื่อคุณนำการศึกษา ให้เน้นคุณลักษณะของพระยะโฮวา ช่วยนักศึกษาให้รู้ว่าพระองค์อยากให้เขามีชีวิตตลอดไปและพระองค์พร้อมที่จะช่วยเขา แล้วยังมีอะไรที่เราต้องทำอีก?
9-10. เราควรใช้หนังสืออะไรศึกษากับนักศึกษา? และทำไม?
9 ใช้หนังสือเรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร? และทำอย่างไรให้พระเจ้ารักเราเสมอ? หนังสือ 2 เล่มนี้ออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงหัวใจนักศึกษาและช่วยเขาให้รักพระยะโฮวา ตัวอย่างเช่น บทที่ 1 ของหนังสือเรียนไบเบิล ตอบคำถามที่ว่า พระเจ้าเป็นห่วงเราไหมหรือพระองค์เป็นพระเจ้าที่โหดร้าย? พระเจ้ารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นคนเรามีความทุกข์? คุณเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวาได้ไหม? ส่วนหนังสือรักเสมอ ช่วยนักศึกษาให้เข้าใจว่าการเอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้จะช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้นและสนิทกับพระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร ถึงคุณเคยใช้หนังสือ 2 เล่มนี้สอนคนอื่นมาแล้ว แต่ขอให้เตรียมอย่างดีและคิดถึงความจำเป็นของนักศึกษาแต่ละคน
10 แล้วถ้านักศึกษาสนใจเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียนไบเบิล หรือหนังสือรักเสมอ ล่ะ? คุณอาจสนับสนุนเขาให้อ่านเรื่องนั้นเอง เพื่อคุณจะศึกษากับเขาโดยใช้หนังสือ 2 เล่มนี้ต่อไปได้โดยไม่ถูกขัดจังหวะ
11. เราควรเริ่มอธิษฐานกับนักศึกษาเมื่อไร? และเราจะช่วยให้เขาเห็นความสำคัญของการอธิษฐานได้อย่างไร?
11 เริ่มการศึกษาด้วยการอธิษฐาน ตามปกติแล้วควรจะเริ่มอธิษฐานกับนักศึกษาให้เร็วที่สุดทั้งตอนเริ่มและตอนจบการศึกษา ซึ่งอาจเป็นภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากที่ศึกษากับเขาเป็นประจำ เราต้องช่วยนักศึกษาให้รู้ว่าเขาต้องได้รับการช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าถึงจะเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลได้ พี่น้องบางคนคุยเรื่องการอธิษฐานกับนักศึกษาโดยอ่านยากอบ 1:5 ที่บอกว่า “ถ้าใครในพวกคุณขาดสติปัญญา ให้เขาพยายามขอจากพระเจ้าต่อ ๆ ไป” หลังจากนั้นก็ถามนักศึกษาว่า “เราจะขอสติปัญญาจากพระเจ้าได้ยังไง?” การทำอย่างนี้จะช่วยให้นักศึกษายอมรับว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเจ้า
12. คุณจะใช้สดุดี 139:2-4 ช่วยนักศึกษาให้เปิดใจคุยกับพระยะโฮวาในคำอธิษฐานอย่างไร?
12 สอนนักศึกษาให้อธิษฐาน เราต้องช่วยเขาให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาอยากฟังคำอธิษฐานจากหัวใจของเขา เราอาจอธิบายว่าเมื่อเราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเป็นส่วนตัว เราสามารถระบายความรู้สึกและพูดเรื่องที่ไม่กล้าคุยกับใครให้พระยะโฮวาฟังเพราะพระองค์รู้อยู่แล้วว่าลึก ๆ เรารู้สึกอย่างไร (อ่านสดุดี 139:2-4) นอกจากนั้น เราต้องสนับสนุนนักศึกษาให้ขอพระยะโฮวาให้ช่วยเขาเปลี่ยนความคิดผิด ๆ และเลิกนิสัยไม่ดี ตัวอย่างเช่น นักศึกษาบางคนอาจยังชอบการฉลองที่คริสเตียนไม่ควรเข้าร่วม เขารู้ว่าผิดแต่ก็ยังชอบบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการฉลองนั้น ให้คุณสนับสนุนเขาให้พูดกับพระยะโฮวาอย่างตรงไปตรงมาว่ารู้สึกอย่างไรและขอให้พระยะโฮวาช่วยเขาให้รักสิ่งที่พระองค์รักเท่านั้น—สด. 97:10
13. (ก) ทำไมเราน่าจะชวนนักศึกษาให้ไปประชุมตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่เจอ? (ข) เราจะทำให้นักศึกษารู้สึกสบายใจขึ้นได้อย่างไรเมื่อเขาไปประชุม?
13 ชวนนักศึกษาให้ไปประชุมตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่เจอ สิ่งที่นักศึกษาเห็นและได้ยินในการประชุมอาจกระตุ้นเขาให้อยากรับใช้พระยะโฮวาและก้าวหน้ามากขึ้น คุณอาจให้เขาดูวีดีโอเราทำอะไรบ้างที่หอประชุมราชอาณาจักร? และชวนเขาไปประชุมด้วยกัน คุณอาจเสนอไปรับเขาที่บ้านถ้าทำได้ นอกจากนั้น ตอนที่คุณไปศึกษาอาจชวนพี่น้องคนอื่นสลับกันไปด้วยกันกับคุณ เพื่อนักศึกษาจะได้รู้จักพี่น้องคนอื่นในประชาคมและจะรู้สึกสบายใจเวลาไปประชุม
ช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้า
14. อะไรกระตุ้นให้นักศึกษาก้าวหน้า?
14 เป้าหมายของเราคือช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้า (อฟ. 4:13) บางคนอาจเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเราเพราะสนใจแค่ว่าตัวเขาเองจะได้ประโยชน์อะไร แต่พอเขารักพระยะโฮวามากขึ้น เขาก็จะอยากช่วยคนอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงพี่น้องในประชาคมด้วย (มธ. 22:37-39) ดังนั้น เมื่อเห็นว่าเหมาะก็อย่าลังเลที่จะบอกนักศึกษาว่าเรามีสิทธิพิเศษที่จะบริจาคเพื่อสนับสนุนงานของรัฐบาลพระเจ้า
15. เราจะช่วยนักศึกษาให้ทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไรถ้ามีปัญหา?
15 สอนนักศึกษาว่าจะทำอย่างไรถ้ามีปัญหา ถ้านักศึกษาของคุณซึ่งเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมาบอกว่าเขารู้สึกไม่ดีกับพี่น้องบางคนในประชาคม แทนที่คุณจะบอกว่าใครถูกใครผิด ให้คุณอธิบายว่ามีหลักการอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิลที่ใช้ได้ในเรื่องนั้น เขาอาจให้อภัยและมองข้ามเรื่องนั้น แต่ถ้าทำไม่ได้ เขาควรไปคุยกับพี่น้องคนนั้นอย่างใจเย็น ๆ และแสดงความรักโดยมีเป้าหมายจะรักษาสันติสุขกับคนนั้น (เทียบกับมัทธิว 18:15) คุณอาจช่วยนักศึกษาเตรียมตัวว่าจะพูดอย่างไร สอนให้เขารู้วิธีหาข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในแอป JW Library® ในคู่มือค้นคว้าสำหรับพยานพระยะโฮวา และในเว็บไซต์ jw.org® ถ้าเขาได้เรียนรู้ตั้งแต่ก่อนรับบัพติศมาว่าจะรับมืออย่างไรเมื่อมีปัญหากับคนอื่น เขาก็จะยิ่งเข้ากับพี่น้องในประชาคมได้ดีขึ้นหลังจากที่รับบัพติศมาแล้ว
16. ทำไมดีที่จะชวนพี่น้องคนอื่นไปศึกษาด้วยกัน?
16 ชวนคนอื่นในประชาคมหรือผู้ดูแลหมวดไปศึกษาด้วยกัน ทำไม? นอกจากที่พูดไปแล้ว พี่น้องคนอื่นอาจช่วยนักศึกษาของคุณได้ดีในเรื่องที่คุณช่วยไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีนักศึกษาที่พยายามเลิกบุหรี่แต่หลายครั้งก็กลับไปสูบอีก ให้ชวนพี่น้องที่เคยเจอปัญหาคล้าย ๆ กับนักศึกษาไปด้วย เขาอาจให้คำแนะนำที่จำเป็นและเป็นประโยชน์กับนักศึกษาได้ ถ้าคุณอายที่จะนำการศึกษาต่อหน้าพี่น้องชายหรือพี่น้องหญิงที่มีประสบการณ์ ให้ขอเขาเป็นคนนำการศึกษา ถ้าคุณชวนคนอื่น ๆ ไปด้วย นักศึกษาจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของพวกเขา ขอจำไว้เสมอว่าเป้าหมายของเราคือช่วยนักศึกษาให้ก้าวหน้า
คุณควรเลิกศึกษาไหม?
17-18. คุณควรคิดถึงอะไรบ้างตอนที่ตัดสินใจจะเลิกศึกษากับนักศึกษา?
17 ถ้านักศึกษาของคุณไม่ก้าวหน้า ให้ถามตัวเองว่า ‘คุณควรเลิกศึกษากับเขาไหม?’ ก่อนตัดสินใจให้คิดถึงความสามารถของนักศึกษา บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นกว่าจะก้าวหน้า ให้ถามตัวเองว่า ‘นักศึกษาคนนี้ก้าวหน้าตามที่ควรจะเป็นไหม?’ ‘เขาเริ่ม “ทำตาม” สิ่งที่เรียนบ้างไหม?’ (มธ. 28:20) ก็จริงที่นักศึกษาบางคนอาจก้าวหน้าช้า แต่เขาต้องแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและก้าวหน้าเป็นขั้น ๆ
18 ถ้าบางคนศึกษามาระยะหนึ่งแล้วแต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาล่ะ? เขาอาจศึกษาหนังสือเรียนไบเบิล จบและเริ่มศึกษาหนังสือรักเสมอ แล้ว แต่ไม่เคยมาประชุมเลย แม้แต่การประชุมอนุสรณ์ก็ไม่มา เวลาไปศึกษาก็ผิดนัดบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผล ถ้านักศึกษาของคุณเป็นแบบนั้น ขอให้คุณคุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมา *
19. คุณอาจพูดกับนักศึกษาอย่างไรถ้าเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษา? และคำตอบของนักศึกษาจะช่วยคุณอย่างไร?
19 คุณอาจเริ่มถามเขาว่า ‘คุณคิดว่าอะไรเป็นเรื่องยากที่สุดที่จะเป็นพยานพระยะโฮวา?’ เขาอาจตอบว่า ‘ฉันชอบเรียนคัมภีร์ไบเบิล แต่ฉันจะไม่เป็นพยานฯ หรอกนะ’ ถ้าเขาตอบแบบนี้หลังจากที่ศึกษากันมานานพอสมควรแล้ว อาจจำเป็นที่คุณจะเลิกศึกษากับเขา แต่ถ้านักศึกษาบอกเหตุผลที่เขาไม่ก้าวหน้าซึ่งคุณไม่เคยรู้มาก่อน ตัวอย่างเช่น เขารู้สึกว่าเขาไม่มีทางไปประกาศตามบ้านได้ คุณก็จะเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษาและหาวิธีช่วยเขาได้ง่ายขึ้น
20. กิจการ 13:48 ช่วยเราอย่างไรให้รู้ว่าควรศึกษากับนักศึกษาต่อไปหรือไม่?
20 น่าเสียดายที่นักศึกษาบางคนเป็นเหมือนชาวอิสราเอลในสมัยเอเสเคียล พระยะโฮวาบอกเอเสเคียลว่า “สำหรับพวกเขา เจ้าเป็นเหมือนคนที่ร้องเพลงรักซึ่งมีเสียงไพเราะและเล่นเครื่องสายอย่างชำนาญ พวกเขาจะฟังเจ้าพูด แต่จะไม่มีใครทำตาม” (อสค. 33:32) เราอาจรู้สึกยากที่จะบอกนักศึกษาว่าจะเลิกศึกษากับเขา แต่ตอนนี้ “เวลาเหลือน้อยแล้ว” (1 คร. 7:29) แทนที่จะเสียเวลากับคนที่ไม่ก้าวหน้า ให้เราพยายามหาคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป”—อ่านกิจการ 13:48
21. ข้อคัมภีร์ประจำปี 2020 คืออะไร? ทำไมข้อคัมภีร์นี้ถึงเหมาะ?
21 ตลอดปี 2020 ข้อคัมภีร์ประจำปีจะช่วยเราให้คิดว่าจะปรับปรุงความสามารถในการสอนคนให้เป็นสาวกได้อย่างไรบ้าง ตลอดปีนี้ให้เราคิดถึงคำพูดของพระเยซูในการนัดหมายครั้งสำคัญที่ภูเขาในแคว้นกาลิลีว่า “ให้พวกคุณไปสอนคน . . . ให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา”—มธ. 28:19
เพลง 70 ไปหาคนที่เต็มใจต้อนรับและสนใจฟัง
^ วรรค 5 ข้อคัมภีร์ประจำปี 2020 กระตุ้นให้เรา ‘ไปสอนคนให้เป็นสาวก’ ผู้รับใช้พระยะโฮวาทุกคนต้องเชื่อฟังคำสั่งนี้ เราจะเข้าถึงหัวใจนักศึกษาเพื่อช่วยพวกเขาให้เป็นสาวกของพระคริสต์ได้อย่างไร? บทความนี้จะบอกวิธีช่วยนักศึกษาให้สนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น และจะพูดถึงวิธีตัดสินใจว่าควรศึกษากับนักศึกษาต่อไปหรือไม่
^ วรรค 18 ดูวีดีโอ “เลิกศึกษากับนักศึกษาที่ไม่ก้าวหน้า” ในรายการทีวี JW หรือดาวน์โหลดจากแอป JW Library ไปที่มีเดีย > การประชุมและงานประกาศ > ทำให้ความสามารถในงานรับใช้ของคุณดีขึ้น
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)