บทความศึกษา 32
เดินกับพระเจ้าด้วยความถ่อมและความเจียมตัว
“ใช้ชีวิตตามแนวทางของพระเจ้า [“เดินกับพระเจ้า,” เชิงอรรถ] ด้วยความเจียมตัว”—มคา. 6:8
เพลง 31 เดินกับพระเจ้า
ใจความสำคัญ *
1. ดาวิดพูดถึงความถ่อมของพระยะโฮวาอย่างไร?
เราบอกได้จริง ๆ ไหมว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ถ่อม? ใช่ เราบอกอย่างนั้นได้ ดาวิดบอกว่า “พระองค์ช่วยให้ผมพ้นภัยด้วยโล่ของพระองค์ เพราะพระองค์ถ่อมตัวลง ผมจึงยิ่งใหญ่ขึ้น” (2 ซม. 22:36; สด. 18:35) ตอนที่ดาวิดเขียนข้อนี้เขาคงนึกถึงเหตุการณ์ตอนที่ซามูเอลมาที่บ้านเพื่อที่จะแต่งตั้งกษัตริย์อิสราเอลคนใหม่ ทั้งที่ ๆ ดาวิดมีพี่ชาย 7 คนและเขาเป็นคนสุดท้อง แต่พระยะโฮวาก็เลือกเขาเป็นกษัตริย์แทนซาอูล—1 ซม. 16:1, 10-13
2. เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
2 ดาวิดคงเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้เขียนสดุดีคนหนึ่งพูดถึงพระยะโฮวาว่า “พระองค์ก้มลงมาดูท้องฟ้าและโลก และยกคนต่ำต้อยขึ้นจากดิน พระองค์ยกคนจนขึ้น . . . แล้วให้เขานั่งกับชนชั้นสูง” (สด. 113:6-8) บทความนี้เราจะมาดูว่า เราได้บทเรียนที่สำคัญอะไรเกี่ยวกับความถ่อมของพระยะโฮวา แล้วเราจะดูด้วยว่าตัวอย่างของซาอูล ดาเนียล และพระเยซูสอนเราอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องความถ่อมและความเจียมตัว
เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระยะโฮวา?
3. พระยะโฮวาปฏิบัติกับเราอย่างไร? และนี่แสดงให้เห็นอะไร?
3 พระยะโฮวาแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่ถ่อมโดยวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ พระยะโฮวาให้เราได้นมัสการพระองค์ แต่ไม่ใช่แค่นั้น พระองค์ยังมองว่าเราเป็นเพื่อนด้วย (สด. 25:14) เพื่อที่เราจะเป็นเพื่อนกับพระองค์ได้ พระองค์เป็นฝ่ายริเริ่มโดยสละชีวิตลูกชายเพื่อไถ่บาปให้พวกเรา พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่เมตตาและเห็นอกเห็นใจเราจริง ๆ
4. พระยะโฮวาให้อะไรเรา? และทำไม?
4 อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ถ่อมคือ ถ้าพระองค์จะสร้างเราให้ใช้ชีวิตตามคำสั่งโดยไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรเลย พระองค์ก็ทำได้ แต่พระยะโฮวาสร้างเราตามแบบของพระองค์และให้เรามีอิสระที่จะเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน ถึงเราจะเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อยแต่สิ่งที่เราเลือกก็สำคัญกับพระยะโฮวามากจริง ๆ พระองค์อยากให้เราเลือกรับใช้พระองค์เพราะเรารักพระองค์ และมองว่าการเชื่อฟังพระองค์เป็นประโยชน์กับเราเสมอ (ฉธบ. 10:12; อสย. 48:17, 18) เราขอบคุณจริง ๆ ที่พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ถ่อมแบบนี้
5. พระยะโฮวาสอนเราอย่างไรให้เป็นคนถ่อม? (ดูภาพหน้าปก)
5 พระยะโฮวาสอนเราให้เป็นคนถ่อมโดยวิธีที่พระองค์ปฏิบัติกับเรา พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ฉลาดที่สุดในเอกภพและไม่จำเป็นต้องให้ใครมาแนะนำพระองค์ แต่พระองค์ก็เต็มใจทำงานร่วมกับคนอื่นและยอมรับฟังข้อเสนอแนะของพวกเขา ตัวอย่างเช่น พระองค์ยอมให้พระเยซูช่วยสร้างสิ่งต่าง ๆ (สภษ. 8:27-30; คส. 1:15, 16) และถึงพระยะโฮวาจะเป็นพระเจ้าที่มีพลังอำนาจสูงสุดและไม่จำเป็นต้องมีใครมาช่วย แต่พระองค์ก็ให้หน้าที่รับผิดชอบกับคนอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น พระองค์แต่งตั้งพระเยซูให้เป็นกษัตริย์ในรัฐบาลของพระองค์ และแต่งตั้ง 144,000 คนให้ร่วมปกครองกับท่าน (ลก. 12:32) ถึงพระยะโฮวาฝึกพระเยซูให้เป็นกษัตริย์และมหาปุโรหิต และฝึกคนที่จะปกครองกับพระเยซูให้ทำงานมอบหมายของพวกเขา พระองค์ก็ไม่ได้ควบคุมการทำงานของพวกเขาในทุกรายละเอียด แต่ไว้ใจว่าพวกเขาจะทำให้ความต้องการของพระองค์สำเร็จ—ฮบ. 5:8, 9; วว. 5:10
6-7. หัวหน้าครอบครัว ผู้ดูแล และพ่อแม่จะเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
6 ถ้าพ่อบนสวรรค์ของเราที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยยังมอบหน้าที่รับผิดชอบให้คนอื่น เราก็ยิ่งต้องทำเหมือนกันด้วย คุณเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้ดูแลในประชาคมไหม? ขอให้คุณเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาที่ให้หน้าที่รับผิดชอบกับคนอื่น และพยายามไม่เข้าไปควบคุมการทำงานของพวกเขาในทุกรายละเอียดหรือเจ้ากี้เจ้าการกับพวกเขา ถ้าคุณเลียนแบบพระยะโฮวา นอกจากงานของคุณจะเสร็จแล้ว คุณยังได้ฝึกคนอื่นและช่วยพวกเขาให้มีความมั่นใจมากขึ้นด้วย (อสย. 41:10) คนที่มีอำนาจเรียนอะไรได้อีกจากตัวอย่างของพระยะโฮวา?
7 คัมภีร์ไบเบิลทำให้เห็นว่าพระยะโฮวาสนใจฟังความคิดเห็นของทูตสวรรค์ที่เป็นลูก ๆ ของพระองค์ (1 พก. 22:19-22) คนที่เป็นพ่อแม่ คุณจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไร? ให้คุณลองถามความคิดเห็นของลูก ๆ และถ้าเห็นว่าโอเค ก็ขอให้คุณลองทำตามนั้น
8. พระยะโฮวาอดทนกับอับราฮัมและซาราห์อย่างไร?
8 อีกวิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาแสดงความถ่อมก็คือ พระองค์อดทน พระองค์อดทนกับผู้รับใช้ที่สงสัยในการตัดสินใจของพระองค์ ถึงอับราฮัมจะบอกว่าสิ่งที่พระยะโฮวาทำกับเมืองโสโดมและโกโมราห์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่พระองค์ก็อดทนฟังเขา (ปฐก. 18:22-33) และถึงซาราห์จะหัวเราะตอนที่พระยะโฮวาสัญญาว่าจะให้เธอมีลูกตอนแก่ แต่พระยะโฮวากลับให้เกียรติเธอ พระองค์ไม่ได้โกรธและไม่ได้แสดงว่าไม่พอใจเธอ—ปฐก. 18:10-14
9. คนที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ดูแลในประชาคมจะเรียนจากตัวอย่างของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
9 คนที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ดูแลในประชาคม คุณจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระยะโฮวา? คุณจะทำอย่างไรถ้าลูก ๆ หรือพี่น้องในประชาคมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของคุณ? คุณจะรีบบอกทันทีว่าความคิดของคุณถูกและความคิดของพวกเขาผิดไหม? หรือคุณจะพยายามเข้าใจความคิดของพวกเขา? ถ้าคนที่มีอำนาจพยายามเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวา คนในครอบครัวหรือพี่น้องในประชาคมก็จะได้รับประโยชน์แน่ ๆ จนถึงตอนนี้เราได้เรียนหลายอย่างแล้วเกี่ยวกับความถ่อมของพระยะโฮวา ตอนนี้ให้เรามาดูว่า เราจะเรียนอะไรได้บ้างจากตัวอย่างของคนอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับความเจียมตัว
เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของคนอื่น ๆ?
10. พระยะโฮวาใช้ตัวอย่างของคนอื่นสอนเราอย่างไร?
10 พระยะโฮวา “ครูองค์ยิ่งใหญ่” ให้มีหลายตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อสอนเรา (อสย. 30:20, 21) เราจะเรียนตัวอย่างเหล่านี้ได้โดยคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคนที่แสดงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่พระเจ้าพอใจ เช่นความเจียมตัว นอกจากนั้น เราจะเรียนได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้แสดงคุณลักษณะที่ดีเหล่านั้น—สด. 37:37; 1 คร. 10:11
11. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างที่ไม่ดีของซาอูล?
11 ขอให้เราคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกษัตริย์ซาอูล ทีแรกเขาเป็นคนเจียมตัว เขารู้ว่าตัวเองมีขีดจำกัดและไม่แน่ใจด้วยว่าตัวเองจะทำหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นได้ไหม (1 ซม. 9:21; 10:20-22) แต่พอเขาเป็นกษัตริย์ เขาก็กลายเป็นคนหยิ่งและทำเกินสิทธิ์ เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาอดทนรอผู้พยากรณ์ซามูเอลไม่ไหว แทนที่เขาจะเจียมตัวและไว้ใจว่าพระยะโฮวาจะดูแลประชาชนของพระองค์ เขากลับถวายเครื่องบูชาเผาทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำแบบนั้น นี่เลยทำให้พระยะโฮวาไม่พอใจเขา และถอดเขาออกจากการเป็นกษัตริย์ (1 ซม. 13:8-14) ถ้าเราอยากเป็นคนฉลาด เราต้องเรียนจากตัวอย่างที่ไม่ดีนี้และไม่ทำเกินสิทธิ์
12. ดาเนียลแสดงความเจียมตัวอย่างไร?
12 ดาเนียลเป็นตัวอย่างที่ดี เขาไม่เหมือนกับซาอูล ดาเนียลรับใช้พระยะโฮวาด้วยความถ่อมและความเจียมตัวตลอดชีวิตของเขา เขาขอการชี้นำจากพระยะโฮวาเสมอ มีครั้งหนึ่งพระยะโฮวาใช้ดาเนียลให้อธิบายความฝันของเนบูคัดเนสซาร์ว่าหมายถึงอะไร ดาเนียลไม่ได้บอกว่าที่เขาทำได้ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะความสามารถของเขาเอง เขายกย่องพระยะโฮวา และให้ความดีความชอบทั้งหมดกับพระองค์ (ดนล. 2:26-28) บทเรียนสำหรับเราคืออะไร? ถ้าพี่น้องชอบที่เราทำส่วนได้ดีหรือถ้าเราประสบความสำเร็จในงานรับใช้ เราต้องจำไว้ว่าเราต้องยกย่องพระยะโฮวา และยอมรับด้วยความเจียมตัวว่าถ้าพระยะโฮวาไม่ช่วย เราคงทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แน่ ๆ (ฟป. 4:13) ถ้าเราทำแบบนั้น เราก็กำลังเลียนแบบพระเยซูด้วย เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
13. เราเห็นความเจียมตัวของพระเยซูอย่างไรจากคำพูดของท่านในยอห์น 5:19, 30?
13 ถึงพระเยซูจะเป็นลูกที่สมบูรณ์แบบของพระเจ้า แต่ท่านก็พึ่งพระยะโฮวาเสมอ (อ่านยอห์น 5:19, 30) พระเยซูไม่เคยคิดที่จะแย่งอำนาจจากพ่อของท่าน ฟีลิปปี 2:6 บอกว่า “ท่านไม่เคยคิดจะชิงอำนาจเพื่อจะมีฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้า” พระเยซูเป็นลูกที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ ท่านรู้ว่าท่านมีขีดจำกัดและยอมรับอำนาจของพ่อท่านเสมอ
14. พระเยซูทำอย่างไรตอนที่ถูกขอให้ทำสิ่งที่ท่านไม่มีสิทธิ์จะทำ?
14 ให้เรามาดูว่าพระเยซูทำอย่างไรตอนที่สาวกยากอบกับยอห์นและแม่ของพวกเขามาขอสิทธิพิเศษที่พระเยซูไม่มีสิทธิ์จะให้ พระเยซูตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า มีแต่พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์เท่านั้นที่เป็นคนตัดสินใจว่า ใครจะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของท่านในรัฐบาลของพระเจ้า (มธ. 20:20-23) นี่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจียมตัวจริง ๆ ท่านยอมรับว่าตัวเองมีขีดจำกัด และไม่เคยทำอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่พระยะโฮวาสั่ง (ยน. 12:49) ดังนั้น เราจะเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระเยซู?
15-16. เราจะทำตามคำแนะนำที่บอกไว้ใน 1 โครินธ์ 4:6 ได้อย่างไร?
15 เราเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูเรื่องการเจียมตัวได้โดยทำตามหลักการที่บอกไว้ใน 1 โครินธ์ 4:6 ที่บอกว่า “อย่าเลยขอบเขตที่เขียนบอกไว้” ดังนั้น เมื่อมีคนมาขอคำแนะนำจากเรา เราต้องไม่รีบให้คำแนะนำ หรือให้คำแนะนำโดยใช้ความคิดของเราเอง แต่เราควรให้คำแนะนำโดยอาศัยหลักการที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือต่าง ๆ ขององค์การ ถ้าเราทำแบบนั้น เราก็กำลังยอมรับว่าตัวเรามีขีดจำกัด และยอมรับว่าคำแนะนำที่มาจากพระยะโฮวานั้นดีกว่าความคิดของเราเสมอ—วว. 15:3, 4
16 นอกจากการที่เราเจียมตัวจะเป็นการให้เกียรติพระยะโฮวาแล้ว เรายังมีเหตุผลอื่น ๆ ด้วยที่จะเป็นคนเจียมตัว ตอนนี้ให้เราดูว่าการเป็นคนถ่อมและเป็นคนเจียมตัวทำให้เรามีความสุขและเข้ากับคนอื่นได้อย่างไร
ทำไมดีที่เราจะเป็นคนถ่อมและเจียมตัว?
17. ทำไมคนที่ถ่อมและเจียมตัวถึงมีความสุข?
17 ถ้าเราเป็นคนถ่อมและเจียมตัว เราจะมีความสุขมากกว่า เพราะอะไร? เพราะคนเจียมตัวยอมรับว่าตัวเองมีขีดจำกัดและมีหลายอย่างที่เขาทำไม่ได้ แต่พอมีคนมาช่วย เขาจะเห็นค่าความช่วยเหลือนั้น และนี่ทำให้เขามีความสุขมากกว่า ตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงเหตุการณ์ที่พระเยซูรักษาผู้ชายโรคเรื้อน 10 คน มีแค่คนเดียวที่กลับมาขอบคุณพระเยซูที่รักษาเขาให้หายจากโรคร้ายซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่มีทางทำได้ด้วยตัวเอง ผู้ชายที่ถ่อมและเจียมตัวคนนี้เห็นค่าความช่วยเหลือที่ได้รับ และนี่ทำให้เขาสรรเสริญพระเจ้า—ลก. 17:11-19
18. ทำไมคนที่ถ่อมและเจียมตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่าย? (โรม 12:10)
18 คนถ่อมและเจียมตัวจะเข้ากับคนอื่นและมีเพื่อนสนิทได้ง่ายกว่า เพราะอะไร? เพราะคนถ่อมและเจียมตัวยอมรับจากใจว่าคนอื่นมีข้อดีและเชื่อมั่นในตัวคนอื่น นอกจากนั้น เมื่อพวกเขาเห็นคนอื่นทำงานมอบหมายได้ดี พวกเขาก็มีความสุข พวกเขาจะเข้าไปชมเชยและดีใจกับคนนั้นทันที คนที่ถ่อมและเจียมตัวยังชอบให้เกียรติคนอื่นด้วย—อ่านโรม 12:10
19. ทำไมเราไม่ควรเป็นคนหยิ่ง?
19 ตรงกันข้าม คนหยิ่งไม่ชอบชมเชยคนอื่น พวกเขาชอบให้คนอื่นมายกย่อง พวกเขาชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นและมีนิสัยชอบแข่งขัน แทนที่จะฝึกและให้หน้าที่รับผิดชอบกับคนอื่น คนหยิ่งมักจะพูดว่า “ถ้าอยากให้มันออกมาดี ฉันก็ต้องทำเอง” คนหยิ่งอยากให้ตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นและมักจะอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นทำได้ดีกว่าเขา (กท. 5:26) คนแบบนี้เป็นเพื่อนกับใครได้ไม่นาน ถ้าเราสังเกตว่าตัวเองเป็นคนหยิ่ง เราต้องอธิษฐานอย่างจริงจังขอให้พระยะโฮวาช่วยให้เราเปลี่ยนความคิดใหม่ เพื่อเราจะไม่ให้นิสัยที่ไม่ดีแบบนี้ฝังลึกอยู่ในตัวเรา—รม. 12:2
20. ทำไมเราควรเป็นคนถ่อมและเจียมตัว?
20 เราขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ สำหรับตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของพระองค์ เราเห็นว่าพระยะโฮวาถ่อมตัวตอนที่พระองค์ปฏิบัติกับคนที่เป็นผู้รับใช้และเราอยากเลียนแบบพระองค์ นอกจากนั้นเราอยากเลียนแบบตัวอย่างที่ดีของผู้รับใช้ที่เจียมตัวของพระเจ้าซึ่งมีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาได้รับสิทธิพิเศษได้เดินกับพระองค์ ขอเราให้เกียรติและยกย่องสรรเสริญพระเจ้าเสมอ (วว. 4:11) ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็จะสามารถเดินกับพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์ซึ่งรักคนที่ถ่อมและเจียมตัว
เพลง 123 ทำตามระเบียบขององค์การพระเจ้าด้วยความภักดี
^ วรรค 5 คนถ่อมเป็นคนที่เมตตาและเห็นอกเห็นใจคนอื่น เราเลยบอกได้ว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าที่ถ่อม ในบทความนี้เราจะดูว่าตัวอย่างของพระยะโฮวาช่วยเราให้ถ่อมมากขึ้นอย่างไร และดูว่าตัวอย่างของซาอูล ดาเนียล และพระเยซูสอนบทเรียนอะไรเราเรื่องความถ่อมและความเจียมตัว
^ วรรค 58 คำอธิบายภาพ ผู้ดูแลคนหนึ่งใช้เวลาฝึกพี่น้องชายให้ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเขตทำงานของประชาคม หลังจากนั้น ผู้ดูแลคนนี้ก็ไม่ได้พยายามควบคุมทุกอย่าง แต่เขาปล่อยให้พี่น้องชายทำงานมอบหมายด้วยตัวเอง
^ วรรค 62 คำอธิบายภาพ พี่น้องหญิงถามผู้ดูแลว่าเหมาะไหมที่เธอจะไปงานแต่งงานที่จัดขึ้นในโบสถ์ ผู้ดูแลไม่ได้ให้คำแนะนำด้วยความคิดของตัวเอง แต่เขาชี้ให้เห็นหลักการที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)