บทความศึกษา 1
สงบใจและวางใจพระยะโฮวาเสมอ
ข้อคัมภีร์ประจำปี 2021 “ถ้าพวกเจ้ามีใจที่สงบและวางใจเรา พวกเจ้าก็จะมีความเข้มแข็ง”—อสย. 30:15
เพลง 3 กำลัง ความหวัง และความมั่นใจของเรา
ใจความสำคัญ *
1. พวกเราบางคนอาจจะถามอะไรเหมือนกับกษัตริย์ดาวิด?
เราทุกคนอยากมีชีวิตที่สงบสุขและสบายใจ ไม่มีใครชอบความกังวลหรอก แต่ทุกวันนี้เราอาจจะต้องเจอเรื่องที่ทำให้กังวลหรือเครียดมาก นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาบางคนอาจจะถามเหมือนกับที่กษัตริย์ดาวิดถามพระยะโฮวาว่า “ผมจะต้องกังวล และเศร้าใจทุกวันไปอีกนานแค่ไหน?”—สด. 13:2
2. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
2 ถึงจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่รู้สึกกังวลเลย แต่ก็มีบางอย่างที่เราทำได้เพื่อจะกังวลน้อยลง ก่อนอื่นเราจะมาดูว่ามีอะไรบ้างที่อาจทำให้เรารู้สึกกังวล แล้วเราจะมาดู 6 วิธีที่จะช่วยให้เราสงบใจตอนที่เราเจอปัญหา
อะไรอาจทำให้เรากังวล?
3. อะไรอาจทำให้เรากังวล? และเราควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้มากแค่ไหน?
3 มีหลายอย่างที่อาจทำให้เรากังวล บางอย่างเราก็พอจะควบคุมมันได้บ้าง แต่บางอย่างเราก็ควบคุมมันไม่ได้เลย ตัวอย่างเช่น เราควบคุมไม่ได้ว่าในแต่ละปีราคาข้าวปลาอาหารจะแพงขึ้นมากแค่ไหน หรือราคาเสื้อผ้าและค่าเช่าบ้านจะเป็นอย่างไร และเราควบคุมเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนที่โรงเรียนไม่ให้มากดดันเราให้ไม่ซื่อสัตย์หรือทำผิดศีลธรรมก็ไม่ได้ หรือเราบังคับขโมยไม่ให้มาขโมยแถวบ้านเราก็ไม่ได้ เราต้องเจอปัญหาพวกนี้เพราะเราอยู่ในโลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนั้น ซาตานพระเจ้าของโลกนี้รู้ว่าบางคนจะไม่รับใช้พระยะโฮวาเพราะ “กังวลกับชีวิตในโลกนี้” เลยไม่แปลกที่โลกนี้มีแต่ปัญหาที่ทำให้ผู้คนเครียดมาก—มธ. 13:22; 1 ยน. 5:19
4. เราอาจเป็นอย่างไรเวลาเจอปัญหาหนัก ๆ?
4 ตอนที่เราเจอปัญหาหนัก ๆ เราอาจจะจมอยู่กับความเครียดและความกังวล อย่างเช่นเราอาจจะกลัวว่าจะหาเงินได้ไม่พอใช้ กลัวว่าวันหนึ่งเราเกิดป่วยขึ้นมาแล้วไปทำงานไม่ได้ หรืออาจป่วยหนักถึงขั้นตกงานแล้วเราจะทำยังไง หรือเราอาจจะกลัวว่าจะทำผิดหลักการของพระเจ้าถ้าถูกล่อใจ นอกจากนั้นเรารู้ว่าอีกไม่นานซาตานจะให้คนของมันโจมตีคนของพระเจ้า เราเลยอาจกังวลว่าเราจะทำยังไงตอนนั้น เราอาจจะสงสัยว่า ‘ถ้าฉันกังวลเรื่องพวกนี้มันจะผิดไหม?’
5. พระเยซูหมายถึงอะไรที่ท่านบอกว่า “เลิกกังวลได้แล้ว”?
5 เรารู้ว่าพระเยซูบอกสาวกของท่านว่า “เลิกกังวลได้แล้ว” (มธ. 6:25) ท่านหมายความว่าเราต้องไม่กังวลอะไรเลยไหม? ไม่ใช่อย่างนั้น ในอดีตผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนเคยกังวลมาก แต่พระองค์ก็ยังพอใจในตัวพวกเขา * (1 พก. 19:4; สด. 6:3) พระเยซูไม่อยากให้เรากังวลเกี่ยวกับชีวิตมากเกินไปจนไม่ได้ให้การรับใช้พระยะโฮวามาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าอย่างนั้นตอนที่เรากังวล เราควรทำอะไรบ้าง? (ดูกรอบ “ เราจะทำได้อย่างไร?”)
6 วิธีที่จะช่วยให้เราสงบใจ
6. จากฟีลิปปี 4:6, 7 อะไรช่วยให้เราสงบใจ?
6 (1) อธิษฐานบ่อย ๆ ถ้าคุณกำลังกังวลกับอะไรบางอย่าง คุณอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาได้ (1 ปต. 5:7) พระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานของคุณโดยให้ “สันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจทุกอย่าง” (อ่านฟีลิปปี 4:6, 7) พระยะโฮวาจะให้พลังบริสุทธิ์ของพระองค์ที่มีพลังมากเพื่อช่วยให้คุณสงบใจ—กท. 5:22
7. เราควรอธิษฐานอย่างไร?
7 ตอนที่อธิษฐานถึงพระยะโฮวา ขอให้คุณระบายความในใจกับพระองค์ บอกพระองค์ว่าคุณเจอปัญหาอะไรอยู่และรู้สึกอย่างไร ถ้าปัญหาที่คุณเจอยังพอมีทางออก ก็ให้ขอสติปัญญาจากพระองค์เพื่อจะรู้ว่าคุณควรทำอะไร และขอกำลังจากพระองค์เพื่อคุณจะทำตามนั้น แต่ถ้าปัญหาที่เจอเป็นเรื่องที่คุณทำอะไรกับมันไม่ได้ ก็ให้ขอพระยะโฮวาช่วยคุณไม่ให้กังวลกับมันมากเกินไป ยิ่งคุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาอย่างเจาะจง คุณก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่าพระองค์ตอบคำอธิษฐานอย่างไร แต่ถ้าพระยะโฮวายังไม่ตอบคำอธิษฐานทันที ก็อย่าเพิ่งท้อใจ พระยะโฮวาไม่ได้แค่อยากให้คุณอธิษฐานอย่างเจาะจงเท่านั้น แต่อยากให้คุณอธิษฐานต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย—ลก. 11:8-10
8. เราควรพูดถึงเรื่องอะไรอีกเมื่อเราอธิษฐาน?
8 ตอนที่คุณระบายความกังวลกับพระยะโฮวา ขอให้พูดขอบคุณพระองค์ด้วย ถึงตอนนี้คุณกำลังเจอปัญหาอยู่แต่คงจะดีถ้าคุณพยายามคิดถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิตของคุณด้วย แต่ถ้าคุณบอกพระยะโฮวาไม่ถูกว่าคุณรู้สึกอย่างไร ถึงคุณจะพูดได้แค่ ‘พระยะโฮวาช่วยฉันด้วย!’ คุณก็มั่นใจได้ว่าพระองค์ก็จะตอบคำอธิษฐานนั้น—2 พศ. 18:31; รม. 8:26
9. เราควรทำอย่างไรถ้าเรารู้สึกกลัว?
9 (2) พึ่งสติปัญญาของพระยะโฮวา ไม่ใช่สติปัญญาของคุณเอง ในศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ชาวยูดาห์กลัวว่าชาวอัสซีเรียจะมาโจมตีแล้วจะต้องตกเป็นเชลย พวกเขาก็เลยขออียิปต์ให้มาช่วย (อสย. 30:1, 2) แต่พระยะโฮวาเตือนว่าถ้าพวกเขาทำอย่างนั้น พวกเขาจะต้องเจอสิ่งเลวร้ายแน่ ๆ (อสย. 30:7, 12, 13) พระยะโฮวาใช้อิสยาห์ให้ไปบอกพวกเขาว่าพวกเขาควรทำอะไรตอนที่รู้สึกกลัว พระยะโฮวาบอกว่า “ถ้าพวกเจ้ามีใจที่สงบและวางใจเรา พวกเจ้าก็จะมีความเข้มแข็ง”—อสย. 30:15ข
10. มีตอนไหนบ้างที่เราจะแสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวา?
10 มีหลายสถานการณ์ที่เราต้องแสดงว่าเราวางใจพระยะโฮวา เช่น สมมุติว่าคุณได้งานที่จะทำให้ได้เงินเยอะขึ้น แต่ว่าคุณต้องทำงานมากขึ้นและจะรับใช้พระยะโฮวาได้น้อยลง คุณจะทำอย่างไร? หรือถ้าคนที่ทำงานมาจีบคุณแต่เขาไม่ได้เป็นพยานฯ ที่รับบัพติศมาแล้ว คุณจะทำอย่างไร? หรือถ้าคนในครอบครัวยื่นคำขาดกับคุณว่า “จะเลือกครอบครัวหรือเลือกพระเจ้า?” คุณจะทำอย่างไร? ถ้าเจอเรื่องแบบนี้ คุณก็อาจจะตัดสินใจได้ยาก แต่พระยะโฮวาจะชี้นำคุณ (มธ. 6:33; 10:37; 1 คร. 7:39) คำถามก็คือ คุณไว้ใจพระองค์มากพอที่จะทำตามการชี้นำของพระองค์ไหม?
11. เราจะศึกษาเรื่องอะไรได้บ้างเพื่อจะสงบใจตอนที่เจอการต่อต้าน?
11 (3) เรียนจากตัวอย่างที่ดีและตัวอย่างที่ไม่ดี มีหลายเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้เห็นว่าความสงบใจและการวางใจพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญมาก ตอนที่คุณศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ให้สังเกตว่าอะไรที่ช่วยผู้รับใช้ของพระเจ้าให้สงบใจได้ตอนที่พวกเขาเจอการต่อต้านอย่างหนัก ตัวอย่างเช่น ตอนที่ศาลสูงสุดของชาวยิวสั่งให้พวกอัครสาวกเลิกประกาศ พวกเขาก็ไม่ได้กลัว แทนที่จะเป็นอย่างนั้นพวกเขาพูดด้วยความกล้าหาญว่า “พวกเราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (กจ. 5:29) และถึงจะถูกเฆี่ยนแต่พวกเขาก็ยังไม่กลัว เพราะอะไร? เพราะพวกเขารู้ว่าพระยะโฮวาอยู่ฝ่ายพวกเขาและพอใจพวกเขา พวกเขาก็เลยประกาศข่าวดีต่อไป (กจ. 5:40-42) สเทเฟนก็เหมือนกัน ถึงเขากำลังจะถูกฆ่าแต่เขาก็ยังสงบนิ่งจนคนอื่นเห็นว่า “หน้าของเขาเหมือนหน้าทูตสวรรค์” (กจ. 6:12-15) แต่ทำไมเขาถึงสงบใจได้ขนาดนั้น? เพราะเขามั่นใจว่าพระยะโฮวาพอใจในตัวเขา
12. จาก 1 เปโตร 3:14 และ 4:14 ทำไมเรายังมีความสุขได้ตอนที่ถูกข่มเหง?
12 พวกอัครสาวกมั่นใจว่าพระยะโฮวาอยู่กับพวกเขา เพราะพวกเขาได้พลังจากพระองค์และทำการอัศจรรย์ได้ (กจ. 5:12-16; 6:8) ถึงพระยะโฮวาไม่ได้ทำอย่างนั้นกับเราในตอนนี้ แต่พระองค์ก็รับรองกับเราในคัมภีร์ไบเบิลว่าเมื่อเราทนทุกข์เพราะทำสิ่งที่ถูกต้อง พระองค์ก็พอใจในตัวเราและจะให้พลังของพระองค์กับเรา (อ่าน 1 เปโตร 3:14; 4:14) แทนที่จะมัวแต่กังวลว่าจะทำอย่างไรถ้าเจอการข่มเหงหนักในอนาคต เราน่าจะพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้ตอนนี้เพื่อจะมั่นใจมากขึ้นว่าพระยะโฮวาสามารถช่วยเราและคุ้มครองเราได้จริง ๆ เราต้องวางใจในคำสัญญาของพระเยซูเหมือนที่สาวกในสมัยนั้นทำ ท่านสัญญาว่า “ผมจะให้คุณมีสติปัญญาและรู้ว่าจะพูดอะไรจนพวกที่รวมหัวกันต่อต้านคุณจะคัดค้านหรือโต้แย้งไม่ได้” และพระเยซูรับรองกับเราด้วยว่า “ให้อดทนจนถึงที่สุด แล้วคุณจะได้ชีวิต” (ลก. 21:12-19) และขออย่าลืมว่าพระยะโฮวาจำรายละเอียดทั้งหมดของผู้รับใช้ที่ตายอย่างซื่อสัตย์แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อยที่สุดของพวกเขา ฉะนั้น พระองค์จะปลุกพวกเขาแน่ ๆ
13. เราได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาตัวอย่างของคนที่ไม่สงบใจและไม่วางใจพระยะโฮวา?
13 เราสามารถเรียนจากตัวอย่างของคนที่ไม่สงบใจและไม่วางใจพระยะโฮวาได้ด้วย ตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เราไม่ทำผิดพลาดเหมือนกับพวกเขา เช่น ในช่วงต้นที่กษัตริย์อาสาแห่งยูดาห์เริ่มปกครอง เขาถูกโจมตีจากกองทัพที่ใหญ่มาก แต่เขาพึ่งพระยะโฮวา และพระองค์ก็อวยพรเขาให้เอาชนะกองทัพนั้นได้ (2 พศ. 14:9-12) แต่พอเขาเจอกองทัพของกษัตริย์บาอาชาแห่งอิสราเอลที่เล็กกว่านั้นมาก เขากลับไม่พึ่งพระยะโฮวาเหมือนเมื่อก่อน แต่ไปพึ่งกองทัพซีเรียแทน (2 พศ. 16:1-3) และในช่วงท้ายชีวิตตอนที่เขาป่วยหนัก เขาก็ไม่ได้พึ่งพระยะโฮวาเหมือนกัน—2 พศ. 16:12
14. เราเรียนอะไรได้จากความผิดพลาดของกษัตริย์อาสา?
14 ตอนแรกเมื่อกษัตริย์อาสาเจอปัญหา เขาก็พึ่งพระยะโฮวา แต่พอเวลาผ่านไป ตอนที่เขาเจอปัญหาอีก เขากลับพยายามแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเองและไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ถ้าดูเผิน ๆ แผนการของอาสาที่ไปขอความช่วยเหลือจากกองทัพซีเรียดูเหมือนว่าได้ผลดี แต่ก็แค่ชั่วคราว พระยะโฮวาบอกผู้พยากรณ์ให้ไปบอกอาสาว่า “เพราะท่านไปพึ่งกษัตริย์ซีเรีย ไม่ได้พึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน ท่านจะเอาชนะกองทัพกษัตริย์ซีเรียไม่ได้” (2 พศ. 16:7) เราต้องระวังที่จะไม่มั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนคิดว่าเราจัดการปัญหาทุกอย่างเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคำแนะนำของพระยะโฮวาที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนั้น แม้แต่ตอนที่เราเจออะไรบางอย่างที่ต้องตัดสินใจทันที เราก็ควรสงบใจและพึ่งพระยะโฮวา แล้วพระองค์ก็จะช่วยเราให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแน่นอน
15. เราน่าจะทำอะไรตอนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล?
15 (4) จำข้อคัมภีร์ เวลาคุณเจอข้อคัมภีร์ที่เน้นเกี่ยวกับการสงบใจและวางใจพระยะโฮวา ให้คุณพยายามจำข้อคัมภีร์เหล่านั้นให้ขึ้นใจ คุณอาจจะอ่านออกเสียง หรือจดเอาไว้และเอามาอ่านบ่อย ๆ พระยะโฮวาบอกโยชูวาว่าถ้าเขาอยากจะตัดสินใจได้อย่างฉลาดสุขุม เขาต้องอ่านออกเสียงข้อกฎหมายเบา ๆ เป็นประจำ สิ่งที่เขาอ่านจะช่วยให้เขาไม่กลัวตอนที่ต้องรับมือกับปัญหาที่เขาเจอ (ยชว. 1:8, 9) ถ้าคุณต้องเจอเรื่องที่อาจทำให้คุณรู้สึกกลัวหรือกังวล ข้อคัมภีร์ที่คุณเคยอ่านก็จะช่วยให้คุณมีความสงบใจได้เหมือนกัน—สด. 27:1-3; สภษ. 3:25, 26
16. พระยะโฮวาใช้พี่น้องในประชาคมอย่างไรเพื่อช่วยเราให้สงบใจและวางใจพระองค์?
16 (5) ใช้เวลากับพี่น้อง พระยะโฮวาใช้พี่น้องในประชาคมเพื่อช่วยเราให้สงบใจและวางใจพระองค์ ตอนที่เราไปประชุมเราได้ประโยชน์จากคำบรรยายและส่วนต่าง ๆ ในการประชุม และเราก็ได้ประโยชน์จากความคิดเห็นของคนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนั้น พอเราได้คุยกับพี่น้อง เราก็ได้กำลังใจมากขึ้น (ฮบ. 10:24, 25) ตอนที่เรากังวลแล้วระบายความรู้สึกกับเพื่อนที่สนิทในประชาคม เราก็รู้สึกสบายใจขึ้น “คำพูดดี ๆ” จากเพื่อนจะช่วยให้เรากังวลน้อยลงและมีกำลังใจ—สภษ. 12:25
17. จากฮีบรู 6:19 ความหวังเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าช่วยเราให้สงบใจได้อย่างไรตอนที่เจอความลำบาก?
17 (6) ทำให้ภาพความหวังของคุณชัดเจนเสมอ ความหวังเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า “เป็นเหมือนสมอเรือของชีวิต” ที่ช่วยเราสงบใจได้ตอนที่เจอความลำบากหรือตอนที่รู้สึกกังวล (อ่านฮีบรู 6:19) คุณจะทำให้ภาพความหวังของคุณชัดเจนเสมอ ถ้าคุณคิดถึงคำสัญญาของพระยะโฮวาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนั้นจะไม่มีอะไรให้คุณต้องกังวลอีกเลย (อสย. 65:17) ให้นึกภาพตัวคุณอยู่ในโลกใหม่ที่สงบสุข ตอนนั้นจะไม่มีสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่ทำให้คุณเครียด (มคา. 4:4) นอกจากนั้นให้คุณพยายามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก เมื่อคุณทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คุณก็ “แน่ใจได้ว่าความหวังของ [คุณ] จะเป็นจริงในที่สุด”—ฮบ. 6:11
18. เราอาจต้องเจออะไรในอนาคต? และเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร?
18 ยิ่งโลกนี้ใกล้จะถึงจุดจบมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเจอปัญหาที่ทำให้เครียดหรือกังวลมากขึ้น ข้อคัมภีร์ประจำปี 2021 สามารถช่วยเราให้รับมือกับปัญหาเหล่านั้นและสงบใจได้โดยวางใจพระยะโฮวาไม่ใช่กำลังของเราเอง ตลอดทั้งปีนี้ให้เราแสดงให้เห็นว่าเรามั่นใจในคำสัญญาของพระยะโฮวาที่บอกว่า “ถ้าพวกเจ้ามีใจที่สงบและวางใจเรา พวกเจ้าก็จะมีความเข้มแข็ง”—อสย. 30:15
เพลง 8 พระยะโฮวาเป็นที่หลบภัยของเรา
^ วรรค 5 ข้อคัมภีร์ประจำปี 2021 เน้นว่าการวางใจพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะตอนที่เรากังวลหรือเจอเรื่องเครียด ๆ ทั้งในตอนนี้และในอนาคต บทความนี้เราจะดูว่าเราจะเอาคำแนะนำจากข้อคัมภีร์ประจำปีนี้มาใช้ได้อย่างไร
^ วรรค 5 พี่น้องที่ซื่อสัตย์ของเราบางคนเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคแพนิค อาการแบบนี้ไม่ใช่ความกังวลที่พระเยซูกำลังพูดถึงแต่เป็นปัญหาสุขภาพ
^ วรรค 63 คำอธิบายภาพ (1) พี่น้องหญิงอธิษฐานตลอดทั้งวันเกี่ยวกับเรื่องที่เธอกังวล
^ วรรค 65 คำอธิบายภาพ (2) ตอนพักเที่ยงเธออ่านคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะได้สติปัญญาจากพระเจ้า
^ วรรค 67 คำอธิบายภาพ (3) เธอคิดใคร่ครวญตัวอย่างที่ดีและตัวอย่างที่ไม่ดีในคัมภีร์ไบเบิล
^ วรรค 69 คำอธิบายภาพ (4) เธอแปะข้อคัมภีร์ที่รู้สึกได้กำลังใจและอยากจะจำให้ได้ไว้บนตู้เย็น
^ วรรค 71 คำอธิบายภาพ (5) เธอมีความสุขที่ได้ไปรับใช้กับเพื่อน
^ วรรค 73 คำอธิบายภาพ (6) เธอทำให้ภาพความหวังชัดเจนเสมอโดยคิดถึงอนาคต
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)