บทความศึกษา 34
เพลง 107 พระเจ้าเป็นแบบอย่างของความรัก
ผู้ดูแลจะแสดงความรักและเมตตาคนที่ทำผิดได้ยังไง
“พระเจ้ากรุณาต่อคุณมากและอยากให้คุณกลับใจ”—รม. 2:4
จุดสำคัญ
ผู้ดูแลจะช่วยพี่น้องที่ทำผิดร้ายแรงได้ยังไง
1. คนที่ทำผิดร้ายแรงมีโอกาสที่จะทำอะไร?
ในบทความที่แล้วเราได้เรียนว่า เปาโลบอกพี่น้องในโครินธ์ว่าควรทำยังไงกับคนที่ทำบาปร้ายแรง ถ้าคนที่ทำบาปร้ายแรงไม่กลับใจ เขาต้องถูกตัดออกจากประชาคม แต่อย่างที่เราเห็นจากข้อคัมภีร์หลักของบทความนี้ พระยะโฮวาสามารถช่วยคนที่ทำผิดให้กลับใจได้ (รม. 2:4) แล้วผู้ดูแลจะช่วยคนเหล่านี้ให้กลับใจได้ยังไง?
2-3. เราควรทำอะไรถ้าได้รู้ว่ามีพี่น้องคนหนึ่งทำผิดร้ายแรง? และทำไมเราต้องทำแบบนั้น?
2 ถ้าผู้ดูแลไม่รู้ว่ามีพี่น้องทำผิดร้ายแรง พวกเขาก็คงไม่สามารถช่วยคนนั้นได้ ดังนั้น ถ้าเราได้รู้ว่ามีพี่น้องทำผิดร้ายแรงซึ่งอาจส่งผลให้เขาถูกตัดออกจากประชาคม เราควรทำยังไง? เราควรบอกให้พี่น้องคนนั้นไปหาผู้ดูแลเพื่อขอความช่วยเหลือ—อสย. 1:18; กจ. 20:28; 1 ปต. 5:2
3 แต่ถ้าคนที่ทำผิดไม่ยอมไปหาผู้ดูแลล่ะ? ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็จะไปบอกผู้ดูแลเองเพื่อเขาจะได้รับความช่วยเหลือ นี่เป็นการแสดงความรักต่อพี่น้องคนนั้นเพราะเราไม่อยากเสียเขาไป ถ้าเขาไม่เลิกทำผิด เขาจะทำให้ความสัมพันธ์ของเขาที่มีกับพระยะโฮวาเสียหายหนักเข้าไปอีกและอาจทำให้ทั้งประชาคมเสียชื่อเสียง ดังนั้น เราต้องกล้าไปบอกผู้ดูแลเพราะเรารักพระยะโฮวาและรักพี่น้องคนนั้น—สด. 27:14
วิธีที่ผู้ดูแลช่วยคนที่ทำผิดร้ายแรง
4. ผู้ดูแลมีเป้าหมายอะไรเมื่อพวกเขาพบกับคนที่ทำผิดร้ายแรง?
4 เมื่อมีพี่น้องในประชาคมทำผิดร้ายแรง คณะผู้ดูแลจะตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแล 3 คน a ผู้ดูแลที่รับใช้ในคณะกรรมการนี้ต้องเป็นคนที่เจียมตัวและถ่อมใจ ตอนที่พวกเขาพยายามช่วยคนที่ทำผิด พวกเขารู้ว่าไม่สามารถบังคับใครให้กลับใจได้ (ฉธบ. 30:19) และพวกเขาก็รู้ว่าไม่ใช่คนที่ทำผิดทุกคนจะตอบรับความช่วยเหลือเหมือนกษัตริย์ดาวิด (2 ซม. 12:13) บางคนที่ทำผิดอาจยังคงเลือกที่จะไม่ฟังคำเตือนของพระยะโฮวา (ปฐก. 4:6-8) ถึงอย่างนั้น เป้าหมายของผู้ดูแลก็คือพยายามเต็มที่ที่จะช่วยคนทำผิดให้กลับใจ มีหลักการอะไรบ้างที่ช่วยผู้ดูแลเมื่อพวกเขาไปพบกับคนที่ทำผิด?
5. ผู้ดูแลควรคิดถึงคำแนะนำอะไรเมื่อพบกับคนที่ทำผิด? (2 ทิโมธี 2:24-26) (ดูภาพด้วย)
5 ผู้ดูแลจะมองว่าคนที่ทำผิดเป็นเหมือนแกะที่หลงหายและมีค่าในสายตาพระยะโฮวา (ลก. 15:4, 6) ดังนั้น ตอนที่พวกเขาพบกับคนนั้น พวกเขาจะไม่พูดแรง ๆ แสดงท่าทางไม่พอใจ หรือคิดกับคนนั้นในแง่ลบ และผู้ดูแลจะไม่มองว่าการไปพบกับคนที่ทำผิดเป็นแค่การทำตามหน้าที่ แต่พวกเขาควรแสดงคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างที่บอกไว้ใน 2 ทิโมธี 2:24-26 (อ่าน) ผู้ดูแลควรสุภาพ อ่อนโยน และกรุณา เพราะพวกเขาอยากเข้าถึงหัวใจของคนที่ทำผิด
6. ผู้ดูแลจะเตรียมหัวใจยังไงก่อนที่จะไปพบกับคนที่ทำผิด? (โรม 2:4)
6 ผู้ดูแลจะใช้เวลาเตรียมหัวใจเพื่อจะคิดเหมือนพระยะโฮวา พวกเขาพยายามเลียนแบบพระองค์ตอนที่ช่วยคนที่ทำผิด และต้องคิดถึงคำพูดของเปาโลเสมอที่บอกว่า “พระเจ้ากรุณาต่อคุณมากและอยากให้คุณกลับใจ” (อ่านโรม 2:4) ผู้ดูแลควรจำไว้ว่าพวกเขาเป็นผู้เลี้ยงแกะที่อยู่ภายใต้การชี้นำของพระเยซู (อสย. 11:3, 4; มธ. 18:18-20) ก่อนที่จะไปพบกับคนที่ทำผิด คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแลจะอธิษฐานด้วยกันโดยคิดถึงเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือเพื่อช่วยคนทำผิดให้กลับใจ พวกเขาจะค้นดูข้อคัมภีร์ต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือขององค์การ และอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยให้มีสติปัญญาและความเข้าใจ พวกเขาต้องคิดว่าควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับคนนั้นและพยายามคิดว่ามีอะไรบ้างที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาคิดและลงมือทำผิด—สภษ. 20:5
7-8. ผู้ดูแลจะเลียนแบบความอดทนของพระยะโฮวาได้ยังไงเมื่อพบกับคนที่ทำผิด?
7 ผู้ดูแลจะเลียนแบบความอดทนของพระยะโฮวา พวกเขาจะคิดถึงวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติกับคนที่ทำผิดในอดีต ตัวอย่างเช่น พระยะโฮวาอดทนกับคาอินมาก พระองค์บอกเขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาไม่กลับใจ แต่ก็บอกด้วยว่าถ้าเขาเชื่อฟังเขาจะได้รับการอวยพรจากพระองค์ (ปฐก. 4:6, 7) พระยะโฮวาใช้ผู้พยากรณ์นาธันไปเตือนดาวิด และนาธันก็ใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่เข้าถึงใจกษัตริย์ดาวิดด้วย (2 ซม. 12:1-7) พระยะโฮวายังส่งพวกผู้พยากรณ์ไปหาชาติอิสราเอล “ครั้งแล้วครั้งเล่า” (ยรม. 7:24, 25) พระองค์ไม่ได้รอให้คนของพระองค์กลับใจก่อนแล้วค่อยช่วยเหลือพวกเขา แต่พระองค์เป็นฝ่ายริเริ่มโดยกระตุ้นให้พวกเขากลับใจ
8 ผู้ดูแลจะเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาเมื่อพยายามช่วยคนที่ทำผิดร้ายแรง อย่างที่ 2 ทิโมธี 4:2 บอกไว้ พวกเขาจะหาเหตุผลกับคนที่ทำผิดด้วย “ความอดกลั้น” นี่หมายความว่าผู้ดูแลจะต้องใจเย็นและอดทนเพื่อช่วยคนที่ทำผิดให้อยากทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าผู้ดูแลโมโหหรือหงุดหงิดใส่คนนั้น เขาก็อาจไม่ฟังคำแนะนำหรืออาจไม่อยากกลับใจ
9-10. ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ทำผิดยังไงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ผิด?
9 ผู้ดูแลจะพยายามหาสาเหตุที่ทำให้พี่น้องทำผิด ตัวอย่างเช่น ความเชื่อของพี่น้องคนนั้นค่อย ๆ อ่อนแอลงเพราะเขาไม่ได้ศึกษาส่วนตัวหรือไม่ได้ประกาศไหม? เขาเริ่มอธิษฐานน้อยลงหรืออธิษฐานแบบซ้ำซากไหม? เขายังพยายามต่อสู้กับความต้องการผิด ๆ อยู่ไหม? เขาเลือกเพื่อนหรือความบันเทิงที่ไม่ดีไหม? การที่เขาเลือกแบบนั้นทำให้หัวใจของเขาเป็นยังไง? เขารู้ไหมว่าการตัดสินใจและการกระทำของเขาส่งผลยังไงต่อความรู้สึกของพระยะโฮวา?
10 ผู้ดูแลอาจใช้คำถามเพื่อช่วยพี่น้องคนนั้นให้คิดว่า อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาอ่อนแอลง พวกเขาควรพูดอย่างอ่อนโยนโดยไม่ซักไซ้ในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรู้ (สภษ. 20:5) นอกจากนั้น ผู้ดูแลอาจเลียนแบบนาธันโดยใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อช่วยพี่น้องคนนั้นให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ผิด เมื่อผู้ดูแลทำแบบนี้ พี่น้องคนนั้นอาจเริ่มรู้สึกสำนึกผิดและอาจจะกลับใจตั้งแต่การพบกันครั้งแรกเลยด้วยซ้ำ
11. พระเยซูทำยังไงกับคนที่ทำผิด?
11 ผู้ดูแลจะเลียนแบบพระเยซู ตอนที่พระเยซูคุยกับเซาโลจากเมืองทาร์ซัส ท่านถามเขาว่า “เซาโล เซาโล คุณข่มเหงผมทำไม?” ที่พระเยซูถามแบบนี้ก็เพื่อช่วยเขาให้หาเหตุผลว่าสิ่งที่เขากำลังทำเป็นสิ่งที่ผิด (กจ. 9:3-6) และในกรณีของ “ผู้หญิงแบบเยเซเบล” พระเยซูบอกว่า “ผมให้เวลาเธอกลับใจ”—วว. 2:20, 21
12-13. ผู้ดูแลจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเขาให้เวลาคนที่ทำผิดได้กลับใจ? (ดูภาพด้วย)
12 ผู้ดูแลจะเลียนแบบพระเยซูโดยไม่รีบด่วนสรุปว่าคนที่ทำผิดจะไม่กลับใจ ถึงแม้บางคนอาจแสดงให้เห็นว่าเขากลับใจตั้งแต่การพบกันครั้งแรกกับคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแล แต่บางคนก็อาจต้องการเวลามากกว่านั้น ผู้ดูแลเลยอาจพบกับคนที่ทำผิดมากกว่า 1 ครั้ง บางทีหลังจากการพบกันครั้งแรกพี่น้องที่ทำผิดอาจเริ่มคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ดูแลพูดกับเขา และเขาอาจถ่อมตัวลงและอธิษฐานขอการอภัยจากพระยะโฮวา (สด. 32:5; 38:18) ดังนั้น เมื่อคนที่ทำผิดพบกับคณะกรรมการครั้งถัดไป เขาอาจแสดงท่าทีเปลี่ยนไปจากครั้งแรกที่พบกัน
13 เพื่อที่ผู้ดูแลจะช่วยคนที่ทำผิดให้กลับใจ พวกเขาต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจและความอ่อนโยน พวกเขาจะอธิษฐานขอพระยะโฮวาอวยพรความพยายามของพวกเขาและหวังว่าพี่น้องคนนั้นจะสำนึกตัวและกลับใจ—2 ทธ. 2:25, 26
14. ถ้าคนทำผิดกลับใจ นี่เป็นผลงานของใคร? และทำไมเราถึงบอกแบบนั้น?
14 ถ้าคนทำผิดกลับใจก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก (ลก. 15:7, 10) นี่เป็นผลงานของใคร? ของผู้ดูแลไหม? ขอสังเกตสิ่งที่เปาโลเขียนเกี่ยวกับคนที่ทำบาปว่า “เพราะพระเจ้าอาจให้โอกาสเขากลับใจ” (2 ทธ. 2:25) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงความคิดและทัศนะแบบนี้ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานของพระยะโฮวาผู้ช่วยให้คริสเตียนที่ดื้อรั้นทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ เปาโลพูดต่อไปถึงผลที่ยอดเยี่ยมบางอย่างของการกลับใจคือ การช่วยให้คนบาปรับความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้นในเรื่องความจริง ช่วยให้เขาได้สติอีกครั้ง และช่วยให้เขาหลุดพ้นจากกับดักของซาตาน—2 ทธ. 2:26
15. ผู้ดูแลจะช่วยคนที่กลับใจต่อ ๆ ไปยังไง?
15 เมื่อคนที่ทำผิดกลับใจ คณะกรรมการจะจัดเตรียมให้มีการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงโดยผู้ดูแลเพื่อช่วยพี่น้องคนนี้ให้ได้รับความช่วยเหลือต่อ ๆ ไปเพื่อจะต่อสู้กับกับดักของซาตานและทำสิ่งที่ถูกต้อง (ฮบ. 12:12, 13) แน่นอนว่าผู้ดูแลจะไม่บอกให้พี่น้องทุกคนรู้ว่าพี่น้องคนนี้ทำผิดเรื่องอะไร แต่อาจมีกรณีไหนที่ผู้ดูแลต้องแจ้งให้พี่น้องในประชาคมทราบ?
“ว่ากล่าวตักเตือนเขาต่อหน้าทุกคน”
16. อย่างที่บอกไว้ใน 1 ทิโมธี 5:20 “ทุกคน” ที่เปาโลพูดถึงในข้อนี้หมายถึงใคร?
16 อ่าน 1 ทิโมธี 5:20 เปาโลเขียนจดหมายถึงทิโมธีเพื่อนผู้ดูแลของเขาว่าควรทำยังไงกับคนที่ “ทำบาปเป็นนิสัย” เปาโลบอกว่าต้อง “ว่ากล่าวตักเตือนเขาต่อหน้าทุกคน” แต่คำว่า “ทุกคน” ในที่นี้หมายถึงทั้งประชาคมไหม? ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เปาโลกำลังพูดถึงพี่น้องบางคนที่อาจรู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว เช่น อาจเป็นคนที่เห็นเหตุการณ์ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำผิด ถ้าเป็นแบบนั้นผู้ดูแลก็จะบอกเฉพาะพี่น้องที่รู้เรื่องนั้นว่ามีการจัดการเรื่องนี้แล้วและคนที่ทำผิดได้รับการว่ากล่าวตักเตือนแล้ว
17. ถ้าพี่น้องส่วนใหญ่ในประชาคมรู้เรื่องการทำผิดร้ายแรงหรือในวันข้างหน้าคงจะเป็นที่รู้กัน จะมีคำประกาศอะไร? และทำไมถึงควรทำแบบนั้น?
17 ในบางกรณีอาจมีพี่น้องส่วนใหญ่ในประชาคมรู้เรื่องการทำผิดร้ายแรงหรือในวันข้างหน้าคงจะเป็นที่รู้กัน ถ้าเป็นแบบนี้ “ทุกคน” ในที่นี้จะหมายถึงพี่น้องทั้งประชาคม ดังนั้น ผู้ดูแลจะมีคำประกาศต่อประชาคมว่าพี่น้องคนนั้นได้ถูกว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ทำไมถึงทำแบบนี้? เปาโลบอกว่า “เพื่อเป็นการเตือนคนอื่น ๆ” ไม่ให้ทำบาป
18. ผู้ดูแลควรทำยังไงถ้าผู้เยาว์ที่รับบัพติศมาแล้วทำผิดร้ายแรง? (ดูภาพด้วย)
18 ผู้ดูแลควรทำยังไงถ้าผู้เยาว์ที่รับบัพติศมาแล้วที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทำผิดร้ายแรง? คณะผู้ดูแลจะมอบหมายผู้ดูแล 2 คนไปพบกับผู้เยาว์พร้อมกับพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียน b ผู้ดูแลจะดูว่าพ่อแม่ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อช่วยลูกให้กลับใจ ถ้าผู้เยาว์มีทัศนะที่ดีและพ่อแม่กำลังจัดการเรื่องนั้นอยู่ ผู้ดูแล 2 คนอาจตัดสินใจว่าไม่จำเป็นที่ผู้เยาว์และพ่อแม่ต้องพบกับคณะกรรมการ ผู้ดูแลรู้ว่าพระยะโฮวาให้พ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขและสั่งสอนลูกด้วยความรัก (ฉธบ. 6:6, 7; สภษ. 6:20; 22:6; อฟ. 6:2-4) ผู้ดูแลจะตรวจสอบกับพ่อแม่เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เยาว์ได้รับความช่วยเหลือด้านความเชื่อที่จำเป็น ถึงอย่างนั้น ถ้าผู้เยาว์ที่รับบัพติศมาแล้วยังคงทำผิดต่อไปและไม่กลับใจล่ะ? ถ้าเป็นแบบนี้ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแลจะพบกับผู้เยาว์และพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียน
“พระยะโฮวาเมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ”
19. ผู้ดูแลพยายามเลียนแบบพระยะโฮวายังไงตอนที่ช่วยคนที่ทำผิด?
19 ผู้ดูแลที่รับใช้ในคณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อพระยะโฮวาในการรักษาประชาคมให้สะอาด (1 คร. 5:7) พวกเขาอยากช่วยให้คนที่ทำผิดกลับใจ และตอนที่พวกเขาช่วยพี่น้องที่ทำผิด พวกเขาก็หวังอยู่เสมอว่าพี่น้องคนนั้นจะกลับใจ เพราะอะไร? เพราะพวกเขาอยากจะเลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าที่ “เมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจจริง ๆ” (ยก. 5:11) อัครสาวกยอห์นก็แสดงน้ำใจอย่างนี้ เขาบอกว่า “ลูก ๆ ที่รัก ผมเขียนเรื่องเหล่านี้เพื่อพวกคุณจะไม่ทำบาป แต่ถ้าใครทำบาป เราก็มีผู้ช่วยที่อยู่กับพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ซึ่งผู้ช่วยนั้นก็คือพระเยซูคริสต์ที่เชื่อฟังพระเจ้า”—1 ยน. 2:1
20. เราจะคุยเรื่องอะไรในบทความหน้า?
20 น่าเศร้าที่คริสเตียนบางคนก็ไม่ได้กลับใจ ถ้าเป็นแบบนี้ เขาจะถูกตัดออกจากประชาคม แล้วผู้ดูแลจะทำยังไงในกรณีนี้? เราจะคุยกันในบทความหน้าซึ่งเป็นบทความสุดท้ายของบทความชุดนี้
เพลง 103 ผู้ดูแลเป็นของขวัญจากพระเจ้า
a เมื่อก่อนมีการเรียกผู้ดูแลกลุ่มนี้ว่าคณะกรรมการตัดสินความ แต่จะไม่มีการใช้คำนี้อีกต่อไป เพราะการตัดสินความเป็นแค่บทบาทหนึ่งของพวกเขา ตั้งแต่นี้ไปเราจะเรียกผู้ดูแลกลุ่มนี้ว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ดูแล
b คำแนะนำนี้สามารถใช้ได้กับผู้ปกครองตามกฎหมายหรือคนอื่นที่มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ด้วย
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)