บทความศึกษา 35
ให้เกียรติทุกคนในประชาคมของพระยะโฮวา
“ตาจะพูดกับมือว่า ‘ฉันไม่ต้องการแก’ ก็ไม่ได้ หรือหัวจะพูดกับเท้าว่า ‘ฉันไม่ต้องการแก’ ก็ไม่ได้”—1 คร. 12:21
เพลง 124 ภักดีเสมอไม่เปลี่ยนแปลง
ใจความสำคัญ *
1. พระยะโฮวาได้ให้อะไรกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์?
พระยะโฮวาให้ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ได้เป็นส่วนของประชาคมของพระองค์ ถึงเราจะมีบทบาทไม่เหมือนกัน แต่เราทุกคนมีค่า และเราจำเป็นต้องมีกันและกัน อัครสาวกเปาโลช่วยให้เราเห็นบทเรียนที่สำคัญในเรื่องนี้ เขาทำอย่างไร?
2. จากเอเฟซัส 4:16 ทำไมเราต้องร่วมแรงร่วมใจและเห็นค่ากันและกัน?
2 จากข้อคัมภีร์หลักในบทความนี้ เปาโลเน้นว่าไม่มีใครจะพูดกับพี่น้องคนอื่นได้ว่า ‘ฉันไม่ต้องการคุณ’ (1 คร. 12:21) ถ้าเราอยากให้ประชาคมมีสันติสุข เราต้องร่วมแรงร่วมใจและเห็นค่ากันและกัน (อ่านเอเฟซัส 4:16) เมื่อเราทำงานด้วยกันอย่างดีและสามัคคีกัน เราก็ทำให้ประชาคมเข้มแข็งขึ้นและรักกัน
3. เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
3 เราจะให้เกียรติพี่น้องในประชาคมของเราได้อย่างไรบ้าง? ในบทความนี้เราจะมาดูว่าผู้ดูแลจะให้เกียรติเพื่อนผู้ดูแลด้วยกันได้อย่างไร และเราจะดูว่าเราทุกคนจะเห็นค่าพี่น้องที่เป็นโสดได้อย่างไร และสุดท้าย เราจะให้เกียรติพี่น้องที่ยังพูดภาษาของเราไม่เก่งได้อย่างไร
ให้เกียรติเพื่อนผู้ดูแล
4. ผู้ดูแลควรทำตามคำแนะนำอะไรของเปาโลที่โรม 12:10?
4 ผู้ดูแลทุกคนในประชาคมได้รับการแต่งตั้งจากพลังบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา แต่ทุกคนก็มีความสามารถหรือพรสวรรค์ไม่เหมือนกัน (1 คร. 12:17, 18) บางคนอาจจะเป็นผู้ดูแลได้ไม่นานและไม่มีประสบการณ์มากเท่าไร ส่วนบางคนอายุมากแล้วและมีปัญหาสุขภาพเลยทำได้ไม่มาก แต่ก็ไม่ควรมีผู้ดูแลคนไหนคิดกับเพื่อนผู้ดูแลในทำนองที่ว่า ‘ผมไม่ต้องการคุณ’ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้ดูแลทุกคนควรทำตามคำแนะนำของเปาโลที่โรม 12:10 (อ่าน)
5. ผู้ดูแลจะแสดงว่าให้เกียรติเพื่อนผู้ดูแลของเขาได้อย่างไร? และทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ?
5 ผู้ดูแลแสดงว่าให้เกียรติเพื่อนผู้ดูแลคนอื่นโดยตั้งใจฟังพวกเขา การทำอย่างนี้สำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องประชุมกันเรื่องสำคัญ ๆ เพราะอะไร? ขอสังเกตว่าหอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 1988 ภาษาอังกฤษพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ที่นั่นบอกว่า “ผู้ดูแลต้องจำไว้ว่าพระคริสต์สามารถใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยผู้ดูแลคนไหนก็ได้ในประชาคมให้คิดถึงหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลที่จะช่วยคณะผู้ดูแลให้รู้ว่าจะทำอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ หรือตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ ๆ (กจ. 15:6-15) พลังบริสุทธิ์ไม่ได้ช่วยผู้ดูแลคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่จะช่วยผู้ดูแลทุกคนในประชาคม”
6. ผู้ดูแลจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร? และประชาคมจะได้รับประโยชน์อะไรถ้าพวกเขาทำแบบนี้?
6 ตอนที่ประชุมกัน ผู้ดูแลที่ให้เกียรติผู้ดูแลคนอื่นจะไม่เอาแต่พูดอยู่คนเดียว เขาจะไม่คิดว่าความคิดของตัวเองถูกอยู่เสมอ และไม่ว่าจะคุยกันเรื่องอะไร เขาจะไม่เป็นคนที่ออกความคิดเห็นคนแรกอยู่ตลอด แต่เขาจะพูดความคิดเห็นของเขาด้วยความถ่อมและเจียมตัว และเขาจะตั้งใจฟังความคิดเห็นของคนอื่น ที่สำคัญกว่านั้นเขาชอบที่จะพูดถึงหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลและพร้อมที่จะรับฟังการชี้นำจาก “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” (มธ. 24:45-47) ถ้าผู้ดูแลแสดงความรักและให้เกียรติกันตอนที่พวกเขาประชุมกัน พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าก็จะอยู่กับพวกเขา และชี้นำพวกเขาให้ตัดสินใจในแบบที่จะช่วยให้ประชาคมเข้มแข็งขึ้น—ยก. 3:17, 18
ให้เกียรติพี่น้องที่เป็นโสด
7. พระเยซูมองคนโสดอย่างไร?
7 ในประชาคมคริสเตียนไม่ได้มีแค่คู่สมรสกับคนที่มีลูกเท่านั้น แต่มีคนโสดด้วย เราควรมองพี่น้องที่เป็นโสดอย่างไร? ให้เราคิดถึงวิธีที่พระเยซูมองพวกเขา ตอนที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก ท่านไม่ได้แต่งงาน ท่านให้เวลาและทุ่มเทกับงานมอบหมายที่ท่านได้รับ พระเยซูไม่เคยสอนว่าคริสเตียนต้องแต่งงานหรือต้องเป็นโสด แต่ท่านก็บอกว่ามีบางคนที่เลือกจะไม่แต่งงาน (มธ. 19:11, 12; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาในมัทธิว 19:12 คำว่า “ครองตัวเป็นโสด”) พระเยซูให้เกียรติคนที่เป็นโสด ท่านไม่ได้มองว่าพวกเขาด้อยกว่าคนอื่นหรือขาดอะไรไปในชีวิต
8. จาก 1 โครินธ์ 7:7-9 เปาโลสนับสนุนให้คริสเตียนคิดถึงอะไร?
8 เหมือนพระเยซู เปาโลก็เป็นโสดตอนที่ทำงานรับใช้ เขาไม่เคยสอนว่าผิดที่คริสเตียนจะแต่งงาน เปาโลรู้ว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เขาก็สนับสนุนคริสเตียนให้คิดว่าจะเป็นโสดเพื่อรับใช้พระเจ้าได้ไหม (อ่าน 1 โครินธ์ 7:7-9) เรามั่นใจว่าเปาโลไม่ได้มองว่าคนโสดด้อยกว่าคนอื่น ที่จริงเขาเลือกทิโมธีซึ่งเป็นคนโสดให้ทำงานมอบหมายที่สำคัญด้วย * (ฟป. 2:19-22) เห็นได้ชัดเลยว่า เป็นเรื่องผิดที่จะตัดสินว่าพี่น้องชายมีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิพิเศษหรือไม่แค่เพราะเขาแต่งงานหรือยังไม่ได้แต่งงาน—1 คร. 7:32-35, 38
9. เราควรมองการแต่งงานและการเป็นโสดอย่างไร?
9 ทั้งพระเยซูและเปาโลไม่ได้สอนว่าเราต้องแต่งงานหรือต้องอยู่เป็นโสด ถ้าอย่างนั้นเราควรมองการแต่งงานและการเป็นโสดอย่างไร? หอสังเกตการณ์ 1 ตุลาคม 2012 อธิบายอย่างดีในเรื่องนี้ว่า “ที่จริง ทั้งการเป็นโสดและการแต่งงานถือเป็นของประทาน [ของขวัญ] จากพระเจ้า . . . พระยะโฮวาไม่ได้มองว่าการเป็นโสดเป็นเรื่องน่าอายหรือน่าเศร้า” ดังนั้น เราต้องให้เกียรติพี่น้องที่เป็นโสดในประชาคมของเรา
10. เราจะให้เกียรติพี่น้องที่เป็นโสดได้อย่างไร?
10 เราจะให้เกียรติพี่น้องที่เป็นโสดโดยคิดถึงความรู้สึกและสภาพการณ์ของเขาได้อย่างไร? เราต้องจำไว้ว่า บางคนตั้งใจเป็นโสด ส่วนบางคนอยากแต่งงานแต่ยังไม่เจอคนที่ใช่ และบางคนเป็นโสดเพราะคู่ของเขาตายจากไป ไม่ว่าเขาจะเป็นโสดเพราะอะไร เหมาะไหมที่พี่น้องในประชาคมจะไปถามเขาว่าทำไมถึงไม่แต่งงานสักทีและพยายามหาคู่ให้เขา? ก็จริงที่คนโสดบางคนอาจจะขอให้พี่น้องช่วยหาคู่ให้เขา แต่ถ้าเขาไม่ได้ขอล่ะ คุณคิดว่าพี่น้องที่เป็นโสดจะรู้สึกอย่างไร? (1 ธส. 4:11; 1 ทธ. 5:13) ให้เรามาดูว่าพี่น้องโสดที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์พูดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
11-12. เราอาจทำให้คนโสดท้อใจได้อย่างไร?
11 พี่น้องชายโสดคนหนึ่งที่รับใช้เป็นผู้ดูแลหมวดได้ดีมากรู้สึกว่าได้ประโยชน์หลายอย่างจากการเป็นโสด แต่เขาก็บอกว่าพอมีพี่น้องที่หวังดีมาถามเขาว่า “ทำไมถึงยังไม่แต่งงาน?” มันก็ทำให้เขาท้อใจได้เหมือนกัน พี่น้องชายโสดอีกคนที่รับใช้ที่สำนักงานสาขาบอกว่า “บางครั้งพี่น้องก็ทำให้ผมรู้สึกว่าคนโสดเป็นคนน่าสงสาร นี่ทำให้การเป็นโสดกลายเป็นภาระแทนที่จะเป็นของขวัญ”
12 พี่น้องหญิงโสดคนหนึ่งที่รับใช้ที่เบเธลบอกว่า “พี่น้องบางคนคิดว่าคนโสดทุกคนอยากมีแฟน บางคนคิดว่าคนโสดทุกคนมองว่าเวลาที่จะได้เจอกับคนหลาย ๆ คนเป็นโอกาสที่จะหาแฟนได้ มีครั้งหนึ่งที่ฉันไปทำงานมอบหมายในอีกเมือง ฉันไปถึงที่นั่นในคืนที่มีการประชุม พี่น้องหญิงที่ฉันไปพักด้วยบอกว่ามีพี่น้องชาย 2 คนที่อายุเท่ากันกับฉันเลยในประชาคม เธอบอกฉันว่าเธอไม่ได้พยายามจะจับคู่ให้ฉันนะ แต่พอไปถึงที่หอประชุม เธอก็ดึงฉันไปหาพี่น้องชาย 2 คนนั้น บอกได้เลยว่าตอนที่เราเจอหน้ากัน เราทั้งสามคนทำตัวไม่ถูกเลย”
13. ตัวอย่างอะไรที่ให้กำลังใจพี่น้องหญิงโสดคนหนึ่ง?
13 พี่น้องอีกคนหนึ่งที่รับใช้ที่เบเธลบอกว่า “ฉันรู้จักไพโอเนียร์โสดหลายคนทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่รับใช้มานาน พวกเขาเป็นคนมีเหตุมีผล มีเป้าหมายชัดเจน เสียสละเพื่อคนอื่น และมีความสุขกับงานรับใช้ พวกเขาช่วยประชาคมได้มากจริง ๆ พวกเขามีความคิดที่สมดุลเรื่องการเป็นโสด พวกเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นเพราะเป็นโสด หรือคิดว่าตัวเองจะไม่มีความสุขเพราะไม่ได้แต่งงานและไม่มีลูก” ถ้าพี่น้องทุกคนเห็นค่าและให้เกียรติกันและกัน ทั้งประชาคมก็จะมีความสุข คุณรู้ว่าคุณจะไม่ถูกมองข้ามหรือถูกมองว่าดีกว่าคนอื่น ไม่มีใครจะอิจฉาคุณหรือทำให้คุณรู้สึกสงสารตัวเอง คุณรู้ว่าคุณมีค่าและเป็นที่รักของประชาคม
14. เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเราให้เกียรติพี่น้องโสด?
14 พี่น้องโสดของเราจะรู้สึกขอบคุณถ้าเรามองที่ข้อดีของเขา ไม่ใช่มองว่าเขาแต่งงานหรือยังไม่ได้แต่งงาน ดังนั้นเราควรจะสนใจและเห็นค่าที่พวกเขารับใช้อย่างซื่อสัตย์ไม่ใช่สงสารที่พวกเขายังไม่ได้แต่งงาน พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกเหมือนเรากำลังพูดกับพวกเขาว่า ‘ฉันไม่ต้องการคุณ’ (1 คร. 12:21) แต่พวกเขาจะรู้ว่าเราให้เกียรติพวกเขาและมองว่าพวกเขาเป็นส่วนสำคัญในประชาคม
ให้เกียรติคนที่พูดภาษาของคุณไม่เก่ง
15. บางคนได้ปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อจะรับใช้มากขึ้น?
15 ไม่กี่ปีมานี้พี่น้องหลายคนอยากจะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น พวกเขาก็เลยเรียนภาษาใหม่ พวกเขาย้ายไปในประชาคมที่พูดภาษานั้นซึ่งต้องการผู้ประกาศมากกว่า (กจ. 16:9) พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิตจริง ๆ เพื่อจะทำอย่างนี้ได้ นี่เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของพวกเขา ถึงพวกเขาจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะพูดภาษานั้นได้เก่ง แต่พวกเขาก็ช่วยประชาคมได้หลายอย่าง เช่นคุณลักษณะที่ดีและประสบการณ์ของพวกเขาช่วยให้ประชาคมเข้มแข็งขึ้น พี่น้องที่เสียสละตัวเองเหล่านี้มีค่าสำหรับพวกเรามากจริง ๆ
16. คณะผู้ดูแลใช้อะไรในการตัดสินใจเมื่อจะแต่งตั้งพี่น้องชายให้เป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้?
16 คณะผู้ดูแลต้องไม่ตัดสินพี่น้องว่าเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้แค่เพราะพี่น้องคนนั้นพูดภาษาที่ใช้กันในประชาคมไม่เก่ง ผู้ดูแลจะพิจารณาว่าพี่น้องชายมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้โดยดูจากคุณสมบัติตามหลักพระคัมภีร์ ไม่ใช่ดูจากความสามารถในการพูดภาษาที่ใช้ในประชาคม—1 ทธ. 3:1-10, 12, 13; ทต. 1:5-9
17. พ่อแม่ต้องตัดสินใจอะไรเมื่อทั้งครอบครัวต้องย้ายไปต่างประเทศ?
17 บางครอบครัวย้ายไปต่างประเทศเพื่อจะลี้ภัยหรือเพื่อหางานทำ ลูก ๆ ของพวกเขาอาจไปโรงเรียนที่ใช้ภาษาหลักของประเทศนั้น และพ่อแม่ก็อาจต้องเรียนภาษานั้นเพื่อจะหางานทำได้ แต่ถ้ามีประชาคมที่ใช้ภาษาบ้านเกิดที่พวกเขาพูดล่ะ? พวกเขาควรจะไปประชุมที่ประชาคมไหน จะเป็นประชาคมที่พูดภาษาบ้านเกิดหรือประชาคมที่พูดภาษาหลักของประเทศนั้น?
18. จากกาลาเทีย 6:5 เราจะแสดงว่าเราเคารพการตัดสินใจของหัวหน้าครอบครัวได้อย่างไร?
18 หัวหน้าครอบครัวต้องตัดสินใจว่าครอบครัวของเขาจะไปประชุมที่ประชาคมไหน * เขาต้องคิดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับครอบครัวของตัวเอง (อ่านกาลาเทีย 6:5) เพราะเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจส่วนตัว เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไรให้เรายอมรับการตัดสินใจของเขาและต้อนรับพวกเขาโดยทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญของประชาคม—โรม 15:7
19. หัวหน้าครอบครัวควรคิดและอธิษฐานเรื่องอะไร?
19 บางครอบครัวอยู่ในประชาคมที่ใช้ภาษาบ้านเกิดของพ่อแม่ แต่ลูก ๆ ไม่ถนัดภาษานั้น และถ้าประชาคมนั้นอยู่ในเขตที่ใช้ภาษาหลักของประเทศ ลูก ๆ ก็จะยิ่งเข้าใจการประชุมได้ยากและอาจไม่ก้าวหน้า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ก็เพราะว่าลูก ๆ อาจจะไปโรงเรียนที่ใช้ภาษาหลักของประเทศนั้นและไม่ได้ใช้ภาษาของพ่อแม่ ถ้าเป็นอย่างนี้หัวหน้าครอบครัวต้องคิดดี ๆ และอธิษฐานขอสติปัญญาเพื่อจะตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกใกล้ชิดกับพระยะโฮวาและสนิทกับพี่น้อง พ่อแม่ต้องเลือกว่าจะช่วยลูก ๆ ให้เข้าใจภาษาบ้านเกิดของพ่อแม่มากขึ้น หรือไม่พวกเขาก็ต้องย้ายไปในประชาคมที่ใช้ภาษาที่ลูก ๆ เข้าใจ ไม่ว่าหัวหน้าครอบครัวจะตัดสินใจอย่างไร ประชาคมต้องให้เกียรติเขาและครอบครัวของเขา และทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญของประชาคม
20. เราจะให้เกียรติพี่น้องที่กำลังเรียนภาษาใหม่ได้อย่างไร?
20 จากเหตุผลทั้งหมดที่เราได้คุยกันไปก่อนหน้านี้ เราเห็นว่าในหลายประชาคมมีพี่น้องที่กำลังเรียนภาษาใหม่ พวกเขาอาจจะรู้สึกว่ายากที่จะพูดความคิดของตัวเองหรือความรู้สึกของตัวเองออกมา ถ้าเราไม่เอาแต่สนใจวิธีที่พวกเขาพูดภาษาของเรา เราก็จะเห็นความรักที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาและเห็นว่าพวกเขาอยากรับใช้พระองค์ ถ้าเราเห็นคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้ของพวกเขา เราก็จะยิ่งเห็นค่าและให้เกียรติพวกเขามากขึ้น เราจะไม่พูดว่า ‘ฉันไม่ต้องการคุณ’ แค่เพราะพวกเขาพูดภาษาของเราไม่เก่ง
เรามีค่าสำหรับพระยะโฮวา
21-22. เราได้รับสิทธิพิเศษอะไร?
21 พระยะโฮวาให้เรามีสิทธิพิเศษที่ได้เป็นส่วนของประชาคมของพระองค์ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง โสดหรือแต่งงานแล้ว อายุน้อยหรืออายุมาก หรือจะเก่งเรื่องภาษาหรือเปล่า เราก็มีค่าสำหรับพระยะโฮวาและต่อกันและกัน—โรม 12:4, 5; โคโลสี 3:10, 11
22 เราได้บทเรียนหลายอย่างจากตัวอย่างเปรียบเทียบของเปาโลเรื่องอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ขอให้เราเอาบทเรียนเหล่านั้นไปใช้ในชีวิต นี่จะช่วยให้เราพยายามหาวิธีที่จะให้กำลังใจพี่น้อง และจะช่วยให้เราให้เกียรติและมองว่าพวกเขาเป็นส่วนสำคัญของประชาคมของพระยะโฮวา
เพลง 90 ให้กำลังใจกัน
^ วรรค 5 คนของพระยะโฮวามีภูมิหลังที่หลากหลายและมีบทบาทในประชาคมที่ไม่เหมือนกัน ในบทความนี้เราจะมาดูว่าทำไมเราถึงต้องให้เกียรติสมาชิกทุกคนในครอบครัวของพระยะโฮวา
^ วรรค 8 เราไม่สามารถบอกได้ว่าทิโมธีไม่แต่งงานตลอดชีวิต
^ วรรค 18 หัวหน้าครอบครัวหมายถึงพ่อที่เป็นพยานฯ หรือหมายถึงแม่ในครอบครัวที่พ่อไม่ได้เป็นพยานฯ
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)