บทความศึกษา 34
“ลองชิมดู” ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน
“ลองชิมดู แล้วจะรู้ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน คนที่หวังพึ่งพระองค์ก็มีความสุข”—สด. 34:8
เพลง 117 ให้เราทำดีอย่างพระเจ้า
ใจความสำคัญ *
1-2. จากสดุดี 34:8 เราจะรู้ได้ยังไงว่าพระยะโฮวาดีจริง ๆ?
สมมุติว่ามีคนเอาอาหารจานหนึ่งมาให้คุณ คุณไม่เคยกินอาหารนี้มาก่อน ถ้าคุณอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง คุณอาจจะลองดมดู สังเกตว่ามีส่วนผสมอะไร หาสูตร หรือถามคนอื่น แต่วิธีเดียวที่คุณจะรู้ว่าคุณชอบอาหารจานนี้รึเปล่า คุณก็ต้องชิมมันด้วยตัวเอง
2 เราอาจจะเรียนรู้ความดีของพระยะโฮวาได้จากการอ่านคัมภีร์ไบเบิลหรืออ่านหนังสือขององค์การ หรือเราอาจจะได้ยินคนอื่นเล่าให้ฟังว่าพระยะโฮวาดีกับเขายังไง แต่เราจะเข้าใจจริง ๆ ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหนก็ต่อเมื่อเราได้ “ชิม” ด้วยตัวเอง (อ่านสดุดี 34:8) เพื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งด้วยกัน สมมุติว่าเราอาจอยากจะรับใช้เต็มเวลา เพื่อจะทำอย่างนั้นเราก็ต้องปรับชีวิตให้เรียบง่ายมากขึ้น เราอ่านคำสัญญาของพระเยซูบ่อย ๆ ที่บอกว่าถ้าเราให้รัฐบาลของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต พระยะโฮวาจะคอยดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็น แต่เราไม่เคยเจอเรื่องนี้กับตัวเอง (มธ. 6:33) แต่ถึงอย่างนั้น เราก็เชื่อในคำสัญญาของพระเยซู เราก็เลยพยายามลดค่าใช้จ่าย ทำงานให้น้อยลง และรับใช้มากขึ้น พอเราทำแบบนั้นแล้ว เราก็ได้เห็นว่าพระยะโฮวาดูแลเราจริง ๆ เราได้ “ชิม” ด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน
3. จากสดุดี 16:1, 2 พระยะโฮวาให้สิ่งดี ๆ กับใคร?
3 พระยะโฮวา “ดีต่อทุกชีวิต” แม้แต่กับคนที่ไม่รู้จักพระองค์ (สด. 145:9; มธ. 5:45) แต่สำหรับคนที่รักพระองค์และรับใช้พระองค์สุดหัวใจ พระองค์จะทำดีกับพวกเขาเป็นพิเศษ (อ่านสดุดี 16:1, 2) ให้เรามาดูว่ามีสิ่งดี ๆ อะไรบ้างที่พระยะโฮวาให้กับเรา
4. พระยะโฮวาทำดีกับคนที่เริ่มเข้ามาสนิทกับพระองค์ยังไง?
4 ทุกครั้งที่เราทำตามสิ่งที่พระยะโฮวาสอน เราก็เห็นว่าชีวิตของเราดีขึ้น เมื่อเราได้เรียนเกี่ยวกับพระองค์และรักพระองค์ พระองค์ก็ช่วยให้เราเลิกคิดเลิกทำสิ่งที่พระองค์ไม่ชอบ (คส. 1:21) และเมื่อเราอุทิศตัวและรับบัพติศมา เราก็ยิ่งเห็นว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน พระองค์ช่วยให้เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่สะอาดและช่วยให้เราสนิทกับพระองค์มากขึ้น—1 ปต. 3:21
5. เราเห็นว่าพระยะโฮวาดีกับเรายังไงบ้างตอนทำงานรับใช้?
5 พอเราเริ่มประกาศ เราก็ยิ่งเห็นมากขึ้นว่าพระยะโฮวาดีกับเราจริง ๆ คุณเป็นคนขี้อายไหม? ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหลายคนก็เป็นแบบนั้น ก่อนจะมาเป็นพยานฯ คุณคงไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเดินไปตามบ้านแล้วก็พูดเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยชอบ แต่เดี๋ยวนี้คุณก็ทำอย่างนั้นเป็นประจำ ไม่ใช่แค่นั้น พระยะโฮวายังช่วยให้คุณชอบงานนี้ด้วย และยังมีอย่างอื่นอีกที่คุณเห็นว่าพระยะโฮวาช่วยคุณจริง ๆ เช่น พระองค์ช่วยให้คุณใจเย็นตอนที่มีคนพูดไม่ดีใส่คุณ พระองค์ช่วยคุณให้นึกข้อคัมภีร์ออกซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกับที่เจ้าของบ้านสนใจพอดี และพระองค์ยังให้กำลังกับคุณเพื่อคุณจะประกาศต่อไปแม้ว่าคนในเขตจะไม่สนใจ
6. เราเห็นว่าพระยะโฮวาดีกับเรายังไงบ้างตอนที่พระองค์ฝึกเรา?
6 อีกวิธีที่พระยะโฮวาทำดีกับเราก็คือพระองค์ฝึกเราให้ทำงานรับใช้เก่งขึ้น (ยน. 6:45) ในการประชุมกลางสัปดาห์เราได้เห็นตัวอย่างวิธีการพูดคุยที่จะช่วยให้เรารู้ว่าเราจะประกาศยังไง ตอนแรกเราอาจจะกลัวและไม่ค่อยมั่นใจว่าจะใช้วิธีใหม่ดีไหม แต่พอเราทำตาม เราก็เห็นว่าวิธีนั้นใช้ได้ดีกับเขตของเรา นอกจากนั้นในการประชุมประชาคมและการประชุมใหญ่เราได้รับคำแนะนำให้ลองวิธีรับใช้แบบอื่น ๆ ด้วย เราอาจจะกลัวเหมือนกันที่ต้องทำอย่างนั้น แต่พอเราทำตาม เราก็เห็นว่าพระยะโฮวาอวยพรเราจริง ๆ ตอนนี้เราจะดูว่าพระยะโฮวาจะให้อะไรดี ๆ กับเราบ้างเมื่อเราลองรับใช้พระองค์ในวิธีใหม่ ๆ แล้วเราจะดูว่าเราต้องทำยังไงเพื่อจะรับใช้มากขึ้น
พระยะโฮวาให้สิ่งดี ๆ กับคนที่วางใจพระองค์
7. ถ้าเราพยายามรับใช้มากขึ้น เราจะได้อะไร?
7 เราสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น ให้เรามาดูตัวอย่างของผู้ดูแลที่ชื่อแซมมูเอล * เขากับภรรยารับใช้ในประเทศโคลัมเบีย ตอนแรกทั้งสองคนสนุกกับการเป็นไพโอเนียร์ที่ประชาคมบ้านเกิด แต่พวกเขาอยากรับใช้มากขึ้นและไปช่วยในประชาคมที่มีความจำเป็นมากกว่า เพื่อจะทำอย่างนั้น พวกเขาเลยต้องเสียสละบางอย่าง แซมมูเอลบอกว่า “เราทำตามมัทธิว 6:33 และเลิกซื้อของที่ไม่จำเป็น แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเราก็คือ เราต้องทิ้งบ้านที่เรารักมาก เราออกแบบบ้านหลังนี้มาด้วยกัน และตอนนี้เราก็ผ่อนมันหมดแล้วด้วย” พอย้ายไปประชาคมใหม่ พวกเขาไม่ต้องใช้เงินเยอะเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้พวกเขาใช้เงินแค่หนึ่งในหกของเงินที่เคยได้ แซมมูเอลเล่าว่า “เราเห็นว่าพระยะโฮวาคอยชี้นำเราและตอบคำอธิษฐานของเรา และเรารู้สึกได้ว่าพระองค์รักและพอใจในตัวเรามากอย่างที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน” คุณจะรับใช้มากขึ้นได้ไหม? ถ้าทำได้ คุณมั่นใจได้เลยว่าคุณจะสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้นและพระองค์จะดูแลคุณแน่นอน—สด. 18:25
8. คุณเรียนอะไรได้จากคำพูดของอีวานและวิคตอเรีย?
8 เรามีความสุขกับงานรับใช้ อีวานกับวิคตอเรียภรรยาของเขาเป็นไพโอเนียร์ในประเทศคีร์กีซสถาน พวกเขาใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเพื่อจะช่วยในงานมอบหมายต่าง ๆ รวมถึงโครงการก่อสร้างด้วย อีวานบอกว่า “พอตกเย็นมาเราเหนื่อยมาก แต่เราก็มีความสุขเพราะเรารู้ว่าเราใช้แรงทั้งหมดที่เรามีเพื่อรับใช้พระยะโฮวา และเรามีความสุขมากด้วยที่ได้เพื่อนใหม่ ๆ รวมทั้งความทรงจำดี ๆ และประสบการณ์มากมาย”—มก. 10:29, 30
9. พี่น้องหญิงคนหนึ่งรับใช้มากขึ้นยังไงทั้ง ๆ ที่มีความลำบาก? และผลเป็นยังไง?
9 เรามีความสุขในการรับใช้พระยะโฮวาได้ถึงแม้ว่าเราจะเจอความลำบากหลายอย่าง ให้เรามาดูตัวอย่างของมีเรห์พี่น้องหญิงสูงอายุที่เป็นม่ายซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก เมื่อก่อนเธอเคยเป็นหมอ แต่หลังจากที่เธอเกษียณ เธอก็เป็นไพโอเนียร์ มีเรห์เป็นโรคข้ออักเสบขั้นรุนแรง แต่ละครั้งที่เธอออกประกาศตามบ้านเธอทำได้แค่ชั่วโมงเดียว แต่พอประกาศโดยใช้รถเข็นแสดงหนังสือเธอทำได้นานกว่า และเธอมีรายเยี่ยมรายศึกษาหลายรายซึ่งบางรายเธอก็คุยทางโทรศัพท์ อะไรทำให้มีเรห์อยากรับใช้มากขนาดนี้? เธอบอกว่า “ฉันรักพระยะโฮวาและพระเยซูสุดหัวใจ ฉันอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ่อย ๆ ขอพระองค์ให้ช่วยฉันรับใช้พระองค์ให้มากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้”—มธ. 22:36, 37
10. จาก 1 เปโตร 5:10 คนที่รับใช้มากขึ้นได้รับอะไรจากพระยะโฮวา?
10 เราได้รับการฝึกจากพระยะโฮวามากขึ้น เคนนี่ไพโอเนียร์ที่รับใช้ในประเทศมอริเชียสก็รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ พอเขาเรียนความจริง เขาก็ออกจากมหาวิทยาลัย รับบัพติศมา และเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำ เขาบอกว่า “ผมพยายามเลียนแบบผู้พยากรณ์อิสยาห์ที่บอกว่า ‘ผมเองครับ ส่งผมไปเถอะ’” (อสย. 6:8) หลังจากนั้น เคนนี่ได้ช่วยในโครงการก่อสร้างหลายโครงการและยังได้ช่วยแปลหนังสือในภาษาของเขาเองด้วย เขาบอกว่า “เวลาผมได้รับงานมอบหมาย ผมก็ถูกฝึกให้ทำงานนั้นเป็น” แต่ไม่ใช่แค่นั้น เขาบอกอีกว่า “ผมได้เรียนว่าตัวเองมีขีดจำกัดอะไรบ้าง และได้ฝึกคุณลักษณะต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผมเป็นผู้รับใช้ที่ดีขึ้นของพระยะโฮวา” (อ่าน 1 เปโตร 5:10) คุณจะลองปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในชีวิตได้ไหมเพื่อจะได้รับการฝึกจากพระยะโฮวามากขึ้น?
11. พี่น้องหญิงที่เกาหลีใต้พยายามทำอะไรเพื่อจะรับใช้ได้มากขึ้น? และผลเป็นยังไง? (ดูภาพหน้าปกด้วย)
11 ถ้าคนที่เป็นพี่น้องมานานลองรับใช้ในรูปแบบใหม่ เขาก็จะได้รับประโยชน์จากการฝึกด้วย ในช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 ผู้ดูแลในประชาคมหนึ่งที่เกาหลีใต้บอกว่า “พี่น้องบางคนที่เคยคิดว่าไปประกาศไม่ค่อยได้เพราะสุขภาพไม่ดี ตอนนี้พวกเขาประกาศทางออนไลน์ได้ มีพี่น้องหญิง 3 คนในประชาคมของเราที่อายุ 80 กว่าเรียนวิธีใช้คอมพิวเตอร์ แล้วตอนนี้พวกเขาก็ประกาศกับเราแทบทุกวันเลยครับ” (สด. 92:14, 15) คุณอยากจะรับใช้มากขึ้นและ “ชิม” ความดีของพระยะโฮวามากขึ้นไหม? ลองดูว่าอะไรจะช่วยให้คุณทำอย่างนั้นได้
คุณต้องทำอะไรเพื่อจะรับใช้มากขึ้นได้?
12. พระยะโฮวาสัญญาอะไรกับคนที่ไว้ใจพระองค์?
12 ฝึกที่จะไว้ใจพระยะโฮวา พระองค์สัญญาว่าจะให้พรเรามากมายถ้าเราไว้ใจพระองค์และให้พระองค์มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ (มลค. 3:10) พี่น้องหญิงที่ชื่อฟาบีโอล่าในประเทศโคลัมเบียเห็นด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาทำตามที่สัญญาไว้จริง ๆ หลังจากรับบัพติศมาเธอก็อยากเป็นไพโอเนียร์ประจำ แต่เธอต้องทำงานช่วยสามีหาเลี้ยงลูก 3 คน พอถึงเวลาที่จะเกษียณได้ เธอเลยอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมาก ฟาบีโอล่าเล่าว่า “ปกติหลังจากยื่นเรื่องขอเงินบำนาญ กว่าจะได้ต้องใช้เวลานานมาก แต่ของฉันแค่เดือนเดียวก็ได้แล้ว มันเหมือนปาฏิหาริย์เลยค่ะ” สองเดือนหลังจากนั้นเธอก็เริ่มเป็นไพโอเนียร์ ตอนนี้เธออายุ 70 กว่าและเป็นไพโอเนียร์มา 20 กว่าปีแล้ว เธอช่วย 8 คนให้รับบัพติศมา เธอบอกว่า “ถึงบางวันฉันจะรู้สึกไม่ค่อยไหว แต่พระยะโฮวาก็ช่วยฉันให้ทำตามตารางและยังเป็นไพโอเนียร์ต่อไปได้”
13-14. มีตัวอย่างของใครบ้างที่จะช่วยเราให้ไว้ใจพระยะโฮวาและพยายามรับใช้มากขึ้น?
13 เรียนจากตัวอย่างของคนที่ไว้ใจพระยะโฮวา ในคัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างของหลายคนที่ทุ่มเทให้กับการรับใช้พระยะโฮวา และหลายครั้งเราเห็นว่าก่อนที่พระยะโฮวาจะอวยพรพวกเขา พวกเขาต้องลงมือทำอะไรบางอย่างที่แสดงว่าพวกเขาไว้ใจพระองค์ ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาอวยพรอับราฮัมหลังจากที่เขาเชื่อฟังพระองค์และออกจากบ้าน “ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่า [พระองค์] จะให้ไปไหน” (ฮบ. 11:8) ยาโคบก็ต้องปล้ำสู้กับทูตสวรรค์ก่อน เขาถึงได้พรจากพระยะโฮวา (ปฐก. 32:24-30) ตอนที่ชาวอิสราเอลจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนเพื่อจะไปถึงแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา พวกปุโรหิตต้องเหยียบลงไปในแม่น้ำก่อน น้ำถึงหยุดไหล แล้วประชาชนถึงเดินข้ามแม่น้ำนั้นได้—ยชว. 3:14-16
14 คุณยังเรียนจากตัวอย่างของพี่น้องในปัจจุบันที่ไว้ใจพระยะโฮวาและพยายามรับใช้มากขึ้นได้ด้วย ตัวอย่างเช่น พี่น้องที่ชื่อเพย์ทันกับไดอาน่าภรรยาของเขาชอบอ่านบทความเกี่ยวกับพี่น้องที่พยายามรับใช้มากขึ้น เช่น บทความชุดที่ชื่อว่า “พวกเขาเต็มใจไปรับใช้” * เพย์ทันบอกว่า “ตอนที่อ่านประสบการณ์ของพี่น้อง เรารู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังดูพวกเขากินอาหารอร่อย ๆ ยิ่งเราดูพวกเขา เราก็ยิ่งอยาก ‘ลองชิมดูว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน’” ในที่สุด เพย์ทันกับไดอาน่าก็ย้ายไปรับใช้ในที่ที่มีความต้องการมากกว่า คุณได้อ่านบทความชุดนี้แล้วไหม? คุณเคยดูวีดีโอการประกาศในเขตที่ห่างไกลของออสเตรเลีย และการประกาศในเขตที่ห่างไกลของไอร์แลนด์ ในเว็บไซต์ jw.org รึยัง? เรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะรับใช้มากขึ้น
15. การเลือกเพื่อนที่ดีจะช่วยเรายังไง?
15 เลือกเพื่อนที่จะสนับสนุนคุณให้รับใช้มากขึ้น เวลาเราเห็นคนอื่นกินอาหารที่เราไม่เคยกินมาก่อน เขากินอร่อยมาก เราก็คงอยากกินด้วย เหมือนกันถ้าเราใช้เวลากับคนที่ให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกในชีวิต เราก็คงอยากจะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้นด้วย สามีภรรยาที่ชื่อเคนท์กับเวโรนิก้าก็รู้สึกอย่างนั้น เคนท์บอกว่า “เพื่อน ๆ และครอบครัวสนับสนุนให้เราลองรับใช้แบบอื่นดูบ้าง เราเห็นว่าถ้าเราใช้เวลากับคนที่ให้รัฐบาลของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต เราก็จะมั่นใจมากขึ้นที่จะลองอะไรใหม่ ๆ” ตอนนี้เคนท์กับเวโรนิก้ารับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษที่เซอร์เบีย
16. จากตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูที่ลูกา 12:16-21 ทำไมเราควรเต็มใจเสียสละ?
16 เสียสละเพื่อพระยะโฮวา เราไม่จำเป็นต้องเสียสละทุกอย่างที่เราชอบเพื่อจะทำให้พระยะโฮวาพอใจ (ปญจ. 5:19, 20) แต่ถ้าเราเลือกที่จะไม่รับใช้พระยะโฮวามากขึ้นเพียงแค่เพราะเราไม่อยากสละสิ่งที่เราชอบ เราก็อาจจะเป็นเหมือนกับผู้ชายในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูที่ทำงานหนักเพื่อจะมีชีวิตสบายแต่ไม่สนใจพระเจ้า (อ่านลูกา 12:16-21) พี่น้องคนหนึ่งที่ชื่อคริสเตียนซึ่งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสบอกว่า “ผมไม่ได้ให้เวลาและกำลังอย่างเต็มที่กับพระยะโฮวาและครอบครัว” เขากับภรรยาก็เลยตัดสินใจที่จะเป็นไพโอเนียร์ แต่เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ พวกเขาก็ต้องออกจากงาน และเพื่อจะหาเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาเลยตั้งบริษัททำความสะอาดเล็ก ๆ และพยายามอยู่อย่างพอเพียง การเสียสละของพวกเขาคุ้มค่าไหม? คริสเตียนบอกว่า “เรามีความสุขกับงานรับใช้มากขึ้น และเราดีใจที่ได้เห็นรายเยี่ยมและนักศึกษาเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวา”
17. อะไรอาจทำให้เราไม่อยากลองรับใช้วิธีใหม่ ๆ?
17 ลองรับใช้วิธีใหม่ ๆ (กจ. 17:16, 17; 20:20, 21) ไพโอเนียร์คนหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชื่อเชอร์ลีย์ต้องปรับวิธีการรับใช้ของเธอในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ตอนแรกเธอไม่อยากประกาศทางโทรศัพท์ แต่พอได้รับการฝึกในช่วงที่มีการเยี่ยมของผู้ดูแลหมวด เธอก็เริ่มประกาศทางโทรศัพท์เป็นประจำ เชอร์ลีย์บอกว่า “ตอนแรก ๆ ฉันกลัวมาก แต่ตอนนี้ฉันชอบประกาศทางโทรศัพท์มากเลยค่ะ เราได้คุยกับคนมากกว่าตอนที่ไปประกาศตามบ้านอีก”
18. ตอนที่เราพยายามรับใช้มากขึ้นแล้วเจอปัญหา อะไรจะช่วยเราได้?
18 วางแผนและลงมือทำ เวลาเราเจอปัญหา ให้เราอธิษฐานและคิดอย่างรอบคอบว่าจะจัดการกับมันยังไง (สภษ. 3:21) ซอนย่าที่เป็นไพโอเนียร์ประจำในกลุ่มภาษาโรมานีที่ยุโรปบอกว่า “ฉันชอบเขียนแผนของตัวเองลงบนกระดาษและติดไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย บนโต๊ะของฉันจะมีรูปทางแยก ทุกครั้งที่ฉันต้องตัดสินใจ ฉันจะมองไปที่รูปนั้นและคิดว่าการตัดสินใจแต่ละอย่างจะพาฉันไปทางไหน” นอกจากนั้น ซอนย่าพยายามคิดบวกตอนที่เจอปัญหา เธอบอกว่า “เวลามีอะไรเข้ามาในชีวิต มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของฉัน ฉันจะมองว่ามันเป็นเหมือนกับกำแพงที่ขัดขวางฉัน หรือเป็นเหมือนกับสะพานที่ช่วยให้ก้าวไปถึงเป้าหมายได้”
19. เราควรตั้งใจที่จะทำอะไร?
19 พระยะโฮวาให้สิ่งดี ๆ กับเราในหลายวิธี เราจะแสดงว่าเราขอบคุณสิ่งที่พระองค์ทำโดยพยายามทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อให้พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญ (ฮบ. 13:15) อย่างหนึ่งที่เราทำได้ก็คือ พยายามหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อจะรับใช้มากขึ้น และนี่อาจจะทำให้เราได้สิ่งดี ๆ จากพระยะโฮวามากขึ้นอีก ทุก ๆ วันให้เราพยายาม “ลองชิมดู แล้วจะรู้ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน” แล้วเราจะเป็นเหมือนพระเยซูที่บอกว่า “อาหารของผมคือการทำตามความประสงค์ของผู้ที่ใช้ผมมาและทำงานของพระองค์ให้สำเร็จ”—ยน. 4:34
เพลง 80 “ลองชิมดู แล้วจะรู้ว่าพระยะโฮวาดีขนาดไหน”
^ วรรค 5 สิ่งดี ๆ ทุกอย่างมาจากพระยะโฮวา ถึงพระองค์จะให้สิ่งดีกับทุกคนรวมทั้งคนชั่วแต่พระองค์ชอบให้สิ่งดีกับผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ ในบทความนี้เราจะมาดูว่า พระองค์ให้สิ่งดี ๆ กับผู้ที่รับใช้พระองค์ยังไง และคนที่รับใช้มากขึ้นจะได้พรอะไรจากพระองค์
^ วรรค 7 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ
^ วรรค 14 บทความชุดที่ชื่อว่า “พวกเขาเต็มใจไปรับใช้” และ “พวกเขาเสนอตัวด้วยความเต็มใจ” เคยอยู่ในหอสังเกตการณ์ ตอนนี้หาอ่านได้ในเว็บไซต์ jw.org ไปที่เกี่ยวกับเรา > ประสบการณ์ > บรรลุเป้าหมายในการรับใช้พระเจ้า
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)