บทความศึกษา 34
คุณคือส่วนสำคัญของประชาคมของพระยะโฮวา!
“ในร่างกายหนึ่งมีอวัยวะหลายส่วน และถึงแม้จะมีอวัยวะหลายส่วน แต่อวัยวะทั้งหมดก็ประกอบกันเป็นร่างกายเดียว พระคริสต์ก็เป็นอย่างนั้นแหละ”—1 คร. 12:12
เพลง 101 ทำงานร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ใจความสำคัญ *
1. เรามีสิทธิพิเศษอะไร?
เป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้เป็นส่วนของประชาคมของพระยะโฮวา เรามีความสุขและรู้สึกสงบใจที่ได้นมัสการพระองค์ด้วยกันกับพี่น้องในประชาคม แล้วคุณล่ะ คุณมีบทบาทอะไรในประชาคม?
2. เปาโลใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบอะไรในจดหมายที่เขาเขียน?
2 ในจดหมายหลายฉบับที่เปาโลได้รับการดลใจให้เขียน เขาพูดถึงบทบาทของแต่ละคนในประชาคม เขาเปรียบเทียบประชาคมเป็นเหมือนกับร่างกาย และพี่น้องแต่ละคนเป็นเหมือนกับอวัยวะแต่ละส่วน—รม. 12:4-8; 1 คร. 12:12-27; อฟ. 4:16
3. สามบทเรียนอะไรที่เราจะคุยกันในบทความนี้?
3 ไม่ว่าเราจะมีเงินมากเท่าไร มาจากครอบครัวแบบไหน เรียนสูงมากแค่ไหน หรือมาจากวัฒนธรรมอะไร เราทุกคนก็มีค่าและเป็นส่วนสำคัญของประชาคม เราทุกคนสามารถช่วยประชาคมให้เข้มแข็งขึ้นได้ ในบทความนี้เราจะมาดู 3 บทเรียนสำคัญที่เราได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบที่เปาโลใช้ (1) เราจะเรียนว่าเราแต่ละคนเป็นส่วนสำคัญของประชาคม (2) เราจะทำอย่างไรถ้ารู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเราเองสำคัญในประชาคม และ (3) ทำไมเราต้องพยายามทำตามบทบาทหน้าที่ในประชาคมอย่างเต็มที่
เราแต่ละคนมีบทบาทในประชาคมของพระยะโฮวา
4. โรม 12:4, 5 สอนอะไรเรา?
4 บทเรียนแรกที่เราได้เรียนจากตัวอย่างที่เปาโลใช้ก็คือ เราแต่ละคนเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวพระยะโฮวา เปาโลเริ่มพูดถึงตัวอย่างนี้โดยบอกว่า “เหมือนกับที่ร่างกายของเรามีอวัยวะหลายส่วน และอวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น ถึงแม้เรามีกันหลายคน แต่ก็เป็นเหมือนร่างกายเดียวที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ และเป็นเหมือนอวัยวะของกันและกัน” (รม. 12:4, 5) เปาโลหมายถึงอะไร? ถึงเราจะมีบทบาทต่างกัน แต่เราทุกคนมีค่าและสำคัญกับประชาคม
5. พระยะโฮวาให้ “ของขวัญ” อะไรกับประชาคม?
5 เมื่อพูดถึงคนที่สำคัญในประชาคม คุณอาจจะคิดถึงคนที่นำหน้าทันที (1 ธส. 5:12; ฮบ. 13:17) พระยะโฮวาได้ให้ “ของขวัญที่เป็นมนุษย์” กับประชาคมของพระองค์โดยทางพระเยซู (อฟ. 4:8) “ของขวัญที่เป็นมนุษย์” เหล่านี้รวมไปถึงคณะกรรมการปกครอง ผู้ช่วยคณะกรรมการปกครอง คณะกรรมการสาขา ผู้ดูแลหมวด ครูสอนในโรงเรียนขององค์การ ผู้ดูแลในประชาคม และผู้ช่วยงานรับใช้ พลังบริสุทธิ์แต่งตั้งพี่น้องชายเหล่านี้เพื่อดูแลแกะที่มีค่าของพระยะโฮวา และช่วยให้ประชาคมเข้มแข็งขึ้น—1 ปต. 5:2, 3
6. จาก 1 เธสะโลนิกา 2:6-8 พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งจากพลังบริสุทธิ์พยายามทำอะไร?
6 พลังบริสุทธิ์แต่งตั้งพี่น้องชายที่มีคุณสมบัติให้ทำหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ เหมือนกับอวัยวะต่าง ๆ เช่นมือและเท้าที่ทำงานร่วมกันเพื่อทั้งร่างกายจะได้รับประโยชน์ พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งจากพลังบริสุทธิ์ก็กำลังทำงานหนักเพื่อช่วยทั้งประชาคมให้ได้รับประโยชน์ด้วย พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อให้ใครมายกย่อง แต่พวกเขาทำเพื่อช่วยพี่น้องให้เข้มแข็งขึ้น (อ่าน 1 เธสะโลนิกา 2:6-8) เราขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ ที่ให้พี่น้องชายที่ไม่เห็นแก่ตัวเหล่านี้กับเรา
7. คนที่รับใช้เต็มเวลาได้รับพรอะไรบ้าง?
7 พี่น้องบางคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมิชชันนารี ไพโอเนียร์พิเศษ หรือไพโอเนียร์ประจำ จริง ๆ แล้วมีพี่น้องหลายคนทั่วโลกกำลังทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในงานรับใช้เต็มเวลา การที่พวกเขาทำอย่างนี้ทำให้พวกเขาสามารถช่วยให้หลายคนเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ได้ ถึงผู้รับใช้เต็มเวลาส่วนใหญ่จะไม่มีเงินเยอะหรือข้าวของมากมาย แต่พระยะโฮวาก็อวยพรพวกเขาหลายอย่าง (มก. 10:29, 30) เรารักพี่น้องเหล่านี้มาก และเราเห็นค่าที่มีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม
8. ทำไมพี่น้องทุกคนที่เป็นผู้ประกาศข่าวดีถึงสำคัญสำหรับพระยะโฮวา?
8 มีแค่พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งและพี่น้องที่รับใช้เต็มเวลาเท่านั้นไหมที่เป็นคนสำคัญในประชาคม? ไม่ใช่ ที่จริงพี่น้องทุกคนที่เป็นผู้ประกาศข่าวดีเป็นคนสำคัญสำหรับพระเจ้าและประชาคม (รม. 10:15; 1 คร. 3:6-9) ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประชาคมก็คือ การไปสอนคนให้เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ (มธ. 28:19, 20; 1 ทธ. 2:4) พี่น้องทุกคนที่กำลังไปประกาศไม่ว่าจะรับบัพติศมาแล้วหรือเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมากำลังพยายามให้งานนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต—มธ. 24:14
9. ทำไมเรามองว่าพี่น้องหญิงมีค่า?
9 พระยะโฮวาให้เกียรติพี่น้องหญิงโดยให้งานที่สำคัญในประชาคมกับพวกเธอ พระองค์เห็นค่าพี่น้องหญิงที่รับใช้พระองค์อย่างภักดีไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นแม่ม่าย หรือเป็นโสด คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงตัวอย่างของผู้หญิงหลายคนที่ทำให้พระยะโฮวาพอใจ พวกเธอเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเชื่อ สติปัญญา ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญ ความมีน้ำใจ และการทำสิ่งที่ดีต่าง ๆ (ลก. 8:2, 3; กจ. 16:14, 15; รม. 16:3, 6; ฟป. 4:3; ฮบ. 11:11, 31, 35) เราขอบคุณพระยะโฮวามากที่ให้มีพี่น้องหญิงที่มีคุณลักษณะเหล่านี้ด้วยเหมือนกันในประชาคมของเรา
10. ทำไมเราเห็นค่าผู้สูงอายุ?
10 เราดีใจที่มีผู้สูงอายุหลายคนในประชาคม พวกเขาบางคนรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ภักดีมาทั้งชีวิต ส่วนบางคนอาจจะเพิ่งเรียนความจริงได้ไม่นาน แต่ไม่ว่าอย่างไร พวกเขาบางคนอาจต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพหลายอย่างเพราะอายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาทำงานในประชาคมหรือรับใช้ได้ไม่มาก แต่พวกเขาก็พยายามรับใช้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ และใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดที่พวกเขามีเพื่อให้กำลังใจและฝึกคนอื่น พวกเราได้ประโยชน์หลายอย่างจากประสบการณ์ของพวกเขา พวกเขามีค่าสำหรับพระยะโฮวาและสำหรับเราจริง ๆ—สภษ. 16:31
11-12. คุณเคยได้กำลังใจอย่างไรจากเด็กและวัยรุ่นในประชาคม?
11 ขอให้คิดถึงเด็กและวัยรุ่นด้วย พวกเขาเติบโตในโลกของซาตานที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดที่ไม่ดีของมัน นี่ทำให้พวกเขาต้องสู้กับปัญหาหลายอย่าง (1 ยน. 5:19) แต่พวกเราทุกคนได้รับกำลังใจเมื่อเด็กและวัยรุ่นออกความคิดเห็นในการประชุม ไปประกาศ และพูดปกป้องความเชื่อของพวกเขาอย่างกล้าหาญ พวกคุณที่เป็นเด็กและวัยรุ่น พวกคุณคือส่วนสำคัญของประชาคมของพระยะโฮวา—สด. 8:2
12 พี่น้องหลายคนไม่มั่นใจว่าเขาคือส่วนสำคัญของประชาคม อะไรจะช่วยให้เราแต่ละคนรู้สึกว่าเราเป็นส่วนสำคัญของประชาคม? ให้เรามาดูกัน
คุณคือส่วนสำคัญของประชาคม
13-14. ทำไมบางคนถึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าในประชาคม?
13 ให้เรามาดูบทเรียนที่ 2 ที่เราได้จากตัวอย่างที่เปาโลใช้ เปาโลทำให้เราคิดถึงปัญหาที่หลายคนเจอในทุกวันนี้ พวกเขาไม่มั่นใจว่าตัวเองมีค่าและเป็นส่วนสำคัญของประชาคม เปาโลเขียนว่า “ถึงเท้าจะพูดว่า ‘เพราะฉันไม่ใช่มือ ฉันเลยไม่ใช่ส่วนของร่างกายนี้’ เท้าก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ดี ถึงหูจะพูดว่า ‘เพราะฉันไม่ใช่ตา ฉันเลยไม่ใช่ส่วนของร่างกายนี้’ หูก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ดี” (1 คร. 12:15, 16) เราได้เรียนอะไรจากคำพูดของเปาโล?
14 ถ้าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในประชาคม คุณอาจจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า พี่น้องบางคนมีพรสวรรค์ในการสอน เป็นคนบริหารเก่ง หรือพูดให้กำลังใจได้ดี และคุณเองอาจรู้สึกว่าคุณเก่งไม่เท่าเขา จริง ๆ แล้วถ้าคุณรู้สึกแบบนั้นก็แสดงว่าคุณเจียมตัวและเป็นคนถ่อม (ฟป. 2:3) แต่ต้องระวัง ถ้าคุณชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เก่ง คุณอาจท้อใจและผิดหวังกับตัวเองได้ เหมือนในตัวอย่างที่เปาโลใช้ คุณอาจถึงกับรู้สึกว่าคุณไม่สำคัญกับประชาคมเลย แต่อะไรจะช่วยคุณให้รับมือกับความรู้สึกแบบนี้ได้?
15. จาก 1 โครินธ์ 12:4-11 เราต้องจำอะไรไว้เกี่ยวกับความสามารถที่เรามี?
15 ขอให้ลองคิดถึงเรื่องนี้ พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์กับคริสเตียนในยุคแรกเพื่อพวกเขาจะมีความสามารถพิเศษและทำการอัศจรรย์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสามารถพิเศษแบบเดียวกัน (อ่าน 1 โครินธ์ 12:4-11) ถึงพระยะโฮวาจะให้แต่ละคนมีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน แต่พวกเขาทุกคนมีค่ามากสำหรับพระองค์ ในทุกวันนี้พระยะโฮวาไม่ได้ให้พลังบริสุทธิ์เพื่อเราแต่ละคนจะมีความสามารถพิเศษหรือทำการอัศจรรย์ได้เหมือนกับคริสเตียนในยุคแรก แต่หลักการก็ยังเหมือนเดิมคือ ถึงเราจะไม่ได้มีความสามารถหรือพรสวรรค์เหมือนกัน แต่เราทุกคนมีค่ามากสำหรับพระยะโฮวา
16. เราต้องทำตามคำแนะนำอะไรของเปาโล?
16 แทนที่เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้องคนอื่น เราต้องทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าที่บอกว่า “ให้แต่ละคนตรวจสอบดูสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วเขาจะภูมิใจกับตัวเอง และอย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น”—กท. 6:4
17. ถ้าเราทำตามคำแนะนำของเปาโล เราจะได้ประโยชน์อะไร?
17 ถ้าเราทำตามคำแนะนำของเปาโลและหันกลับมามองตัวเอง เราอาจจะเห็นว่าเราก็มีพรสวรรค์และความสามารถอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลคนหนึ่งอาจจะไม่ได้สอนบนเวทีเก่ง แต่ก็อาจจะสอนนักศึกษาเก่งและช่วยหลายคนให้เข้ามาเป็นสาวก หรือเขาอาจจะไม่ได้บริหารเรื่องต่าง ๆ ในประชาคมได้ดีเหมือนผู้ดูแลคนอื่น แต่เขาก็เป็นคนอ่อนโยน เวลาพี่น้องมีปัญหาก็ชอบไปปรึกษาเขาเพราะเขาเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย หรือเขาอาจจะเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้ดูแลที่มีน้ำใจ (ฮบ. 13:2, 16) พอเราเห็นว่าตัวเองก็มีจุดเด่นและมีความสามารถด้วย เราน่าจะรู้สึกดีกับตัวเองที่ได้รู้ว่าเราก็สามารถช่วยประชาคมได้ด้วยเหมือนกัน และเราจะไม่อิจฉาพี่น้องที่มีความสามารถอย่างอื่นที่เราไม่มี
18. เราจะพัฒนาความสามารถในการรับใช้ของเราได้อย่างไร?
18 ไม่ว่าเราจะมีบทบาทอะไรในประชาคม เราทุกคนก็ต้องพัฒนาความสามารถในการรับใช้ของตัวเอง เพื่อที่เราจะทำอย่างนั้นได้พระยะโฮวาฝึกอบรมเราผ่านทางองค์การของพระองค์ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมกลางสัปดาห์ เราได้รับคำแนะนำหลายอย่างที่ช่วยให้เรารู้ว่าเราจะรับใช้ดีขึ้นได้อย่างไร คุณกำลังพยายามเอาคำแนะนำเหล่านั้นไปใช้จริง ๆ ไหม?
19. ถ้าคุณอยากเข้าโรงเรียนผู้ประกาศราชอาณาจักร คุณต้องทำอย่างไร?
19 การฝึกอบรมอีกอย่างหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมากก็คือโรงเรียนผู้ประกาศราชอาณาจักร (SKE) พี่น้องทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่รับใช้เต็มเวลาอายุระหว่าง 23-65 ปีสามารถสมัครเข้าโรงเรียนนี้ได้ แต่คุณอาจจะรู้สึกว่าเป้าหมายนี้มันไกลเกินเอื้อม แทนที่จะมัวเอาแต่คิดว่าทำไมคุณถึงเข้าโรงเรียนนี้ไม่ได้ ให้คุณพยายามเขียนออกมาว่าทำไมคุณถึงอยากเข้าโรงเรียนนี้ และวางแผนว่าคุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะเข้าโรงเรียนนี้ได้ ถ้าคุณพยายามเต็มที่และด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา สิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้ไกลเกินเอื้อมสำหรับคุณเลย
ใช้ความสามารถของคุณเพื่อช่วยประชาคมให้เข้มแข็งขึ้น
20. เราเรียนอะไรได้จากโรม 12:6-8?
20 บทเรียนที่ 3 ที่เราได้จากตัวอย่างที่เปาโลใช้อยู่ในโรม 12:6-8 (อ่าน) ในข้อคัมภีร์นี้ เปาโลพูดอีกครั้งว่าแต่ละคนในประชาคมมีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ตอนนี้เขาเน้นว่าเราทุกคนควรใช้ความสามารถที่เรามีเพื่อช่วยประชาคมให้เข้มแข็งขึ้น
21-22. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของโรเบิร์ตและเฟลีเช?
21 ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องชายที่ชื่อโรเบิร์ต * หลังจากที่เขารับใช้ในต่างประเทศ เขาก็ถูกมอบหมายให้กลับมารับใช้ที่เบเธลในประเทศบ้านเกิดของเขา ถึงพี่น้องจะบอกว่าที่เขาถูกเปลี่ยนงานมอบหมายไม่ใช่เพราะเขาทำอะไรผิด แต่โรเบิร์ตก็ยังบอกว่า “ผมรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวและทำงานมอบหมายไม่สำเร็จอยู่หลายเดือน มีหลายครั้งที่ผมคิดอยากจะออกจากเบเธลด้วยซ้ำ” แต่ในที่สุดเขาก็กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง เขาทำได้อย่างไร? เพื่อนผู้ดูแลคนหนึ่งบอกเขาว่า พระยะโฮวาฝึกเราในงานมอบหมายที่ผ่านมาเพื่อเราจะเป็นประโยชน์มากขึ้นกับงานมอบหมายในตอนนี้ โรเบิร์ตรู้ว่าเขาต้องเลิกยึดติดกับอดีตและต้องพยายามคิดถึงสิ่งที่เขาทำได้ในตอนนี้
22 พี่น้องเฟลีเช อิพิสโคโพก็รู้สึกคล้าย ๆ กัน เขากับภรรยาจบโรงเรียนกิเลียดในปี 1956 และรับใช้เป็นผู้ดูแลหมวดในโบลิเวีย แต่ในปี 1964 ภรรยาของเขาก็ตั้งท้อง เฟลีเชบอกว่า “มันยากมากที่จะทิ้งงานมอบหมายที่เรารัก ผมยอมรับเลยว่าผมเสียเวลามานั่งจมอยู่กับความผิดหวังเป็นปี แต่พระยะโฮวาก็ช่วยผมให้เปลี่ยนความคิดและสนใจกับงานมอบหมายใหม่ที่ได้เป็นพ่อแม่” คุณรู้สึกเหมือนกับโรเบิร์ตหรือเฟลีเชไหม? คุณรู้สึกท้อใจหรือผิดหวังไหมที่ไม่ได้ทำงานมอบหมายที่เคยทำอีกต่อไป? ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้น คุณจะมีความสุขมากขึ้นได้ถ้าคุณเปลี่ยนมุมมองและสนใจกับสิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้เพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาและพี่น้องของคุณ ให้ขยันทำงานมอบหมายของคุณ ใช้ความสามารถที่คุณมีเพื่อช่วยคนอื่น แล้วคุณจะมีความสุขที่ได้ช่วยประชาคมให้เข้มแข็งขึ้น
23. เราควรใช้เวลาทำอะไร? และเราจะคุยอะไรกันในบทความหน้า?
23 เราทุกคนมีค่าสำหรับพระยะโฮวา พระองค์อยากให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระองค์ ถ้าเราใช้เวลาคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยพี่น้องให้เข้มแข็งขึ้นและพยายามทำตามนั้นจริง ๆ เราก็จะไม่รู้สึกว่าเราไม่ใช่ส่วนสำคัญของประชาคม แล้วเราควรมองคนอื่นในประชาคมอย่างไร? เราจะแสดงว่าเรารักและให้เกียรติคนอื่น ๆ ในประชาคมได้อย่างไร? เราจะคุยเรื่องนี้กันในบทความหน้า
เพลง 24 ไปที่ภูเขาของพระยะโฮวา
^ วรรค 5 เราทุกคนอยากมีค่าสำหรับพระยะโฮวา แต่หลายครั้งเราอาจสงสัยว่าเราจะเป็นประโยชน์กับพระองค์ได้อย่างไร ในบทความนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าเราทุกคนมีค่าและเป็นส่วนสำคัญของประชาคม
^ วรรค 21 บางชื่อเป็นชื่อสมมุติ
^ วรรค 62 คำอธิบายภาพ รูปภาพเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนประชุม ระหว่างประชุม และหลังประชุม ภาพที่ 1 ผู้ดูแลต้อนรับผู้สนใจ พี่น้องชายที่เป็นวัยรุ่นกำลังเตรียมไมโครโฟนสำหรับการประชุม พี่น้องหญิงคุยกับผู้สูงอายุ ภาพที่ 2 พี่น้องหลายคนไม่ว่าอายุน้อยหรืออายุมากยกมือตอบในการศึกษาหอสังเกตการณ์ ภาพที่ 3 สามีภรรยาช่วยทำความสะอาดหอประชุม แม่ช่วยลูกเอาเงินใส่ในกล่องบริจาค พี่น้องชายที่เป็นวัยรุ่นดูแลหนังสือของประชาคม ส่วนพี่น้องชายอีกคนหนึ่งให้กำลังใจพี่น้องหญิงที่สูงอายุ
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)