บทความศึกษา 18
ให้กำลังใจกันในการประชุม
“ให้เราสนใจกัน . . . ให้กำลังใจกัน”—ฮบ. 10:24, 25
เพลง 88 โปรดสอนให้รู้จักแนวทางของพระองค์
ใจความสำคัญ a
1. ทำไมเราถึงออกความเห็นที่การประชุม?
ทำไมเราถึงเข้าร่วมการประชุม? เหตุผลสำคัญก็คือเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา (สด. 26:12; 111:1) นอกจากนั้น การเข้าร่วมการประชุมจะทำให้เรามีโอกาสได้ให้กำลังใจกันในช่วงที่ยากลำบากนี้ (1 ธส. 5:11) และเมื่อเรายกมือตอบ มันก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสทั้งได้สรรเสริญพระยะโฮวาและทำให้พี่น้องได้กำลังใจ
2. มีส่วนไหนบ้างในการประชุมที่เราออกความเห็นได้?
2 ทุกสัปดาห์เรามีโอกาสออกความเห็นในการประชุม เช่น ในการประชุมสุดสัปดาห์ เรามีโอกาสตอบในช่วงการศึกษาหอสังเกตการณ์ พอถึงการประชุมกลางสัปดาห์ เราก็มีโอกาสตอบในช่วงค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประจำประชาคม รวมถึงส่วนอื่น ๆ ที่ให้ออกความเห็นด้วย
3. อะไรอาจทำให้เรารู้สึกว่ายากที่จะออกความเห็นในการประชุมได้? และฮีบรู 10:24, 25 ช่วยเรายังไง?
3 เราทุกคนอยากสรรเสริญพระยะโฮวาและทำให้พี่น้องได้กำลังใจ แต่บางครั้งก็ไม่ง่ายเพราะเราไม่กล้าออกความเห็น หรือเรายกมือแต่พี่น้องที่นำส่วนการประชุมไม่ค่อยเรียกเราให้ตอบเยอะ ๆ อย่างที่เราต้องการ อะไรจะช่วยเรารับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้? จดหมายของเปาโลถึงชาวฮีบรูจะช่วยให้เราได้คำตอบ ตอนที่เปาโลพูดถึงความสำคัญของการประชุม เขาบอกว่าเราควรสนใจที่การ “ให้กำลังใจกัน” (อ่านฮีบรู 10:24, 25) เมื่อเรารู้ว่าพี่น้องจะได้กำลังใจแม้ว่าเราออกความเห็นแม้จะแค่สั้น ๆ มันก็ทำให้เรากล้าออกความเห็นมากขึ้น และถ้าพี่น้องที่นำส่วนไม่ค่อยเรียกเราตอบ เราก็มีความสุขที่คนอื่นในประชาคมมีโอกาสได้ตอบบ้าง—1 ปต. 3:8
4. มี 3 จุดอะไรในบทความนี้ที่เราจะคุยกัน?
4 ในบทความนี้ ก่อนอื่นเราจะมาคุยกันว่าถ้าเราอยู่ในประชาคมเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีคนตอบ เราจะให้กำลังใจกันได้ยังไง หลังจากนั้น เราจะดูว่าถ้าเราอยู่ในประชาคมใหญ่ที่มีคนยกมือตอบเยอะ เราจะให้กำลังใจกันได้ยังไง และสุดท้าย เราจะมาดูกันว่าเราจะทำยังไงให้คำตอบของเราช่วยคนอื่นให้ได้กำลังใจ
ให้กำลังใจกันในประชาคมเล็ก ๆ
5. ถ้าเราอยู่ในประชาคมที่มีคนน้อย เราจะให้กำลังใจกันได้ยังไง?
5 ถ้าเราอยู่ในประชาคมเล็ก ๆ หรือประชุมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีคนประชุมไม่เยอะ บางครั้งผู้นำส่วนอาจต้องรอนิดหน่อยเพื่อจะให้มีคนตอบ การประชุมแบบนั้นก็อาจจะน่าเบื่ออยู่บ้าง และอาจทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ค่อยได้กำลังใจ แล้วคุณจะทำอะไรได้บ้าง? ให้คุณพยายามยกมือตอบบ่อย ๆ การทำแบบนี้อาจทำให้คนอื่นอยากตอบมากขึ้นไปด้วย
6-7. อะไรอาจช่วยให้เรากล้าออกความเห็นมากขึ้น?
6 แล้วคุณจะทำยังไงถ้าคุณไม่ค่อยกล้าออกความเห็น? หลายคนเคยเป็นแบบคุณมาก่อน แต่เพื่อคุณจะให้กำลังใจพี่น้องมากขึ้นได้ ลองดูว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้คุณกล้าตอบมากขึ้น ให้เรามาดูด้วยกัน
7 หอสังเกตการณ์ หลายฉบับเคยมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ b เช่น ให้เตรียมการประชุมอย่างดี (สภษ. 21:5) ยิ่งคุณคุ้นเคยกับเนื้อหา คุณก็ยิ่งรู้สึกกล้าตอบมากขึ้น นอกจากนั้น ให้ตอบสั้น ๆ (สภษ. 15:23; 17:27) การตอบสั้น ๆ จะช่วยให้คุณกลัวน้อยลง คุณอาจตอบแค่หนึ่งหรือสองประโยคก็ได้ คำตอบแบบนี้จะทำให้พี่น้องเข้าใจกว่าคำตอบยาว ๆ ที่เน้นหลายจุดมากเกินไป ถ้าคุณตอบสั้น ๆ เป็นคำพูดของตัวเองก็แสดงว่าคุณเตรียมตัวมาอย่างดีและเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ
8. พระยะโฮวารู้สึกยังไงที่เราพยายามเต็มที่?
8 จะว่ายังไงถ้าคุณลองทำตามคำแนะนำบางอย่างแล้วแต่คุณก็ยังไม่กล้าตอบเกิน 1 หรือ 2 ครั้ง? ให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาเห็นค่าที่คุณพยายามมากที่สุดเท่าที่คุณทำได้เพื่อจะออกความเห็น (ลก. 21:1-4) พระองค์ไม่ได้ขอให้คุณทำสิ่งที่เกินความสามารถของคุณ (ฟป. 4:5) ให้ลองคิดดูว่าคุณจะทำมากขึ้นได้ไหม ตั้งเป้าหมาย และอธิษฐานขอพระองค์ให้ช่วยคุณไม่ตื่นเต้นเกินไป สำหรับพวกเราบางคนเป้าหมายแรกอาจเป็นการออกความเห็นสั้น ๆ สัก 1 ครั้ง
ให้กำลังใจกันในประชาคมใหญ่
9. ทำไมในประชาคมใหญ่การออกความเห็นถึงไม่ใช่เรื่องง่าย?
9 ถ้าคุณอยู่ในประชาคมที่มีผู้ประกาศเยอะ คุณก็อาจเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง อาจมีพี่น้องยกมือเยอะมากจนทำให้คุณไม่ค่อยได้ตอบ ให้เรามาดูประสบการณ์ของแดนเยล c เธอชอบออกความเห็นมากเพราะรู้สึกว่าการออกความเห็นคือการนมัสการพระยะโฮวา และมันก็เป็นวิธีที่เธอจะได้ให้กำลังใจคนอื่นและทำให้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลเข้าถึงหัวใจของเธอ แต่พอเธอย้ายไปอยู่ในประชาคมที่ใหญ่กว่า เธอก็ได้ตอบน้อยลงเยอะ บางครั้งเธอยกมือหลายรอบแต่ก็ไม่ได้ตอบเลย แดนเยลบอกว่า “ฉันรู้สึกไม่ดีเลย มันเหมือนกับฉันไม่ได้สิทธิพิเศษ และพอเจอเข้าบ่อย ๆ ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่าเขาจงใจไม่ให้ฉันตอบรึเปล่า”
10. อะไรจะทำให้เรามีโอกาสตอบได้มากขึ้น?
10 คุณเคยรู้สึกเหมือนแดนเยลไหม? ถ้าใช่ คุณก็อาจรู้สึกอยากจะยอมแพ้และคิดว่านั่งฟังเฉย ๆ ก็พอ แต่อย่าเลิกพยายามออกความเห็น แล้วคุณจะทำอะไรได้บ้าง? การเตรียมคำตอบไว้หลาย ๆ ข้อในแต่ละส่วนการประชุมจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าข้อแรก ๆ ผู้นำส่วนไม่ได้เรียกคุณตอบ คุณก็ยังมีโอกาสตอบข้ออื่น ๆ ได้ ตอนที่เตรียมหอสังเกตการณ์ ให้ลองคิดว่าแต่ละข้อเกี่ยวข้องกันยังไงกับเรื่องหลักของบทความ ถ้าทำแบบนั้น คุณก็จะมีความเห็นดี ๆ มาตอบได้ทุกข้อ นอกจากนั้น คุณอาจเตรียมตอบข้อที่มีคำสอนลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากและไม่ค่อยมีใครตอบ (1 คร. 2:10) แต่ถ้าคุณทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว คุณยังไม่ได้ตอบสักทีแม้จะพยายามหลายสัปดาห์แล้ว คุณจะทำยังไง? คุณอาจเข้าไปหาผู้นำส่วนก่อนการประชุม แล้วบอกเขาว่าคุณอยากตอบข้อไหน
11. ฟีลิปปี 2:4 สนับสนุนให้เราทำอะไร?
11 อ่านฟีลิปปี 2:4 เปาโลได้รับการดลใจให้สนับสนุนพี่น้องคริสเตียนให้เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นด้วย แล้วเราจะเอาข้อนี้มาใช้กับการประชุมได้ยังไง? เราต้องจำไว้ว่าพี่น้องคนอื่นในประชาคมก็อยากตอบเหมือนกัน
12. วิธีหนึ่งที่เราจะให้กำลังใจกันในการประชุมคืออะไร? (ดูภาพด้วย)
12 ลองคิดแบบนี้ ตอนที่คุณคุยกับเพื่อน คุณจะเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียวจนเพื่อนแทบไม่มีโอกาสได้พูดไหม? คุณคงไม่ทำอย่างนั้นแน่ ๆ คุณอยากให้เพื่อนได้พูดด้วย ในการประชุมก็เหมือนกัน เราอยากให้คนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้มีโอกาสออกความเห็น ที่จริง วิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราจะให้กำลังใจพี่น้องได้ก็คือ ให้โอกาสพวกเขาพูดถึงความเชื่อของตัวเอง (1 คร. 10:24) ให้เรามาดูกันว่าเราจะทำแบบนั้นได้ยังไง
13. เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พี่น้องคนอื่นมีโอกาสตอบมากขึ้น?
13 อย่างหนึ่งที่เราทำได้ก็คือพยายามตอบสั้น ๆ เพื่อจะให้คนอื่นมีโอกาสได้ตอบมากขึ้น ผู้ดูแลกับผู้ประกาศที่มีประสบการณ์ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ และถึงแม้ว่าคุณจะตอบสั้นก็จริง แต่พยายามอย่าตอบหลายจุดมากเกินไป ถ้าคุณตอบทุกจุดในข้อไปหมดแล้ว คนอื่น ๆ ก็คงไม่รู้จะตอบอะไร ให้เรามาดูข้อนี้เป็นตัวอย่าง ลองสังเกตว่าข้อนี้มีคำแนะนำอยู่ 2 อย่างคือ ให้ตอบสั้น ๆ และอย่าตอบหลายจุดมากเกินไป ดังนั้น ถ้าผู้นำส่วนเรียกคุณให้ตอบข้อนี้เป็นคนแรก ให้คุณตอบแค่จุดเดียวก็พอ
14. อะไรจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าเราควรยกมือบ่อยแค่ไหน? (ดูภาพด้วย)
14 นอกจากนั้น ให้คุณคิดให้ดีว่าจะตอบบ่อยแค่ไหน ถ้าคุณยกมือบ่อยเกินไป ผู้นำส่วนก็อาจรู้สึกถูกกดดันว่าต้องเรียกคุณทั้ง ๆ ที่คุณก็ตอบไปแล้วและบางคนยังไม่มีโอกาสได้ตอบเลย และนี่ก็อาจทำให้พี่น้องคนอื่นรู้สึกท้อจนไม่กล้ายกมือ—ปญจ. 3:7
15. (ก) ถ้าผู้นำส่วนไม่ได้เรียกเราตอบ เราไม่ควรรู้สึกยังไง? (ข) ผู้นำส่วนจะคิดถึงความรู้สึกของทุกคนได้ยังไงบ้าง? (ดูกรอบ “ ถ้าคุณเป็นผู้นำส่วนการประชุม”)
15 เมื่อมีพี่น้องหลายคนยกมือตอบในการประชุม เราอาจไม่ได้ตอบมากอย่างที่เราต้องการ และบางครั้งผู้นำส่วนก็อาจไม่ได้เรียกเราตอบเลยด้วยซ้ำซึ่งอาจจะทำให้เราผิดหวัง แต่เราไม่ควรรู้สึกว่าเขาไม่ชอบเรา—ปญจ. 7:9
16. เราจะให้กำลังใจคนที่ออกความเห็นได้ยังไง?
16 ถ้าคุณไม่ได้ตอบมากอย่างที่คุณต้องการ ก็ให้คุณตั้งใจฟังคนอื่นตอบและให้ชมพวกเขาหลังจบการประชุม พี่น้องอาจได้กำลังใจที่คุณชมพวกเขาพอ ๆ กับที่พวกเขาได้กำลังใจตอนที่ฟังความเห็นของคุณ (สภษ. 10:21) การชมพี่น้องก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะให้กำลังใจกันได้
สิ่งที่จะให้กำลังใจกันได้อีก
17. (ก) พ่อแม่จะช่วยลูกให้เตรียมคำตอบได้ยังไง? (ข) อย่างที่เห็นในวีดีโอ 4 ขั้นตอนในการเตรียมคำตอบมีอะไรบ้าง? (ดูเชิงอรรถ)
17 เราจะทำอะไรได้อีกเพื่อจะให้กำลังใจกันที่การประชุม? ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ ให้ช่วยลูกเตรียมตัวออกความเห็นแบบที่เหมาะกับวัยของเขา (มธ. 21:16) บางครั้งเนื้อหาในการประชุมอาจเป็นเรื่องยาก เช่น เรื่องปัญหาครอบครัวหรือเรื่องศีลธรรม แต่ก็จะมีสัก 1 หรือ 2 ข้อในบทความนั้นที่เด็ก ๆ จะออกความเห็นได้ นอกจากนั้น ให้ช่วยลูกเข้าใจว่าทำไมเขาอาจไม่ได้ถูกเรียกตอบทุกครั้งที่ยกมือ การอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องนี้จะช่วยไม่ให้ลูกผิดหวังตอนที่ผู้นำส่วนเรียกคนอื่นตอบแทนที่จะเรียกเขา—1 ทธ. 6:18 d
18. ตอนที่ออกความเห็น เราจะไม่ทำให้คนอื่นสนใจที่ตัวเรามากเกินไปได้ยังไง? (สุภาษิต 27:2)
18 เราทุกคนสามารถเตรียมตัวออกความเห็นที่เป็นการสรรเสริญพระยะโฮวาและทำให้พี่น้องได้กำลังใจ (สภษ. 25:11) บางครั้งเราอาจเล่าประสบการณ์ส่วนตัวสั้น ๆ ได้ แต่เราไม่ควรทำให้คนอื่นสนใจที่ตัวเรามากเกินไป (อ่านสุภาษิต 27:2; 2 คร. 10:18) เราควรพยายามให้พี่น้องสนใจที่พระยะโฮวา คัมภีร์ไบเบิล และผู้รับใช้ของพระองค์ (วว. 4:11) แน่นอนว่าถ้าคำถามนั้นเป็นคำถามส่วนตัว เราก็ควรตอบว่าเราคิดยังไง อย่างเช่นคำถามในข้อถัดไป
19. (ก) ถ้าเราคิดถึงประโยชน์ของพี่น้องทุกคนที่เข้าร่วมการประชุม ผลจะเป็นยังไง? (โรม 1:11, 12) (ข) คุณชอบอะไรเมื่อได้ออกความเห็น?
19 เราไม่ควรตั้งกฎตายตัวว่าควรจะตอบแบบไหน แต่ให้เราทุกคนพยายามตอบในแบบที่ให้กำลังใจกัน นี่อาจหมายถึงเราต้องตอบบ่อยขึ้นสักหน่อย หรือถ้าเราไม่ได้ตอบมากอย่างที่เราต้องการ เราก็ควรดีใจที่คนอื่นได้ตอบบ้าง ถ้าเราคิดถึงประโยชน์ของพี่น้องที่เข้าร่วมการประชุม เราทุกคนก็จะ “ให้กำลังใจกันและกัน”—อ่านโรม 1:11, 12
เพลง 93 ขออวยพรเมื่อเราประชุมกัน
a เราให้กำลังใจกันได้ตอนที่เราออกความเห็นที่การประชุม แต่บางคนอาจรู้สึกไม่กล้าออกความเห็น ส่วนคนอื่นชอบออกความเห็นและอยากให้ผู้นำส่วนเรียกตอบบ่อยกว่านี้ ไม่ว่าเราจะเป็นแบบไหน เราจะสนใจความรู้สึกคนอื่นได้ยังไงเพื่อจะทำให้ทุกคนได้กำลังใจ? และเราจะออกความเห็นยังไงเพื่อกระตุ้นให้พี่น้องรักกันและทำความดี? บทความนี้จะให้คำตอบ
b ดูคำแนะนำเพิ่มเติมในหอสังเกตการณ์ มกราคม 2019 หน้า 8-13 และ 1 กันยายน 2003 หน้า 19-22
c ชื่อสมมุติ
d ดูวีดีโอมาเป็นเพื่อนกับพระยะโฮวากันเถอะ—เตรียมคำตอบของลูก ในเว็บไซต์ jw.org
e ดูหอสังเกตการณ์ 15 กรกฎาคม 2013 หน้า 32 และหอสังเกตการณ์ 1 กันยายน 2003 หน้า 21-22
f คำอธิบายภาพ หน้า 23 พี่น้องชายคนหนึ่งอยู่ในประชาคมใหญ่ เขาไม่ได้ยกมือเพราะเขาได้ตอบแล้ว และอยากให้คนอื่นได้ตอบบ้าง
หอสังเกตการณ์ (ฉบับศึกษา)